โปรโม-โปรเม

โปรโม-โปรเม | ไม่มีใครขึ้นตลอดและไม่มีใครลงตลอด เพราะนี่ไม่ใช่แค่กอล์ฟแต่มันคือชีวิต

มันเป็นความรู้สึกยากเกินบรรยาย ไม่มีน้ำตา เป็นความว่างโหวง คล้ายกำลังฝัน ‘โปรโม’ – โมรียา จุฑานุกาล รู้สึกแบบนั้น ในวันที่เธอปลดล็อกคว้าแชมป์ LPGA Tour มาครองได้สำเร็จนับตั้งแต่เทิร์นโปรเมื่อปี 2012 กับรายการ ‘ฮูเกล-เจทีบีซี แอลเอ โอเพน’ เมื่อช่วงเดือนเมษายนปี 2018 ที่ผ่านมา

แต่คนที่ร้องไห้กลับเป็นนักกอล์ฟผู้น้องอย่าง ‘โปรเม’ – เอรียา จุฑานุกาล ที่ในปีเดียวกันก็ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมที่สุดในการเล่นอาชีพ คว้าแชมป์ 3 รายการ จาก 2 แอลพีจีเอ ทัวร์, และ 1 เมเจอร์ ประกอบด้วย ‘คิงส์มิลล์ แชมเปี้ยนชิพ’, ‘ยูเอส วีเมนส์ โอเพน’ และ ‘เลดี้ส์ สกอตติช โอเพน’ ทำเงินรางวัลรวมจากการเล่น 28 รายการตลอดทั้งปีมากที่สุดในการเล่นกอล์ฟอาชีพต่อหนึ่งฤดูกาล และเมื่อนับรวมโบนัส 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแชมป์ ‘เรซ ทู ซีเอ็มอี โกลบ’ และ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ จากรางวัลนักกอล์ฟที่จบ 10 อันดับแรกมากที่สุด ส่งผลให้เอรียามีรายได้จากเงินรางวัลปีนี้ 3,843,949 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 126 ล้านบาท) และกวาดทุกรางวัลเกียรติยศของ LPGA มากที่สุดชนิดไม่เคยมีนักกอล์ฟคนไหนในโลกทำได้มาก่อน

     แน่นอนว่าน้ำตานั้นเป็นน้ำตาแห่งความยินดีต่อความสำเร็จของพี่สาวที่ในที่สุดก็ทำตามสิ่งที่หวังไว้ได้สำเร็จนับตั้งแต่เทิร์นโปรเมื่อกว่า 6 ฤดูกาลที่ผ่านมา เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวที่พี่น้องจุฑานุกาลกลายเป็นคู่นักกอล์ฟประวัติศาสตร์โลกก้านเหล็กคู่ที่สอง ซึ่งคว้าแชมป์ LPGA ต่อจาก Annika และ Charlotta Sorenstam สองพี่น้องโปรกอล์ฟชาวสวีเดน มันเป็นการก้าวพ้นไปจากความกดดันอีกหนึ่งระดับของการถูกคาดหวังมาตั้งแต่เป็นเยาวชนว่าพวกเธอจะกลายเป็นนักกอล์ฟเบอร์ต้นของโลก

     แต่ในระดับที่ลึกกว่านั้น ทั้งความว่างโหวงของโปรโม และน้ำตาของโปรเม มันก็ถูกขับดันมาจากการพิจารณาย้อนกลับไปสู่ทุกกระบวนการแห่งความพยายามที่ผ่านมา

     “คำตอบที่ได้คือช่วงเวลาที่เราทุ่มไปกับทุกกระบวนการ เชื่อว่าสิ่งที่ลงมือทำนั้นถูกต้อง ทำไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เป็นไปตามที่ต้องการพิสูจน์ว่าเราทำได้จริงๆ” นั่นคือคำพูดของโปรโม

     ใช่ คำว่า ‘มืออาชีพ’ นั้นไม่ใช่แค่เรื่องการต่อสู้ในสนาม แต่มันเป็นทุกกระบวนการในการใช้ชีวิต ทั้งการออกเดินทางไกลปีละมากกว่า 8 เดือน ต้องห่างบ้านเกิด ใช้ชีวิตไม่เป็นหลักแหล่ง และต้องดีลกับ ‘ความกลัว’ สารพัดที่ประเดประดังเข้ามา

     แน่นอนว่าความสำเร็จนั้นหอมหวาน และปีที่ผ่านมาก็ถือเป็นฉากหน้าที่สวยงาม แต่ใครจะรู้บ้างว่า กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ทั้งสองผ่านอะไรมาและต้องแบกรับความกดดันมากมายขนาดไหน แต่ใช่ เรื่องนั้นก็ยังไม่น่าสนใจเท่ากับว่า พวกเธอรับมือและกล้าที่จะพัตต์ทั้งความคาดหวังของคนอื่นและตัวเองออกไปอย่างไร

 

โปรโม-โปรเม

 

ปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นฤดูกาลที่เหมือนจะหอมหวานเหลือเกินสำหรับพวกคุณ มองย้อนกลับไป พวกคุณรู้สึกกับมันอย่างไร

     เอรียา: ก่อนเริ่มฤดูกาลไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะดีขนาดนี้ เพราะออกไปเล่นด้วยความคิดง่ายๆ คือ ขอเป็นนักกอล์ฟที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลา คิดแค่นี้ พอจบปีก็แปลกใจเหมือนกันที่ได้รางวัลเยอะ ถือเป็นปีที่ยอดเยี่ยม เป็นของขวัญชั้นยอดของชีวิต

 

