Die Tomorrow ภาพยนตร์ที่อยากทำก่อนตายของ เต๋อ นวพล

คิดไม่ถึงว่าชายหนุ่มที่เพิ่งผ่านความสำเร็จในชีวิตมาหมาดๆ มีแสงสปอตไลต์สาดส่อง ได้รางวัลจากผลงานที่ทำมามากมาย จะหันมาหมกมุ่นเรื่องความตายเร็วแบบนี้ ‘เต๋อ’ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ พูดไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow เป็นเหมือนหนังสืองานศพ และเป็นเหมือนวิธีโบกมือบ๊ายบายคนรู้จักรอบๆ ตัวในแบบฉบับของเขา

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้พาเขากลับมาสู่รูปแบบการทำงานแบบเดิม เหมือนวันที่เขากำกับเรื่อง 36 อีกครั้ง ที่ทุกไอเดียหลังไหลเอ่อท้น ไม่ได้ถูกปิดกั้นอยู่ในระบบสตูดิโอใหญ่ เป็นหนังอินดี้เต็มรูปแบบ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้เลือกทำสิ่งที่อยากจริงๆ และไม่มีความกดดันใดๆ ทั้งสิ้น

 

เต๋อ นวพล

เราก็อยากเล่าเรื่องที่เราอินที่สุด คิดว่า เฮ้ย กูจะยอมเสียเวลาหนึ่งปีครึ่งไปกับสิ่งนี้ใช่ไหม เพราะว่าทำหนังเรื่องหนึ่งมันนาน เหมือนเราเอาชีวิตไปทิ้งเลย

เต๋อ นวพล

 

ทำไมคนที่ให้ทุนคุณมาทำงานนี้ จึงคิดว่าคนอายุ 30 กว่าๆ จะสามารถเข้าใจความตายได้

     จริงๆ แล้วความตายไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเด็กหรือผู้ใหญ่ เราไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ตอนอายุ 50 จริงๆ เราเรียนรู้ก่อนหน้านั้นตั้งนานแล้ว ซึ่งมันก็น่าจะเป็นวัยนี้ เหมือนตอนอายุเท่านี้เราไปงานศพบ่อยขึ้น พอๆ กับงานแต่ง แล้วก็มีคนนู้นคนนี้จากมาจากไป อาจจะไม่ใช่คนใกล้ตัวทั้งหมด แต่ก็บ่อยพอที่ทำให้เราเข้าใจ หรืออาจจะเป็นการที่แม่เริ่มพูดว่า ถ้าเกิดปุบปับ แม่ไม่อยู่ ของสำคัญเก็บไว้ตรงนั้นตรงนี้นะ คืออยู่ๆ ก็มาบอก คงถึงวัยแหละ พอถึงวัยมันมีสัญญาณบอก ทำไมวันหนึ่งกูปวดหลัง คือสัญญาณของการบอกว่าทุกอย่างกำลังแย่ลง เป็นช่วงต้นที่กำลังจะได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ เลยไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องความตายเป็นเรื่องของคนแก่

 

คุณเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ได้รับเชิญขึ้นเวทีมีแสงไฟสาดส่อง น่าจะอยู่ในสภาวะที่ไม่เห็นต้องมาทบทวนเรื่องความตายเลย

     (คิดนาน) กลับรู้สึกว่าพอเราขึ้นไปอยู่ตรงจุดนั้นบ่อยๆ ก็ยิ่งรู้ว่ามันแค่แป๊บเดียว สิบนาที สิบห้านาที ก็เท่านั้นเอง เราอยู่บนปก a day BULLETIN มันก็แค่อาทิตย์เดียว หนังบางเรื่องอาจอยู่กับเรายาวหน่อย บางเรื่องก็อยู่แป๊บเดียว มาแล้วก็ไป เราค้นพบว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น ยิ่งมีสปอตไลต์ส่อง อยู่ที่สว่างมากๆ เรายิ่งเห็นความมืดชัดกว่าเดิมอีก ว่าอ๋อๆ เดี๋ยวมาแล้วก็ไป ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตมันไปๆ มาๆ ไม่รู้สึกว่าสว่างจัง เราจะอยู่แบบนี้ตลอดไป ยิ่งอยู่ในวงการนี้เรายิ่งรู้ว่ามันไม่มีอะไรแน่นอนเลย ในกระบวนการทำหนังเองก็ไม่แน่นอน

