“เราแค่อยากให้มีสถานที่ หรือโรงพยาบาลที่ช่วยสร้างความสุข ความทรงจำที่ดีให้กับคนไข้และครอบครัวในช่วงสุดท้ายของชีวิต” ‘หมอแนต’ หรือ พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ทายาทของโรงพยาบาลเอกชัย ย่านพระราม 2 บอกกับเราเมื่อเริ่มสนทนา หากแต่ไอเดียการทำธุรกิจดังกล่าวที่เธอนำเสนอกับครอบครัวนั้น กลายเป็นประโยคที่คนฟังตะลึงกันไปทั้งห้องประชุมว่า
“อยากสร้างโรงพยาบาลที่ทำให้คนอยากมาตายที่เรา”
คุณพ่อของเธอหันมามองด้วยความตกใจ จากนั้นเสียงค้านในครอบครัวก็ดังขึ้นตามคาด “ใครเขาจะอยากมา” นี่อาจคล้ายความคิดที่บ้าดีเดือด แต่หมอแนตมั่นใจว่าเธอน่าจะเลือกทางไม่ผิด มันน่าจะเป็นไปได้
แต่การทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ย่อมต้องผ่านบททดสอบและการพิสูจน์ไม่น้อยไปกว่าการวิ่งมาราธอน กีฬาที่หมอแนตหลงใหลและยอมรับว่า มันฝึกความอดทนและยืนระยะให้เธออย่างเห็นได้ชัด
แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับภาระหน้าที่ในการเป็นแพทย์ประจำห้องไอซียู ที่หมอแนตทำมาตลอด 12 ปี แม้จะเห็นความเป็นความตายมานักต่อนัก แต่หมอแนตก็ยังรู้สึกว่านาทีนั้น น่าจะทำอะไรได้มากไปกว่าการใช้เครื่องมือพยุงชีวิต ที่ดูจะสร้างความทรมานทั้งคนไข้และจิตใจของคนในครอบครัว
ลองคิดดูว่าหากชะตากรรมของผู้ป่วยต้องขึ้นอยู่กับเครื่องมือช่วยชีวิตมนุษย์คนหนึ่งจะมีความรู้สึกในนาทีสุดท้ายอย่างไร?
อะไรคือสิ่งที่เขาอยากบอก… หากบอกได้ อะไรคือสิ่งที่เขาอยากให้ทำ… ถ้าใครสักคนจะทำให้ได้?
Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคองที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของคนไข้ จึงเป็นสิ่งที่หมอแนตให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
“มีคนไข้อยู่ส่วนหนึ่งที่เข้ามาสู่การรักษาในห้องไอซียูแล้วอาการลุกลาม การรักษาจึงต้องเข้มข้นไปอีก จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าเขาอยากได้แบบนี้จริงๆ เหรอ? ถ้าเรามีโอกาสได้สื่อสารกับเขาก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่เขายังพูดคุยได้ ก็น่าคิดว่า นี่ใช่ชีวิตที่เขาอยากได้จริงหรือเปล่า
“เป็นไปได้มั้ยว่า ณ ตอนนั้นเขาอาจจะมีทางเลือกอื่น อาจเลือกได้ว่าฉันไม่ต้องการอยู่ไอซียู ฉันไม่อยากใส่ท่อแบบนั้นแบบนี้ ฉันไม่จำเป็นต้องล้างไตทั้งๆ ที่ฉันไม่มีวันตื่นอีกแล้ว เขาอาจบอกว่าฉันไม่ทำก็ได้ แล้วเราก็ดูแลเขาแบบประคับประคอง ให้เขาสุขสบาย แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รักษาเขา เป้าหมายการรักษาของเราคือไม่ใช่แค่ปรับนู่นนี่นิดหน่อยเพื่อยื้อเวลาให้เขาอยู่นานขึ้น หรือแค่ไปประคองอวัยวะ แต่เป้าหมายของเราคือเขาต้องสุขสบาย แล้วก็ปรับการรักษา ปรับยาเพื่อประคับประคองให้เขาสุขสบายที่สุด”
และนั่นคือที่มาของโรงพยาบาลด้าน Palliative Care แบบครบวงจร โรงพยาบาลแรกของประเทศไทย ในชื่อโรงพยาบาลคูน (Koon) โรงพยาบาลที่ตระเตรียมพื้นที่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตคนไข้ให้อยู่อย่างมีความสุขที่สุด ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ที่นี่มีแม้กระทั่งกิจกรรมการปลูกต้นไม้ใส่กระถางไว้อย่างดี ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามและผ่อนคลายของคนไข้
แต่หมอแนตตั้งใจว่า หากคนไข้จากไป เขาจะได้ส่งมอบต้นไม้ในกระถางให้คนในครอบครัวได้ดูแลต่อไป เสมือนเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่จะมอบให้กันได้อีกครั้ง…
เส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างคนไข้ที่อยู่ก็ไม่ต่างจากตาย และคนไข้ที่ใกล้ชิดความตายจนมองเห็นความหมายของการมีอยู่ คือเส้นที่วันหนึ่ง… ในเวลาอันเหมาะสมและยังเลือกได้ เราและคนรอบๆ ตัวก็อาจจำเป็นต้องก้าวข้ามให้เด็ดขาด เลือกให้เสร็จสิ้น
อาจเศร้า… เราไม่เถียง แต่ถ้ามันเป็นการเลือกที่มาจากสติสัมปชัญญะครบถ้วนของคนที่ต้องการเลือกหนทางการดูแลตัวเองในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ถือว่าควรค่าแก่คำว่าสง่างาม
“หมออยากให้เราเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไข้ ให้เขาได้เลือกว่าช่วงปลายชีวิต เขาอยากให้เป็นแบบไหน ถ้าอยากให้มันสวยงาม เขาก็สามารถเลือกที่จะเป็นเหมือนต้นคูนได้ ซึ่งช่วงที่เริ่มผลัดใบในช่วงที่ดอกเต็มต้นนั้นเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด นั่นแหละคือทางเลือก ถ้าเขาเลือก Koon เขาก็อาจจะมีชีวิตแบบนั้นได้ ก็คือมีชีวิตที่สวยงามในช่วงท้ายของชีวิต”
ที่มาของการตั้งโรงพยาบาลคูนเกิดจากอะไร และมองในแง่ของโอกาสในอนาคตอย่างไร
มาจากการที่เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็น pain ของคนไข้จำนวนมาก คือลึกๆ แล้วหมอรู้สึกว่าเป็น pain ในฐานะของหมอที่ดูแลคนไข้ในห้องไอซียูมาตลอดด้วย คือเรามองว่ามันจะดีกว่าถ้าคนไข้ได้รู้จักโรงพยาบาลแบบนี้ และเนื่องจากครอบครัวก็ทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชัย เราก็มองว่าถ้าโรงพยาบาลจะต้องเติบโตต่อไป เราขอเสนอขายไอเดียแบบนี้แล้วกันว่า เรามาทำโรงพยาบาลในรูปแบบการดูแลแบบ Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคองที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของคนไข้กันดีกว่า ตอนแรกที่บ้านบอกว่าบ้าด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะเราไปขายไอเดียว่าอยากทำโรงพยาบาลที่ทำให้คนอยากมาตายอย่างมีความสุข คุณพ่อบอก ใครเขาจะอยากมารักษา