     โมรียา: เป็นอีกฤดูกาลที่ดี แม้ว่าปี 2017 ก่อนหน้านี้จะเป็นปีที่ดีมาก แต่ 2018 โมบรรลุผลสิ่งที่ตั้งใจและรอมานานถึงห้าปี นั่นคือแชมป์แรกใน LPGA

 

 

สำหรับโปรโมที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 6 ฤดูกาลกว่าจะคว้าแชมป์แรกในอาชีพมาได้ ความสุขจากคำว่าแชมป์เป็นอย่างไร

     โมรียา: โมเชื่อว่าทุกคนเวลามีเป้าหมายที่ชัดเจน แล้วลงมือพยายามเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น มักจะมีภาพที่คิดไว้ล่วงหน้าเวลาสำเร็จ เวลารับแชมป์ถือถ้วยต้องทำยังไง ต้องความรู้สึกแบบไหน

     ตอนแรกโมคิดไว้ต้องมีความสุขมากแน่ๆ ต้องภูมิใจจนร้องไห้น้ำตาไหล แต่ไม่เลย คนที่ร้องกลายเป็นเม ช่วงนั้นสมาธิอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การเล่นออกมาดีที่สุดมากกว่า ซึ่งแปลกมาก เพราะเวลาได้แชมป์จริงๆ มันไม่ใช่โมเมนต์ที่มีความสุขที่สุดตามที่เคยคิดไว้ มันออกมาในรูปแบบ อ้าว ได้แล้วเหรอ ได้แล้วยังไงต่อ เหมือนมันยังไม่จบ ยังค้างคาใจ จนกลับมาไตร่ตรองดูว่าสิ่งที่มีความหมายและทำให้เราภูมิใจกับความสำเร็จนี้จริงๆ คืออะไร

     คำตอบที่ได้คือช่วงเวลาที่เราทุ่มไปกับทุกกระบวนการ ใส่ใจไปกับทุกรายละเอียดที่ควบคุมได้ เชื่อว่าสิ่งที่ลงมือทำนั้นถูกต้อง ทำไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เป็นไปตามที่ต้องการพิสูจน์ว่าเราทำได้จริงๆ

 

สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมานั่นก็คือไม่มีใครขึ้นตลอดไม่มีวันลง ไม่มีใครหรอกที่ตกตลอดแล้วไม่มีโอกาสโงหัวขึ้นมา เพราะนี่ไม่ใช่แค่กอล์ฟ มันคือชีวิต

 

พวกคุณใช้เวลาในฐานะนักกอล์ฟอาชีพระดับ LPGA Tour เข้าฤดูกาลที่ 5 และ 6 ตามลำดับ รับมือกับอาชีพนี้ได้ดีขึ้นไหมกับสิ่งต้องแลกกับคำว่าโปร

     เอรียา: เรื่องดีคือมองปัญหาเป็นเรื่องง่าย ไม่ได้บอกว่าปัญหาที่เกิดมันแก้ง่ายขึ้นนะ แต่ช่วงแรกทุกอย่างยากไปหมด ลำบากมาก เดินทางปีละ 8 เดือน ห่างเมืองไทย ไม่มีเวลาได้กลับ ที่อยู่ก็ไม่เป็นหลักแหล่ง จะอยู่ยังไง จะทำยังไง มีแต่ความกลัวเต็มไปหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันเริ่มง่ายขึ้น แค่เซตชีวิตให้พร้อม เริ่มรู้ว่าต้องทำยังไง ช่วงเดินทางเตรียมตัวขนาดไหน ทำใจให้สนุกกับสิ่งที่จะเจอ ทุกอย่างก็ดีขึ้น

     เหมือนกันกับเกมกอล์ฟ ทุกอย่างเริ่มต้นที่ความคิด จะทุกข์ จะสุข หรือสนุกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความคิด จากที่ออกไปเล่นแล้วไม่สนุก กังวลไปหมดว่าตีแล้วใครจะคิดกับเราแบบไหน จะไปทำใครผิดหวังหรือเปล่า มันทำให้เราเครียดมาก จนสุดท้ายมาเข้าใจว่า การเล่นกอล์ฟที่มีความสุขที่สุดคือเล่นภายใต้ความคาดหวังของตัวเราเอง เมื่อทำได้คนอื่นจะมีความสุขไปกับเราเอง

 

     โมรียา: เห็นด้วยกับเมนะ แต่มันคงไม่ใช่เรื่องทุกข์ เพราะหากทุกข์เราคงไปทำอย่างอื่น เรื่องที่รับมือได้มากขึ้นคงเป็นความคาดหวังจากคนอื่นที่เปลี่ยนเป็นความกดดันโดยไม่รู้ตัว

 

     เอรียา: ความกดดันเป็นอุปสรรคสำคัญ เหมือนกับปัจจัยภายนอกที่ต้องเจอในชีวิตของมืออาชีพ คือเวลาเรามองคนที่เขาประสบความสำเร็จ อยู่จุดสุดยอด เป็นมือหนึ่งของโลกนานๆ มันคูลนะ โคตรเก่งเลย เพราะเรารู้ว่า สำหรับกอล์ฟ จะเก่งในสนามอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องรับมือเรื่องอื่นๆ ด้วย ลำพังแค่ทักษะฝีมืออย่างเดียวไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ต้องจัดการกับระบบความคิดและรับมือความกดดัน ไหนจะคนรอบข้างที่หวังให้เราเป็นโน่นเป็นนี่ ทำนั่นสิทำนี่สิตลอดเวลา

