นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล | คุณค่าของความรัก และสิ่งสอนใจจากความไม่แน่นอนของชีวิต

ถ้าเรามีปัญหาหัวใจ อกหักรักคุด หรือกำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่สับสนวุ่นวายใจ เพื่อนคนแรกที่นึกถึงว่าน่าจะให้คำปรึกษาได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ดีเจพี่อ้อย’ – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล สาวที่กล่าวถึงตัวเองว่าเป็นพวกสุขนิยม ซึ่งก็เห็นท่าจะจริง เพราะถ้อยคำและคมคิดของเธอที่ถ่ายทอดในรายการวิทยุนั้น เต็มไปด้วยพลังใจและแง่คิดดีๆ ที่ช่วยทำให้คนฟังมีความสุขและความพอใจในตัวเอง

     อย่างไรก็ตาม ถ้าชีวิตมาถึงวันที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งกว่าเรื่องอกหักรักคุด เป็นความสูญเสียที่ไม่ใช่เพียงแค่ความรักเท่านั้นที่จบลง แต่หมายถึงคนรักของเราทั้งคนได้จากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ถ้อยคำหรือคมคิดของดีเจพี่อ้อยจะช่วยเยียวยาเราได้หรือไม่ เพราะครั้งหนึ่งเธอเคยเข้าร่วมอบรม ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ กับทางชีวามิตรฯ เราจึงชวนเธอพูดคุยถึงเรื่องนี้ ว่าความสุขที่แท้คืออะไร และเมื่อเผชิญหน้ากับความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เราจะกลับคืนสู่ความสุขได้หรือเปล่า

 

นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

คุณพูดถึงเรื่องความรักอยู่เสมอๆ แต่เราอยากรู้ถึงทัศนะของคุณที่มีต่อเรื่องความตาย

     โดยส่วนตัวเป็นคนที่เจริญมรณานุสติอยู่แล้ว พี่ทำงานกับคลับฟรายเดย์มานาน ทำให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ความรักและการสูญเสียนั้นอยู่คู่กัน ซึ่งทำให้รู้สึกกับเรื่องความตายตลอดเวลา และก็นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานพูดคุยกับผู้ฟัง หลายครั้งมักจะตอบคำถามหลายๆ คนว่าเราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด และก็มักจะหยิบยกเหตุการณ์หรือข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของทุกสิ่ง ดังนั้น เมื่อทั้งเนื้องานและความเชื่อส่วนตัวสอดคล้องกัน เมื่อทางชีวามิตรฯ มาชวนก็เลยยินดีที่จะไป

     วันที่ไปได้ฟังก็ได้ความรู้ทางด้านกฎหมายและการรักษาแบบประคับประคอง รวมทั้งความเข้าใจเรื่องความสุขสุดท้ายของคนใกล้จะจากไป พี่ยังจำได้ว่าคุณหมอฉันชาย สิทธิพันธุ์ ถามว่า ถ้าเลือกได้ เราอยากเลือกตายแบบไหน ทุกคนที่นั่งอยู่ในกลุ่มพูดเหมือนกันหมดว่า เราอยากตายในอ้อมแขนของคนที่เรารัก คุณหมอเลยถามกลับมาว่า แล้วจะมีใครสมหวังบ้าง จากนั้นคุณหมอก็อธิบายว่า ในความเป็นจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคุณจะไปอยู่ในห้องไอซียูที่มีอุปกรณ์ทุกอย่างติดอยู่กับตัวเต็มไปหมด แล้วไล่คนที่คุณรักทั้งหมดออกจากห้องไป เขาจะพยายามทำอะไรก็ตามเพื่อให้คุณยังมีลมหายใจต่อไป จนเมื่อเขาช่วยไม่ไหว ก็จะเดินออกมาบอกคนพี่คุณรักว่าคุณจากไปแล้ว ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการใช่ไหม คำถามของหมอก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ นั่นสินะ

     ตัวเองเป็นพวกสุขนิยม เป็นคนประเภทที่ไม่ว่าเผชิญหน้ากับอะไรก็ตาม แม้รู้ว่าเป็นความทุกข์ พี่ก็ต้องหามุมที่มีความสุขให้ได้ ทุกวันนี้พี่กับสามีอยู่ไกลกัน อยู่ต่างจังหวัดและต้องเดินทางบ่อย แล้วคนที่ต้องบินบ่อยๆ จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่าพออยู่บนฟ้านั้น หากเกิดอะไรขึ้นมาจะช่วยชีวิตตัวเองได้อย่างไร เราก็คิดแค่ว่า เอาเถอะ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แล้วก็จะสวดมนต์เพื่อให้มีสติอยู่กับตัวจนถึงวินาทีสุดท้าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการฝึกสติทำให้ปลงได้หมด แต่จะช่วยให้เราอยู่กับเวลานั้นได้สั้นลง หรืออยู่กับความเจ็บปวดนั้นได้น้อยลงมากกว่า

