รายการ The Voice Thailand Season 1 (2555) พาคนดูไปพบกับการประกวดร้องเพลงแบบใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับรายการแข่งขันต่างๆ ที่ตามมาในบ้านเรา และหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เรารู้จักกับเด็ก (หนุ่ม) น้อย ที่เพิ่งมีบัตรประชาชนเป็นของตัวเองมาไม่นาน ชื่อ ‘นนท์’ – ธนนท์ จำเริญ ซึ่งเดินทางมาแข่งขันจากภูเก็ต
ด้วยภาพลักษณ์ของเด็กบ้านๆ ที่ยังไม่ถูกปรุงแต่ง เสียงเอื้อนและลูกคอที่เสนาะหู เมื่อรวมเข้ากับความนอบน้อมและความใสซื่อที่ออกมาจากตัวตนข้างใน ก็ทำให้นนท์กลายเป็นม้ามืดที่คนดูเอาใจช่วย ลุ้น และเฮกันลั่นบ้านเมื่อชื่อของเขาได้รับการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าเป็นผู้ชนะในรายการ The Voice Thailand คนแรก
สิ้นเสียงปรบมือจากงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ สิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันต่างต้องเจอคือ การไปต่อในเส้นทางของตัวเอง ซึ่งเราก็จะเห็นกันอยู่ว่าบางคนก็ประสบความสำเร็จในอาชีพที่ตัวเองฝัน บางคนก็ยังอยู่ในช่วงกลางๆ ของการเดินทาง และมีอีกไม่น้อยที่ยอมแพ้ และค่อยๆ หายหน้าหายตาไป ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ใครสักคนประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยทั้งจังหวะ เวลา ความมุ่งมั่น และการพัฒนาตัวเอง
สำหรับนนท์นั้น เขามีความเข้าใจในวงจรชีวิตที่เกิดและดับเร็วของชื่อเสียงในวงการเป็นอย่างดี และเลือกที่จะให้คุณค่ากับการมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองมากกว่าการสร้างกระแสเพื่อหล่อเลี้ยงชื่อเสียง
อยากรู้ว่าคนหนุ่มสาวรุ่นคุณ รู้สึกว่ามีความกดดันในชีวิตแค่ไหน ทั้งจากตัวเองและการแข่งขันกับคนอื่น
เรามีความกดดันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าจะต้องทำให้ดี จะต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ทำได้ จนบางทีผมก็มักจะกดดันตัวเอง เพราะตั้งแต่ตอนอายุ 16 ก็ต้องทำงานกับผู้ใหญ่อายุ 25 หมดเลย คุณจะไม่กดดันตัวเองคงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามาตรฐานที่ศิลปินระดับคุณภาพหลายคนได้สร้างเอาไว้ก่อนหน้านี้มันไปไกลเกินตัวเรามาก คนที่ตามหลังมาจึงจำเป็นที่จะต้องกดดันตัวเอง ถึงแม้จะกดดันตัวเอง แต่ผมไม่เคยกดตัวเองต่ำ ไม่เคยคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ คิดว่าตัวเองทำได้เสมอ ถึงจะทำไม่ได้ดีมากกว่าเขา แค่เชื่อว่าเราจะทำให้เท่ากับพวกเขาได้ในที่สุด
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ชอบเอาตัวเองเข้าสู่การประกวดแข่งขันต่างๆ ตลอดเวลา อย่างคุณก็เพิ่งไปออกรายการ The Mask Singer ทั้งที่ตัวเองก็ได้รับความสำเร็จมาจาก The Voice Thailand Season 1