     ซึ่งสำหรับนักกอล์ฟบางคนมันยากมากที่จะต้องรับมือเรื่องแบบนี้ ตื่นมา อย่างน้อยต้องเจอกับสื่อแล้ววันละสองชั่วโมง ไม่ว่าจะวันแข่งหรือวันซ้อม คำถามก็เรื่องเดิมๆ นึกออกไหม คือนักข่าวไม่ซ้ำหน้านะ แต่มาจากคนละเมือง สลับมาก็ถามเรื่องเดิมๆ อยากรู้เป้าหมายต่อไปคืออะไร ทัวร์นาเมนต์นี้พร้อมแค่ไหน ฯลฯ บางทีอยากตอบไปว่า ก็แค่เล่นกอล์ฟไง นึกออกไหม เจอบ่อยเข้ามันก็มีอารมณ์นี้ (หัวเราะ)

     ตอนเริ่มอาชีพของเมมันโคตรยากเลย เพราะแค่อยากออกไปตีกอล์ฟให้มีความสุข แต่พอต้องอยู่ท่ามกลางสายตาคนอื่นตลอดเวลามันกดดัน แล้วก็ยิ่งตีแย่ นานๆ ทีก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้า 2-3 รายการติดกันก็นอยด์ กังวลว่าคนที่มาเชียร์เราจะคิดยังไง สปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุนจะรู้สึกแบบไหน จะผิดหวังในตัวเราไหม แต่พอเวลาผ่านไป เราเริ่มคิดได้ว่า เราสามารถมีความสุขกับช่วงเวลาแบบนี้ได้ แล้วโมเมนต์แบบนี้มันคงอยู่กับเราไม่นาน เราจะเป็นมือหนึ่งเป็นที่สนใจตลอดไปซะที่ไหน

     สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมานั่นก็คือไม่มีใครขึ้นตลอดไม่มีวันลง ไม่มีใครหรอกที่ตกตลอดแล้วไม่มีโอกาสโงหัวขึ้นมา เพราะนี่ไม่ใช่แค่กอล์ฟ มันคือชีวิต เราแค่ต้องทำหน้าที่ต่อไป และมีความสุขกับทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง ดังนั้น มีความสุขให้ได้กับทุกช่วงเวลาก็พอ นั่นคือการปรับตัวตั้งแต่ความคิดไปจนถึงการใช้ชีวิต สิ่งนี้มันคือพาร์ตหนึ่งของอาชีพของเรา

 

โปรโม-โปรเม

 

โปรกอล์ฟที่กำลังขึ้นกับกำลังตก แบบไหนรับมือกับความคาดหวังของทั้งตัวเองและคนอื่นยากกว่ากัน

     เอรียา: โห คำถามยากอีกแล้ว     

     โมรียา: โมว่ามันไม่เหมือนกัน คนละแบบ

     

     เอรียา: ความคาดหวังจากตัวเรารับมือง่ายกว่าอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้หวังให้ผลลัพธ์มันออกมาดี แต่เราหวังทำหน้าที่ทุกขั้นตอนให้พร้อมที่สุด ทำงานหนัก ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรก็ตาม สู้กับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต พยายามทำทุกสิ่งที่เข้ามาให้เราสามารถมองย้อนกลับไปได้อย่างภูมิใจ

     ส่วนเรื่องการรับมือ ไม่ว่าจะขาขึ้นหรือขาลง ช่วงที่เราอันดับตกลงไปล่างๆ ตอนที่ยังไม่เคยมีแรงกิ้ง สบายมากนะ ชิลๆ ที่ผ่านมาตัวหนูไม่ได้เก่งนะ แต่มีช่วงชีวิตที่ขึ้นเร็ว ได้แชมป์ ขึ้นมือหนึ่ง ช่วงนั้นปรับตัวไม่ทัน ช่วงชีวิตที่เป็นมือหนึ่งของโลกครั้งแรกไม่มีความสุขเลย ดังนั้น ตอนขึ้นก็ปรับตัวยากเหมือนกัน เอาเป็นว่า ปี 2017 เป็นช่วงที่ไม่มีความสุขที่สุด ทั้งที่ขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกครั้งแรก พูดตรงๆ งงมาก แบบชีวิตมาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร

 

 

ทำไมถึงเกิดภาวะแบบนั้น

     เอรียา: คือต้องย้อนแบบนี้ก่อนขึ้นมือหนึ่ง หนูจ่ออยู่มือสองนานเป็นปีเลย ใครๆ ก็พูดว่าเดี๋ยวก็ได้แล้วมือหนึ่ง แทบทุกคนพูดแบบนี้ พอบ่อยเข้ามันก็ฝังหัว ถึงขั้นเวลาใครถามเป้าหมายต่อไปคืออะไร เมตอบเลยว่า ‘มือหนึ่งโลกค่ะ’ แต่ไม่ใช่เพราะอยากจะพูดนะ ที่พูดไปเพราะเขาอยากได้ยิน จนมาวันหนึ่งก็ได้ตำแหน่งนั้นจริงๆ ซึ่งตลอดสองอาทิตย์ ไม่มีความสุขเลย ไม่ชอบตรงนั้นเลย (เน้นเสียง)

     กลับกัน พอตกลงมาแล้วรูดยาวกลับรู้สึกสบายใจกว่า คือเป็นนักกอล์ฟธรรมดามีความสุขกว่า ไม่มีใครมาคอยจ้องว่ามือหนึ่งทำอะไร ทำไมตีไม่ดี แต่พอตกนานๆ ก็บอกกับตัวเองเหมือนกันว่า ชีวิตจะไม่มีค่าถ้าตีไม่ดี ชีวิตจะมีค่าจากการได้ทำในสิ่งที่เราภูมิใจในตัวเอง

