May Sripatanaskul

‘ดีพอ ณ ตอนนี้’ แง่คิดจาก Designing Your (Work) Life ต่อให้ชีวิตเปลี่ยนแค่ไหน ก็ไม่ถึงทางตัน

ออกจะประหลาดใจไม่น้อย เมื่อ เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้แปลหนังสือ ‘Designing Your Life’ ที่ได้รับการรับรองว่าเป็น Certified Designing Your Life Coach โดยตรงโดย ศาสตราจารย์บิล เบอร์เนตต์ และ เดฟ อีวานส์ จาก Stanford D.School รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรอย่าง Asian Leadership Academy และ Lukkid – Designing Collaborative Innovation ที่นำหลัก Design Thinking มาใช้ในการแก้ปัญหาสังคมและองค์กรต่างๆ บอกกับเราว่า…

        “ชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เปลี่ยนไปจากที่คิดเยอะเหมือนกัน”

        จากความฝันอยากเป็นแพทย์ เรียนสาย Bio Engineering จบมาทำงานไฟแนนซ์ เรียนต่อด้านธุรกิจ ปัจจุบันผันมาเป็นที่ปรึกษา วิทยากร

        เส้นทางชีวิตที่ไม่เป็นเส้นตรง ทำให้เราเริ่มสงสัยว่าชีวิตนั้นออกแบบได้ตามชื่อหนังสือ Designing Your Life จริงหรือไม่ 

        ถ้าอย่างนั้นแล้วหลักออกแบบชีวิตนั้นหมายความว่าอย่างไร ในวันที่บริบทรอบข้างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เราจะรับมือ ปรับตัว ให้ชีวิตเป็นสิ่งที่เราลิขิตเองได้อย่างไร

        ชวนพูดคุยกับ เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล แล้วหยิบปากกามาลองร่างชีวิตที่ปรารถนากัน

 

เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

‘ฟัง’ ความต้องการที่แท้จริง ขั้นตอนเริ่มต้นของการออกแบบ

        “เวลาพูดถึง Designing Your Life คนเข้าใจผิดเยอะเหมือนกันว่ามันกำหนดได้เลยว่าเราจะทำงานอะไร จะประกอบอาชีพอะไร แต่แก่นหลักจริงๆ ของ Designing Your Life คือการออกแบบเข็มทิศว่าเราจะเดินไปทางไหนจากความต้องการของเรา”

        ในวันที่ผู้คนรอบข้างต่างส่งเสียงดัง คอยบอกกับเราว่าควรทำอะไร ควรใช้ชีวิตแบบไหน ต้องเก่ง ต้องดี ต้องเร็ว ไม่อย่างนั้นจะตามโลกไม่ทัน จนเราเผลอใช้ชีวิตไปตามคำสั่งพวกนั้น ลืมฟังเสียงข้างในตัวเองว่าจริงๆ แล้วใจเราสั่นไหวกับอะไร อะไรที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาในแต่ละวัน  

        “เวลาเรานำ Design Thinking ไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เรามักจะพูดถึง empathy เพื่อที่จะเข้าใจลูกค้า ในทางเดียวกัน Designing Your Life ก็คือการกลับมาฟังตัวเอง เข้าใจความต้องการของตัวเอง อะไรที่เราทำแล้วเวลาผ่านไปเร็ว บางทีมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แต่เรามองข้ามมันไป มัวแต่ไปฟังเสียงข้างนอก เราเลยไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงที่เป็นพื้นฐานของการออกแบบตั้งแต่แรก”

‘Reframe’ ปรับมุมมองเมื่อเผชิญ Gravity Problem ปัญหาแรงโน้มถ่วง

        ‘Find Your Passion’ คำฮิตสามัญประจำสังคมสมัยนี้ที่ทำให้เราใช้เวลากันนานหลายปี ตามหาว่าอะไรคือแพสชันที่ทำให้ไม่ต้องตื่นมาทำงานทุกวันอย่างที่เขาว่ากันได้ 

        ตามหามานาน ไม่เห็นเจอเสียที ยิ่งในยุคนี้ที่อย่าว่าแต่หางานที่รักได้ แค่มีงานทำยังไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน เมษ์ขยายความในประเด็นนี้ว่าการฟังตนเองคือจุดเริ่มต้น อีกสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันเสมอคือการ reframe ปรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ตรงหน้าเมื่อเผชิญกับปัญหาที่เหนือการควบคุม 

