ฝน ศนันธฉัตร

ฝน ศนันธฉัตร | เก็บออมบนความเชื่อที่ว่า ความปลอดภัยในชีวิตไม่มีอยู่จริง

‘ดารา’ ยังเป็นอาชีพที่คนภายนอกเชื่อว่าสามารถหารายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่ใครก็สามารถสร้างตัวเองให้เป็นคนมีชื่อเสียงได้ไม่ยาก เวลาจะจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง เพราะเดี๋ยวก็ทำเงินกลับมาได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว 

ความคิดทั้งหมดนี้ของเราจะเปลี่ยนไปเมื่อได้คุยกับ ‘ฝน’ – ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล นางเอกร้อยล้านจากผลงานล่าสุด ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก ซึ่งเธอบอกว่าสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างเธอ ปรับเปลี่ยนความคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ และการจับจ่ายไปมากแล้ว พวกเธอเชื่อว่าทุกอย่างในชีวิตมีความเสี่ยง ดังนั้น สิ่งทุกคนต้องเตรียมตัวตลอดเวลาคือ การใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ และบริหารจัดการรายรับรายจ่ายให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่มั่นคงของตัวเอง

ฝน ศนันธฉัตร

 

เจเนอเรชันของเรา

     “เราอาจเป็นคนที่มีชีวิตคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างยุค 90s กับยุค 2000s จึงพอจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างของยุคสมัย ตอนยุค 90s ทุกอย่างที่ได้มายังไม่ได้ง่ายเหมือนในตอนนี้ เทียบกับคนรุ่นใหม่ เขาเกิดขึ้นมาในช่วงที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นมากๆ ทำให้ไม่เห็นคุณค่าของการได้มาซึ่งสิ่งของแต่ละอย่าง เพราะได้มาง่ายและรวดเร็ว ยุคของเราแค่จะเล่นหมากเก็บหรือกระโดดหนังยางกับเพื่อน ยังต้องตามหาข้าวของหรือสร้างของเล่นขึ้นมาเอง การได้ของมาแต่ละอย่างมีรายละเอียดทั้งนั้น ไม่ว่าจะได้มาด้วยการซื้อหรือใช้การสร้างขึ้นมา ทำให้เราเห็นของคุณค่าของสิ่งของจริงๆ”

 

เอื้อเฟื้อต่อการเป็นหนี้

     “เดี๋ยวนี้การใช้จ่ายง่ายขึ้นมาก เด็กสาวสามารถซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมแบบเงินผ่อนได้ จ่ายเงินแค่เดือนละหลักพันบาท เทียบกับเมื่อก่อน ถ้าใครอยากได้ของชิ้นใหญ่ๆ หรูหรา หรือมีราคาแพงสักชิ้น ต้องเก็บเงินหลายปี เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสามารถซื้อได้เลย เพราะธุรกิจอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายให้เราแทบทุกอย่าง เอื้อเฟื้อต่อการเป็นหนี้”

 

ของมันไม่ต้องมีก็ได้

     “เราอยากได้ทุกสิ่งทุกอย่างในทุกๆ วันอยู่แล้ว เพียงแค่เดินเข้าห้างสรรพสินค้า ยังไงๆ ก็ต้องแวะดูของอะไรบางอย่าง แวะดูแล้วก็เกิดกิเลส เมื่อก่อนก็จะตามใจตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้เราใช้วิธีจดบันทึกลงในโทรศัพท์ว่าอยากได้ของชิ้นนั้นชิ้นนี้ แล้วก็เอามาหาข้อมูล ค่อยๆ ใช้เวลาพิจารณา คิดนานๆ คิดเยอะๆ คิดไปคิดมาจนกระทั่งเวลาผ่านไปสักพัก ถ้าเรายังไม่ซื้อเสียทีนั่นก็แปลว่าเราไม่ได้อยากได้ของชิ้นนั้นจริงๆ”

 

ฝน ศนันธฉัตร

 

แฟชั่นสำหรับสาวๆ

     “ต้องยอมรับว่าการแต่งตัวของผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนกว่าผู้ชาย พวกหนุ่มๆ สามารถแต่งตัวในลุกส์เดิมๆ ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ ได้โดยที่ไม่มีคนคอยจับตามอง แต่สำหรับสาวๆ จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าแต่งตัวเหมือนเดิมบ่อยๆ ก็จะถูกทักแล้วว่า ‘ใส่เสื้อตัวเดิมอีกแล้วเหรอ’ วัฒนธรรมแบบนี้เป็นภาระสำหรับผู้หญิงเรา นอกจากจะชอบซื้อของอยู่แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ต้องซื้อมากขึ้นไปอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิงมีเยอะกว่าผู้ชาย แถมยังมีการลดแลกแจกแถมตลอดเวลา ยิ่งสมัยนี้พอมีช่องทางของการช้อปปิ้งออนไลน์ ยิ่งทำให้เราซื้อหาได้ง่ายจับจ่ายได้ทุกวัน”