 

จริงๆ ผู้กำกับที่มีสไตล์ชัดๆ น่าจะผลิตงานออกมาเป็นสูตรสำเร็จ ใครๆ ที่ดูหนังคุณก็บอกว่า เออนี่มัน หนังเต๋อ

     ไม่เลย คนชอบเข้าใจผิดว่าเวลาจะผลิตงานชิ้นหนึ่งต้องทำแบบนี้แบบนั้น เพื่อที่จะได้เป็นงานของเราต้องถ่ายแบบลองเทก แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของภาษาพูด คือสำนวนที่พูดมากกว่า ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันมาจากการมองโลกของเรา ผู้กำกับเป็นอย่างไรหนังก็จะเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้บอกได้ตั้งแต่การแตกช็อตเพื่อถ่ายแล้ว เหมือนเราไปดู Baby Driver (2017) ผู้กำกับ เอดการ์ ไรต์ ก็เป็นคนแบบนั้น ฉึบๆ ฉับๆ อันนี้ขำเว้ย เอามาใส่ มันคือโลกที่เขาเห็น แล้วเผอิญว่าโลกที่เราเห็นคือการเฝ้ามองอะไรยาวๆ เป็นการเดินตามคนคนหนึ่งแล้วเห็นอะไรที่ใหญ่ขึ้นหรือเห็นอะไรที่แย่ลง เป็นวิธีการมองมากกว่า ชอบมีคนถามว่าทำไมเราถึงชอบถ่ายลองเทก ตอบได้ว่า เพราะมันเป็นวิธีการมองโลก อ้าว กูเห็นแบบนี้ กูก็เล่าเรื่องแบบนี้

 

ถ้าความยากไม่ใช่วิธีการเล่า แล้วความยากของการทำภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ตรงไหน

     ที่สำคัญคือคำถามว่า เราจะทำโปรเจ็กต์นี้ไปทำไม ต้องตอบตัวเองให้ได้ แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยถามว่าทำอย่างไรถึงจะออกมาดี ตอนที่คิดว่าจะเล่าอะไรนี่คือยากของจริง ไม่เกี่ยวกับเรื่องสำนวนและท่าทีแล้ว มาเรื่องใหม่ก็ต้องคิดใหม่หมด เรื่องนี้ยากตรงที่จะเอาอะไรไม่เอาอะไร หมายความว่าไอ้โครงเรื่องความตายหรือไอเดียของมันจริงๆ ไม่ได้เยอะ แต่เคสมันเยอะ เราจะเล่าเรื่องไหน ยังไง ก็ตัดสินใจเลือกเอาจากความทรงจำ อาจจะไม่ได้เจอมาทุกเคส แต่คิดว่าเคสที่เลือกจะครอบคลุมชีวิตคนประมาณ และน่าจะเป็นสถานการณ์ที่เยอะพอให้คนที่มาดูคิดถึงช่วงต่างๆ ของชีวิตตัวเอง

     เราหาวัตถุดิบเรื่องความตายไม่ยาก แต่วิธีที่จะเล่าให้ตรงกับคอนเซ็ปต์มันยาก เพราะคอนเซ็ปต์คือเล่าเรื่องหนึ่งวันก่อนที่จะเกิดเหตุ เราเขียนไว้ว่า ‘ทุกหนึ่งวันก่อนจะเกิดเหตุพวกนี้ มันจะเป็นวันธรรมดา’ อันนี้ยาก เราจะเขียนให้ธรรมดายังไงที่มันไม่ดูธรรมดาจนเกินไป ทำความธรรมดาให้น่าสนใจ ชัดแต่อย่าชัดมาก ซึ่งยากนะเว้ย (หัวเราะ) เราพยายามไม่ทำให้มีตัวละครตัวหนึ่งที่รู้จักทุกๆ คนตามสูตรหนังสั้น เลยคิดถึงอัลบั้ม Zero ของวง Pru ที่เป็นคอนเซปชวลอัลบั้ม (นวพลเลือกเพลง บิน ในอัลบั้มนี้มาประกอบภาพยนตร์ด้วย) เหมือนมีสิบเพลงยี่สิบเพลง แต่ละเพลงไม่ต่อกัน แต่ถ้าฟังเราจะรู้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เราเชื่อมตอนทุกตอนในหนังด้วยคอนเซ็ปต์ หรือเชื่อมด้วยตัวผมเองที่เป็นผู้จัดเรียง