แต่ผมไม่ได้มองว่าเป็นการประกวดนะ รู้สึกเหมือนเราไปเป็นแขกรับเชิญให้เขามากกว่า ไปสนุกสนาน ไปร่วมสนุกกัน ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้ทำโชว์ดีๆ ของตัวเองไปด้วย จุดประสงค์แรกของผมหลังจากประสบความสำเร็จจาก The Voice Thailand Season 1 คือตั้งใจว่าจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อยากทำงานกับคนเก่งๆ ทำให้เราดีไซน์โชว์ หรือสร้างมุมมองของตัวเองต่อเพลงหนึ่งเพลงที่แตกต่างออกไป ผมเตรียมตัวทำงานเหล่านี้เก็บไว้ รอพื้นที่ที่มีโอกาสให้ได้ปล่อยของ ดังนั้น พอทีมงาน The Mask Singer ติดต่อมา เราก็ได้ปล่อยของที่มีอยู่ในสต็อกออกไป เลยตอบตกลงไป
สิ่งที่ทำให้ผมอยากมา The Mask Singer คือการได้ร่วมงานกับซูเปอร์สตาร์หลายคน บางคนที่เราชื่นชมมาตั้งแต่เด็กๆ การที่ได้มาอยู่บนเวทีเดียวกันกับพวกเขา ผมมองว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นเยอะเลย ไม่ได้คิดว่าจะมาประกวดหรืออะไรแบบนั้น เพียงแต่พอได้ประกวด แล้วก็ได้กระแสตอบรับที่ดีกลับมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงจะบอกว่าไม่ประกวด แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ สุดท้ายคุณก็ต้องมีความคาดหวังอยู่ดีกับผลลัพธ์อยู่ดี
พอมาถึงจุดนี้ ผมเข้าไปร่วมแข่งขันโดยไม่ใช่เพราะอยากชนะ แต่เพราะอยากเรียนรู้บางอย่าง อยากรู้ความรู้สึกว่าการใส่หน้ากากใน The Mask Singer เป็นอย่างไร มันคือการปิดเพื่อเปิดอะไรบางอย่างในตัวเอง หลายคนเมื่อได้อยู่ในสภาวะแบบนี้ก็จะเห็นความแตกต่างเกิดขึ้นในตัวเอง เช่น ตอนเป็นหน้ากากเป็ดน้อย ผมจะเป็นคนที่สนุกมาก ทั้งๆ ที่หน้ากากเป็ดน้อยไม่ได้หนีจากคาแร็กเตอร์ของผมไปเท่าไหร่ กลับกัน มันเป็นการเติมความเป็นเด็กให้ด้วยซ้ำ เพราะผมทำงานด้วยการร้องเพลงและหาเงินให้กับตัวเองตั้งแต่ 7 ขวบ ดังนั้น ประสบการณ์ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้เป็นตัวเองเพราะต้องทำงาน
ในความสนุกตรงนี้ ผมเลยรู้สึกว่าเมื่อต้องขึ้นไปทำงานบนเวทีอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้เวทีเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นเลยแล้วกัน ผมอยากทำแบบนั้นมาตลอด แต่ด้วยความที่หัวโขนของชื่อ ‘นนท์ ธนนท์’ ก็จะทำให้ความเป็นเด็กหรืออะไรบางอย่างถูกกดไว้ บางอย่างที่ผมอยากลอง อยากเล่น จะมีความกลัวผุดขึ้นมาก่อน ว่าเราเป็นเด็กนะ จะเล่นกับผู้ใหญ่แบบนี้ได้ไหม แต่พอใส่หน้ากากเป็ดน้อยแล้ว เราไม่รู้หรอกว่าคนข้างๆ คือใคร แต่รู้สึกว่าเล่นแล้วสนุก ทุกคนเป็นเหมือนพี่ๆ น้องๆ หรือเพื่อนกันทันที กลายเป็นว่าผมได้เปิดเผยตัวตนออกมา คนที่อยากทำอะไรสนุกๆ มานานแล้ว มีความสดบางอย่างเกิดขึ้น พอได้เปิดความรู้สึกเหล่านี้แล้วรู้สึกดีที่ได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ซึ่งจริงๆ ผมก็เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้วตั้งแต่เข้ามาวงการบันเทิง เพียงแต่ตอนนั้นเราเด็กเกินไปก็เลยไม่ได้สร้างเฉดสีที่แสดงถึงตัวตนของผมออกมาให้ชัดเจนแบบนี้ สิ่งที่ยากที่สุดก่อนจะขึ้นโชว์แต่ละครั้งคือการเคลียร์กับตัวเอง การก้าวข้ามบางอย่างกับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างหน้ากากเป็ดน้อย ผมมองว่ามันเป็นบททดสอบอย่างหนึ่งในชีวิต เหมือนเราตอนเด็กๆ เคยกลัวเครื่องเล่นในสวนสนุก โชคชะตาก็จะพาเพื่อนที่ชอบเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวๆ มาอยู่ใกล้เรา แล้วเขาก็ให้เราไปพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งก็โชคดีที่ว่าผมก้าวผ่านมันมาได้
