พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ | รู้คิดก่อนจับจ่าย เพื่อยกระดับสังคมและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

20 ปีในวงการสื่อด้านไอที ยาวนานมากจนทำให้หลายคนเรียก ‘หนุ่ย’ – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ว่าเจ้าพ่อไอที ตั้งแต่ยุคพีซีเครื่องใหญ่ยักษ์กับอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่กี่ kbps มาจนถึงยุคของสมาร์ตโฟนบนฝ่ามือที่เชื่อมต่อด้วยความเร็วมากขึ้นเป็นพันเท่า บทเรียนสำคัญที่เขาได้มาจากการทำงานอันเนิ่นนาน เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว คือการปรับวิถีชีวิตและการทำธุรกิจ ให้สอดคล้องและมีความยั่งยืนไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

     ดังนั้นนอกจากการติดตามเขาจากรายการโทรทัศน์เหมือนเช่นเคย เรายังสามารถพบเจอเนื้อหาสาระของเขาได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ รวมถึงอีเวนต์ใหญ่ประจำปี Thailand Game Show 2018 ในวัยสี่สิบที่มีความลงตัวในชีวิตและการงาน เขามาบอกเล่าถึงการใช้ประโยชน์จากบรรดาแกดเจ็ตทั้งหลายอย่างพอเพียง คุ้มค่า และการเลือกช้อปปิ้งเพื่อสนับสนุนไอเดียดีๆ เป็นการยกระดับสังคมและคุณภาพชีวิตของเราขึ้นไปพร้อมๆ กัน

 

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

 

ไอทีเพื่อลด ละ เลิก

     “เคยมีรายการทีวีมาสัมภาษณ์และเยี่ยมชมบ้าน เขาบอกว่าแปลกใจมาก นึกว่าบ้านเจ้าของรายการ แบไต๋ไฮเทค น่าจะไฮเทคทันสมัย ผมบอกเขาว่าไม่หรอก ผมขอเลือกบ้านที่อยู่สบายและมีความอบอุ่นกับครอบครัวมากกว่า ไม่ได้ต้องการแกดเจ็ตหรือของไฮเทคอะไรมากไปกว่านี้ เพราะสุดท้ายแล้ว สินค้าไอทีทั้งหลายที่นำเสนอในรายการ ไม่ใช่เพื่อบอกว่าคุณต้องหรูหราหรือใช้รุ่นใหม่ตลอดเวลา แต่เพื่อบอกว่าไอทีมีประโยชน์ มันช่วยให้เรา ลด ละ เลิก และประหยัดอะไรอื่นๆ ได้เยอะเลย อย่างเช่นช่วยให้เรา paperless ลดการใช้กระดาษ ลดการตัดต้นไม้

 

รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่ต้องซื้อทุกเครื่อง

     “นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่อยากบอกแฟนรายการ เวลาไปไหนมาไหนแล้วมีคนเข้ามาทักทาย ถามว่าโอ้โฮ พี่หนุ่ยต้องมีคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ทุกรุ่นแน่นอน จริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น ผมพยายามจะรู้ก่อนใครเสมอ ติดตามข่าวสารตลอด ตื่นเต้นกับข้อมูลสินค้าใหม่เพราะมันน่าสนุก แต่ไม่ได้อยากได้อยากมีวัตถุสิ่งของมากขนาดนั้น เราไม่จำเป็นต้องซื้อทุกอย่างตามนั้น แต่เลือกซื้อมาใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือบางรุ่นซื้อมาเพื่อทดลองใช้และถ่ายทำรายการก่อนใคร เพราะมันเพิ่มยอดวิวและผู้ติดตามให้กับเพจของเราได้ นี่ถือว่าคุ้มค่าสำหรับธุรกิจของผม”

 

