วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี สร้างผลกระทบกับบริษัท ผู้ประกอบการ และคนทำงานในระดับหนักหนาสาหัส บ้างก็เยียวยาตัวเองจนกลับมายืนไหว บ้างก็ต้องล้มหายตายจากไปอย่างน่าเห็นใจ วิกฤตที่ว่า จึงเป็นทั้งบทเรียนและบาดแผลที่ฝากไว้ให้จดจำกันไปชั่วชีวิต
แต่ในบรรดาผู้ประกอบการที่กลับมายืนไหวนั้น ส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญระดับชี้ขาดชะตากรรมเลยก็คือ การปรับตัวที่คล่องแคล่วว่องไว และหาน่านน้ำใหม่แห่งความเป็นไปได้ เพื่อขยายพื้นที่ในการเติบโต
CLASS Cafe ร้านกาแฟชื่อดังแห่งยุค ก็เป็นหนึ่งในนั้น เจอวิกฤต คิดให้เร็ว ปรับให้เร็ว เพื่อความอยู่รอด และไม่ใช่แค่ให้รอด แต่ต้องรอดแบบเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วย
จริงอยู่ เมื่อถูกถาโถมด้วยวิกฤตที่ชัดหมัดเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า การเอาตัวรอดคือเป้าหมายสำคัญ แต่บางครั้ง การเอาตัวรอดก็ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับตัวตนที่เราไม่อาจภูมิใจได้
จะอ่านบทสัมภาษณ์นี้ ในฐานะบทเรียน บาดแผล หรือกระทั่งคำสารภาพของเจ้าของกิจการ ก็ไม่มีอะไรติดขัด เพราะ ‘กอล์ฟ’ – มารุต ชุ่มขุนทด ก็พร้อมจะเล่าถึงประสบการณ์อันหนักหน่วงที่เคยผ่านมาเสมอ
จากร้านกาแฟสุดฮอต ที่เปิดสาขากันเป็นว่าเล่น เมื่อเจอวิกฤตโควิดกระแทกเข้าใส่ คุณกอล์ฟก็บอกว่าไล่ปิดสาขาเป็นว่าเล่นเลยเช่นกัน แน่นอนว่า ในฐานะซีอีโอเขาย่อมเสียความมั่นใจ
ที่เจ็บเข้าไปใหญ่ก็คือ ต้องยอมเซ็นใบลาออกให้ลูกน้องคนแล้วคนเล่า เพราะต้องปล่อยให้ทุกคนแยกย้ายในวันที่สภาพคล่องทางธุรกิจไม่เหมือนเดิม
แต่ท้ายที่สุด ด้วยการปรับตัวและเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม กอล์ฟ มารุต ก็เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้อย่างน่าสนใจ เขานำพาองค์กรฝ่าคลื่นลมมาได้จนเริ่มมองถึง business model ใหม่ในอนาคต ที่จะพา CLASS Cafe ไปสู่โลกเมตาเวิร์ส เราเริ่มได้ยินข่าวคราวการประกาศรับเงินเป็นเหรียญคริปโตในการใช้ซื้อสินค้าภายในร้าน และล่าสุด การออก CLASS coin เพื่อเป็นก้าวแรกในการลุยเมตาเวิร์สอย่างจริงจัง ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับดีเกินคาด เจ้าตัวถึงกับโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า คนอินบ็อกซ์เข้ามาถามกันเนืองแน่น ตอบไม่หวาดไม่ไหว และเฟซบุ๊กถึงกับปิดกั้นการโต้ตอบ อาจเพราะคิดว่าเจ้าของบัญชีถูกถล่มด้วยสแปม (ฮา)
และล่าสุด ขณะที่เรา publish บทสัมภาษณ์นี้ เขาและทีมงานจำนวนมากก็กำลังปลุกปั้น Velaverse โลกเมตาเวิร์สแห่งใหม่ เพื่อให้เผยโฉมภายในปีนี้
นี่อาจถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจน ของ CLASS Cafe ในการขยับตัวไปในทิศทางใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ จนดูเหมือนอะไรๆ ก็ดูจะเป็นไปได้ทั้งนั้นในจักรวาลแห่งดิจิทัล
เพราะถ้าไม่เชื่อในความเป็นไปได้ เขาคงไม่มายืนอยู่ในจุดนี้
ขณะเดียวกัน เราเชื่อว่า เรื่องราวและประสบการณ์ในโลกธุรกิจ ที่รับเงินจริงเจ็บจริงของเขา ก็ยังคงน่าเรียนรู้ ในวันที่วิกฤตยังไม่ผ่านไปง่ายๆ และการรับมือกับคลื่นของความเปลี่ยนแปลง ยังเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเรียนเป็นวิชาบังคับ
นี่จึงเป็นอีกบทสัมภาษณ์ที่เราอยากให้คุณใช้เวลาอ่านอย่างตั้งใจ
พอคุณออกข่าวไปว่า CLASS จะรับคริปโตฯ เลยกลายเป็นว่าจะไม่รับเงินสดแล้ว จากนั้นก็มีหลายสิ่งตามมา?
