เรืองโรจน์ พูนผล

ชวน กระทิง พูนผล Group Chairman แห่ง KBTG คุยเรื่องการไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ของโลก DeFi

กระทิง คำเดียว อาจทำให้คุณนึกถึงภาพลักษณ์อันดุดัน แข็งแกร่ง ทรงพลัง หากคุณสบตากระทิงกลางป่า เผลอๆ คุณอาจจะเสียวสันหลังวาบ นึกไม่ออกว่าจะเอาเรี่ยวแรงจากไหนมาต้านทาน หากมีเหตุต้องปะทะกันจริงๆ แม้โอกาสที่ว่าจะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะกระทิงไม่ได้มีนิสัยดุร้ายโดยธรรมชาติก็เถอะ 

        “เอาจริงๆ เมื่อก่อนผมก็มีบ้างนะที่ใจร้อน มีอะไรไม่ได้ดังใจนี่ผมเหมือน Hulk ในการ์ตูนมาร์เวลเลย แต่สุดท้ายพอผมยอมรับความเป็นตัวเองได้ ตัวละครที่ผมชอบที่สุดกลับเป็นตัว Star Lord คือมันเป็นคนธรรมดา มีเพื่อนเป็นต้นไม้บ้าง แรคคูนบ้าง มีแต่เพื่อนเกรียนๆ เกิดอะไรขึ้นก็ยอมรับความเป็นตัวเองได้ คือคำตอบของ ‘กระทิง’ – เรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman แห่ง KBTG หรือกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอพพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้กับธนาคารกสิกรไทย  ประมาณการว่าจนถึงวันนี้ KBTG พัฒนาแอพพลิเคชันมาแล้วกว่า 500 ตัว 

        และเบื้องหลังการทำงานของพนักงานกว่า 1,800 คนในวันนี้ มาจากวิชั่นในการขับเคลื่อนที่ตั้งเป้าไว้ว่า “To be the Best Tech Company in Southeast Asia” 

        How? 

        ทำอย่างไร? หลายคนอาจจะยังสงสัย แต่ท่ามกลางความสงสัยนั้น เราก็เห็นการขยับตัว การสร้างนวัตกรรมทางการเงิน การสร้างเทคโนโลยีมาตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปแบบแทบจะทิ้งเค้าโครงเดิม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และแน่นอน ฟินเทค ที่วันนี้ต้องยอมรับว่า มีการแข่งขันกันในระดับเข้มข้น และเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีกันแบบขนานใหญ่ เพราะวันนี้โลกการเงินคุยเรื่อง DeFi กันไม่เว้นแต่ละวัน ไหนจะ Metaverse ที่ทุกคนต้องขยับปรับเปลี่ยน

        และการขยับตัวของธนาคารระดับยักษ์ใหญ่มีความหมายกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมเสมอ 

        ก่อนที่กระทิงจะขยับไปเป็นกรุ๊ปแชร์แมน ของ KBTG เขาคลุกและปลุกปั้น KX (Kasikorn X) ให้เป็น The New S-Curve Factory มานานนับปี หมายมั่นปั้นมือให้ผลิตบริษัทเทคเจ๋งๆ ออกมาแล้วสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ด้วยตัวเอง ล่าสุดที่เปิดตัวไปก็คือ Coral NFT Market Place ที่วางรูปแบบให้เป็นระบบการซื้อขาย NFT แบบ super easy โดยจะเปิดระบบให้รันอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ 

        ความรับผิดชอบในมือเขาวันนี้ มากมายชนิดที่เราก็นึกไม่ออกว่าเขาต้องมีขุมพลังขนาดไหน ถึงงัดมันออกมาใช้ได้ราวไม่มีวันหมด 

        วันนี้เราจะมาคุยกับเขาถึงวิธีคิด วิธีทำ หรือ How ที่เราจั่วไว้ตอนต้น 

        กระทิงตอบรับนัดคุยกับ a day BULLETIN ไวกว่าที่เราคิด แม้ตารางงานและการประชุมจะมัดตัวแน่นหนา แต่วันนี้เขาบอกว่า อยากคุยและเรานัดเขามาเจอกันที่ห้องประชุมใหญ่ที่ออฟฟิศของเราเอง เพราะที่ KBTG ยังอยู่ในช่วง Work from Home 100% โดยยังไม่มีทีท่าจะเปิดออฟฟิศ และกระทิงบอกว่าเขาซีเรียสมากกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานทั้งหมด เพราะเขาเชื่อว่านั่นคือ asset หรือทรัพย์สินสำคัญที่สุดของบริษัท 

        บทสัมภาษณ์ที่เราจะถามเขาเรื่อง How ต่อไปนี้ เขาตอบเราทุกเรื่องก็จริง แต่เรื่องที่เขาตอบเราอย่างเมามันมากที่สุด คือ Why หรือเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกทำแบบที่ทำอยู่ เลือกเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะในชีวิตการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว แน่นอนว่า Why ของเขาหรือของใคร อาจแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ตามเหตุและผล หน้าที่ ความจำเป็น หรืออะไรก็ตาม 

        ท้ายที่สุด มันอยู่ที่ว่า เราตอบคำถามได้หรือไม่ว่า เราทำสิ่งนั้นไปทำไม

การทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์สอนว่า ทุกคนมีใบอนุญาตให้ล้มเหลว หรือ permission to fail เพราะเขาเชื่อว่าคนเราทำอะไรใหม่ๆ มันก็ล้มเหลวกันได้ อีกเรื่องคือ ใบอนุญาตให้เปลี่ยนโลก หรือ permission to change the world นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อเสมอ” 

เรืองโรจน์ พูนผล

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับการเป็น Group Chairman ของ KBTG อีกครั้ง เลยถือโอกาสอยากให้เล่าทิศทางของ KBTG และที่คุณบอกในเฟซบุ๊กว่าให้รอติดตาม Next Chapter หมายความว่ายังไงบ้าง 

        KBTG กำลังจะมีการ restructure เพื่อการขยายไปสู่ระดับภูมิภาครวมทั้งเรื่อง scope of business ในเรื่องระดับภูมิภาค ปีที่แล้วเราขยายธุรกิจ K-tech ไปเปิดที่จีน และต่อไปที่คิดไว้ก็อาจจะมีเวียดนามแน่ๆ นั่นคือเรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สอง เราจะโฟกัสเรื่องของ innovation มากขึ้น ถ้าจำได้ ปีที่แล้ว เรา activate ตัว KX ไปแล้วซึ่งเราตั้งขึ้นมาเพื่อให้สร้าง spin off ออกมาเป็นบริษัทใหม่เพิ่มขึ้น เพราะผมมองว่า ธนาคารต้องมีธุรกิจหรือ SCurve ตัวใหม่ๆ ขึ้นมา เมื่อก่อนเรามี KLabs ที่ทำอินโนเวชันอยู่ก็จริง แต่มันอยู่ในกรอบของการให้บริการทางการเงิน กับที่เรียกว่า supporting technology แต่ KX ต้องทำอินโนเวชันจริงๆ ดังนั้น spin off ของ KX ก็คือ Kubix  (Kubix Digital Asset Co., Ltd.) ซึ่งเป็น ICO portal (ผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่) แล้วตัวที่สองก็คือ Coral ที่ดูเรื่อง NFT (Non-Fungible Token-สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะพิเศษ มีต้นฉบับเพียงหนึ่งเดียว ทำทดแทนใหม่ไม่ได้)  แล้วต่อไปอยากให้ติดตามดูว่าเราจะมีการ spin off ออกมาอีกมากมายเลย เหมือน KX มีหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการยิงบริษัทใหม่ๆ ออกมาซึ่งเป็น innovation driven แล้วผมโฟกัสให้ KX มุ่งไปที่โลกของ DeFi (Decentralized Finance) ล้วนๆ เลย ดังนั้นสิ่งที่เรามองหาตอนนี้คือคน เพราะคนไม่พอ ปีนี้เราจะมีคนทำงาน 1,800 คนแบบเต็มเวลา แล้วเราตั้งเป้าจะเป็น 2,500 คนภายใน 2 ปีข้างหน้า เราตั้งใจว่าจะรับคนปีละ 350 คนเฉลี่ยแล้วผมต้องหาคนมาทำงานให้ได้วันละ 1 คนเป็นอย่างน้อย นี่ไม่รวมคนที่ลาออกไปแล้วเราต้องหาคนมาแทนตำแหน่งนั้นนะ ดังนั้น หน้าที่ผมวันๆ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ต้องตั้งเป้าเลยว่าต้องรับคนให้ได้ 1 คน ทุกวันเป็นเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า แล้วไม่รวมที่จีน ซึ่งตอนนี้มี 80 คน แต่เราจะขยับขึ้นไปอีกเป็น 300 คน นั่นแหละเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับโครงสร้าง แล้วผมก็ต้องขึ้นไปดูทั้งกรุ๊ป อีกอย่าง KBank มีบริษัทลูกเยอะมาก แล้วต่อไป KBTG ก็ต้องเข้าไปดูเพิ่มขึ้น ดังนั้น สโคปงานของผมก็จะเยอะมากขึ้นด้วย เรียกว่างานเพิ่มขึ้นน่าจะ 4-5 เท่าจากเดิมนะ ซึ่งเวลาเราไม่ได้เพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตามไปด้วยไง (หัวเราะ) ทีนี้ เราจะไปคิดการทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว ซึ่งก็เลยต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ต้องโค้ชคน สร้างคนที่จะขึ้นมาแทนเรา หรือทำต่อจากเราได้ เป็นมือซ้ายมือขวา 

มีเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่งคือการรับคน หรือรีครูตคนที่คุณว่า ยุคนี้คนพูดเรื่องการกลัวสมองไหลไปต่างประเทศ แต่ปรากฏว่า KBTG ไปดึงคนมาได้ทั่วโลกเลย ทั้งจากซิลิคอนวัลเลย์หรือนิวยอร์ก เหมือนเป็นการดึงมันสมองเก่งๆ กลับมาเมืองไทย อยากให้เล่าประสบการณ์ในการไปดึงคนพวกนี้และสิ่งที่ทำให้พวกเขากลับมาคืออะไร 

        ผมคิดว่าจริงๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็น reversed brain drain คือสมองไหลกลับประเทศตัวเอง ผมเชื่อว่า คนไทยในต่างประเทศหลายคนเขามีแพสชันที่อยากกลับมา contribute อะไรสักอย่างให้กับประเทศบ้านเกิด เท่าที่สัมผัสมา หรือไปคุยมา แทบจะทุกคนแหละครับที่อยากกลับมา อย่างน้องคนหนึ่งที่ทำงานที่ Apple ก็กลับมาทำงานที่นี่ เพราะเขาอยากทำอะไรที่มันดีๆ กับประเทศนี้ สอง ประเทศเราเล็ก แต่สนามเล่น ที่จะให้สร้าง impact มันใหญ่ขึ้น เมื่อก่อนคนจะคิดว่า เออ การทำอะไรที่สร้าง impact กับบริษัทมันก็เท่นะ ทำสินค้าตัวหนึ่งที่คนใช้ทั่วโลกได้ แต่ประเด็นคือ เมื่อเขากลับมาเมืองไทยปุ๊บ เขาสามารถอุทิศตัวให้กับสังคมที่เขารักและเป็นส่วนหนึ่งได้ ดังนั้น สุดท้ายในการเลือกคน เราก็จะเลือกคนที่รู้สึกว่าเขาเป็นคนของประเทศนี้ และอยากสร้าง impact เพราะการที่เขาอยู่ต่างประเทศ เขาก็ไม่ได้สร้าง impact ให้กับประเทศไทยเท่าไหร่ แต่พอกลับมา เราให้พื้นที่ หรือสนามเพื่อให้เขาทำอะไรได้เต็มที่ อย่างเรื่องหนึ่งที่ KBTG ทำคือ Deep Tech Research สิ่งที่ค้นพบคือ เรามีคนไทยที่เป็น PhD ที่เก่งมากๆ เยอะมากเลย แต่ถ้ากลับมาเมืองไทย เขาก็ไม่มีสนามให้เล่น หรืออย่างที่ไกลตัวมากๆ เช่น Quantum Computing ซึ่งเราเพิ่งตีพิมพ์เอกสารหรือ published paper ไป คือให้นักวิจัยไทยที่เรียนจบด้านฟิสิกส์มาทำวิจัยให้ว่า เราจะใช้ Quantum Computing มาทำเกี่ยวกับการจัดเก็บหนี้ได้อย่างไร นั่นหมายความว่า เรากำลังสร้างสนามให้กับคนเหล่านี้ ในขณะที่เมื่อก่อนงานของพวกเขามีอย่างเดียวคือสอนในมหาวิทยาลัย ผมเพิ่มทางเลือกเพื่อให้เขากลับมามีที่เล่นได้ เขาเองก็สนุกที่เขาได้ทำอะไรแบบนี้ได้ หรือตอนที่เราทำวิจัยเรื่องบล็อกเชน ซึ่งทำมาก่อนตั้งนานแล้วก่อนที่จะเกิด DeFi ในเวฟนี้ซะอีก แล้วต่อไปเราก็จะมีอะไรอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ เช่น Metaverse ดังนั้น ผมถึงเชื่อว่า มีคนอีกมากมายเลยที่อยากจะกลับเมืองไทย เพราะบ้านเรามีอะไรให้ทำอีกเยอะ เมื่อก่อนเขาอาจจะอยากกลับ แต่ไม่รู้กลับมาทำอะไร สอง ทำไปแล้วไม่รู้ว่าจะมี impact อะไรบ้าง ดังนั้น KBTG เลยเป็นเหมือนแพลตฟอร์มให้เขาสามารถปล่อยของ ใช้ความรู้ของเขาให้เต็มที่ แล้วสิ่งที่ทำยังต้องมี impact กับประเทศและสังคมอย่างรวดเร็วด้วย 

“ผมคิดว่าจริงๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็น reversed brain drain คือสมองไหลกลับประเทศตัวเอง ผมเชื่อว่า คนไทยในต่างประเทศหลายคนเขามีแพสชันที่อยากกลับมา contribute อะไรสักอย่างให้กับประเทศบ้านเกิด เท่าที่สัมผัสมา หรือไปคุยมา แทบจะทุกคนแหละครับที่อยากกลับมา อย่างน้องคนหนึ่งที่ทำงานที่ Apple ก็กลับมาทำงานที่นี่ เพราะเขาอยากทำอะไรที่มันดีๆ กับประเทศนี้”

คำถามอะไรที่คิดว่าเป็นไม้ตาย ที่ทำให้ทุกคนเลือกมาทำงานกับคุณ 

        ผมว่าอันดับแรกที่สำคัญที่สุดเลย เขาต้องมี shared passion กับเราก่อน เช่น ต้องการทำอะไรดีๆ กับประเทศนี้ กับสังคมนี้บ้าง เมื่อผ่านข้อนี้ KBTG ก็จะเป็นหนึ่งในทางเลือกให้เขา เพราะเป้าหมายของเราคือเป็น top tech company ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เป็นนะ แต่ you คนที่เรากำลังมองหาอยู่นี่แหละ จะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้ และข้อต่อมา เมื่อเราต้องการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น สิ่งที่เราต้องมีคือ culture หรือ วัฒนธรรมในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร เพราะคนเหล่านี้ เขาเลือกบริษัทได้ทุกบริษัทในประเทศไทยนั่นแหละ แต่มันอยู่ที่ culture ที่มีคนเหมือนๆ กันอยู่ มันคือกฎของแรงดึงดูด เราจะสร้างองค์กรให้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่เราต้องการได้มั้ย เพราะประเทศไทย มีบริษัทเทคฯ ชั้นนำน้อยมากนะ แล้วชั้นนำที่ไปถึงระดับภูมิภาคก็ยิ่งน้อย ดังนั้น เขาต้องเชื่อใน vision เดียวกันกับเรา แล้วสามปีที่ผ่านมา ผมบอกเลยว่า วิชั่นเราเหมือนเดิมเลย ไม่เคยเปลี่ยน สามปีผมก็ยังจะพูดเรื่องเดิมๆ ผมจะอยู่ที่นี่อีกกี่ปี ผมก็จะพูดเรื่องเดิมๆ ว่า ผมอยากสร้าง Top Tech Company in Southeast Asia ดังนั้น เมื่อคนเห็นว่าเราตั้งใจจริงกับสิ่งที่เราทำ เช่น 2019 ที่พูดมันอาจจะเป็นคำพูดสวยหรู แต่ถ้าเขาเห็นว่า อ้าว ปีต่อมา วิกฤตโควิดเราก็ยังทำอยู่ ปี 2021 เราก็ยังจะทำ เรายังทำในสิ่งเดิมๆ เพราะเราเชื่อในวิชั่นนั้นว่า ประเทศไทยมันจะไปไม่ได้ถ้ามันไม่มีบริษัทเทคโนโลยี หรือ บริษัทที่เป็น innovation focus ที่เป็นธงนำของประเทศไทย 