 

     โมรียา: โมต่างไปนะ เจอคนละแบบ เมเจอคนพูดใส่ว่า เดี๋ยวก็ได้มือหนึ่งของโลก ส่วนโมจะเป็น ‘เดี๋ยวก็ได้แชมป์ LPGA อดทนหน่อยนะครับ’ แล้วผลงานของตัวเราเองก็เข้าใกล้มาก แต่ไม่ได้สักที ก็หนีคำถามนั้นไม่พ้น กลายเป็นว่าใครก็ถามว่าเป้าหมายคือแชมป์ LPGA ใช่ไหม เราก็เลยตอบแบบนั้น ทั้งที่ไม่ได้รู้สึก ไม่ได้เชื่อว่าจะทำได้ เพียงแต่ตอบไปเพราะเขาบอกว่าเดี๋ยวก็ได้แชมป์ เหมือนเขาเลือกให้เราแล้ว เขาอยากได้ยินแบบนี้

     หนักเข้าโค้ชก็มาถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจในตัวเอง สิ่งที่ตอบออกไปตอนนั้นคือ การพิสูจน์ว่าเราเป็นแชมป์ได้ หลังจากนั้นก็ทุ่มเท ทำทุกอย่าง ลงรายละเอียดทุกขึ้นตอน เพื่อจะเป็นแชมป์ให้ได้ ต้องการจะเป็นแชมป์เพื่อตัวเอง เพราะตัวเองอยากพิสูจน์ว่าทำได้จริงๆ ไม่ใช่ทำเพราะคนอื่นบอก

 

 

กอล์ฟเป็นกีฬาที่เครียดมากเพราะสู้กับตัวเองเป็นหลัก โปรระดับโลกอย่างพวกคุณมีเคล็ดลับการจัดการปัญหานี้ไหม

     เอรียา: เราทั้งคู่มีโค้ชที่เข้ามาดูแล ทั้งเรื่อง performance วิธีคิด ถ้าเปรียบเทียบกับคนทั่วไปคงคล้ายไลฟ์โค้ชแต่เน้นเรื่องกอล์ฟ ประเด็นหลักที่เขาสอนคือชุดความเชื่อที่ว่า คนเราถ้าลงมือทำขณะที่มีความสุข จะทำออกมาได้ดีกว่าตอนเครียดหรือตื่นเต้น ยกตัวอย่าง การพูดหน้าชั้นเรียน ถ้าตื่นเต้นก็จะพูดไม่ได้ แต่ในโลกความจริง ใช่ว่านั่งเฉยๆ แล้วเราจะเจอความสุข มันมีสิ่งเร้าให้เราเบี่ยงเบนความสนใจเยอะมาก

      ดังนั้น เราต้องสร้างความรู้สึกนี้ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งช่วงแรกที่พยายามทำมันยากมาก เช่น การยิ้มที่ไม่ใช่แค่ปาก แต่คือยิ้มที่ต้องมาจากข้างใน นั่นคือสร้างความรู้สึกยินดีจากข้างในก่อนส่งออกมาผ่านใบหน้า ยิ่งต้องทำระหว่างเกมกอล์ฟมันไม่ง่ายหรอก เวลาจะพัตต์ ดูไลน์เสร็จ เมมีเวลาแค่ 3 วินาทีที่จะยิ้มอย่างมีความรู้สึกสุขจากข้างใน มีความสุขกับการเล่นช็อตนั้นและตีมันออกไป นั่นคือที่มาของคำว่า ‘I love this shot’ เป็นรูทีนที่เมจะยิ้มและคิดถึงคำนี้ก่อนจะตีออกไป สรุปสั้นๆ คือการสร้างความรู้สึกดีๆ ก่อนออกไปเล่นแต่ละช็อต เราทำเต็มที่ในสิ่งที่เราควบคุมได้แล้วนะ ดังนั้นไม่ว่าจะออกมาแบบไหนก็จะรักมัน

     ปัจจุบันวิธีการนี้ก็ยังอยู่ และเราให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ตลอดปีที่ผ่านมาต้องเรียนรู้กับเรื่องนี้มากขึ้น ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้มากขึ้น เพราะเมื่อคุณมาอยู่ในจุดที่มีคนสนใจเยอะ โดยเฉพาะสนใจแค่ผลลัพธ์ โดยไม่สนว่าตัวเรารู้สึกอย่างไร เรายิ่งต้องโฟกัสที่ตัวเองมากขึ้น อยู่กับความรับผิดชอบที่ตั้งไว้มากขึ้น แต่ต้องคิดถึงผลลัพธ์ให้น้อยลง เพราะหากคิดโน่นคิดนี่ เส้นทางที่วางไว้มันจะวุ่นไปหมด

 

 

ตรรกะนี้ดูมันย้อนแย้งกับสังคมปัจจุบันที่หลายคนจับจ้องแค่ผลลัพธ์ ตัดสินกันที่ผลสำเร็จ แต่คุณกำลังบอกให้ปล่อยวางแล้วลงมือทำ?

