มารีนา อบราโมวิช

มารีนา อบราโมวิช | จับเข่าสนทนาประสาศิลป์กับ Grandmother of Performance Art

มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramović) คือศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ ชาวเซอร์เบียน ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุดของโลกคนหนึ่ง เธอทำงานศิลปะอันท้าทายมากว่าสี่ทศวรรษ มีฉายาว่า Grandmother of Performance Art ผลงานของเธอมักเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง ความเจ็บปวด ความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ประเด็นทางเพศ การเมือง และการต่อต้านสงคราม

ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยครั้งยิ่งใหญ่อย่าง บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ ที่มีศิลปินร่วมสมัยชั้นน้ำจากทั้งไทยและต่างประเทศมากหน้าหลายตามาจัดแสดงผลงาน เธอคือหนึ่งในศิลปินที่ได้รับการเชื้อเชิญมาร่วมแสดงผลงานและจัดบรรยายพิเศษเพื่อให้แฟนๆ ที่อยู่เมืองไทยได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

     การทำงานศิลปะของเธอคล้ายกับพิธีกรรมบูชายัญทางศาสนา ผลงานของเธอสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความไว้วางใจ ความอดทนอดกลั้น การชำระล้าง และการเดินทางค้นหาความหมายของชีวิต เธอมองว่าการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เธอมักทำลายระยะห่างระหว่างศิลปินและผู้ชมด้วยการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อทางศิลปะ

     เป้าหมายในการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอคือการเอาชนะความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ เธอใช้ศิลปะข้ามทุกขอบเขตจำกัด หลายครั้งที่เธอต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนักและเสี่ยงชีวิตในการทำการแสดงสด

     “ศิลปะไม่ควรเป็นอะไรที่เกี่ยวกับแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มันก็ไม่ควรเป็นอะไรที่เกี่ยวกับแค่ความเจ็บปวดและการเมืองเพียงอย่างเดียวด้วยเช่นกัน ศิลปะควรจะมีหลากหลายแง่มุม” อบราโมวิชกล่าว

 

มารีนา อบราโมวิช

 

     ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเธอคือ Rhythm 0 (1974) ศิลปะแสดงสด ที่เธอเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดอกกุหลาบ, กรรไกร, ปากกา, หรือแม้แต่ปืนพกบรรจุกระสุน และเชื้อเชิญผู้ชมให้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจ เป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยที่เธอไม่ต่อต้านหรือป้องกันตัวแม้แต่น้อย ตอนแรกผู้ชมเริ่มต้นด้วยอะไรเบาๆ อย่างการจูบ หรือเอาขนนกแหย่เธอ ต่อมาก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บางคนเอาปากกาเขียนบนตัวเธอ บางคนใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าเธอ บางคนกรีดร่างเธอด้วยมีดแล้วดูดเลียเลือดของเธอ บางคนลวนลามเธอ หนักที่สุดคือบางคนเอาปืนจ่อหัวเธอ

     ผลงานชุดนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดายแล้ว เธอยังต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของเธอมากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่เฉยๆ

 

มารีนา อบราโมวิช

 

     อีกหนึ่งผลงานที่ลือชื่อคือ Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน ในเวลาหกวัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเลวร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นทุกๆ แห่งหนบนโลกใบนี้ ผลงานชิ้นนี้ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ในปี 1997 รับรางวัลสูงสุดของงานอย่างสิงโตทองคำ (Golden Lion)

     ส่วนผลงานที่เธอนำมาร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในกรุงเทพฯ คือผลงานศิลปะจัดวางเชิงตอบโต้ Standing Structures for Human Use (2017) ที่แสดงในโครงการ One Bangkok ถนนวิทยุ ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2018 – 3 กุมภาพันธ์ 2019 และผลงาน The Method (2018) ซึ่งเป็นกิจกรรมทางศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกันได้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 2018 นี้

 

มารีนา อบราโมวิช

มารีนา อบราโมวิช

 