        คือจะเห็นว่า ตอนเริ่มต้นการทำงาน ผมก็เริ่มจากการทำบริษัทเล็กๆ เนอะ นั่นคือเรื่อง start up แล้วผมก็สร้าง ecosystem ของมันขึ้นมา เพื่อให้มันเป็นบริษัทใหญ่ แต่ต่อไปสิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องมีบริษัทใหญ่ที่ transform สำเร็จเพื่อเป็นบริษัท Tech ที่เป็นธงนำของประเทศไทย แล้วเมื่อนึกถึงบริษัทนั้นขึ้นมาปุ๊บ ต้องนึกถึง KBTG และมันไม่จำเป็นต้องเป็นเราเสมอไปก็ได้เพราะคนของเราก็ออกแล้วไปทำงานที่อื่นเยอะแยะ แต่ประเทศไทยมันจะไปต่อไม่ได้เลย เพราะอีกสิบปีข้างหน้ามันจะน่ากลัวมาก เพราะเทคโนโลยีมันจะหักศอกสองครั้ง คือประมาณ 2024 ครั้งนึง แล้วก็หลังจากนั้นอีกรอบ ถ้าหักรอบสุดท้ายแล้วเราตามไม่ทัน คือเราจบ ดังนั้นประเทศไทยมีเวลาเหลือแค่ 10 ปี หลังจากนั้นคือไม่ทันแล้ว ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่ประเทศเราต้องมีบริษัท Tech ชั้นนำ KBTG จะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนเข้ามาช่วยกันสร้างบริษัทที่จะก่อให้เกิด impact กับประเทศได้

เรืองโรจน์ พูนผล

        ต้องบอกว่า คนจะมาร่วมงานกับเรา ไม่ใช่แค่เรื่องหน้าที่การงานและโอกาสการเติบโตหรือเงินเดือนอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นมันคือ culture นี่แหละ ตอนปี 2019 เราเลยเรียกมันว่า ONE KBTG หลังจากที่ก่อนหน้านั้นคนเรียกชื่อบริษัทเรายังไม่ค่อยจะถูกเลย ก็ต้องมาปรับแบรนด์กันใหม่ ONE KBTG มันคือบริษัทลูกหลายๆ บริษัทใน KBank มาประกอบกัน เมื่อก่อนความเป็นหนึ่งเดียวมันจะน้อย พอเราให้เป็น ONE KBTG มันจะต้องเบลนด์ทั้งหมด แล้ว relaunch culture กันใหม่ ดังนั้น ข้อแรกจึงต้องทำงานเป็นทีมเดียว มีความเชื่อเดียวกัน แต่สามารถทำงานข้ามบริษัททั้งหมดได้แบบ end to end ข้อที่สองคือ ONE Step Ahead เราเชื่อในเรื่องการก้าวกระโดดนำหน้าคนอื่น อย่างปีที่แล้วเราทำ ICO แล้วเราก็ได้ license เป็นธนาคารแรกของประเทศไทย จากนั้นเราไปตั้งบริษัทที่จีน ซึ่งบ้าไปแล้ว บริษัทไทยไปตั้งบริษัท Tech ที่จีน นั่นคือการคิดนำหน้าเสมอ เราไม่ได้มองแค่หนึ่งปีข้างหน้า แต่เราต้องมองระยะยาว อย่าง Quantum Computing นี่ไม่รู้ว่าอีก 5 ปีมันจะมาหรือเปล่า แต่เราก็ต้องทำวิจัยออกมาละ ถัดมาคือ การทำดีที่สุดในทุกวัน แปลว่า ทุกคนคุณต้องพัฒนาตัวเองเสมอและทำอย่างต่อเนื่อง ต้องถามตัวเองว่าวันนี้ฉันทำดีที่สุดหรือยัง นี่คือเรื่องพื้นฐานมากๆ 

คนเก่งๆ มาอยู่รวมกันแบบนี้ คุณสร้างทีมสปิริตอย่างไรให้คนเก่งและมาจากร้อยพ่อพันแม่ทำงานด้วยกันได้

        เมื่อก่อนมีปัญหาเหมือนกันครับ เพราะแน่นอนว่าคนเราก็มีความคิดเห็นต่างกัน แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญและผมจะบอกทุกคนเสมอว่า purpose is beyond passion สิ่งแรกที่เราจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ได้ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ purpose driven นี่คือหลักการของคนเป็นผู้นำ ที่ผมอยากส่งต่อให้คนอื่นเลยนะ เพราะถ้านอกเหนือจากการทำงานเก่งแล้ว อีกข้อที่คุณต้องมีคือ purpose driven คุณต้องเชื่อว่ามันยิ่งใหญ่กว่าทุกอย่าง เมื่อเรามองไปที่ purpose แล้วจะชัด ผมบอกทุกคนว่า การเป็นบริษัท Tech อันดับหนึ่งของประเทศ มันก็ไม่ได้หมายถึงอะไรมากหรอก แต่ความหมายที่แท้จริงของมันคือ แปลว่าประเทศไทยจะมีโมเดลว่าบริษัท Tech อันดับหนึ่งประจำภูมิภาค มันต้องเป็นอย่างไร เรา transformation ได้ยังไง เราสามารถไปแชร์ต่อให้คนอื่นรู้ได้ว่า ถ้าจะทำ digital transformation ต้องทำแบบนี้นะ แล้วที่สำคัญ ลูกค้าของเราจะได้ประโยชน์ คือต้องบอกว่า KBank เรามีส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกรรมทางการเงินต่างๆ มากถึง 40% นะ ถ้าเปรียบเป็นเส้นเลือดเราก็คอนโทรลระบบเศรษฐกิจเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเลย คือผมต้องบอกทีมว่า เราดูแลลูกค้า 40% ขององคาพยพของประเทศเลยนะ นั่นแหละคือ purpose ของเรา ดังนั้น ทำอะไรเราต้องตอบโจทย์ 40% นั้นด้วย อีกเรื่องที่เราต้องมี purpose ในการเป็น top tech ของประเทศให้ได้ ก็เพื่อที่เราจะได้ดึงคนเก่งๆ ของประเทศกลับมา เพื่อที่ประเทศจะได้พัฒนาได้ ดังนั้นกลับมาที่บริษัทเรา คนของเราจะไม่แตกกันหรอก ถ้าเขาเชื่อใน purpose ร่วมกัน คือทะเลาะกันมันเป็นเรื่องปกตินะ แต่สุดท้ายให้รู้ว่า purpose ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองคืออะไร นั่นคือข้อแรก ดังนั้น คนที่เราจะเลือกมาทำงานด้วย ก็ต้องเชื่อเป้าหมายเดียวกันกับเรา จากนั้นเราก็สร้างสนามเพื่อให้คนเหล่านั้นกลับมาสร้าง impact ให้กับประเทศ 

        ส่วน culture ขององค์กร ผมมองว่ามันคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตอนที่เจ้านายไม่อยู่นั่นเอง พูดง่ายๆ ยิ่งตอน Work from Home เจ้านายไม่ได้อยู่ด้วยตลอด เขาจะทำอะไรก็ได้แล้ว แล้วสิ่งนั้นแหละคือพฤติกรรมที่แท้จริงของเขา วัฒนธรรมองค์กรก็คือพฤติกรรมของคนทำงาน ผมจึงต้องโฟกัสเรื่องภาวะผู้นำมากๆ เพราะตัวหัวหน้าหรือผู้นำนั่นแหละ คือ culture ขององค์กร ดังนั้น ตัวผมเองก็เป็นตัวสะท้อน culture มันคือการสะท้อนสิ่งที่ผมเชื่อ อย่างตอนเกิดโควิด ถ้าผมป่าวประกาศว่าพนักงานสำคัญที่สุด แต่ไม่ได้ทำอะไรที่น่าเชื่อถือ มันก็ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้บริษัทผมยัง Work from Home 100% อยู่เลย ตอนเกิดโควิดเวฟแรกผมให้ทำงานที่บ้านเลยสองสัปดาห์ พอพนักงานกลับมาทำงาน ก็ต้องดูแลส่งชุดตรวจไปให้ หาวัคซีนทุกวัน เพราะผมเชื่อว่าความปลอดภัยของพนักงานสำคัญที่สุด จนพนักงานรู้สึกได้ถึงสิ่งที่พวกเราทำ คือนี่เราก็ทำงานกันได้ โดยที่ไม่มีคนเข้าออฟฟิศเลย ไปดูได้ ออฟฟิศโล่งมาก คนจะเข้าได้ต้องขออนุญาตผม เพราะผมบอกเลยว่าความปลอดภัยของพนักงานสำคัญที่สุด ดังนั้น พนักงานห้ามมา แล้วเรามีกิจกรรมร่วมกันทุกๆ วันศุกร์ ที่เรียกว่า Thank God it’s Friyay มีกิจกรรมกระทั่งปอกทุเรียนร่วมกัน ผมนี่ส่งทุเรียนไปให้พนักงานปอกกันหน้าจอเลย  เพราะพนักงานเราคนนึงมีสวนทุเรียน เราก็สั่งไปเลย บางทีมีเรียนชงชา เรียนปลูกกระบองเพชรร่วมกัน เล่นโยคะ พนักงานเปิดร้านยำที่บ้าน เราก็สั่งมายำด้วยกันออนไลน์ สองสามร้อยคนน่ะ เราทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะกลัวพนักงานทำงานที่บ้านนานๆ แล้วจะเครียด เพราะผมแคร์พนักงานมาก ถ้าถามผมนะ หนึ่งในเหตุผล หรือ why ในการทำงานของผม นอกจาก purpose แล้ว ก็คือพนักงานของ KBTG และสิ่งที่เราทำก็คือสร้างกิจกรรมร่วมกันของพนักงาน สร้างการมีส่วนร่วม ผมเลยได้รางวัล The Most People Focus CEO มาไง (หัวเราะ) ส่วนด้าน HR KBTG ก็ได้รางวัลติดกันสองปี ในหมวดบริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุดในประเทศไทย เพราะสุดท้ายเราไม่สามารถโฟกัสแต่งานหรือ Innovation ได้โดยไม่โฟกัสเรื่องคน ยิ่งตอนวิกฤตมันคือช่วงพิสูจน์ความจริงใจของคุณกับพนักงานเลย 