     เอรียา: ไม่เชิงปล่อยวาง ยกตัวอย่าง เวลามีใครถามถึงเป้าหมาย เราจะไม่ตอบว่า แชมป์หรือท็อป 10 เพราะนักกอล์ฟทุกก็คนหวังจะชนะอยู่แล้ว แต่อะไรจะทำให้ได้แชมป์ นั่นคือสิ่งที่ต้องใส่ใจ

     เหมือนตั้งเป้าจะไปที่ไหนสักแห่ง ถ้าเอาแต่จ้องว่าจะไป แต่ไม่หาทางไป ยังไงก็ไม่ถึง กลับกัน พอมองเส้นทาง เราจะเห็นว่าทางมีให้เลือกตั้งเยอะ ก็เลือกที่มันมีความสุข และสามารถพาเราไปถึงสิ เรื่องประสบความสำเร็จ เมไม่เคยคิดเลยว่าประสบความสำเร็จมากกว่าโม เพราะคนเรามีเป้าหมายในชีวิตต่างกัน อย่ามาวัดว่าใครสำเร็จมากกว่าใคร มันวัดกันไม่ได้ เมแค่อยากเป็นนักกอล์ฟที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ซึ่งตอนนี้ยังไม่ใช่

 

     โมรียา: ส่วนตัวชอบและรักในความกดดันที่ตัวเองสร้างขึ้นเพื่อทำมันให้ได้ในทุกครั้งที่ออกไปเล่น จนบางครั้งกลายเป็นเครียดและกังวลตลอดเวลา แต่จะไปบอกตัวเองว่าอย่าเครียด มันก็ไม่หายหรอก สิ่งที่ทำได้คือคิดว่าตอนนี้ทำอะไร ไม่ใช่หาทางหนีออกไปจากปัญหา โมจะคิดหาวิธีที่สามารถทำมันต่อไปได้

     หมายความว่า ถ้าเป้าหมายคืออยากได้แชมป์ สมมติตอนนี้อยู่ในหลุม 16 เหลือสามหลุมจบเกม โมเครียดมาก แต่จะทำยังไงให้จบหลุมที่ 18 ให้ได้ นั่นคือต้องอยู่กับตัวเอง โฟกัสกับสิ่งที่เราทำ เพื่อให้อีก 10 วินาทีต่อมาจะได้ผลที่ดีที่สุด

 

     เอรียา: การบริหารความเครียดมันไม่ง่ายหรอก เราแก้ไขเรื่องเมื่อวานหรือวันพรุ่งนี้ไม่ได้ ส่วนตัวคิดแค่ว่าตอนนี้เมอายุ 23 ถ้าเมอายุ 40 แล้วมองกลับมา ปัญหาที่เจอในวันนี้มันต้องโคตรเล็ก และกลายเป็นแค่เรื่องเล่าต่อเท่านั้น แล้วมองอย่างคน 40 ว่า ไอ้คน 23 ปีที่จะเจอปัญหาแบบที่ฉันเจอจะแก้ผ่านมันไปยังไง พยายามมองทุกอย่างให้เล็กไว้ และพร้อมเผชิญมัน เพราะปัญหามันไม่เคยหมดไป นอกจากเราจะตาย วันนี้สิ่งที่เจอ เราคิดว่ามันใหญ่แล้ว วันหน้าจะยิ่งกว่านี้ รู้แบบนี้ก็สู้กับมัน ตั้งรับกับมัน

   

     โมรียา: เดี๋ยวจะงงที่บอกว่าไม่สนใจผลลัพธ์ ไม่ได้แปลว่าไม่มีเป้าหมาย โมเองมีเป้าหมายตลอดเวลา แต่หมายถึงว่าเราต้องเรียนรู้เพื่อไปสู่สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่สนใจว่าอยากได้อะไร แค่เชื่อว่าถ้าทำได้ในแบบของเรา มันจะพาไปถึงจุดมุ่งหมายได้เอง

 

โปรโม-โปรเม

 

ชีวิตที่ไม่ต้องคาดคั้นกับผลลัพธ์มันเบาสบายอย่างไร บางตำราเขาว่าต้องหาความท้าทายมากระตุ้นเร้าให้ไปถึงเป้าหมายไม่ใช่เหรอ

     เอรียา: ผลลัพธ์มันคือเป้าหมายนั่นแหละ มีกันทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่การลงมือทำโดยไม่พุ่งไปที่เป้าหมายอย่างเดียวมันสบาย เพราะไม่ต้องกังวลกับเรื่องเหนือการควบคุม ใส่ใจกับสิ่งที่ควบคุมได้เท่านั้น เช่น เมควบคุมได้ว่าจะนั่งแบบไหน นอนตรงไหน พูดอะไร หรือมีความสุขกับชีวิตยังไง เลยรู้สึกไม่กดดันกับชีวิต หากต้องคิดว่านั่งแบบนี้จะมีคนชอบไหม แบบนั้นมันอยู่นอกเหนือการควบคุม เขามองมาที่เราคิดอะไรอยู่เราก็ไม่รู้

 

 

รู้มาว่าตอนนี้โปรโมสร้างความคิดบวกด้วยการทำบันทึกของความสุข (Happy List) เล่าให้เราฟังทีว่ามันคืออะไร แล้วสร้างพลังบวกได้จริงไหม

     เอรียา: เรื่องนี้มาจากความต่างของโมกับเม เมเองด้วยความเป็นคนอะไรก็ได้ ทุกอย่างดีหมด ปล่อยได้ ตีไม่ดีก็แก้ไป แต่ถ้าวันไหนตีดีจะรู้สึกตีดีเยอะมาก ขณะที่โมจะสวนทางกัน บางครั้งทำออกมาดีมาก แต่ยังรู้สึกว่าไม่ดีพอ โค้ชเลยให้บันทึกว่าวันนี้ทำอะไรที่เป็นเรื่องดีๆ มีความสุขแล้วบ้าง

 

