จากคนหนุ่มที่ไม่เคยเก็บเงินได้ กลายมาเป็นหนึ่งในวิทยากร นักเขียน และบล็อกเกอร์ด้านการเงิน การลงทุน และภาษี ที่มีคนติดตามมากที่สุดคนหนึ่งในบ้านเรา ‘บักหนอม’ – ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms มาบอกเล่าถึงวิธีการใช้เงินและเก็บเงินอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมกับตัวเอง
มืออาชีพเรื่องการเก็บออมเงินไม่ได้แค่รอให้เงินงอกเงยจากการลงทุน เล่นหุ้น หรือเพียงแค่ฝากเงินเท่านั้น เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการออกไปใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ทำงานหนักและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้เข้ามา เพื่อใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เติมเต็มชีวิตตัวเองในทุกๆ วันต่างหาก
รูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป
“ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ตอนช่วงปีแรกๆ ของการทำงาน ผมแทบไม่เคยเก็บเงินเลย ทั้งที่ช่วงนั้นมีรายได้ดีมาก เพราะทำงานอยู่สำนักงานสอบบัญชี เงินเดือนขึ้นไว แต่ไม่เคยเก็บออม ได้มาก็ใช้ไปหมด มีแค่คุณแม่คนเดียวที่คอยเตือน คอยสอน ว่าให้แบ่งเงินส่งมาให้แม่ช่วยเก็บทุกเดือน พอได้เงินเดือนขึ้น ก็แบ่งมาให้แม่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่เหลือก็ใช้จนหมดอยู่ดี
“จนกระทั่งวันหนึ่งเริ่มคิดอยากซื้อรถส่วนตัวคันใหม่ แม่ก็เอาเงินก้อนที่เราฝากไว้กับเขานั่นแหละมาให้ ทำให้ได้เรียนรู้เลยว่า เงินทีละเล็กละน้อยในแต่ละเดือนนั้น ถ้าเราตั้งใจเก็บก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเก็บเงิน บวกกับตอนนั้นผมเปลี่ยนงาน มารับราชการ ทำให้เงินเดือนลดลงเหลือแค่ 1 ใน 5 ของเงินเดือนเดิม จึงต้องสร้างวินัยในการเก็บออม จากที่เคยกินข้าวหรูๆ ก็กินแค่มื้อละ 50 บาท หรือไม่ก็กลับไปกินข้าวที่บ้านเลย แล้วตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ Internet Marketing กำลังบูมพอดี จึงทำงานด้านนี้ควบคู่ไปเพื่อหารายได้เสริม”
การเก็บออมที่เหมาะสมกับตัวเอง
“การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ คือรูปแบบที่ตกผลึกมาจากความแก่มาถึงระดับหนึ่ง (หัวเราะ) คือเมื่อก่อนตอนอายุ 20 กว่าๆ เคยพยายามลงทุนในหุ้นเยอะๆ ได้เงินมาก็เอาไปซื้อหุ้นหมด แต่หลังๆ มานี้ก็เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นกว่านั้น ผมจะเซตว่ามีเงินเก็บสำรองไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เงินสำรองสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว และจะแยกอีกก้อน เก็บไว้เพื่อลงทุนสำหรับปีหน้าอีกปีหนึ่ง ทำให้เรามีเงินสำรองหลายชั้นมากยิ่งขึ้น
