มารีญา พูลเลิศลาภ

มารีญา พูลเลิศลาภ ในวันที่ไม่ได้สวมมงกุฎ กับชีวิตบทใหม่ที่ลุกขึ้นมาออกแบบอนาคตตัวเอง

ภาพนางงามในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร? 

        สวย เพียบพร้อม รักเด็ก  

        สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงภาพจำในมุมเดียวที่ถูกส่งต่อๆ กันมา แทบไม่มีใครเคยรู้เลยว่าหลังลงจากเวที คนที่เราเรียกว่านั้น ‘นางงาม’ แท้จริงแล้วตัวตนของเขาเป็นคนอย่างไร

        สำหรับ มารีญา พูลเลิศลาภ ทุกคนรู้จักเธอดีในฐานะ Miss Universe Thailand  แต่วันที่เราได้พบกับเธอนั้น นอกจากความสวยที่เด่นฉายมาแต่ไกลแล้ว ตัวตนจริงๆ ของเธอกลับลบภาพนางงามแบบเดิมออกไปอย่างหมดสิ้น

        เธอไม่ได้เดินเข้ามาด้วยรองเท้าส้นสูง 6 นิ้ว แต่สวมรองเท้าผ้าใบพร้อมลุย มือหนึ่งสะพายกระเป๋า Outdoor ที่เคยเป็นไอคอนแห่งยุค 90s ไว้ข้างตัว ก่อนจะอวดรอยขาดบนสายกระเป๋าอย่างภาคภูมิใจ เพื่อยืนยันว่าเป็นกระเป๋าใบเก่งที่ใช้มานานกว่า 10 ปี 

        เพียงเวลา 3 ชั่วโมงที่ได้ใช้เวลาด้วยกัน มารีญาค่อยๆ เผยให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเธอทีละนิด ตัวตนที่เป็นคนขี้เล่น แต่จริงจังทันทีเมื่อพูดถึงประเด็นทางสังคม ตัวตนที่แน่วแน่ในการขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อม และตัวตนอีกด้านหนึ่งที่เคยรู้สึกแย่กับตัวเอง

 

มารีญา พูลเลิศลาภ

ทุกคนรู้จักคุณในด้านการเป็น Miss Universe Thailand แต่ตัวตนหลังม่านของคุณจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร 

        หลายคนน่าจะเห็นภาพของมารีญาในด้านนางงาม แต่คิดว่านั่นก็เป็นแค่หนึ่งด้านของเรา เพราะทุกคนก็มีหลายด้านมาก แต่ไม่หน้าด้านนะคะ (หัวเราะ) เราก็มีหลายด้าน หลายมุม แต่ปกติจะเป็นคนที่ค่อนข้างอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา และในเรื่องสิ่งที่เราสนใจหรือกำลังทำอยู่ก็สนใจหลายอย่างเหมือนกัน ไม่สามารถสนใจได้แค่เรื่องเดียว 

        อีกมุมหนึ่งเราก็เป็นทั้งคนขี้เล่นและจริงจัง แต่จะค่อนข้างไปทางจริงจังมากกว่า เพราะมารีญาแคร์สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราทำเองหรือสิ่งที่คนอื่นทำ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สุดท้ายแล้วมันก็ส่งผลกระทบต่อทุกคน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องตระหนักต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งมากกว่าที่เราเคยทำ 

ทรงผมทรงใหม่ของคุณก็ถือเป็นตัวตนใหม่ของคุณด้วยหรือเปล่า (มารีญาเพิ่งไปไถผมด้านข้างของเธอออก)

        ทรงนี้มารีญาอยากทำมานานมาก ตั้งแต่มารีญาอยู่เยอรมนีแล้ว เพราะเราเคยคุยกับเพื่อนว่าถ้าเราแพ้ เราต้องโกนผมกันนะ ซึ่งไม่มีใครทำจริง แต่มันอยู่ในใจเรา จนมารีญาไปทริปกาญจนบุรีแล้วมีน้องที่เขาทำทรงนี้ เราเห็นก็อยากทำ แล้วรู้สึกว่าชีวิตคนมันสั้น ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ได้ส่งผลต่อคนอื่นในทางที่ไม่ดีก็ทำไปเถอะ เราเลยบอกพี่ช่างตัดผมที่สนิทให้ช่วยโกนตรงนี้ให้หน่อย พอโกนออกไปแล้วก็รู้สึกดีมาก เหมือนเป็นการฉีกแนวความคิดของคนที่ติดภาพว่าเราเป็นนางงามออกไป ตอนนี้ยิ่งโตขึ้นยิ่งรู้สึกเรากำลังหาการแต่งตัว หาลุกส์ของเราที่มันสะท้อนตัวตนข้างในของเราจริงๆ อยู่ 

