แม่ชีศันสนีย์

แม่ชีศันสนีย์ | เรียนรู้ที่จะผันพลังจากความทุกข์ความเศร้าให้เป็นพลังในแง่บวกเมื่อวันที่เราร่วงหล่น

ทันทีย่างเท้าก้าวเข้าไปในเสถียรธรรมสถาน ความรู้สึกหนึ่งที่เราสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองคือ ก้าวย่างและลมหายใจที่เนิบช้าลง รวมถึงความสงบประหลาดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เมื่อพบกับนักบวชหญิงที่รออยู่ก็สัมผัสได้ถึงพลังงานเชิงบวกอันเกิดจากความเมตตา ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวกับที่ใครหลายต่อหลายคนสัมผัสได้จาก แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งศาสนสถานแห่งนี้

แม้เธอจะเพิ่งเดินทางกลับมาถึงที่นี่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากเดินทางไกลไปปฏิบัติภารกิจทางธรรมยังต่างประเทศ กระนั้นแม่ชีศันสนีย์ก็ยังกรุณาค่อยๆ อธิบายให้ทีมงานฟังถึงหลายสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ รวมถึงอุทิศตัวเป็นแบบให้ถ่ายรูปอยู่ร่วมชั่วโมง แต่ก็ดูเหมือนกับว่าแม่ชีสูงวัยท่านนี้ไม่ได้รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด กลับพูดจาชัดถ้อยชัดคำทั้งยังคงเปี่ยมไปด้วยท่าทีของความมีเมตตา ซึ่งในเวลาต่อมานั้นก็ทำให้เราเข้าใจว่า มิใช่ว่าเธอไม่ได้รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหรือความยากลำบากอันใดหรอก หากแต่แม่ชีศันสนีย์รู้ซึ้งถึงวิธีการ ‘ผันพลัง’ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ หากแต่ต้องเป็นผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะสามารถ

แม่ชีศันสนีย์

 

เส้นทางธรรมของคุณแม่ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ มีอะไรที่น่าพูดถึงบ้าง

     ช่วง 7 ปีแรกที่บวชแม่อยู่ในวัด ก่อนที่หลวงพ่อ (พระครูภาวนาภิธานแห่งวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของแม่จะมรณภาพ ท่านก็แนะนำให้แม่ซื้อที่ดินตรงนี้ (เสถียรธรรมสถาน) เอาไว้ ตอนนั้นแม่นึกสงสัยและถามท่านว่า ‘หลวงพ่อก็สอนเองนี่ว่าสมบัตินั้นเป็นทุกข์ แล้วทำไมจึงจะให้ซื้อที่ดินตรงนี้’ พระครูภาวนาภิธานท่านก็ถามกลับว่า ‘มีปัญญาหรือยัง ถ้ามีปัญญา สมบัติไม่เป็นทุกข์’

     อ๋อ… นั่นแสดงว่าเราก็น่าจะมีปัญญาจริงไหม เพราะเวลาที่เราตั้งใจจะพัฒนาสติปัญญา ก็จะทำให้เราอยู่กับโลกได้อย่างที่โลกเป็น โดยที่ใจไม่เป็นทุกข์ ถามว่าจนถึงทุกวันนี้แม่เป็นอย่างไร แม่ก็ยังอยู่กับ ‘โลกธรรม 8’ (ธรรมดาของโลก ลาภ ยศ สรรเสริญ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ สุข นินทา ทุกข์) อย่างมี ‘มรรค 8’ (หนทางแห่งการดับทุกข์ 8 ประการ) และเจริญภาวนา

 

ทุกวันนี้คุณแม่ยังมีความทุกข์อยู่ไหม

     แม่ก็ยังเห็นนะ แต่เราก็พยายามที่จะไม่เป็น อย่างการทำงานของแม่เนี่ยถามว่ามีปัญหา มีความทุกข์หรือเปล่า เรามีผู้คนที่ต้องรับใช้มากมายอย่างนี้ ก็ย่อมต้องมีอยู่แล้ว แต่ปัญหาไม่ได้เป็นอุปสรรค ปัญหามีไว้ให้เรา ‘คม’ ขึ้น มีไว้เพื่อให้เราพัฒนาสติปัญญา เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ ปัญหาเป็นความสำเร็จของเราได้ ปัญหาจึงไม่ใช่อุปสรรค