 

นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

 

คนหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรงอยู่ จำเป็นไหมที่ต้องมองให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต

     ต้องยอมรับก่อนว่าแต่ละคนคงมองเรื่องนี้ต่างกันไป คนอายุน้อยๆ คงไม่มานั่งฟังพี่พูดแบบนี้หรอกว่าเวลาเหลือน้อย เพราะยังเห็นว่ามีอะไรให้ทำอีกเยอะ แต่พอมาถึงวัยหนึ่ง เราจะมองเรื่องนี้มากขึ้น มันคือวันที่เราเริ่มไปงานศพบ่อยขึ้น

     พี่ไม่ได้มองว่าทุกคนต้องเจริญมรณานุสติทุกคน แต่เพียงแค่ให้มองเห็นว่าวันข้างหน้านั้นไม่แน่ไม่นอน มีแค่วันนี้เท่านั้นที่เรายังควบคุมดูแลได้ ดังนั้น ถ้าเรามองเป็น มันจะกลายเป็นความสุข เพราะเราจะเห็นคุณค่าของเวลาที่มี เวลาที่เรายังหายใจได้ เราจะรู้สึกว่าแค่นี้โชคดีจังเลย

     สิ่งที่พยายามคือ ก่อนถึงวันสุดท้าย ฉันต้องทำสิ่งที่ดีที่สุด หลายๆ คนที่ โทร. เข้ามาในรายการ บอกว่าตัวเองโชคร้าย มีเชื้อเอชไอวี บางคนป่วยเป็นมะเร็ง พี่มักจะบอกว่าส่วนหนึ่งนั้นคือความโชคดีที่ได้รู้เวลาที่ยังเหลืออยู่ จะได้เตรียมตัว ได้ไปขอโทษคนที่ผิดใจกัน แต่ในขณะที่คนแข็งแรงมักจะกลับประมาท ประสบอุบัติเหตุปุบปับ ไม่มีโอกาสได้ลาใคร

 

อยากให้ช่วยแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับความรักและความสูญเสีย

     พี่และครอบครัวเข้าใจเรื่องความไม่แน่นอนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ อย่างตอนที่คุณแม่ไม่สบาย ต้องเข้าๆ ออกๆ ห้องผ่าตัดบ่อยๆ ระหว่างรอก็เห็นเตียงคนป่วยเข็นไปเข็นมา บางคนก็อายุน้อยไม่น่าจะต้องมาผ่าตัดเลย นั่นทำให้พี่ยิ่งเห็นว่าไม่มีอะไรแน่นอน คนที่อายุเยอะกว่าไม่ได้แปลว่าต้องไปก่อน

     หรือจะเป็นเรื่องของพี่สาวของสามี เขาเส้นเลือดในสมองแตกอย่างกะทันหัน นี่ถือเป็นบทเรียนเล่มใหญ่ และย้ำว่าทุกอย่างไม่แน่นอน หมอก็เคยพูดไว้ว่าเขาไม่รอดแน่ๆ แต่เราคิดว่าไม่มีอะไรจะเสีย ลองสู้จนถึงที่สุด ก็นำพี่สาวลงมากรุงเทพฯ ถึงตอนนี้ผ่านไป 15 ปีแล้ว เขาก็ยังมีชีวิตอยู่ แค่นอนนิ่งๆ และพูดได้ไม่ชัด แต่รับรู้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนลูกสองคนก็กลายมาเป็นลูกของพี่กับสามีไปเลย เราส่งเรียนจนจบ บวช และก็แต่งงานไป

     พี่เองไม่ได้อยากให้ใครต้องเจอโจทย์ยากๆ ก่อนถึงจะเริ่มเตรียมตัว แต่บางทีมันช้าไป ถ้าสิ่งที่พี่เล่าและเจอมาในชีวิตเหล่านี้พอจะเป็นประโยชน์ พี่ก็อยากให้ทุกคนเอาไปใช้ หรือฉุกคิด และเลิกคิดเถอะว่านี่คือการแช่งตัวเอง

 

นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

 