 

มารีญา พูลเลิศลาภ

ก่อนจะเป็นมารีญาในตอนนี้ เคยเป็นแบบไหนก่อนมาบ้าง 

        สองสามปีที่ผ่านมา รู้เลยว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองเยอะมาก ตอนเด็กช่วง 5-7 ขวบ เราเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง กล้าทำทุกอย่าง เหมือนเป็นช่วงที่เราเห็นเฉพาะมุมของเรา เราไม่ได้คิดถึงคนอื่นเท่าไหร่ เราคิดแค่เฉพาะสิ่งที่อยู่ในหัวของเรา แต่พอยิ่งโตยิ่งเริ่มอาย อาจเพราะเริ่มเห็นสื่อ เริ่มเห็นว่าอะไรแบบไหนควรเป็นยังไง เริ่มคิดว่าคนอื่นคิดยังไง ก็เลยระแวดระวังกับตัวเองมากขึ้น ไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่เราอยากทำเหมือนแต่ก่อน แล้วช่วงนั้นมารีญาเริ่มสูง ผอมด้วย ขานี่ยาวมาก ก็เลยไม่อยากให้คนเห็นรูปร่างของเรา แต่ระยะหลังเราเข้าใจรูปร่างของตัวเองมากขึ้น ว่านี่ก็เป็นตัวเรา จะอายไปทำไม   

การที่เราแคร์คนอื่น มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองด้วยหรือเปล่า

        ใช่ค่ะ แรกๆ เป็นแบบนั้นที่กังวลว่าเขาจะคิดยังไง เราจะสามารถเป็นเหมือนที่เขาคิดได้ไหม โดยเฉพาะช่วงประกวดที่เราก็มีภาพลักษณ์ของตัวเราที่เป็นแบบนี้ เวลาไปไหนทุกครั้งเราต้องเปรียบเทียบตัวเองให้ได้เท่ากับภาพลักษณ์นั้น แล้วมันเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก แบบเหนื่อยจริงๆ เหมือนเรา complete กับตัวเอง จนช่วงหนึ่งเราเริ่มเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย เพราะมีหลายคนที่จะเปรียบเทียบได้ หลังจากนั้นสองสามปี เรารู้สึกว่ามันเหนื่อย จะไปเปรียบเทียบทำไม จริงๆ คนอื่นเขาก็อาจจะไม่แคร์ก็ได้ แต่บางทีรับรู้ไว้ก็ดี เอาให้แค่แบบให้ตัวเองปรับปรุง เพราะก็สิ่งที่เราคิดว่าน่าปรับปรุงเหมือนกัน แต่ถ้าเราปรับปรุงไม่ได้ เราก็ต้อง happy กับมัน 

มีอะไรที่เคยรู้สึกว่าเป็นข้อด้อยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยอมรับและอยู่กับมันไหม

        จริงๆ มันมีหลายอย่างที่เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าด้อยกว่า แต่เราเปลี่ยนจากคำว่าด้อยกว่า เป็นคำว่าแตกต่าง อย่างความสูงของเรา มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นปมด้อยตั้งแต่เด็กเลย สูงกว่าเพื่อนๆ ในห้องทุกคน เพื่อนจะเรียก เสาไฟฟ้า เปรต ไม้จิ้มฟัน อะไรแบบนี้ เราก็ไม่อยากจะเป็นเสาไฟฟ้า ไม่อยากจะเป็นไม้จิ้มฟัน ไม่อยากจะเป็นเปรต แต่ผ่านไปสักพักก็รู้สึกเห็นความดีของมันเหมือนกัน ใครไปไหนมาไหนเราเห็นได้ตลอด (หัวเราะ) หรือถ้าเขาเห็นเราเล่นบาสเกตบอล เขาก็จะชอบเอาเราไปอยู่ในทีม มันก็มีข้อดีของเหมือนกัน ถ้าเราเริ่มรู้สึกดีกับสิ่งนั้น คนอื่นก็จะเริ่มรู้สึกดีไปด้วย คนอื่นจะรู้สึกยังไงก็เรื่องของเขา มันแค่เป็นการปรับมุมมองของเรา แต่มันยาก ยากจริงๆ บางวันง่าย บางวันก็ไม่ง่าย แต่เราก็ต้องพยายาม ยิ่งทำเรื่อยๆ ยิ่งง่ายค่ะ