        “Gravity Problem ปัญหาแรงโน้มถ่วง เป็นอีกคอนเซ็ปต์หนึ่งที่ Designing Your Life พูดถึงปรากฏการณ์ภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างตอนนี้ที่ความต้องการแรงงานลดลงเพราะโควิด-19 เราเปลี่ยนมันไม่ได้ แต่สิ่งที่เราปรับได้คือมุมมองของเรา เช่น ถ้างานที่อยากทำยังไม่มีตอนนี้ เราพอทำอะไรไปก่อนได้บ้างที่จะทำให้เราได้ฝึกทักษะใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่งานที่เราต้องการในอนาคต อย่ามัวแต่จม คิดว่าโชคร้าย ลองทำอะไรที่เราคุมได้บ้างไปก่อน”

        Gravity Problem ไม่ได้มีเพียงสถานการณ์ไม่คาดฝันเท่านั้น หากยังรวมถึงบริบทของชีวิตที่เปลี่ยนไปเช่นกัน 

         เมษ์ยกตัวอย่างบริบทชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูก จากเมื่อก่อนที่นอนดึกเมื่อไหร่ก็ได้ งานหนักเท่าไหร่ก็ลุยไหว แต่ตอนนี้เมื่อมี priority ใหม่ เป้าหมายที่เคยคิดว่าอยากสร้างบริษัทขนาดใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนไป เมษ์ได้ reframe ปรับมุมมองใหม่อีกครั้ง และค้นพบจากการฟังตัวเองว่า สิ่งที่เธอต้องการไม่ใช่การสร้างบริษัทใหญ่โต แต่คือการสร้างธุรกิจที่สร้างผลกระทบที่ดีให้สังคมต่างหาก เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้ว ขนาดของบริษัทจึงไม่ใช่หมุดหมายอีกต่อไป ผลกระทบเชิงบวกต่างหากที่เป็นเข็มทิศชีวิตของเธอ และเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไปได้ ทั้งในบทบาทผู้ประกอบการ และในฐานะแม่ 

 

เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

‘ลองทำไปก่อน’ เมื่อต้องตัดสินใจ

        จากที่เคยมั่นใจ วางแผนเส้นทางอาชีพไว้ว่าเมื่อเรียนจบจะทำงานด้าน Investment Banking งานที่ทำได้ดี มีโอกาสเติบโตทางหน้าที่การงาน แต่เมื่อได้เรียนรู้ด้าน Design Thinking จนกลายเป็นความสนใจ อยากนำสิ่งที่ได้เรียนมาไปปรับใช้ในวงกว้าง

        เมื่อต้องเลือกระหว่างสิ่งที่คิดไว้มานาน กับความชอบปัจจุบัน สิ่งที่เมษ์ตัดสินใจทำคือการ ‘ลอง’ ลองให้เวลาตัวเองสักปีในการนำ Design Thinking ไปปรับใช้ในองค์กรต่างๆ หนึ่งปีที่นานพอให้รู้ว่าเธอสนใจมันจริงๆ ไหม และหนึ่งปีที่หากสิ่งที่ลองนั้นไม่ใช่ เธอยังกลับไปเส้นทางเดิมที่เดินจากมาได้

        “พอตัดสินใจจะเปลี่ยนสายงาน เราบอกตัวเองว่าจะลุยกับมันเต็มที่ แล้วถ้าหนึ่งปีมันยังเลี้ยงตัวเราเองไม่ได้ เราจะกลับไปทำงานสายเดิม แต่ในที่สุดก็ไม่ได้กลับไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองเต็มที่ด้วย”

‘เลือก’ ดีพอ ณ ตอนนี้ ดีกว่าไม่เลือก ไม่ลองสักที

        หนังสือ Designing Your Work Life ที่เป็นภาคต่อของ Designing Your Life ได้กล่าวถึงแนวคิดหนึ่งที่บอกว่า ‘good enough for now’ ได้ลองทำสิ่งที่ดีพอ ยังดีกว่าติดกับไม่ทำ ไม่เลือกอะไรเลย เพียงเพราะยังไม่เจอ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’

