‘มีสติ ก็ไม่เสียสตางค์’ เตือนภัยไซเบอร์ กับ พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง มือปราบมิจฉาชีพออนไลน์

“หากไม่อยากถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก ให้ท่องจำเอาไว้ มีสติ ไม่เสียสตางค์”

        นี่เป็นประโยค หรือจะเรียกว่าเป็นคาถา ที่ พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช. สอท.) บอกให้ฟัง ซึ่งอย่างที่หลายคนทราบ ขณะนี้บรรดามิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของ ‘คอลเซ็นเตอร์’ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ลองเหลียวไปมองดูรอบกาย หรือไถ่ถามบรรดาเพื่อนพ้องญาติมิตรของคุณดู ไม่มากก็น้อย ต้องมีคนเคยผ่านประสบการณ์ ในลักษณะที่มี ‘เบอร์แปลกๆ’ โทร.เข้ามา และมักจะกล่าวอ้างว่า คุณกำลังเข้าข่ายกระทำความผิดบางอย่าง หรือมีของตกค้างที่ไปรษณีย์ เพื่อหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีที่ต้องการ

        นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะที่ผ่านมา เคยมีคนถูกหลอกในลักษณะดังกล่าวด้วยจำนวนเงิน ‘นับ 10 ล้าน’ และที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือสามารถโอนกันได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน ‘10 นาที’ เหล่านี้จึงเป็นที่มาให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือที่นิยามสั้นๆ ว่า ‘ตำรวจไซเบอร์’ ต้องออกมากวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพดังกล่าว

        โดยก่อนหน้านี้ มีคลิปที่สร้างความเกรียวกราว เมื่อ พล.ต.ท. กรไชย อัดคลิปการพูดคุยกับมิจฉาชีพที่ (บังเอิญ) โทร.เข้ามา งานนี้เล่นเอาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปแทบไม่เป็น แต่กลายเป็นว่า คลิปดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมไปพอสมควร แต่สำหรับเจ้าตัวแล้ว เขาบอกว่าไม่มีปัญหา หากว่าคลิปภาพเหล่านี้ จะสามารถไป ‘กระตุ้นเตือน’ ให้ผู้ที่กำลังโดนหลอก เกิดจดจำขึ้นมาได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อ เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มค่ามากๆ แล้ว

        นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างเหตุการณ์ ‘อาชญากรรมทางเทคโนโลยี’ ที่ตอนนี้ทั้งเหิมเกริมและรุกรานอย่างหนัก เราจึงต้องไปสนทนากับ ‘ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์’ ท่านนี้ พร้อมทั้งนำข้อมูล ความรู้ และสาระประโยชน์ มาบอกกล่าว เพื่อไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อซ้ำอีก สำคัญไปมากกว่านั้น เพื่อไม่ให้ ‘เงิน’ ในกระเป๋าของคุณ ไม่ถูกหลอกโอนเอาไปอย่างง่ายดาย

ขอย้อนกลับไปในวันที่คุณทำคลิปการคุยกับมิจฉาชีพขึ้นมา เรื่องราวมันเป็นอย่างไร

        วันนั้นมีมิจฉาชีพโทร.เข้ามาที่เบอร์ผมจริงๆ ทีนี้ผมก็อัดคลิปเอาไว้ แล้วเอาไปลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ดู จุดประสงค์คือ อยากทำให้ดูว่า ถ้าคุณทำแบบนี้คุณจะไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่มีคนไม่เข้าใจ คิดว่าผมทำเล่นๆ บ้าง หรือคิดว่าทำไมไม่ตามไปจับมัน ปล่อยวางหูไปทำไม 

        ซึ่งความจริงก็คือ หลังจากนั้นผมตามไปปิด IP Address (internet protocol address) ของเบอร์นี้เรียบร้อย การปิด IP ได้สัก 1 IP หมายความว่า เราสามารถช่วยคนได้อีกเป็นพันๆ คน เพราะพวกนี้มันโทร.หลอกคนทุกวัน คิดง่ายๆ 1 IP ใช้โทร.หลอกคนวันละเป็นหมื่นๆ เราปิดไปได้ 1 IP นั่นคือการช่วยคนไปได้ไม่น้อย 

