มนตรี บุญสัตย์

มนตรี บุญสัตย์ | จุดบรรจบของความสุขและความพึงพอใจในชีวิต

 ‘บุ๊ย’ – มนตรี บุญสัตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง และเป็นแอดมินเพจวิ่ง Running Insider ที่เชื่อว่า “การวิ่งเป็นวิธีหนึ่งในการค้นพบและยอมรับตัวเอง เส้นชัยของการวิ่งมาราธอน คือจุดบรรจบของความสุข ความพึงพอใจเติมเต็มการใช้ชีวิต”

     เขาเป็นนักวิ่งพ่อลูกอ่อน ในระหว่างสัปดาห์ เขาทำงานฟรีแลนซ์และเลี้่ยงลูกอยู่กับบ้าน ในวันสุดสัปดาห์ เขาออกไปค้นพบความแข็งแกร่งและการยอมรับตัวเองด้วยการวิ่งและเข้าร่วมชุมชนของนักวิ่งไทย เขาวิ่งระยะทางไกลๆ เพื่อเป้าหมายแห่งการย้อนกลับคืนสู่ภายในใจ กอบกู้ความรู้สึกพ่ายแพ้ผิดหวังในวัยเยาว์ กลายเป็นความเข้าใจ ค้นพบศักยภาพ และความเป็นตัวของตัวเองในวัยกลาง

 

มนตรี บุญสัตย์

 

อยากรู้เรื่องราวการวิ่งของคุณ และสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในแต่ละช่วงเวลา

     ผมวิ่งมาปีนี้เป็นปีที่แปด เริ่มวิ่งตั้งแต่ยุค iPod Nano แอปเปิ้ลจับมือกับไนกี้หวังดึงกลุ่มนักวิ่งออกกำลังกายทั่วโลกให้ฟังเพลง จึงใส่ฟีเจอร์การวัดระยะทาง เผาผลาญแลลอรี และการจับเวลามาด้วย เราต้องมีเซนเซอร์ขนาดเท่าเหรียญห้าใส่ลงไปในพื้นรองเท้า จากนั้นกดเปิดไอพอดให้เครื่องทำงานซิงก์กัน พอก้าวเท้าเซนเซอร์ก็จะบันทึก เริ่มแรกก็วิ่งเพื่อสุขภาพ แต่พอวิ่งไปๆ ก็เริ่มบ้าคลั่ง gadget พวกนี้ เพราะอยากเอาเจ้าเครื่องนี้มาต่อสายเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายโอนข้อมูลมาเก็บไว้ว่าเดือนนี้เราวิ่งไปกี่กิโลเมตร วิ่งเสร็จแล้วเอาสถิติต่างๆ ไปจัดเก็บบนเว็บ Nikeplus หรือว่าโพสต์โซเซียลฯ เทคโนโลยีนี้ทำให้ผมขยันวิ่งเพื่อเอาสถิติมาแข่งมาอวดกับเพื่อนๆ

     ต่อมาผมก็เริ่มวิ่งเพื่อเข้าสังคม ในช่วงปี พ.ศ. 2553-2554 การวิ่งยังไม่บูมแบบทุกวันนี้หรอกครับ สังคมของคนวิ่งในช่วงขวบปีนั้นสัดส่วนมีแต่ลุงๆ ป้าๆ ชมรมวิ่งเก่าแก่ ผมไปลงงานวิ่งมินิมาราธอนเพื่อการกุศลที่จัดกันง่ายๆ ทุกเช้าวันอาทิตย์ พอสัปดาห์นี้วิ่งจบงานนี้ก็มีอีกงาน เป็นลุงป้าน้าอานักวิ่งพรรคพวกกัน มาเปิดโต๊ะขายเบอร์วิ่งของงานที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์ต่อๆ ไป ผมก็ซื้อไว้แล้วไปวิ่งตามต่างจังหวัดที่มีงานวิ่ง ราชบุรี กาญจนบุรี เขาใหญ่ ผมไปแทบทุกงานเลย เรียกว่าปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ผมไปงานวิ่งมินิมาราธอนพวกนี้น่าจะสัก 30 งาน เราเป็นสังคมที่ผูกกันหลวมๆ เจอหน้ากันทักทาย สัปดาห์หน้าไปงานนี้ไหม ไปงานโน้นไหม คนหน้าคุ้นเคยกันทั้งนั้น

     ผมมาทบทวนดีๆ กับคำถามข้อนี้ว่าความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วง สำหรับผมเป็นเรื่องความสงสัย ตอนที่เราวิ่งมินิมาราธอนจะไปฮาล์ฟ จะทำได้ไหม? หรือจากตอนที่วิ่งมาหลายๆ ฮาล์ฟ ต้องซ้อมเพื่อไปวิ่งฟูลมาราธอนระยะก็เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เราจะทำได้ไหม? พอผ่านระยะทางการวิ่งมาราธอนหลายงาน เราก็เกิดความสงสัยเกิดความท้าทายว่า แล้วถ้าต้องวิ่งอัลตรามาราธอนไปถึงระยะ 100 กิโลเมตรเลยล่ะ – เราจะทำได้ไหม?