“หลักการคือจะแบ่งเงินเป็น 3 ส่วน พอมีเงินสดเก็บสำรอง ส่วนที่เหลือก็เอาไปลงทุน เช่น หุ้น กองทุน ฯลฯ และอีกส่วนคือเอาไว้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อตอบสนองนิสัยเดิมของตัวเอง (หัวเราะ) ช่วงที่เล่นหุ้นตอนแรกๆ บางทีก็ได้กำไรเยอะจริง อย่างตอนยุคที่เพิ่งพ้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มูลค่าขึ้นเป็น 1-2 เท่า แต่พอขึ้นไปสูงสุด ก็ลดลงต่ำจนเจ๊งหุ้นอีกที ทำให้มานั่งคิดว่า ไปๆ มาๆ เงินที่เราเก็บอย่างเป็นระบบระเบียบน่าจะดีกว่า แล้วเราก็จะได้ใช้สมองไปกับมันน้อยหน่อยด้วย จึงเริ่มมาคิดว่าจริงๆ สิ่งที่เหมาะกับเรา อาจจะไม่ใช่การเล่นหุ้น แต่เป็นการหาเงินมาแล้วเอาไปวางให้มันถูกที่เท่านั้น”
จัดพอร์ตการลงทุน
“อย่างเช่นการซื้อกองทุน ก็ต้องศึกษาข้อมูลไม่ต่างจากการเล่นหุ้น เพียงแค่ถ้าเป็นหุ้น เราต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด แต่กองทุนจะง่ายกว่าตรงที่เขาสกรีนมาแล้ว มีผู้จัดการกองทุนที่เขารู้ข้อมูลมากกว่า ดูแลได้เก่งกว่าเรา ถ้าถามว่าหุ้นที่เรามี ทำกำไรดีกว่ากองทุนไหม ก็ย่อมต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่รู้สึกไม่กล้าจะใส่ไปหมดทุกอย่าง ก็ควรพยายามกระจายเงินไปอยู่ในหลายๆ ที่ ภาษานักการเงินจะเรียกว่า ‘จัดพอร์ตการลงทุน’ คือกระจายสินทรัพย์ไปเพื่อให้ได้ผลตอบแทนโดยรวมประมาณหนึ่ง โดยไม่ได้หวังว่าจะต้องเอาเงินใส่ไป 100 แล้วได้กลับมา 200
“อย่างทุกวันนี้ ถ้าเอาเงินใส่ไป 100 แล้วได้ผลตอบแทนเฉลี่ยมา 7 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าใช้ได้แล้วสำหรับตัวผม แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง แทนที่จะมัวมาคิดเรื่องการลงทุนให้ได้ผลงอกเงย เราอาจจะใช้วิธีตั้งใจทำมาหากินให้มากขึ้น เช่น คุณมีรายได้เดือนละหนึ่งแสนบาท แต่คุณอยากทำเงินแสนก้อนนั้นให้เป็นสองแสน บางทีการทำงานให้หนักขึ้นหรือหารายได้เสริมจากความรู้ความสามารถที่คุณมี มันอาจจะทำให้กลายเป็นสองแสนได้ง่ายกว่าการพยายามไปลงทุนก็ได้”
ค่อยๆ เริ่มต้น ค่อยๆ เรียนรู้
“ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือไม่กล้าเอาเงินไปลงทุน ซึ่งจริงๆ แล้วมันทำได้ไม่ยาก เช่น คุณมีเงินเก็บหนึ่งแสน ลงทุนแรกเริ่มแค่หนึ่งพันก็ได้ โดยไม่ต้องลงไปหมดทั้งหน้าตัก พอคุณได้เริ่มลงเงินไปจำนวนน้อยๆ ก็จะทำให้เริ่มสนใจว่า ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเงินคุณบ้าง พอใส่เงินไปเรื่อยๆ สักปีสองปี คุณก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าแบบไหนถูกต้องเหมาะสมสำหรับคุณ ถ้าเห็นว่ามีอะไรผิดพลาดไปก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อาจจะลังเล และไม่แน่ใจ จนไม่กล้าลงทุน คิดดูว่า เวลาผ่านไป 5 ปีแล้ว คุณก็ยังไม่เริ่ม มัวแต่ถามตัวเองว่าจะดีหรอ เอ้า! หากไม่เริ่ม ไม่ลองเสี่ยง แล้วจะรู้หรอ จู่ๆ ทำงานวันแรกแล้วจะเป็น CEO เลยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นลองเริ่มต้นได้เลยตั้งแต่วันนี้ ด้วยเงินแค่น้อยๆ หากเกิดอะไรขึ้นจะได้ไม่เจ็บตัวมาก”