นั่นสิ (หัวเราะ) คือที่เราทำเรื่องนี้มันมีที่มาที่ไปครับ อย่างที่ทราบ CLASS จะเป็นแบรนด์ที่ผูกพันกับเมืองมาก แล้วโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นตอนแรกๆ มันเริ่มขึ้นที่โคราชทั้งเมืองเลย คือเรามาคิดกันว่าทำยังไงเราถึงจะขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยีได้ ทุกคนพูดเรื่องสมาร์ตซิตี้ แต่เราคิดว่าคำนี้มันเก่ามากละ แล้วด้วยความที่โคราชเป็นเมืองที่ CLASS มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ มันไม่ง่ายเลยที่เราจะทำอะไรขึ้นมาแล้วให้มันกลายเป็นสมาร์ตซิตี้ได้เลย เพราะเมืองมันใหญ่มาก ถ้าเทียบคือโคราชนี่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ประมาณ 30 เท่า ใหญ่กว่าภูเก็ต 50 เท่า ดังนั้น ถ้าจะทำให้เมืองมันเป็นสมาร์ตซิตี้ ทำอะไรเล็กๆ คงไม่ได้ผล ลงโปรเจกต์อะไรเล็กๆ ในโคราชนี่คือหายไปเลย ถ้ามีงบประมาณมาจุ๋มจิ๋มๆ มันจะจมลงไปในทะเลเลย ดังนั้น โปรเจกต์ที่จะส่งผลจริงๆ จะเป็นพวกเมกะโปรเจกต์ เช่น รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ อะไรแบบนั้น ทีนี้พอเราจะขับเคลื่อนเมืองให้มันเปลี่ยนจริงๆ เราก็ต้องคิดใหญ่ไปเลย แล้วผมได้รับการชวนจากผู้ว่าฯ โคราชให้ไปช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของเมือง เลยคิดเรื่องที่เราจะทำน้อยได้เยอะ เห็นผลเร็ว ก็คิดเรื่องสังคมที่ไม่ต้องใช้เงินสด หรือ Cashless ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาร์ตได้เลยโดยไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องมาของบประมาณอะไร มันเหมือนเริ่มต้นที่ตัวเราเอง คิดแล้วทำได้เลย ก็ลุกมาทำกันเลย เพราะมันทำได้ในเมืองของเรา ตอนนั้นก็ต้องวิ่งคุยกับทุกองค์กร ทุกมหาวิทยาลัย แล้วทุกฝ่ายก็รับลูกหมด เพราะมันคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ แต่เราก็เดินหน้าแบบมีกลยุทธ์นะ เช่น ต้องโฟกัสในจุดที่เล็กที่สุด เพื่อสร้างอิมแพ็กต์ให้มากที่สุดก่อน คิดแบบสตาร์ทอัพ เฟลก็เฟล ไม่เป็นไร แต่ต้องลองทำก่อน ดังนั้น จุดแรกที่เป็นไปได้เลยก็คือมหาวิทยาลัย เพราะมันเป็นชีวิตที่นักศึกษาเขาคุ้นแล้ว แล้วกลุ่มวัยรุ่นก็ adopt technology ได้เร็วสุด แม้แต่เด็กมัธยมก็คุ้นกับ Cashless แล้ว พ่อแม่โหลดเงินใส่การ์ดให้พกไปใช้จ่ายที่โรงเรียน แต่นอกเหนือจากนั้น ทุกคนก็ชินกับการใช้คนละครึ่งในแอพฯ เป๋าตังอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นโปรเจกต์ที่ทำได้ และค่อยๆ ให้ทุกคนจัดระบบหลังบ้านให้รองรับ Cashless คือที่เรามั่นใจว่าทำได้ เพราะเราเคยทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะโคราช สตรอง หรือ HackVax
คือที่คิดเรื่องใหญ่แบบนี้ เพราะเรารู้ว่าเมื่อไหร่ที่เมืองที่เราอยู่เดือดร้อน เราทุกคนก็เดือดร้อนหมด เช่น ตอนกราดยิงที่ห้างในโคราช ตอนโควิด-19 ทุกคนหยุดออกจากบ้าน หยุดจับจ่ายใช้สอย เราก็เดือดร้อน เราก็เจ๊ง ถ้ามีล็อกดาวน์เราก็เจ็บ ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น ด้วยการจัดระบบของพวกเราที่เข้าไปช่วยกันทำ มันจะแย่ไปกว่านี้ แต่พอคนฉีดวัคซีนเยอะขึ้น ความเชื่อมั่นก็เยอะขึ้น คนก็ออกมาจับจ่ายใช้สอย ร้านเราก็ขายดี ธุรกิจโดยรวมก็กลับมาดีขึ้น HackVax เป็นโมเดลที่สุดท้ายสถานีกลางบางซื่อก็ใช้ประโยชน์ได้ เพราะเราเปิด open source ให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดระบบไปใช้ได้ เพื่อฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง ดังนั้น เรารู้แล้วว่า แทนที่จะมานั่งรอ นั่งบ่นรัฐบาล เราลุกมาแก้ปัญหาบางอย่างได้นี่ ถ้าสังคมโดยรวมดี เราก็ดีไปด้วยกัน เราเก่งเรื่องการบริหารจัดการระบบ การออกแบบระบบ เราก็ทำสิ่งนั้น ดังนั้น เราเลยคิดเรื่องการสร้างระบบ Cashless กันทั้งเมืองไปเลย เพราะเรารู้ว่ามันมีประโยชน์ยังไง คนไม่ต้องถือเงินสด อาชญากรรมลดลง นี่สถิติจริงนะ เมืองไหนมีระบบ Cashless อาชญากรรมลดลงกว่า 20% เลย ร้านค้าไม่ต้องกังวลกับเรื่องเงินหาย พนักงานไม่ต้องมาหยิบจับเงิน ปิดร้านแล้วไม่ต้องมานั่งเคลียร์เงินกว่าจะกลับบ้านก็ดึก เป็นต้น นี่เป็นแค่โปรเจกต์แรกที่เราช่วยกันพัฒนาเมือง ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องช่วยกันทำต่อไปอีก