     ในคราวนี้ เราโชคดีมีโอกาสได้เข้าไปจับเข่าสนทนาเกี่ยวกับชีวิตและความคิดของ มารีนา อบราโมวิช อย่างใกล้ชิดสนิทสนม ถ้าใครอยากรู้จักกับตัวตนและความคิดเธอก่อนที่จะไปชมผลงาน หรือใครที่ไปชมผลงานมาแล้วอยากทำความรู้จักกับเธอเพิ่มเติม ก็มาร่วมกันรับฟังจากบทสนทนาของเธอในครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน

 

มารีนา อบราโมวิช

 

งานของคุณมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองเสมอๆ คุณคิดว่าศิลปินควรจะต้องมีส่วนร่วมกับประเด็นทางการเมืองไหม

     ฉันมองการเมืองแบบเดียวกับหนังสือพิมพ์ สาระสำคัญเกี่ยวกับการเมืองทุกวันนี้เหมือนหนังสือพิมพ์ วันนี้มีการเมืองเรื่องนี้ พรุ่งนี้ก็จะมีอีกเรื่องหนึ่งแทน เหมือนกับหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าที่ผู้คนหมดความสนใจและโยนมันทิ้งไป สิ่งที่ฉันทำก็คือการใส่ความหมายทางการเมืองหลายชั้นลงไปในงาน และใส่ประเด็นทางการเมืองที่เป็นสากล ฉันเคยทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการนั่งขัดถูกระดูกวัวโชกเลือด (Balkan Baroque) งานชิ้นนี้มีนัยยะถึงสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามในยูโกสลาเวีย แต่ถึงสงครามนั้นจะจบลงไปแล้ว งานชิ้นนี้ก็สามารถสื่อถึงสงครามอื่นใดก็ตามที่เกิดขึ้นในทุกหนแห่งทั่วโลกได้ ด้วยเนื้อหาที่เป็นสากล ศิลปะสามารถมีชีวิตยาวนานขึ้นได้

 

คุณคิดว่าศิลปะสามารถเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้ไหม

     ไม่เคยทำได้เลย (หัวเราะ) ขอโทษที่ทำให้คุณผิดหวังนะ (หัวเราะ) แต่ศิลปะสามารถชี้ให้เห็นหนทาง และตั้งคำถามกับปัญหาต่างๆ เหล่านั้น ศิลปะสามารถปลุกจิตสำนึกของผู้คนในโลก สำหรับฉัน มันไม่เกี่ยวว่าศิลปะจะแก้ปัญหาในโลกนี้ได้ไหม แต่มันเกี่ยวกับการที่คุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ คุณจะเปลี่ยนสิ่งอื่นได้นับพัน เพราะมันง่ายที่เราจะโทษคนอื่นทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ แม้แต่เรื่องการเมืองก็ตาม

     แต่คุณต้องมองตัวเองว่าฉันจะทำอะไรได้เพื่อเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง นั่นคือสิ่งที่สถาบัน Marina Abramovic ที่ฉันก่อตั้งขึ้นกำลังทำอยู่ เพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างด้วยศิลปะว่าคุณจะสามารถเข้าถึงปัจจุบันขณะได้อย่างไร

ถ้าคุณไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตสำนึกของคุณได้ คุณก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงคนอื่นได้

     ปัญหาที่แท้จริงก็คือ เราต่างก็ขี้เกียจ และไม่สนใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากแต่มัวแต่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแทน

 

เวลาคุณทำงานศิลปะ คุณมักจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอันตราย คุณเคยคิดไหมว่าบางครั้งมันอาจจะเลยเถิดเกินไป

     ฉันจำเป็นต้องเลยเถิดนะ (หัวเราะ) เท่าที่มนุษย์จะทำได้ การเกิดในครอบครัวที่มีวีรบุรุษของชาติสองคนทำให้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงเป็นคนแบบนี้ ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งทำการตรวจดีเอ็นเอจากน้ำลาย ผลการตรวจนั้นสืบย้อนกลับไปได้ 700 ปี ตอนแรกฉันคิดว่าตัวเองมีความเกี่ยวข้องกับเจงกิสข่านเสียอีก แต่ก็ไม่มีนะ (หัวเราะ)