ข้อมูลเยอะเกินไป ทางเลือกเยอะเกินไป
“โลกทุกวันนี้มีข้อมูลเยอะมาก สมมติพอเรารู้ว่าฝากที่ธนาคารไหนดอกเบี้ยสูงกว่า เจอที่ใหม่ให้ดอกเบี้ย 4% แต่ที่เดิมเราได้แค่ 3% ก็ต้องรีบไปย้าย ซึ่งถ้าคิดให้ดีๆ เงินฝากไม่เยอะมาก ก็ได้ดอกเบี้ยเพิ่มมาไม่เท่าไร คงไม่ต้องถึงขนาดบึ่งแท็กซี่ไปถอนเงินออกมาเพื่อไปเปิดบัญชีใหม่ก็ได้ หรือบางคนตั้งใจเก็บเงินไปลงทุนให้ได้เดือนละ 2,000 บาท พอผ่านไป 3 เดือนก็ท้อแท้แล้ว เพราะผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ทั้งที่จริงๆ ถ้าคุณตั้งใจจะเก็บไป 20 ปี แค่ผ่านมา 3 เดือนก็ท้อ แบบนี้ก็ไม่ต้องเก็บเงินแล้ว ไปฝึกจิตตัวเองก่อน
“มันก็เหมือนกับการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง และคุณก็รู้ดีว่าหุ้นมีขึ้นมีตก แต่สุดท้ายโดยรวมๆ คุณต้องตอบตัวเองว่าได้กำไรหรือเปล่า ถ้าหลักการแนวคิดและวิธีการคุณถูกต้อง คุณก็ทำมันต่อไป แค่นั้นเอง ดังนั้น หลักการคืออย่าใจร้อน ถ้าลงทุนก็อย่าไปโฟกัสแต่จะเอากำไร ที่สำคัญคือทำงานและหารายได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ชีวิตมั่นคง ไม่ต้องลงทุนทีละมากๆ ก็ได้ แต่เอาเท่าที่พอไหว และใช้ชีวิตไปให้มีความสุข ไม่ต้องไปดูสมุดหรือดูพอร์ตบ่อยๆ ยิ่งตอนนี้มีคนช่วยการลงทุน ช่วยจัดพอร์ตจัดการลงทุนเยอะซึ่งทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นมาก คุณแค่ตั้งเป้าหมาย มีหลักการ และทำตามที่ตั้งใจไว้ก็พอ”
ลงทุนกับชีวิตและงานที่รัก
“เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลงแรงไปกับงานที่รัก เมื่อเจอสิ่งที่รักแล้ว ก็ลองพิจารณาดูว่าสิ่งนั้นสามารถทำเป็นงานเพื่อหารายได้หรือเปล่า ความชอบของเราสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้จริงหรือเปล่า สำหรับตัวผมเองรู้สึกว่าโชคดีที่มาทำงานเขียนในจังหวะที่ถูก ที่ถูกเวลา เพราะตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะทำให้เป็นรายได้ อย่างเพจของผม ตอนแรกมียอดอยู่ 800 ไลก์ แค่ทำเพราะอยากเก่ง โดยไม่รู้เลยว่าจะได้เป็นนักเขียน ได้เป็นวิทยากรไหม หรือทุกวันนี้ที่หันมาเขียนนิยายเกี่ยวกับภาษี ก็เป็นเพราะว่าเราอยากสื่อสารเรื่องภาษีให้ได้เก่งขึ้น เพื่อพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จากการหาความรู้และฝึกฝน