     โมรียา: ด้วยความที่เราเป็น perfectionist อะไรที่เคยคิดว่าดี คิดว่าเป็นเป้าหมายพอทำได้จริงก็ยังรู้สึกไม่ดีพอ นี่คือเหตุผล จนโค้ชแนะนำให้เขียนเลยว่าวันนี้ฉันทำอะไรออกมาดีบ้าง วันละ 10 ข้อ เชื่อไหมช่วงแรกคำตอบเป็นกระดาษเปล่าไม่เห็นมันจะมีดีอะไร มันดีแล้วเหรอ ไม่หรอก ยังดีไม่พอเลย เต็มที่ก็ 2 ข้อซึ่งจำไม่ได้ด้วยว่าเขียนอะไรลงไป

 

     เอรียา: ของหนูเขียนมาเต็มหน้ากระดาษเลย อะไรไม่ดีก็มองว่าดี

 

     โมรียา: เราต่างกัน เมแค่โอเคก็นับว่าดีได้ แต่ของโมแค่โอเคมันไม่พอ วิธีการคิดแตกต่างกัน ซึ่งเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่โมเรียนรู้ เพราะสุดท้ายแล้วเราทำได้แค่เป็นตัวเราให้ดีที่สุด ไม่ทำร้ายใครก็พอ เราไม่สามารถบังคับให้ใครชอบหรือไม่ชอบหรือคิดกับเราแบบไหนได้ เรานี่แหละที่รู้จักตัวเองดีที่สุด โฟกัสที่ตัวเองดีกว่า ออกไปทำให้ดีสุดก็พอแล้ว ก่อนหน้านี้เคยแคร์มาก แคร์แทบทุกคนที่เข้ามาจนเหนื่อย ตอนนี้ก็เลือกแคร์เฉพาะคนใกล้ตัวหรือครอบครัวก็พอ คิดได้แบบนี้ชีวิตโมก็ง่ายขึ้นเยอะ

 

     เอรียา: จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชีวิตเบาลง เมเชื่อว่ามาจากช่วงขึ้นมือหนึ่งโลกครั้งแรกแล้วก็ตกลงไป ตอนนั้นใช้ชีวิตยากมาก คิดอะไรก็ไม่รู้ ตีหลุดไปช็อตหนึ่งก็กลัวว่าคนที่มองเข้ามาจะคิดว่าเราไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ มือหนึ่งโลกทำไมกระจอกแบบนี้ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีใครคิดอะไรเลยก็ได้ ก็แค่คนที่ตีพลาดธรรมดาๆ ก็เท่านั้น ไม่มีใครสนใจ

 

 

Self-talk สำคัญอย่างไรสำหรับนักกีฬา

     โมรียา: self-talk เป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่เฉพาะนักกีฬา แต่สำคัญสำหรับทุกคน แต่กอล์ฟเป็นกีฬาที่รายละเอียดเยอะ สามารถพลาดได้ทุกช็อตหากสมาธิไม่ดี การคิดคุยกับตัวเองจึงมีบทบาทมากกว่าปกติ

 

     เอรียา: ตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วงแย่ของชีวิต เมตกรอบ 10 รายการติด เซ็งมาก พูดย้ำซ้ำไปซ้ำว่าตัวเองห่วย คิดดูสิ แค่จับไม้กอล์ฟก็ร้องไห้ได้แล้ว แล้วผลที่ออกมาก็แย่กว่าที่คิด เพราะทุกครั้งที่บ่น คนที่รับผลไปด้วยคือโมที่อยู่กับเมตลอด

     โมเริ่มตีแย่เหมือนที่เมตี พูดเรื่องแย่ๆ อย่างที่เมพูด โมเดินตามรอยเมในทางที่ไม่ดีตลอด จนทั้งคุณแม่และโค้ชเห็นท่าไม่ดีต้องเข้ามาแก้ไข เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ตรงเลย เมื่อเราคิดไม่ดีพูดไม่ดี มันมีพลังงานแย่ที่ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อตัวเรา แต่ยังไปถึงคนรอบข้างด้วย ทางแก้คือเรื่องไม่ดีไม่ต้องพูด พูดแค่สิ่งดีๆ ถ้าเรื่องไม่ดีมันแวบมาก็อย่าพูดออกไป ตอนนี้ถ้าใครมาได้ยินเราคุยกันหลังตีกอล์ฟมาทั้งวัน อาจจะรู้สึกทำไมพี่น้องคู่นี้มันขี้อวดแบบนี้ ฉันทำอะไรดีบ้าง หลุมนี้เบอร์ดี้เทพมาก

 

     โมรียา: โมสวนเลย เบอร์ดี้หลุมนั้นของฉันเจ๋งกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าเกลียดกัน ทับถมหรือแสดงออกซึ่งความมั่นใจเกินไป เราแค่อยากรักษาพลังงานดีๆ เอาไว้ตลอดเวลา

 

     เอรียา: ลองดูนะ ‘อย่าคิดถึงช้างสีชมพู!’ (หันบอกทุกคนในสตูฯ) แล้วเป็นไง ทุกคนที่ได้ยินก็จะต้องคิดแล้วว่าช้างอะไรสีชมพู ช้างสีชมพูเข้าไปอยู่ในหัวทุกคนแล้ว ลองเปลี่ยนพฤติกรรมดู เริ่มต้นจากความคิด หรือคำพูดที่ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในชีวิต มันจะย่อมได้ผลที่ดีกว่ามานั่งคิดว่าทำไมไอ้โน่นไม่ดี ซึ่งเราเคยเป็นพอ ทำได้แล้วเบาลงเยอะ ช็อตที่ไม่ดีหากคิดดียังเป็นแรงบันดาลใจให้การตีครั้งต่อไปออกมาดีได้เลย

 