        มันถึงกลับมาในสิ่งที่เรียกว่า compassion คุณต้องมี compassion กับงาน กับ purpose และกับคน ที่คุณทำงานด้วย ผมเรียนรู้ว่า คุณไม่มีทางนำองค์กรนั้นได้เลย ถ้าคุณไม่รักองค์กรและไม่ได้รักคงในองค์กรนั้นอย่างจริงใจ ผมจะไม่พูด passion อย่างเดียว แต่มันคือ compassion มีคำว่า com แปลว่าร่วมกันอยู่ด้วย ดังนั้นคำนี้มันคือการสร้าง passion ร่วมกันหมด แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณต้องมี passion กับคนที่อยู่ตรงหน้าคุณให้ได้ก่อน หรือคนที่เป็นลูกน้องของคุณนั่นเอง เพราะเมื่อมี passion แล้วมันจะมี empathy ตามมา สุดท้ายพนักงานจะรู้สึกได้ และรู้ว่าการกระทำของคุณมันจริงใจ เพราะคุณแคร์เขาจริงๆ เวลาผมฟีดแบ็กพนักงานในเรื่องการทำงานอะไรก็ตาม เขาจะรู้สึกได้เองว่า ผมฟีดแบ็กเพราะผมแคร์ 

“สามปีที่ผ่านมา ผมบอกเลยว่า วิชั่นเราเหมือนเดิมเลย ไม่เคยเปลี่ยน สามปีผมก็ยังจะพูดเรื่องเดิมๆ ผมจะอยู่ที่นี่อีกกี่ปี ผมก็จะพูดเรื่องเดิมๆ ว่า ผมอยากสร้าง Top Tech Company in Southeast Asia ดังนั้น เมื่อคนเห็นว่าเราตั้งใจจริงกับสิ่งที่เราทำ เช่น 2019 ที่พูดมันอาจจะเป็นคำพูดสวยหรู แต่ถ้าเขาเห็นว่า อ้าว ปีต่อมา วิกฤตโควิดเราก็ยังทำอยู่ ปี 2021 เราก็ยังจะทำ เรายังทำในสิ่งเดิมๆ เพราะเราเชื่อในวิชั่นนั้นว่า ประเทศไทยมันจะไปไม่ได้ถ้ามันไม่มีบริษัทเทคโนโลยี หรือ บริษัทที่เป็น innovation focus ที่เป็นธงนำของประเทศไทย” 

ถ้าทำถึงขนาดนี้แล้วอัตราการลาออกของพนักงานเป็นอย่างไร

        10% แต่ใน Tech Industry นี่ 24% นะ โหดมาก เพราะคนในสายนี้ลาออกไป เขาก็เอาความรู้ไปด้วย ถ้าเทียบแล้ว KBTG มีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำกว่าหลายๆ บริษัทในเครือ 

เรืองโรจน์ พูนผล

เท่าที่เราตามเฟซบุ๊กคุณ จะเห็นว่าคุณทำอะไรหลายอย่างมาก เหมือนพลังล้นเหลือ เช่น เรียนออนไลน์ของ Harvard แบบแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะไหนจะเรียนหนัก ไหนจะไทม์โซนต่างกัน แล้วยังมี CSO class ที่คุณทำเองอีกเพื่อสร้างคนให้เป็นผู้นำ และอีกหลายๆ อย่าง ทั้งหมดนี้คุณทำเพราะอะไร มีวิธีคิดอย่างไร จัดการความเหนื่อยหรือแม้แต่ความขี้เกียจได้อย่างไร

        ผมว่าอันดับแรก คุณจะไม่มีความขี้เกียจเลยนะ ถ้าทำในสิ่งที่คุณเชื่อและรัก นั่นคือจบ โคตรง่ายเลย แต่ประเด็นคือ คุณรักองค์กรมากพอที่คุณจะทำงานขนาดนั้นได้หรือเปล่า อย่างหลักสูตร Harvard ที่ผมเรียน ผมรู้สึกได้เลยว่ามันคือใช่ เพราะผมรักการเรียนรู้ มันสนุกเพราะมันได้ถกเถียงกับเพื่อน ผมเรียนถึงตีสามทุกวัน สี่ห้าวันต่อสัปดาห์ แล้วเรียนหกเดือนเต็ม ถามว่าทำไมถึงทำได้ ก็เพราะมันสนุกไง จบ ประเด็นคือการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ง่ายๆ เลย แล้วถ้าทำได้ ชีวิตคุณทั้งชีวิตจะไม่ทุกข์ หรือไม่ misery เด็ดขาด อีกอย่าง ผมมองว่า เราสามารถมองหาสิ่งที่มีความสุขได้จากรอบๆ ตัวนะ มันคือสิ่งเล็กๆ รอบๆ ตัวเรานี่แหละ เราสามารถดึงสิ่งเหล่านั้นมามองได้เสมอ แล้วมันก็คือ gratitude หรือความรู้สึกขอบคุณ สำหรับผมมันคือสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ตรงหน้า อย่างกาแฟสักแก้วแบบนี้ (ยกแก้วกาแฟขึ้นมา) ผมได้กินกาแฟตอนเช้าแบบนี้ ผมก็มีความสุขแล้ว แล้วผมไม่ต้องมานั่งจดบันทึกความสุขอะไรเลย เพราะทั้งวันผมรู้สึกขอบคุณได้ตลอด และกับทุกอย่าง เช่นวันนี้ได้มาเจอคนใหม่ๆ ได้เล่าเรื่องใหม่ๆ แล้วก็หวังว่า เรื่องเหล่านี้มันจะไปสู่คนอื่นๆ และเขาจะได้พลังงานจากผม แค่ผมคิดแค่นี้ ผมก็รู้สึกแล้วว่า เฮ้ย มันมีใครสักคนที่รู้สึกได้ แล้วลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่มันดีๆ แค่นี้ชีวิตผมก็มีความสุขแล้ว มันเหมือนเราไปเปลี่ยนคนหนึ่งคนได้ แล้วสุดท้ายคนคนนั้นก็อาจจะชีวิตเปลี่ยนเหมือนผมก็ได้ เพราะชีวิตผม ก็เปลี่ยนจากเรื่องเล็กๆ หลายๆ เรื่อง เมื่อก่อนผมก็อ่านเรื่องของไอน์สไตน์ อ่านเรื่องโดเรมอน มันเปลี่ยนชีวิตผมได้เลยนะ ดังนั้น เรื่องพวกนี้ มันทำให้ผมรู้สึกขอบคุณ และเราควรรู้สึกขอบคุณในทุกๆ เรื่อง 

        หรืออย่างวันนี้ นั่ง Grab มา ผมก็รู้สึกขอบคุณแล้ว เพราะถ้าไม่มีบริการแบบนี้ ผมต้องคิดแล้วว่า จะเอารถมาจอดตรงไหน แล้วถ้ามันครูด มันจะเป็นยังไง เพราะผมเป็นคนที่จอดรถได้แย่มาก ดังนั้น การมีบริการ Grab คือสิ่งที่ผมรู้สึกขอบคุณมาก แล้วคนขับเขาก็แฮปปี้ที่เขามีลูกค้า แค่นี้เราก็มีความสุขได้แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมก็เพิ่งตระหนักเร็วๆ นี้ 

แต่คุณมี Porsche ที่ถือว่าเป็น dream car ของหลายคนหรือแม้แต่ตัวคุณเองเลยนะ แล้วคุณไม่อยากขับ dream car ทุกวันเหรอ