ทีนี้เรื่องคริปโตฯ มันต่อเนื่องมาอีก เพราะเรามีประสบการณ์การสร้างสเปซ สนับสนุนกระบวนการที่สร้างสรรค์ต่างๆ มานาน เช่น ทำ hackhaton กับมหาวิทยาลัยมากมาย เราใช้ชีวิตอยู่กับน้องๆ ในมหาวิทยาลัยเยอะ เห็นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์บนโคเวิร์กกิ้งสเปซที่เรามีมาตลอด ล่าสุด น้องๆ ไปถึงขั้นเทรดคริปโตฯ กันเป็นเรื่องปกติ เราจึงเชื่อในเรื่องของดิจิทัลมากๆ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือการเข้าสู่เมตาเวิร์สเลย ซึ่งเรากำลังปลุกปั้น Velaverse อยู่ แต่เราจะทำไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจบล็อกเชน ไม่มีคริปโตฯ เพราะเมตาเวิร์สมันก็คือเรื่องของ VR + บล็อกเชน ดังนั้น ถ้าเราอยากเข้าสู่เมตาเวิร์ส หรือทำให้เมืองเป็นพื้นที่พิเศษในอนาคต เราก็ต้องเข้าสู่โลกของบล็อกเชน คริปโตฯ แล้วถ้าพัฒนาไปให้ถึงที่สุด มันจะกลับมาตอบโจทย์ธุรกิจเราในหลายๆ เรื่องเลย โดยเฉพาะการสร้างงานให้กับนักเรียน นักศึกษา โดยที่เขาไม่ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ อีกต่อไป ที่สำคัญ เด็กๆ พวกนี้ต้องการมีพื้นที่ ที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เขาอยากมี sandbox ที่เขาทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ของเขา นี่คือสิ่งที่ผมได้จากโฟกัสกรุ๊ปของน้องๆ ที่มาใช้พื้นที่ของ CLASS นะครับ ดังนั้น เราจึงคิดถึงการสร้าง sandbox ในโลกเสมือนให้กับเขา เราแทบจะดึงเด็กรุ่นใหม่มาสู่โลกนี้ได้ทั้งประเทศเลยนะ แล้วมันจะเกิดการพัฒนาต่อไปอีกมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องสตาร์ทอัพ หรือการทำธุรกิจต่างๆ เพราะเราเตรียมทุกสิ่งเพื่อส่งเสริมให้เขาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ครบ นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อไปในปี 2565 ซึ่งคริปโตฯ เป็นก้าวแรก เท่านั้น Velaverse คือก้าวต่อไป
เท่าที่สังเกตมา ทุกคนก็จะมองว่า CLASS Cafe มักจะมีการปรับเปลี่ยนที่เร็ว นำหน้าคนอื่น อยากให้ลองสรุปว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อะไรคือเรื่องที่คุณทำไปบ้าง เอาเรื่องที่คุณคิดว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เร็ว นำคนอื่น
คือจะว่าไป เราทำเรื่องแบบนี้มาตลอดเลยนะ เรียกว่าตั้งแต่สร้าง CLASS Cafe ขึ้นมาเลย ถ้าไล่มาก็ตั้งแต่เรื่องแอพพลิเคชันของเราที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าในการสั่งกาแฟ เรื่องกัญชา เรื่องรถพุ่มพวงหรือ CLASS พุ่มพวง ที่เราทำเป็นคนแรก ตอนที่เกิดวิกฤตโควิดช่วงแรกๆ ที่เราเห็นคนทำน้ำส้มบรรจุขวดขายกันเต็มเมือง ก็ CLASS นี่แหละที่ทำเรื่องน้ำส้มบรรจุขวด เพื่อหารายได้เข้าร้านในตอนนั้น คือสิ่งเหล่านี้ เราต้องกลับมาคิดในฐานที่เราเป็นสตาร์ทอัพหรือเป็นปลาเล็ก ดังนั้น เราต้องเร็วมาก และเราต้องกล้าเสี่ยง ถ้าเราไม่ลองเสี่ยง หรือห่วงแต่การคิดช้าๆ คิดชัวร์ๆ เราก็จะกลายเป็นปลาใหญ่ที่อุ้ยอ้าย ถ้าเปรียบการแข่งขันในอุตสาหกรรมวันนี้ ต้องบอกว่า เราแข่งกับยักษ์นะครับ ยักษ์มีทุกอย่าง ยักษ์ดีดนิ้วแล้วทำทุกอย่างได้เลย แปลว่าเราเองจะต้องคิดแล้วทำเลย ทำให้เร็ว เพราะยักษ์เขามีทั้งสเกล เงิน พลัง รวมถึงคนเก่งๆ อยู่ในบริษัท เรามีไอเดียเราต้องลงมือทำแล้วเราต้องกล้าตัดสินใจ
อย่างตอนแรกช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ ร้านกาแฟทุกสาขาของเราทั้งหมดได้รับผลกระทบ ผมตัดสินใจปิดสาขากรุงเทพฯ ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ภายใน 15 วัน เรียกว่าทั้งหมด 10 กว่าสาขาปิดหมดเลย ย้ายของกลับบ้านที่โคราช เพราะว่าเรากังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน เหมือนกับที่ร้านเชนใหญ่ๆ ก็โดนหมด คือตอนนั้น เรียกว่าสาขาในกรุงเทพฯ ไม่มีเลยนะ เป็นศูนย์
ปิดในที่นี้คือขนของในร้านกลับหมดเลยน่ะเหรอ?
ขนของขึ้นรถสิบล้อเลย หลายแห่งก็คืนพื้นที่เลย แต่บางแห่งอาจจะแค่ปิดร้าน แต่ยังไม่คืน เช่น สาขาสยาม พอคลายล็อกดาวน์ก็เริ่มมาเปิดอีกครั้ง แต่ที่เหลือคือปิด
ตอนนี้เหลือกี่สาขา
เหลือที่สยามที่เดียว ความเป็นปลาเล็กต้องหนีเร็ว แล้วก็ต้องเปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง เปลี่ยนจุดอ่อนก็คือความมีสาขาน้อยของเรา ให้กลายเป็นสาขาที่เป็นดิจิทัลทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็น Cashless ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ และต่อไปก็จะเป็นคริปโตทั้งหมดด้วยเช่นกัน
ถามอีกมุมหนึ่ง คุณไม่คิดเหรอว่าแล้วพอทุกอย่างผ่านไปแล้ว เมื่อคนเรากลับมาใช้ชีวิตปกติ จะไม่เสียดายที่ปิดสาขาไปเหรอ
ผมก็เจ็บปวดนะ รู้สึก lost นะ แต่มันทำให้เราอยู่รอด สาขาเราน้อยลง แต่กลายเป็นว่ายอดขายเราโตขึ้นนะ 2 ปีที่ผ่านมา สรุปว่ายอดขายโตขึ้น ปีที่ผ่านมารวมบริษัทลูกด้วยก็มีรายได้อยู่ประมาณ 85 ล้านบาท เหมือนเราตัดจุดที่อ่อนแอออก เหลือแค่จุดที่แข็งแรงหมดแล้วก็โตขึ้น คิดดูว่าสาขาหายไปครึ่งหนึ่งแต่ยอดขายโตขึ้นได้น่ะ ซึ่งมันเกิดจากการที่เราโฟกัสสาขาที่แข็งแรงแล้วก็ปรับ business model
ก็คือแม้จะมีสาขาเดียว แต่ขอให้แข็งแรงดีกว่า
