นริศ เชยกลิ่น: A Better Tomorrow

ทีมงานของ Singha Estate บอกพวกเราว่าวันนี้ นริศ เชยกลิ่น ไม่สบายนิดหน่อย

     ระหว่างรอเขามาให้สัมภาษณ์ ณ ชั้น 40 ของตึก Suntowers ทีม a day BULLETIN รู้สึกกังวลใจเล็กน้อย จนกระทั่งนริศปรากฏตัวเข้ามาในห้องประชุมพร้อมรอยยิ้ม และท่าทางกระฉับกระเฉง กล่าวทักทายทุกคนอย่างเป็นกันเอง ตั้งแต่บรรณาธิการยันช่างภาพ

     เขาบ่นกับเราว่าช่วงนี้ต้องเดินทางบ่อยมาก แม้จะพยายามรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและวิ่งเป็นประจำ แต่ก็ยังไม่วายป่วยไข้

     สถานะของ Singha Estate ตอนนี้นับว่ารุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว นับจากวันแรกที่บริษัททำงานด้วยชื่อ Singha Estate ในปี 2014 ไม่นานนักบริษัทก็เข้าตลาดหลักทรัพย์และมีสถานะเป็นโฮลดิ้งคอมพานี ด้วยวิสัยทัศน์ของนริศที่อยากให้ Singha Estate เป็น The Premium Lifestyle ชูจุดเด่นว่าเป็นนักพัฒนาที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบพรีเมี่ยม เขาพัฒนาวิสัยทัศน์นี้ผ่านโครงการมากมาย อย่างที่เห็นชัดล่าสุดคือ SINGHA COMPLEX โครงการ Mixed-Use ที่ตอบโจทย์คนเมืองตรงหัวมุมอโศก-เพชรบุรี

     อีกด้านหนึ่งที่คนยังไม่ค่อยรู้ คือนริศทำงานด้านความยั่งยืนมานานมาก ก่อนที่เราจะเห็นคำว่า CSR หรือ Sustainable Goal ในภาคเอกชนหลายแห่ง เขาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และพาร์ตเนอร์เก่งๆ อีกหลายองค์กร ช่วยพลิกฟื้นพื้นที่ทางทะเลในหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ สร้างศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลของเอกชนครั้งแรกที่นั่น นอกจากนี้ ยังลงทุนครั้งใหญ่สร้างโครงการ CROSSROADS หมู่เกาะรีสอร์ทที่แม้จะดูหรูหราแต่สร้างโดยนำองค์ความรู้ทางทะเลมาใช้ในการพัฒนาควบคู่กันอย่างไม่ประนีประนอม

     ปลายปีนี้ เราจะได้เห็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อ #SeaYouTomorrow นั่นคือ #SeaYouTomorrowRun ทะเลวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม คุณคือผู้ร่วมสร้างคุณค่าคืนสู่ทะเลงานวิ่งที่ทำด้วยความตั้งใจว่ากิจกรรมกีฬาสุดฮิตนี้ก็สามารถทำอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ รายได้ส่วนหนึ่งยังนำไปมอบให้ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

     เรานั่งพูดคุยกับเขาในบ่ายวันนั้น น้ำเสียงของเขาก็ยังหนักแน่น แนวคิดแม่นยำ วาดภาพให้เห็นความเป็นไปได้มากมายในอนาคตข้างหน้า วันที่โลกของเราได้คืนฟื้นตัวจากอาการป่วยไข้ เผยปรัชญาในการทำธุรกิจที่ไม่ได้เน้นแค่ตัวเลขกำไรระยะสั้นในวันนี้ แต่ยังมองไปยังอนาคตที่ดีกว่าเดิมด้วย

 

นริศ

 

ทุกวันนี้เราเห็นเทรนด์ที่องค์กรธุรกิจหันมาสนใจเรื่อง Sustainable Development กันมากขึ้น ในฐานะที่คุณทำงานธุรกิจมาอย่างเชี่ยวชาญมาก คุณมองเห็นปรากฏการณ์นี้อย่างไร