        ไม่เลย (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่า Grab สะดวกสุด เพราะไม่ต้องหาที่จอดใดๆ ถามผมคงต้องบอกว่า การมีรถในฝันแบบนั้นมันถึงจุดที่เป็นภาระแล้ว จะซ่อมแต่ละที ต้องจอง ต้องรอชิ้นส่วนจากเยอรมนี และอะไรอีกหลายๆ อย่าง แต่ผมยอมรับว่าพอร์ชคือรถในฝันกว่า 20 ปีของผมเลย เอาเป็นว่า สมัยก่อนผมอยู่กำแพงเพชร รถในฝันที่เท่ที่สุดของผมคือ รถกระบะโหลดเตี้ยสีแดง ข้างหลังมีลำโพงเปิดเพลงดังๆ เอาไว้เต้น (หัวเราะ) เป็นเหตุผลส่วนตัวเลยที่อยากมี เพราะรู้สึกว่ามันเท่ คนสนใจ คิดเลยว่าวันหนึ่งฉันต้องมีรถกระบะโหลดสีแดง คิดดู แล้วพอเอาเข้าจริงๆ รถคันแรกที่มี คือตอนอายุ 25 ตอนนั้นทำงานเป็นเซลส์ขายของ ขายพวกแชมพูซองละ 2 บาท ตอนนั้นได้เงินมาซื้อรถเก๋งเก่าๆ อายุ 9 ปี โคตรดีใจเลย แล้วสุดท้ายผมก็ซื้อรถเก๋งคันนั้นให้พ่อ ซึ่งผมโคตรภูมิใจเลย เพราะมันคือรถเก๋งคันแรกในชีวิตพ่อด้วย พ่อผมมีรถเก๋งคันแรกตอนเขาอายุ 45 เป็นรถที่ผมซื้อให้ และเป็นรถโละของบริษัท มันเลยสะสมปมเกี่ยวกับเรื่องรถหลายอย่าง เลยปักใจว่า วันหนึ่งต้องซื้อพอร์ชให้ได้ ท่องไว้เลย แล้วพอไปอเมริกาก็ซื้อได้จริงๆ เพราะมันถูกมาก ถ้าเทียบกับไทยคือถูกกว่า 1 ใน 3 เลย พอกลับมาเมืองไทย ก็ยังอยากจะมีอีก แต่พอมันมีขึ้นมาจริงๆ มันเป็นแค่การได้ครอบครองวัตถุอีกชิ้นเท่านั้นเอง คุณมีความสุขแป๊บเดียวจริงๆ มันคือโมเมนต์ที่ได้มา แล้วก็จบ ผมคิดว่า material possession หลายๆ ครั้งมันเป็นแค่ตัวบอกความภูมิใจ ว่าคุณถึงอีกไมล์สโตนหนึ่งในชีวิต หลังจากนั้นมันไม่มีอะไรแล้วนะ เป็นภาระมาก (หัวเราะ) โคตรเหนื่อยอะ บอกตรงๆ ฝนตกที น้ำท่วม คือจะขับยังไง โคตรเป็นทุกข์เลย ฝนตกปุ๊บนี่ผมกังวลตลอดเลย แล้วที่จอดก็มีแค่ชั้นล่างอย่างเดียว ถ้าน้ำท่วมเข้ามาจะเป็นยังไง จะท่วมรถมั้ยวะ

คือสรุปแล้วคุณควรซื้อรถกระบะ

        (หัวเราะ) นั่ง Grab ง่ายสุด แล้วนี่คิดว่าจริงๆ อาจจะเหมาะกับรถตู้ด้วยซ้ำ ถ้ามีคนขับ คืออีกเรื่องที่สำคัญสำหรับผมนะ อย่าไปยึดติดความสุขกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ บุคคล หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตาม อย่าไปยึดติด อย่าไปสร้างเงื่อนไขการมีความสุขให้มันเยอะเกินไป จริงๆ มันเป็นหลักพุทธนั่นแหละ มันคือเรื่องของการไม่ยึดติด เขาถึงได้บอกว่า จงพยายามอย่างเต็มที่ แต่อย่าไปยึดติดกับเป้าหมายให้มาก 

เกิดเหตุการณ์อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนของคุณ ทำไมถึงคิดเรื่องพวกนี้ขึ้นมา 

        ส่วนหนึ่งคือผมไปเรียนรู้เรื่อง Transformation Coach มา คือไปเรียนกับโค้ชที่เขาสอนผู้บริหารระดับสูง เขาสอนผมว่ามีเรื่องสำคัญมากๆ อยู่สามเรื่อง ให้จำไว้เลย คือ compassion joy wisdom หลักการคือ เราจะมีปัญญาหรือ wisdom ได้ ต่อเมื่อเรายกระดับแล้วเอาตัวเองออกมาจากตัวตนของเรา (elevate and detach) ลืมความสำเร็จในอดีต ลืมตัวตนของเราทั้งหมด แล้วก็มี compassion กับตัวเรา รักในตัวเรา เขาสอนว่าอย่าไปตัดสินตัวเอง ว่านี่คือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี แม้ผมเองจะเป็นคนไม่ดีในหลายๆ เรื่อง แต่เขาบอกให้เราคิดว่า นั่นคือตัวตนหนึ่งในหลายๆ ตัวตนของเราที่เป็นไปได้ เรายังมีตัวตนอื่นๆ อีกเต็มไปหมด ให้สำรวจความเป็นไปได้ของตัวตนทั้งหลายนั้น แล้วเป็นเพื่อนกับทุกอย่าง แม้กระทั่งความกลัว จงอย่าไปพยายามขจัดมัน เพราะเราทำไม่ได้หรอก อย่าไปกดมันไว้ ดังนั้น เราควรเป็นเพื่อนกับความกลัวไปเลย เราถึงจะขยับออกมาทำอะไรใหม่ๆ ได้ นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า compassion แล้วจากนั้น เราค่อย joy มีความสุข มีความรู้สึกขอบคุณในทุกสิ่งทุกอย่าง หรือมี gratitude ทีนี้ถัดมามันถึงจะเกิด wisdom หรือปัญญา ซึ่งมันพาเรา bypass ไปยังทางออกเลย เพราะคนเราหลายครั้งจะคิดอะไรด้วยเหตุผลหรือลอจิก แต่คิดเก่งๆ ยังไงมันก็จะมีข้อจำกัด สิ่งสำคัญคือเราต้องคิดด้วย intuition นั่นแหละคือ wisdom ที่ดีที่สุด 

        การเรียนเรื่องพวกนี้มันอ่านจากหนังสือไม่ได้ ผมอ่านหนังสือปีละ 100 กว่าเล่มแต่มันไม่มีประโยชน์เลย ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์กับมันหรือรู้สึกกับมันด้วยตัวเอง เพราะหลายสิ่งที่จะทำให้เปลี่ยนตัวเราเองได้มันต้องเรียนรู้จากความรู้สึก อ่านยังไงก็ไม่ได้ สุดท้ายมันต้อง feel it แล้วการไปรู้สึกกับหลายๆ เรื่องในชีวิต คุณต้องมีคนนำทาง หรือ ไกด์ หรือภาษาผมเรียก เชอร์ปา (คนนำทางที่พาเดินขึ้นภูเขา เช่น เทือกเขาหิมาลัย) ทุกคนต้องมีเชอร์ปาในชีวิตสำหรับการเดินทางของแต่ละคน 

เรืองโรจน์ พูนผล

พอฟังคุณพูด มันเหมือนว่า ท้ายที่สุดแล้วการคิดอะไรแบบนี้ได้ ก็อาจจะต้องอยู่กับตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง ไม่ได้ต้องอยู่กับคนอื่นหรือวัตถุอะไรมากมาย 

        ถูกต้อง แล้วสิ่งสำคัญต้องยอมรับตัวเอง มีความเห็นอกเห็นใจตัวเอง รักตัวเอง 

“อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับผมนะ อย่าไปยึดติดความสุขกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ บุคคล หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตาม อย่าไปยึดติด อย่าไปสร้างเงื่อนไขการมีความสุขให้มันเยอะเกินไป จริงๆ มันเป็นหลักพุทธนั่นแหละ มันคือเรื่องของการไม่ยึดติด เขาถึงได้บอกว่า จงพยายามอย่างเต็มที่ แต่อย่าไปยึดติดกับเป้าหมายให้มาก”

คนรู้จักคุณจากโปรเจกต์ที่ส่วนใหญ่แล้วก็ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะตั้งแต่กลับมาจากทำงานที่กูเกิล สร้าง ecosystem ของสตาร์ทอัพ สร้างกองทุน Tuk Tuk ก็ตาม จนมาถึง KBTG ทีนี้ส่วนตัวเราเคยอ่านบทความชิ้นหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ของ Kellogg ที่เขาสกัดจากผลวิจัยชิ้นหนึ่งมา บอกว่า ส่วนใหญ่คนที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องล้มเหลวหนักๆ มาก่อน 

