ปีติภัทร คูตระกูล

ปีติภัทร คูตระกูล | ไลฟ์สไตล์ การลงทุนในอาชีพ และการรู้จักต่อยอดจากโลกบริโภคนิยม

นอกจากบทบาทดีเจและพิธีกรหนุ่มหล่อไฟแรงระดับแนวหน้าของเมืองไทยแล้ว ‘แบม’ – ปีติภัทร คูตระกูล ยังมีดีกรีเป็นบัณฑิต MBA สาขาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แน่นอนว่าเขาจะต้องมีภูมิความรู้หนักแน่นสุดๆ ในเรื่องการบริหารเงิน เราจึงขอไปพูดคุยกับเขาฐานะคนหนุ่มรุ่นใหม่ในวงการบันเทิง ที่คุ้นเคยกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นอย่างดี ด้วยความสงสัยว่า เราจะสามารถมีไลฟ์สไตล์หรูหรา ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการออมเงินและการลงทุนเพื่อความมั่นคงระยะยาวได้หรือไม่ และเราจะสร้างวินัยในการเก็บเงินได้อย่างไรบ้าง

ปีติภัทร คูตระกูล

 

วัฒนธรรมลักชัวรี

     “ในสังคมร่วมสมัย เราได้เห็นภาพของไลฟ์สไตล์หรูหราของกันและกันมากขึ้น ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง ถ้ามองอย่างเปิดใจ การกินอาหารแพงๆ ของเขาอาจจะหมายถึงการทำงานเพื่อเป็นนักเขียนหรือช่างภาพ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง หรืออย่างบางครั้ง ผมเลือกซื้อนาฬิกาเรือนใหม่ และเลือกรองเท้าแพงๆ เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนกับการทำงาน แน่นอนว่าคนดูจะมองภาพลักษณ์ของผมตั้งแต่หัวจรดเท้า มันก็เป็นการลงทุนในอาชีพเหมือนกัน แต่ถ้าไปกินหรูหราเพียงเพราะแค่อยากโพสต์รูปในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ดูเก๋ไปวันๆ ซื้อของฟุ่มเฟือย เป็นทาสของระบบวัตถุนิยม ก็จะกลายเป็นอีกประเด็น สุดท้ายคำตอบมันอาจจะอยู่ที่จุดประสงค์ของคนๆ นั้น และประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อมามากกว่า”

 

งานในอินสตาแกรม

     “อย่างทุกวันนี้ ผมรักการเดินทางท่องเที่ยว และชื่นชอบการถ่ายรูปแนวไลฟ์สไตล์ลงอินสตาแกรม ก็ไม่ได้มองว่าเป็นการอวด แต่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพื่อสื่อสารกับแฟนรายการและผู้ติดตามผลงานของผม การนับจำนวนยอดไลก์เป็นส่วนหนึ่งของโอกาสในการทำงาน ผมได้รับงานติดต่อว่าจ้างงานผ่านอินสตาแกรมเต็มไปหมด เพราะลูกค้าได้เห็นว่าผมกำลังทำอะไร กำลังสนใจเรื่องอะไร ได้มีผลงานร่วมกับใครมาบ้าง กลายเป็นว่าโซเชียลมีเดียของเราเหมือนเป็นพอร์ตโฟลิโอไปเลย เพื่อนในวงการหลายคนก็ยังมาขอคำปรึกษาจากผมว่าจะลงรูปอย่างไรดี นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร เพราะถึงแม้ว่าเขาจะมียอดฟอลโลวเวอร์เยอะกว่ามาก แต่บางทีเขาก็ขี้เกียจลง แฟนๆ ที่ติดตามก็เลยห่างหายไป ผมก็บอกเขาว่าแค่ลงรูปยิ้มบ่อยๆ แฟนคลับของเขาก็ไลก์กันกระจายแล้วนะ”

 