แต่จะบอกว่าจริงๆ แล้วแผนก Palliative Care ทุกวันนี้ พอจะมีอยู่บ้างอยู่ในโรงพยาบาลหลายๆ แห่งนะคะ แต่เป็นแผนกเล็กๆ แล้วก็ไม่ค่อยได้รับการส่งต่อคนไข้มา เพราะทุกวันนี้มีคนไข้แค่ประมาณ 3% เท่านั้นที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองจาก 100 คนที่ควรจะได้รับ ซึ่งหมอคิดว่าเป็นสิ่งที่ขาด หรือเป็นช่องว่างที่ใหญ่มากในกรุงเทพฯ ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเรามาทำโรงพยาบาลแบบนี้เพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่เขาจะเข้ามาสู่รูปแบบการดูแลแบบประคับประคอง ควบคู่ไปกับการรักษาปกติของคนไข้ ซึ่งจริงๆ การดูแลประคับประคองของเราก็ถือเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา (Standard Treatment) อยู่แล้ว แต่เนื่องจากบทบาทนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนในทางการแพทย์ปัจจุบันมากนัก ก็เลยถูกมองว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นการไม่รักษาหรือเปล่า หรือว่าไม่มีการรักษาใดๆ เหลือแล้วหรือเปล่า ถึงมาเป็นการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งจริงๆ ในต่างประเทศมีเขียนไว้ชัดเจนเลยว่าการดูแลแบบ Palliative Care ควรเริ่มควบคู่กันมาตั้งแต่เมื่อคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง
อยากให้คุณหมอช่วยอธิบายคำว่าสแตนดาร์ดทรีตเมนต์ที่กล่าวถึงข้างต้นเพิ่มเติม
คือปกติแล้วถ้าคนไข้คนหนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ไม่หายขาด แล้วมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคนั้นได้ในวันใดวันหนึ่ง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่สี่หรือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสเสียชีวิตได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ทันทีที่เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีโอกาสเสียชีวิต เขาควรได้รับการดูแลแบบประคับประคองควบคู่ไปด้วยกันตั้งแต่ตอนนั้นเลย ในส่วนของคุณหมอเจ้าของไข้ก็รักษาไป ใช้ยาได้ตามปกติ แต่หมอ palliative จะไปร่วมดูแลด้วย โดยบทบาทของเราก็คือเราจะพูดคุยเรื่องเป้าหมายในการรักษา ว่าเป้าหมายของเขาคือหายจากโรคหรือเพียงแค่การดูแลให้เขาสุขสบาย ระยะเวลาอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาก็ได้ แต่คุณภาพชีวิตที่ดีในรูปแบบที่เขาต้องการอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขา รวมไปถึงการดูแลความไม่สุขสบายของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นด้วย
จุดเปลี่ยนที่รู้สึกอยากทำมากๆ คือช่วงที่มีการระบาดของโควิดไหม? จำได้ว่า เหมือนเป็นช่วงที่คุณหมอก็เจอเคสเยอะ แล้วตอนนั้นหมอก็ออกมาพูดบ่อยว่าเห็นถึงความทรมานของคนด้วย เลยอยากทราบว่ามันใช่ช่วงนั้นหรือเปล่า
จริงๆ ไอเดียที่อยากทำ มันเกิดตอนที่หมออยู่ไอซียู คือพอเรียนจบจากโรคปอดก็ไปเรียนไอซียูอีกหนึ่งปี ช่วงที่เรียนไอซียูเราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าเราเรียนก็ไม่น้อยนะ เรียนมาก็เยอะ เครื่องมือก็เยอะ แต่บางคนที่เรารักษาเขาต่อไปไม่ได้ เรารู้สึกว่าไม่รู้จะดูแลเขาอย่างไร ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งข้างหน้า อาจจะเป็นหนึ่งสัปดาห์หรืออีกไม่กี่สัปดาห์ เขาต้องเสียชีวิตแน่ๆ แต่เราไม่รู้จะดูแลเขายังไงนอกจากทำตามตำรา เอ้า เจาะเลือด ดูค่าเลือด ตั้งเครื่องช่วยหายใจ ปรับยา มันก็เลยเป็นความรู้สึก inadequate (ยังไม่ดีพอ) ของเราในการที่จะเป็นหมอที่ดีคนหนึ่ง
ตอนนั้นพอจบไอซียูก็สอนหนังสืออยู่ไอซียูประมาณปีนึง แล้วก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคอร์สสั้นๆ ของ พญ. ศรีเวียง ไพโรจน์กุล เรียนแค่ประมาณแปดสัปดาห์ ซึ่งตอนหมอไปเรียนก็เลยเพิ่งรู้ว่าที่เราเรียนหมอมา 12 ปี หมอก็ไม่เคยเข้าใจเลยว่าจริงๆ แล้ว Palliative Care คืออะไร พอไปเรียนถึงได้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ คือฉันไปอยู่ที่ไหนมาบนโลกนี้ ทำไมไม่เคยรู้ว่าทำแบบนี้ได้
ตอนนั้นแหละที่เป็นช่วงเปลี่ยนชีวิต คือมุมมองมันเปลี่ยนไปเลยว่า เฮ้ย ต่อให้เรารักษาคนไข้ให้หายไม่ได้ แต่ในเวลาสั้นๆ ตรงนั้นเรารักษาให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นะ คือมันยังมีอะไรที่เราสามารถทำให้เกิดความสุขเล็กๆ กับตัวคนไข้หรือครอบครัวได้อีกนิดนึงอยู่
ซึ่งมันก็เป็นเวลาที่มีค่า แม้จะเป็นช่วงสุดท้ายแล้ว
ใช่ค่ะ ดังนั้นไม่ว่าการรักษาจะเป็นยังไง เขาจะหายจากโรคแล้วออกจากไอซียู หรือว่าผลการรักษาอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราหรือครอบครัวต้องการ แต่เหมือนเรามีทางออกให้เขา
จากการทำงานไอซียู คุณหมอคิดว่าความต้องการของคนไข้ช่วงระยะสุดท้ายที่สัมผัสได้ ส่วนใหญ่เป็นแบบไหน