     โมรียา: แม้แต่เรื่องที่ไม่ดี บางทีมันก็ดีพอที่จะมีความสุขได้ เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจคำนี้เลย ของไม่ดีจะให้มองว่าดีพอเป็นไปได้ แค่เฉยๆ ก็ไม่ดีแล้ว แต่ตอนนี้คือทำในสิ่งที่ควบคุมได้ ผลออกมายังไม่ดีมากแต่ดีพอก็โอเคแล้ว ขอแค่ให้รู้ไว้ว่าคราวต่อไปต้องทำยังไงถึงจะดีขึ้น

 

     เอรียา: และอย่าไปคิดว่ามันยาก แค่ลองมองหาสิ่งดีๆ ในชีวิต และหากอยากให้เรื่องนี้ได้ผลมากขึ้นต้องทำเป็นทีม ยกตัวอย่างตอนเล่นกอล์ฟช่วงเด็กน้อย เมโตมากับคุณพ่อที่ไม่ว่าเราจะตีออกมายังไง ต่อให้ชนะก็ไม่เคยดีพอ ซึ่งมันก็ดีแบบในหนึ่ง คือทำให้เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่จะมีคำพูดของคุณพ่อที่จำแม่นเลยคือ ‘เมเป็นคนตีไกลนะ แต่ลูกสั้นไม่ดี’ แล้วเราจำฝังหัวมาตลอด จนมาเทิร์นโปรก็ยังเชื่อแบบนั้น ไม่เคยคิดว่าพัฒนาแล้ว จนได้แชมป์ แล้วมาทบทวนอีกที และพบว่าที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะลูกสั้นดี สิ่งที่ต้องการบอกก็คือคำพูดหรือความเชื่อจากรอบข้างสำคัญมาก ช่วงที่โมเกือบจะได้แชมป์ มีแต่คนพูดว่าได้แค่นี้แหละ ไม่มีใครเชื่อ แต่เมกับแม่ไม่เคยคิดแบบนั้น เราเชื่อว่าโมทำได้ รู้ว่าพี่สาวเราทำได้ แค่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่เชื่อหมดใจ

   

 

นี่คือเหตุผลที่คุณตอบคำถามว่าปี 2018 ที่ส่วนตัวประสบความสำเร็จมากเหลือเกิน แต่โมเมนต์ที่ดีที่สุดคือช่วงเวลาที่พี่สาวได้แชมป์ครั้งแรกใช่ไหม

     เอรียา: แน่นอน มันย้อนไปครั้งแรกที่เมได้แชมป์ LPGA ตอนนั้นภาพที่อยากเห็นไม่ใช่ตัวเองได้แชมป์อีกหรือประสบความสำเร็จมากขึ้น สิ่งที่อยากเห็นคือโมได้แชมป์ เพราะเป้าหมายของครอบครัวคือได้เห็นเราทั้งคู่ได้แชมป์ ยิ่งวันที่รอคอยมาถึงดีใจมาก

     โมผ่านเรื่องหนักๆ มาเยอะ คิดย้อนไปหากเราเองต้องรอแชมป์อยู่ 5 ปี ไหนจะความกดดันที่ถูกเอาไปเปรียบเทียบว่าทำไมน้องสาวดีกว่า เจอมาตั้งแต่แต่เด็ก คำนี้โกรธมาก เป้าหมายชีวิตเราไม่เหมือนกัน จังหวะชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน โอเค ตอนนี้เราขึ้น ปีหน้าอาจจะเป็นพี่เราก็ได้ที่กด 10 แชมป์ จังหวะมันต่าง

     แล้วคิดดูสิ ถ้าเราต้องเจอเรื่องหนักขนาดนี้อาจจะถอดใจแล้วก็ได้ แต่พี่คนนี้ไม่เคยมีท่าทีแบบนั้น เขาทุ่มเทและเชื่อในสิ่งทำ ขณะที่คนภายนอกไม่สนใจ แล้วคิดดูสิมันเป็นความเชื่อที่แข็งแรงขนาดไหน เรื่องนี้เป็นพลังให้ชีวิตเมมาก

 

โปรโม-โปรเม

 

ย้อนกลับไปวัยเด็กพวกคุณเติบโตมาแบบไหน

     เอรียา: เราสองคนโตมากับครอบครัวที่ไม่มีเงิน ผ่านการดูถูกมาตั้งแต่เด็ก ใครๆ ก็มองว่ากอล์ฟเป็นกีฬาของคนมีเงิน คนที่มาเล่นทั่วไปกินข้าวในคลับเฮาส์ แต่เราสี่คนพ่อแม่ลูกกินโรงอาหารกับแคดดี้ แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจนะ มองว่ามันเป็นความสุขที่เราสามารถทำพร้อมกันสี่คนได้ แต่คนภายนอกจะมองว่าเราจน คนละระดับกับเขา ยิ่งเด็กๆ รุ่นเดียวกันที่เล่นกอล์ฟส่วนมากเรียนอินเตอร์ พ่อแม่รวย

     ครั้งหนึ่งเคยจะไปแข่ง แต่เงินในบัญชีคุณพ่อไม่พอซื้อตั๋วเครื่องบินสำหรับสี่คน สิ่งที่รู้คือพ่อสู้เต็มที่ ไม่หยุดจนวินาทีสุดท้ายเพื่อหาเงินไปซื้อตั๋วให้เราสี่คนได้บินไปแข่งที่อเมริกา พ่อต้องไปยืมเงินญาติ ต้องตอบคำถามที่คนอื่นไม่เข้าใจ บ้าหรือเปล่า ทำไปทำไมเรื่องแบบนี้ ไม่ส่งลูกไปเรียนหนังสือเหมือนคนอื่นเขาล่ะ มีอะไรการันตีหรือไงว่าลูกจะประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ใช่ คำถามนี้ไม่มีใครรู้หรอก แต่สิ่งที่พ่อบอกเสมอคือหากครอบครัวหรือลูกยังไม่ประสบความสำเร็จ เราจะไม่มีวันล้มเลิก