 

มารีญา พูลเลิศลาภ

ตอนนี้ดูคุณเป็นคนที่เข้าใจตัวเองแล้ว นานไหมกว่าจะสามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้

        เรียกว่าเพิ่งจะเข้าใจตัวเองดีกว่าค่ะ เพราะเพิ่งจะมาเข้าใจตัวเองในช่วงหลังๆ นี้เอง ตอนแรกเรารู้สึก depress มาก เวลาทำงานในวงการนี้ คนจะคิดว่าเราต้องชอบเจอคนเยอะๆ ชอบอยู่ในสปอตไลต์ แต่จริงๆ แล้วมารีญาเป็น introvert มาก เราชอบอยู่เงียบๆ ชอบอยู่คนเดียว แต่เราก็ต้องสวมบทบาทอื่นเพื่อทำงานของเรา เมื่อเราเข้าใจว่านั่นคือการสวมบทบาทและเข้าใจตัวเองว่าเราชอบอยู่คนเดียว เราไม่ชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อนเยอะๆ ก็คิดได้ว่ามันไม่ผิดนี่ มันเป็นเรื่องปกติที่บางคนจะชอบเข้าสังคม บางคนจะไม่ชอบเข้าสังคม เราก็เลยเริ่มรู้สึกโอเคกับตัวเองมากๆ เลย ซึ่งการเป็น introvert ก็ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองเหมือนกัน ได้ใช้เวลาเงียบๆ คิดหรือทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เพราะส่วนใหญ่เราเป็นคนต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ 

        และก็มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Tuesdays with Morrie ของ Mitch Albom ที่ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร คิดหนักเลย แล้วตอนนั้นเป็นช่วงเบญจเพสด้วย แต่ยิ่งเราตั้งคำถาม เรายิ่งหลงทาง แต่การหลงนั้นมันก็ทำให้หาทางของเราได้ สามปีผ่านไปจากช่วงเวลานั้น ตอนนี้เราก็อาจจะยังหลงอยู่ แต่รู้ว่าไปในทางที่ถูกต้อง อาจจะเป็นทางที่อ้อมก็ได้ แต่เราโอเคกับมันแล้ว  

เกิดมาเป็นผู้หญิง สังคมมักตีกรอบว่าต้องสวย ต้องเพียบพร้อม ด้วยการนิยามความสวยในแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมา แต่ระยะหลังมีการรณรงค์มากขึ้นในประเด็นดังกล่าว สำหรับคุณคิดว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร 

        ใช่ค่ะ ผู้หญิงชอบถูกตีกรอบ โดยเฉพาะที่เมืองไทย ในละคร ผู้หญิงยังคงถูกสวมบทบาทเดิมๆ ขนาดในมีเดียเองผู้หญิงก็ถูกสวมให้อยู่ในบทบาทนั้น เมื่อหันกลับไปดูบางสิ่งที่เราเคยทำไป มันก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะตั้งแต่ถ่ายแบบตอนอายุ 13 มารีญาใส่เสื้อผ้าที่สนับสนุนให้คนที่อายุ 30 มาซื้อแบรนด์นั้นหรือเครื่องประดับแบบนั้น ซึ่งมันทำให้เขาต้องเอาตัวเองมาเปรียบเทียบกับเราที่ยังเป็นเด็ก ไม่ใช่รุ่นเดียวกันกับเขาเลย สิ่งที่ตามมา เขาก็จะคิดว่าทำไมไม่หน้าเด็กเหมือนแบบนั้นล่ะ คือมันไม่ใช่น่ะ แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าการทำแบบนั้นมันไม่รอบคอบพอ ในมีเดีย เราต้องมีมากกว่าลุกส์เดิมลุกส์เดียว เพราะว่าคนในโลกนี้มีหลายแบบ และความหลากหลายเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่สวยงาม เราต้องเน้นตรงนั้น 