“ในแง่คนทำงานประจำได้รับเงินเดือน ถ้าคุณเก่งๆ ก็อยู่ได้มั่นคง โดยไม่ต้องออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ทุกอาชีพมันขึ้นอยู่กับว่าคุณเก่งแบบไหน ชอบแบบไหน และต้องการมีชีวิตอย่างไร เพื่อนผมคนหนึ่ง ทุกวันนี้ได้เงินเดือนรวมกับของภรรยาหลายแสนบาท แต่ปัญหาคือครอบครัวของเขาไม่มีเวลา เงินเก็บเยอะจนไม่รู้จะใช้ทำอะไร บ้านแค่สามปีก็ผ่อนหมดแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจว่าเขามีความสุขกับชีวิตแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า”
แอพพลิเคชันตัวช่วยการออมเงิน
“ในการบริหารเงินตอนนี้ หลักๆ ผมใช้ Online Banking และซื้อกองทุนออนไลน์ อย่าง ME by TMB ที่มีทั้งบัญชี ME SAVE กับ ME MOVE ก็เป็นตัวเลือกที่ดี โดยเฉพาะ ME SAVE ที่ใช้ง่าย คล้ายกับบัญชีเงินฝากปกติ แต่ดอกเบี้ยเยอะกว่า เราจึงใช้มันเป็นที่เก็บเงินฉุกเฉิน ไว้สำรอง สามารถถอนมาใช้ได้ทันที เช่น สมมติว่าเดือนนี้เงินจากงานฟรีแลนซ์ไม่เข้า แต่ต้องจ่ายบัตรเครดิตมากหน่อย ก็เอาเงินนี้ออกมาใช้ก่อน มันคล่อง เพราะถ้าเก็บเป็นกองทุนรวมพวกตลาดเงิน ก็ต้องรอขาย แล้วเอามาใช้ได้วันรุ่งขึ้น บริการทางการเงินแบบใหม่ๆ จึงตอบโจทย์คนยุคปัจจุบัน ที่สำคัญคือเราคงไม่อยากทำธุรกรรมที่สาขากันแล้ว เพราะเราทำผ่านออนไลน์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องใช้สมุดบัญชีเลย ออนไลน์ทุกอย่าง”
สไตล์การลงทุนในทุกวันนี้
“เน้นการลงทุนในกองทุนและสะสมหุ้นอยู่หนึ่งชุด มีประมาณ 7 ตัว ที่จะซื้อเท่ากันทุกเดือน สมมติว่าตั้งธงการลงทุนไว้เดือนละ 30,000 ก็ต้องทำให้ได้ 30,000 เท่ากันทุกเดือน ถ้าถามว่ามีเดือนไหนที่เก็บไม่พอไหม ก็ไม่เคยมีนะ เพราะเราจะมีวิธีการบริหารจัดการเงินที่เข้ามาตลอด หากมีเงินก้อนใหญ่ๆ เข้ามาก็ตัดมันออกไปก่อนเลย รวมถึงมีเงินเก็บไว้ลงทุนอีกก้อนหนึ่ง เงินสำรองไว้ใช้จ่าย และเงินฉุกเฉินที่สะสมไว้ ที่สามารถเอามาเวียนใช้ได้”
เป้าหมายสูงสุดของการออม
“ถ้าเก็บเงินแบบนี้ไปเรื่อยๆได้ อีกสักสิบปี ผมมองว่าน่าจะสามารถเลิกทำงานได้ เพราะเงินน่าจะพอที่จะใช้ชีวิตไปได้เรื่อยๆ แล้ว แต่เอาจริงๆ ผมแทบไม่ได้คิดว่าจะเกษียณเมื่อไหร่ เพราะมีความสุขกับการทำงานในทุกวันนี้ และการเขียนหนังสือ ถ้าผมอายุ 70 ปี มีคนให้ไปบรรยายและได้เงินอยู่ ผมก็ไปนะ (หัวเราะ) รู้สึกสงสัยว่าทำไมต้องเลิกทำงานด้วย กลัวว่าว่างมากๆ เดี๋ยวอัลไซเมอร์เข้าแทรกกันพอดี หากยังไหวก็ทำงานไปเรื่อยๆ
“เคยลองหยุดงานไปเดือนหนึ่ง พอไม่ได้ทำอะไรเลยมันรู้สึกไร้ค่า ผมมองทุกวันนี้ว่า แค่ทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ มีกินมีใช้ มีเงินเลี้ยงลูกจนเขาอายุ 20 ปี ส่วนเราก็มีเงินพอจะเลี้ยงดูตัวเองได้ในตอนแก่ก็น่าจะพอนะ เพราะเป้าหมายเราไม่ใช่เป็นมหาเศรษฐี แต่เป็นคนธรรมดาที่มีเงินสำรองไว้ใช้ในภายภาคหน้าได้อย่างไม่เดือดร้อนตัวเองและครอบครัวในอนาคต”