ไลฟ์สไตล์คืองานและธุรกิจ

     “ตอนนี้ผมลงรูปในอินสตาแกรมเพื่ออัพเดตชีวิตและรักษาบัญชีให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ อีกหน่อยก็จะเริ่มหันไปเล่นทวิตเตอร์ด้วยเหมือนกัน แต่ยังเล่นไม่ค่อยเป็น อาจจะต้องมีทีมมาทำตรงนี้โดยเฉพาะ ช่วยโพสต์ ช่วยตอบ ผมมองว่าเราควรใช้แพลตฟอร์มพวกนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าเราปรับความคิด จะพบว่าทุกอย่างมันกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจและสามารถทำรายได้ให้เราได้หมด สมมติว่าคุณซื้อรองเท้ามาคู่หนึ่งที่นำเทรนด์มากๆ และยังไม่เข้ามาขายในเมืองไทย แต่คุณถ่ายรูปลงในอินสตาแกรมก่อนใคร พอมันได้รับความนิยมขึ้นมา คุณก็สามารถเอาไปขายต่อ และได้กำไรด้วยซ้ำ มันจึงขึ้นอยู่ที่ว่า เราจะมองเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างประโยชน์กับเราอย่างไรมากกว่า”

 

ปีติภัทร คูตระกูล

 

การรับมือกับโลกบริโภคนิยม

     “ก่อนหน้านี้ผมไม่ใช่คนช้อปปิ้งเก่งเลยนะ แต่พอมีชื่อเสียงขึ้นมาเล็กน้อย มีเพอร์ซันนอลแบรนด์ดิ้งของตัวเอง คนก็เริ่มติดตามอินสตาแกรมว่าผมแต่งตัวอย่างไร มีไลฟ์สไตล์อย่างไร จึงอยากปรับกรอบความคิดของตัวเองว่าที่เราซื้อของพวกนี้ไปคือการลงทุนในไลฟ์สไตล์ ทำให้แฟนๆ ชื่นชอบ ทำให้มีลูกค้าติดต่อเข้ามา เพราะฉะนั้น เราต้องมองให้ชัดว่าสิ่งที่เราซื้อมามันเป็นรายจ่ายหรือการลงทุน ซื้อมาแล้วจะทำอะไร เอาไปต่อยอดขนาดไหน”

 

สมดุลรายรับและรายจ่าย

     “พ่อแม่ปลูกฝังผมตั้งแต่เด็กให้เป็นคนประหยัด ที่บ้านของเราก็ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ฐานะแค่ปานกลาง ไม่ได้รวย ผมต้องกินข้าวจนหมดจานตั้งแต่เด็ก สั่งอาหารแค่พอประมาณ ซื้ออะไรเท่าที่จำเป็น สิ่งนี้ซึมซับเข้าไปในชีวิตผมโดยปริยาย พ่อแม่สอนเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่าย พอโตขึ้นมาเขาก็แนะนำให้เรียนบัญชี ทำให้ผมมีพื้นฐานเรื่องการบริหารเงินพอสมควร”

 

มนุษย์เงินเดือน 20,000 บาท กับการอยู่รอด

     “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน คงจะต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาพเศรษฐกิจอย่างมาก มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสุขกับชีวิตแบบนี้ไหม ถ้าไม่มีความสุข ก็อาจจะต้องเปลี่ยนงานหรือทำอาชีพเสริม ซึ่งในปัจจุบันมีเยอะมาก ถือเป็นโอกาสที่มากขึ้นของยุคนี้ หลายๆ คนทำงานประจำควบคู่กันไปกับงานเสริม จนวันหนึ่งก็ลาออกจากงานประจำไปทำงานเสริมนั้นอย่างเดียวเลย เป็นบล็อกเกอร์หรือวล็อกเกอร์ ได้รายได้เยอะกว่า แต่อาจจะไม่มั่นคงเท่างานออฟฟิศ หรือมองอีกแง่ งานออฟฟิศก็ไม่ได้มั่นคงเสมอไป มันตอบยาก สุดท้ายก็วนกลับมาที่การถามตัวเองว่าวันนี้เรามีความสุขไหม เงินทองแม้จะมีน้อย ถ้าเราบริหารให้ดี มันก็แฮปปี้ได้ พวกที่ไม่แฮปปี้ก็อาจเพราะรายจ่ายเยอะ คุณก็ต้องกลับมาพิจารณาการใช้จ่าย หรือไม่ก็หารายได้เพิ่มอย่างไร”