        เมษ์ยกตัวอย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จากที่เชื่อเสมอว่า Interactive Workshop เกิดขึ้นได้จากการเจอหน้ากันเท่านั้น แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ ทำให้เธอเหลือทางเลือกสองทาง คือหยุดพักงานไปเลย หากปัจจัยไม่เป็นไปตามต้องการ หรืออีกทางคือลองทำในสิ่งที่พอทำได้ เช่น การจัดเวิร์กช็อปออนไลน์ ที่ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับคนทางไกล ลดระยะเวลาเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ประสบการณ์จากการได้ลองครั้งนี้ดูท่าว่าจะทำให้สิ่งมีดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

‘ประยุกต์ Transferable Skill’ จากประสบการณ์ที่ผ่านมากับทางข้างหน้าที่จะเดินต่อไป

        การลอง หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของ Design Thinking อาจต่างไปจากมุมมองที่เราเคยถูกพร่ำสอนกันมาว่าไม่ควรเปลี่ยนงานบ่อยๆ แต่ในยุคที่เปลี่ยนไป ในอนาคตที่กำลังจะเต็มไปด้วยอาชีพใหม่ๆ ความสามารถในการพร้อมปรับเปลี่ยนกลับเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย

        เมษ์ยกตัวอย่างประสบการณ์ตนเอง ที่แม้จะเปลี่ยนจากเส้นทางอาชีพด้านการเงินมาสู่การสอน Design Thinking แต่ใช่ว่าประสบการณ์จากสายอาชีพเก่าจะสูญหาย ทักษะการจัดการ การสื่อสารกับผู้คน และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้จากงานที่ผ่านมา กลับเป็นทักษะล้ำค่าที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ในสายอาชีพไหน คำแนะนำที่เมษ์อยากฝากไว้สำหรับคนที่ไม่มั่นใจที่จะกระโดดลองสิ่งใหม่ๆ คือทบทวน Transferable Skill ทักษะที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ และเพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น ไม่จำกัดตัวเองเพียงเพราะเรายังไม่มีประสบการณ์นี้ ไม่เคยมีทักษะนี้ และยิ่งเราเปิดโอกาสให้ตัวเองมากเท่าไหร่ โอกาสก็ดูจะหลั่งไหลมาตามความตั้งใจมากเท่านั้น อย่างที่เมษ์ได้เล่าไว้ว่า 

        “เคยเจอน้องที่มาสมัครงานบอกว่า ไม่มีประสบการณ์เลย แต่อยากทำมาก บอกว่าขอฝึกงานก่อนได้ไหม ยังไม่รับเงินเดือนก็ได้ เขาอยากลอง พอเขามาแบบนี้ เราพร้อมที่จะเปิดประตูรับทันที เพราะรู้สึกว่าเขามีความตั้งใจ”

 

เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

‘ถามว่าชอบอะไรในสิ่งที่ทำ’ แทน ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’

        เชื่อว่าหนึ่งคำถามที่เราต่างเคยเจอในวัยเด็กคือ “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำถามที่ทำให้เราคาดคั้นหาคำตอบจากตัวเองว่า นั่นสินะ เราอยาก ‘เป็น’ อะไร คำถามที่ต้องการคำตอบจากเรา ในวันที่เรายังไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะให้คำตอบ

        ว่ากันว่าการตั้งคำถามที่ถูกต้องนั้นเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรก กล่าวคือ ถ้าเริ่มต้นผิดแต่แรก ก็จะผิดกันไปใหญ่ หากคำถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” นั้นไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปในยุคที่ ‘การเป็น’ นั้นอาจเปลี่ยนไปง่ายดาย ในโลกที่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาทักทายไม่ทันตั้งตัว ถ้าอย่างนั้น คำถามที่เราควรถามตัวเองคืออะไรกัน

        เมษ์ให้คำตอบผ่านคำถามที่เธอใช้กับลูกของเธอว่า

        “บางทีเราเห็นลูกถือกระเป๋าหมอของเล่นมาตรวจฟันแม่ เขาบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นหมอจังเลย อากง อาม่าก็จะ… ดีเลย หลานอยากเป็นหมอ แต่เราจะคิดว่าเรากำลังสร้างกรอบบางอย่างให้เขาหรือเปล่า เราชอบชวนคุยมากกว่าว่าทำไมเขาถึงชอบ เช่น เขาบอกว่าชอบเพราะได้ใช้อุปกรณ์ มันก็จะเห็นว่ามันไม่เกี่ยวกับการช่วยคนนะ แต่เขาชอบการได้จับ ได้ใช้อุปกรณ์ ถ้า reframe คำถามแบบนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดกรอบแค่ว่าต้องเป็นหมอ แต่เป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ

        “การเปิดกว้างให้ตัวเองแบบนี้มันสำคัญมาก โดยเฉพาะในอนาคตข้างหน้าที่งานมันจะเปลี่ยนไปจากตอนนี้ จะมีอาชีพใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาอีกมาก เราไม่ควรจำกัดตัวเอง”

        เมษ์ต่อยอดจากตัวอย่างของลูก กับประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ที่เธอมักทบทวนว่า สิ่งที่เธอชอบเกี่ยวกับงานนั้นคืออะไร คำถามที่ทำให้เธอได้ทบทวนว่ามันอาจไม่ใช่ตำแหน่งนั้น อาชีพนั้น สายงานนั้นก็ได้ เช่น ก่อนหน้าที่ที่เธอมั่นใจว่าอยากทำงานสายการเงิน แต่ในขณะที่เพื่อนร่วมงานรอบข้างอาจชอบการท้าทายตัวเอง นำบริษัทใหญ่โตเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ความชอบของเธออาจไม่ใช่ความท้าทายเรื่องตัวเลขเลย หากคือการได้ทำงานกับคน และขยาย impact ขององค์กรให้มีผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น เมื่อเข้าใจถึงแก่นความต้องการแล้ว ความเป็นไปได้ก็ดูมากมายกว่าเคย ไม่จำเป็นต้องทำงานด้านการเงินอย่างเดียวเลย ตราบใดที่เธอได้ทำงานกับผู้คน และได้ขยายผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างต่อไป 

‘เส้นทางคือจุดหมาย’ ปรับได้ เปลี่ยนได้ ไม่มีประสบการณ์ใดสูญเปล่า 

        “เคยมีโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่าประวัติเราจับฉ่าย ตั้งแต่ทำ microfinance เรียน Bio Engineer ไปทำ banking แต่พอย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าจุดมันต่อกันอยู่ มีทักษะบางอย่างจากสมัยนั้นที่ยังคงใช้ได้กับสมัยนี้”

        เมษ์เผยความรู้สึกภายหลังสัมภาษณ์ว่าเคยเช่นกันที่รู้สึกหลงทาง รู้สึกว่าเส้นทางชีวิตเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กำลังเดินหน้าผิดเป้าหมายหรือเปล่า ความรู้สึกที่ใครหลายคนคงเคยสงสัยกับตัวเองเช่นกัน ความรู้สึกที่กลายเป็นกับดัก ทำให้เราไม่กล้าลอง ไม่กล้าเปลี่ยน เพียงเพราะกลัวว่าเราจะเดินหลงทาง

        “หยุดกังวลแล้วเริ่มคิดว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง ความกังวลมันทำให้เราย่ำอยู่กับที่ มากเข้าจะกลายเป็น negative energy ที่ทำให้เราคิดอะไรไม่ออก เปลี่ยนความกังวลเป็นถามตัวเองว่าจะเริ่มทำอะไรได้บ้าง”  

        เมษ์ทิ้งท้ายกับเราไว้อย่างนั้น ประโยคที่ทำให้เราหายสงสัยในบทสนทนาช่วงแรกว่าทำไมผู้แปล Designing Your Life ผู้ก่อตั้งบริษัทที่นำ Design Thinking มาปรับใช้กับองค์กร ถึงบอกกับเราว่า “ชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เปลี่ยนไปจากที่คิดเยอะเหมือนกัน”

        แต่เมื่อยิ่งเห็นว่าชีวิตที่ออกแบบได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าการปักหมุดเป้าหมายไว้แล้วไม่ขยับเขยื้อน ไม่เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้าม มันคือการสร้างเข็มทิศ ใช้ความชอบเป็นสนามแม่เหล็ก ดึงดูดเราเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ลองทำสิ่งที่ใจบอกบ้าง เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้าบ้าง แล้วค่อยๆ ดูเส้นประของชีวิตปะติดปะต่อกันไป

        “ถ้ามองชีวิตว่าเป็นการทดลองมันจะสนุกมาก ทุกประสบการณ์มันคือกำไร ไม่มีอะไรสูญเปล่าเลย”