        ส่วนคนที่ดูคลิปผมแล้วคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร ก็แค่ด่ามิจฉาชีพอย่างเดียว อันนั้นคงไปว่ากันไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย ต้องมีคนจำคลิปนี้ได้ พอเวลาที่พวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้โทร.มา เขาจะนึกถึงหน้าผม จำคลิปของผู้บัญชาการคนนี้ได้ (หัวเราะ) แล้วเขาจะไม่ถูกหลอก ผมว่าแค่นี้ก็มีประโยชน์มากๆ แล้วนะ 

        พรรคพวก เพื่อนๆ ผมโทร.มาคุย เคยมีเหตุการณ์ถูกพวกมิจฉาชีพโทรมาหลอก เขาบอกทำเหมือนผมในคลิปเป๊ะ คือด่ามันไปเลย ปรากฏว่ามันวางหูแทบไม่ทัน แล้วพวกนี้พอมันรู้ว่าเรารู้ มันจะไม่โทร.มาอีก เพราะมันจะเมมเบอร์เอาไว้ เบอร์นี้คือไม่ต้องโทร.แล้ว โทร.ไปจะโดนด่า (หัวเราะ) อย่างเบอร์โทรศัพท์ของผม จากวันนั้นถึงวันนี้ ไม่มีเบอร์แปลกๆ โทร.มาอีกเลย

ถ้าให้คุณเปรียบเทียบแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ เหมือนเป็นแผลร้ายในสังคม คุณคิดว่าในเวลานี้ แผลมันลุกลามไปแค่ไหนแล้ว

        ผมไม่ได้มองว่าเป็นแผล แต่ผมมองว่ามันเป็นเชื้อโรค ถ้าเทียบก็เหมือนโควิด คือมีการปรับตัวในการทำอาญชากรรมที่รวดเร็วมาก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ พวกนี้จะมียุทธวิธีที่เปลี่ยนไป สมมติวันนี้เรารู้แล้วว่ามันใช้วิธีอย่างไร ปรากฎว่าพรุ่งนี้มันเปลี่ยนไปอีกแล้ว แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปด้วยวิธีไหน กลไกที่เขาใช้หลอกคน เขามุ่งไปที่เรื่องจิตวิทยา คือความอยากรวย อยากมีของคนเป็นหลักนั่นเอง

อยากให้คุณช่วยเล่าถึงวิธีการหลอกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันสักหน่อย

        พวกนี้จะมีวิธีการคือทำให้เรากลัว เขาจะเริ่มต้นด้วยการขู่ เช่น คุณมีบัญชีที่เป็นบัญชีฟอกเงินอยู่นะ หรือคุณมีส่วนพัวพันกับเรื่องยาเสพติดอยู่นะ แล้วมักจะอ้างตัวเป็นตำรวจ อยู่ สภ. เมืองนั้นจังหวัดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่เชียงใหม่กับที่กระบี่ ให้ลองสังเกตดู แล้วพวกนี้จะมีไดอะล็อกพูดเป็นช่องเป็นฉาก สามารถเปลี่ยนเรื่องไปได้เรื่อยๆ เพราะที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของเขาจะมีพล็อตเรื่องเตรียมเอาไว้เป็นสิบๆ เรื่อง

        ทีนี้พอเขาเริ่มพูดขู่จนทำให้เกิดความกลัวได้ เขาจะมีวิธีทำให้คุณบอกเลขที่บัตรประชาชน บัตรเครดิต หรือเบอร์บัญชีธนาคาร ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าคุณมีเงินอยู่ในบัญชีเท่าไหร่ แต่พอเราเผลอพูดตัวเลขออกไป ทีนี้จะยิ่งรุกหนักเลย จะเริ่มโอนสายไปที่หน่วยราชการใดราชการหนึ่ง เช่น ดีเอสไอ ซึ่งพวกนี้คือสตอรีที่เขาสร้างขึ้นล้วนๆ 