        โอ้ย (พยักหน้า) ผมบอกเลยว่าเยอะมาก ถามว่าอะไรคือความเฟลที่มีส่วนที่ทำให้ผมมีวันนี้ เอาตรงๆ ผมว่าผมเฟลแบบหนักหน่วงเลยคือ ตั้งแต่ตอนทำงานยุคแรกๆ ตอนนั้นอยู่ P&G ผมเพิ่งจบวิศวกรรมไฟฟ้า แต่หน้าที่รับผิดชอบตอนนั้นคือเป็นคนปั่นแชมพูในถัง ตอนนั้นแบรนด์วิดัลแซสซูนปิดโรงงานผลิตที่เกาหลีแล้วย้ายฐานการผลิตมาที่เมืองไทย แล้วงานที่ตอนนั้นทำคือแค่ปั่นแชมพู ซึ่งดูไม่มีอะไรน่าจะยาก ผมก็มั่นใจในตัวเอง เพราะผมนี่เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิก ได้เหรียญทองแดงคณิตศาสตร์โอลิมปิก ได้วิศวกรรมไฟฟ้าเกียรตินิยม และมีคะแนนเป็นที่ 3 ของประเทศ ตอนนั้นบอกเลยว่าโคตรอหังการ์ คิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในจักรวาล แล้วอะไรวะ ให้กูมาปั่นแชมพู มันจะมีอะไรยาก แต่สุดท้ายคือปั่นเดี้ยงครับ แชมพู 12 ตันทิ้งทั้งหมด แชมพูแม่งฟองขึ้นฟอดๆ ผมนี่ยืนน้ำตาไหล อีโก้ที่มีทั้งหลายสลายไปหมด แค่ปั่นแชมพูยังไม่ได้ แค่เทสารผสมลงไป ทำตามขั้นตอนที่มี ก็ยังพัง แล้ว 12 ตันนั่นมูลค่าสามล้านนะ แล้วบ้านผมจนมากตอนนั้น ผมจะไปหาเงินจากไหนมา ทำงานตอนนั้นเงินเดือนแค่หมื่นแปด แล้วทีนี้เจ้านายเรียกผมคุยทันที ผมก็เดินหน้าตาแดงก่ำเข้าไปคุย แล้วเค้าบอกผมว่า เฮ้ย อันดับแรก ให้แยก people กับ problem ออกจากกัน คือให้แยกคนกับปัญหาออกจากกันก่อน แล้วบอกให้ผมโฟกัส แล้วทำแผนภูมิก้างปลา หาว่า root cause ที่จะมีคืออะไรได้บ้าง คิดดู (หัวเราะ) คิดในใจว่านี่ทำพังขนาดนี้ยังไม่ไล่กูออกอีกเหรอวะนี่ ยังให้มานั่งทำแผนภูมิก้างปลาอีก ก็นั่งหาสาเหตุของปัญหา คิดให้ได้ว่า root cause นี้จะเป็นจริงด้วย data อะไรบ้าง บ้าไปแล้ว แต่เขากำลังสอนวิธีคิดให้ผมโฟกัสที่ปัญหา แล้วอย่าไปโทษที่คน ทุกครั้งที่มีปัญหา แยกปัญหาออกมาจากคนเสมอ แล้วเราก็จะสามารถเปลี่ยนปัญหาเป็นการเรียนรู้ได้ เพราะเมื่อเราไปโฟกัสที่ปัญหาเราจะลืมความผิดพลาดของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เจ้านายเก่าสอนไว้ แล้วผมก็ไปเจอสาเหตุของปัญหานั้นว่า มันเกิดจาก โอริง คือมันมีซีลยางระหว่างข้อต่อมันรั่ว แล้วมันเลยทำให้สารต่างๆ มันรั่วผสมกันมั่วไปหมด แต่ดีที่ตัวยางนั้นมันไม่ได้ฉีกกระจายเป็นชิ้นๆ แล้วหลุดเข้าไปในแชมพูด้วย ไม่งั้นเราต้องเรียกคืนแชมพูกลับมหาศาล ถ้าเกิดคนซื้อแชมพูออกมาแล้วเจอชิ้นดำๆ ในแชมพู นายผมบอกไม่ต้องห่วง เราเคยเจอเรื่องแบบนี้ เคยรีคอลสินค้ากลับมาเสียหายเป็นร้อยล้าน แล้วแบรนด์เสียหายอีก มาเจอปัญหาตอนนี้แหละดีแล้ว แล้วให้ผมไปคิดต่อว่า จะป้องกันปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นยังไง แล้วก็ให้ผมไปแชร์คนที่ทำ standard operating procedure ด้วยว่าสิ่งที่เจอมาคืออะไร เอ้า กลายเป็นฮีโร่ไปอีก แต่ประเด็นคือ เขาทำให้ผมเห็นว่า นี่แหละคือหัวหน้าที่ดี คือแยกคนออกจากปัญหา หาสาเหตุให้เจอ ป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดอีก แล้วเปลี่ยนเป็นบทเรียน เรื่องนี้ถ้าถามผม คือเป็นเหตุการณ์ที่หนักที่สุดในทางความรู้สึกของคนคนหนึ่ง เพราะมันทำให้อีโก้ของเด็กอายุ 20 พังไปเลย แล้วจากนั้น แม้จะมีอะไรเฟลอีกเยอะ แต่มันไม่ได้รู้สึกแย่เท่านั้นแล้ว ทำงานอยู่กูเกิลก็มีโปรเจกต์มากมายที่ทำไม่สำเร็จ หรือในแง่นักลงทุนในสตาร์ทอัพ ลงทุนไป 80 ตัวเจ๊งไปแล้ว 20 กว่าตัว ถามผมว่ามองเป็นความล้มเหลวมั้ย ผมว่าไม่  ผมจะบอกเด็กทุกคนว่า อย่าไปคิดว่าตัวเองล้มเหลวนะ ไม่เป็นไร ลุกขึ้นมาเดินหน้าใหม่ move on ถ้ายังอยากทำสตาร์ทอัพอีก ได้เรียนรู้ และเก่งขึ้น ผมก็ยังลงทุนด้วยนะ 

ลงทุนแล้วเจ๊ง ในแง่นักลงทุนไม่รู้สึกอะไรเหรอ

        ผมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการคิดอะไรใหม่ๆ หรือ innovation ทั่วโลกเขามีสถิติเลยว่า สตาร์ทอัพ 48% ในโลกนี่นะเอาเงินใส่เข้าไปปุ๊บ ผ่านไป 48 เดือน ไอ้ 48% นี่ตายหมด คือลงเงินไป 100 ตัว ตายไป 48 ตัว ผมอาจจะลงทุนแล้วเสียหายน้อยกว่านั้นแต่สุดท้ายมันก็คือ part of innovation ไง แล้วสตาร์ทอัพมันคือเรื่องยากนะ เพราะมันต้องเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เสมอ แล้วมันจะมีเรื่องของ power law คือสตาร์ทอัพในพอร์ตผม 10% มันจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนทั้งหมดที่ผมลงทุนไป คือตัวที่ผมลงทุนไป Top 5 เลยคือ DeFi 80% ไปแล้ว ดังนั้นทุกอย่างเป็นไปตามกฎ power law หมด ทุกคนมักจะมองอะไรที่ความสำเร็จ แต่จริงๆ แล้ว มันจะมีความล้มเหลวอยู่เต็มไปหมดเลย แต่มันก็เป็นเรื่องปกติของการสร้างนวัตกรรม เป็นเรื่องปกติของ power law เราเฉลิมฉลองความสำเร็จในกลุ่มสตาร์ทอัพกัน แต่มันล้มเหลวไม่รู้เท่าไหร่ทั่วโลก แต่ภาษาสตาร์ทอัพมันจะเรียกว่า fail forward ล้มไปข้างหน้า แล้วจริงๆ คุณจะไม่เฟลเลยนะถ้าคุณได้เรียนรู้ ได้ก้าวไปข้างหน้าต่อ ก้าวถัดไปของคุณก็จะมั่นคงขึ้น แล้วถ้าคุณไม่ทำผิดซ้ำซาก มันไม่มีอะไรเป็นเรื่องใหญ่ มันอยู่ที่ทำยังไงให้ความล้มเหลวทุกครั้ง เป็นการล้มไปข้างหน้าให้หมด 

จากเด็กกำแพงเพชร ไปสู่ซิลิคอนวัลเลย์ แล้วกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมให้วงการธุรกิจมากมาย คำถามคือ มีวิธีคิดอะไรที่คุณยึดถือมาตลอด ไม่เปลี่ยนเลย 