        อีกเรื่องคือการตีกรอบว่าผู้หญิงควรต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราควรลบคำว่า ‘ผู้หญิงควร’ ออกไป แล้วมองว่าเขาเป็นแค่คนคนหนึ่ง อย่างมารีญาเวลาออกไปข้างนอก หลายคนชอบบอกว่า ทำไมแต่งตัวแบบนี้ อันนี้ก็ไม่งามนะ ทำไมไม่ใส่อะไรให้มันดูผู้หญิงมากขึ้น เพราะมารีญาชอบใส่กางเกง ชอบใส่รองเท้าผ้าใบ เราก็รู้สึกว่า ทำไมล่ะ นี่เป็นตัวเรา เราจะทำสิ่งที่เป็นตัวเรา ถ้าเราชอบตัวของเรา คนอื่นก็ต้องชอบตัวของเขาด้วย ถ้าทุกคนยอมรับสิ่งที่เขาเป็น คิดว่าโลกนี้จะสดใสขึ้นเยอะเลย แล้วถ้าสังเกตจะเห็นว่าคนที่ยอมรับตัวเองและรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น เราจะเห็นประกายในอารมณ์ ในสายตา ในบุคลิกของเขา ซึ่งสิ่งนั่นแหละที่ทำให้เขาสวย 

คุณมีชีวิตช่วงหนึ่งที่เวียดนามกับไทย ก่อนจะไปใช้ชีวิตวัยเรียนที่เนเธอร์แลนด์กับสวีเดน การไปอยู่มาหลายประเทศ ให้มุมมองต่อคุณอย่างไรบ้าง 

        เราเห็นความแตกต่างในวัฒนธรรม เห็นความแตกต่างในวิธีการทำงานเป็นทีม วิธีการคุมโปรเจ็กต์ วิธีการสื่อสารของแต่ละที่ อย่างตอนที่มารีญาย้ายไปอยู่เนเธอร์แลนด์ ตอนแรกอาจจะนึกว่าเขาไม่มีมารยาทกับเรา เพราะว่าเขาพูดตรงมาก แต่เราเพิ่งมาเข้าใจว่าเขาไม่ได้อยากจะทำให้เราเสียใจหรือรู้สึกไม่ดีหรอก มันก็แค่เป็นวิธีการพูดของเขา ซึ่งเมื่อเรายอมรับตรงนั้นได้ การทำงานก็ง่ายเลย เพราะเราไม่ต้องเดาอะไรมากมาย เขาพูดตรงๆ ออกมาแล้ว แต่สิ่งที่ทุกที่มีเหมือนกันคือทุกคนอยากจะมีความสุข ทุกคนก็เป็นมนุษย์อะ เราอยากจะมีความสุขอยากจะแฮปปี้ด้วยกัน ซึ่งถ้าทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน ไม่ว่าจะไปที่ไหนเราก็อยู่ด้วยกันได้ 

 

มารีญา พูลเลิศลาภ

ทราบมาว่าช่วงสมัยที่คุณยังเรียนอยู่ ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมเยอะมาก อะไรที่ทำให้หันมาสนใจประเด็นทางสังคม 

        ประเด็นที่เกี่ยวกับสังคมมันเป็นอะไรที่เราควรสนใจ เพราะว่ามันกระทบต่อวิธีใช้ชีวิตของเรา ของคนรอบข้าง ของทุกคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องมาสนใจประเด็นทางสังคม เราเข้าใจว่าทุกคนก็มีบทบาทของเขา แต่สำหรับมารีญา บทบาทของเราคือการสนใจเรื่องสังคม 

