สำหรับคุณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีความหมายอย่างไร?
บางคนอาจใช้เป็นที่กลับรถ บางคนอาจเป็นทางผ่านระหว่างไปเรียน และบางคนอาจเคยนั่งอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
ขณะที่ประวัติศาสตร์ได้ทำหน้าที่สร้างภาพจำให้คนในสังคมรับรู้ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เคยถูกเสนอให้สร้างพระบรมรูปของรัชกาลที่ 6 มาก่อน แถมเมื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างเสร็จ มันก็ยังคงถูกผูกขาดการใช้งานโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการสวนสนาม ตลอดจนงานพระราชพิธี จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ผศ. ดร. มาลินี คุ้มสุภา คือผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียด พร้อมเขียนหนังสือ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น’ ซึ่งได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ปี 2549 ปัจจุบัน เธอเป็นหัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มาของการเขียนหนังสือเล่มนี้ต่อยอดมาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเธอเมื่อปี 2540 ที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาได้ไม่นาน ประสบการณ์เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมครั้งนั้นทำให้เธอสนใจอยากค้นหาความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ซ่อนเร้นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและประชาชนอย่างไร
บทสนทนาในวันนี้เกือบสองชั่วโมงเต็มจึงอัดแน่นด้วยเรื่องของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ผูกโยงกับกระบวนการประชาธิปไตยในสังคมไทย บริบททางการเมืองไทยที่เล่าผ่านตัวอนุสาวรีย์ฯ รวมถึงคุณค่าทางจิตใจที่อนุสาวรีย์นี้ทำงานร่วมกับประชาชนในฐานะ ‘ความหวัง’
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงมีความหมายมากกว่าที่หลายคนคาดคิด
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ช่วงที่ศึกษาเรื่องนี้มีอยู่ 2 ช่วง คือช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ และช่วงที่ปรับเป็นหนังสือ ถ้าเป็นช่วงที่ศึกษา เป็นปี 2540 หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งเราก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หลังจากนั้นเมื่อได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความทรงจำของเดือนพฤษภาคมก็คงยังอยู่ในใจเรา เมื่อคิดถึงเรื่องที่จะทำวิทยานิพนธ์ เราเลยนึกถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมา และช่วงนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนของการผลักดันรัฐธรรมนูญ มันก็เป็นไปตามกลไกอยู่แล้ว เราเลยคิดอยากจะศึกษาอะไรในเชิงความรู้สึก ก็เลยเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะอยากรู้ว่ามันมีความสัมพันธ์กันไหม แล้วอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสามารถโน้มน้าว สามารถสร้างสปิริตแบบนี้ขึ้นมาได้ไหม พอศึกษาก็พบว่ามีความน่าสนใจหลายอย่างเลย
ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกของการสร้างที่ไม่ได้สร้างขึ้นในปี 2475 แต่สร้างในปี 2481 เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปุ๊บถึงไม่มีหลักฐานอะไรที่แสดงถึงสิ่งนั้นเลย ปรากฏว่าหลักฐานที่สำคัญกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือ หมุดคณะราษฎร เพราะเกิดและสัมพันธ์กับสถานที่ที่คณะราษฎรประกาศ ดังนั้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่หลักฐานของคณะราษฎร แต่เป็นเรื่องของประชาธิปไตย