     ช่วงนั้นผมน่าจะเป็นคนที่อินกับหนังเรื่อง The Secret Life of Walter Mitty ที่เชื่อในพลังของความ curious อยากจะมี YOLO – You Only Live Once เลยกระโจนไปกับการวิ่ง ผมว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นไปตามอาการของยุคสมัยนี้ อยากพิสูจน์ว่าตัวเองทำสำเร็จได้โว้ย มี success story ของตัวเอง ไม่เรื่องหนึ่งก็เรื่องใด ในโลกของนักวิ่งมีความหลงใหลข้อหนึ่งที่เป็นสากลเสมอ คือ Fast กับ Far นักวิ่งอยากวิ่งได้เร็วขึ้น หรือไม่ก็อยากเห็นตัวเองวิ่งได้ไกลขึ้น ผมเป็นอย่างหลัง คืออยากรู้ว่าตัวเองจะวิ่งได้ไกลแค่ไหน

     ถ้ายังไม่หยุดวิ่ง การวิ่งจะก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนคนนั้นต่อไปเรื่อยๆ เป็นไปตามวัย พละกำลังและความฝัน หรือว่าชีวิตช่วงนั้นเราให้ค่า ให้ความหมายกับเรื่องอะไรอยู่ ลดน้ำหนักบ้าง ซ้อมไปมาราธอนบ้าง หรือวิ่งเพื่อรักษาความสุขความสมดุลของชีวิต สำหรับผม ตอนนี้การวิ่งพามาพบเรื่องสเตตในเรื่องความสงบความสบายใจ มีความแข็งแรงมากพอที่จะทัดทานต่อความเครียด ความขุ่นมัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

 

มนตรี บุญสัตย์

 

การออกไปผจญภัยแบบ The Secret Life of Walter Mitty มันช่างขัดกับการทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่กับบ้าน เป็นมิสเตอร์มัมที่คงทำให้คุณเหงาหงอยและไม่ค่อยมีสังคม

     ผมออกจากบริษัทใหญ่มาเป็นฟรีแลนซ์ทำงานอยู่ที่บ้านก็หลายปีแล้ว นานๆ จะเข้าเมืองไปประชุมงานกับลูกค้า สตูดิโอที่บ้านก็มีผมทำงานคนเดียว เขียนหนังสือ ทำเพจวิ่ง เขียนบทความโฆษณา ถ่ายทำวิดีโอโฆษณาลงโซเซียลมีเดีย งานมากกว่าครึ่งเป็นงานออนไลน์ที่ทำคนเดียว อีกด้านคือภรรยาผมทำงานฟูลไทม์นอกบ้าน ดังนั้น นอกจากทำงานที่บ้านผมก็ต้องเลี้ยงลูกสาวไปด้วย เราสลับหน้าที่กัน ผมเลี้ยงลูกมาตั้งแต่เธออายุได้ 3 วัน พอ 3 เดือน ภรรยาหมดวันลา ผมก็ต้องเป็นมิสเตอร์มัมดูแลลูกมาเรื่อยๆ ผมกูเกิลวนไปว่าเลี้ยงลูกยังไงๆ เพราะเราเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่รู้จะไปถามใคร แทบไม่มีสังคมอื่นเลย แต่การได้ไปงานวิ่งตอนเช้าวันอาทิตย์เป็นโอเอซิสเดียวของผมเลย ชีวิตประจำวันปกติ ผมเล่าได้ไม่เกิน 4 ประโยค ตื่นนอน-วิ่ง-ทำงาน-เลี้ยงลูก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการวิ่งคือ การอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเหงา หรือว่าดราม่าอะไรกับตัวเอง

 

คุณเคยบอกว่าตัวเองเป็นลูสเซอร์ ทำไมจึงคิดเช่นนั้น และทุกวันนี้มีความภูมิใจในตัวเองมากกว่าเมื่อก่อนแล้วหรือยัง

     น่าจะตอนที่ยังเป็นเด็กกว่านี้ และยังไม่มีการวิ่งเป็นชีวิตที่สองเหมือนตอนนี้ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ลงในหนังสือ Run Me to the Moon ของ ‘พี่หนุ่ม’ – โตมร ศุขปรีชา ทำนองว่าในการดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ เรามักจะชนะน้อยลง หรือบางทีกว่าจะชนะได้ก็หืดขึ้นคอ จะด้วยอะไรก็ตามแต่ สปีดของเทคโนโลยี ความเฉื่อยชา หมดไฟ หรือว่ามีตัวละครที่เก่งกว่าโผล่เข้ามาในเกม ในที่ทำงาน เรามักจะอ่อนไหวไปกับอะไรแบบนี้ อยู่ๆ ไปแล้วฝ่อ ห่อเหี่ยว