 

ทำเสร็จออกมาแล้วพอใจไหม

     เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่าทำเสร็จแล้วเสร็จเลย เอาจริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าจะดีหรือไม่ดี แต่เหมือนเราเขียนโน้ตเสร็จแล้ว เขียนหนังสือเสร็จแล้ว พอเป็นหนังอินดีเพนเดนต์เต็มตัว รู้สึกว่าอยากทำให้อินดีเพนเดนต์จริงๆ มีอิสระในการโปรดิวซ์ ไม่มีความกังวลอะไร ไม่มีอะไรต้องแบกรับ ไม่มีความเครียดว่าจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง เหมือนเราทำนิทรรศการมาแสดงมากกว่า นึกออกไหมฮะ เพราะปกติเวลาเราทำหนังจะมีความกดดันอะไรบางอย่างที่เราลงทุนไป ตัวผู้กำกับลงทุนพลังงาน ลงทุนไอเดีย ค่ายหนังลงทุนเงิน มันมีความแบกตรงนี้อยู่ แต่ของเราคราวนี้มันมีความเหมือนว่าเราวาดภาพเพนติ้งแล้วก็ยกไปแสดง เผอิญว่าที่แสดงเราอยู่ในโรงภาพยนตร์ ถือว่าโชคดีมากที่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ เพราะว่าโอกาสแบบนี้มันมาไม่ค่อยเยอะ

 

ถ้าเรายังเอามาตรฐานเดิมมาตัดสินว่าอะไรประสบความสำเร็จไม่ประสบความสำเร็จจากศูนย์กลาง เราจะเป็นห่วงคนเหล่านี้ คุณจะคิดว่า เฮ้ย โอเคเหรอวะที่เขาไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ในทีวี

 

เต๋อ นวพล

 

การสร้างงานโดยที่ไม่มีความกดดันใดๆ เลย มันเกิดขึ้นได้จริงเหรอ

     สิ่งที่กดดันเราไม่ใช่เรื่องรายได้ แต่เป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้เรื่องเล่าประหลาดๆ มันเวิร์ก ก็ไม่รู้ว่าจะทำออกมาได้ดีหรือเปล่า แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถจะมี ในทางหนึ่งเรารู้สึกว่าถ้าสามารถประกอบของใหม่ขึ้นมาเอาไปฉายแล้วคนโอเค เราก็จะรู้สึกว่ามันมีคนรับอะไรแบบนี้ได้จริงๆ ด้วยว่ะ จริงๆ คนเปิดกว้างกว่าที่เราคิด แล้วถ้ามันโชคดีหน่อยที่ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้เห็นว่าจริงๆ มันมีพื้นที่แบบนี้อยู่ มีคนดูจริงๆ นะ เพียงแต่ต้องพยายามทำให้มันดีหน่อย ไม่ถึงขั้นว่าทำอะไรก็ทำ ไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้เรื่อง

 

คุณดูมีอิสระในการทำงานไปแล้ว แต่คุณแคร์คำตัดสินหรือว่าไลก์บนเฟซบุ๊กแค่ไหน

     ก็เป็นโปรเจ็กต์ๆ ไป อย่างโปรเจ็กต์นี้ที่ไม่แคร์อะไรเลย ทำเสร็จแล้วจบ หนังอาจจะแย่มากก็ได้ อันนี้ไม่รู้เหมือนกัน สิ่งที่ยังแคร์อยู่จริงๆ ก็คือแคร์ระหว่างทำงานมากกว่า ย้อนกลับไปเรื่อง ฟรีแลนซ์ฯ เป้าหมายของเราคืออย่าเจ๊ง เอาแค่นี้เลย ไม่อยากให้สตูดิโอเขาปวดหัว เราทำมาด้วยกัน ก็รู้ว่าเขาลงเงินไปเยอะ