เป็นเรื่องของประชาธิปไตยในแง่ไหน
เรื่องหนึ่งที่เราค้นพบหลังจากเขียนหนังสือจบไปแล้ว คือคณะราษฎรหรือคนที่เรียนกฎหมายในสมัยก่อนเขารู้สึกมากๆ กับการที่เราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตอนปี 2481 ปรีดี พนมยงค์ ได้เจรจากับประเทศต่างๆ ในยุโรป จนเราสามารถแก้ไขสนธิสัญญาลงได้ จึงเท่ากับว่าเอกราชของเราสมบูรณ์
ดังนั้น หลักข้อที่หนึ่งของคณะราษฎรในเรื่องของเอกราชจึงสมบูรณ์ในปี 2481 เลยมีการสร้างอนุสาวรีย์ที่จะบ่งบอกว่าประเทศมีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่โดยการมีหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นตัวชี้นำ (เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) ดังนั้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงโน้มนำไปสู่หลัก 6 ประการ ซึ่งแต่ละข้อจะมีแกะสลักไว้อยู่ที่ตัวของอนุสาวรีย์ฯ เราจึงเข้าใจแล้วว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นสำคัญกว่าการที่จะบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของคณะราษฎร แต่เป็นเรื่องของประเทศที่มีเอกราชที่สมบูรณ์ เพื่อแสดงออกว่าเรามีสิทธิสภาพ เรามีกฎหมายที่เท่าเทียม เราเป็นอารยประเทศแล้ว ดังนั้น อนุสาวรีย์นี้จึงสร้างเสร็จในปี 2483
ปรากฏว่าพอสร้างอนุสาวรีย์เสร็จ การถูกใช้งานในพื้นที่กลายมาเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มความหมายของมัน ความหมายที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ เป็นการสร้างโดยรัฐ เพราะถูกใช้สำหรับเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเนื่องในวันชาติ แต่พิธีกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการสวนสนาม เรื่องของการทหาร เพราะในสมัยจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับความเป็นชาติมาก ดังนั้น อนุสาวรีย์จึงมีความหมายผูกติดอยู่กับความเป็นชาติ
แต่จุดเปลี่ยนเกิดในปี 2516 เมื่อภาคประชาชนออกมาต่อสู้จนการชุมนุมล้นออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับมีการเคลื่อนขบวนเดินเข้ามาสู่ถนนราชดำเนิน จึงใช้อนุสาวรีย์ฯ เป็นจุดพักในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา และมีคนชุมนุมเอาศพของวีรชนขึ้นไปผูกไว้บนพานอนุสาวรีย์ มีผู้คนจำนวนมากไปรวมกันอยู่ที่นั่น คำว่าประชาธิปไตยที่อาจจะยังไม่ได้ฝังรากลึก จึงถูกภาพที่ถ่าย ถูกชีวิตของคนที่มาต่อสู้ กำหนดแทนความหมายเดิม เหตุการณ์นี้จึงทำให้ความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคลื่อนจากสิ่งที่ผูกติดกับชาติ ถูกแทนที่ด้วยความหมายที่ประชาชนในสังคมสร้างขึ้นมาเอง ผ่านการต่อสู้เพื่อจะให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยจริงๆ ซึ่งภาพพวกนี้ก็ถูกผลิตซ้ำมากมาย แต่ไม่ได้มีใครจงใจนะ มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าการสร้างความหมายผ่านวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาเอง
หลังจากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา, พฤษภาคม ปี 2535 การต่อสู้ก็วนมาเกิดขึ้นที่ราชดำเนินอีกครั้ง และก็เกิดความรุนแรงอีก ดังนั้น พื้นที่ตรงราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงถูกแทนที่ด้วยความหมายที่ประชาชนสร้างขึ้นมาด้วยการชุมนุมทางการเมืองถึง 2 เหตุการณ์ แม้แต่ในการชุมนุมปี 2557 ก็ยังมีการใช้พื้นที่บริเวณนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น หลังจากปี 2540 ที่เราเขียนหนังสือขึ้นมา