เมื่อเจอโจทย์ยากๆ มาแล้ว หลังจากนั้นมาชีวิตก็มีความสุขได้ง่ายขึ้นใช่ไหม

     ใช่เลย อย่างพี่ก็จะเขียน living will เขียนถึงสิ่งที่เรายังห่วง สิ่งที่เราต้องการไว้คร่าวๆ เหมือนการขีดเส้นประ เราไม่ได้กดดันตัวเอง แต่อนาคตสามารถเพิ่มเส้นประอื่นๆ ได้ตลอดเวลา

     ตอนที่ไปอบรมกับชีวามิตรฯ เขาสอนมากกว่า ‘ความเข้าใจเรื่องความตาย’ แต่ยังรวมไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ และการเขียน living will อย่างในสหรัฐอเมริกา เวลาป่วยและต้องเข้าไปในโรงพยาบาล สิ่งแรกที่ต้องหยิบไปด้วยคือประกันชีวิต และ living will สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ตอนมีชีวิตอยู่เรายังอยากอยู่แบบมีความสุขเลย แล้วทำไมตอนจากไปเราจะไม่อยากจากไปอย่างมีความสุข และเราก็ได้เรียนรู้มันมากขึ้นกว่าที่ตัวเองเคยเข้าใจ

     Living will จะต้องให้เจ้าของเป็นคนตัดสินใจในขณะที่เขายังมีสติสัมปชัญญะอย่างครบถ้วน ซึ่งต่างจากการเขียนพินัยกรรม เพราะฟังดูเหมือนรวยมาก (หัวเราะ) กรณีนี้คือ อาจจะมีลูกหลายคน แล้วการจะแบ่งคนนั้นเท่านี้ คนนี้เท่านั้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เลยมีข้อกฎหมายเข้ามากำหนด และห้ามเขียนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง เช่น บ้านหลังนี้ยกให้ทั้ง 3 คนนะ ให้อยู่ด้วยกัน เขียนแบบนี้ลูกจะตีกันตาย ในวันที่ทุกคนมีสะใภ้ มีเขย ถ้ารวมอยู่ด้วยกันอาจจะทุกข์ทรมานก็ได้

     พี่เขียนว่าจะบริจาคดวงตา บริจาคอวัยวะต่างๆ แล้วบอกกันไว้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร แต่เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจมากกว่า รวมทั้งการบริจาคเลือดทุกๆ 3 เดือน ด้วยเหตุผลคือพี่เคยแท้งลูก จึงตั้งใจไว้ว่าถ้าเลือดของเรา ลูกเราไม่มีโอกาสได้ใช้ เราก็จะให้คนอื่นต่อไป เพราะคุณรู้ไหม การบริจาคเลือดหนึ่งคนทำให้สามคนรอด และอาจจะยังทำให้ครอบครัวของสามคนนั้นรอดต่อไปด้วย

     คุณแม่พี่ก็เขียน living will เขาบอกกับพี่ว่าเก็บเงินไว้ที่ไหน หรืออะไรเก็บไว้ตรงไหน แล้วให้เราพี่น้องไปแบ่งกัน สั่งว่าไม่ต้องใส่เสื้อสีดำไปงานศพ ไม่ต้องเศร้า ขอให้ลูกสนุกๆ เมื่อทุกคนได้เตรียมทุกอย่างไว้แล้วก็จะสบายใจขึ้น พี่มองว่า

การมีชีวิตอย่างไม่มีคุณค่านั้นคือความทรมาน การตายโดยที่ไม่ได้ฝากฝังอะไรไว้ก็คือความทรมานเช่นกัน นั่นทำให้พี่รู้สึกว่าการเตรียมตัวสำคัญ และการใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้อย่างดีก็สำคัญ

     เราจึงมีสติมากขึ้น และมีความสุขได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย พี่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะหันมามองเรื่องนี้ในทางบวกเหมือนกันหมดได้

 

ราวกับทั้งหมดที่คุณเล่ามา คือความรัก ความสุข และการทำชีวิตทุกวันให้มีคุณค่า ล้วนเกี่ยวข้องกับความตาย

     ถูกต้อง ไม่ใช่ว่ารอให้สัญญาณมาบอกก่อนแล้วถึงค่อยทำ เราจะต้องไม่มีคำว่า ‘ถ้ารู้อย่างนี้นะ…’ เป็นคำที่ไม่ควรพูดติดปากเลย หากเราทำวันนี้ให้ดีมีคุณค่าแล้ว เราจะต้องไม่มีคำว่ารู้อย่างนี้ แต่ทุกวินาทีคือการเตรียมพร้อม