พูดถึงเรื่องความกลัว จำได้ว่าคุณเคยเล่าให้ฟังว่า บอกแม่ให้เอารางวัลไปคืนเขาให้หมดแล้วกลับบ้านกัน ตอนนั้นคงปอดแหกมาก ไม่ต่างกับการขึ้นรถไฟเหาะครั้งแรกในชีวิต
ผมเป็นคนชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้ชอบร้องโชว์คนอื่นหรอกนะ สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าอยากร้องเพลงเพราะเราร้องแล้วเขามีความสุข ผมร้องเพลงให้คุณพ่อฟัง คุณพ่อก็ชอบ ตอนนั้นพ่อแม่ผมทำงานหนักมาก จนพวกท่านแทบเป็นคนที่ไม่มีจินตนาการอะไรเหลือแล้ว พอผมร้องเพลงอะไรให้ฟัง จากที่เป็นคนฟังอย่างเดียว กลายเป็นว่าแม่เริ่มหัดร้องเพลงตามผม ผมจึงเห็นว่าจริงๆ เราแค่ทำอะไรบางอย่างออกไปให้คนอื่น อาจกลายเป็นการเติมจิ๊กซอว์ตัวใหญ่ในชีวิตเขา ทำให้ภาพบางภาพของเขาสมบูรณ์ขึ้นมากว่าเดิม
จนพอก้าวเข้ามาเป็นศิลปินหลังจากที่ผมบวช ผมเริ่มจากชนะ The Voice Thailand Season 1 ได้เซ็นสัญญากับค่าย i am ทีนี้การร้องเพลงของผมก็กลายเป็นมีลักษณะของการทำงานไปแล้ว เป็นการทำงานที่อยู่ในที่แจ้ง คนอื่นเห็นเราหมดเลย และด้วยความที่เรายังเด็กมากๆ จึงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตเรา เพราะไม่ได้มีความเรียบง่าย ในขณะเดียวกันกับที่ในวงการบันเทิง ผมเห็นเพื่อนหลายๆ คนพยายามทำตัวหวือหวา ผมรู้สึกว่าเป็นความพยายามที่มากเกินไป ด้วยความเด็กตอนนั้น พอทำเพลงออกมาสักหนึ่งเพลง ต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องคิดเยอะ และด้วยประสบการณ์ความรักที่ไม่ค่อยมี ประสบการณ์ชีวิตก็น้อย ทักษะการร้องเพลงก็ยังไม่ได้มาก ผมร้องเพลงมา 15 ปีก็จริง แต่ไม่เคยได้เจอคนเก่งๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ไม่ได้เรียนร้องเพลงอย่างถูกวิธี ผมเรียนจากการฟัง ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าเราอาจจะยังไม่เหมาะสม และด้วยวิถีชีวิตของผมคงไม่เหมาะกับวงการบันเทิง
วันนั้นเหมือนตัวเองเหนื่อยมากๆ ด้วย จึงบอกกับแม่ไปแบบนั้น ว่าเราคืนรางวัลเขาไป แล้วกลับบ้านกันเถอะ รอตัวเองพร้อมกว่านี้ โตกว่านี้ ให้สุขภาพของแม่แข็งแรงกว่านี้ ภาระทางการเงินโอเคกว่านี้ ลูกน่าจะทำให้พ่อแม่ลำบากน้อยลงกว่าตอนนี้ แต่วันนั้นเราก็แค่ได้พูดไปแบบนั้น พอเราชนะขึ้นมาจริงๆ เราก็เซ็นสัญญากับค่าย 3 ปี เป็นจุดที่เรียกได้ว่าเหมือนตั้งไข่ เริ่มใหม่ทั้งหมด จากคนที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ถ้าอยู่กับเพื่อนก็จะสนุก เป็นคนที่ดูเข้ากับคนอื่นง่าย แต่ว่าในไลฟ์สไตล์จริงๆ ผมเป็นคนที่มีโลกส่วนตัว เป็นคนคิดอยู่ตลอดเวลา ทุกเรื่องที่เล่นผมจริงจังหมด