เราเลยฟันธงว่าพื้นที่นี้ราชการไม่น่าจะใช้แล้ว คงไม่มีใครมายืนตรงนี้ได้นอกจากประชาชน คงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหน คงไม่มีกษัตริย์องค์ไหนที่มายืนตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและมาประกอบพิธีกรรมอะไรที่เป็นทางการอีกแล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเลยมีความพิเศษตรงที่ประชาชนร่วมกันสร้างความหมายนั้นขึ้นมาแล้วก็รับความหมายนั้นไว้ แล้วความหมายนั้นก็เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยจริงๆ ด้วย เพราะว่าชื่อของอนุสาวรีย์ฯ เปิดให้คนที่มาใช้รู้สึกว่าไม่ได้มาต่อต้านประชาธิปไตยอะไร ท้ายที่สุดคนที่มาใช้ก็จะใช้ความหมายของอนุสาวรีย์ในการเป็นสัญญะบอกกับสังคมว่าเขาต้องการอะไร เราเลยรู้สึกว่ามันมีพลัง ถึงช่วงหนึ่งคนจะพูดกันว่าอนุสาวรีย์ฯ เป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีความหมายอะไร แค่สร้างไว้เป็นกองซีเมนต์กองใหญ่ แต่เราก็พยายามทำให้เชื่อว่ามันมีความหมาย ความหมายที่ว่ามันกันอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนออกไป หรือกันอะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยออกไป
ทำไมภาพที่รัฐเคยใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการทำพิธีต่างๆ ไม่ค่อยมีเผยแพร่ออกมา และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา รัฐก็ไม่กลับไปใช้พื้นที่ตรงนี้อีกเลย
อย่างแรกน่าจะเป็นเพราะชื่อ ซึ่งมันสะท้อนว่ารัฐเรามีทัศนะกับความเป็นประชาธิปไตยแบบไหน ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็นองค์กรรัฐและเป็นประชาธิปไตย คุณจะไม่ส่งเสริมอนุสาวรีย์นี้เหรอ อาจจะต้องจัดประกวดคำขวัญ มาช่วยกันวิเคราะห์ว่าเอกราชคืออะไร แต่มันไม่เคยมี ฉะนั้น ก็สะท้อนอำนาจรัฐอยู่แล้วว่าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยไหม ในเมื่อชื่อมันเปิดอยู่แล้ว แต่คุณไม่มาใช้ก็แสดงออกถึงอะไรล่ะ สอง คือรัฐเองก็ยอมรับกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของประชาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่เขาพยายามสร้างความหมายขึ้นมา โดยที่รัฐไม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ได้ เพราะอำนาจรัฐไม่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกับประชาชน ถ้าจะมาใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันก็ดูไม่เข้ากับพื้นที่ เราว่าแค่สองข้อนี้ก็สอบตกแล้ว แต่เป็นเรื่องดี เพราะเมื่อใดที่รัฐเข้ามาสร้างประชาธิปไตยเองโดยที่ประชาชนไม่ได้สร้างขึ้นมา ก็อาจจะแห้งๆ และไม่จริง แต่ถ้าประชาชนสร้าง คุณอย่าไปขัดขวางเขาก็พอ ให้เขาทำเลย
แต่ก็ดูจะมีการช่วงชิงการเป็นระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่เสมอ เห็นได้จากที่ในยุคแรกที่รัฐเป็นเจ้าของพื้นที่ หลังจากนั้นมาเป็นของประชาชน และปัจจุบันรัฐก็พยายามที่จะกีดกันประชาชนในการเป็นเจ้าของพื้นที่จากการใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมฯ
อย่างแรกเลยชื่อของเขามีพลัง ด้วยความอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม สอง คือโลเคชัน ถนนราชดำเนินที่ตัดขึ้นไปเพื่อเป็นจุดเชื่อมระหว่างพระราชวังใหม่และพระราชวังเก่านั้นทำให้มีความกว้างใหญ่พอสมควร สามารถจุผู้คนได้จำนวนมาก และใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ การที่ปี 2516 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฉีกขาดออกจากการใช้ของรัฐหรือของราชการนั้น มีที่มาจากการเคลื่อนย้ายพื้นที่จากบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือบริเวณสนามหลวงไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ ฉะนั้น โลเคชันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงค่อนข้างเหมาะที่จะรองรับการใช้ในการต่อสู้