        พวกนี้เหมือนแก๊งตกทองสมัยก่อน ที่พอมีคนเห็นทองตกครั้งแรก จากนั้นก็จะมีคนเข้ามามุงเพื่อให้เราเห็นว่ามันเป็นทองจริง พอเราเริ่มเชื่อ จะอ้างนู่นนี่ ไม่มีเวลาบ้าง ต้องกลับบ้านบ้าง เพื่อจะขายทองให้เราถูกๆ ทั้งหมดที่เห็นคือทำเป็นขบวนการ โดยใช้คนเป็นสื่อ 

        ถามว่าแล้วทำไมถึงถูกหลอกกันง่ายๆ คือพวกนี้จะมีวิธีการหว่านล้อม ทำให้คนฟังหลง บางคนคุยเพลิน นึกว่าการพูดออกไปมันเป็นเรื่องดี เช่น บางเคสโทร.มาอ้างว่ามีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต พอเรายืนยันว่าไม่มีหนี้ แถมคุยเพลินไปอีกว่ามีเงินเป็นสิบล้าน พอพวกนี้ได้ยินปุ๊บ เปลี่ยนเรื่องทันที จะเปลี่ยนเรื่องว่าเรากำลังพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย แล้วสเต็ปต่อไปอย่างที่บอก คือจะโอนสายให้คุยกับตำรวจ บางคนเปิดหน้า แต่งชุดตำรวจเต็มยศ เป็นพันตำรวจโทนู่นนั่นนี่ มีไดอะล็อกพูดเป๊ะ  

        สุดท้ายก็หลวมตัวโอนเงินไปจนได้ เพราะกลัวว่าเงินที่ตัวเองมีอยู่ จะไปพัวพันกับการฟอกเงินบ้าง หรือเรื่องยาเสพติดบ้าง ซึ่งพวกนี้จะให้โอนไปบัญชีที่เรียกว่าบัญชีม้า คือเป็นบัญชีที่รับจ้างเปิดเอาไว้ตามธนาคารต่างๆ บางธนาคารมีเป็นพันบัญชี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก เพราะปัจจุบันมีการประกาศซื้อขายบัญชีม้าเหล่านี้กันมากมาย ให้บัญชีละสามพัน ห้าพัน จนเกิดเป็นอาชีพใหม่ คือเป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไปรับซื้อบัญชีคนในหมู่บ้าน โดยให้มาเปิดบัญชีทิ้งไว้ ผมเคยไปจับที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีร้อยกว่าบัญชี ทุกคนเปิดบัญชีทิ้งไว้กันหมด แต่โชคดีที่ยังไม่ได้ใช้ กำลังเตรียมเอาไปขาย ถามว่าทำไมถึงรับจ้างเปิด เพราะมันได้เงินง่าย บางคนตกงาน ไม่มีเงิน เขาจ้างก็ต้องเอา

        ซึ่งผลจากการทำบัญชีเหล่านี้ มันจะเกิดการโอนต่อกันเป็นทอดๆ ผมยกเคสตัวอย่าง เคยมีบัญชีหนึ่ง ถูกหลอกโอนเงินไป 7 ล้านบาท สามารถใช้เวลาในการโอนไม่เกิน 10 นาที วิธีการคือ เงินจะถูกโอนต่อๆ กันไปในบัญชีม้าพวกนี้ แป๊บเดียว 10 นาที เงินสูญไป 7 ล้านทันที

ปัญหาเรื่องการโอนเงินเหล่านี้ ต้องมีวิธีการแก้ไขอย่างไร

        เราต้องการให้ธนาคารช่วย เพราะสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะเป็นอำนาจของเขา ประเด็นที่ต้องแก้คือ การโอนจากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่ง เราควรจะมีมาตรการจำกัดวงเงินยังไงไม่ให้มันเยอะ แล้วไหนจะยังต้องดูในรายละเอียดอีกว่า พฤติกรรมคนฝากเงินในบัญชีเหล่านี้เป็นอย่างไร คุณมีเงินเข้าในบัญชีจริง แต่ไม่ถึง 5 นาที คุณโอนออกแล้ว เอ๊ะ! คุณทำธุรกิจอะไร