        มีสองอย่าง ข้อแรกก็ได้มาจากซิลิคอนวัลเลย์ด้วย คือเขาสอนให้คิดว่าทุกคนมีใบอนุญาตให้ล้มเหลว หรือ permission to fail เพราะเขาเชื่อว่า คนเราทำอะไรใหม่ๆ มันก็ล้มเหลวกันได้ อีกเรื่องคือ ใบอนุญาตให้เปลี่ยนโลก หรือ permission to change the world นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อเสมอ แล้วที่ผมจำได้เลย สมัยแรกๆ ที่ผมไปซิลิคอนวัลเลย์ มันมีคำพูดหนึ่งเท่มากๆ เขาบอกว่า เมื่อวินาทีที่สายลมแห่งซิลิคอนวัลเลย์มาพัดผ่านบนหน้าคุณ นี่คือพื้นที่พิเศษ เพราะคุณจะได้รับใบอนุญาตสองใบคือ ใบอนุญาตให้ล้มเหลว และใบอนุญาตในการเปลี่ยนแปลงโลก เพราะเขาเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะล้มเหลวสักกี่ครั้ง ก็ยังจะมีนักลงทุนอยู่เสมอ ไม่ต้องห่วง คุณมีวันที่จะเปลี่ยนโลกได้ ซึ่งผมว่ามันคือเรื่องใหญ่มาก เพราะมันเปลี่ยนมายด์เซตในชีวิตเลยว่า ต่อให้เฟลก็ไม่เป็นไร เพราะที่นั่นทุกคนโอเค ทุกคนยอมรับความล้มเหลวได้ ความล้มเหลวไม่ใช่ตราบาปที่มันเกาะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ถ้าคุณเฟล คำพูดขำๆ ของซิลิคอนวัลเลย์คือ ถ้าคุณเฟล เขาจะเรียกคุณทันทีว่า serial entrepreneur (หัวเราะ) คือเป็นเจ้าของธุรกิจมาแล้วหลายอย่าง ซึ่งผมก็ขำนะ เพราะมันแสดงว่า มันไม่เป็นไร แต่บน LinkedIn มันดูเท่นะ แม้จริงๆ คือเป็นคนที่ล้มเหลวมาหลายครั้ง แต่มันโอเคไง แล้วคนเขาก็ภูมิใจด้วยที่เขาทำอะไรมาเยอะ อย่างน้อยมันก็แค่แผลในสงคราม battle tested เหมือนนักรบย่อมมีบาดแผลน่ะ 

เรืองโรจน์ พูนผล

คุณมองปลายทาง KX ว่ากำลังจะสร้างโลกที่มหัศจรรย์ยังไง แล้วคิดว่ามันตอบโจทย์คนกลุ่มเดียวในสังคมที่รู้เรื่องนี้หรือเปล่า ทำยังไงจะไม่ให้คนกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น คนที่ตามไม่ทันเรื่องพวกนี้จริงๆ มันไม่ยิ่งถ่างความไม่เท่ากันของคนมากไปอีกหรือเปล่า 

        สิ่งที่ KX และบริษัทในเครือ เช่น Coral ตั้งใจจะทำหรือพยายามจะทำให้ได้ มันคือเรื่องของการ democratize พวก DeFi คือเราพยายามสร้าง trust in trustless world เพราะโลกของ DeFi มันเป็นโลกที่ trustless คนทั่วไปมักจะไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยเชื่อ เราเลยคิดว่า คนที่จะเข้าถึงระบบเหล่านี้ได้ เขาต้องเชื่อถือก่อน ไม่ใช่เข้ามาแล้วโดนลากไปแบบ rug pull (เปรียบเหมือนการกระชากพรมที่ยืนอยู่จนทุกอย่างล้มระเนระนาด) แบบเหรียญสควิดเกมที่ราคาร่วงลงเหลือศูนย์ ดังนั้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ก่อน พอคนเชื่อมั่นแล้ว ถึงจะทำธุรกรรมการเงินได้ อันดับต่อมา เราต้องการทำให้ระบบเข้าถึงง่าย ดังนั้น Coral ถึงมีสโลแกนว่า super simple NFT marketplace เพราะคนสามารถใช้การโอนเงินผ่านบัตรเครดิต ใช้ KPLUS ซื้อได้เลย หรือที่เรียกว่า fiat money (เงินในโลกของความจริงที่เราใช้จ่ายกันตามปกติ) ไม่ใช่ต้องไปซื้อคริปโตก่อนให้มันยาก ส่วนตัวศิลปินก็ต้องให้ journey มันง่ายเหมือนขายของบน Shopee หรือ LINE ถ้าคุณสามารถซื้อขายกันในที่เหล่านั้นได้ ก็มาซื้อขายบน Coral ได้ วิชั่นของเราคือการทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงได้ เราต้อง democratize asset to digital asset แล้วเราก็สร้างความน่าเชื่อถือตรงที่ สิ่งที่นำมาขาย คือของแท้ 100% 

“อย่าไปตัดสินตัวเอง ว่านี่คือสิ่งที่ดีหรือไม่ดี แม้ผมเองจะเป็นคนไม่ดีในหลายๆ เรื่อง แต่เขาบอกให้เราคิดว่า นั่นคือตัวตนหนึ่งในหลายๆ ตัวตนของเราที่เป็นไปได้ เรายังมีตัวตนอื่นๆ อีกเต็มไปหมด ให้สำรวจความเป็นไปได้ของตัวตนทั้งหลายนั้น แล้วเป็นเพื่อนกับทุกอย่าง แม้กระทั่งความกลัว”

ภาพปลายทางที่เห็นในจินตนาการของโลก DeFi คืออะไร 

        ผมว่ามันจะมี 3 อย่าง นั่นคือ ธนาคารที่ปรับตัวเป็นดิจิทัลและมีการสเกลได้ เพราะถ้าสเกลไม่ได้คือตายหมด ข้อต่อมา ธนาคารจะอยู่ร่วมกันกับฟินเทคขนาดใหญ่ เช่น ฟินเทค ant financial ของอาลีบาบา เป็นต้น ข้อที่สาม มันจะอยู่ร่วมกับ DeFi สามเรื่องนี้มันจะอยู่ร่วมกันหมด แล้วเกิด ecosystem โลกใหม่ที่ผู้เล่นในโลกเก่าไปหมดเลย ผมคิดว่า DeFi มันมหัศจรรย์เพราะโดยหลักการ มันสามารถทำ financial service ได้ทุกอย่างเลย มันทำแบบที่ธนาคารทำได้หมด โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ถามว่าแล้วคนที่ใช้บริการจะมีชีวิตแบบไหนในอนาคต ผมว่าสุดท้ายมันอยู่ที่ระบบการกำกับและตรวจสอบ หรือ regulation เพราะทุกวันนี้คนไปเทรดคริปโตกันเยอะมากๆ แล้ว สินทรัพย์มันขยายไปเยอะแล้ว นั่นหมายความว่า คนสามารถข้ามตัวกลางหรือสถาบันทางการเงินดั้งเดิมได้เลย เช่น ต่อไปคนจะขอกู้เงินได้ เทรดผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้หมด หรือต่อไปการซื้อขายที่ดินดิจิทัลก็อาจจะแพงกว่าที่ดินบนโลกจริงก็ได้ ทั้งหมดนี้จะเป็น native digital asset เพราะมันเกิดในโลกของดิจิทัลเลยไง แล้วต่อไปเฟซบุ๊กทำ Metaverse อีก ต่อไปทุกคนก็จะทำ นั่นหมายความว่าเรามีอีกโลกหนึ่งควบคู่ไปด้วย แต่แน่นอน สิ่งที่มันน่ากลัวก็คือคนมันจะเอนจอยมาก แล้วจะมองเป็นที่หลบหนีจากโลกแห่งความจริง เพราะในโลกเสมือน ฉันอาจจะเป็นใครสักคนที่ฉันอยากเป็นจริงๆ ก็ได้ แล้วมันไม่มีขอบเขต ฉันสามารถสร้างตัวตนยังไงก็ได้ แล้วมันจะกลับมาที่โลกในเรื่อง Matrix ที่มอร์เฟียสถามนีโอว่า what is real? อะไรคือความจริงกันแน่ หรือดีไม่ดี โลกที่เราอยู่ อาจจะเป็น Metaverse อะไรสักอย่างก็ได้ เหมือนเรื่องมนุษย์ต่างดาวน่ะ มันต้องมีอารยธรรมอะไรอีกหรือเปล่าที่ล้ำเราไปเยอะมาก อย่างเรื่องมนุษย์ต่างดาว แต่จริงๆ แล้ว Metaverse เป็นเรื่องง่ายมาก เขาใช้คำว่า reality is local คือผมมองเห็นไกลที่สุดเท่าที่ประสาทสัมผัสของผมจะไปถึง ดังนั้น หมายความว่า เราใช้ทรัพยากรในการสร้างความเป็นจริงน้อยมาก จะเป็นไปได้มั้ยที่ความเป็นจริงนั่นแหละที่คือ illusion แม้กระทั่งปัจจุบันที่เราอยู่ 