        ตอนที่มารีญาตัดสินใจประกวด Miss Universe Thailand  ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากจะมีพลังช่วยเหลือสังคม ตอนนั้นเรามีมุมมองแบบหนึ่ง ซึ่งมุมมองนั้นอาจจะไม่ได้เปลี่ยน แต่ว่ามันขยายกว่าเดิม เพียงแต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรลึกๆ และไม่เห็นการซับซ้อนของสังคม แต่ว่าเห็นความสำคัญที่คนคนหนึ่งสามารถทำได้ 

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ทำให้รู้สึกว่าอยากหันมาขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

        จริงๆ ไม่รู้ว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ตอนยังเด็ก ทั้งครอบครัวหรือโรงเรียนก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เลยคิดว่าสิ่งที่อยู่รอบข้างเรามันมีผลกับตัวเรามากๆ  อาจจะมากกว่า 50% เพราะมารีญายิ่งโต ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเหมือนคุณแม่มากเลย สิ่งที่ตอนนั้นเห็นคุณแม่เคยทำ เราก็ทำเหมือนกัน เราก็รู้เลยว่านี่ได้จากคุณแม่นี่นา อย่างเมื่อก่อนถ้าไปร้านอาหาร แล้วมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น คุณแม่จะเป็นคนที่กล้าพูดออกไปเลยว่าแบบนี้ๆ ไม่ได้นะ เหมือนกับสอนเขาไปในตัว 

        ตอนนั้นมารีญาก็อายมาก แต่ยิ่งโตเรายิ่งเห็นความสำคัญของมัน ว่าบางทีเขาอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เกิดเรื่องแบบนั้นขึ้น เขาอาจจะไม่รู้ในมุมของเรา ซึ่งเราก็แค่อยากจะแชร์ให้เขาได้รู้ อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่การที่เราแชร์ความคิดเห็นของเรากับคนอื่น มันเป็นอะไรที่ดีต่อความเข้าใจกันและกัน เพราะทุกคนมีความคิดความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน 

        ส่วนนี้เป็นสิ่งที่มารีญาได้มาจากคุณแม่เยอะมาก และก็ได้มาจากที่โรงเรียนเหมือนกันค่ะ เพราะคุณครูก็อินกับเรื่องนี้ พอเรามีแพสชัน แล้วเห็นคนอื่นมีแพสชันในเรื่องเดียวกัน มันก็เหมือนแพสชันถูกเทมาทางเราด้วย เรารู้สึกถึงพลังของเขาและเราก็มีพลังทำในสิ่งที่เราสนใจ

บางปัญหาในสังคมเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าคนกลุ่มเล็กๆ จะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อะไรที่ทำให้มารีญารู้สึกว่าเราจะไม่นิ่งเฉยกับปัญหานั้น โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุณผลักดันอยู่ 

        แค่รู้สึกว่าถ้าเราไม่ทำ เราจะทำอะไร ถ้าเราไม่ทำ เราจะหวังให้คนอื่นทำได้ยังไง ถ้าเรารู้สึกว่าอะไรมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องทำสิ่งนั้น ถ้าคนอื่นเห็นแล้วเขารู้สึกว่ามันถูกต้อง เขาก็จะทำตาม ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่เราทำ 

        ถ้าใครรู้สึกว่าแค่คนหนึ่งคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรอก เราต้องเปลี่ยนความคิดแบบนั้นเลย มีมีมหนึ่งที่มารีญาเคยโพสต์นานเหมือนกันแล้ว เขาบอกว่า it’s  just one straw said 7 billion people. อ๋อ มันเป็นแค่หนึ่งหลอดแหละ ทุกคนบนโลกนี้ 7 พันล้านคนพูด แต่ทุกคนรู้เรื่องอยู่แล้ว หลอดมันเป็นพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น biodegradable มันก็ยังเป็นพลาสติก ถ้าทุกคนทำ impact จะเยอะมาก แต่ถ้าเราไม่ทำ และถ้าคนอื่นไม่ทำเลย มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หนึ่งคนสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ มันต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ถ้าเราหวังว่าคนอื่นจะเปลี่ยน ไม่รู้สิ มันอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ว่าเราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ เราสามารถหวังให้ตัวเองเปลี่ยน และทำสิ่งนั้น แล้วนั่นเป็นวิธีแรกเลยที่การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้น คนอื่นจะทำทำไม ถ้าเราไม่ทำ  