     ผมมีความเชื่อเรื่องนี้มานานกว่ายี่สิบปีแล้ว และก็พยายามผลักดันสู่ธุรกิจที่ตนเองทำ เพราะผมมีความเชื่อว่าธุรกิจต้องไม่คำนึงถึงเพียงแค่กำไรระยะสั้น แต่ต้องมองความยั่งยืนในระยะยาว การจะทำแบบนั้นได้ต้องไม่ใช่เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจที่เน้นเฉพาะกำไรอย่างเดียว ต้องมีการเสียสละบางสิ่งไป จะเรียกว่านี่คือลงทุนก็ไม่เชิง เพราะว่าการทำ SD บางทีก็ไม่ต้องมีการลงทุน แต่เป็นการที่เรามี margin ที่น่าพึงพอใจถึงในระดับหนึ่ง และ margin ตัวนี้สามารถไปสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่ของแบรนด์ และในแง่ Customer Loyalty ระยะยาวได้

     สมัยก่อนผมมักพูดกับทีมเสมอว่า คุณต้องมองว่า SD หรือที่เรามักจะใช้คำว่า CSR กันในตอนนั้น มันก็ไม่กี่ปีที่ผ่านมา แท้จริงต้องไม่เป็นในเชิงของการตลาด ไม่ใช่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นการทำให้ลูกค้าได้ตระหนักถึงปัญหา มีความรู้ในเรื่องนั้น และค่อยนำมาสู่มีความรู้สึกถึงแบรนด์เราที่ไปอยู่ในใจเขา

เราจะแยกการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและการโฆษณาชวนเชื่อออกจากกันได้อย่างไร และคุณคิดว่าสองสิ่งนี้มีความต่างกันอย่างไร

     ต่างกันมาก เพราะบางครั้งเราอาจจะต้องการเพียงแค่ความฉาบฉวย เรามักชอบเห็นการโฆษณาเห็นการประชาสัมพันธ์สวยๆ เห็นแค่นั้นแล้วชอบ โดยไม่ได้สนใจว่าเนื้อหาแก่นแท้คืออะไร แต่ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่จะคอยดูหรือคอยติดตามว่าบริษัทนั้นๆ จะทำอะไรเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แล้วเขาก็ยินดีที่จะเป็นแฟนกับแบรนด์ ไม่ว่าบางครั้งราคาอาจจะแพงกว่า หรือต้องมีความยุ่งยากลำบากในการใช้บริการหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้แต่เขากลับรู้สึกยินดียิ่งกว่า เพราะเชื่อมั่นว่าการที่เขาต้องใช้ความพยายามมากขึ้น เพื่อมาร่วมกับเราตรงจุดนั้น จะได้รับสิ่งตอบแทนคืนมาอย่างแท้จริง ในแง่ของการเข้าไปร่วมสร้างบางสิ่งบางอย่าง หรือช่วยให้เกิดความยั่งยืน ความสมดุลให้กับโลก

อยากให้เล่าถึงโครงการที่เกาะพีพี ซึ่งเป็นโครงการแรกๆ ของสิงห์ เอสเตท ทำ ทำไมถึงเลือกที่นั่น

     โรงแรมพีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท (Phi Phi Island Village Beach Resort) เป็นโรงแรมแห่งที่สองของเรา และตั้งอยู่ในทำเลที่ต้องการได้รับความดูแลเป็นพิเศษจริงๆ เพราะว่าในช่วง 5 ปีที่แล้วที่เราตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา พีพีประสบกับปัญหา Overtourism หรือการท่องเที่ยวที่มากเกินไป ส่งผลให้มีการเข้าไปเบียดเบียน เข้าไปสร้างปัญหา เป็นภาระหนักหนากับธรรมชาติ