สมมติยอดขายเฉลี่ยสาขาละหมื่นบาท มี 6 สาขา ก็ 6 หมื่น แต่ถ้าเกิดเราปิดหมดแล้วโฟกัสที่สาขาเดียวให้ได้ 6 หมื่น มันก็ดีกว่า ผมเลยคิดว่าเราต้องโฟกัสร้านที่แข็งแรงจริงๆ โฟกัสจุดที่เล็กที่สุดที่จะสร้างอิมแพ็กต์ให้ได้มากที่สุด นี่คือการเปลี่ยนวิธีการคิด แล้วเอาจริงๆ ทุกสาขาที่ปิดไป เราก็ตัดสินใจแล้วว่ามันโตได้แค่นี้ มันไม่โตไปกว่าที่เห็นแล้ว อีกอย่าง เราก็เจอ business model ใหม่ด้วยในตอนนั้น นั่นคือ ถึงเราจะปิดไปหลายสาขา แต่เราก็เปิดใหม่ด้วยเช่นกัน แต่เราเปิดร้านเป็นแบบ 24 ชั่วโมง และต้องเป็นสาขาใหญ่เกิน 700 ตารางเมตร หรือพวก stand alone เราเจอว่า นี่คือสิ่งที่เราถนัด เช่น เปิดที่ ม.ขอนแก่น สาขาหน้าย่าโมที่โคราชก็เปิดใหม่ ที่ ม.มหิดล ศาลายา ก็เปิดใหม่ พอเราเจอทางที่เราถนัดแล้ว ตอนนี้เราก็แค่วิ่งเปิดสาขาหลังจากนี้
พูดได้ว่า นับจากวันนี้ที่เราจะได้เห็นคือ CLASS Cafe จะอยู่เป็น stand alone มากขึ้น นำด้วยดิจิทัลและจะไปในทิศทางของ cashless และคริปโตฯ
แต่ข้างในมีอีกหลาย BU นะ ช่วงกัญชาบูมมากๆ เราก็ทำเขาใหญ่ คาล์ม (Khaoyai Calm) ที่เป็นแฟรนไชส์ของ CLASS เราได้ทลายข้อจำกัดของ CLASS ตรงที่ไม่ต้องทำสาขาใหญ่ๆ ก็ได้ เพราะเขาใหญ่ คาล์ม เป็นสาขาเล็กๆ ขนาด 1 ห้องแถวก็ทำได้ ขายกาแฟ CLASS ทั้งหมด แล้วก็ขายกัญชาอยู่ในนั้น แล้วก็กลุ่มน้ำผลไม้ที่เกิดมาช่วงโควิด Cold-pressed ที่อยู่เต็มตู้ก็เป็น new business เลยนะ
จากที่ตอนแรกจะแก้ปัญหาเรื่องเงินสดเข้าร้าน
ปรากฏว่ากลายเป็นอนาคตของเราไปเลย ต่อไปเราจะขายน้ำผลไม้บรรจุขวดอยู่หน้าซูเปอร์มาร์เกต คือย้อนกลับไปตอนทำน้ำส้มขาย คือเราเป็นคนแรกที่เริ่มเรื่องนี้ แล้วก็บอกให้ทุกคนทำนะ คือจะบอกว่าเวลามีไอเดียทุกครั้ง ผมจะบอกคนอื่น เช่น เล่าให้ทุกคนฟังว่าทำน้ำส้มแล้วรอดนะ ร้านกาแฟมาทำน้ำส้มกันให้หมดเถอะ แล้วทำกันทั้งประเทศเลย นี่คือข้อดีของการคิดแบบนี้ครับ ถ้าคิดคนเดียวแล้วทำคนเดียวมันจะไม่เกิดเทรนด์ แต่พอคิดพร้อมกันและบอกทุกคนให้ทำพร้อมกันทั้งหมด มันจะเกิดเทรนด์ใหม่เกิดขึ้น แล้วเราเป็นลีดเดอร์ เวลาคิดอะไรได้ ผมจะใช้วิธี Open Source เพราะเชื่อว่า คิดอะไรได้ก็ตาม อย่าเก็บไว้คนเดียว โลกนี้ไม่ใช่โลกของสมัยก่อนที่ฉันทำได้คนเดียวเป็นความลับ โลกนี้เป็นโลกของการ Open Source ฉันทำอะไรได้ฉันบอกทุกคนแล้วช่วยกันทำ เป็นโลกแห่งความแบ่งปัน มันคือ Sharing Economy
คำถามคือว่าคุณเป็นลักษณะนี้จริงๆ ใช่มั้ย คือแชร์วิธีคิดไม่หวงวิชา สมมติคิดอะไรได้ เราจะเห็นโพสต์เลยทันที อันนี้คือมาจากความเชื่อว่าทุกอย่างต้องเปิดให้คนอื่นเอาไปใช้ได้?
ใช่ ทุกอย่างต้องเปิด แล้วคนอื่นต้องเอาไปใช้ได้ คือถ้าคิดมาแล้วคนเดียวใช้ เปลืองไง อุตส่าห์คิดได้ ถ้าเกิดคิดได้แล้วคนทั้งประเทศเอาไอเดียเราไปใช้พร้อมกัน มันมี value ทางความคิดมากๆ นะ อย่างเรื่อง HackVax Korat (โมเดลการจัดระบบฉีดวัคซีนของชาวโคราช ที่ทำได้ดีจนได้รับคำชื่นชมอย่างมากมาย) ดีไซน์เสร็จ แล้วปรบมือทำกันเองก็จบ แต่ถ้ากลับกัน ให้ทุกคนดาวน์โหลดได้ฟรี ใครอยากได้กราฟิกนี้ไปใช้ เอาดีไซน์นี้ไปใช้ก็ได้เลย ก็เปิดแชร์ไดรฟ์ ทุกคนโหลดไปใช้ได้เลย
จะบอกว่า นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวมากๆ ที่ทำอะไรทุกอย่างก็จะบอกคนอื่นด้วย คือที่ CLASS ไม่มีความลับ คุณค่าของ CLASS อยู่ที่คนคิด คุณค่าของ CLASS ไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ จริงๆ ที่เป็นอย่างนี้ อาจจะเกิดขึ้นจากการที่โดนลอกบ่อยๆ ก็ได้นะ เวลาคิดอะไรมา ก็มีคนชอบก๊อบปี้กัน เราก็เลยบอกว่าความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่การลอก แต่ความสำคัญมันคืออยู่ที่คนที่คิดอะไรได้เรื่อยๆ ตลอดเวลาต่างหาก
ก็เลยไม่สนใจว่าใครจะเอาอะไรไปทำ เพราะว่าไอเดียมันจะมาเรื่อยๆ แบบนั้นมั้ย
ไม่สน เดี๋ยวไอเดียมันก็มาอีก วันนี้เดินไปชนอะไรก็คิดใหม่ได้ตลอด อย่าไปแคร์ ผมคิดอะไรได้ ผมก็เลยโพสต์บอกไง แล้วภูมิใจด้วยนะครับที่แปะไว้แบบนั้น คิดอะไรออกก็จะแปะไว้ว่าฝากมาดูหน่อยสิ เผื่อใครเอาไปทำได้ เพราะเราคิดมาแล้วว่าเราทำไม่ได้ว่ะเรื่องนี้ เช่น เคยโพสต์ถามว่า ทำไมไม่เอาพลาสติกไปทำอิฐบล็อกวะ โอเค พลาสติกคือสิ่งที่เราอยากให้มันสลายตัว แต่ถ้าบ้านเป็นพลาสติกมันก็จะอยู่ตลอดไปหรือเปล่า คือผมชอบคิดน่ะ คิดแล้วหาคนช่วยเอาความคิดเราไปทำที
คิดว่าความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลายของคุณมาจากไหน
ผมเป็นคนคิดบวก คิดสร้างสรรค์ตลอด แล้วก็ไม่ได้กังวล ไม่ได้คิดลบ ไม่ได้ปิดตัวเอง ความคิดมันก็จะเข้ามาตลอด แล้วก็เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกับทุกคน เวลาคนมาคุยกับผม เขาก็จะแลกเปลี่ยนกันเพราะผมไม่กั๊กไง คือคุยกันแล้วก็ไม่กั๊ก คุยเสร็จก็เออ ช่วยเอาไปทำหน่อย
ไม่กั๊กแล้วก็ไม่กลัวโดนก๊อป
ไม่กลัว แล้วยิ่งเราสร้างสรรค์เราจะคิดได้เรื่อยๆ นะ ยิ่งเราสร้างสรรค์แล้วเราจะเป็นคนคิดไว
ไม่เสียดายเหรอที่คนนั้นเอาไปทำ ไม่คิดเหรอว่าน่าจะเป็นเรานะ ไม่มี?