สาม คือความทรงจำ เมื่อความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์ไม่ได้ถูกสร้างด้วยทางการแล้ว แต่เป็นการสร้างจากประชาชน ไม่ได้มีข้าราชการคนไหนมาบอก หรือมีใครมากำหนดว่าให้มารวมตัวกันที่ตรงนี้ แต่การชุมนุมขับเคลื่อนเอง ประชาชนเลือกที่จะใช้พื้นที่เอง ประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์จึงถูกปิดผนึกไปด้วยความเป็นประชาธิปไตย ทุกคนเลยไม่รู้สึกแปลกที่จะมาใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับชุมนุม ดังนั้น พลังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เลยมีหลายเหตุผล ตั้งแต่ชื่อ พื้นที่ และความทรงจำ
นัยยะหนึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจไหม การช่วงชิงระหว่างรัฐกับประชาชนก็เหมือนการช่วงชิงอำนาจของประเทศ
คิดว่าใช่ค่ะ มันเป็นการต่อสู้กันอยู่แล้ว อย่างที่บอก ช่วงแรกถูกใช้ด้วยราชการ และช่วงสองถูกช่วงชิงมาโดยการต่อสู้ของกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน ดังนั้น มันสู้ในระยะยาว แต่ในตอนนี้มีการเผชิญหน้ากันในบางจุด เช่น ไม่ห้ามแต่เอากระถางต้นไม้มาวางไว้
เมื่อพูดว่าต่อสู้ต้องมีการวัดกันว่าใครจะเป็นฝ่ายปราชัย ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ท้ายที่สุดวันหนึ่งชัยชนะเป็นของฝ่ายใด ทุกคนจะยอมรับว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป เพราะพื้นที่ทางการเมืองไม่เคยเปิดโอกาสให้คนแสดงเจตนารมณ์ หรือให้คนแสดงออกได้มากพอ ทั้งในสภาหรือในที่อื่น มันไม่ได้มีพื้นที่ให้เขาได้ใช้ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นเวทีของการต่อสู้ที่จะยังไม่จบสิ้น ตราบใดที่เรายังไม่มีระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง เราจะเอาพื้นที่ไหนบอกเสียงเจตนารมณ์ของผู้คน นอกจากพื้นที่ตรงนี้ คนถึงออกมาพูดเพื่อแสดงออกเจตนาของพวกเขา
เราจึงศึกษาเรื่องความทรงจำที่มีส่วนสำคัญมากในการสร้างกระบวนการประชาธิปไตย เพราะการปกครองที่เปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรยังไม่จบสิ้นจนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ความเป็นประชาธิปไตยของไทยยังไม่ได้ถูกผลิตซ้ำ หนังสือก็ยังไม่เคยพูดถึงคณะราษฎรในทุกแง่มุม ไม่ได้สนับสนุนให้มีการค้นคว้าว่ามีอะไรบ้าง กระบวนการที่ยังไม่จบสิ้นจึงเป็นการสร้างความทรงจำร่วมในรูปของประวัติศาสตร์ ดังนั้น กระบวนการสร้างความทรงจำร่วมจึงเกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมือง เผลอๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการสร้างความทรงจำของประชาชนด้วย เพราะมันง่าย อย่างช่วง 14 ตุลา พอเล่า คนก็เห็นภาพ ถัดมาจากนั้น 10 ปี มีเหตุการณ์ 2535 คนก็ออกมา และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็อยู่ตรงนั้น คนจึงแทบไม่แคลงใจ เพราะอนุสาวรีย์ฯ มันมีความหมายไปพร้อมๆ กับประชาธิปไตย