     เมื่อ 700 ปีที่แล้ว มีสงครามครั้งใหญ่ระหว่างอาณาจักรเติร์กกับอาณาจักรเซิร์บ มันเป็นสงครามแห่งความตาย ไม่มีใครชนะสงครามนี้ ทุกคนตายหมดสิ้น มีนักรบคนหนึ่งรอดชีวิตอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ ในตำนานมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เดินมองหาว่ามีใครรอดชีวิตเพื่อจะเอาน้ำให้เขาดื่ม เมื่อชายคนนั้นได้ดื่มน้ำแล้วเขาก็ตายในอ้อมแขนของเธอ ชายผู้นี้เป็นเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในสงครามนั้น มีลูกชายสี่คน ซึ่งลูกชายสี่คนนั้นก็มีทายาทต่อมาอีกสี่สาย และหนึ่งในนั้นเป็นปู่ทวดของฉัน (หัวเราะ) ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้วเราสืบสายเลือดมาจากนักรบนะ นี่เป็นสิ่งที่รู้สึกมาตลอด

     ฉันรู้สึกว่าเราต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพันในการสำรวจสิ่งต่างๆ ไม่เคยพึงพอใจกับอะไรเดิมๆ สิ่งที่แย่ที่สุดของการเป็นศิลปินคือการทำงานเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉันไม่ชอบทำอะไรซ้ำสอง ถ้าหากต้องทำอะไรแบบนั้น เราจะกลายเป็นคนที่มีชีวิตอย่างครึ่งๆ กลางๆ ฉันไม่ต้องการเป็นแบบนั้น

 

คุณกลัวไหมว่าสักวันหนึ่งคุณอาจจะตายเพราะการทำงานศิลปะ

     คิดว่าจะทำงานศิลปะไปจนตาย แต่ไม่เคยคิดว่าจะตายในการทำงานศิลปะนะ สำหรับการตาย ฉันไม่เคยวางแผนเอาไว้เลย (หัวเราะ) แต่คิดว่าต้องการตายอย่างมีสติ โดยปราศจากความกลัวและความขุ่นเคือง

     คุณรู้ไหมว่าความกลัวเป็นเรื่องประหลาด ครั้งหนึ่งตอนอายุสี่ขวบ ฉันเคยเดินเข้าไปในป่ากับคุณยายของฉัน มันเป็นช่วงเวลาที่สงบสุขมาก แต่จู่ๆ ก็เกิดเห็นอะไรบางอย่างที่ดูแปลกๆ เหมือนเส้นที่ขีดอยู่บนทางเดิน ฉันสงสัย และกำลังเดินเข้าไปสัมผัสมัน หลังจากนั้นคุณยายของฉันก็กรีดร้องดังลั่น เพราะมันคืองูตัวหนึ่ง นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกถึงความกลัว แต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะกลัวอะไรดี เพราะอันที่จริงแล้ว เสียงของคุณยายต่างหากที่ทำให้ฉันตกใจกลัว แล้วงูตัวนั้นก็เลื้อยหนีไปอย่างรวดเร็ว มันเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ความกลัวถูกสร้างขึ้นในใจของคุณโดยคนใกล้ๆ ตัวอย่างผู้ปกครอง ทั้งที่ตอนแรกนั้นคุณไร้เดียงสาจนไม่รู้จักความกลัวอะไรเลยด้วยซ้ำ  

     นั่นเป็นบทนำของหนังสือ Walk Through Walls: (A Memoir by Marina Abramovic) ที่ฉันเขียนไว้ ความกลัวเป็นกำแพงที่ฉันต้องการเดินผ่าน และเป็นสิ่งที่ทำอยู่ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เรามักถูกโอบล้อมด้วยกำแพงของความกลัวอย่างรวดเร็ว และในหลายๆ ครั้ง ความกลัวนั้นไม่ใช่ของเรา หากแต่เป็นของพ่อแม่ ของสังคม ของคนที่อยู่รอบข้าง และเราใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อค่อยๆ ปลดเปลื้องตัวเองจากความกลัวเหล่านั้น เพื่อที่จะได้มีเสรีภาพในท้ายที่สุด แล้วใครล่ะที่เป็นคนสร้างกำแพงกีดขวางเรา แรกสุดเลย เรานั่นแหละที่เป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง

 

มารีนา อบราโมวิช

 

เคยได้ยินคุณพูดว่า คุณพร้อมที่จะตายทุกเมื่อ คุณคิดอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหม

     ไม่นะ ฉันไม่เคยพูดแบบนั้น แต่ฉันซ้อมจัดงานศพของตัวเองไว้ แล้วก็รู้แล้วว่างานศพของตัวเองจะเป็นยังไง เพราะงานศพเป็นสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้เลยถ้าคุณตายไปแล้ว ฉันไม่อยากให้จัดงานศพในแบบที่เราไม่ชอบ โดยปกติฉันคิดถึงความตายทุกวัน เพราะเมื่อคุณคิดถึงความตายทุกวัน คุณจะสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างแท้จริง

     คนเราไม่มีใครอยู่ไปได้ชั่วนิรันดร์ ถ้าลองคิดว่าคุณอาจจะตายในทุกวันที่คุณหลับตาลง คุณจะเข้าใจถึงคุณค่าของชีวิต ชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์และสวยงาม ฉันมักจะมองชีวิตด้วยอารมณ์ขัน เพราะนั่นเป็นสิ่งสำคัญ

 

ได้ยินว่าในปี 2020 คุณกำลังจะมีนิทรรศการแสดงศิลปะครั้งใหญ่ที่ รอยัล อาคาเดมี ออฟอาร์ต (Royal Academy of Arts) เห็นว่าคุณจะชาร์จกระแสไฟฟ้าแรงสูง 1 ล้านโวลต์ เข้าร่างกายตัวเอง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม

     ตอนนี้ฉันยังพูดอะไรเกี่ยวกับมันไม่ได้มาก บอกคุณได้แค่ชื่องาน ซึ่งฉันภูมิใจกับมันมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนทีหลังหรือเปล่านะ (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยในตอนนี้มันก็ใช้ชื่อนี้ มันมีชื่อว่า ‘After Life’ (ชีวิตหลังความตาย)

     พูดถึงเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงคุณยายของฉัน เธอตายตอนอายุ 103 ปี ฉันชอบช่วงเวลาที่เธอตายมาก เธอบอกว่าเธออยากตายในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะจะได้ตายท่ามกลางลูกหลาน เธอก็เลยจัดงานเลี้ยงอำลาและกินอาหารกลางวันกับทุกคนในครอบครัว หลังจากกินอาหารเสร็จ เธอก็เข้าไปนอนในห้องนอน จุดเทียน กล่าวคำอำลากับทุกคน แล้วก็หลับไป อีกสองชั่วโมงถัดมาเธอก็ตื่นมาเพราะหิว (หัวเราะ) แต่หลังจากนั้นเธอก็ไม่ลุกออกจากเตียงอีกเลย และเธอตายในอีกสี่สัปดาห์ให้หลัง มันเป็นอะไรที่งดงามมาก

 

คนไทยหลายคนรู้สึกช็อกอย่างมากที่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะแสดงสดของคุณหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลงาน Rhythm 0 ที่คุณเอาอุปกรณ์ต่างๆ อย่างดอกกุหลาบ, ขนนก, กรรไกร, มีดผ่าตัด, ปากกา, แส้ หรือแม้แต่ปืนพกไว้บนโต๊ะ แล้วบอกผู้ชมให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรกับคุณก็ได้ตามใจ

     ตอนนั้นฉันเพิ่งอายุ 28 น่ะ ก็ยังอายุไม่มากเท่าไหร่นะ (หัวเราะ)

 

แต่งานชิ้นนั้นกลายเป็นตำนานที่คนกล่าวขานถึงและยังคงรู้สึกช็อกกับมันจนถึงทุกวันนี้

     แต่หลังจากความช็อก มันต้องแสดงให้เห็นเนื้อหาสาระที่ฉันต้องการจะสื่อ นั่นเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับฉัน ผลงานชิ้นนั้นเป็นการสำรวจว่า ถ้าคุณเปิดโอกาสให้สาธารณชนทำอะไรกับคุณก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ พวกเขาจะฆ่าคุณไหม? สิ่งที่พบคือ พวกเขาสามารถฆ่าคุณได้จริงๆ

