นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเราได้ยินบทเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ตั้งแต่อายุ 12 จะเป็นอย่างไร…
‘ตังเม’ – รัชชา วีระเจริญ, ‘หนุน’ – ชนม์พศิน แก้วปราง และ ‘บอส’ – ทศภูมิ พรประเสริฐ ตัวแทนจากชมรมกฎหมายน่ารู้ (Law Club) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คือเด็กสามคนในหลายล้านคนที่เติบโตมาในบรรยากาศนั้น เป็นยุคที่คำว่าระบอบประชาธิปไตยดูเลือนรางและแผ่วเบา ยังไม่รวมถึงการต่อสู้กับอำนาจสุดคลาสสิกอย่างระบบอาวุโส ที่หลายครั้งก็ทำให้ ‘เด็ก’ อย่างพวกเขารู้สึกท้อแท้และเหนื่อยหน่ายในการแสดงความคิดเห็นกับคนต่างวัย เราจึงขอมอบพื้นที่นี้ให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้ออกมาเล่าถึงปัญหา แลกเปลี่ยนมุมมอง และสะท้อนความหวังที่เขามีต่อประเทศที่ผู้ใหญ่หลายคนเพิกเฉยและเลือกที่จะมองข้ามไป
ทำไมถึงมองว่ากฎหมายเป็นเรื่องน่ารู้สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ชนม์พศิน: กฎหมายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และถ้ามองภาพรวม กฎหมายเกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ส่วนสาเหตุที่ต้องเรียนกฎหมายเพื่อที่จะได้ไม่โดนเอารัดเอาเปรียบในอนาคต และก็จะได้ไม่เอาความรู้ที่มีไปเอาเปรียบคนอื่นเช่นเดียวกัน
รัชชา: ‘ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นมีสังคม… ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย’ กฎหมาย มนุษย์ และสังคม เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันไม่สามารถขาดออกจากกันได้ กฎหมายจึงเป็นเรื่องน่ารู้สำหรับทุกคนในสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะนักเรียน ม.ปลาย แล้วประชาชนทุกคนก็มีหน้าที่ในการปฏิบัติตาม
ทศภูมิ: เราเป็นบุคคลตามกฎหมายคนหนึ่ง ฉะนั้นชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เราต้องมีความสัมพันธ์กับกฎหมายตลอดเวลา แต่สำหรับนักเรียนซึ่งเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากลอง การรู้กฎหมายบางข้ออาจจะทำให้เรายับยั้งชั่งใจในการกระทำบางอย่างได้ เช่น กฎหมายยาเสพติดทำให้เราเห็นโทษของมันและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือว่าการทะเลาะวิวาท การลักทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีอาญา
เมื่อรู้กฎหมายมากขึ้น ทำให้มีครั้งไหนไหมที่รู้สึกโกรธ หรือผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ถูกต้องไปตามกฎหมาย
รัชชา: กฎหมายจะดีเมื่ออยู่ในมือคนที่ดี คนที่ใช้กฎหมายถ้ามีคุณธรรมเขาจะใช้กฎหมายในการตัดสินด้วยความเป็นธรรม แต่ถ้ากฎหมายไปอยู่ในมือของผู้ที่มีอำนาจในการใช้กฎหมาย แล้วเขาไม่มีคุณธรรมในการใช้ กฎหมายก็สามารถทำในสิ่งที่แย่ๆ ได้เหมือนกัน
ในเมื่ออำนาจการกำหนดทิศทางของประเทศอยู่ในมือของผู้ใหญ่ มองว่าสิทธิ์และเสียงของคนรุ่นใหม่ที่หลายคนพยายามส่งไปถึงผู้ใหญ่เป็นอย่างไร
ชนม์พศิน: เราคิดว่าไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่เขาฟังเราน้อยลงเสียทีเดียว ตามหลักการแล้ว คนรุ่นเก่าจะมีความเกรงกลัวคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่เป็นเจเนอเรชันที่ดีกว่า มีความรู้ความสามารถมากกว่า เขาย่อมที่จะกลัว เราสามารถเปรียบเทียบได้เลย ถ้าเป็นภาคเอกชน เขามักจะให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่คำนึงถึงความอาวุโสมากนัก จึงพัฒนาได้เร็วกว่าภาครัฐที่มีสังคมอาวุโส มีระบบอุปถัมภ์กันมานาน ทำให้องค์กรเติบโตได้ช้ากว่า