 

ปีติภัทร คูตระกูล

 

ห้ามเดือนชนเดือน

     “การใช้เงินแบบเดือนชนเดือนไม่ใช่นิสัยของผมเลย มีเพื่อนบางคนที่ไม่มีเงินออม แล้วเวลาฉุกเฉินต้องมายืมเงินคนอื่น ถ้าผมเป็นแบบนี้ คงต้องคุยกับตัวเองแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ชีวิตนี้ผิดที่ตรงไหน รายได้จึงไม่พอ หรือค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้าค่าใช้จ่ายเยอะ ก็ต้องมาดูว่าเราตัดอะไรออกได้บ้าง อย่างเพื่อนคนนั้นไม่มีเงินออมเลย แต่ก็ยังเห็นมันไปดูคอนเสิร์ต ดูบอลทุกอาทิตย์ ทำไมไม่คืนเงินกู!? (หัวเราะ) ผมก็พยายามเข้าใจเขานะ ว่าความคิดเขามันไม่ถูกต้อง เงิน 1,000–2,000 บาท ที่ยืมไปก็ไม่ได้กระทบผมหรอก แต่ผมแค่อยากให้เขาคิดได้”

 

โฟกัสที่ความสามารถตัวเอง

     “ตอนนี้หลายคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผมเองพยายามไม่โฟกัสที่เรื่องเศรษฐกิจ แต่มาโฟกัสที่ตัวเองดีกว่า ว่าตัวเองเก่งพอไหม เพราะคนเก่งยังไงๆ ก็อยู่ได้ เราพัฒนาอาวุธของเราให้รอบด้าน ทั้งความสามารถ ภาพลักษณ์ของตัวเอง เราทำทุกอย่างให้ครบ ถ้าเป็นแบบนั้น ต่อให้ปัจจัยภายนอกจะเป็นอย่างไร อาจจะมีช่วงเวลาที่ตะกุกตะกักหน่อย แต่เราเชื่อว่าเราอยู่ได้ โดยส่วนตัวเราอาจไม่ได้สัมผัสขนาดนั้นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจบ้านเราขาลงหรือเปล่า เพราะเรายังมีอีเวนต์อยู่เรื่อยๆ ก็คุยกับพ่อเหมือนกันนะ ถ้าฟองสบู่แตก งานอีเวนต์จะมีผลกระทบไหม พ่อบอกมันก็น่าจะมีบ้างช่วงแรกๆ ที่งงกัน แต่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องอัดฉีดเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ เพราะฉะนั้น เราจึงอยากโฟกัสความสามารถตัวเองมากกว่าปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้”

 

สไตล์การออมเงินแบบแบม ปีติภัทร

     “หลักการสำคัญคือ set aside หมายถึงเริ่มต้นที่การออมก่อน ตั้งเป้าไว้เลยว่าถ้าได้เงินมาแต่ละเดือนๆ แล้วจะเก็บ 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่าย ไม่ใช่ว่าใช้จ่ายก่อน เหลือจากนั้นค่อยเก็บ ผมคิดว่าการ set aside มันให้ผลลัพธ์ชัดเจนมากๆ สมมติเราตั้งใจจะหักออกจากเงินเดือน 10,000 บาท หนึ่งปีก็ได้ 120,000 บาท พอ 5 ปี ก็ได้ 600,000 บาทแล้วนะ เงินก้อนนี้อย่างน้อยๆ เราก็มีเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ทั้งเรื่องสุขภาพหรือซื้อของนู่นนี่นั่นเมื่อจำเป็น อาจจะซื้อรถได้สักคันและเป็นแผนสำรองให้ชีวิต โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ ถ้าคุณมีวินัยแบบนี้ได้จะดีมาก ตอนเด็กๆ พ่อเคยสอนให้แบ่งใส่บัญชีเงินฝากเลย ว่าโอนเข้าบัญชีนี้แค่ 10,000–20,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้รู้ว่าเรากดเงินออกไปเท่าไหร่ ต้นเดือนใหม่ก็เติมเงินเข้าไปใหม่ ที่เหลือก็ตัดเป็นเงินออม”