ซื้อรุ่นใหม่ล่าสุด คุ้มกว่าซื้อของตกรุ่น

     “ในการซื้อสมาร์ตโฟน ผมแนะนำเพื่อนเสมอ ว่าควรเลือกซื้อตั้งแต่ออกมาล่าสุด ดีกว่าไปซื้อตอนกลาง หรือตอนกำลังตกรุ่น เหตุผลคือถ้าคุณซื้อทีหลัง คุณก็ไม่พึงพอใจมันอยู่ดี อีกไม่นานเมื่อมีรุ่นใหม่กว่าออกมา คุณก็มาตามชี้อยากได้ของใหม่อีก เพราะเกมของโลกสมาร์ตโฟนทุกวันนี้ ธุรกิจพยายามบีบให้เราเปลี่ยนใหม่ทุกปี ถ้าคุณซื้อตั้งแต่เดือนแรกที่ออกมา คุณก็จะใช้งานมันไปได้นาน จนอาจจะข้ามรุ่นไปอีกสองสามปีได้ ซึ่งผมคิดว่าคุ้มกว่า”

 

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

 

ไม่ดูแค่รูปลักษณ์ภายนอก

     “สินค้าที่ชนะใจผมได้ ต้องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความฉลาดในการคิดค้น ผมชอบแกดเจ็ตที่เห็นแล้วรู้สึกทึ่งว่าคนคิดมันฉลาด มันเก่งมากๆ จนอยากจะอุดหนุนเพื่อสนับสนุนความคิดนั้น ผมชอบเข้าไปดูในเว็บ indiegogo หรือ kickstarter ทั้งหลาย สั่งซื้อสินค้าแปลกๆ ไว้หลายชิ้น สั่งทิ้งไว้นานเป็นปีจนลืมไปเลย กว่าสินค้านั้นจะผลิตเสร็จและส่งมาถึงบ้าน”

 

สนับสนุนไอเดียเปลี่ยนโลก

     “การช้อปปิ้งของเราทุกคนเป็นพลังช่วยสนับสนุนให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ มีสินค้าไอทีใหม่ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงกับสังคมของเรา ถ้าเราอยากให้ความคิดดีๆ เหล่านั้นแพร่กระจายออกไป ก็ทำได้ด้วยการช่วยสนับสนุนเขา ผมนึกขึ้นมาได้ว่ามีโน้ตบุ๊กขนาดเล็กที่ใช้ไฟน้อยมาก ได้สั่งซื้อเอาไว้นานจนลืมไปเลย เดี๋ยวต้องรีบกลับไปเช็กดูว่าใกล้ถึงกำหนดส่งมาหรือยัง บางทีสั่งแล้วก็ลืมเลย”

 

ยิ่งจับจ่าย ยิ่งประหยัดโลก

     “ผมไม่รับถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อมาหลายปีแล้ว และพยายามรณรงค์กับคนรอบข้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเราแทบจะกู่ไม่กลับแล้ว ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้ง อีกเรื่องหนึ่งคือการรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ ผมบอกเพื่อนๆ เสมอว่าพวกเราควรซื้อแผ่นแท้ สนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์ ทั้งที่เมื่อก่อนแผ่นแท้ราคาแพงมาก จนทุกวันนี้ราคาถูกลง เราไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปซื้อแผ่นผีอีกต่อไป ก็เพราะธุรกิจและคนทำงานได้รับการสนับสนุน”

 

ต่อยอดความดี

     “ผลงานทุกชิ้นต้องลงทุน ความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องลงทุน แค่คุณจะวาดภาพ ยังต้องไปหาซื้อสี ซื้อผ้าใบมาเลย ถ้าเรามองเห็นความตั้งใจ ความสร้างสรรค์ ทำไมเราจะไม่ใช้จ่ายเพื่อต่อยอดสิ่งนั้นให้เจริญงอกงามขึ้นไปอีก เราเองก็ได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองด้วย ดีกว่าไปซื้อแผ่นผีหรือจ่ายให้กับบริการกล่องเถื่อน นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าเรายอมใช้จ่ายกับเรื่องอื่นฟุ่มเฟือย แต่เรื่องนี้เรากลับไม่ยอม การซื้อของแท้หรือของดีไม่ได้ทำให้เรายากจนลง เปรียบเทียบกับตอนคุณโดนใบสั่ง ค่าปรับเริ่มต้น 400 บาท หรืออาจจะแพงสุดที่ 1,000 บาท ถ้าจ่ายอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ก็จะช่วยรักษาสังคมนี้ให้เดินหน้าไปอย่างถูกต้อง”