 

รายได้เสริมและการเก็บออม

     “ดังนั้น สิ่งจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่คือการเก็บออม ตอนเด็กๆ เวลาอยากได้ของมีราคาอะไรสักอย่าง เช่น เครื่อง Talking Dict ก็ใช้วิธีส่งประกวดเรียงความที่โรงเรียน ได้รางวัลมาเป็นเงินสด 500 บาท หรือ 1000 บาท ก็เก็บเอาไว้ก่อน พอส่งประกวดสักสองสามครั้งจึงจะได้เงินมามากพอไปซื้อ ส่วนตัวเองก็ยังมีเงินค่าขนมไว้ใช้จ่ายตามปกติ เพราะเรามีรายได้เสริมจากกิจกรรมในโรงเรียนมาเพิ่มเติม”

 

ความฉาบฉวย

     “เราอยู่ในสังคมที่ใครก็อยากเป็นคนป็อปปูลาร์ โซเชียลมีเดียเป็นตัวเร่งปฏิกิริยานี้ ทำให้บางคนเช่าข้าวของแบรนด์เนมมาถือเพื่อให้ตัวเองดูมีหน้ามีตา บางคนต้องร้องขอพ่อแม่กว่าจะได้ของมาสักชิ้นเพื่อให้เพื่อนๆ ได้เห็นแค่ไม่กี่วินาที ก็ชื่นชมว่าเราเป็นคนที่มีชีวิตดี มีความหรูหรา ในขณะที่ไม่มีใครออกมาพูดหรอกว่า กว่าฉันจะได้ของชิ้นนี้มา ฉันทำงานเหนื่อยแค่ไหน จึงไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่จะอยากได้อยากมี จนกว่าจะเข้าถึงวัยทำงาน เขาถึงจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าการจะหาเงินมาได้แต่ละบาทนั้นยาก”

 

มูลค่าต่อการใช้งาน

     “ฝนกลายเป็นคนคิดเยอะขึ้นเวลาจะซื้ออะไรสักอย่าง เช่น ถ้าจะซื้อรองเท้าแบรนด์เนมสักหนึ่งคู่ จะคิดแล้วคิดอีกว่าคุ้มค่าไหม สามารถใส่ออกงานได้กี่ครั้ง ใส่ได้กี่ปี มูลค่าที่เราต้องจ่ายไปคุ้มค่าต่อการใช้งานจริงๆ ไหม ถ้าคิดแล้วว่าคุ้มก็ถึงจะซื้อ เพราะทุกวันนี้รู้สึกเห็นคุณค่าของเงินที่หามาได้ รู้ว่าจังหวะชีวิตของตัวเองจะเป็นอย่างไร รายได้ที่มาจากการแสดงในตอนนี้ถือเป็นกำไรชีวิตที่เราจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี หลายครั้งเราก็อิจฉาคนที่สามารถซื้อง่าย จ่ายไว และเราเองก็อยากเป็นคนที่มีทุกอย่างพร้อม สามารถซื้อความสบายให้ตัวเองได้ทุกวัน โดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง แต่เรารู้ว่าถ้าตัวเองไม่ขยันทำงาน และไม่เริ่มเก็บออมตั้งแต่วันนี้ ก็จะไปไม่มีทางไปถึงวันนั้นได้เลย”

 

ฝน ศนันธฉัตร

 

มนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์

     “เคยคุยกับเพื่อนบ่อยๆ เรื่องชีวิตการทำงาน เพราะพวกเราเข้าสู่วัยทำงานกันอย่างเต็มตัว และหลายครั้งก็มีคนตัดพ้อให้ฟังเสมอๆ ว่าฉันทำงานหนักขนาดนี้ แต่ได้เงินเดือนเพียงแค่นี้ เทียบกับค่าใช้จ่ายกลับมากมาย ต้องผ่อนคอนโดมิเนียม ผ่อนรถยนต์ จึงต้องหารายได้เสริม แล้วก็ต้องคิดหางานใหม่ตลอด เพื่อไต่เต้าให้เงินเดือนของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ฝนถือว่าตัวเองเป็นฟรีแลนซ์ รายได้ที่เข้ามาแต่ละเดือนไม่เท่ากัน บางครั้งผ่านไปสองเดือนแล้วเช็คค่าจ้างทำงานยังไม่ออกก็มี จึงเป็นทั้งโอกาสและปัญหาในการทำงาน”

 

วางแผนการเงิน

     “ฟรีแลนซ์ที่ดีต้องคำนวณว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เริ่มต้นนับจากว่าต้องให้แม่เท่าไหร่ ค่าอาหารแมว ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วนต้องเตรียมไว้ พอมีเงินเข้ามา เราก็จัดสรรแยกไว้เป็นส่วนๆ สำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละเรื่อง จนสุดท้ายเมื่อมีเงินเหลือจากนั้น จึงค่อยนำเงินนั้นไปซื้อของ ทุกวันนี้เราจึงมีบัญชีต่างๆ แยกเอาไว้ เช่น บัญชีเพื่อครอบครัว พอได้เงินมาหนึ่งก้อน เราแบ่งเงินออกทันที 70% แล้วนำไปใส่บัญชีของคุณแม่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัว จากนั้นก็แบ่งเป็นเงินเก็บของตัวเองอีก 20% ส่วนอีก 10% ก็เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายของตัวเอง”