 

ปีติภัทร คูตระกูล

 

ทำไว้หลายๆ บัญชี

     “การมีบัญชีธนาคารหลายบัญชี ช่วยให้เราเห็นเงินออมได้ชัดเจน เหมือนเราจัดโฟลเดอร์รูปในคอมพิวเตอร์ อย่างที่บ้านเรา คุณแม่เปิดศูนย์คุมอง คุณพ่อก็จะเก็บค่าเช่าศูนย์จากแม่ ถึงแม้ว่าจะใช้พื้นที่บ้านตัวเองนี่แหละ แต่ก็เก็บค่าเช่าจากแม่ขึ้นมา ถ้าวันไหนพ่อมาช่วยงาน แม่ก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้พ่อด้วยนะ (หัวเราะ) แล้วเขาก็เก็บไว้เป็นเงินออม เพื่อให้เห็นว่าเงินมันโต โดยส่วนตัวผมใช้บัญชีเงินฝากที่ดอกเบี้ยสูง เอาไว้เก็บออมระยะยาวอย่างเดียว โดยไม่ต้องถอน ผมคิดว่าสำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนหรือยังไม่ได้ไปลงทุนอะไร ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะฝากเงินไว้กับบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูงหน่อย ทำให้บังคับตัวเองว่าไม่ต้องถอน”

 

ME MOVE และ ME SAVE

     “ในฐานะคนพอมีความรู้ด้านการเงินการลงทุน ผมมองว่าบัญชี ME MOVE และ ME SAVE ของ ME by TMB ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้มาก โดยไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องของ set aside ว่าวันที่เท่านี้ของทุกเดือน เราต้องโอนเงินเก็บไปเท่านี้ๆ เพราะแอพพลิเคชันของ ME จะมีฟีเจอร์ Balance Sweep ที่จะช่วยล็อกไว้ให้เราเลยหลังจากใช้ปุ๊บ เงินเหลือเท่าไหร่ก็โยนกลับไปออมทันที หากเป็นบัญชีทั่วไป ถ้าเรารับเงินมาเราก็ใช้ไปถึงศูนย์บาทได้เลย แต่บัญชีนี้คือเขาจะล็อกไว้ตามที่เราตั้งค่า ไม่มีทางลืมตัวใช้จนหมดแน่ๆ (หัวเราะ)”

 

Enjoy Saving

     “สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือวิธีคิด เพราะมันก็จะส่งต่อไปที่การกระทำ และส่งต่อไปยังผลลัพธ์ชีวิตของเรา ผมจะใส่ใจความคิดเสมอว่าช่วงเวลานั้นๆ ผมคิดอะไรอยู่ คิดถูกแล้วหรือเปล่า เมื่อทบทวนความคิดตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ผมรู้ว่าทำงานไปเพื่ออะไร ได้เห็นว่าเงินงอกเงย เห็นชีวิตดำเนินไป ก็ทำให้ผมเซตความตั้งใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันนี้คือการลงทุน เพื่อต่อยอด สร้างเพอร์ซันนอลแบรนดิ้ง และสร้างรายได้ ที่สำคัญคือทุกอย่างมันอยู่บนพื้นฐานของการมีความสุขด้วย พ่อผมบอกเสมอว่าให้ enjoy กับเงินที่เพิ่มขึ้นในบัญชี ไม่ใช่ enjoy กับของที่เราซื้อ ไปอัพเดตบัญชีแล้วเห็นว่าเพิ่มเป็นแสน เป็นล้าน มันมีความสุข”