     เราก็เลยมองกันว่าการที่เราเข้าไปลงทุนที่พีพี เราควรจะเข้าไปช่วยสนับสนุนภาครัฐและชุมชน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อปกป้อง พิทักษ์ดูแล ทะเล ปะการัง ชายหาดที่สำคัญๆ อย่างอ่าวมาหยา รวมถึงการเข้าไปสร้างให้เกิดการตระหนักรู้โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว สื่อสารให้เขารู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ความรู้ว่าเขาควรจะทำอะไร และไม่ควรจะทำอะไร

ทะเลพีพีในวันที่เข้าไปเริ่มทำงานกันตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

     ยกตัวอย่างชัดๆ อย่างตรงอ่าวมาหยา แทบจะไม่มีความเป็นหาดเหลืออยู่เลย ตื่นมาเช้ามืดก็เห็นแล้วว่ามันเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทุกตารางเมตร บางทีก็มีนักท่องเที่ยวไปให้อาหารปลาบ้าง ไปเหยียบย่ำบนปะการังจนมันตายบ้าง แม้กระทั่งมีบางคนไปจับปลากินด้วยซ้ำไป ซึ่งเราก็ได้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราจึงเสนอตัวเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยาน ให้เขาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจาก ‘โครงการพีพีกำลังจะเปลี่ยนไป’ ที่เราได้สนับสนุนการวางเขตป้องกันแนวปะการังด้วยการมอบทุ่น และมอบเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ใช้ตรวจตราคอยระมัดระวังป้องกัน

     จากนั้นมีการขยายผลต่อเนื่องมาจัดทำ ‘โครงการโตไวไว’ โดยเราได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในการปลูกต้นพีพีหรือต้นแสมขาว ปลูกปะการัง และปล่อยปลาการ์ตูนสีส้มขาว บริเวณพื้นที่เกาะบิดะใน จนล่าสุดพัฒนาเป็นโครงการชื่อว่า #SeaYouTomorrow ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราจะพัฒนาเป็นต่อไป กระจายเป้าหมายออกไปอีก คือนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวแล้ว เราต้องกระจายความรู้ไปสู่ผู้คนทั่วไป สังคม ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า เราพยายามใช้ถุงผ้า งดใช้ถุงพลาสติก ในบริเวณที่เราสามารถทำได้เลย

 

นริศ

 

โดยส่วนตัว คุณมีความผูกพันอะไรกับทะเลเป็นพิเศษไหม เพราะว่าการทำงาน SD ของ สิงห์ เอสเตท ดูเหมือนว่าเน้นเรื่องทะเล

     เพราะว่าทะเลเป็นแหล่งกำเนิดของทุกชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกมาจากทะเล แล้วในตอนจบของทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็จะกลับลงไปอยู่ในทะเลอีก เป็นแหล่งที่ผลิตออกซิเจนกับโอโซนให้กับโลกมากที่สุดด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น มีความจำเป็นที่พวกเราจะต้องดูแลรักษาเขา ถ้าเขามีปัญหา มันก็จะส่งผลกระทบมาหาทุกคน สุดท้ายก็จะเป็นปัญหาต่อเนื่อง วนเวียนเป็นวัฏจักร ทะเลเป็นทั้งต้นกำเนิดและจุดจบของชีวิต ทะเลจึงมีความสำคัญมาก

สงสัยว่าจริงๆ ว่าโครงการโดยน้ำมือของมนุษย์และธรรมชาติ มันเป็นสองสิ่งที่ต้องส่งผลกระทบต่อกันแน่นอนอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้

     นี่คือสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ทุกๆ ที่ที่เราไปอยู่ เริ่มต้นจากการให้ความรู้ โดยเราจะต้องให้ความรู้กับพนักงานทุกระดับ เราให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว กับชุมชนที่โรงแรมเราอยู่ร่วมด้วย ว่าทำอย่างไรเราทุกคนจะช่วยกันรักษาทะเลเอาไว้ให้สมบูรณ์ งานของเราต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากับทะเล นี่ถือเป็นความตั้งใจ เป็นนโยบายที่เราให้ไปกับผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของเราเอง หรือว่าผู้บริหารของ chain ที่เขาบริหารโรงแรมให้เรา ทุกที่ก็จะมี statement ที่เหมือนกันหมด ถ้าไปทำธุรกิจที่ไหน ก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมที่นั่น ถือเป็นใจความที่เราพยายามยึดถือ และเป็นยุทธศาสตร์หลักของเรา