ทศภูมิ: ประเทศไทยยังติดอยู่กับระบบอาวุโสที่ฝังรากลึกมานาน ผู้ใหญ่มักจะมองว่าพวกเขาเคยผ่านสิ่งเหล่านี้มาก่อนหรือที่เรียกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน เวลาที่เด็กอย่างเราพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็จะมองว่าเป็นการเถียง พอเด็กคนหนึ่งออกไปยืนโต้แย้งกับผู้ใหญ่มันกลายเป็นว่าเด็กคนนั้นดูไม่ดีไปเลย
ซึ่งไม่ใช่แค่ในเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเมือง แต่เราเจอระบบอาวุโสตั้งแต่ในครอบครัว จนกระทั่งในห้องเรียน อย่างเวลาเราเสนอความคิดเห็นออกไป สุดท้ายผู้ใหญ่กลับยึดเอาความเห็นของตัวเองเป็นหลัก เหมือนกับเขาตัดสินบางอย่างไว้ในใจแล้ว และเขาก็มาถามเราอีกทีหนึ่งเพื่อให้มันดูเป็นประชาธิปไตยนิดหนึ่งเท่านั้น
การที่ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง ทำให้คุณรู้สึกชินชาจนไม่อยากแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมาแล้วหรือเปล่า
รัชชา: เราก็เคยมีความคิดขึ้นมาว่า ‘เสียงของเรามันไม่มีความหมายเลยเหรอ’ เพราะต่อให้เราไปยืนตะโกนส่งเสียงดังขนาดไหน แต่เสียงนั้นมันไม่เคยไปถึงเขา เขาปิดหูไม่รับฟังเราหรือเปล่า
ทศภูมิ: สิ่งนี้อาจทำให้เราชินชา อย่างเวลาโรงเรียนเรามีปัญหาอะไร ผมก็รู้สึกว่าไม่อยากจะเข้าไปแก้ไข ไม่อยากจะเสนออะไร เพราะว่าเสียงเราจะไม่มีความหมาย และอาจจะโดนเพ่งเล็งกลับมาด้วยว่า ‘เธอเป็นเด็กอย่าเข้ามายุ่ง ฉันเป็นผู้บริหาร ฉันเป็นครู’ คือแค่บางทีเราเห็นภาพลักษณ์ของคุณครูบางคนเราก็ไม่กล้าเข้าไปยุ่งแล้ว ตอนนี้ผมก็ปล่อยให้ปัญหามันเกิดขึ้นไป เพราะรู้สึกว่าถ้าเข้าไปยุ่งจะมีผลเสียกลับมาหาเราอย่างแรง
กลัวไหมว่าตัวเองจะเติบโตจนกลายเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น
ชนม์พศิน: บางคนตอนเป็นเด็กหรือเป็นนิสิตนักศึกษาก็อาจคิดว่า ฉันอยากจะให้ประเทศไทยของฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ อยากจะล้มระบบอาวุโส แต่พอเข้าไปทำงานราชการจริงๆ กลายเป็นว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนตัวเรา หัวหน้าก็เป็นผู้อาวุโสมากกว่า เราก็จะต้องไต่เต้าขึ้นไปเป็นแบบนั้น สุดท้ายก็จะกลับมาที่มุมเดิม คือเรากลัวคนรุ่นใหม่ เราไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ ก็จะเกิดระบบเดิมอยู่เรื่อยๆ
ทศภูมิ: ผมคิดว่าต่อไปผมอาจจะต้องเป็นแบบคนรุ่นเก่า สมมติว่าเราเข้ามาเรียน ก็จะเห็นคุณครูอายุ 20-21 ที่ดูเป็นคนรุ่นใหม่แบบเรา พอผ่านไปสัก 2-3 ปี เขาเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีตำแหน่งหน้าที่ในโรงเรียน เขาก็จะเริ่มมีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าคงมีหลายอย่างที่กำลังหล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนั้น และคิดว่าผมก็กำลังเจริญรอยตามขนบนั้นอยู่
ถ้าผมเป็นข้าราชการก็จะเห็นภาพตัวเองหัวล้าน ใส่สายสะพาย เดินคุมงานลูกน้อง หรือไปเป็นคนเปิดงานเก๋ๆ เท่านั้น เพราะเราถูกสอนมาให้เห็นแต่ภาพแบบนั้น
รัชชา: สิ่งที่เรากลัวมากๆ คือการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราไม่อยากเป็น ไม่อยากโตไปเป็นพ่อแม่ของลูก หรือ คุณครูของลูกศิษย์ในแบบที่เราเคยไม่ชอบ เข้าใจว่าผู้ใหญ่ที่อยู่ในยุคเก่าเขาจะมีแนวคิดที่ต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต แต่คนรุ่นใหม่อยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ โลกมันแคบลง เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีหลายครั้งที่เรากลัวว่าจะเติบโตไปเป็นแบบเขา
มองว่าคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมหรือบทบาททางการเมืองน้อยลงหรือเปล่า
ทศภูมิ: ถ้าดูผิวเผินอาจดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่น่าจะมีส่วนร่วมน้อยลง เพราะจากสถิติสมัยก่อน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมถึง 80% แล้วก็ลดลงมาเรื่อยๆ อย่างล่าสุดที่มีการเอาพริกเกลือไปแขวนหน้าทำเนียบรัฐบาลก็มีคนรุ่นใหม่ประมาณแค่หลักสิบเท่านั้น