        ซึ่งล่าสุด เป็นนิมิตรหมายอันดีมากๆ ว่า เราได้ทำ MOU (Memorandum of Understanding) หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกับธนาคารทั่วประเทศไทย รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อทำงานร่วมกันในการกวดขัน หรือตรวจสอบเส้นทางของการโอนเงินต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถตามจับกุมผู้กระทำความผิดเหล่านี้ได้รวดเร็วขึ้น 

        อีกส่วนหนึ่งที่กำลังเจรจากันอยู่ คือเรากำลังจะร่วมกับ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ในการติดตามผู้กระทำความผิด ทั้งในลักษณะคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง รวมไปถึงการส่ง SMS หลอกให้ลงทุน คือเบื้องต้นเราคุยกับทาง กสทช. ทีแรกเขาจะขึ้นเบอร์ให้เป็น +55 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า นี่คือเบอร์ของพวกมิจฉาชีพ แต่ผมบอกว่า บางทีคนไม่อ่าน หรือลืมก็มี เอาอย่างนี้ได้ไหม ให้ขึ้นเป็นคำเลย เช่น ระวัง! โทรจากคอมพิวเตอร์ ระวัง! โทรจากต่างประเทศ ผมเชื่อว่าพอขึ้นคำว่า ระวัง ทุกคนจะมีสติ และจะรู้เท่าทันทันที

        นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่กำลังเตรียมการกันอยู่ ในอนาคตจะมีปุ่มให้กดรีพอร์ต เวลาที่เบอร์เหล่านี้โทรมา หรือส่ง SMS เข้ามา เราสามารถกดรีพอร์ตกลับไป คล้ายๆ ปุ่มกดรีพอร์ตในเฟซบุ๊ก-อินสตราแกรมทำนองนั้น เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจเช็กความไม่ชอบมาพากล ซึ่งจะเป็นอีกวิธีที่จะเข้ามาช่วยกวาดล้างขบวนการเหล่านี้

อย่างกรณีการส่ง SMS เพื่อหลอกให้ลงทุน ปัญหานี้น่ากังวลขนาดไหน

        เป็นอีกปัญหาที่เจออยู่มาก พวกนี้จะเล่นกับความโลภของคน ส่ง SMS เชิญชวนให้มาลงทุน หรือให้กดลิงก์ต่างๆ เช่น คุณได้เงินลงทุนแสนหนึ่ง แต่ต้องมาลงทุนกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ลักษณะแก๊งมิจฉาชีพพวกนี้ จะใช้วิธีซื้อ SMS แบบเหมา ซื้อทีครั้งละเป็นหมื่น เวลาส่งข้อความก็จะส่งทีเดียวพันเครื่อง หมื่นเครื่อง 

        แต่ตอนนี้เราได้ประสานกับทางเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อตามแกะรอย ซึ่งทาง กสทช. ได้ส่งเคสผู้เสียหายมาให้เราราวๆ 400 เคส เรากำลังสังเคราะห์กันอยู่ ว่าแต่ละจุดที่ส่ง SMS มา ส่งมาจากไหนบ้าง เราสามารถติดตามได้ เพราะการส่งพวกนี้ยังไงก็ส่งมาตามเสาโทรคมนาคม ไม่สามารถส่งรวดเดียวยาวตรงมาที่มือถือได้ 

        แต่ถามว่าทำไมเขาถึงรู้เบอร์เรา และส่งมาที่เครื่องของเราได้ ผมตอบแบบกำปั้นทุบดินหน่อยนะ (ยิ้ม) คือในประเทศไทย ไม่มีอะไรที่โจรมันทำไม่ได้ กลับกัน ในมุมของตำรวจ มันมีบางอย่างที่เราทำไม่ได้ เพราะเราถูกกฎหมายบังคับ แต่โจรกลับทำได้ เช่น ซื้อข้อมูลในตลาดมืด หรือแฮกเกอร์เข้าไปขโมยข้อมูล จากนั้นก็ใช้โรบอตคอยสุ่มเบอร์โทร.ส่งไปเรื่อยๆ คือเขาไม่ได้สนใจว่าส่งให้ใคร แต่วันนี้ต้องได้ส่ง เขาส่งไปล้านครั้ง มีคนกดลิงก์สักพันคน สมมติเขาหลอกคนได้หมื่นบาท ก็คุ้มแล้ว