อันนี้แหละเป็นความทรงจำร่วม ยิ่งเราปล่อยให้กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งอาจจะมีความทรงจำร่วมกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อได้รับการยอมรับของคนในสังคม มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประชาชน พวกเราสร้างกันเองโดยไม่ได้มีใครชี้นำ แล้วเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็น fact ไม่ใช่ fake อย่างหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ เราได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ค่อนข้างดี ถึงมันจะอยู่ไม่ได้ไม่นาน แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากพวกเราทุกคน ถ้าเป็นแบบนี้คนจะเริ่มเรียนรู้กระบวนการของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ต้องไปหวังนายกรัฐมนตรีคนไหน
ทุกวันนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีคุณค่าทางจิตใจกับคนไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพจำเหล่านั้นที่ถูกส่งต่อกันมาด้วยหรือเปล่า
ใช่ค่ะ เป็นเพราะภาพจำ เราบอกได้เลยว่าประวัติศาสตร์ทุกวันนี้ถูกเล่าด้วยภาพ มันไม่ใช่แค่เรื่องเล่า ไม่ใช่เเค่การเขียนแล้ว ภาพจึงสำคัญมาก อย่างภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก คนรุ่นหลังเห็นเขาก็จะฉุกคิดว่ามันเกิดอะไร แล้วเขาจะรู้ว่าเราเคยต่อสู้ เคยเรียกร้องรัฐบาล เคยมีกระบวนการเหล่านี้ ไม่ใช่มีแต่การปกครองด้วยอำนาจนิยมอย่างเดียว ฉะนั้น ภาพจำจึงมีพลังมากในการบอกเล่าเรื่องราวและส่งต่อเรื่องราวนั้นไปถึงกันและกัน
มีการใช้ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแทนความหมายของประชาธิปไตยในสื่อต่างๆ ด้วย นี่ถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยหรือเปล่า
สิ่งเหล่านี้คือการประกอบสร้างของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะเวลาที่เขาพูดถึงประชาธิปไตย เขาไม่รู้จะใช้สัญลักษณ์อะไรมาใช้เป็นตัวแทนของประชาธิปไตยดี ท้ายที่สุดมักจะจบที่การใช้ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้แบบมีคนหรือไม่มีคนนะ ถ้าเป็นทางการ ในบัตรเลือกตั้งหรือหนังสือเรียนก็จะภาพอนุสาวรีย์ฯ ที่ไม่มีคน แต่ถ้าเป็นฝั่งประชาชนหน่อยก็จะใช้ภาพอนุสาวรีย์ฯ ที่มีคนชุมนุมอยู่ด้วย
วาทกรรมของการใช้ภาพหรือใช้ข้อความ ทุกอย่างเหล่านี้มันช่วยกันประกอบสร้างความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมา เราเลยใช้ชื่อหนังสือว่า ‘ความหมายที่มองไม่เห็น’ เพราะมันเป็นความหมายที่ถูกสร้างด้วยหลายๆ เรื่องที่มาประกอบโดยไม่ใช่การสร้างด้วยตัวมันเองนะ และไม่ใช่ทางการจะมาสร้างได้อย่างเดียว แต่ผู้คน เรื่องราว เวลา กาลเวลา และเหตุการณ์ช่วยกันสร้างขึ้นมา แล้วมันเคลื่อนมาสู่ความใกล้กับความหมายที่จะสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคมได้ค่อนข้างดี เวลาเราพูดถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับประชาธิปไตยไทย เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันไม่ใช่
อีกในนัยชื่อของอนุสาวรีย์ก็สร้างความหมายขึ้นมาด้วยตัวมันเองใช่ไหม
ด้วยชื่อ ด้วยโลเคชันของเขา เราก็เลยหวังใจว่าโลเคชันนี้จะไม่ถูกเปลี่ยนไปเพราะถ้าหากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตั้งที่อื่นอาจจะไม่เกิดความสำคัญ ความหมายก็อาจจะไม่หนักแน่นเท่าตั้งอยู่ตรงนี้ ดังนั้น มันมีความหมายที่เราต้องช่วยกันประคับประคอง ถ้าเปรียบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งมีชีวิต เขาก็ทำหน้าที่ได้ดีเลยในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการประชาธิปไตยไทย ถ้าจะให้ดีต่อไป เราต้องสร้างความเข้มข้นให้พื้นที่นี้ใกล้ชิดกับประชาธิปไตยไปได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ให้เป็นหมุดหมายสำคัญที่คนจะนึกถึงการต่อสู้หรือเป็นสถานที่ที่คนได้นึกถึงตลอดไป มันไม่ควรถูกทำลายไป ไม่ควรถูกจัดการด้วยใครหรืออำนาจใดๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต้องส่งผ่านถึงคนรุ่นต่อๆไป เพราะความทรงจำตรงนี้มันอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร
ในหนังสือมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่พบว่าหลังมีการปฎิวัติ 2475 คนยุคนั้นยังไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตย จึงมีการใช้คำว่ารัฐธรรมนูญเพื่อบ่งบอกการปกครองที่เปลี่ยนไปแทน แต่ทำไมเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ถึงเลือกจะใช้ชื่อว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แทนที่จะเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ
สมัยนั้น สิ่งแรกที่คนนึกถึงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนจะยังไม่คิดถึงคำว่าประชาธิปไตย แต่จะนึกถึงคำว่ารัฐธรรมนูญ เพราะเป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแรกๆ ก็ใช้พานรัฐธรรมนูญ แต่เหตุผลที่ไม่ใช้ชื่ออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเพราะงานวันชาติได้สร้างพานรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว ตัวพานรัฐธรรมนูญจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมือนเป็นใบเบิกทางระบอบใหม่ รัฐก็พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนในสังคมรับรู้ว่าเป็นแบบนั้น แล้วก็อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่ามีเรื่องของเอกราชมาเกี่ยวข้องด้วย
ถ้าหากวันหนึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกทำลายลงอะไรจะเกิดขึ้น
เราคิดว่าจะมีการต่อสู้ให้ได้กลับมา ถ้ามีสัญญาณว่าจะไม่มี ยังไงก็ต้องมีการต่อสู้กันแน่ๆ เพราะเราเชื่อมั่นว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ประชาชนคงไม่ยอมให้ถูกทำลายลงง่ายๆ ตอนที่เราเขียนหนังสือจบในปี 2540 นั้น เรายังไม่สามารถทำนายได้ว่าประชาชนจะมาใช้พื้นที่ตรงนี้มากขึ้นไหม แต่หลังจากนั้นการชุมนุมก็ไปจัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่เรื่อยๆ อาจจะบอกได้ว่าอนุสาวรีย์ฯ เป็นทั้งความหลัง เป็นทั้งที่พึ่งในการบอกเจตนารมณ์ของสังคม คนที่ยอมรับกับความหมายชุดนั้นไปแล้ว เขาจะไม่ยอมให้ความหมายอื่นมาแทนที่ เพราะความหมายนั้นพวกเขาสร้างมาด้วยตัวพวกเขาเอง เราเลยค่อนข้างเชื่อว่าพลังของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพลังของการต่อสู้เพื่อความหมายที่มีนัยสำคัญพอๆ กับการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องอื่นๆ ด้วย
ความหมายของ ‘ประชาธิปไตย’ ที่เราเรียกร้องกันอยู่คืออะไร
ประชาธิปไตยของกลุ่มหนึ่งก็จะมีความหมายแบบหนึ่ง ถ้าเราพูดถึงความหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสมัยจอมพล ป. ก็จะไม่เชื่อมโยงกับทุกคน เพราะมันไม่ได้ส่งผ่านไปถึงคนในสังคมให้เกิดความรู้สึกร่วม แต่ถ้าพูดถึง
ประชาธิปไตยในความหมาย 14 ตุลา คนนึกออก เพราะคนจำได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงตรงนี้ จำได้ว่าเขาเรียกร้องอะไร ดังนั้น ความหมายของประชาธิปไตยที่สามารถทำให้ทุกคนเห็นตรงกันได้จึงเป็นความหมายที่เกิดจากภาคปฏิบัติในเชิงวัฒนธรรมโดยการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยร่วมกัน อย่างการชุมนุมล่าสุด เราจะเห็นความหลากหลายที่แต่ละคนออกมาเรียกร้องประเด็นต่างๆ ของกลุ่มตัวเอง พื้นที่แบบนี้แหละที่สร้าง collective memories หรือความทรงจำร่วมกันขึ้นมา