ต้องบอกว่าสิ่งที่เราซัฟเฟอร์เพราะส่วนหนึ่งคือเป็นคนไข้ที่เรียกว่าระยะท้ายๆ แล้ว เขารู้อยู่แล้วว่าเหลือเวลาอาจจะไม่ถึงหกเดือนหรือหนึ่งปี แต่เกิดภาวะคุกคามรุนแรงจนต้องเข้ามารักษาในไอซียู ซึ่งจริงๆ คนไข้กลุ่มนี้ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นแคนดิเดตที่ดี เพราะถึงแพทย์จะทำทุกอย่างไปแล้ว แต่เมื่อกลับไป เขาก็อาจอยู่ได้อีกไม่นาน เราอยากใช้ไอซียูในการรักษาคนไข้ที่ยังเป็น active lifestyle ซึ่งเราสามารถรักษาให้เขากลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เพราะทรัพยากรในการรักษาตรงนั้นแพงมาก เพราะฉะนั้นคนไข้ที่เข้ามาเป็นคนไข้ไอซียู ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาไม่ได้รับการดูแลแบบ Palliative Care ตั้งแต่ต้น ทำให้เขาไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเขา และทำให้ไม่มีโอกาสเลือกว่าในวันที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เขาอยากได้รับการดูแลแบบไหน ตอบคำถามคือ ถึงตอนนั้นก็ไม่ได้เลือกแล้ว
คือส่งตัวมาเรื่อยๆ
ก็ไหลมาเรื่อยๆ เหมือนกับพอป่วยปุ๊บอยู่ ER จากนั้นแอดมิตเข้าไปที่วอร์ดสามัญ แย่ลงเข้าไอซียู บางเคสที่ไม่ไหวเลยก็อาจจากเราไป บางเคสอาจจะดีขึ้นนิดหน่อยก็กลับไปที่วอร์ดสามัญ แต่เขาจะกลับมาใหม่ที่ไอซียูอีกถ้าเขาเป็นคนไข้ที่เปราะบางอยู่แล้ว เขาก็จะวนไปวนมาที่วอร์ดสามัญกับไอซียู จนกระทั่งเขาอาจจะไม่ไหวและเสียชีวิต หรือกลายเป็นคนไข้ติดเตียง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หมอเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราเรียนมาเพื่อดูแลคนไข้แบบนี้จริงๆ หรือเปล่า เพื่อแค่ยื้อเวลาชีวิตเขาออกไปอีกนิดนึงแค่นั้นหรือเปล่า คือบางคนเราก็รักษาเขาหายกลับไปมีชีวิตปกติได้ ซึ่งตรงนี้เราก็ทำอยู่แล้ว แต่มีคนไข้อยู่ส่วนหนึ่งที่เข้ามาสู่การรักษาในห้องไอซียูแล้วอาการลุกลาม การรักษาจึงต้องเข้มข้นไปอีก จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าเขาอยากได้แบบนี้จริงๆ เหรอ ถ้าเรามีโอกาสได้สื่อสารกับเขาก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่เขายังพูดคุยได้ ก็น่าคิดว่า นี่ใช่ชีวิตที่เขาอยากได้จริงหรือเปล่า
เป็นไปได้มั้ยว่า ณ ตอนนั้น เขาอาจจะมีทางเลือกอื่น อาจเลือกได้ว่าฉันไม่ต้องการอยู่ไอซียู ฉันไม่อยากใส่ท่อแบบนั้นแบบนี้ ฉันไม่จำเป็นต้องล้างไตทั้งๆ ที่ฉันไม่มีวันตื่นอีกแล้ว เขาอาจบอกว่าฉันไม่ทำก็ได้ แล้วเราก็ดูแลเขาแบบประคับประคองให้เขาสุขสบาย แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รักษาเขา เป้าหมายการรักษาของเราคือไม่ใช่แค่ปรับนู่นนี่นิดหน่อยเพื่อยื้อเวลาให้เขาอยู่นานขึ้น หรือแค่ไปประคองอวัยวะ แต่เป้าหมายของเราคือเขาต้องสุขสบาย แล้วก็ปรับการรักษา ปรับยาเพื่อประคับประคองให้เขาสุขสบายที่สุด
เปรียบเทียบกันระหว่างตอนที่ยังดูแลคนไข้ในไอซียู ความรู้สึกของคนไข้คือเป็นแบบไหน ถ้าเทียบกับที่นี่ มีความแตกต่างกันอย่างไร
ต้องบอกว่าคนไข้เกินครึ่งในไอซียูสื่อสารไม่ได้ แล้วหลับจากยา จากการรักษาที่ทุกข์ทรมาน เขาต้องหลับเยอะมาก ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการสื่อสาร เราไม่รู้จริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร แต่หลายเคสที่หมอมีโอกาสพูดคุยกับเขาตั้งแต่ต้น เรารู้แล้วว่าเขาไม่อยากได้การรักษาแบบนี้ เช่นเคสหนึ่งที่หมอดูแล ไตก็วาย หัวใจก็มีเส้นเลือดตีบเยอะ ต้องผ่า ถ้าผ่าต้องล้างไตแน่ๆ แต่คุณลุงก็ปฏิเสธว่าไม่เอา ฉันรู้สึกแฮปปี้มากๆ แล้วกับชีวิตที่ผ่านมา เวลาที่เหลือไม่ต้องการจะทำอะไรที่ต้องทนทุกข์ทรมานให้นานมากกว่านี้ พอได้คุยกัน เขาบอกว่าขอการรักษาแบบ Palliative Care หมอก็ปรับยาให้เขานิดหน่อย คอยรับโทรศัพท์ให้คำปรึกษากับครอบครัว สุดท้ายคือคุณลุงแทบไม่แอดมิตเลยประมาณหนึ่งปี อยู่บ้านบ้าง ไปอยู่บ้านที่พัทยาบ้าง ลูกพาไปเที่ยว พาไปนั่งริมทะเลทุกวัน วันไหนที่มีอาการบวมก็ปรับยาให้นิดนึง ให้ปัสสาวะได้ดีขึ้น ซึ่งหมอรู้สึกว่าเป็นหนึ่งปีที่ตัวคุณลุงเองมีความสุขมาก แล้วลูกก็มีความสุขมากๆ ที่ได้ดูแลพ่อในช่วงนั้น
ซึ่งถ้าเทียบกับถ้าไม่คุยจะเกิดอะไรขึ้น
คุณลุงก็น่าจะได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจในวันที่เขามีอาการมากขึ้น
แล้วพออยู่กับคนไข้ระยะสุดท้ายมากๆ เข้า คุณหมอมองชีวิตยังไง
มันก็เป็นข้อเท็จจริงนะคะ เราจะพูดเสมอว่ายังไงความตายก็ต้องมาถึงเราทุกๆ คนในวันหนึ่ง แม้ว่าความตาย การสูญเสีย เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าต้องเกิดขึ้น มันจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม ไม่เจ็บปวดหรือเจ็บปวดน้อยที่สุด ทั้งของตัวคนไข้และครอบครัว และถ้าครอบครัวมีโอกาสได้สร้างความทรงจำที่ดี ก็ยิ่งเป็นโอกาสของเราที่จะช่วยสร้างความทรงจำที่ดีให้กับครอบครัวของเขา ซึ่งหมอรู้สึกดีใจที่ได้เรียนรู้งานนี้และมีโอกาสได้ทำ หมอจะเสียใจมากถ้ารู้ว่าเคสนี้เราควรมีโอกาสได้ดูแลเขา แต่เราไม่ได้ดูแล้วปล่อยให้เขาไปรักษาแบบปกติ หมอก็จะรู้สึกเสียดายแทน คือเขาน่าจะมาให้เราช่วยดู
หมอเอาความรู้สึกของตัวเองออกมาจากคนไข้ได้ยังไงในภาวะแบบนี้
แรกๆ ก็เก็บความคิดกลับมาที่บ้าน แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็จะเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เราควบคุมได้ อะไรคือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ อะไรคือสิ่งที่เราควบคุมได้ เราก็ทำแค่ตรงนั้นแหละ ส่วนที่ควบคุมไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็วาง
ต้องวางทุกวันไหมช่วงที่เกิดโควิด อยากให้ยกตัวอย่าง