     แต่พอลองมาเป็นนักวิ่งที่คุณได้มีโอกาสชนะตัวเอง ได้แข่งกับตัวเอง ชัยชนะของชีวิตที่สองนี้มันก็จะไปเสริมชีวิตที่หนึ่ง ให้เรามีเรื่องที่ภาคภูมิใจกับเขาเหมือนกัน มีความมั่นใจที่จะไปกลับไปใช้ชีวิตที่หนึ่งให้ดีขึ้น กลับไปออฟฟิศในเช้าวันจันทร์แบบที่เป็นคนละคน กับเราที่ตอกบัตรออกไปตอนเย็นวันศุกร์ เพราะว่าได้ไปผ่านเส้นชัยในสนามวิ่งมา ไปมีเรื่องราวของผู้ชนะมาแล้ว ผมเองก็เป็นอย่างนั้น

 

มนตรี บุญสัตย์

 

การวิ่งทำให้เราค้นพบตัวเอง ตัวตนที่แท้จริง และการยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นได้อย่างไร

     อย่างเมื่อตอนต้นปี ผมเพิ่งไปวิ่งที่เกียวโตมาราธอน และในอีกสัปดาห์ต่อมาผมก็ได้วิ่งโตเกียวมาราธอน ก่อนไปผมดี๊ด๊ามาก อยากจะโพสต์โซเซียลฯ อย่างนั้นอย่างนี้ คิดพล็อตเรื่องจะโพสต์ลงเพจ ต้องได้ยอดไลก์ ยอดแชร์เยอะแน่ๆ นี่เป็นสนามที่นักวิ่งทั่วโลกอยากมา! แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผมโพสต์อยู่แค่สองสามโพสต์มั้ง ไม่ใช่ไม่มีเรื่องราวจะเล่านะครับ ตรงกันข้าม มีเรื่องราวดีๆ จากผู้คน เส้นทาง มีความสำเร็จของตัวเองที่ทำได้เสียที มีความประทับใจมากมาย แต่ผมกลับไม่ได้โพสต์หรือว่าขยี้เรื่องนี้ลงในเฟซบุ๊กเลย อาจจะพอเรียกว่าเรามีความฟิน มีความสุขความพึงพอใจมากพอแล้ว มันเติมเต็มจิตใจแล้ว ถึงตอนนี้ก็มีเรื่องให้ยิ้มได้คนเดียวเมื่อนึกย้อนถึงเส้นทาง 42 กิโลฯ ของสองเมืองที่ผมหลงรัก แล้วผมได้วิ่งผ่านไปท่ามกลางเสียงเชียร์กัมบัตเตะ กัมบัตเตเนะ ผมใช้การวิ่งมาแก้สมการบางอย่างให้กับตัวเองได้บ้างแล้ว ว่าเรา Running & Being สามารถพบความสุข ความสงบ ความแข็งแรงได้

     เมื่อเร็วๆ นี้ผมกลับไปอ่านหนังสือ ฮารูกิ มูราคามิ อย่าง What I talk about when I talk about running (เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง – สำนักพิมพ์กำมะหยี่ สำนวนแปล นพดล เวชสวัสดิ์) อีกครั้ง ตอนอ่านครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน คิดว่าการวิ่งนี่เท่ มีความคูล มีความคัลต์ เป็นโลกลึกลับน่าหลงใหล แต่ถึงวันนี้การวิ่งเป็นเรื่องที่เรียบง่ายและธรรมดา

     คำที่มูราคามิเขียนไว้ในย่อหน้าหนึ่งไว้ว่า Most runners run not because they want to live longer, but because they want to live life to the fullest. นักวิ่งไม่ได้วิ่งเพื่อหวังการมีชีวิตที่ยืนยาว แต่เราวิ่งเพราะอยากใช้ชีวิตให้เต็มความหมาย

     พอคุณกลายเป็นนักวิ่งมาหลายปีเข้า ได้ผ่านฤดูกาลของมาราธอน หรือแม้แต่วิ่งวนอยู่ในสนามวิ่งหมู่บ้านทุกเช้า ตื่นนอนมาวิ่งเอาชนะตัวเองได้อีกวัน คุณก็จะค่อยๆ ซาบซึ้งลงลึกกับชีวิตการวิ่งที่เต็มความหมายเหล่านั้น และอย่างน้อยที่สุด คุณได้ใช้กิจกรรมนี้พาคุณออกจากชีวิตเดิมๆ ได้วิ่งออกจากชีวิตเดิมๆ