 

 

ณ ตอนนี้ความสุขของคุณทั้งคู่อยู่ที่ไหน

     เอรียา: การที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน ใช้ชีวิต ผ่านปัญหา ประสบความสำเร็จ ได้มาถึงฝันพร้อมกัน ไม่ได้บอกว่ามีทุกอย่างแล้ว แต่มีพอแล้ว มีชีวิตที่ดีมาก มีพี่ที่เข้าใจเมทุกอย่าง มีเพื่อนที่เป็นเหมือนอีกครึ่งหนึ่งในชีวิต มีคุณแม่ที่สนับสนุนทุกอย่าง ทุกวันนี้เราอยู่คอนโดฯ ห้องนอนเดียวกันสามคน คุณแม่นอนโซฟา เมนอนพื้น โมนอนเตียง แต่โคตรมีความสุขเลย เราไม่ได้มีครบแต่มีพอจนสามารถแบ่งให้คนอื่นเขามีความสุขแบบที่เรามีได้ อีกสิ่งที่มีความสุขมากคือตอนนี้ เมไม่ยึดติดกับอดีต ไม่กังวลว่าอนาคตจะเป็นยังไง เรามีความสุขในปัจจุบันแล้ว

     

     โมรียา: ช่วงปลายปีมีคำถามว่าคริสต์มาสนี้อยากขออะไรจากซานต้า ตอบไม่ได้เลย ไม่รู้จะขออะไร เพราะเรามีพอแล้ว ถามว่าความสุขที่สุดอยู่ตรงไหนก็อยู่ตอนนี้แหละ

 

 

‘มีพอแล้ว’ พูดแบบนี้คงไม่ได้หมายถึงจะเลิกเล่นกอล์ฟใช่ไหม

     โมรียา: ยังหรอก เพราะมีเป้าหมายอย่างอื่นอีก เหมือนที่บอก แรงกิ้งไม่สำคัญแล้ว แต่ยังมีอีกหลายอย่างในชีวิตกอล์ฟที่อยากได้แต่ยังไปไม่ถึง ยกตัวอย่างปีนี้ตั้งเป้าเป็นนักกอล์ฟที่มีทัศนคติดีตลอดเวลา รวมถึงกอล์ฟยังพาเราไปยังจุดหมายอื่นในชีวิตได้อีกด้วย

 

 

นี่คือที่มาของมูลนิธิโมรียา-เอรียา? (มูลนิธิของสองพี่น้องนักกอล์ฟที่มีจุดประสงค์เพื่อการส่งเสริมการศึกษาและการกีฬา)

     เอรียา: เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในชีวิต เมเชื่อว่าคนเราเกิดมามีหน้าที่ไม่เหมือนกัน มูลนิธิเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยากทำนอกจากกอล์ฟ ลึกๆ แล้วเมไม่ได้ตั้งเป้าจะเป็นนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ได้ช่วยคนอื่น ตอนนี้เป้าหมายแรกที่วางไว้ตอนเริ่มเล่นกอล์ฟคือดูแลครอบครัว ก็ทำได้แล้ว เลยอยากจะช่วยคนอื่นอีก เพราะเขาควรจะได้มีโอกาสในชีวิตดีกว่านี้

     ก่อนหน้านี้เมเคยคิดว่ามือหนึ่งโลกมันไม่มีค่าสำหรับเม แต่ตอนนี้รู้แล้วว่ามันมีค่า คำพูดของเราจะมีความหมายมากขึ้นและเป็นแรงบันดาลใจได้ หากเราเป็นมือหนึ่งของโลก คิดแบบนี้เราก็มีความสุข และลงมือทำมันได้ต่อ ส่วนตัวเชื่อว่าการได้ฟังใครสักคนที่ชีวิตเคยตกลงไปต่ำสุด ไม่ได้ทำในสิ่งที่รักไปเป็นปี คนที่ผ่านความลำบาก ต้องขายบ้านเพื่อออกไปตามความฝัน เมเชื่อว่าเรื่องของคนแบบนี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจและสอนให้รู้ได้ว่า ไม่ว่าเราจะตกลงไปต่ำแค่ไหน หากเราพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้จนสุดกำลัง เราก็จะได้มันมา ชีวิตเมเองไม่ได้เรียบง่ายสวยหรู มันเป็นชีวิตที่ขึ้นสุดลงสุด ถึงเชื่อว่าสามารถบอกเด็กๆ ได้ว่า อย่ากลัวที่จะล้มแต่จงกลัวมากกว่าหากล้มแล้วไม่กล้าลุก

 


โค้ชที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของพี่น้องจุฑานุกาล

     Pia Nilsson และ Lynn Marriott คือทีมงานโค้ชจิตวิทยาจาก Vision 54 บริษัทที่ไม่ได้ดูแลนักกอล์ฟเพียงเรื่องแท็กติกหรือวงสวิง แต่โดดเด่นในเรื่องจิตวิทยาการสร้างแนวคิดที่ยอดเยี่ยม ด้วยเชื่อว่า ศักยภาพของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด ทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอ ซึ่งทำให้พวกเธอเล่นอย่างมีความสุขจนประสบความสำเร็จ สองพี่น้องเริ่มต้นร่วมงานกับสองโค้ชเมื่อต้นปี 2017 ด้วยการพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