ตอนเกิดโควิดเป็นช่วงที่ซัฟเฟอร์สุด คือเรามีความรู้ด้าน Palliative Care มาตั้งแต่ก่อนโควิด พอเกิดโควิด เราก็ดูแลคนไข้ตั้งแต่ก่อนเขาเป็นโควิด จนเป็นแล้วเป็นหนัก จนเขาเสียชีวิต เราก็ดูเขาต่อเนื่องมา แต่เรารู้สึกเจ็บปวดที่ขาดแคลนทรัพยากร คือในสถานการณ์ปกติถ้าเกิดเคสแบบนี้ขึ้น เขาต้องได้รับการรักษาแน่ๆ แต่พออยู่ในช่วงโควิดทำให้เขาเข้าไม่ถึงการรักษาบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราจึงต้องมีความกรุณาต่อตัวเอง หรือ self-compassionate ตอนนั้นหมอใช้คำนี้บ่อย เขียนแปะบนคอมพ์ที่ทำงานว่าต้องมี self-compassionate เราต้องยอมรับนะว่าสิ่งที่เราทำได้ มันมีขีดจำกัด ที่เราทำอยู่นี้ก็คือเต็มที่ของเราแล้ว บางทีเรารู้สึกว่าเราต้องทำอีก ยังมีเคสที่เราไม่รู้ เรายังต้องทำอีก แต่ว่ามันสุดแล้วแหละ เต็มกำลังความสามารถที่เราจะทำได้แล้ว ต้องบอกตัวเองว่าเราเต็มที่แล้ว มีเมตตาต่อตัวเองบ้าง ยอมรับบ้างว่าด้วยเวิร์กโหลดที่มันเยอะมาก เราอาจมีหงุดหงิด ก็ยอมรับว่าหงุดหงิดนิดหน่อยนะ รู้ตัวแล้วก็เบรคไป อาจจะมีความผิดพลาดทางการรักษาเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นได้บ้าง ก็ให้อภัยตัวเอง
ให้คุณหมออธิบายนิดหนึ่งว่า ในสถานการณ์ตอนนั้นสำหรับคุณหมอ มองชีวิตและความตายว่าคืออะไร
หมอรู้สึกว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่เรารู้ว่าครอบครัวสำคัญมาก โควิดทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว คือตอนปกติก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่วันที่เป็นโควิด ทุกคนถูกแยกออกจากกัน คนไข้ถูกแยกออกจากครอบครัว หมอเองก็ไม่ได้กลับบ้าน เราก็เลยรู้สึกจริงๆ ว่าครอบครัวเป็นเหมือนแหล่งพลังงานของเรา เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเรา ส่วนอย่างอื่นที่เราเรียนรู้ก็คือ เรารู้ว่ามันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเยอะ หลายเคสเราคิดว่าน่าจะไม่รอด แต่สุดท้ายเขารอดก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของหมอที่จะคิดว่าใครรอดไม่รอด หน้าที่ของเราคือให้การรักษาในสิ่งที่น่าจะเป็นผลดีกับเขา
เคยอ่านหรือเคยได้ยินใครสัมภาษณ์มาเกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน ที่บอกว่าต้องเลือกว่าจะให้ใครอยู่ใครไป ประเด็นนี้หมอมองอย่างไร
จริงๆ แล้วต้องบอกว่าทุกวันนี้ในประเทศไทยมีการเลือกแบบนี้อยู่ตลอดเวลา อย่างหมอทำงานในไอซียู เราไม่สามารถรับทุกเคสที่หนักเท่าๆ กันได้
อันนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ?
เป็นความจริงอยู่แล้ว เพราะเตียงไอซียูในโรงเรียนแพทย์มีจำกัดแค่ 10 กว่าเตียง เคสหนักๆ มีเยอะแยะเลย ถ้าเราเอาความหนักมาวัดแล้วรับไว้ทั้งหมด เราก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงใช้ความหนักร่วมกับโอกาสที่จะรอดชีวิต เอาสองอย่างนี้มาประกอบกัน เพราะฉะนั้น จึงมีความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการรักษาอยู่แล้ว ยิ่งเคสต่างจังหวัดเราก็ยิ่งรู้ว่าไม่เท่าเทียม แต่ในช่วงโควิด ภาพความไม่เท่าเทียมมันชัดมาก จนถึงจุดหนึ่งคืออุปกรณ์เราเหลืออยู่แค่นี้ เครื่องช่วยหายใจเรามีเท่านี้ คนไข้อาการหนักเข้ามาห้าคน เราไม่สามารถคิดว่าจะใส่ให้ใครหรือไม่ใส่ให้ใคร ตอนนั้นสิ่งที่หมอทำคือต้องสื่อสารว่าเรามีข้อจำกัดตรงนี้ แต่เรายังรักษาเขานะ เราไม่มีวันทอดทิ้งเขา โอเค ตอนนี้เราให้ยา ถ้าถึงจุดที่ให้ยาแล้วออกซิเจนยังต่ำมาก หายใจแบบนี้ไม่ไหว ทางเลือกของเขาคือมีท่อช่วยหายใจ แต่ถ้าคนคนนั้นเป็นเคสที่ดูแล้วโอกาสรอดน้อยมาก อย่างเช่นผู้สูงอายุมากๆ หมอก็จะบอกเขาตรงๆ ว่าการใส่ท่อช่วยหายใจอาจเป็นแค่การยื้อเวลาออกไปเล็กน้อย อาจไม่ได้ทำให้เขาหายจากโรค แต่อย่างไรก็ตามหมอคิดว่า ณ วันนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ หมอดูแลให้คุณสุขสบายได้ การรักษายังคงต่อเนื่องไปอยู่นะคะ ก็อาจต้องสื่อสารกับเขาตรงๆ
ซึ่งพอฟังถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่ยากที่สุดของกระบวนการรักษาทั้งหมดคือการยอมรับความจริง
การยอมรับความจริงของคนไข้ และจริงๆ มันเป็นเรื่องการสื่อสาร ถ้ายกตัวอย่างตอนโควิดมันก็สื่อสารยาก ยิ่งอยู่ในชุด PPE ใส่แมสก์ เพราะฉะนั้นเวลาที่หมอสื่อสารกับเขา เราก็ต้องมี empathy เยอะๆ ว่าเรารู้นะว่าสิ่งนี้คือความกังวลของเขา แต่เราต้องเจาะต่อไปว่าเขากลัวอะไร เขาอาจตอบว่ามีความกังวลบางอย่างเรื่องครอบครัว ถ้าเราแก้ไขตรงนั้นให้เขาได้ ช่วยสื่อสารกับครอบครัว หรือบางคนกลัวทรมาน บางคนกลัวตายจริงๆ เพราะฉะนั้น หน้าที่เราคือต้อง deep listening ฟังเขาอย่างลึกซึ้ง ต้องพยายามเจาะให้ลึกลงไปว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่เขากลัว หมอใช้เวลาเยอะมาก กว่าจะคุยครบตอน round ward ก็ตีหนึ่งตีสอง เพราะมีตั้ง 70-80 คน เริ่มเดินตรวจตั้งแต่บ่ายสาม ออกมาก็ตีหนึ่ง
หมอต้อง deep listening ทั้งหมด
เฉพาะเคสที่หนักค่ะ เราเห็นเขาตั้งแต่วันแรกๆ ที่ยังไม่หนัก เราเล็งแล้วว่าต้องหนักแน่ๆ เลยเคสนี้ เช่น ความเสี่ยงเยอะ เบาหวานเยอะ อายุเยอะ น้ำหนักเยอะ ก็เดาไว้แล้วว่าต้องหนัก เพราะฉะนั้น เราก็จะให้เวลา ให้ความสำคัญกับเขาเยอะนิดนึงตั้งแต่วันแรกๆ
แล้วหลักการของ deep listening คืออะไร
อยากรู้ อยากฟังเขาจริงๆ หมอคิดว่ามันไม่มีอะไรนอกจากเราเชื่อว่าการฟังของเรามีประโยชน์กับเขา แล้วก็ตั้งใจฟังจริงๆ