 

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

 

สังคมที่ยืนหยัดบนความถูกต้อง

     “ผมสนใจเรื่องการหาเงินว่าต้องอยู่บนความถูกต้อง เช่นเดียวกับตอนใช้จ่ายออกไป ก็ต้องถูกต้องด้วยเช่นกัน องค์กรธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนที่ให้คุณค่ากับความถูกต้อง ธนาคารที่มีธรรมาภิบาลก็เป็นธนาคารดี มีนโยบายเพื่อสังคมที่ดี ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่สังคมควรสนับสนุน”

 

ทำงานหนัก สั่งสมความมั่งคั่ง

     “เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนตอนเรียนจบใหม่ๆ เริ่มต้นชีวิตการทำงาน เวลาจะเข้าร้านอาหาร ต้องยืนดูเมนูที่หน้าร้านก่อนว่าเราเข้าไปกินไหวไหม พอถึงปัจจุบัน เราเติบโตขึ้น ทำงานหนักมานานจนมีธุรกิจ มีรายได้และเก็บเงินได้มากพอแล้ว มีความมั่นคงในชีวิต ผมเพิ่งคุยเรื่องนี้กับภรรยาว่า เราสั่งอาหารที่อยากกินได้อย่างสบายใจแล้ว เมื่อชีวิตมั่นคงพอ เราก็ต้องการแค่นี้เอง กินอิ่ม นอนหลับ ออกเดินทางท่องเที่ยวได้ มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีพอ ก็รู้สึกว่าแค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้”

 

Beartai: แบไต๋

     “โลกธุรกิจเปลี่ยนเร็วมาก คนที่บ่นว่าตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีๆ ทำไมค้าขายยากขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่คุณปรับตัวเองไม่ทันด้วย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม ผมทำงานสื่อก็ต้องปรับตัว ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มักจะมีคนมาถามผมเสมอว่ายังจัดรายการโทรทัศน์อยู่ช่องไหน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าคนไม่ได้รับชมผมเหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็ปรับตัวเองให้ทัน เราต้องไปปรากฏตัวเองในช่องทางอื่นๆ ที่เขาพบเจอได้ง่าย รายการ แบไต๋ไฮเทค ของผม ทำมานาน 12 ปี คำว่า แบไต๋ แทบจะกลายเป็นคำประจำตัวของผมแล้ว ถ้าไปค้นในเสิร์ชเอนจิน พิมพ์คำนี้ลงไป บนหน้าแรกของผลการค้นหา ก็ไม่เจอคนอื่นอีกแล้วนอกจากผมเอง คอนเทนต์ของผมก็ต้องไปวางรอผู้ชมของผมอยู่ที่นั่น”

 

ความสุขที่แท้จริง

     “ทุกวันนี้ผมพยายามทำงานเพื่อคนอื่น ผลงานถูกนำเสนอออกไปแล้วส่งผลให้คนอื่นมีความสุข เช่น การไปเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ ได้เห็นคนฟังสนุกสนานและได้สาระกลับไป เมื่อได้รับเชิญไปบรรยาย ผมจะทำการบ้านอย่างหนักเสมอ เพื่อจะได้เป็นวิทยากรที่ให้ข้อมูลข่าวสารออกไปจริงๆ สามารถให้คำตอบที่ค้นหามาแล้วจากโจทย์ที่ได้รับแจ้งมา อย่างเช่น เรื่องการปรับตัวกับเทคโลยีใหม่ โลกธุรกิจสมัยใหม่ ฯลฯ การออกจากบ้านแต่ละวัน มาพูดบนเวทีนานเป็นชั่วโมง ต้องใช้พลังเยอะมาก ลงจากเวทีมาก็พบปะกับผู้ฟังมากมาย พอขึ้นรถกลับบ้านไปก็ถึงกับสลบแล้ว นอกจากงานบรรยายของตัวเอง ก็ยังรวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับทีมงานในบริษัท ให้ทุกคนมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน นี่คือความพึงพอใจในชีวิต และเป็นความสุขจากการทำงาน”