น้องแพรพาเพลิน

น้องแพรพาเพลิน | หัวใจและความรู้สึกของเหยื่อความรุนแรงจากผู้ใหญ่ที่ขาดความรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิตอล

‘น้องแพรพาเพลิน’ – ด.ญ. ณัฏฐนันท์ สนุ่นรัตน์ ในวัยเพียง 11 ปี เป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง มีผู้ติดตามทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมายในช่องทางโซเชียลมีเดียและยูทูบแชนแนล ด้วยภาพลักษณ์ของความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ที่สามารถออกมาสอนวิธีแต่งหน้าได้อย่างเอาจริงเอาจัง

มีคนรักเธอถึงขนาดได้รับเชิญไปร่วมเป็นหนึ่งในทีมช่างแต่งหน้าในเทศกาลแฟชั่นระดับโลก London Fashion Week 2018 ถือว่าเป็นการโกอินเตอร์ของบล็อกเกอร์ไทยที่ได้ไปสร้างชื่อให้ประเทศเราในระดับโลก

แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนจำนวนหนึ่งเขียนข้อความหยาบคายใส่เธอ จนทำให้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงโลกโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ว่าทำไมถึงได้มีอุณหภูมิร้อนแรง และผู้คนแสดงความก้าวร้าวรุนแรงโดยขาดสำนึกความรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกัน

เด็กตัวน้อยที่ออกมาแสดงความสามารถเกินวัย ผู้เคยตกเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่ขาดความรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิตอล a day BULLETIN จึงชวนน้องและคุณพ่อคุณแม่มานั่งอภิปรายกันถึงประเด็นนี้ เปิดใจของพวกเขาว่าต้องรับความเจ็บปวดภายในจิตใจมากแค่ไหน พวกเขาเรียนรู้และเดินข้ามผ่านมันมาได้อย่างไร

น้องแพรพาเพลิน

 

Conceal My Pain

     “แม่สังเกตว่าน้องเริ่มเอาเครื่องสำอางมาเล่นแต่งหน้าตั้งแต่สี่ขวบ ตอนนั้นแม่ก็ยังไม่รู้หรอกว่าเขามีความสนใจหรือความสามารถอะไร ถ้าจะถาม แม่คิดว่าคงแค่เล่นไปตามประสาเด็กเท่านั้น เรายังเคยห้ามเขาเลยว่าแต่งหน้าเล่นแบบนี้จะทำให้ผิวหน้าเสีย” คุณแม่น้องแพรช่วยย้อนความ

     นอกจากการแต่งหน้าเล่นแล้ว น้องแพรในฐานะของ Digital Native เด็กรุ่นใหม่ที่พอเกิดมาแล้วบนโลกนี้ก็มีอินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดียให้ใช้งานได้เลย พอเริ่มจำความได้ เธอก็เริ่มหัดเล่น gadget เหล่านี้และใช้เวลากับมันมากขึ้นไปเรื่อยๆ

     เทียบกับคุณพ่อคุณแม่ในวัยสี่สิบต้นๆ ถือเป็นคนรุ่น Digital Migrate ที่เคยสัมผัสโลกแบบแอนะล็อกในวัยเด็กมาก่อน เคยวิ่งเล่นกับดินทราย และยังทันใช้เทปคาสเซ็ต เมื่่อสังเกตว่าน้องใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอชอบเปิดดูคลิปวิดีโอสอนแต่งหน้าของบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังทางยูทูบ แล้วก็เอามาเล่นแต่งหน้าตัวเอง พอเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ แทรกแซงเข้ามาในครอบครัวมากขึ้น จึงมีความรู้เท่าทันและตั้งคำถามกับมัน

     “บ้านเรามีการควบคุมจำกัดเวลา แม่สั่งห้ามดูคลิปเยอะๆ ตอนไหนจะเปิดดู ตอนไหนจะเล่นแต่งหน้า เราต้องคุยกัน ต้องขออนุญาตกันก่อน จากตอนนั้นมาก็ประมาณสองสามปีกว่าเราจะเริ่มมั่นใจว่าน้องแพรคงชอบมาทางนี้จริงๆ”