คือกว่าจะถึงจุดที่ยอมรับความจริงในเรื่องของการจากไปได้มันก็ไม่ง่าย คุณหมอจะแชร์ยังไงกับคนที่อาจยังรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนตัวเขาเองหรือญาติ จากมุมมองที่หมอได้เรียนรู้มา
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเขาด้วย การที่เราจะไปบอกว่าเขารับได้หรือไม่ได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทั้งหมดที่เขาเติบโตมา มีประสบการณ์อะไรสอนเขามาบ้าง ครอบครัวเขามีอะไรทำร่วมกันมาบ้าง มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำร่วมกันบ้าง นั่นแหละจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาไม่สามารถวางตอนที่คนไข้จะจากไป อย่างบางเคสเขาไม่อยากให้คุณพ่อเขาจากไป ทรมานแค่ไหนเขาก็ขอให้ทำเต็มที่ อย่างนี้แพทย์ก็จะเรียกว่ากตัญญูซินโดรม แต่สุดท้ายนะคะ มันคือความรักที่เขามีต่อพ่อแม่เหมือนกันนั่นแหละ แต่เขาไม่มีโอกาสได้แสดงสิ่งนี้ก่อนหน้านั้น เขาก็ขอมาแสดงในช่วงท้ายตรงนี้
ซึ่งมันก็มีทั้งบวกลบ มีหัวก้อย เพราะว่าถ้าจะมาทุ่มตอนนั้น…
มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ควรเข้าไปสื่อสารว่ามันไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว มันเป็นแค่ความทุกข์ทรมานที่นานขึ้นเฉยๆ คนไข้ไม่สามารถกลับมาได้แน่ๆ เราต้องเข้าไปสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารก็ต้องมีเทคนิค จะไปบอกว่าทำไปแล้วไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้ ต้องเป็นการสื่อสารในเชิงที่ว่าเรารู้นะว่าเขารักพ่อแม่ ซึ่งตรงนี้เป็น empathy ที่เราต้องตระหนักถึงความรู้สึกเขาก่อน เขาถึงจะรับฟังเรา
ก่อนมาเรียนรู้เรื่อง Palliative Care เมื่อก่อนหมอมีคาแรกเตอร์อย่างไร
จริงๆ ก็เป็นอย่างทุกวันนี้ คือไม่เหมือนหมอ palliative คนอื่นซึ่งจะซอฟต์ๆ พูดเสียงซอฟต์ๆ แต่หมอไม่ใช่สไตล์นั้น บางคนก็บอกว่าเป็นข้อดีเพราะดูจริงใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาเหมือนกัน เพราะว่าหลายๆ อย่างเราต้องใช้ความรู้สึก เราต้อง overexpress เขาถึงจะรับรู้ได้ว่าเรา empathy เขาอยู่นะ เราเข้าใจเขานะ อย่างตอนโควิดที่ใส่ชุด PPE ต้อง over expression อย่างเดียวเลย ฟังเขา ถ้ายังสัมผัสเขาได้อยู่ ก็จับตัวเขาผ่านถุงมือ
สายตาล่ะ
สายตาเนี่ยสำคัญ เพราะยังมองเห็นตากันอยู่ เราก็มองเขา เพราะสีหน้าเขาไม่เห็นแล้ว คือยิ้มหรือไม่ยิ้มเนี่ยไม่เห็น เขาไม่เห็นว่าปากเราเป็นยังไง แต่เขาได้ยินแต่เสียงของเรา เราก็พยายามพูดให้ดังขึ้นเพราะต้องพูดผ่านหน้ากาก แต่พูดให้มีหางเสียงมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีหางเสียงจะเหมือนตะคอกเขา ร่วมกับการใช้คำพูดเชิงคำถามมากขึ้นกว่าปกติ ก็คือถามว่าเขารู้สึกยังไง ให้เขาพยายามพูดเยอะๆ เขาก็รู้ว่าเราพยายามรับฟังเขา
สมมติถ้าเอาไปปรับกับชีวิตประจำวัน ถ้าเราถูกขังไว้ในอะไรสักอย่าง แล้วเราต้องสื่อสาร ต้องแสดงออกว่าเห็นใจหรือเข้าใจนะ สิ่งที่เราจะแสดงออกได้ดีที่สุดว่าเรา empathy หมอว่ามันคือช่องทางไหน
คิดว่าสายตาน่าจะสำคัญที่สุด
กลับมาที่เรื่องคอนเซปต์ของโรงพยาบาลคูน อยากรู้เบื้องหลังการตั้งชื่อโรงพยาบาลว่ามีที่มาอย่างไร
หมออยากให้เราเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไข้ ให้เขาได้เลือกว่าช่วงปลายชีวิต อยากให้มันเป็นแบบไหน ถ้าอยากให้มันสวยงาม เขาก็สามารถเลือกที่จะเป็นเหมือนต้นคูนได้ ซึ่งช่วงที่เริ่มผลัดใบในช่วงที่ดอกเต็มต้นนั้นเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด นั่นคือทางเลือก ถ้าเขาเลือก Koon เขาก็อาจจะมีชีวิตแบบนั้นได้ ก็คือมีชีวิตที่สวยงามในช่วงท้ายของชีวิต
เพราะต้นคูนสวยที่สุดตอนออกดอก?
ใช่ค่ะ ตอนที่ดอกเป็นสีเหลือง คือพอเรานึกถึงต้นคูน เราจะนึกถึงภาพต้นไม้ที่ปลูกเรียงกันเป็นแถว ออกดอกสีเหลืองเป็นรวง แต่เราไม่ได้นึกหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นช่วงที่ต้นคูนไม่มีใบ ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือช่วงที่ใบร่วงโรยอยู่ แต่ภาพของเราคือความสวยงามของต้นคูน ซึ่งจริงๆ มันผลัดใบอยู่ คือถ้าคุณคิดว่าช่วงท้ายของชีวิต อยากทำให้มันสวยงามเหมือนต้นคูน ก็เลือกโรงพยาบาลคูน
แต่คนที่จะเข้าถึงบริการนี้ก็ไม่ใช่ทุกคน
จริงค่ะ ไม่ใช่ทุกคน ขณะเดียวกันต้องบอกว่าเซอร์วิสเรื่อง Palliative Care ในประเทศไทยก็มีทั้งฝั่งภาครัฐบาลและฝั่งเอกชน แต่ต้องบอกว่าบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ไม่พอ แล้วเคสที่ขอคำปรึกษาเข้ามาก็น้อยมาก ภาครัฐบาลก็พยายามสนับสนุนและผลักดันให้เกิดแผนกนี้ เพราะช่วยลดงบประมาณของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ในการยื้อเวลาออกไปได้มาก เป็นหลักร้อยล้านต่อปี แต่ส่วนฝั่งภาคเอกชนก็จะเป็นแผนกเงียบๆ ไม่ได้ถูกผลักดันมากนัก พอหมอมาทำตรงนี้ก็เหมือนเรายืนขึ้นมาให้ทุกคนได้เห็น เขาก็สามารถวอล์กอินเข้ามาหาเราได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องรอให้หมอท่านใด consult เข้ามา เพราะจากเดิมคือต้องผ่านช่องทางของการ consult จากหมอเจ้าของไข้ แล้วหมอท่านนั้นก็ส่งตัวมาให้หมอ Palliative Care ดูแล ซึ่งหมอคิดว่าตรงนี้เป็นตะแกรงที่กรองไปเยอะมาก แต่พอเรามายืนตรงนี้ แล้วเขาสนใจ คิดว่ามันใช่ ก็เดินมาหาเราได้เลย
ซึ่งทุกวันนี้เขาวอล์กอินเข้ามาเลย?