สำหรับเรา คำว่าประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้ถูกระบุว่ามันมีความหมายอะไร แต่เป็นเรื่องของการได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน เมื่อมีพื้นที่เหล่านั้นเกิดขึ้น เขาก็จะสร้างชุดความหมายกันขึ้นมาเอง เช่น เรามีโจทย์ว่าเราอยากมีรัฐธรรมนูญที่ทุกคนพอใจ การเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เขาได้พูดและเอาสิ่งที่เขาพูดไปใส่ไว้ในกติกาที่มีร่วมกัน ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญก็จะมีความเป็นประชาธิปไตยที่รวมคนที่มีหลากหลายเข้ามารวมกัน ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้เราอาจจะไม่ต้องมานั่งถามแล้วว่าประชาธิปไตยมีความหมายว่าอะไร เพราะว่าเราช่วยกันสร้างขึ้นมาจนรู้สึกว่าเป็นสมบัติของทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนร่วม
เท่ากับว่าความหมายของประชาธิปไตยก็มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ใช่ค่ะ ในทางทฤษฎีเรียกว่าเป็นวาทกรรม เพราะมันเป็นวาทกรรมของการต่อสู้ช่วงชิงกัน แล้วแต่ชุดไหนจะเข้ามาเป็นชุดหลัก ยกตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยในหนังสือเรียน ก็เป็นประชาธิปไตยที่ถูกตั้งใจบอกเป็นแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เกิดแบบนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากใครที่มากำหนด หรือบอกความหมาย แต่มันเกิดจากการสร้างร่วมกัน แล้วทำให้มันเกิดความหมายด้วยตัวของมันเอง
สำหรับคุณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีความหมายต่อตัวคุณเองอย่างไร
บ้านเราอยู่ศิริราช ก็เลยอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ตรงนี้พอสมควร แต่นอกเหนือจากนั้นมันยังเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ทางการเมืองจริงๆ ของเราด้วย เพราะเราเรียนรัฐศาสตร์ แม้จะมีการทำกิจกรรมอะไร แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองก็มีแค่นั้นสำหรับเด็กอายุ 19-20 ปี แต่การได้มาชุมนุมตรงนี้ ได้นั่งบนถนนเส้นนี้ ทำให้เราได้มีประสบการณ์จริงๆ ได้รู้ว่าพื้นถนนมันร้อนมากขนาดไหน เราเลยรู้สึกผูกพันว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและพื้นที่ตรงนี้ให้บทเรียนทางการเมืองที่เป็นห้องเรียนจริงๆ ของเรา
ถ้าเขาบอกว่าประชาธิปไตยคือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง เราก็ได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการได้นั่งอยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมันมีนัยยะว่าฉันได้อยู่ใกล้กับความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ และฉันก็ต่อสู้จริงๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือการใช้ความรุนแรงในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ตอนที่มีการยิงกระสุนนัดแรกๆ เราอยู่บนสะพานมัฆวานรังสรรค์ ก็ได้เห็นแสงไฟที่มาจากอาวุธปืน ได้เห็นคนที่หมอบราบไปกับพื้นเพื่อป้องกันชีวิตของเขา ได้เห็นเด็กที่พลัดหลงจากพ่อแม่ เราก็ต้องดูแลเด็กเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น เราก็เลยต้องหนีกระสุนด้วย ต้องดูแลเด็กด้วย ซึ่งตอนนั้นผิดหวังมาก เพราะเจตนารมณ์ของคนที่ชุมนุมไม่มีความรุนแรงเลย คนที่นั่งอยู่ในถนนไม่มีใครมีอาวุธมา ไม่มีใครพร้อมจะไปฆ่าใคร แต่รัฐเลือกที่จะใช้กระสุนจริงในการปราบประชาชน
เราก็ได้เรียนรู้การใช้อำนาจรัฐจริงๆ ว่ามันไม่ได้สวยงาม และไม่ได้เป็นไปตามตำราทั้งหมด ไม่ใช่ว่าฉันนั่งต่อสู้เดี๋ยวรัฐบาลก็ต้องฟัง เดี๋ยวรัฐบาลจะทำตามการเรียกร้องของเรา และเราก็จะได้ชัยชนะ มันไม่ใช่แบบนั้น ท้ายที่สุดก็จบที่การใช้กำลัง ดังนั้น มันมีทั้งความหวังและความเจ็บปวดไปด้วยพร้อมๆ กัน เราก็เลยรู้ว่าการเมืองมันไม่ได้มีคำตอบเดียว มันไม่ได้โลกสวยอย่างเดียว เพราะมันมีความรุนแรงที่อยู่ตรงนั้น อย่างไรก็ตามมันก็คือการเมือง มันก็คือรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ในชีวิตของเราจริงๆ