ภาคธุรกิจนำความรู้เข้าไปแชร์กับท้องถิ่นได้อย่างไร

     คนเรามักจะใช้ชีวิตไปโดยใช้สัญชาตญาณ หลายครั้งก็ถูก แต่มันมีบางครั้งที่สัญชาตญาณของเราผิด ยกตัวอย่างเช่น เรารักสัตว์ รักปลา เราจึงเอาอาหารให้ปลา มันสนุกมากเลยนะ โยนแตงโม โยนสับปะรดให้ปลากิน แต่สุดท้ายระบบนิเวศก็เสื่อมลงและพังในที่สุด เพราะฉะนั้น ความรู้จึงสำคัญ วิธีการเผยแพร่ความรู้นั้นยิ่งสำคัญ เมื่อความรู้ได้แพร่กระจายออกไป มันจะส่งผลได้ดีกว่า เร็วกว่าการที่เราไปนั่งทำเองเสียอีก เพราะความรู้ที่กระจายออกไปแล้วนั้นสามารถต่อยอดออกไปได้ไม่รู้จบ

     ยกตัวอย่าง เราเคยทำคลิปวิดีโอเรื่องขยะที่ไปสู่ทะเล แล้วเมื่อมันกระจายออกไปในโลกออนไลน์ เมื่อคนเป็นแสนเป็นล้านได้ชมก็สร้างแรงกระตุ้นได้ คนที่ได้ดูไป เขาจดจำ เชื่อถือ แล้วนำไปปฏิบัติ ขอแค่มีคนได้ทำตามสักสิบเปอร์เซ็นต์ก็ถือเป็นจำนวนเยอะ ฉะนั้น ในแง่ของการทำงานด้านความยั่งยืนการลงมือปฏิบัติเอง และการสร้างความรับรู้ เผยแพร่ในสิ่งที่เราเชื่อมั่นออกไป จึงเป็นสองสิ่งที่เราต้องทำคู่กัน เพื่อให้กระจายออกไปกว้างที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทะเล และผู้ที่อาศัยอยู่ที่ทะเล

โครงการที่ใหญ่มากอย่าง CROSSROADS มีการลงทุนไปกับงาน SD เยอะมาก เช่น ปรับเปลี่ยนแผนงานเพื่อรักษาชีวิตเต่าตัวเดียว ทำไมคุณต้องลงทุนขนาดนี้มันไม่มากเกินไปสำหรับภาคธุรกิจหรือ

     นี่ก็เช่นกัน คือตัวอย่างการลงมือทำและการกระจายความรู้ เรามองว่าเต่าเป็นตัวแทนของสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าเราทำผิดกับธรรมชาติ เราประเมินไม่ได้หรอกว่าผลกระทบจะเกิดกับสัตว์ทะเลอื่นๆ อีกมากมายสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุน มีค่าใช้จ่าย แต่ยังนับเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับผลกระทบที่เมื่อเราทำไปแล้ว มันตามไปแก้ไม่ได้ และยังมีผลกระทบมหาศาลไปยังระบบนิเวศของที่นั่น

     การที่เราปรับตัว เปลี่ยนฐาน ทำใหม่ เราคิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว แทนที่จะถูกกระทบด้วยสิ่งก่อสร้าง ปัจจุบันเราก็เห็นความสมบูรณ์ของที่นั่นกลับมาเกิดการเจริญเติบโตขึ้นสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ที่นั่น แล้วเรามั่นใจว่าถ้าได้ดำเนินงานตรงนี้ต่อไปเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์ก็จะยิ่งคืนกลับมา