ทุกวันนี้ก็มีวอล์กอินเข้ามา โทรเข้ามาถาม แต่ขณะเดียวกันเรื่องราคาอาจเป็นเรื่องที่เรา concern เรายอมรับว่า position ของเราคือโรงพยาบาลเอกชน แต่หมอบอกได้เลยว่าราคาของเราถ้าเทียบกันแล้ว รวมค่าห้อง ค่ารักษา ถึงแม้เราจะตกแต่งห้องสวยหรู แต่ค่ารักษาของเราไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนอื่น ต้องบอกว่าถูกกว่าที่อื่นเยอะ คือถ้าเขาได้รับการรักษาแบบปกติจะมียานู่นนี่นั่น ถ้ามาที่เรา เราให้ยาที่เพิ่มคุณภาพชีวิตเท่านั้น ยาตัวไหนไม่ได้ช่วยเรื่องคุณภาพชีวิต ก็อาจจะไม่ได้ให้ ตรงนี้ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ กับอีกกรณีถ้าคุณเป็นหลายโรค เวลาไปโรงพยาบาลเอกชน อย่างน้อยมีหมอ 3-4 คนตามอวัยวะที่คุณเป็น แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ หมอเป็นหมออายุรกรรม หมอก็จะดูได้ระดับหนึ่ง อาจจะไม่ลึกมากนัก ถ้ามีกรณีที่ต้องการความเชี่ยวชาญพิเศษของแต่ละอวัยวะ แล้วมีประโยชน์กับคุณภาพชีวิตเขา หมอก็จะทำ แต่ถ้าดูแล้วมันได้ประมาณนี้แหละ ค่าหมอก็จะเซฟไปได้เยอะ คนไข้ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ อย่างทีมที่หมอชวนมาอยู่ที่คูนทุกคนก็จะมีแนวคิดเรื่อง Palliative Care ที่ดีและเข้มแข็ง
เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลด้าน Palliative Care แห่งแรก ปัญหาและความท้าทายก็ต้องมีเยอะพอสมควร คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องพยายามมากที่สุด
เรื่อง awareness ค่ะ คือหมอคิดว่าความเข้าใจเรื่อง Palliative Care อาจยังไม่ชัดเจน ไม่มีความเข้าใจกันจริงๆ ส่วนมากมักคิดว่าการรักษาแบบประคับประคองมาถึงก็ต่อเมื่อไม่เหลือการรักษาวิธีไหนแล้ว คือหมดแล้วซึ่งการรักษาของคุณหมอทางหลัก แล้วค่อยเข้าสู่การดูแลแบบ Palliative Care ซึ่งจริงๆ แล้วอย่างที่บอกคือเราสามารถดูแลควบคู่กันไปได้ตั้งแต่ต้น ช่วงที่ทางเลือกในการรักษาของคนไข้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่อาการเยอะขึ้น บทบาทของ Palliative Care ก็จะเยอะขึ้น จนกระทั่งทางเลือกในการรักษาของเขาหมดแล้ว ทีนี้ก็จะเหลือแต่การดูแลอาการล้วนๆ เลย ก็จะเป็นบทบาทของ Palliative Care ดูแลตรงนั้นไป
พูดเรื่องนี้แล้ว สิ่งที่ทุกคนกำลังถกเถียงไม่แพ้กันก็คือ mercy killing หรือการุณยฆาต ในมุมมองของหมอ หมอมองยังไง
ต้องแบ่งเป็นสองประเด็นนะคะ จริงๆ มันเป็นสิทธิของคนไข้ที่จะเลือกจบชีวิตตัวเอง ถ้าเขาคิดว่าทุกข์ทรมานมากๆ รักษาไม่ได้แล้ว มันก็เป็นสิทธิของเขาในเชิงปัจเจกบุคคล แต่หมอไม่แนะนำว่าจะต้องนำคอนเซปต์นี้มาใช้จริงในประเทศไทย เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยากทำการุณยฆาต เป็นเพราะเขามีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี มีความทุกข์ทรมานทางกายเพราะไม่สามารถเข้าถึง Palliative Care
หมอเชื่อมากๆ เลยว่าถ้ามี Palliative Care ที่ดีมากๆ เปอร์เซ็นต์ความอยากทำการุณยฆาตจะน้อยลง เพราะเราคุยกันแล้วว่าการรักษาจะเป็นแบบนี้นะ เราดูไปพร้อมกัน มีคนที่เข้าใจเขา มีคนที่คอยดูแลให้เขาสุขสบาย เขาก็จะทุกข์ทรมานน้อยลง โดยทั่วไปเขาจะมีเวลาของเขาอยู่แล้ว เราไม่ยื้อแต่ไม่ทำให้สั้นลง ไม่ shorten life ไม่ prolong dead คือยอมรับตามธรรมชาตินั้นๆ ว่าเรามีหน้าที่รักษาอาการที่เกิดขึ้นตรงนั้นให้เขาสบายตัวที่สุด ให้เขาและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด นี่คือหน้าที่ Palliative Care ถ้าไม่มีตรงนี้เขาจะทุกข์ทรมานเยอะ เขาก็ย่อมอยากจบชีวิตลง เพราะฉะนั้น ในประเทศที่มีการุณยฆาต การรักษาแบบ Palliative Care ของเขาต้องเข้มแข็งมากๆ แล้วเขาก็มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงมาก ก็อาจจะมีกฎหมายแบบนี้ที่ยอมรับให้เกิดขึ้นได้ แต่ในประเทศไทยหมอคิดว่าต้องพัฒนาอีกเยอะมาก เรายังไม่ไปถึงจุดที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเมื่อไหร่ควรจบชีวิต คืออันตรายมากที่จะให้ทุกคนคิดว่าอยากตายก็ตายได้ หมอว่ามันไม่โอเค
แล้วหมอมองว่าในบทบาทของหมอ หมอก็ไม่ทำ?