 

ทุกครั้งที่เราไปสัมภาษณ์ผู้กำกับภาพยนตร์ ทุกคนมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเป็นงานที่สูบกินพลังงานชีวิต แต่คุณก็ยังพูดว่าถึงเหนื่อยแต่ก็อยากทำงานนี้ต่อ เพราะอะไร

     เราว่าทุกคนอยากทำต่อแหละ มันเหนื่อย เพียงแต่ว่าหลังๆ เราเริ่มหาวิธีบริหารจัดการมันได้ คือเหนื่อยกายเหนื่อยคิดต้องเหนื่อยแน่ๆ ไม่ว่าจะทำงานที่ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราก็พยายามหาวิธีสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด อย่างเราทำงานกับสตูดิโอ เราพยายามจะเลือกโปรเจ็กต์ที่เข้ากับเขาและเข้ากับเรา เพื่อที่จะไม่ต้องมาทะเลาะกัน เพราะอย่างที่บอก ทำหนังมันเหนื่อยอยู่แล้ว เราไม่ควรที่จะมาเหนื่อยทะเลาะกัน ว่าเรากำลังจะเดินไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า ไปในจังหวะเดียวกันหรือเปล่า อันนี้เราไม่ควรมาเถียงแล้ว เรามาหาที่ที่เราไปด้วยกันได้ แล้วมาหาวิธีทำมันให้ดีกันดีกว่า มันจะไม่ปวดหัวถ้าสิ่งที่คุณคิดจะทำเหมาะกับงบประมาณที่มี คุณแค่ต้องออกแบบให้เหมาะกับแคนวาสที่คุณมีเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าอยากวาดภาพใหญ่ แต่ไปวาดบนแคนวาสเล็ก ได้ภาพมาครึ่งหนึ่ง สู้วาดรูปเล็กที่เข้ากับแคนวาสเล็กและรู้สึกว่าสวยจังไม่ดีกว่าเหรอ

 

จริงๆ ถ้าเราเริ่มต้นด้วยคำถามว่าทำไมเราต้องมาทำงานนี้ อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเองเหมาะสมกับงานชิ้นไหนหรือเปล่า

     คือทุกอย่างมันเริ่มจากการตั้งต้น เคยเห็นเคสพังๆ ที่เกิดจากการไม่คุยกันให้เคลียร์ตั้งแต่แรกมาเยอะ เหมือนปล่อยมึนกันมาแล้วมาพังทีหลัง ซึ่งผมไม่ชอบตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ถ้าเป็นหนังที่ทำเอง เราก็อยากเล่าเรื่องที่อินที่สุด คิดว่า เฮ้ย กูจะยอมเสียเวลาหนึ่งปีครึ่งไปกับสิ่งนี้ใช่ไหม เพราะว่าทำหนังเรื่องหนึ่งมันนาน เหมือนเราเอาชีวิตไปทิ้งเลย ผมเพิ่งโพสต์สเตตัสไปว่า หนังหนึ่งเรื่อง มันเหมือนเราเอาอายุ 1 ขวบไปแลก เพราะฉะนั้น ขอแลกกับสิ่งที่ควรแลกได้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าทำไปก็หมดไปปีๆ หนึ่ง ทำหนังที่คนดูแล้วโอเค แต่ไม่ได้อินมากนะ แต่กูทำเสร็จแล้ว แต่นี่อายุมึงหายไปปีหนึ่งเลยนะเว้ย ยอมแลกเหรอ