โครงการ CROSSROADS มีความหมายกับคุณอย่างไร

     ถ้าพูดกันตอนนี้อาจจะยังเห็นผลไม่ชัดเจนเสียทีเดียว แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตเราน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น CROSSROADS เป็นการพัฒนาที่เราเน้นและให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่และชุมชนอีกด้วย นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ แล้วเรามีการจัดจ้างผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์เข้าร่วมช่วย ในเวลาเดียวกัน ก็ช่วยสร้างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่จะไปใช้ในมหาวิทยาลัยของภาครัฐที่นั่น เพราะเขาอยู่กับทะเล เขาควรจะต้องมีการศึกษาด้านนี้ให้กับเยาวชน ให้กับคนที่จะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

ดูเหมือนว่าความรู้คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของงานด้าน SD มันต่อยอดต่อไป และทำให้สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง

     ใช่ เรามองว่าการทำงานด้านความรู้นี้ต้องตอกย้ำไปเรื่อยๆ ในครั้งแรกผู้คนอาจจะยังไม่สนใจ เราก็ทำครั้งที่สอง สาม สี่ พอเราเริ่มทำไป ก็จะมีผู้คนเข้าร่วม ความคิดก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น เหมือนบางทีผมไปวิ่งแล้วเห็นมีนักท่องเที่ยวบางคนทานอาหารแล้วเหลือทิ้ง ผมก็บอกเขาว่าเสียดายนะ ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง แต่มันเป็นเรื่องขยะด้วย เป็นมลภาวะของเกาะ พอบอกไปบางคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่ผมเชื่อว่าต่อไปเขาน่าจะเข้าใจมากขึ้น เพราะฉะนั้น การที่เราทำอะไรสักอย่าง แล้วทำต่อเนื่อง ทำย้ำๆ จนสร้างจิตสำนึก ก็จะช่วยปลูกถ่ายความคิด เพิ่มมุมมองให้กับคนที่เขามีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ และรับรู้ข้อมูล

 

นริศ

คุณวิ่งจริงจังมานานหรือยัง

     สองปีแล้วนะ

ทำไมคุณถึงมาเริ่มวิ่งได้

     เพราะหมอสั่ง (หัวเราะ) ตั้งแต่วิ่งมา ตอนนี้ไขมันพอกตับหายไป หัวใจก็ดีขึ้น สุขภาพร่างกายผมรู้สึกเป็นปกติมากขึ้น แต่เดิมผมอาจจะทำงานเยอะเกินไป บางวันพักผ่อนน้อย รู้สึกการเต้นหัวใจไม่ปกติผมไปตรวจร่างกาย บอกหมอว่าต้องทำซีทีสแกน  หมอบอกว่าไม่ต้องทำ คุณโอเคอยู่ เพียงแค่ต้องออกกำลังกายแล้ว หมอบอกว่าสาเหตุก็คือน้ำหนักมากเกินไปพักผ่อนน้อยไป เข้าสูตรผู้บริหารที่ไม่ดีเลย (หัวเราะ) ตอนนี้ก็เลยต้องแบกรับผลไว้

อยากให้คุณเล่าถึงการจัดงานวิ่งของสิงห์ เอสเตท

     มีเพื่อนหลายคนบอกผมว่า การวิ่งในหลายประเทศ อย่าง Tokyo Run, New York Run หรือ Boston กว่าจะเข้าไปวิ่งได้ยากมากนะ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชอบ คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ผมเชื่อว่าอาจจะเป็นเรื่องของการที่คนกินดีอยู่ดีมากขึ้น มีความมั่งคั่งมากขึ้นไม่เหมือนกับคนที่มีปัญหาสุขภาพมาแล้วค่อยเริ่มทำ คนเหล่านั้นอาจจะยังไม่มีปัญหาสุขภาพเหมือนผม เพียงแค่พอพวกเขามีโอกาสได้ออกกำลังกาย ได้วิ่ง แล้วก็ชอบ ก็เกิดเป็นแฟชั่น