ยังมีวิธีการฉ้อโกงทางโลกไซเบอร์อะไรอีกที่น่าเป็นกังวล

        พวกแอพลิเคชันเงินกู้ก็น่าเป็นห่วง สมัยก่อนพวกออกเงินกู้นอกระบบ จะเป็นแก๊งหมวกกันน็อกคอยเดินทวงเงินตามชุมชน หรือตามตลาดกับพวกพ่อค้า แม่ค้า แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนไป เขาหลอกให้กดโหลดแอพพลิเคชันกู้เงิน คือมีการกู้เงินกันจริง แต่ถึงเวลาทวง พวกนี้จะเข้าไปโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กคุณเพื่อประจาน หรือไม่ก็จะโทรไปหาพ่อแม่พี่น้องคุณ หรือเจ้านายคุณ ถามว่าทำไมเขาถึงสามารถเข้าถึงตัวตนคุณได้หมด เพราะพวกนี้มันเขียนโปรแกรมขึ้นมา แล้วตอนคุณกดโหลดแอพฯ คุณก็กดยอมรับหมด โดยที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดใดๆ มันจึงเป็นที่มาที่เขารู้ข้อมูลทั้งหมดของคุณ

        อีกหนึ่งวิธีที่พวกนี้ใช้หลอกคือ มาในรูปแบบความรัก หรือเรียกว่า Romance scam ใช้วิธีแอดเฟรนด์ในเฟซบุ๊ก แล้วหลอกว่าตัวเองหน้าตาดี ส่วนใหญ่ใช้ภาพโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติ พอแอดเฟรนด์กันแล้วเขาก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต พอคุยกันไปคุยกันมา ก็รักกัน พอรักกันก็จะถามว่าคุณมีเงินไหม ขอยืมทำธุระต่างๆ ก่อน เมื่อก่อนจะใช้วิธีการว่า พอดีโอนของเข้ามาแล้วยังไม่มีเงินจ่าย หรือบางทีก็บอกว่าเดินทางเข้าประเทศไทยมาแล้วแต่เข้าไม่ได้ มีเงินอยู่ 5 ล้านดอลลาร์ฯ แต่เขาไม่ให้เอาเข้า ต้องใช้เงิน 3 แสนเป็นค่าดำเนินการ ทางนี้ก็หลงรัก เชื่อหมด โอนเงินไปให้ 3 แสน พอโอนปุ๊บ พวกปิดเฟซบุ๊กหนีเลย 

        ปัจจุบันพวก Romance scam ก็พัฒนาไปอีกขั้น เรียกว่า Hybrid scam คือสร้างภาพลักษณ์เป็นคนมีเงิน เป็นนักธุรกิจ ขับรถหรู รวย โปรไฟล์ดี ลักษณะเป็นชาวต่างชาติเหมือนกัน จะมาชวนลงทุน เช่น ลงทุนในเทรดหุ้น เทรดน้ำมัน คุณลงล้าน ฉันลงล้าน แล้วสร้างเทรดปลอมขึ้นมา พอผ่านไปสักพักก็ชิ่งหนีหายไปเลย

กรณีการถูกไซเบอร์บูลลี พฤติกรรมเหล่านี้อยู่ในข่ายมีความผิดไหม

        มี เราเรียกว่า ‘การระรานทางไซเบอร์’ กรณีการกู้ยืมเงินแล้วเอามาประจาน พวกนี้ก็ถือว่าเป็นการบูลลีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เหตุของการถูกบูลลี่เกิดจากการนำปมด้อย หรือเรื่องที่เขาพลาดพลั้ง หรือกำลังจะพลาดพลั้ง มาประจาน หรือพูดให้คนติดตาม จากนั้นก็จะมีทัวร์มาถล่มต่อ เพื่อให้เกิดความอับอาย 