 

เพื่อนที่โรงเรียนชอบแต่งหน้าเหมือนกันไหม? – ช่างแต่งหน้าชวนน้องแพรคุยระหว่างที่กำลังลงรองพื้นบางๆ วันนี้เราวางแนวทางว่าจะแต่งหน้าน้องแค่บางๆ ให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติ

     “ไม่มีค่ะ ไม่ค่อยมีเลย แต่ว่าถ้ามีงานโรงเรียน เขาก็จะให้หนูไปช่วยแต่งให้นิดหน่อย”

ที่งานโรงเรียนเขาแสดงอะไรกัน 

     “หนูน้อยหมวกแดงค่ะ หนูได้เล่นเป็นแม่”

ที่ถูกหมาป่ากินน่ะเหรอ (หัวเราะ) แล้วชอบไปโรงเรียนไหม? 

     “ชอบไปวันที่ย้ายที่นั่ง คือครูเขาจะให้จับฉลากแลกที่กัน ที่นั่งก็จะมีหมายเลขติดอยู่ สนุกดี เพราะเบื่อเพื่อนที่อยู่ข้างๆ”

ทำไมล่ะ

     “ก็เขาพูดมาก” (หัวเราะ)

หา! มีเพื่อนที่พูดเก่งกว่าน้องแพรอีกเหรอ 

     “แพรอยู่โรงเรียนแพรเป็นเด็กเรียบร้อยนะคะ”

 

     ถ้าเป็นช่างภาพ ช่างไฟ หรือนักเขียน เธออาจจะไม่ค่อยกล้าคุยเท่าไหร่ แต่กับช่างแต่งหน้าของเรา เธอผ่อนคลายและคุยเล่นอย่างสบายใจ เธอเล่าถึงชีวิตธรรมดาสามัญของเด็กสาวในโรงเรียนประถมทั่วไป เธอเล่าถึงครูปัทและครูภาวนาที่สอนอยู่ชั้น ป.2 และ ป.3 เธอรักครูสองคนนี้เพราะใจดี ไม่เคยตีเด็ก

     เพื่อนที่โรงเรียนบางคนรู้จักเธอในฐานะ ‘น้องแพรพาเพลิน’ บิวตี้บล็อกเกอร์ที่อายุน้อยที่สุดของไทย แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติกับเธอแตกต่างเป็นพิเศษอะไร เพียงแค่มีบางคนมาขอลายเซ็นนิดหน่อย ตอนพักกลางวันเธอก็วิ่งเล่นกับเพื่อนตามปกติ พวกเธอชอบเล่นบาสเกตบอล หมากเก็บ เธอปรับตัวอยู่กับเพื่อนที่โรงเรียนได้ดี โดยมีเพื่อนคู่หูคนสนิทชื่อน้องอุ้ม

 

     “อุ้มติงต๊องเหมือนแพร แล้วก็พูดไม่รู้เรื่องเหมือนแพรด้วย”

แล้วน้องแพรมีแฟนหรือยัง – คำถามพันล้านยิงตรงไปที่เธอ

     “มีแต่พัดลมค่ะ (หัวเราะ) ไม่มีๆ ไม่อยากมี ไม่ชอบ” เด็กสาวหัวเราะแบบเขินๆ

 

     เธอเล่าถึงชีวิตในครอบครัวว่าคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเธอเหมือนเป็นเพื่อนกัน เล่นอะไรก็จะเล่นด้วยกันตลอด ที่บ้านเคยมีญาติและพี่น้องอยู่ด้วยกัน ทุกคนจะมาวิ่งเล่น ปั่นจักรยานด้วยกัน แต่ตอนนี้พี่ๆ ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ นั่นคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอคลุกคลีและใช้เวลาอยู่กับผู้ใหญ่มากขึ้น จนเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว เธอพูดจาฉะฉาน กล้าแสดงออก และตอบคำถามยากๆ ของเราได้อย่างมีหลักมีการ ไม่ได้เป็นเด็กประถมไร้เดียงสา