มันหมดแล้วนะ ยุคที่ทำจานเซรามิกได้แล้วไปฝังในสุสานน่ะ จริงๆ พวกเราพัฒนาได้มากกว่านี้ถ้าเราคิดแบบเปิด จริงๆ เซรามิกนี่คือสิ่งที่เอามาทำไมโครชิปนะครับ แล้วจะว่าไป โลกนี้น่าจะคิดไมโครชิปได้ตั้งแต่ยุคจีนโบราณแล้วนะ แต่ตอนนั้นคนเราคิดอะไรได้แล้วก็เก็บเป็นความลับ ฝังให้ตายไปกับฉันด้วย เช่น ความลับของการเผาเซรามิกของแต่ละบ้านในจีนก็ไม่เหมือนกันนะ แล้วกลายเป็นว่าพอฝังความลับให้ตายไปพร้อมคน พอคนใหม่จะคิด ก็ต้องมาคิดใหม่ มาเริ่มใหม่ มันไม่เกิดการทำอะไรที่เป็นออนท็อปหรือต่อยอดน่ะ ถ้าคนเรามันออนท็อปเรื่อยๆ มันจะพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น ต่อกันได้สูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเกิดอยู่ดีๆ หวงกั๊ก มันก็อยู่แค่นี้
ในฐานะที่คุณเป็นซีอีโอ เราเห็นวิธีการแก้ปัญหา วิธีการคิด วิธีการสร้างอะไรใหม่ๆ อยากถามว่าถ้าจะต้องสอนวิชาซีอีโอกับเด็กรุ่นใหม่หรือใครก็ตาม จะสอนเรื่องอะไร
ตอนที่เป็นสตาร์ทอัพ ทุกคนบอกว่าสตาร์ทอัพที่เจ๋งคือ business model ต้องเฉียบ ทุกคนพูดอย่างนี้ แต่พอโดนโควิดไปเละเทะหมด บริษัทที่รอดมาได้คือคนที่ซีอีโอมันเจ๋ง ไม่ใช่คนที่ business model มันเจ๋ง เพราะ business model มันพร้อมที่จะพังไปตลอดเวลา ต่อให้จะ pivot (เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ) ได้ก็ต่อเมื่อคนมันเจ๋ง โลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ เวลาเราจะลงทุนในสตาร์ทอัพคนไหน บอกเลยว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการตัดสินใจลงทุนคือในตัวซีอีโอ ไม่ใช่ business plan เพราะแผนมันหลอกได้ เขียนใหม่ได้ตลอด
ถ้าอย่างนั้น ซีอีโอที่ดีต้องเป็นอย่างไร
ซีอีโอต้องเก่ง หลายครั้งที่เราคิดว่าทำไมไอ้คนนี้มันคิดออกวะ เวลาจะเข้าสู่ทางตันเมื่อไหร่ ซีอีโอสำคัญมากนะครับ คนเป็นซีอีโอต้องคิดว่ามีคนที่เขาฝากชีวิตไว้กับเรา แล้วเราต้องไม่พาเขาเดินเข้าสู่ทางตัน เราถึงจะเป็นคนที่เป็นผู้นำที่เก่ง
ดังนั้น คุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้นำที่เก่งคือ?
ความสร้างสรรค์ การไม่ยอมแพ้ การไม่โทษคนอื่น มันเป็นคาแรกเตอร์เฉพาะของซีอีโอเลย เช่น ลูกน้องชงกาแฟเสีย ก็ต้องคิดว่าเราสอนเขาไม่ดี ลูกน้องขโมยเงิน ก็เราเองแหละที่ออกแบบระบบไม่ดี อันนี้คือสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของเรา ความเป็นซีอีโอจะไม่มีตรงไหนเลยที่จะคอยหาข้ออ้างให้ตัวเองไปวันๆ ว่ามันไม่ดีเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องคิดได้ทันทีว่า แล้วเราจะเปลี่ยนวิธีคิดยังไงได้บ้าง ตรงนี้แหละคือความเป็นผู้นำด้วย
และผู้นำที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำที่ไม่ได้บอกว่า อ๋อ โปรเจกต์นี้มันเฟลเพราะน้องคนนี้แหละ อ้าว แล้วใครเลือกมันมาทำ ก็ซีอีโอนี่แหละที่เป็นเจ้าของเรื่องทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ความเฉียบคม ความเป็นลีดเดอร์ชิปของซีอีโอ คือคุณค่าที่สูงที่สุดของบริษัท เพราะถ้าทีมไม่เหลืออะไรแล้ว บริษัทไม่เหลืออะไรแล้วโดนดิสรัปต์หมด แต่ถ้าซีอีโอเก่งมันจะหมุนออกจากมุมได้เสมอเลย
อยากให้คนจดจำ CLASS ว่าเป็นบริษัทอะไร มีคาแรกเตอร์ยังไง
แบรนด์ของ CLASS เราตั้งใจทำเพื่อให้เป็นคลังสร้างสรรค์ของคนในทุกๆ วัน การมาที่ CLASS ก็คือมาเก็บความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งพลังในการ moving forward นี่คือแบรนด์เลยนะครับ เพราะฉะนั้น เราชัดเจนนะ เราไม่ได้ขายแค่กาแฟ แบรนด์ CLASS เป็น inspiration ให้คนมีพลังในการก้าวไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น ตัวเราเองก็ทำหน้าที่นั้นเหมือนกันในแต่ละวัน ถ้าจะมาคิดลบมันก็ไม่ใช่เรา มันไม่ใช่แบรนด์เรา คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเมื่อไหร่ตัวเองไม่สร้างสรรค์ก็จะเริ่มรู้ตัวแล้ว ไม่สร้างสรรค์แล้วว่ะ เริ่มเครียดเกินไปแล้ว
สรุปบทเรียนปีที่ผ่านๆ มานิดหนึ่งได้ไหม คุณรู้สึกว่ามันสอนอะไรบ้าง แล้วก็อยากให้มองไปข้างหน้าหน่อย ทั้งเรื่องเทคฯ และเรื่องอื่นๆ