        แต่สุดท้ายนะ ผมเชื่อว่าต่อไป Metaverse มันจะใช้ง่ายมาก ต่อไปเฟซบุ๊กจะให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด เพราะมันจะอยู่ได้เพราะมีสเกลที่ขยายได้ ต่อไปคนเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้ ก็จะเข้าถึง Metaverse ได้เช่นกัน แล้วมันจะเป็นสิ่งที่ใช้ง่ายมาก ที่เขาเชื่อๆ กันคือภายในปี 2024 แต่ที่มากกว่านั้น ปี 2030 เทคโนโลยีพวก AR VR พื้นฐานสำคัญของการสร้าง Metaverse เนี่ย ทำให้คุณอาจจะแยกความเป็นจริงไม่ออกเลยในราคาที่ถูกกว่าโทรศัพท์มือถือ มันถึงต้องมีการคุยเรื่อง จริยธรรม AI ไง เพราะทุกวันนี้เฟซบุ๊กก็ใช้ AI ในการเลือกฟีดให้เราเห็น แล้วล่าสุดที่พนักงานเฟซบุ๊กออกมาแฉว่า AI ของเฟซบุ๊กเลือกฟีดให้เราเห็น มันจะทำให้คุณติด แล้วมันจะฟีดแต่สิ่งที่ไม่ดีหรือขยะเข้ามา เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะติดขยะมากกว่า เพื่อให้เรา engage กับมัน AI มันสนใจแค่นี้ เพราะมันจะได้ขายโฆษณา แล้วที่แย่คือไม่มีใครเข้าใจอัลกอริธึมของเฟซบุ๊กร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก 

จริยธรรมในโลกของฟินเทคล่ะ เขาคุยเรื่องอะไรกัน 

        ก็คุยเรื่อง ethical AI เหมือนกันแล้วก็เรื่องของโมเดล ที่จะไม่ discriminate นั่นคือมันต้องไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือมีอคติอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ถ้าเป็นระบบกู้เงิน ก็ห้ามกีดกันไม่ให้คนนี้กู้ หรือทำให้คนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ยาก เป็นต้น ทีนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเขาก็จะเริ่มทำกรอบเรื่องพวกนี้ขึ้นมา คือสำหรับผม ฟินเทคมันมีข้อดีตรงที่ว่า มันเป็นโลกที่มีการกำกับ ตรวจสอบได้ คืออาจจะไม่เหมือนโลกของคริปโต ที่แม้จะมีคนตรวจสอบได้ แต่มันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็จะมีเหตุการณ์แบบ rug pull ได้อีก อาจจะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า โลกมันไปในทิศทางที่ไม่ sustainable สุดท้ายแล้ว คนชั้นกลางก็จะหายไป เพราะมันจะเหลือแค่คนชั้นบนสุดกับคนชั้นล่าง ช่องว่างมันจะตีบลงไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งนี้มันเกิดขึ้นกับสังคมอเมริกันมาแล้ว คนที่มีทักษะแบบกลางๆ ก็จะเริ่มหดตัวลง เพราะว่าคนเก่งจะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น 

ในฐานะที่คุณดูเรื่อง Tech มาตลอด ก็น่าจะเห็นว่า สายอาชีพนี้มีอนาคตมาก ทีนี้คุณพอจะมีคำแนะนำมั้ยว่าในอนาคต Tech ที่ควรจะรู้คือสายไหน 

        สุดท้ายที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ยังไงทุกคนต้องรู้เรื่อง data analytic machine learning AI เพราะเว็บ 3.0 ที่จะมาคือ 2024-2025 ที่มันจะ take off ขึ้นไปอีกครั้ง เพราะมันเป็นเรื่องที่เราต้องใช้งานเยอะที่สุดแล้ว เรียนรู้ปุ๊บเอามาใช้ได้เลย 

เรืองโรจน์ พูนผล

แล้วคนอยู่นอกสายงานนี้จะอยู่อย่างไร 

        ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คือผมเชื่อว่าในอนาคตที่จะไปได้ เราต้องมีสามเรื่องคือ คุณต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากๆ และต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนและมีความเห็นอกเห็นใจหรือ empathy เยอะมาก นั่นแหละคือสิ่งที่คุณต้องมี เพราะต่อไปโดยเฉพาะบ้านเรา มันต้องไปทาง aging society แน่ๆ ดังนั้น เขาไม่ได้จะเอาเทคโนโลยีไปซะหมด แม่ผมก็ไม่ได้อยากจะพูดกับหุ่นยนต์นะ กลัวด้วยซ้ำ มีหุ่นยนต์พยาบาลนี่แม่ไม่เอานะ (หัวเราะ) หรือหุ่นยนต์หมานี่แม่บอกจะบ้าเหรอ ดังนั้น เมื่อบ้านเราจะเป็น aging society จะมีแต่คนแก่และอายุก็จะยืนยาวขึ้น แล้วคนแก่ก็ยินดีที่จะจ่ายเงินในสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เขา เช่น อ่านอะไรฟอนต์ใหญ่ๆ แล้วเขายินดีจ่ายเพิ่มอีก 30% จากราคาปกติเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ นั่นแปลว่าเรามี silver economy ใหญ่มหาศาล เรามีโอกาสเต็มไปหมด ผมถึงเน้นเรื่อง empathy กับคน งานที่มันต้องเกี่ยวข้องกับคน นั่นคือสิ่งที่สำคัญ 

ถ้าคุณไปอยู่ใน Metaverse นึกภาพออกไหมว่าตัวตนของคุณจะเป็นยังไง

        ยังนึกไม่ออก แต่ผมชอบเล่นเกม คิดว่าผมน่าจะเป็นตัวละครในเกม Dragon Quest เป็นตัวนักปราชญ์ ที่ใช้มนตร์ทั้งด้านดีและไม่ดี สนุกดี คือผมมองตัวตนจริงๆ ว่ามีได้หลากหลาย เหมือนตัวละครใน The Avengers บางวันอาจจะเป็น โทนี สตาร์ก บางวันอาจจะเป็น Hulk เมื่อก่อนมีอะไรไม่ได้ดังใจ ผมก็เหมือน Hulk เลย แต่สุดท้ายพอผมยอมรับความเป็นตัวเองได้ ตัวละครที่ผมชอบที่สุดกลับเป็นตัว Star Lord คือมันเป็นคนธรรมดา มีเพื่อนเป็นต้นไม้บ้าง แรคคูนบ้าง มีเพื่อนเกรียนๆ ตอนพลังตัวเองหมดไป เพราะพ่อดูดพลังไปหมดแล้ว มันก็ยอมรับในความเป็นตัวเอง คนในโลก Tech อาจจะอยากเป็นแบบ โทนี สตาร์ก แต่มันถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวมาโดยตลอดนะ ภาคสุดท้ายถึงเห็นว่า ยอมให้ภรรยาใส่ชุดเกราะแล้วออกรบร่วมกันได้ เพราะมันเพิ่งจะยอมรับการมีตัวตนของเธอ แล้วไหนตัวเองจะมีปมเรื่องพ่ออีก แต่เขามาถึงตรงนั้นได้ด้วยข้อเสียต่างๆ เหล่านั้นแหละ แต่เราอย่าไปมองเป็นฮีโร่มาก แค่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นก็พอ เหมือนเมื่อก่อนทุกคนอยากเป็น สตีฟ จ็อบส์ อยากเป็น อีลอน มัสก์ แต่ท้ายที่สุด โลกมันมีความเป็นไปได้มหาศาล สมัยก่อนผมก็เคยอยากเป็นแบบ สตีฟ จ็อบส์ ตอนนั้นปี 2007 ผมไปเรียนสแตนฟอร์ด ก็ได้ไปฟังเรื่อง connecting the dot ที่สแตนฟอร์ดนั่นแหละ ตอนนั้นใครไม่ร้องไห้ก็บ้าแล้ว หรืออย่าง บารัค โอบามา มาพูดที่กูเกิล ตอนนั้นผมนั่งห่างจากเขาไม่ถึง 15 เมตร ตอนนั้นเขามาหาเสียงแข่งกับ ฮิลลารี คลินตัน เขาพูดไปสักพัก ทุกคนน้ำตาไหล คือวันหนึ่ง ฉันก็อยากเป็น สตีฟ จ็อบส์ อีกวันก็อยากเป็นโอบามา แต่ดูเขาตอนนี้สิ เหมือนคนทำงานหนักมาก แล้วเอาจริงๆ เราก็ไม่ได้อยากเป็นนักการเมืองนี่หว่า แต่แน่นอนสักครั้งในชีวิตเราก็อยากเป็นแบบคนเหล่านี้ มันก็ต้องมีไอดอล แต่ถึงจุดหนึ่ง คุณจะตกผลึก แล้วก็จะรู้ว่า เฮ้ย จริงๆ ฉันอยากเป็นอะไรกันแน่