ไม่ทำ มีคนไข้มาขอให้ทำค่ะ ที่ไม่ทำเพราะหมอรู้ว่าเขามีเวลาของเขา คือไม่ต้องทำก็ได้ เพราะอีกไม่นานเขาก็จะเสียชีวิต เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะมีอาการที่ไม่สุขสบาย มีความกังวล จิตใจไม่ดี รู้สึกว่าเป็นภาระของคนอื่น เหล่านี้คือความรู้สึกของคนไข้ที่ทำให้ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะค่อยๆ แกะตรงนี้ออก ช่วยดูแลเขา
ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทำให้เร็วขึ้น
ไม่จำเป็น แต่เราเข้าไปแก้ไขในจุดที่ทำให้เขาไม่อยากอยู่ ไปหาว่าทุกวันนี้เขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เขาใช้คำว่า existential เราต้องไปหาตรงนั้นให้เจอ พอเราเจอ ก็ให้คนไข้เห็นพ้องว่าเราเจอสิ่งนี้แล้วนะ ให้เขาอยู่กับสิ่งนี้ไป เพราะเหมือนกับวันที่เขาอยากตาย คือวันที่เค้าหา existential นี้ไม่เจอ เลยไม่รู้จะอยู่ไปทำไม อยู่ไปก็มีแต่ความทุกข์ ก็เลยไม่อยากอยู่
จริงๆ มีหลายเคสที่หมอดูแลที่โรงพยาบาลทหาร พวกทหารยศสูงๆ บางทีเขารู้สึกว่าวันที่ป่วยหนักๆ เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วเพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขารู้สึกว่าการนอนบนเตียง ไม่ได้เป็นทหารเหมือนเมื่อก่อน ไม่มีลูกน้องมีบริวาร มันเป็นความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณของเขา เราก็ไปนั่งฟังว่าอะไรคือความทุกข์ทรมานเจ็บปวดของเขา ณ ตอนนั้น อาจไม่ใช่ทางกาย แต่เป็นทางจิตใจ ทางความเชื่อของเขาก็ได้ เราก็ไปช่วยดูซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราก็ไปสื่อสาร ไปแกะดูว่าเราช่วยอะไรเขาได้บ้าง เปลี่ยนมุมมองเขายังไงได้บ้าง
เปลี่ยนมุมมองเพื่อให้เขารู้ว่าเขาต้องอยู่ทำไม
ใช่ค่ะ ให้เขารู้ว่านาทีนี้เขายังต้องอยู่เพื่ออะไร และเขาจะมีเวลาของเขานะ ถ้าถึงตอนนั้นที่เขาต้องจากไป เราก็ไม่ยื้อให้เขาทุกข์ทรมานนานขึ้น แต่ตอนนี้มันยังไม่ถึงเวลาตรงนั้น ให้เขาพยายามหายใจและมีความสุขในแต่ละวันให้มากที่สุด จะตายอย่างสวยงามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ที่เรามองเขา เพราะสิ่งนี้มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่เป็นหน้าที่หมอแล้วกัน ถ้าเกิดหมอทำได้ก็จะทำยังไงก็ได้ให้มันดี ให้มันสวยให้ได้ในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่
แต่ตอนตายมันต้องเศร้าอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ
เศร้าอยู่แล้ว ต่อให้ทำใจก็เศร้า การที่เขาร้องไห้วันที่สูญเสียคนที่รัก ไม่ได้แปลว่าเขาทำใจไม่ได้ มันแปลว่าเขาสูญเสีย ต่อให้รู้อยู่แล้วว่ามันต้องเกิดขึ้นในวันข้างหน้า แต่ตอนที่เกิดขึ้นมันก็คือความสูญเสีย ก็ร้องไห้เป็นธรรมดา แต่เมื่อวันนี้ผ่านพ้นไปแล้วเขามองกลับมา เขาจะรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ตรงนี้มากกว่า เขาอาจจะยังยิ้มได้กับการที่มีโอกาสส่งครอบครัวเขาให้จากไปในรูปแบบนี้ ได้มีโอกาสได้ดูแลกัน มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน
เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าคนใกล้ตายจะมีเรื่องเสียดายอยู่ไม่กี่อย่าง สำหรับหมอมองว่าเมื่อสรุปออกมาแล้วส่วนใหญ่คนเสียดายเรื่องอะไร
คนเสียดายโอกาสที่จะได้อยู่ด้วยกัน คนเสียดายเรื่องความสัมพันธ์มากที่สุด เหมือนอย่างที่บอกว่าตอนโควิดทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญกับชีวิตเราจริงๆ แต่ตอนช่วงความตายใกล้มาถึง สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเห็นชัดมากขึ้น เพียงแต่เวลาเหลือน้อย แล้วหมอจะเสียดายมากถ้าเขาต้องเอาเวลาที่เหลือน้อยนี้มาอยู่กับหมอเยอะๆ เพื่อรักษาให้หาย ซึ่งมันเหมือนเป็นการเอาเวลาของเขามาจากครอบครัว
หมอถึงไม่มีไอซียูที่นี่ ไม่คิดด้วยซ้ำว่าควรต้องมี เพราะคำว่าไอซียูมันรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่จำกัดการเข้าเยี่ยมของญาติ คนไข้ต้องอยู่กับทีมพยาบาล มีแพทย์อยู่ตลอดเวลา มีอุปกรณ์ มีสายระโยงระยาง หมอต้องมาดูตลอด เราไม่มีสถานที่เพื่อทำแบบนั้น โอเค ถ้าคนไข้หนัก มีคนไข้วิกฤต เราก็ย้ายคนของเราเข้าไปอยู่กับคนไข้ด้วยเครื่องมือที่เรามี ให้ครอบครัวเขาอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็คุยร่วมกันว่าเป้าหมายการดูแลเป็นแบบนี้นะ หมอคิดว่านี่น่าจะเป็นการดูแลให้เขาสุขสบายมากที่สุดในช่วงวิกฤตของเขา
ซึ่งหมายความว่าเขาก็อาจจะเสียชีวิตที่นี่
ใช่ค่ะ
หรือว่าต้องย้ายกลับไปอยู่บ้าน
เขาอยากกลับบ้านก็ได้ หรือแม้แต่เขาอาจบอกว่าอยากกลับไปรักษารูปแบบใดๆ ก็ได้ค่ะ ถ้าเราสื่อสารแล้วเขาอยากทำแบบนั้น ก็มีเคสแบบนี้อยู่ค่ะคือรักษาแบบ palliative มาตลอด ไม่ทำไม่ทำนี่มาตลอดเลย แต่พอถึงช่วงเวลานั้นมาถึงลูกบางคนก็ไม่ยอม คนไข้ก็กลับไปรักษาในรูปแบบปกติ แต่กรณีแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นที่คูนนะคะ แต่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้
คือมันสำคัญนะเพราะเป็นโมเมนต์ที่ยังตัดสินใจได้ คุณจะไปทำตอนที่ตัดสินใจไม่ได้แล้วไม่ได้นะ
คือการเตรียมตัวตรงนี้มันไม่มีพอดีหรอก มีแต่เร็วไปกับช้าไป อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกเร็วไปหรือช้าไป
เร็วไปคืออะไร?
อย่างเช่นทุกวันนี้หมอก็แข็งแรงดี แต่หมอก็บอกครอบครัวไว้แล้วว่าถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับฉัน อะไรบ้างที่ฉันเอา อะไรบ้างที่ฉันไม่อยากได้ ถ้าเลี้ยงดูฉันไปแล้วสมองฉันไม่ฟื้นขึ้นมาอีก ฉันเป็นเหมือนผัก ลืมตาแต่ไม่สามารถสื่อสารได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นไม่ต้องทำอะไรกับฉันได้นะ ดูแลให้ฉันสุขสบายอย่างเดียว ทั้งๆ ที่วันนี้ไม่ได้มีเหตุที่จะเกิดอะไรแบบนั้นนอกจากอุบัติเหตุ แต่หมอก็เลือกที่จะคุยตั้งแต่วันนี้ในวันที่หมอยังคุยได้อยู่
คือถ้าหมอไม่ทำเลยแล้วเกิดขับรถไปทางพระรามสอง แล้วบังเอิญมีสะพานตรงไหนพังลงมา มันก็ too late เลยบอกว่าไม่มีวันที่มันพอดีหรอก แต่คุณเลือกได้ว่าจะ too early หรือ too late เท่านั้นเอง ขณะเดียวกันวันข้างหน้าถ้าหมอมีโรคประจำตัวอะไรเกิดขึ้นมาใหม่ แผนการรักษานี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงก็ได้ หมออาจจะบอกว่าอันนี้เอา อันนี้ไม่เอานะ มันมีการเปลี่ยนแปลง เราก็แค่สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เรียกว่า Advance Care Planning คือการวางแผนร่วมกันในครอบครัว ในทีมสุขภาพ มีคุณหมอช่วยดูให้
บังเอิญว่าเราอยู่ในสังคมที่การพูดถึงความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่เป็นมงคล
ใช่ เรายังมีความกังวลเรื่องนี้กันอยู่ แต่หมอก็มองอีกมุมนึงนะว่ามันเป็นการพูดถึงการมีชีวิตอยู่มากกว่า ว่าคุณอยากมีชีวิตอยู่แบบไหน เราอาจไม่ได้พูดโฟกัสถึงตอนที่เราจะตาย แต่บอกว่าถ้าเรามีชีวิตอยู่ แบบนี้คือชีวิตที่เราต้องการ แต่ถ้าแบบนี้คือชีวิตที่เราไม่ต้องการ ไม่ต้องยื้อเราก็ได้ เพราะถ้าให้หมอเลือกกับให้คุณเลือก ก็อาจเลือกไม่เหมือนกัน คุณภาพชีวิตที่ดีที่คุณชอบกับคุณภาพชีวิตที่ดีที่หมอชอบเป็นแบบไหน เราอาจเลือกไม่เหมือนกันก็ได้ แต่อาจไม่มีใครมาฟัง มารับรู้ในรายละเอียดตรงนั้น ยิ่งหมอในไอซียูไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักษาไปเนี่ย เป็นผัก เจาะคอ ไม่ตื่นอีกแล้ว ต้องมีแผลที่ก้น ต้องคอยตัดเนื้อตาย คนไข้เองอยากได้แบบนี้จริงๆ หรือเปล่า เราต้องทำอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร หมอมองว่ามันขาดแค่การสื่อสารกันล่วงหน้านี่แหละค่ะ
ปกติคนเป็นหมอถูกสอนให้ปล่อยวางโดยอะไร by training หรือ by nature?