     อีกสามสิบกว่าปีต่อมา ฉันทำงาน The Artist Is Present ที่ได้นั่งจ้องตากับผู้ชมเงียบๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ในตอนนั้นเองที่ทำให้ตระหนักขึ้นมาว่า ความแตกต่างระหว่างผลงานสองชิ้นนั้นก็คือการเลือกใช้เครื่องมือนั่นเอง นับตั้งแต่นั้นมา แทนที่จะทำงานที่กระตุ้นเร้าจิตสำนึกอันเลวร้ายของผู้คน ฉันก็เลือกที่จะทำงานที่ยกระดับจิตใจของพวกเขาแทน และนั่นเป็นสิ่งที่พยายามทำจวบจนถึงทุกวันนี้

 

มารีนา อบราโมวิช

 

คุณคิดยังไงที่คนมักจะบอกว่าการแสดงของคุณส่งผลกระทบต่อจิตใจของพวกเขาอย่างมาก

     คุณรู้ไหม ฉันโชคดีมากที่มีผู้ชมอายุน้อยไปจนถึงอายุมากที่สุดที่มาดูตอนฉันทำการแสดง มีตั้งแต่เด็กอายุ 12 ปี ไปจนถึงคนอายุ 40, 50, 60, 70 พวกเขาบอกว่างานของฉันพูดคุยกับเขา และก็รู้สึกประหลาดใจมากที่พวกเขาเข้ามากอดแล้วบอกว่า คุณเปลี่ยนชีวิตของฉัน แล้วก็ร้องไห้ ฉันทำตัวไม่ถูกเลย (หัวเราะ) ได้โปรด อย่าร้องไห้เพื่อฉันเลย อาร์เจนตินา! (เล่นมุกล้อชื่อเพลง Don’t cry for me Argentina)

     มันน่าสนใจมากว่างานของฉันส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างมาก แต่พวกเขามักจะเข้าใจผิดคิดว่าฉันเป็นไอดอล ฉันไม่ใช่ไอดอล ฉันเป็นคนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ ที่เปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง

 

แม้แต่ในเมืองไทยเอง เวลาคุณไปที่ไหน ทุกคนที่เห็นก็กรูเข้ามารุมล้อมคุณทันทีเลย

     อาจจะเป็นเพราะจมูกฉันใหญ่ คนก็เลยจำง่ายมั้ง (หัวเราะ) บางครั้งเวลาออกไปข้างนอกฉันก็อยากสวมวิกผมบลอนด์ปลอมตัวเหมือนกันนะ (หัวเราะ) คุณต้องหมั่นมีอารมณ์ขันเข้าไว้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเคร่งเครียดกับตัวเองมากเกินไป คุณอาจจะเป็นบ้าเอาได้

 

สำหรับคุณ ศิลปะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการใช้ชีวิต หรือคุณแยกมันออกจากกัน

     ฉันก็ใช้ชีวิตของฉันไปนะ แต่ก็เรียนรู้จากศิลปะ และได้รู้หลายสิ่งหลายอย่างมากจากศิลปะ เมื่อทำงานศิลปะ ฉันทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยไม่รู้ว่ามันจะเวิร์กหรือเปล่าด้วยซ้ำ แต่ฉันมักตั้งเป้าหมายไว้สูงว่านี่คือสิ่งที่ฉันจะทำให้ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม และหลังจากได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการทำงานศิลปะเหล่านั้นแล้ว มันเปลี่ยนตัวเราไปอย่างแท้จริง ศิลปะเปลี่ยนแปลงฉันเสมอมา

 

คุณคิดว่าการแสดงศิลปะหรือจัดการบรรยายเกี่ยวกับศิลปะในสถานที่หรูหราอย่างโรงหนังราคาแพง หรือในสถาบันทรงเกียรติอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ มันทำให้ศิลปะห่างไกลจากสาธารณชนหรือคนทั่วไปไหม

     ที่ผ่านมาฉันเคยทำการแสดงในสถานที่ที่ย่ำแย่ ที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับการเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะอย่างสิ้นเชิง และบางครั้งฉันก็เคยแสดงงานในพื้นที่หรูหราอย่างโรงละครหรือในสถาบันศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ หรือแม้แต่ในเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ อย่างงานบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ครั้งนี้ เคยทำการแสดงทั้งต่อหน้าคนดูมากมาย หรือทำการแสดงที่มีคนดูเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะในสถานการณ์แบบไหนก็จะอุทิศตัวให้กับการแสดงอย่างเต็มที่เท่าๆ กันหมด สำหรับฉัน ไม่ว่าจะทำการแสดงที่ไหนก็มีความสำคัญเท่าๆ กัน เพราะสิ่งสำคัญสำหรับศิลปะแสดงสด ไม่ใช่สถานที่ หากแต่เป็นตัวการแสดงและผู้ชมต่างหาก