บทเรียนคือเรื่องความเป็นผู้นำนี่แหละครับ จะบอกว่า มีหลายเรื่องที่เราทำแล้วเราไม่ชอบ แล้วไม่ได้ภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน การบริหารคน การเสียพนักงานไปช่วงปิดร้าน ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะยื้อ พนักงานต้องอยู่กับเรา สมัยนี้กลายเป็นว่าคนลาออกกันโคตรเยอะเลย ผมก็เสียความมั่นใจมาก แต่ตอนหลังคิดว่า มันเป็นการลาออกครั้งใหญ่ของคนจำนวนมากในสังคมน่ะ ทั้งๆ ที่ปกติเราเป็นบริษัทที่มีอัตราการลาออกจากงานต่ำมากนะ แต่พอมาถึงตอนนี้เราเริ่มรู้สึกแล้วว่าเราไม่เสียเวลากับเรื่องพวกนี้แล้ว ไม่เสียเวลากับการดึงใครไว้ เพราะสุดท้ายเราเรียนรู้ว่า ถ้าเขาจะไป เขาก็ต้องไป คนที่หมดรักในองค์กรแล้วก็ต้องปล่อยเขาให้ออกไป อันนี้คือเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบนะ แล้วก็เจ็บปวดในฐานะที่เป็นผู้นำ โคตรเจ็บปวดเลยแต่ก็ต้องยอมรับ เมื่อก่อนอาจจะคิดมาก โทษตัวเองว่าเราทำอะไรผิดหรือเปล่าวะ แต่ตอนนี้มันเจอกันทั้งอุตสาหกรรม ไม่ต้องคิดมากละ ถ้าเขาจะออก เขาก็ออก
คิดว่าแล้วบริษัทจะรักษาคนเอาไว้ด้วยปัจจัยอะไรในอนาคต
ต้องเริ่มสร้างใหม่ สร้างคนใหม่แล้วก็สร้าง engagement ใหม่ มันต้องลุกมาทำใหม่ ไม่มีใครผิดเลย การสูญเสียคน ณ วันนี้ ไม่ใช่เป็นเหมือนแต่ก่อนนะที่บริษัทคนลาออกเยอะอาจจะดูมีปัญหาหรือเปล่า วันนี้มันมีปัจจัยอื่นด้วย บริษัทดียังไงเขาก็ต้องการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาไม่อยากทนอยู่กับวิกฤตที่ยาวนานขนาด 2 ปี มันไม่มีมนุษย์คนไหนทนได้นะ นอกจากภาวะสงคราม ซึ่งสงครามมันจะยาวนานแบบนี้เลย ดูอย่างสงครามโลกครั้งที่สองสิ ลากยาวเป็นปีๆ แบบนี้แหละ คล้ายๆ กัน แล้วเรื่องแบบนี้ก็จะเปลี่ยนคนโดยสิ้นเชิง อย่างผมเนี่ย มันทำให้เราตัดใจได้เยอะมาก เช่น บางสาขาที่เพิ่งเปิดก็ต้องปิดลงไป ทำร้านไปเดือนหนึ่ง เปิดใช้ไป 15 วันต้องปิดแล้ว ผมโคตรเสียความมั่นใจเลยนะ บอกตรงๆ
ความมั่นใจมันหายไปหมดเลย จากคนที่เดี๋ยวๆ ก็เปิดร้าน เดี๋ยวนี้คิดแล้วคิดอีก เวฟใหม่มาจะอยู่ได้ไหม ต้องนั่งคิด หมุนเงินแล้วหมุนเงินอีก เงินลงไปปุ๊บคืนเลยหรือเปล่า หรือรออีก 2 เดือน ไม่อยากรอแล้วนะ รอไม่ไหวแล้ว ร้อนเงิน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องคิด แล้วเราก็ไม่ได้ชอบสถานการณ์แบบนี้แต่มันถูกทำให้เป็นอย่างนั้น ณ เวลาแบบนี้
จะบอกว่าโควิดที่ผ่านมาทำให้ตัดใจเรื่องพวกนี้?
ทำให้เราต้องตัดสินใจในเรื่องที่เราไม่ได้ภูมิใจกับมัน บางครั้งพนักงานเรา เราก็อยากช่วยสุดชีวิตเลย ติดโควิดเหรอ เราก็ช่วยส่งข้าวส่งน้ำ สักพักหนึ่งลาออก เออ ยังไงวะเนี่ย เราช่วยจนแทบจะอุ้มไปโรงพยาบาลอยู่แล้ว แล้วมีอีกหลายครั้งหลายเรื่องก็ทำให้เราตัดสินใจยาก เช่น บางคนยังไงก็ต้องให้ออก เช่น แม่เขาเสียจากโควิด ปกติแทบจะช่วยให้เขามีงานมีการทำต่อ แต่บางทีเราก็ต้องตัด เพราะว่าพนักงานคนอื่นก็ต้องมั่นใจว่าบริษัทนี้ปลอดภัยในการทำงานต่อ เพราะพนักงานคนนี้เป็นคนที่ทำให้พวกเขาติด อันนี้ยกตัวอย่างนะ คือมันเป็นเรื่องยากต่อการตัดสินใจ มันไม่ได้ตัดสินใจบนแนวความคิดของซีอีโอที่ควรจะเป็น แต่มันเป็นการเอาตัวรอดให้เราเอาตัวรอดก่อน มีนะบางทีหมุนเงินไม่ทัน ช่วงโควิดมีชอร์ตกันสะบั้นเลย เจ้าหนี้โทร.มาคุย คุยไปสักพัก ผมถามเลย ‘พี่ครับ สถานการณ์นี้มีแค่ผมเป็นคนเดียวหรือเปล่า ผมหาเงินมาจ่ายได้แหละ แต่อยากรู้ว่าเป็นผมคนเดียวหรือเปล่า’ เขาก็ขำนะ ‘เออว่ะ มันเป็นทุกคนเลย พี่ก็ทวงทุกคน’ ผมเลยบอกไปว่า ‘งั้นเอาอย่างนี้ เรามาช่วยกันดีกว่านะพี่ คือแทนที่จะบีบให้เราตายแล้วไปหาคนใหม่มาเช่าที่ตรงนี้ ซึ่งก็ไปหาคนใหม่ไม่ได้หรอก ติดป้ายเช่าไปก็ซวยเปล่าๆ แต่ถ้าช่วยให้เรารอด เรายังมีแรงจ่ายค่าเช่าไง’ แลนด์ลอร์ดบางคนน่ารัก พอเข้าสู่โควิด รู้ว่าล็อกดาวน์เขาลดค่าเช่าให้ 50 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ในบางเรื่องเราก็ต้องเห็นแก่ตัวเพื่อให้บริษัทเรารอดก่อน
ถ้าอย่างนั้น อะไรที่ทำให้รอด
ความเห็นแก่ตัวในบางเรื่อง คือเอาตัวเองให้รอดก่อน นี่คือสิ่งที่ผมพูดว่าผมไม่ได้ภูมิใจในการเป็นซีอีโอในภาวะวิกฤตนี้ เพราะแต่ก่อนนี้ CLASS ใจดีที่สุด ตอนนี้ CLASS ต้องรอดก่อนแล้วถึงจะช่วยคนอื่นได้
ความเห็นแก่ตัวนี้มันเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง หรือเรื่องนี้ไม่สะดวกจะพูด อันนี้บอกได้นะ