แต่อีกมุมหนึ่ง เราว่าจริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้ลด แต่การแสดงออกของคนรุ่นใหม่ไปโผล่ในโซเชียลมีเดียแทน เพราะตอนนี้ คสช. กำลังควบคุมสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้สื่อโซเชียลฯ เช่น ทวิตเตอร์ กระแสต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากแฮชแท็กที่บูมขึ้นมา
ส่วนอีกสิ่งที่จะมาตัดสินการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ได้อย่างแท้จริงก็คือการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพราะตอนนี้มีคนรุ่นใหม่อายุเกิน 18 ปี อยู่ 5 ล้านกว่าคนที่ไม่เคยเลือกตั้งเลย เราก็ต้องดูว่าพวกเขาออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงมากน้อยขนาดไหน
ชนม์พศิน: คนรุ่นใหม่กล้าออกมาพูดแสดงความเห็นในโลกออนไลน์มากมาย สามารถนัดคนมาประท้วง มาชุมนุมต่างๆ ได้ในที่สาธารณะ เพียงแค่เปิดมือถือขึ้นมา ส่งคำเชิญชวน รวมถึงปลุกระดมคน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว ถ้าคนรุ่นใหม่คิดจะทำ เขาแค่แสดงออกโดยใช้วิธีการที่แตกต่างจากเดิม แทนที่จะไปใช้สื่อประชาสัมพันธ์ หรือไปเก็บตัวเป็นปีๆ เราแค่เปลี่ยนช่องทางเฉยๆ
การที่เติบโตมาภายใต้ระบบเผด็จการตั้งแต่มัธยมต้นทำให้รู้สึกห่างเหินกับประชาธิปไตยไหม
ชนม์พศิน: เราโตมาในระบอบเผด็จการทหารตั้งแต่อายุ 12 แต่ไม่ได้รู้สึกว่าคนรุ่นเราห่างเหินกับประชาธิปไตยนะ เรารู้สึกว่ายังต้องการการปกครองระบอบนี้ เหมือนยิ่งห่างก็ยิ่งคิดถึง ประเทศเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมาตั้งนานแล้ว เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ แล้วพอมาปี 2557 มันก็ยิ่งน้อยลงไปอีก แทบไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตยอยู่เลย ถ้าสมมติเรากอบกู้ระบอบนี้ขึ้นมาได้อีก มันก็คือการประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งของประชาชน
รัชชา: ไม่ใช่ความห่าง แต่คือความโหยหา เรากระหาย เราอยากที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง อยากให้มีประชาธิปไตย อยากให้เสียงของเรามีความหมาย มีสิทธิเสรีภาพตามสิทธิ์ที่ควรจะได้ในการแสดงความเห็น เพราะว่าเราอยู่ในประเทศนี้ เราได้รับผลกระทบพอๆ กับทุกคนที่ได้รับ ถึงแม้ว่าเราอายุจะยังไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ออกมาพูดถึงปัญหาแล้วซุกมันไว้ใต้พรม เราจะไม่มีทางแก้ไขมันได้เลย
การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างก็เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ว่าเสียงนั้นจะน้อยหรือไม่มีน้ำหนักขนาดไหน แต่ถ้าเรารับฟัง ก็สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกันได้
แต่ละคนคิดเห็นอย่างไรกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
รัชชา: ส่วนตัวคิดว่าหนูพร้อมแต่ว่าอายุไม่ถึงเฉยๆ เสียงของแต่ละคนมีความหมายมากๆ สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะว่าด้วยตัวรัฐธรรมนูญเองที่ร่างออกมาแล้วก็ค่อนข้างยากที่จะทำให้หลุดพ้นจากระบอบเดิมๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เชื่อว่าทุกคนจะ ไปลงคะแนนเพื่อที่จะเปลี่ยนอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะถ้าปล่อยมันไว้ เราก็จะต้องทนอยู่กับสภาพแบบนี้ไปอีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่านานขนาดไหน เพราะระบบจะฝังรากลึกลงไปเรื่อยๆ พอยิ่งนานเข้ามันก็ยิ่งแก้ยาก