 

คุณคิดอย่างไรที่งานศิลปะบางชิ้นทำลายกฎเกณฑ์หรือขนบธรรมเนียมเดิมๆ แต่ท้ายที่สุดตัวมันเองก็กลายเป็นขนบหรือกฎเกณฑ์ไปเสียเอง

     ฉันมักจะตั้งคำถามว่าใครเป็นคนตั้งกฎเกณฑ์? ถ้าเราเป็นคนตั้งกฎเกณฑ์เอง เราก็ควรที่จะทำลายมันลงด้วย สำหรับฉัน สิ่งที่มีปัญหาอย่างมากคือ ความถูกต้องทางการเมือง (Political correctness) ในทุกวันนี้ มันเป็นอะไรที่แย่มาก ฉันทนมันไม่ได้เลย เพราะในยุค 70s มีงานศิลปะหลายชิ้นที่มีความท้าทายและทรงพลังอย่างมาก แต่พอมีประเด็นอย่างความถูกต้องทางการเมือง เราก็ไม่สามารถทำงานแบบนั้นได้อีกต่อไป เพราะงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมส่วนใหญ่ขัดต่อหลักความถูกต้องทางการเมือง สิ่งนี้ทำให้เราไร้ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าคุณมัวแต่คิดว่า คุณทำอย่างงั้น ทำอย่างงี้ไม่ได้ คุณก็จะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะงานศิลปะต้องมีคุณสมบัติในการต่อต้านสิ่งต่างๆ

 

มารีนา อบราโมวิช

 

ศิลปินต้องกล้าที่จะเสี่ยงใช่ไหม

     แน่นอน ตัวฉันเองเป็นหลักฐานที่มีชีวิตของเรื่องนี้เลยนะ (หัวเราะ) ในฐานะศิลปิน คุณต้องกล้าเสี่ยง กล้าที่จะผลักดันขอบเขตความเป็นไปได้ต่างๆ คุณต้องก้าวย่างไปในพรมแดนที่คุณไม่เคยไป คุณต้องเป็นนักสำรวจที่ทดลองในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

 

แต่ถ้าสิ่งที่เราทำมันไปล่วงละเมิดคนอื่นหรือชีวิตอื่นล่ะ ในอีกแง่หนึ่ง ความถูกต้องทางการเมืองเองก็อาจทำหน้าที่ช่วยป้องกันในเรื่องนี้ไม่ใช่หรือ อย่างงาน Theater of the World (1993) ของ หวงย่งผิง (Huang Yong Ping) ที่เอาสัตว์มีพิษมาขังไว้ในกรงให้มันฆ่ากินกันเอง ผลงานชิ้นนี้เองก็โดนองค์กรพิทักษ์สัตว์ออกมาโจมตีอย่างมากว่าเป็นการทรมานสัตว์

     ฉันรักงานชิ้นนั้นของเขาจริงๆ นะ งานชิ้นนั้นสวยมาก มันมีพลังอันเป็นนิรันดร์ เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยเลยก็ว่าได้ เพื่องานที่ยอดเยี่ยม บางทีเราก็ต้องละทิ้งความถูกต้องทางการเมืองไปบ้างน่ะ

 

ถ้าอย่างงั้นคุณคิดว่าศิลปินควรจะมีเส้นอะไรที่ไม่ควรจะก้าวข้ามไปไหม

     แน่นอน ในแถลงการณ์ที่ฉันเขียนก็มีเรื่องพวกนี้อยู่ด้วยนะ อย่างเช่น ศิลปินไม่ควรฆ่ามนุษย์ด้วยกัน ศิลปินไม่ควรขายวิญญาณให้การค้า ถ้าคุณได้อ่านในแถลงการณ์ของฉัน (An Artist’s life Manifesto) ก็จะเห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ศิลปินไม่ควรทำ และมีเส้นอะไรบ้างที่ศิลปินไม่ควรข้ามไป นี่! คุณช่วยถามอะไรที่ปกติธรรมดาๆ บ้างได้ไหมเนี่ย? (หัวเราะ)