     เราคิดแบบนี้ และอาจเป็นสาเหตุที่ไม่เปิดบริษัท ไม่รับลูกน้อง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เปิดบริษัท เราต้องรับทุกอย่าง รู้ตัวเลยว่าไปถึงตรงนั้น กูไม่รอดชัวร์ๆ ต้องรับงานที่ไม่อยากทำเพื่อดูแลออฟฟิศแน่ๆ ขอทำไปคนเดียว หรือทำเล็กๆ ดีกว่า แต่ว่าอาจจะไม่รวยเท่าคนอื่นนะ อันนี้ช่วยเขียนลงไปด้วยนะ (หัวเราะ) คือเราไม่ได้มาบอกว่าทุกคนมาใช้ชีวิตอิสระกันเถอะ นี่คือเงื่อนไขที่เรามี เราเลือกทางนี้ สิ่งที่ต้องรับให้ได้ หนึ่ง เราไม่ได้มีงานเยอะกว่าคนอื่น สอง เราไม่ได้มีเงินเยอะกว่าคนอื่น สาม เราอาจจะใช้รถแพงกว่าคนอื่นไม่ได้ แต่ว่าเราได้เคลียร์ตัวเองไปแล้วว่าพร้อมที่จะแลก ยอมนั่งรถใต้ดินไปคุยงาน แต่ได้อิสระในการทำงานมากขึ้นหน่อยดีกว่า

 

เราไม่รู้ว่าจะตายวันไหน งั้นเราขอทำสิ่งที่ทำได้แน่ๆ ดีกว่าไหม

 

เต๋อ นวพล

 

วิธีคิดแบบนี้เป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัยหรือเปล่า สำหรับคนที่อายุ 20 กว่า 30 กว่า

     ผมรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นชีวิตที่ดีกว่านิดหนึ่ง (หัวเราะ) สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือเทคโนโลยีเอื้อให้คนทำแบบนี้ได้แล้ว ผมคิดว่าแล้วไม่ดีเหรอ ที่วันหนึ่งเราจะได้เป็นเจ้าของกิจการเอง หรือทำงานของตัวเอง แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ง่าย บางทีเทคโนโลยีทำให้เกิดภาพฝันว่าเรามีชีวิตอิสระที่แสนสบาย แต่ในความเป็นจริงคือคุณแค่มีเครื่องมือที่มากขึ้นในการติดต่อกับผู้คน อันนี้มันคือแก่นจริงๆ มากกว่า ไม่ได้บอกว่าคุณจะไปทำอะไรก็ได้ แต่แค่บอกว่าคุณสามารถหากลุ่มคนของคุณเฉยๆ ไม่ได้แปลว่าคุณใช้ชีวิตง่ายขึ้นนะ แล้วตกลงคุณจะทำอะไรวะ คุณก็แค่ต้องไปฝึกให้เก่ง เพราะถ้าไม่เก่งใครจะจ้างคุณล่ะ

     มันไม่ใช่คลื่นของยุคสมัยที่น่ากลัว แต่คุณต้องใช้ให้ถูกเท่านั้นเอง แล้วเราเองรู้สึกโชคดีที่เกิดมาในยุคนี้ เพราะหนังอย่าง 36 ก็คงทำได้แค่ในยุคนี้เท่านั้นหรือเปล่า ยุคก่อนคุณคงจะไม่สามารถทำหนังเรื่อง Die Tomorrow ด้วยคอมพิวเตอร์สองสามครื่อง เพราะว่าคุณต้องไปอยู่ในสตูดิโอที่มีค่าโปรดักชันมโหฬาร ทุกวันนี้ที่ผมทำกันอยู่เหมือนเอาสตูดิโอ 10 แผนก มารวมอยู่ในที่เดียว มันอาจจะเหนื่อยนิดหนึ่ง แต่ว่าเราก็มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะรันมันไปได้

 

ในขณะเดียวกัน คนอายุ 50-60 มองกลับมาในเด็กยุคนี้ เขาจะบอกว่า ตายแล้ว เด็กพวกนี้จะทำมาหากินอะไร เขามองเด็กรุ่นนี้แบบหวาดระแวงมากเลย