อยากแชร์เรื่องนี้เหมือนกัน เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องบันทึกไว้ ว่าเราผ่านโควิดมาได้ยังไง แน่นอนว่าการที่ช่วยคนอื่นก่อนที่จะช่วยให้ตัวเองรอดแบบสมัยก่อนมันไม่ใช่ไม่ดีนะ มันโอเคแหละ เช่น ไปเปิดสาขาร่วมกับคนโน้นคนนี้ บางครั้งเขาเอากาแฟไปเป็นกิมมิกเฉยๆ แล้วเราก็ไปเปิดคู่กับเขาให้ภาพลักษณ์ดี เราคิดว่าเท่ แต่มันไม่ได้เงินไง ทุกวันนี้เวลาคุยกันต้องบอกว่า พี่ แล้วผมจะได้เงินยังไง
พูดง่ายๆ ว่าตรงไปตรงมา Business Talk เลยแล้วกัน
ใช่ Business Talk เลย พี่ทำยังไงผมจะได้เงิน ถ้าเราได้เงินแล้วเราทำ ถ้าไม่ได้เงินเราคงต้องขอไว้ก่อน แต่ถ้าสมัยก่อนทำเลยนะ แล้วเดี๋ยวว่ากัน แต่เดี๋ยวนี้เหรอ ถามเรื่องเงินก่อนว่ะ เพราะผมมีเงินจำกัด ก็ต้องแบบนี้ เพราะฉะนั้น คนที่รอดมาจากสงครามมันถึงเป็นคนเห็นแก่ตัวไง นี่คือความจริงและเป็นความแกร่งในขณะเดียวกัน เวลาเราไปประเทศบางประเทศเพื่อไปหากาแฟมาขาย ผมจะคิดว่าทำไมคนเขาขโมยผ้าห่ม ขโมยไอ้นั่นไอ้นี่ใส่กระเป๋า พอได้คุยกับคนที่รู้ ก็เลยรู้ว่าเพราะเขาเป็นประเทศที่เจอแต่สงคราม เขาต้องเอาตัวรอด ซึ่งวันนี้เราเห็นในช่วงของโควิด แล้วเราก็ต้องเป็นโหมดเอาตัวรอดเหมือนกัน
ก็คือเรื่องธุรกิจมาก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจมันรอด
เชื่อมั้ย วันนี้ไม่มีใครใส่ใจสิ่งแวดล้อมเลยจะบอกให้ ก่อนโควิดทุกคนไม่เอาถุง ไม่เอาแก้วพลาสติก ช่วงโควิดพังหมด ร้านต้องเน้นให้เดลิเวอรีสมบูรณ์ที่สุด ขายเดลิเวอรีให้ได้มากที่สุด ขายแพ็กเกจจิ้งให้เปิดมาสวยที่สุด กล่องเล็กกล่องน้อย พลาสติกเต็มไปหมด วันนี้ลองเข้าร้านสะดวกซื้อสิ ถุงมาอย่างเร็วเพราะกลัวขายไม่ได้ ใครที่โวยวายว่าเขาช่วงก่อนโควิด กล้าว่าเขาไหม ก็เขาต้องรอด ร้านเขาต้องขายของจำนวนมากขึ้น แล้วถ้าคนซื้อลืมเอาถุงมา ก็ต้องให้ถุงเขาจะได้สะดวก ผมเคยเจอนะ มีคนหยิบของมา 10 ชิ้น ลืมเอาถุงมา เขาก็เลยเอาชิ้นเดียวก่อน เพราะถือไม่ไหว วันนี้ถ้าร้านเจอแบบนี้ อ๋อ ได้ค่ะ หยิบถุงมาอย่างไว …พรึ่บ นี่ไง ขอเอาตัวรอดก่อน อย่างอื่นเอาไว้ทีหลัง เป็นความจริงที่เจ็บปวดมั้ย ก่อนโควิด ร้านผมใช้แก้วกระดาษรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ต้องใช้พลาสติกแล้วจริงๆ เพราะต้นทุนต่ำกว่ากันครึ่งหนึ่ง ต้นทุนบาทหนึ่งก็สำคัญเพราะว่าวันนี้ขายผ่านเดลิเวอรีลดแล้วไม่พอ โดน GP อีก GP ไม่พอ เจอจัดโปรฯ 1 แถม 1 อีก โห แล้วจะเหลือกำไรตรงไหน ยิ่งทำยิ่งจน อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะจริงๆ เลยตอนนี้ แล้วเราต้องยอมรับความจริงในบางเรื่อง มันเป็นความจริงที่ผมกล้าบอกว่ามันไม่ได้น่าภูมิใจ วันนี้เราต้องรอดก่อน ต้องลดต้นทุนให้หมด ในโหมดแค่เอาตัวรอดให้ได้เนี่ย วิธีคิดมันแย่อยู่แล้ว มันเป็นกันทุกคน แต่ถ้าทุกอย่างกลับมาปกติ ผมอยากให้ทุกคนตระหนัก แล้วรีบกลับมาเป็นตัวตนเดิมที่เคยเป็นให้เร็วที่สุด กลับมาให้เหมือนก่อนโควิดให้ได้ หาจุดเดิมที่เราเป็นคนนิสัยดีอย่างแต่ก่อนให้ได้ ผมนี่นะ เคยเป็นคนรักโลกอันดับต้นๆ เลย รักสิ่งแวดล้อม ทำทุกอย่างเพื่อให้โลกนี้ดี ใจดีเลย แบรนด์ไหนอยากให้ช่วยอะไร ช่วยหมด
แทบจะเป็นการกุศลอยู่แล้ว
ใช่ๆ อันนี้ผมอยากแชร์นะ แม้มันจะเป็นสิ่งที่ไม่ภูมิใจหรอก นี่คือสิ่งที่ผมจะเล่าว่า ผมได้มาจากนักธุรกิจรุ่นพ่อทุกคนที่ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มา คือตอนที่ผมสิ้นหวัง จนมุม ไม่มีเงินจ่ายใครแล้วตอนเจอวิกฤตโควิดช่วงแรกๆ เวลาที่มีโอกาสไปร่วมสัมมนากับนักธุรกิจรุ่นใหญ่ๆ ผมจะเข้าไปถามเขาเลย พี่ทำยังไงถึงรอดมาจากปี 2540 เขาก็บอกว่าเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกใจที่สุด ไม่ภูมิใจที่จะมาเล่าด้วยซ้ำ และบางทีก็เล่าไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้ววิกฤตปี 2540 ตอนนั้นมันมีระยะเวลาที่สั้นกว่านี้มากเลยนะ นี่ผ่านกันมา 2 ปี นักธุรกิจบางคนตัวตนเขาหายหมดแล้ว เคยคิดจะทำอะไรเพื่อคนอื่น ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว บางคนโทร.มายืมเงิน โทร.มาขอให้ช่วย โทร.มาปรึกษาจะไปยืมเงินใครยังไงก็มี ผมก็บอกเลย ถ้าจำเป็นต้องตัด ตัดเลยน้อง ไม่ต้องลังเล ปิดให้เร็ว แล้วจะไม่เจ๊งมาก ที่เราเห็นบริษัทมา merge กัน จริงๆ มันมีคนเจ๊งในสมการทุกสมการนะ มันจะมีใครที่ทำบริษัทแล้วอยากขายบ้าง ไม่มี ถ้าบริษัทมันดีแล้วทำกำไร ไม่มีใครอยากขายธุรกิจหรอก เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราเห็นข่าวธุรกิจรวมตัวกัน มันมีคนตาย 1 คนทุกครั้ง นั่นแหละคือความเจ็บปวดของเรื่องนี้ มันคือการออกจากธุรกิจ มันคือการตาย