     คือแม่อยากจะบอกว่า เราพูดไม่ได้หรอกว่าเราสบายดี เพราะมันก็มีโลกธรรมมากระทบ มีทั้งคนสรรเสริญ นินทา มีสุข มีทุกข์ มีได้ มีเสีย และเราก็มองเห็นความตายอันยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหน้า ถามว่าเราเสียใจไหม เราเสียใจ แต่เมื่อเจอกับเรื่องราวทำนองนี้เราก็สามารถผันพลังงานได้ เพราะทุกข์มีไว้ให้เห็นไม่ได้มีไว้ให้เป็น เราเห็นทุกข์เพื่อให้พ้นทุกข์

 

แม่ชีศันสนีย์

 

สำหรับเสถียรธรรมสถานที่คุณแม่เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา คุณแม่ตั้งเป้าหมายหรือภารกิจของเสถียรธรรมสถานไว้อย่างไร เพราะจนถึงทุกวันนี้ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่าเสถียรธรรมสถานคืออะไร

     คำว่า ‘เสถียร’ แปลว่ามั่นคงยั่งยืน คำว่า ‘ธรรมสถาน’ คือสถานที่ที่มีธรรม ชื่อ ‘เสถียรธรรมสถาน’ จึงหมายถึงสถานที่ซึ่งมีธรรมะอันมั่นคง ตลอด 30 กว่าปีนี้ คุณแม่ใช้เสถียรธรรมสถานเพื่อปลูกฝังธรรมะลงในหัวใจของมนุษยชาติทุกชนชั้นวรรณะและวัย ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าที่นี่มีความเป็น Community Learning Space ซึ่งมีความเป็นทั้งบ้าน วัด และโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ได้มีรั้วกั้นเลย ที่นี่เป็นศาสนสถานซึ่งเรามีวินัยร่วมกัน ไม่เบียดเบียนกัน มีสัมมาทิฐิเสมอกัน เรามีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนหลายๆ วัยอยู่ด้วยกัน โดยมีความเป็นสังคมที่เกื้อกูล

     เราซื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ไร่ครึ่ง แล้วสร้างขึ้นให้เป็นศูนย์วิจัยทางธรรม เพื่อนำธรรมะออกไปเยียวยาสังคม เป็นการนำประสบการณ์และองค์ความรู้ตลอด 30 กว่าปีของเสถียรฯ มาฉุดช่วยให้คนได้อยู่อย่างมีความหมาย และตายอย่างมีคุณค่าได้ทุกเพศและวัย เราสอนธรรมะกันตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนกระทั่งคืนชีวิตสู่ธรรมชาติเลยก็ว่าได้

 

คุณแม่เดินทางไปประกอบภารกิจทางธรรมยังต่างประเทศเสมอ น่าจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำทางธรรมท่านอื่นๆ มากมาย อยากทราบว่านักบวชชั้นนำทั้งหลายมองโลกปัจจุบันนี้ว่าอย่างไร มีประเด็นไหนที่รู้สึกสนใจหรือเป็นห่วงร่วมกันเป็นพิเศษไหม

     เราก็มองโลกอย่างเป็นห่วงกันนะ เราเป็นห่วงเด็กเจเนอเรชันอัลฟา ซึ่งก็คือเด็กรุ่นอนุบาลในตอนนี้ เพราะกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เติบโตในโลกยุคปัจจุบันที่มีความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง เป็นสังคมที่แคบ สนใจแต่ตัวเอง สนใจแต่เครื่องมือนี้ (หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา) สนใจแต่จะคุยกับใครก็ไม่รู้ที่เขาไม่เห็นหน้า และมีคอมมูนิตี้ของตัวเองอยู่บนเมฆหรือ ‘คลาวด์’ (cloud) อย่างนั้นใช่ไหม คนรุ่นอัลฟาไม่อยากจะพูดกับคน ไม่อยากสบตาคน มีความเป็นตัวใครตัวมันสูงกว่าคนในรุ่นก่อนๆ

     ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลายต่างก็ตระหนักกันดีในเรื่องนี้ว่า โลกปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกสูง ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเราก็ทราบกันดีว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ก็ต้องเริ่มต้นที่ปัจเจก แต่ก็มีผลต่อสังคมโลก คนรุ่นอัลฟาที่ไม่ชอบสบตาคน ไม่ต้องไปเรียนในโรงเรียน ไม่ต้องทำงานนอกบ้าน และมักจะคุยกับใจของเขาเอง แต่คำถามก็คือ เขาจะพึ่งพาหรือหรือเชื่อจิตใจของเขาเองได้ไหม นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เราต้องตีกันให้แตก