     ขณะเดียวกัน สิงห์ เอสเตท ก็มองว่าการที่เราเข้าไปจัดงานวิ่ง จะทำให้คนเกิดการรับรู้ในสิ่งที่เราจะทำเราไม่ได้ไปวิ่งเฉยๆ หรือวิ่งเพื่อสุขภาพ หรือแค่จัดแข่งเท่านั้น แต่เราวิ่งเพื่อส่งต่อความรู้บางอย่างเข้าไปด้วย เราอยากให้มีความเข้าใจถึงการมีชีวิตร่วมกับทะเล  โดยเรามีวิธีการที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทะเลให้เขาได้ทราบ เช่น จัดนิทรรศการ นั่นก็เป็นแผนต่างๆ เราก็ตั้งใจจะจัดในที่ที่เกี่ยวข้องกับทะเลอย่างสัตหีบ ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ

งานมหกรรมวิ่งที่ผ่านๆ มา ก็ปัญหาเรื่องขยะ เรื่องผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม คุณมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

     รายละเอียดในงานวิ่งของเราผ่านการคิดกันละเอียดมาก ทำอย่างไรให้ยั่งยืนที่สุด ทีมงานเต็มที่มาก ทำอย่างไรให้วิ่งแล้วไม่ก่อให้เกิดขวดพลาสติก วิ่งแล้วให้คนได้รับรู้และเข้าใจ หรือว่าพอวิ่งจบแล้วจะมีกิมมิก มีกิจกรรม อะไรที่ช่วยให้การดูแลทะเลดีขึ้น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทีมคิดกัน เราอยากให้คนที่มางานวิ่งได้อะไรกลับไปด้วย เขาจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน เพราะตอนนี้มีคนเยอะมากที่ใช้สัญชาตญาณ ใช้ความรู้สึก แต่ไม่ใช่ความรู้จริงๆ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้คนกลับไปพร้อมกับความรู้ว่า ต่อไปถ้ามาเที่ยวทะเลต้องทำอะไร และไม่ควรทำอะไร

สิงห์ เอสเตท เป็นธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดดมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีวิธีทำธุรกิจอย่างไรถึงสามารถมาถึงจุดนี้ได้

     ความจริงผมก็ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษไปกว่านี้ เพราะสิงห์ เอสเตท มีพื้นฐานการในทำธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว แต่ต่อไปในการจะสร้างโครงการใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องมีพาร์ตเนอร์ที่ดีมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน นอกจากนี้ เราพยายามสร้างทีมงานในองค์กรให้เขามีความเป็นหุ้นส่วน เรามีการจัดวิธีการทำงาน จัดผลตอบแทน จัดกระบวนการการทำงาน รวมถึงจัดสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยสร้างความเป็นพาร์ตเนอร์ซึ่งกันและกัน

     จะเห็นว่าเราทำอะไรแต่ละทีก็จะมีพาร์ตเนอร์ เพราะพาร์ตเนอร์มันมากกว่าการเป็นแค่หุ้นส่วนกัน มันไม่ได้เป็นแค่ผู้ถือหุ้น แต่คือสถาบันการเงินที่ร่วมกัน คือลูกค้าที่เข้ามาร่วมกับเรา รวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นจริงๆ เราคิดว่าถ้าเรามีตรงนี้ ก็จะต่อยอดและสามารถทำให้เราเติบโตได้เร็วในการอาศัยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ของพาร์ตเนอร์ของเรา

 


 วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล #SeaYouTomorrowRun

     งานวิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดโดยกองทัพเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) รายได้ทั้งหมดจากการสมัครวิ่งมอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ และนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ Underwater Lift Bags สำหรับเก็บขยะใต้ทะเล

     งานวิ่งมีทั้งหมด 3 ระยะคือ 5K / 10K / Plogging 1K วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 05.00 . ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ สมัครได้ที่ www.seayoutomorrow.org/activities/SeaYouTomorrowRun