     การที่เราก้มหน้าง่กๆ เข้าไปทำงานบริษัท อาจไม่ใช่ทางเดียว จริงๆ มีทางเลือกมากกว่านั้น เหมือนเป็นคลื่นเล็กๆ ที่ทุกคนมีหนทางของตัวเอง เพียงแต่ทางที่แต่ละคนจะเดินไปอาจจะไม่เหมือนแต่ก่อนแล้วเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามว่าทุกคนมีทางของตัวเองไหม ใช่ ถ้าแต่ละคนมีฐานกลุ่มคนดูของตัวเองที่มากพอ ก็เพียงพอแล้วกับการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ อย่างที่คุณเห็น ลำไย ไหทองคำ เขาก็อาจจะมีตารางคิวแน่น ในขณะที่คุณเองอาจจะไม่เคยไปดูเขาแสดง หรือไม่เคยรู้จักเลย คือถ้าเรายังเอามาตรฐานเดิมมาตัดสินว่าอะไรประสบความสำเร็จไม่ประสบความสำเร็จจากศูนย์กลาง เราจะเป็นห่วงคนเหล่านี้ คุณจะคิดว่า เฮ้ย โอเคเหรอวะที่เขาไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ในทีวี ถ้าดังจริงๆ ทำไมถึงไม่ได้อยู่ในทีวีวะ แต่ว่ายุคนี้ เด็กรุ่นนี้ เขาไม่ต้องการตรงนั้นแล้ว

 

คุณอิจฉาบาส ฉลาดเกมส์โกง ไหม

     (ส่ายหัว) ไม่ได้เอาอันนี้มาเป็นเหตุผลในการทำงาน เรื่องหน้าต้องบุกจีนให้ได้ อะไรทำนองนี้เหรอ เพราะว่าหนังแบบของเราคงบุกจีนไม่ได้ และก็ต้องถามตัวเองว่านั่นใช่เหตุผลในการมีชีวิตของเราจริงๆ หรือเปล่า ไม่แน่ใจเลยว่ะ เพราะว่า หนึ่ง เราไม่รู้ว่าจะตายวันไหน งั้นเราขอทำสิ่งที่ทำได้แน่ๆ ดีกว่าไหม วันนี้คุณออกไปถ่ายหนังแล้วนักแสดงเล่นได้ดี ถ่ายเมจิกโมเมนต์บางอย่างติด ถ่ายไม่เกินคิว เสร็จงานแล้วไปกินข้าวกันไหมพวกเรา ได้ทำงานแค่นี้แล้วยังจะเอาอะไรอีก ถามหน่อยเถอะ ถ้าวันพรุ่งนี้ตายไป วันนี้ก็ถือเป็นวันที่ดีมากแล้วที่ไม่ได้มีความทุกข์อะไรเป็นพิเศษ

 

ในการทำงาน เราคงต้องเตือนตัวเองด้วยคำว่า จะเอาอะไรอีก บ่อยๆ

     ก็นิดหนึ่ง คือคำถามนี้มันซึมไปอยู่ในวิถีชีวิตไปแล้ว เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว จะเอาอะไรอีก มีอะไรทุกข์ร้อนในการทำงานไหม ก็ไม่มี ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่โอเค เราสร้างสิ่งแวดล้อมแบบนี้ขึ้นมาในการทำงาน เราก็ต้องยอมรับว่าเราอาจจะนั่งเครื่องบินบิซิเนสคลาสไม่ได้ เราอาจจะกินของแพงมากไม่ได้ แต่เรายอมแลกดีกว่า เราอาจจะกินข้าวมื้อละพันไม่ได้ เราขอมื้อละสองร้อยห้าสิบแล้วกัน แล้วยังได้ทำงานที่โอเคอยู่

 

เราเห็นเทรเลอร์หนัง นักแสดงเด็กคนหนึ่งพูดว่า ไม่เสียดายหากจะตายวันนี้ เพราะชีวิตเราทำดีที่สุดแล้วมันมีจริงๆ เหรอชีวิตแบบนั้น

     (ถอนหายใจ) ไม่ว่าใครจะคิดยังไง สุดท้ายมันก็จะจบลงที่ตรงนี้แหละครับ ช่วยไม่ได้ คุณทำได้ดีที่สุดแค่นี้แหละ เพราะคุณจบแล้วไง ไม่มีใครเอาชนะสิ่งนี้ได้