เพราะฉะนั้น เวลาเราเห็นใครขายบริษัทได้ แล้วไปดีใจด้วยน่ะ ไปถามเขาดีๆ ถ้าบริษัทมันดีเขาจะขายเหรอ
ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นเรื่องโหมดการเอาตัวรอด ที่แม้จะไม่ได้ภูมิใจนักแต่ก็ต้องทำ
ใช่ครับ แต่ในความเป็น CLASS ก็ยินดีที่จะพูดเพื่อให้มันถูกบันทึกไว้และแชร์เก็บไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีองค์ความรู้ในการรับมือกับวิกฤต นี่คือสิ่งที่ คุณสุทธิชัย หยุ่น แนะนำ ซึ่งผมทำ ผมพยายามเขียน ทุกอย่างว่าเราทำเรื่องอะไร เราแชร์เรื่องอะไร เราทำสิ่งที่เราไม่ชอบตรงไหน
ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เจ้าของธุรกิจมักจะเป็นตัวร้าย หรือคนจะรู้สึกว่าเป็นตัวร้าย ความเป็น Entrepreneur น่ะ มันจะดูเป็นคนที่เห็นแก่ตัว นี่คือในมุมของลูกจ้างนะ แต่วันนี้ ผมกลับรู้สึกว่าคนคิดแตกต่างออกไป เหมือนเขาจะเข้าใจคนเป็นเจ้าของมากขึ้น คือเขารู้แล้วว่าคนทำธุรกิจมันไม่ได้สวยงาม วันนี้หลายคนได้เห็นแล้วว่าเจ้าของกิจการเจ็บตรงไหน เจ๊งตรงไหน เพราะคนเจ๊งมันเยอะ อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่มุมมองมันเริ่มเปลี่ยนไปว่าวันนี้เราควรจะให้กำลังใจพวกที่ทำมาแล้วรอดและเต็มไปด้วยบาดแผล เพราะเราเองในความเป็นเจ้าของธุรกิจเราก็เจ็บปวดมากๆ ส่วนใหญ่ทุกคนไม่พูดถึงบาดแผลหรอก เพราะมันเจ็บ ทุกคนที่รอดมาได้ถึงตรงนี้นะเต็มไปด้วยบาดแผล เพราะว่าเศรษฐกิจมันแย่ไปหมดเลยจริงๆ ถ้าจะรอดมาได้ก็ต้องไปหาเงินมากู้มาเพิ่ม ต้องทำทุกอย่าง เมื่อก่อนคนอยากเป็นเจ้าของกิจการนะ แต่วันนี้เหรอ คนสอบเข้าราชการมากเป็นประวัติการณ์
แล้วอย่างนี้คุณมองเทรนด์ของการเป็น Entrepreneur ยังไง อะไรคือสิ่งที่จะมาเทรดกับการเป็น Entrepreneur ได้ ถ้าคนยังอยากจะเป็นอยู่
มันต้องเป็นโดยสายเลือดจริงๆ เพราะน่าจะเห็นแล้วว่า มาวันนี้เจ็บตัวแน่นอน มาวันนี้เหนื่อยแน่นอน แต่ลองนึกถึงยุคเบบี้บูมเมอร์ เบบี้บูมเมอร์ทุกคนอยากทำงานราชการ ในต่างจังหวัดนี่คนอยากทำราชการล้วนเลย แต่ในกรุงเทพฯ เขาอยากทำงานบริษัทกัน แต่จะบอกว่า ตอนนี้เราหมุนกลับไปเป็นแบบนั้น เจนเนอเรชันนี้คิดแบบเบบี้บูมเมอร์แล้ว เพราะเขาผ่านสงครามมาไง นี่คือคนที่เกิดมาในยุคสงคราม ลองไปเดินสยามสิ ร้านเจ๊งเต็มไปหมดเลย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คุณลองไปดูที่หนองคายสิ ร้านเลียบแม่น้ำโขงเจ๊งหมด มีอยู่วันผมไปห้างหนึ่ง ตกใจมาก นึกว่าห้างร้าง แล้วเด็กรุ่นใหม่วันนี้ที่กำลังโตขึ้นมาคือโคตรแย่นะ งานก็ไม่มี แต่ถ้ากลับไปดูที่ต่างจังหวัด จะเห็นคนกลับไปเปิดร้านกาแฟแถวบ้านเยอะมาก เปิดร้านเป็นแผงเล็กๆ ทำเต็นท์ชงกาแฟบ้างอะไรบ้าง เพราะไม่มีเงินจะเช่าร้าน ไม่มีเงินจะแต่งร้าน ไม่มีงานทำแล้ว
ผมกำลังจะบอกว่า ไซเคิลของการเป็นเบบี้บูมเมอร์มันกำลังกลับมา เด็กรุ่นนี้คือเบบี้บูมเมอร์ใหม่ อยากรู้ลองไปทำโฟกัสกรุ๊ปวันนี้เลย ถามพนักงานบริษัทที่ได้เงินเดือนสองหมื่น ถ้าวันนี้ราชการเปิดรับแต่ได้เงินเดือนแปดพัน เขาทิ้งงานบริษัทเลยนะ เพราะเขาหาความมั่นคงแล้ว การเป็นรุ่นที่เติบโตมาในภาวะวิกฤตมันเป็นแบบนี้ เขาต้องเอาตัวรอด
อย่าว่าแต่เด็กๆ เลย วันนี้สตาร์ทอัพเจ๊งกันหมดทั้งบางแล้วเนี่ย วันนี้ใครเป็นสตาร์ทอัพเหมือนชีวิตทรหด อย่างผมเนี่ย เขาเรียกร้านกาแฟสู้ชีวิต (หัวเราะ) มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็เลยคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ วันนี้ CLASS ยังเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์เหมือนเดิมแหละ แล้วก็ขยายพื้นที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย นำด้วยเทคโนโลยีเข้าไปเหมือนเดิม ทำเข้มข้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ แล้วก็ปรับตัวไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรเป็นสิ่งสุดท้าย เจออะไรที่ evolve ได้ ก็ต้องรีบ แล้วก็ลงรากลึกกับพาร์ตเนอร์ที่ช่วยเรามากๆ
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