     คงต้องบอกว่า ‘เราต้องหาวิธีการที่จะนำเสนอวิธีการที่จะเข้าไปท้าทายคนรุ่นใหม่ แล้วทำให้เขาเป็นนักทดลองที่ศรัทธาในผลแห่งการทดลองที่จะทำให้เขาอยู่กับโลกอย่างคนไม่หลงโลกให้ได้’ เช่น ถ้าคุณมีความสุขอยู่ในปัจจุบันขณะ คุณก็ไม่ต้องไปรอคอยว่าเป้าหมายข้างหน้าของคุณต้องสุข คือคนเรา ‘สุขเมื่อสร้าง ไม่ได้สุขเมื่อเสพ’ หมายถึงสุขอยู่ในปัจจุบันขณะที่คุณกำลังลงมือสร้างคุณก็ถึงความสุขแล้ว คุณไม่ต้องเดินไปหาความสุข แต่คุณเดินอย่างมีความสุขคุณก็สุขแล้ว นี่ค่ะ เราต้องสอนคนรุ่นใหม่กันแบบนี้ ให้เขามีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น

     สุขเมื่อสร้างก็คือสุขเมื่อได้มีการพูดคุยกัน ณ​ ปัจจุบันขณะ สุขเมื่อได้มีการแชร์ แคร์ respect กัน สุขที่ได้สบตากัน ให้อภัยกัน ต้องสุขให้ได้โดยการท้าทายเขา มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเลยนะที่เราจะสอนคนรุ่นนี้อย่างไร เพราะคนเราจะอยู่อย่างตัวใครตัวมันไม่ได้หากไม่สนใจ ไม่เรียนรู้เรื่องความกตัญญู หรือไม่มีสำนึกที่จะมาเสียสละอะไรร่วมกัน

     คุณแม่อยากจะให้รู้ว่า ถ้าคุณไม่สนใจโลกภายในคือหัวใจของคุณ คุณจะไว้ใจตัวคุณเองได้อย่างไร ถ้าคุณไม่สนใจเรื่องหัวใจ ไม่สนใจเรื่องการปฏิบัติที่ใจของคุณ คุณจะเชื่อใจตัวเองได้อย่างไร เพราะถ้าโลกในวันนี้หรือวันข้างหน้าเป็นโลกที่เราไม่คุยกับคนอื่นแล้ว เราก็ต้องคุยกับใจของเราได้สิ คือมันอาจจะเกิดอะไรที่ดีงามขึ้นก็ได้นะ แต่เราต้องท้าทายเขา ให้เขาพัฒนาใจของตัวเองให้ได้ เขาจึงจะพึ่งพาหัวใจของตัวเขาเองได้ เมื่อเขาไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเขาก็ต้องพัฒนาและพึ่งพาหัวใจของเขาให้ได้ แม้เขาจะไม่อยากจะสบตากับคนอื่น แต่เมื่อส่องกระจกทีไรเขาก็จะต้องมองเห็นใจของตัวเอง

 

แม่ชีศันสนีย์

 

ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่เราหลีกหนีจากความสับสนวุ่นวายได้ยาก นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในการดำเนินชีวิตต่อไปเราจึงควรรู้จักที่จะผันพลังจากความทุกข์ความเศร้าให้เป็นพลังในแง่บวก คุณแม่มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร

      พลังงานในโลกนี้มีทั้ง negative และ positive พลังงานเนกาทีฟคือพลังงานเชิงลบ เช่น เสียใจ พอไม่เป็นดังใจก็โกรธ เมื่ออยากได้แล้วไม่ได้ก็อึดอัด ดิ้นรน พลังงานเชิงลบนี้ทางพระพุทธศาสนาเราเรียกว่า ‘อกุศล’ นั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่น ราคะ เช่น เราก็ปรารถนาให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจของเรา แต่พอไม่เป็นดังนั้นแล้วเราก็โกรธ อันนี้เป็นโทสะ หรือเวลาลังเล เคยเห็นตัวเองเวลาลังเลไหม ขี้สงสัย ไม่แน่ใจ อันนี้เป็นโมหะ