ชนม์พศิน: ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งในประเทศนี้ ก็ควรใช้เสียงของตัวเองเลือกคนที่คิดว่าสมเหตุสมผลที่สุดให้เข้ามาพัฒนาประเทศของเรา ดีกว่าที่จะให้ต่างชาติมองว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบทหาร เพราะว่าแนวคิดหลักของประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ตามวาทะของอับราฮัม ลินคอร์น และถ้านายกคนใหม่ไม่ดีหรือแย่ สุดท้ายประชาชนก็สามารถเอาเขาออกได้
ทศภูมิ: เห็นด้วยเพราะประชาชนควรจะมีสิทธิ์เต็มที่
ความหวังที่มีต่ออนาคตอยากให้ประเทศเป็นไปในทิศทางไหน
ชนม์พศิน: อยากให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมาเป็นอย่างแรกก่อนแล้วสิ่งอื่นๆ ก็จะตามมาเอง โดยเริ่มจากการให้ความใส่ใจในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อที่จะสร้างคนให้เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ
อย่างประเทศสิงคโปร์ เขามีทรัพยากรอย่างเดียวคือมนุษย์ เขาพัฒนาคนของเขาให้ก้าวขึ้นไปสู่เวทีโลก ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้ว และยังสามารถซื้อทรัพยากรต่างๆ จากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศ แล้วให้ประเทศอื่นเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเขาได้ ก็อยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
รัชชา: ความหวังอันใกล้ก็คือหวังให้การเลือกตั้งในครั้งนี้โปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด ให้ทุกสิ่งผ่านไปด้วยดี ให้เราได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ มาบริหารประเทศ เข้ามาร่วมพัฒนาแล้วก็เปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หนูคิดว่าประเทศจะพัฒนาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
ทศภูมิ: ส่วนผมก็หวังอยากจะเห็นโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ขนส่งมวลชน หรือระบบการศึกษาเกิดการพัฒนา ทำให้ประชาชนมีความรู้ มีคุณภาพมากขึ้นกว่านี้ หวังให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ คือไม่ใช่ต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วถึงขึ้นรถเมล์ฟรี แต่ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ นั่นภาษีเรานะ (หัวเราะ) ทุกคนควรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองสละเวลามาอ่านบทสัมภาษณ์นี้ มีอะไรอยากบอกพวกเขาไหม
ชนม์พศิน: ให้โอกาสคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราได้ทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศ อยากให้ฟังเสียงของพวกเราด้วยในการที่จะตัดสินใจทำอะไรต่างๆ ต่อประเทศชาติของเรา
รัชชา: จริงๆ การออกมาพูดตรงนี้เป็นความรู้สึกที่อยากบอกออกมามากๆ เลย เพราะว่าเราอยากให้ใครสักคนก็ได้ในนั้นได้ยินเสียงของเรา เขาอาจจะรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีประสบการณ์ ไม่ได้มีความรู้มากเท่าเขา แต่พวกเรามีความคิดริเริ่มที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างหนึ่งให้กับสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปในทางที่ดีขึ้น มีความหวังว่าอยากให้คนรุ่นหลังจากเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
ทศภูมิ: ผมเชื่อว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่กำลังเบื่อกับระบบเก่าอยู่ ผมอยากจะบอกว่า Beware your step นะ เพราะเขาไม่สามารถควบคุมประเทศให้มันเป็นอย่างที่เขาต้องการแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ สักวันเขาต้องเสื่อมอำนาจหรือตายจากไป แล้วก็จะเป็นพวกเราคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาแทน ทุกคนอยากจะเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย 100%