     ตอนแรกๆ พ่อแม่เคยส่งให้ไปเรียนเปียโน แม่บอกว่าอยากให้ลูกเล่นเครื่องดนตรีเป็นสักอย่าง แต่เธอกลับไม่ชอบ จนกระทั่งลองหยิบเครื่องสำอางของญาติมาแต่งเล่น แล้วก็รู้สึกว่าสนุกดี เริ่มหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของมัน บางทีในชีวิตเรา เราไม่มีทางรู้หรอกว่าจริงๆ ชอบอะไร เพียงแต่ว่าถ้าเริ่มต้นทำอะไรแล้วสนุก อีกสักพักเราก็จะอยู่กับมันไปได้เรื่อยๆ ฝึกฝน พัฒนา และหล่อหลอมจนกลายเป็นสิ่งนั้นได้

 

ตอนแต่งหน้า น้องรู้สึกยังไง – เราถามน้องแพร

     “แต่งแล้วมันสนุก มันเพลิน ลองแต่งหน้าหลายๆ ลุกส์อยู่ที่บ้าน มันสนุกกว่าการที่เราไปเรียนเปียโนหรือกีตาร์ แบบนี้ค่ะ”

เล่นแต่งหน้าทีหนึ่งนานไหม 

     “ก็ถ้าแม่ไม่เรียกไปกินข้าวก็นานอยู่ค่ะ”

 

     ถ้าเป็นตอนปิดเทอมมีเวลาว่างเยอะๆ เธอก็เล่นแต่งหน้าได้ทั้งวัน แต่ถ้าเปิดเทอมต้องไปโรงเรียน ต้องทำการบ้าน วันจันทร์ถึงศุกร์ก็จะไม่ได้เล่นแต่งหน้า ต้องรอให้ถึงวันเสาร์อาทิตย์จึงจะได้เข้ามาไลฟ์ในโซเชียลมีเดีย เธอค่อยๆ สั่งสมผลงานคลิปและชื่อเสียง ในเวลาไม่นานนักเธอก็กลายเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ เน็ตไอดอล เซเลบริตี้ หรือคำเรียกขานอะไรก็ตามที่คนในยุคดิจิตอลจะใช้เรียกคนมีชื่อเสียงในโลกออนไลน์

     พร้อมๆ กับชื่อเสียงและคำชื่นชม สิ่งที่ควบคู่กันมาก็คือผลตอบรับในทางตรงข้าม เริ่มมีคอมเมนต์ว่าเธอเป็นเด็กแก่แดด เกินวัย มากขึ้นเรื่อยๆ เธอเล่าว่าในคลิปแรกสุดที่เผยแพร่ออกไป มีคอมเมนต์เข้ามาร้อยกว่าคอมเมนต์ มีคนมาว่าเธอประมาณแปดสิบคน เธอนับละเอียดขนาดนั้น

     “ตอนแรกไม่เข้าใจ แล้วก็ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยออกด้วยค่ะ แต่ว่าพอประมาณ 7 ขวบ ก็ย้อนกลับไปอ่าน เห็นเขาว่าแก่แดดบ้าง เกินวัยบ้าง ก็เสียใจนะคะ ตอนที่แพรดูคลิปคนอื่น อ่านคอมเมนต์ก็เห็นแต่มีคนชื่นชมเขา กดไลก์เขา แพรอยากให้มีคนมาชมมาชอบแพรอย่างนั้นบ้าง เคยมีร้องไห้ด้วยค่ะ ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าทำแล้วมีคนมาว่าเยอะแบบนี้ ก็ไม่อยากทำแล้ว เคยคิดว่าเลิกแล้วไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ว่าก็ได้แม่มาเป็นกำลังใจ”