 

ถ้าอย่างนั้น คุณมาเมืองไทยแล้วคุณชอบกินอาหารไทยอะไรบ้างไหม

     (หัวเราะ) ได้กินข้าวเหนียวมะม่วง ฉันชอบมาก ส้มตำด้วย ทุเรียนก็ชอบกินนะ

 

คุณเคยกินข้าวเหนียวทุเรียนไหม

     ไม่เคย มีด้วยเหรอ

 

อร่อยมาก คุณต้องลองกินดูนะ

     เดี๋ยวฉันต้องลอง ฉันไม่ชอบดื่มนะ แต่ฉันรักการกินมากเลย

 

มารีนา อบราโมวิช

 

สังเกตว่าคุณชอบสวมเสื้อผ้าสีดำ ทำไมคุณถึงชอบสีดำเหรอ

     ที่รัก มันเป็นเรื่องของความสะดวก เพราะบางครั้งฉันต้องตระเวนเดินทางแสดงงานติดกันห้าเดือน ต้องเร่ร่อนเหมือนยิปซี การใส่สีดำมันเป็นอะไรที่สะดวก จริงๆ แล้วฉันมีเสื้อผ้าสีอื่นเหมือนกันนะ ฉันรักสีแดงมากๆ แต่มันไม่เหมาะจะใส่ซ้ำสักเท่าไหร่

 

นอกจากการทำงานศิลปะ คุณมีกิจกรรมอะไรที่โปรดปรานเป็นพิเศษไหม

     ฉันรักการอ่าน และเล่นปิงปอง ฉันเล่นปิงปองเก่งนะ (หัวเราะ) แล้วก็รักการดูหนัง และรักที่จะเสาะหาศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ นั่นเป็นความหลงใหลของฉัน

 

ช่วงนี้มีหนังเรื่องไหนที่คุณโปรดปรานเป็นพิเศษไหม

     มีหนังแปลกๆ เรื่องหนึ่ง ที่นักวิจารณ์ทุกคนบอกว่ามันเป็นหนังที่เลวร้ายที่สุดแห่งปี แต่ฉันรักมันมาก

 

เรื่อง Mother! (2017) ใช่ไหม

     ใช่ คุณรู้ได้ยังไง

 

เราได้อ่านจดหมายที่คุณเขียนถึงผู้กำกับด้วย ซึ่งเราเห็นด้วยกับคุณนะ

     (ยิ้ม) มันเป็นหนังที่ประหลาดและทรงพลังมาก ถึงแม้จะไม่ใช่หนังที่เข้าใจง่ายนักก็เถอะ

 

ด้วยความที่ธีมของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้คือสุขสะพรั่ง พลังอาร์ต (Beyond Bliss) คุณคิดว่าศิลปะสามารถทำให้ผู้คนมีความสุขได้จริงไหม

     สำหรับฉัน งานศิลปะดีๆ ทำให้รู้สึกมีความสุขมากๆ ฉันไม่เคยอิจฉาที่ได้เห็นศิลปินคนอื่นทำงานดีๆ ออกมา ฉันจะรู้สึกมีความสุขมาก คำถามก็คืออะไรคืองานศิลปะที่ดี สำหรับฉัน งานศิลปะที่ดีคืองานที่เวลาที่คุณดูมัน คุณจะรู้สึกถึงพลังที่มองไม่เห็นบางอย่างอยู่เบื้องหลัง พลังที่ช่วยยกระดับจิตใจของคุณ เป็นงานที่เมื่อคุณได้ดูแล้วจะช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของคุณได้ นั่นคืองานศิลปะที่ดีสำหรับฉัน (ยิ้ม)

 


FYI

     ในวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เธอเพิ่งจัดการบรรยายและทำศิลปะแสดงสดที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์ เธียเตอร์ สยามพารากอน มาหมาดๆ ใครสนใจจะไปชมผลงานของเธอก็เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkartbiennale.com กันได้ตามอัธยาศัย

 

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ภาพ: จิราภรณ์​ อินทมาศ, ธนดิษ ศรียานงค์, Bangkok Art Biennale 2018