     พลังงานฝ่ายเนกาทีฟก็มีราคะ โทสะ โมหะ ถ้าเราจะผันพลังงานเหล่านี้ เมื่อเราเห็นราคะเราต้องละให้ได้เร็ว ถ้าเราเห็นโทสะเราต้องบรรเทาให้ได้เร็ว คือมันมาเพื่อให้เราเติบโตให้ได้เร็ว ถอนอวิชชาให้ได้เร็ว ถอนความไม่รู้ หรือรู้มากแต่รู้ผิด อย่างนี้มันก็กลับเป็นฝ่ายกุศล เพราะละราคะได้ ราคะเบาบาง ก็กลายเป็นคนที่มีความเพียรที่จะทำกุศลที่ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้นมาได้ มันจะมีที่ว่างขึ้นมาทันที กุศลนี้ก็เป็นพลังงานฝ่ายโพสิทีฟ

     ทีนี้มันมีพลังงานอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็สอนให้เราละอกุศล ทำกุศลที่ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น แล้วก็ยังมีพลังงานอีกอันคือการรักษาใจให้ ‘ขาวรอบ’ ก็คือไม่เพลินฟูเพลินแฟบ ถ้าเห็นว่าทั้งฟูทั้งแฟบเป็นอนิจจังทั้งนั้น ทั้งชอบทั้งชังเป็นอนิจจัง ไม่เพลินชอบเพลินชัง เพราะเห็นว่าทั้งชอบทั้งชังเป็นอนิจจังก็ลอยตัวขึ้นมาเหนือความชอบชัง นี่คือขาวรอบ พลังงานอันนี้คือพลังงานของอริยชน

 

แม่ชีศันสนีย์

 

หมายถึงไม่ยึดติดอย่างนั้นหรือเปล่า

     ถูกต้อง คือถ้ามีราคะก็จะอยากได้ อยากมี อยากเป็น พอมีอะไรที่ไม่เป็นไปดังใจก็ไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็น พวกนี้เป็นตัณหาทั้งสิ้น พอเราไม่ไปคลุกคลีกับมัน พูดง่ายๆ คือ ถ้าอะไรถูกใจก็ชอบ ไม่ถูกใจก็ชัง แต่ถ้าเราเห็นว่าทั้งชอบทั้งชังมันก็มาแป๊บๆ เหมือนสายฟ้าแลบ จ๊ะเอ๋ บ๊ายบาย มันมาเร็วไปเร็ว มันก็อยู่เหนือชอบชัง พออยู่เหนือชอบชังเพราะเห็นว่ามันอนิจจังทั้งนั้น อันนี้บริสุทธิ์ ตั้งมั่น มีกำลังควรกับการงาน อันนี้มันเป็นสัมมา เป็นความถูกต้องที่เราต้องพัฒนาไปให้ถึง ถ้าเราอยู่ในภาวะขาวรอบได้ เราก็จะกลายเป็นคนที่ทรงพลังเพราะว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเราที่สุจริต ไม่ว่าจะคิดจะพูดคำไหนไม่มีใครทุกข์ยากเลย

     และเราก็จะกลายเป็นคนที่มีสัจจะ ความรับผิดชอบ มีสำนึกที่จะมีความสุขอยู่บนความถูกต้อง ไม่ใช่ความสุขบนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัวที่ทำให้ใครต่อใครเจ็บปวด อันนี้เป็นอริยชนเลย หมายถึงชนที่ห่างไกลจากกิเลส หรือประเสริฐ ถ้าถามว่าอนุสาวรีย์ที่มีชีวิตในระดับของอริยชน ก็เป็นได้ถึงประเสริฐแบบนี้เลยนะ จากการทำดีแล้วไม่ติดดี ทำดีแล้วปล่อยดี ไม่เอาดีของฉันมาอวดว่าดีของฉันดีกว่าดีของเธอ จะกลายเป็นคนที่แบบ… คือแม่มองโลกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สวยงาม งดงาม งอกงาม ซึ่งงอกงามนี่คือสติปัญญา เวลาเรามองเห็นสวยงามก็คือตามกิเลส พองดงามก็เห็นว่ากิเลสมันก็ไม่เที่ยง แต่พอเราเห็นว่าใจของเราที่มันไม่จมกับกิเลส มันมีสติปัญญาที่จะทำอะไรที่มันอยู่เหนือดีเลย ไม่ใช่ติดดี ทำดีแล้วปล่อยดี เป็นอิสระจากดี คืองอกงาม ทั้งสามงามนี้ เป็นอะไรที่เราท้าทายตัวเองได้