 

แม่สอนว่าไม่ต้องเก็บคำพูดคนอื่นมาคิด ให้เราสนใจคนที่รักเราดีกว่า

 

คำไหนทำให้น้องแพรเจ็บที่สุด

     “อืม… เขาบอกว่าแพรเป็นกะหรี่ค่ะ”

ทำไมคนเราต้องมาว่ากันแบบนี้ ทั้งที่เราไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ

     “นั่นสิ เขายังไม่รู้เลยว่าชีวิตปกติแพรแต่งหน้าหรือเปล่า เขาตัดสินแพรจากคลิปนั้นคลิปเดียว”

 

น้องแพรพาเพลิน

 

Highlight My Self-esteem 

     เราหันกลับไปถามคุณแม่ ว่าการที่น้องโดนไซเบอร์บูลลีแบบนี้ คุณแม่รู้สึกอย่างไร

     “รู้สึกแย่ น้อยใจ เสียใจ เพราะว่าลูกใครใครก็รัก เราสงสารลูกว่าทำไมต้องมาว่าลูกแบบนี้ ซึ่งเรามองว่าเราไม่ได้ไปทำอะไรผิด เราไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน แล้วทุกอย่างที่น้องทำก็อยู่ในการดูแลของพ่อแม่ ของครอบครัวตลอดอยู่แล้ว”

     คุณแม่แอบกระซิบให้เราฟังว่ายังมีคำวิพากษ์วิจารณ์ที่หยาบคายมากกว่านั้นอีก บางคนบอกว่าแบบนี้ไม่เกินสิบแปดต้องมีผัวแล้ว หรือโตไปเป็นกะหรี่แน่นอน อายุแค่นี้ยังแต่งหน้าแบบนี้ โตขึ้นไปจะขนาดไหน บางคนบอกว่าขนาดลูกยังเป็นขนาดนี้ แล้วแม่จะขนาดไหน หลังๆ เธอจึงต้องควบคุมดูแลการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการป้องกันไม่ให้ลูกเข้าไปอ่านหรือเสพความคิดเห็นเหล่านี้

     “ตอนนั้นน้องประมาณ 7 ขวบ ภาพที่เราเข้าไปเห็นคือน้องนอนร้องไห้อยู่บนเตียง ก็เข้าไปถามว่าเป็นอะไร เขาก็ไม่ยอมตอบ แต่ในมือเขามีไอแพดอยู่ เราเปิดดูในนั้นก็มีคอมเมนต์พวกนี้ เราจำภาพตรงนั้นได้ ปกติแล้วน้องแพรเป็นเด็กที่ไม่ค่อยร้องไห้ เป็นเด็กอารมณ์ดี”

     แม่ห่วงว่าความรุนแรงในโลกออนไลน์จะกลายเป็นปมร้ายๆ ติดค้างในใจของแพร ในตอนนั้นแม่หยุดเผยแพร่คลิปไปเลย 2-3 เดือน และแพรก็แทบไม่แตะต้องไอแพดไปเลย จนกระทั่งครอบครัวค่อยๆ ร่วมกันทบทวนบทเรียน และฟื้นฟูความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง

     “แม่สอนเขาว่า หนูต้องรักตัวเอง ต้องภูมิใจในตัวเอง แม่สอนให้เขาเลือกรับแต่สิ่งที่ดีๆ เข้ามา สิ่งไหนที่ไม่ดี คำไหนที่แย่ๆ ก็ไม่ต้องไปสนใจ ถ้าหนูรักมันจริงๆ หนูไม่ได้ทำเล่นๆ นะ หนูทำจริงจัง สักวันหนึ่งเขาจะเข้าใจและเมตตา แม่ก็สอนเขาเยอะหลายอย่าง กว่าเขาจะกลับขึ้นมาได้อีกครั้งก็ต้องใช้เวลา เพราะเขาก็ยังเด็ก”