มันเป็นอะไรที่เหนือกว่าที่คาดคิดใช่ไหม
ใช่ค่ะ ไม่ได้คิดเลย เรานั่งด้วยความหวังต่อเนื่อง 3 วัน นัดเพื่อนเย็นนี้เดี๋ยวเรามาเจอกันที่ราชดำเนินแล้วอยู่ดึกๆ นะ จำได้ว่าโทรศัพท์หาแม่ตอนดึกว่าจะกลับบ้าน แม่บอกไม่ต้องกลับหรอก กลับมาก็อันตราย อยู่ตรงนั้นแหละปลอดภัย มีคนเยอะแยะ ถ้านั่งแท็กซี่มาอาจจะโดนทำร้ายอะไรได้ เราเลยไม่ได้คิดไง แต่พอเขายิงมา ความหวังมันสลายมาก
ทุกอย่างเริ่มขึ้นตอนตี 4 เหมือนผู้นำเขาน่าจะรู้สัญญาณอะไรบางอย่าง ขณะที่คนชุมนุมไม่รู้เรื่อง ยืนร้องเพลงกันอยู่เลย ร้องเพลงยังไม่ทันจบปืนก็ยิงเข้ามา ทุกคนเลยกระเจิดกระเจิงหมด เราหนีไปแถวบางลำพู ต้องหมอบไปพื้นถนนที่มีกลิ่นฉี่อยู่แถวนั้น เราไม่คิดเลยว่าจะมีการใช้กำลัง คิดแค่ว่าต้องมีการเจรจา มีการยื่นข้อเสนอต่อรองกันก่อน เพราะเคยมีบทเรียนในประวัติศาสตร์เรื่องการใช้กำลังแล้วว่ามีความเสียหายขนาดไหน เราควรจะก้าวไปข้างหน้ากันได้แล้ว แต่ปี 2553 ก็ยังเกิดขึ้นอีก มันเลยมีทั้งความผิดหวังและความเจ็บปวดที่เกิดจากรัฐทำกับประชาชน
เป็นห่วงหรือกังวลกับการชุมนุมของเยาวชนในปัจจุบันไหม เพราะพวกเขาก็มาต่อสู้ด้วยความหวังด้วยความไม่คาดคิดว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงเหมือนกัน
เป็นห่วงค่ะ เด็กเหล่านี้เป็นผลผลิตที่เกิดในสังคมเรา เขาจะคิดอะไรหรือเสนออะไร ผิดหรือถูก มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าจะพยายามให้สิ่งเหล่านี้พัฒนาไปในแนวโน้มที่ไม่ให้เกิดความรุนแรงก็ต้องเริ่มจากการฟังเสียงของพวกเขา ให้มองเขาเป็นลูกหลาน อย่ามองเขาเป็นศัตรูหรือมองเป็นคนอื่น เพราะเขาเป็นเยาวชนที่เกิดขึ้นมาในสังคมเรา ถ้าเขาจะบอกว่าไม่ดี ก็ต้องถามว่าพวกเราทำดีขนาดไหนเขาถึงมาบอกแบบนี้ หรือเขาตั้งคำถามอะไร เราไปทำอะไรให้เขาหรือเปล่า
อุดมคติของการมาสร้างรัฐขึ้นมาในการปกครองก็เพราะเราเชื่อว่ารัฐจะสร้างสิ่งที่ดี ดังนั้น การต่อสู้ที่เด็กๆ กังวลกับอนาคต มันเป็นคำถามใหญ่ ที่ไม่ควรให้เขาจะมาตอบเอง ควรเป็นคำตอบที่ทุกคนต้องมาตอบว่า ทำไมเด็กๆ กังวลขนาดนี้ เราต้องมานั่งคิดแล้วว่า เราทำอะไรผิดให้เขากังวลขนาดนี้
ฉะนั้น ต้องมีกระบวนการที่จะฟังพวกเขาเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เรากลับไม่ได้มีกระบวนการแบบนี้ พอไม่ฟังเขา เด็กก็ยิ่งเพิ่มดีกรีการส่งเสียงว่าเขาต้องการอะไร เลยนำมาสู่การใช้พื้นที่ชุมนุมแบบนี้ เพราะเสียงของเขาไม่ได้ถูกรับฟังเลย
เราเลยมีความกังวล แต่ยังหวังว่ากระบวนการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ในปี 2553 จะช่วยให้ไม่เกิดการใช้กำลังอีก เพราะปี 2535 กับปี 2516 มันผ่านมานานมาก ความทรงจำอาจจะพร่าเลือนไปว่าการใช้กำลังมันสูญเสียอย่างไร แต่ในปี 2553 ยังเพิ่งเกิด ความรุนแรงยังสดอยู่ แล้วการชุมนุมในครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมาตรงที่ว่าเป็นเด็กนักเรียน ถ้ามีการใช้กำลังกับเด็กวัยเท่านี้ มันเป็นความทารุณ มันเป็นความอำมหิตเลย เพราะฉะนั้นรัฐน่าจะมีบทเรียนจากประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 และต้องแยกแยะว่าผู้มาชุมนุมคร่าวนี้ไม่ได้เหมือนเดิม เขาเป็นเยาวชนที่อายุยังน้อยอยู่ เขาพร้อมที่จะเติบโต เขาไม่ควรจะต้องมาเสียชีวิตหรือใช้กำลังกับเขาให้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ด่างพร้อย