หมอว่าทุกอาชีพเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่าบางอย่างคุณก็ต้องวาง เหมือนกับเรามีประสบการณ์มาเยอะ คือพอเราทุกข์กับบางสิ่งบางอย่างมากๆ เราต้องมานั่งดูว่าเราทุกข์เพราะอะไร เราก็จะรู้เองแหละว่าส่วนมากเราทุกข์เพราะเราไม่วาง เราพยายามจะไปควบคุมบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป
เมื่อก่อนทุกข์ คืออย่างที่บอกว่าหมออยู่ไอซียู เครื่องมือมันเยอะมาก ความรู้เราก็พอมีอยู่เต็มที่ เฝ้าก็เฝ้าทั้งวันแล้วทำไมเขายังต้องตายอีก เรารู้สึกว่าคือความล้มเหลว รู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ได้ แต่พอจริงๆ แล้วมันไม่ได้แปลว่าเราทำแบบนี้แล้วจะรอดทุกคน เพราะบางอย่างเราควบคุมไม่ได้ มีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้ เราจำเป็นต้องเข้าใจให้ได้ว่าในสิ่งที่เราควบคุมได้ เราทำดีที่สุดแล้วไหม ถ้าใช่ เราก็ต้องยอมรับมัน
จำคนไข้คนแรกที่แอดมิตที่นี่ได้ไหมว่าเป็นเคสไหน
เป็นอากงอายุประมาณ 88-90 ปี ย้ายมาจากโรงพยาบาลอื่น ญาติติดต่อมาก่อน หมอบอกโอเครับได้ เข้ามาเลย วันแรกๆ ที่มาอากงหายใจแล้วเหนื่อยเยอะ เราก็ปรับยาให้ ให้ออกซิเจน ดูดเสมหะ อาการเหนื่อยก็ดีขึ้น แรกๆ ตอนญาติเห็นอากงเหนื่อยก็รู้สึกกังวล แน่นอนว่าเขาย้ายมาจากโรงพยาบาลใหญ่มาอยู่โรงพยาบาลเล็กกว่า แล้วก็ดูไม่เหมือนโรงพยาบาลด้วยซ้ำ มันก็เป็นความกังวลของครอบครัวอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือวันนั้นหมอก็นอนเฝ้าเขา เข้าไปดูบ่อยๆ ปรับยาไปเรื่อยๆ ตอนเช้ามาก็ดีขึ้น เขาก็ไม่เหนื่อย ออกซิเจนทุกอย่างก็ดูรักษาระดับได้ แต่ด้วยตัวโรคของเขาคือไตวายเฉียบพลัน ซึ่งญาติพิจารณาแล้วว่าการล้างไตไม่เกิดประโยชน์ ไม่ล้างแน่ๆ โอเคไม่ล้างไม่เป็นไร เราก็รู้ว่าล้างก็ไม่เกิดประโยชน์ ก็เห็นด้วยกับการไม่ล้าง
เราก็ดูแลกันไปเรื่อยๆ ปรับยาตามอาการ อาม่าก็ได้มาเยี่ยมอากงทั้งๆ ที่อยู่โรงพยาบาลเดิมอาม่าไม่ได้เยี่ยมสองเดือนกว่า ที่นั่นจำกัดการเยี่ยม อาม่าก็ไม่ได้ไป พอมาอยู่ที่นี่อาม่าก็ได้มาเยี่ยม เขาก็ได้มีเวลาดีๆ ร่วมกันจนวันสุดท้ายที่อากงเสียชีวิต ครอบครัวก็อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทุกคน มีการกล่าวขอขมา กล่าวขอบคุณ ตอนเช้าลูกสาวมารับศพ เขาก็เดินมาจับมือหมอบอกว่าขอบคุณนะที่มีโรงพยาบาลแบบนี้ มันก็เป็นกำลังใจให้เราว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับบางคนจริงๆ
จากที่คุยมาทั้งหมด สุดท้ายแล้วคุณหมอคิดว่าหน้าที่หมอคืออะไร คอนเซปต์การเป็นหมอตั้งแต่เรียนมาจนถึงวันนี้ สำหรับตัวเองแล้ว คนเป็นหมอคือแบบไหน
คือการช่วยเหลือคนไข้ เขาทุกข์จากโรคที่รักษาไม่หายอยู่แล้ว ไม่ว่าตอนที่เราไปเจอ เขาจะอยู่ในระยะไหน เราก็มีหน้าที่ช่วยให้เขาลดความทุกข์ตรงนั้นไป ถ้าเรารักษาโรคที่เขาเป็นได้ เราก็รักษา ถ้ารักษาไม่ได้ เราก็ดูแลความสุขสบายทางกายอย่างอื่นให้เขาได้
วันนี้คุณหมอคิดว่าชีวิตที่ดีคืออะไร
มันเป็นปัจเจกมากๆ แต่สำหรับหมอเองคือถ้าเรายังอยู่ในจุดที่ไม่ต้องพึ่งพา ช่วยเหลือตัวเองได้ สื่อสารได้ ตัวเรายังมีประโยชน์กับคนอื่นอยู่ มันคือสามอย่างนี้แหละค่ะ ถ้าต้องขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เราอาจสื่อสารได้น้อยลง อาจต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ถ้าเรายังมีประโยชน์กับคนอื่นอยู่ มันก็ยังเป็นชีวิตที่ดีได้อยู่ หรือเราอาจมีประโยชน์กับคนอื่นน้อยลง แต่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ สื่อสารได้ โอเค มันก็ยังเป็นชีวิตที่ดี แต่ถ้าส่วนผสมของสามอย่างนี้ครบ ถือว่าเป็น ultimate goal ของหมอ แต่ถ้าต้องขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง มันอาจจะดีน้อยลง เราก็แค่ปรับตัวเองให้อยู่กับสภาวะแบบนั้นให้ได้
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