 

ชีวิตที่มั่นคง

     “ความปลอดภัยของชีวิตไม่มีอยู่จริง เพราะพวกเราเพิ่งอายุ 24 ปี ยังต้องใช้ชีวิตไปอีกนานมาก และฝนรู้ว่าผู้หญิงถ้าอายุสามสิบกว่าๆ แล้วยังไม่มีแฟนนี่คือ… (หัวเราะ) ความน่ากลัวของเราเลย เพราะถ้าไม่แต่งงาน ก็จะไม่มีคนมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้น เราต้องมีเงินเก็บเยอะหน่อย ยิ่งถ้าถึงวัยเกษียณ ยิ่งต้องเตรียมตัวให้ดี ว่าจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีเงินเก็บมากพอ ทุกวันนี้มีเพื่อนหลายคนผ่อนคอนโดมิเนียมสามสิบปี แล้วพออายุห้าสิบ ตอนนั้นเราจะยังมีเรี่ยวแรงทำงานอยู่ไหม โดนไล่ออกหรือยัง เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร สองสามปีที่ผ่านมานี้บ้านเมืองของเราก็หม่นๆ ชีวิตมีความผันผวนตลอดเวลา ไหนจะเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่พ่อแม่เคยเล่าให้เราฟัง ทั้งหมดจึงกลายเป็นความกลัวของคนวัยเราในตอนนี้”

 

ฝน ศนันธฉัตร

 

ลงทุนชีวิต

     “แม้จะเป็นนักแสดง ทำงานเก็บออมเงินได้แล้ว เราก็ต้องรู้จักการลงทุน ซึ่งมีทั้งการลงทุนเพื่อตัวเอง นั่นคือการดูแลสุขภาพตัวเอง ออกกำลังกาย และฝึกฝนทักษะทางการแสดงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่สองคือการลงทุนระยะยาว ตอนนี้ฝนเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อน เพราะถ้าไม่ลองทำ เราก็จะไม่เข้าใจว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรเสียที พอได้ลงมือ จึงจะได้เรียนรู้ระบบต่างๆ ที่ไม่เคยรู้ เหมือนได้เรียนในสิ่งที่สอนอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องลงเรียน

     “เรามีความทะเยอทะยานในเรื่องของความพยายามมากกว่าความสำเร็จ พยายามทำในสิ่งรัก ลองดูว่าจะพยายามไปไกลได้แค่ไหนกับสิ่งนี้ โดยไม่ได้กำหนดว่าจุดไหนคือสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จ เพราะการแข่งขันกับตัวเอง ทำให้เรารู้สึกภูมิใจได้มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตอนเริ่มต้นทำงานในวงการบันเทิงมา เราเห็นว่าตัวเองเติบโตและเดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแล้ว แต่ก็ต้องทำให้ดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ พัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ จะหยุดนิ่งกับที่ไม่ได้ สามารถแซงหน้าจุดนี้ขึ้นไปได้อีก แม้ว่าบางครั้งที่รู้สึกเครียดหรือกดดันบ้าง ก็ใช้ความรู้สึกเหล่านี้แหละเป็นแรงผลักดันให้เราให้ไปต่อได้ไกลกว่าเดิม”

 

กำไรชีวิต

     “คือการได้ปริญญาตรีใบที่สอง ฝนกำลังจะเข้าไปศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ในปีหน้า ที่เลือกคณะนี้เพราะอยากศึกษาด้านกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมทั้งในอาชีพของเราและด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัญชี หรือเรื่องรอบตัวต่างๆ”

 

คลื่นลูกใหม่

     “ฝนอยากพัฒนาตัวเองเป็นนักแสดงคุณภาพ แสดงได้หลายๆ บทบาท ได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถใหม่ๆ ในทุกๆ งานอยู่เสมอ แต่ก็นับเป็นเรื่องปกติของวงการบันเทิงที่เรารู้ว่าจะมีคนใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา ตัวเราเองต้องพัฒนาตัวเองให้ดี ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด เพื่อโชว์ศักยภาพของตัวเองออกมาให้เต็มที่ แต่ความเป็นตัวของตัวเองก็ต้องสำคัญที่สุด ต้องถามตัวเองว่าอยากเป็นนักแสดงหรือทำอาชีพแบบไหน ในเส้นทางของแต่ละคนประกอบไปด้วยหลายอย่าง หลายมุม ที่สามารถเดินไปถึงจุดที่ตัวเองอยากไปถึงได้ ขึ้นอยู่กับเราว่าจะวางตัวเองออกมาในลักษณะไหน”