 

ในวันที่คนคนหนึ่งถูกบูลลี สิ่งที่เราควรหยิบยื่นให้เขาเพื่อให้ผ่านพ้นมาได้คืออะไร 

     “กำลังใจ (แม่ตอบทันที) กำลังใจในครอบครัวนี่สำคัญที่สุดเลย แล้วแม่ก็จะสอนเขาตลอดว่าให้รักตัวเอง และรักในสิ่งที่ตัวเองทำ”

พวกคอมเมนต์ลบๆ ในโลกออนไลน์ แพร่ขยายออกมาในชีวิตจริง มีผลต่อครอบครัวหรือตัวน้องแพรเองบ้างไหม 

     “ยังไม่มีนะคะ ยังไม่มีร้ายแรงขนาดนั้น ส่วนมากจะเป็นคอมเมนต์แย่ๆ ในออนไลน์มากกว่า เราก็บอกเขาไปว่า พี่ๆ เขาคงยังไม่เข้าใจลูกมากกว่า เราก็แนะนำให้ค่อยๆ คุยไปดีกว่า การที่เราตอบกลับไปดีๆ มันก็ทำให้เราสบายใจมากกว่าจะทะเลาะกลับไปด้วย”

 

พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันทำให้เรามองคนอื่นเปลี่ยนไปไหม – เราถามน้องแพร

     “มีบ้างค่ะ นิดหน่อย เช่น เวลาไปไหนแล้วมีคนมอง แพรก็คิดว่าเขามองแพรทำไม เขาไม่ชอบแพรหรือเปล่า แม่สอนว่า ถ้างั้นเราลองยิ้มให้เขาก่อนสิ”

แล้วพอเรายิ้มออกไป สิ่งที่ได้กลับมาคืออะไร 

     “เขาก็ยิ้มตอบค่ะ เหมือนน่าจะจำแพรได้ด้วย”

 

น้องแพรพาเพลิน

 

     คุณแม่ให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกในโลกยุคดิจิตอลว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการสั่งสอน การดูแลของผู้ปกครอง ในโลกที่เปิดกว้างและทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายมาก เราไม่มีทางห้ามหรือบังคับลูกได้อีกต่อไป เธอเองเคยพยายามบังคับลูก แล้วก็พบว่าไม่มีทางทำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น แทนที่จะห้าม ในครอบครัวจึงต้องหาทางประนีประนอมและทำข้อตกลงร่วมกัน โดยไม่ปล่อยทิ้งลูกอยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งวัน

     เช่น ให้ลูกรู้ข้อจำกัดเวลาการใช้งาน อาจจะกำหนดว่าวันหนึ่งเล่นได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง แม่บอกว่าถ้าเราไปห้ามเด็ดขาดเลย เด็กในวัยอยากรู้อยากเห็นจะยิ่งทำให้เขายิ่งอยากเล่น อยากดู พ่อแม่จึงควรเปิดให้เขาใช้งาน ในขณะที่มีพ่อแม่อยู่ด้วย เพื่อจะได้ดูแลและให้แนะนำเขาได้

     “อันดับแรกเลยคือตัวผู้ปกครองเอง เราต้องเรียนรู้และเข้าใจเสียก่อนว่าในนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ตามให้ทันลูก เพื่อที่เราจะได้แนะนำถูกว่ามันมีประโยชน์มีโทษยังไง เช่น ตอนทำการบ้าน ลูกต้องทำรายงาน มันมีวิดีโอสอน มีแอพพลิเคชันที่สอนเราทำได้ แต่ในด้านที่ไม่ดีก็ต้องบอก เช่น เวลาใครทักมาหนูห้ามคุยด้วยนะ ถ้ามาขอข้อมูลส่วนตัว มาขอเบอร์โทร.ก็ไม่ได้ ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ห้ามลูก เพราะทุกอย่างมันมีดีและไม่ดี มันอยู่ที่เราควบคุม ดูแล และส่งเสริมเขามากกว่า”