 

มารีญา พูลเลิศลาภ

เวลาผลักดันประเด็นอะไรสักอย่าง มักจะมีแรงต้านเกิดขึ้นมาเสมอ สำหรับคุณมีวิธีรับมือกับแรงต้านนั้นอย่างไร 

        คิดว่าแรงต้านเป็นแรงที่ดีค่ะ เพราะว่าเป็นแรงที่ทำให้เราคิดมากขึ้นว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องไหม มันทำให้เราทบทวนสิ่งที่เราทำ และทำให้เราเข้าใจว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติมาก เราควรที่จะยอมรับความแตกต่าง และสามารถพูดคุยกันได้ ถ้าไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งปฏิเสธ ทำความเข้าใจกับมันก่อน เราอยู่ในยุค 2020 แล้ว เรามีโซเชียลมีเดีย เราสามารถคุยกันได้ผ่านแอพฯ ต่างๆ ทำไมเราคุยกันไม่ได้ถ้าเราคิดไม่เหมือนกัน ทำไมต้องมาตบตี ทำไมต้องมาใช้อำนาจแบบนี้ มันไม่ใช่ เราคุยกันได้ เราเชื่อว่าเมื่อเรารู้มากขึ้น เราก็จะเปิดความคิดเห็นของเรามากขึ้นด้วย 

        แต่เราก็ต้องหาทางแก้ไข เพราะเราอยู่ในโลกใบนี้ด้วยกัน มันต้องมีทางออก 

รู้สึกอย่างไรที่ต้องใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมไทยยังไม่อำนวยความสะดวกในด้านนี้ อย่างตู้กดน้ำดื่มสาธารณะเรายังหายากเลย   

        ตอนแรกก็รู้สึกนะว่าทำไมระบบที่เราอยู่มันไม่เอื้ออำนวยเลย แต่ตอนนี้มารีญากำลังทำแคมเปญ #TrashMe อยู่ ซึ่งเป็นการเก็บขยะพลาสติกทุกชิ้นที่เราใช้ไว้กับตัวเอง เพื่อดูว่าเราจะเก็บขยะได้เยอะขนาดไหนภายในสองอาทิตย์ และคิดว่าถ้าเราไม่ยอม ไม่อยากมีแพ็กเกจจิ้งในสินค้าทุกอย่างแล้ว บริษัทเขาจะยังทำไหม เราอาจจะเป็นการขับเคลื่อนจากตัวเราก่อนที่ทำให้สิ่งนั้นเปลี่ยน เราไม่ต้องรอรัฐบาล ไม่ต้องรอพวกองค์กรใหญ่ต่างๆ เราขับเคลื่อนเองก่อนเลย ถ้าทุกคนไม่ยอม เขาจะยังผลิตเหรอ คิดว่าต้องเริ่มแบบนั้น รอติดตามด้วยนะคะ 

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรายังไม่หันมาพูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงจัง เพราะเรายังติดอยู่กับปัญหาอื่นๆ อยู่หรือเปล่า

        แน่นอนค่ะ มันก็มีเหตุผลว่าก่อนที่เราจะสามารถมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราก็ต้องมีทุกอย่างครบ เราไม่ต้องห่วงแล้วว่าพรุ่งนี้เราจะกินอะไร จะอยู่รอดไหม บางคนก็บอกว่าการแคร์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของคนที่พร้อม มารีญารู้สึกว่ามันก็มีส่วนนะ มีส่วนมากๆ ถ้าเรายังต้องมานั่งห่วงเรื่องอาหารมื้อต่อไปอยู่ เราไม่สามารถเลือกได้หรอกว่าอันไหนออร์แกนิก อันไหนไม่มีแพ็กเกจจิ้ง เราต้องซื้อเท่าที่เราสามารถซื้อได้ มันเลยต้องเริ่มจากระบบที่ควรจะทำให้เป็นเรื่องสะดวกสำหรับทุกคน แต่เราอาจจะตระหนักถึงขยะของเราด้วย การทิ้งมันในที่ที่ถูกต้องนั่นเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้ 

 