        ผมอยากอธิบายอย่างนี้ จากสถิติที่รวบรวมมา คนไทยที่เล่นอินเทอร์เน็ตมีอยู่ประมาณ 60% แต่คนที่เข้ามาโพสต์แบบจริงๆ จังๆ คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 0.001% คือน้อยมาก คนที่เล่นจริงๆ ไม่ค่อยเข้ามาหรอก แล้วเรื่องจริงยิ่งกว่านั้น คนที่เข้ามาบูลลี ก็คือคนหน้าเดิมๆ ซึ่งพวกนี้จะสร้างแอคเคานต์ขึ้นมาหลายอัน เวลาจะบูลลีใคร ก็เข้าไปคอมเมนต์ทีละเยอะๆ 

        ภาพที่ออกมามันจึงเหมือนว่าคนคนนั้นโดนถล่มจากการถูกทัวร์ลง ซึ่งความจริงอาจเป็นคนซ้ำๆ กันนั่นล่ะ แล้วซ้ำร้าย พอคนที่จะเข้าไปคอมเมนต์จริงๆ เวลาเจอคนก่อนหน้าเราสัก 10 คน ด่าเหมือนๆ กันหมด ครั้นเราจะไปคอมเมนต์สวนทาง ก็เกิดอาการไม่กล้าอีก จึงมักจะคอนเมนต์ตามน้ำกันไป

        มันเคยมีเคสของคนดังคนหนึ่งที่ถูกบูลลีมายาวนาน จนสุดท้ายเราไปตามจับมาได้ ทีแรกเขาคิดว่าเป็นอดีตผู้จัดการส่วนตัวที่กลั่นแกล้ง คือเวลาเขาโพสต์ภาพอะไรลงในโซเชียลมีเดีย แป๊บเดียวก็จะมีคนเข้ามารุมคอมเมนต์ด่า อย่างต่ำ 20 คนติดๆ กัน เป็นอย่างนี้มาเป็นเวลานาน สรุปสุดท้ายเราไปตามจับได้ ปรากฏว่าไม่ใช่อดีตผู้จัดการส่วนตัว แต่เป็นแฟนคลับ

        สาเหตุของเคสนี้คือ เกิดจากความชื่นชอบอย่างมาก มีความคิดไปว่าดาราคนนี้ต้องเป็นของเขาคนเดียว แล้วไม่น่าเชื่อว่าผู้กระทำความผิดคนนี้ เป็นถึงอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จบมาในระดับต้นๆ ของสถาบัน เราตามไปเจอตัวเขาที่บ้าน โดยให้ดาราคนดังกล่าวโพสต์ภาพลงไป ไม่ถึง 5 นาที คอมเมนต์มาเลย พอเราจับสัญญาณได้ เราบุกเข้าไปรวบตัว ซึ่งผลสรุปก็ออกมาว่า เขาทำแอคเคานต์ไว้ 20 กว่าอัน แต่ละอันก็แตกต่างกันไป อันนึงเอาไว้ด่า อีกอันเอาไว้ตอบเห็นด้วยกับคนแรกที่ด่า ต่อมาเป็นอีกแอคเคานต์เอาไว้ผสมโรง สรุปว่ามีปัญหาทางจิต

        ซึ่งเคสแบบนี้ เราพอจะสรุปรากของปัญหาที่มาของการบูลลีได้อยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง เกิดจากความชอบ สอง อิจฉา และสาม มีปัญหาทางจิต แต่กรณีมีปัญหาทางจิตไม่ได้บอกว่าคุณไม่มีความผิด เพราะตอนที่คุณลงมือทำคุณมีสติครบถ้วน ไม่อย่างนั้นคุณเข้าไปเล่นไม่ได้หรอก ถูกไหม คุณไม่ใช่คนบ้าที่เดินเพ่นพ่าน แต่คุณมีสติตอนทำ และคุณอยากให้เขาเดือดร้อน ดังนั้น มีความผิดแน่นอน

เคยมีเคสอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้

        เคยมีเคสหนึ่งที่แฮกเกอร์เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของศาลรัฐธรรมนูญ คนที่แฮกตัวอยู่ภาคอีสาน พอเราตามไปจับได้ ถามว่าแฮกทำไม เขาบอกว่าอยากให้รู้ว่าทำได้ คนนี้เป็นนักศึกษาแพทย์ แต่เรียนไม่ได้ ต้องมาเรียนวิศวคอมพิวเตอร์แทน แต่เขาไม่มีเจตนาไม่ดีอะไร แค่อยากบอกให้รู้ว่าเขาทำได้ แถมยังบอกอีกว่า จะให้เข้าเว็บไหนในโลกนี้ หรือสำนักงาน หน่วยงาน องค์กรระดับโลกแห่งไหน เขาปลดล็อกรหัสการเข้าได้หมด คือเป็นอัจฉริยะมาก แต่เอามาใช้ในทางที่ผิด

        อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน มีการสั่งซื้อกัญชากว่า 70 กิโลกรัมผ่านทางออนไลน์ แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ เขาสามารถถือเข้ามาส่งกันทางไปรษณีย์ได้แบบง่ายๆ เลย ทีแรกเราเองก็คิดว่าคงจะหลบๆ ซ่อนๆ แต่เปล่าเลย เดินมาหน้าตาเฉย แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ทางเจ้าหน้าที่ก็ปั๊มๆๆ ตามตราการจัดส่งต่างๆ เสร็จแล้วก็เตรียมจัดส่งต่อไป ง่ายๆ อย่างนี้เลย

กรณีการถูกหลอกลวงต่างๆ ทางโลกไซเบอร์ พอจะสรุปออกมาได้ไหมว่า คนในช่วงวัยใดที่ถูกหลอกมากที่สุด

        จากสถิติข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 มีการรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงออนไลน์ทั้งสิ้น 1,801 คดี โดยเราจำแนกช่วงอายุของผู้เสียหายออกมาได้ คือ ช่วงอายุ 26-35 ปี มีผู้เสียหาย 701 ราย คิดเป็น 38.9% ช่วงอายุ 19-25 ปี มีผู้เสียหาย 474 ราย คิดเป็น 26.3% ช่วงอายุ 36-45 ปี มีผู้เสียหาย 380 ราย คิดเป็น 21%  และช่วงอายุ 61 ปี ขึ้นไป มีผู้เสียหาย 21 ราย คิดเป็น 1.1% 

        จากสถิติจะเห็นได้ว่า เปอร์เซ็นต์ในการถูกฉ้อโกงของแต่ละช่วงอายุไม่ได้ห่างกันมาก หรือพูดง่ายๆ คือ ทุกช่วงอายุมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อได้หมด ส่วนคนอายุ 61 ปีขึ้นไป ที่เคยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสโดนหลอกมากที่สุด กลับกลายเป็นถูกหลอกน้อยที่สุด ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟนตลอดเวลา รวมทั้งไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์มากเท่ากับคนวัยทำงานที่อายุน้อยกว่านั่นเอง

ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ นอกจากการตามจับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว คุณมองเห็นสิ่งที่จะมาช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงไปในอนาคตอย่างไรอีกบ้าง

        อย่างที่ผมเล่าไปตอนต้น เราจำเป็นต้องมีภาคีเครือข่าย เช่น การทำ MOU กับธนาคาร หรือกับ กสทช. หรือหน่วยงาน องค์กรอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ผมมองว่า ถ้าเราจะควบคุม มันไม่ใช่แค่หน้าที่ตำรวจ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ เช่น ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ถ้าได้ร่วมมือกับธนาคาร หรือมีระบบโทรคมนาคมมาช่วย ผมเชื่อว่าเราจะควบคุมปัญหาได้ดีขึ้น คิดง่ายๆ ถ้าไม่มีบัญชีธนาคารให้แก๊งพวกนี้โอนเงินเข้าไป หรือไม่รู้จะใช้เบอร์โทรศัพท์ไหนโทร หรือส่ง SMS ไปหลอกผู้คน ผมว่ามันจะลดจำนวนมิจฉาชีพลงไปได้อีกเยอะ

        แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็เข้าใจในมุมประชาชน เพราะตำรวจคือความคาดหวังของประชาชน ดังนั้น หน้าที่ของเราก็ต้องจัดการให้ผู้กระทำความผิดหมดไปให้ได้ แต่ในมุมกลับกัน ผมอยากบอกกับประชาชนว่า คุณโหลดแอพพลิเคชันมากมายลงไปในมือถือ แต่มีอยู่แอพพลิเคชันหนึ่งที่คุณไม่เคยคิดจะโหลดลงไป มันคือ แอพฯ ‘สติ’ 

        ถ้าคุณมีสติ คุณจะไม่เสียสตางค์ แล้วผมแถมให้อีก 3 ประโยคที่อยากให้ท่องจำให้ขึ้นใจ คือ ‘ไม่เชื่อ-ไม่รีบ-ไม่โอน’ ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา คุณต้อง ‘ไม่เชื่อ’ ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วอย่ารีบ หลายครั้งที่แก๊งเหล่านี้ปลอมตัวเป็นเพื่อนคุณในเฟซบุ๊ก แล้วมักจะบอกว่าเดือดร้อน เพื่อขอให้คุณโอนเงินไปให้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ คุณมักจะรีบโอนไปก่อน และหลังจากนั้นคุณถึงค่อยโทรไปหาเพื่อนคนนี้ ถามว่าทำไมไม่โทร.ไปตอนก่อนที่จะโอน เพราะฉะนั้นต้อง ‘ไม่รีบ’ และสุดท้ายคือ ‘ไม่โอน’ การไม่โอนเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ตราบใดที่เงินยังอยู่ในกระเป๋าของคุณ ปัญหาทุกอย่างจะไม่มีวันเกิดขึ้น

นอกจากร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทางกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยังมีการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนอีกหรือไม่

        ที่ผ่านมาเราพยายามทำการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยมีรถเคลื่อนที่เข้าไปตามหมู่บ้าน ชุมชน หรือใน อบต. ของแต่ละจังหวัด เพื่อประกาศเป็นเสียงตามสาย สร้างความตระหนักรู้ โดยเฉพาะ 3 คำที่บอกไป ไม่เชื่อ-ไม่รีบ-ไม่โอน ซึ่งมันคือการทำให้เรารู้เท่าทัน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นวัคซีนไซเบอร์ที่ทุกคนต้องมี 

        เหมือนอย่างที่ผมบอกไปตอนต้น มิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ทุกวันนี้มันไม่ใช่แผล แต่มันคือเชื้อโรค มันปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา ดังนั้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการมีสติ รวมทั้งใช้วัคซีนไซเบอร์ คือการไม่เชื่อ-ไม่รีบ-ไม่โอน เพื่อทำให้เราไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของพวกมัน

สุดท้าย คุณอยากบอกอะไรกับประชาชน ที่วันนี้ต่างก็ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์กันแทบทั้งสิ้นบ้างไหม

        ผมเน้นย้ำว่า ทุกคนมีโอกาสโดนหลอกได้หมด ตำรวจก็โดนมาแล้ว ทหารก็โดนแล้ว หมอ หรือคนร่ำรวย ทุกคนถูกหลอกได้ทั้งหมด ผมอยากจะขอปิดท้ายด้วยคำสอนทางพุทธศาสนา คือความไม่ประมาท สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะคุ้มกันให้กับคุณได้ หรือถ้าท่านมีข้อสงสัย อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ให้เข้ามาดูในเฟซบุ๊กของกองบัญชาการของเรา (https://www.facebook.com/CybercopTH) เรามีข้อมูล รวมทั้งข่าวสารต่างๆ ลงเอาไว้ทุกวัน เพื่อทำให้ท่านรู้เท่าทันวิธีการฉ้อโกงของมิจฉาชีพทางโลกไซเบอร์กันครับ


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