     จนถึงทุกวันนี้ แม่เริ่มคลายความกังวลลงได้บ้างแล้ว ถึงแม้น้องจะเล่นโทรศัพท์มากขึ้น แต่ก็เน้นเป็นดูคลิปวิดีโอในยูทูบมากกว่า ไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊ก และคุยไลน์เฉพาะกับเพื่อนในกลุ่มที่โรงเรียน ส่วนในแฟนเพจจะมีพ่อกับแม่เป็นคนดูแลอยู่ตลอด แม่เป็นแอดมินด้วยตัวเอง บางทีก็ให้น้องแพรเข้ามาตอบความเห็นในแฟนเพจด้วยบ้าง แต่จะไม่ให้คุยข้อความโดยตรงกับคนแปลกหน้า

 

เหมือนเด็กๆ ยุคนี้ต้องมีชีวิตอยู่บนคลื่นดิจิตอล และอยู่กลางทะเลของความคิดเห็น – เราถามแม่

     “ใช่ค่ะ เราหนีไม่ได้กับสื่อออนไลน์ เพียงแต่ว่าเราต้องแนะนำว่าควรทำยังไง ควรพูดจายังไง แม่บอกเขาเสมอ ว่าสิ่งที่เราพิมพ์ออกไปแล้ว มันลบไม่ได้แล้วนะ ดังนั้น ตัวเราเองก็ต้องคิดก่อน ต้องอ่านให้ดีก่อน”

ตอนนั้นสิ่งที่ทำให้น้องแพรผ่านปัญหาการบูลลีด่าว่าในออนไลน์มาได้คืออะไร – เราถามน้องแพร

     “กำลังใจจากแม่ค่ะ แม่ก็สอนหลายอย่าง แม่แพรจะมีคำคมมาตลอด (หัวเราะ) และแพรคิดว่ามันก็จริงด้วย เลยไม่สนใจคำร้ายๆ ที่มาว่าแล้ว ข้ามผ่านไป”

คำพูดที่มีค่าที่สุดที่แม่พูดไว้คืออะไร – เราถาม

 

แม่บอกว่า ทำไมเราจะต้องไปเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคนที่มาว่าเราเป็นหมื่นๆ คน เราจะต้องเปลี่ยนเป็นหมื่นแพรทำไม เราเป็นตัวของตัวเอง แล้วมีคนที่รักในสิ่งที่เราชอบดีกว่า

 

แพรว่าตัวเองสวยไหม 

     “เอ่อ… (นิ่งคิด) แพรชอบโครงหน้าของตัวเอง แพรชอบความหน้าบานของตัวเอง (หัวเราะ) พอแต่งหน้าแล้วทำ shading สนุกดี”

แล้วไม่ชอบตรงไหนของตัวเอง 

     “ไม่ชอบดั้ง (หัวเราะ) มันแบนมากเลยนะ มันเหมือนเนียนไปกับผิวเลย มีคนบอกด้วยว่าแพรอย่านอนตะแคงนะ เดี๋ยวตาจะไหลมาอยู่ด้วยกัน”

แล้วสมมติว่าถ้าเราล้อว่าน้องแพรดั้งหัก จะโกรธไหม 

     “ไม่โกรธค่ะ เพราะมันคือความจริง (หัวเราะ) แล้วก็นึกขำตัวเองด้วย”

สำหรับน้องแพร ความสวยคืออะไร เราแต่งหน้ายังไงแล้วจึงจะสวย – เราถาม

     “อืม… การแต่งหน้าคือการทำให้เขามั่นใจที่สุด เมื่อมั่นใจแล้วเขาก็จะสวยที่สุด”

 


FYI

     สำหรับใครที่เผชิญปัญหา Cyberbullying ลองมาปรึกษากับพี่ๆ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญได้ที่ http://stopbullying.lovecarestation.com