มารีญา พูลเลิศลาภ

คิดว่าจะใช้ชีวิตของตัวเองผลักดันเพื่อสิ่งแวดล้อมตลอดไปเลยไหม  

        เห็นอนาคตตัวเองเป็นแบบนั้นเลยค่ะ อยากจะขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คิดว่ามันต้องใช้เวลาอีกเยอะแหละ ตอนนี้ก็มีวิกฤตเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ผ่านมา อีกไม่นานเราก็จะมีวิกฤตโลกร้อนที่ไม่มีใครสามารถหนีได้ แปลกใจที่เมืองไทยเรายังไม่เตรียมพร้อมเกี่ยวกับการอยู่ใต้น้ำ เรามีประชากรเยอะมาก ทำไมเราไม่มาช่วยกันคิด ช่วยกันแพลนว่าเราจะทำยังไง เราจะไปไหนกัน คิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้แล้ว 

ตอนนี้โลกเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งโรคระบาด ปัญหาโลกร้อน ปัญหาทรัพยากรที่กำลังจะหมด ท้อไหมกับโลกอนาคตที่ดูไม่มีความหวังเลยต่อคนรุ่นคุณเลย

        ตอนเริ่มตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงจังก็มีโมเมนต์ที่รู้สึกดาวน์มาก รู้สึกว่าเราทำอะไรไปมันก็ยังจะเกิดขึ้น น้ำก็จะท่วม กรุงเทพฯ ก็จะอยู่ใต้น้ำ โลกก็จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทุกคนเปลี่ยนมันจะเปลี่ยนได้ขนาดไหน รู้สึกท้อเหมือนกันนะคะ แต่ว่าเราจะแค่ยอมให้มันเกิดขึ้นเหรอ สำหรับมารีญา คิดว่าไม่ควร เราอยากจะเห็นอนาคตแบบไหน เราก็พยายามสร้างให้มันเป็นแบบนั้น ถ้าเราไม่พยายาม เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร นั่นทำให้เรามีแรงเยอะมากในการทำสิ่งที่เราทำอยู่ แล้วยิ่งทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งศึกษามากขึ้น ยิ่งเจอคนที่อยากจะอนุรักษ์ อยากทำอะไรที่เป็น positive กับสิ่งแวดล้อม เราก็เห็นว่ามีคนเยอะมากที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความยั่งยืนในอนาคต แล้วมันทำให้เรามีพลังมาก 

        นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่มารีญาก่อตั้งองค์กร SOS Earth ขึ้นมา เพราะเราอยากจะใช้ชีวิตของเราทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อยากสื่อสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้คนเข้าใจมากขึ้น เมื่อเขาเข้าใจ ก็จะสามารถเลือกได้ว่าอยากจะทำอะไร และเราคิดว่าถ้าคนเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ เขาจะเปลี่ยนเอง เขาอาจจะแค่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นเส้นทางที่อาจจะช่วยได้ หรือไม่รู้ว่าเขาสามารถปรับสิ่งในชีวิตได้ยังไงเพื่อที่จะช่วยโลก 

อยากให้กำลังใจคนรุ่นนี้หรือรุ่นหลังจากนี้อย่างไรบ้าง 

        สำหรับทุกๆ คน ไม่ใช่แค่วัยเท่ามารีญา ที่รู้สึกไม่มีความหวังหรือท้อ ที่กำลังสู้ด้วยกันอยู่ อยากให้รู้ว่าเราอยู่บนโลกนี้กับทุกคนจริงๆ และทุกคนก็ประสบปัญหาเดียวกัน มันโอเค ถ้าเรารู้สึกท้อ รู้สึกหมดความหวัง แต่ขอให้ทุกคนใช้เวลาค้นหาตัวเอง หาพลังจากคนรอบข้าง หาพลังจากตัวเอง ใช้เวลาทำอะไรก็ได้ที่จะสร้างพลังให้ตัวเอง อย่าหยุดสู้ในสิ่งที่เราเชื่อ เราจะยิ่งเจอคนที่สู้ไปด้วยกัน ทุกคนจะแบ่งพลังต่อกันและกัน อย่าท้อนะคะ เราต้องทำให้โลกใบนี้มีความยั่งยืน ให้กับพวกเรา ให้กับคนที่มาต่อจากเรา so don’t give up