สิ่งที่คุณคิดนั้นแตกต่างจากคนรุ่นเดียวกันเหลือเกิน ในขณะที่ส่วนใหญ่จะยึดติดกับชื่อเสียงโด่งดัง ส่วนการเรียนรู้ฝึกฝนเอาไว้ทีหลัง
นี่เป็นประเด็นที่ผมเคยคุยกับเพื่อนๆ ในเจเนอเรชันปัจจุบัน หรือแม้แต่ตอนที่มีโอกาสเป็นกรรมการในการประกวดหลายๆ รายการ หลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าตั้งแต่เด็กรุ่นผมนับไล่ลงไป สไตล์มักจะมาก่อนคุณภาพ ผมก็ตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความสามารถ พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยได้เสพบางอย่างที่มีคุณภาพ แต่มุมมองที่ยังเป็นเด็ก ทำให้เขามองบางจุดผิดไป อาจจะด้วยกระแสนิยม ทำให้บางทีสไตล์ของเขาชัดมาก จนมันฉาบทับคุณภาพของตัวเขาไปหมดเลย
“
คำหนึ่งที่ผมพยายามใช้ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา คือ Quality before style เสมอ เพราะสไตล์เป็นสิ่งที่รับได้กับคนนั้นคนเดียว แต่คุณภาพเป็นสิ่งที่รับได้กับทุกคน
”
ซึ่งความคิดนี้นำไปปรับใช้ได้กับทุกอาชีพ นี่เป็นเรื่องที่ผมพยายามสื่อสารตลอดเวลา ถ้าสังเกตจริงๆ ผมไม่ได้สนใจสไตล์ของตัวเองสักเท่าไหร่ แต่ผมเลือกจะทำงานให้ดีจริงๆ ก่อน แล้วค่อยเท่
เพราะไม่ได้ยึดติดกับสไตล์ เป็นโอกาสที่เราได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองใช่ไหม
ใช่เลย ผมชอบที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ผมอยากเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาถือทิฐิกัน เพราะวันหนึ่งร่างกายก็ต้องหายไป ก็ต้องคืนเขาไป สิ่งที่ทิ้งไว้ต่างหากที่สำคัญ ผมรู้สึกว่าตรงนี้ของผมยังไม่ถึงที่สุด ผมยังเจอสิ่งใหม่เข้ามาทุกๆ ปี ผมทำงาน 2 ปีแรกได้ไปเดินแฟชั่นโชว์ ทั้งๆ ที่เคยคิดว่าเป็นอาชีพที่เราไม่กล้าเอาหน้าของตัวเองไปวางไว้ตรงนั้น (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่าหน้าตาเราไม่น่าจะได้นะ แล้วก็มองว่าเราไม่มีศักยภาพมากพอ แต่ในเมื่อมีโอกาสเข้ามา มีคนเชื่อว่าผมทำได้ ผมก็เปิดรับโอกาสนั้น
พอได้ทำจริงๆ ก็รู้ตัวว่าเราทำได้นี่นา และจะพยายามทำได้ดีขึ้นไปอีก ปีถัดมาผมก็มีโอกาสไปเดินแฟชั่นโชว์ที่เซี่ยงไฮ้ แล้วก็ได้ไปร้องเพลงที่ปักกิ่ง ในเวลาใกล้ๆ กันก็มีงานโฆษณา งานแสดง ซึ่งเป็นงานศิลปะต่างแขนงไปอีก ไปๆ มาๆ ผมก็ทำได้อีก เอาง่ายๆ มันก็เหมือนกับการเล่นวิดีโอเกม บนเส้นทางการทำงานมันมีเกมให้เราหยิบเอามาเล่นได้หลายแผ่น อยากร้องเพลงก็เอาแผ่นเกมที่เป็นเพลงมาเล่น อยากเป็นนักแสดงก็เล่นแผ่นเกมที่เป็นเรื่องของนักแสดงใส่เข้าไป ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ซึ่งจริงๆ การเล่นวิดีโอเกมก็ให้ทัศนคติ มุมมองความคิดหลายๆ อย่าง วิดีโอเกมนี่สอนผมไว้เยอะเหมือนกัน
แต่ก็อย่าลืมว่าเกมชีวิตบางทีพอแพ้ไปแล้ว เราจะกดปุ่ม continue ไม่ได้นะ
ก็จริงนะ เกมชีวิตนี่มันเซฟไม่ได้ ทุกอย่างคือเวลาจริง ดังนั้น เราต้อง based on ชีวิตตอนนี้ของปัจจุบันด้วยเช่นกัน ต้องเอาเกมมาด้วย และเอาธรรมะมาใช้ด้วย แล้วมุมมองความคิดของการเล่นเกมนั่นแหละที่ช่วยผม เมื่อรู้สึกว่าถ้าเราเป็นตัวละครในเกมที่อายุแค่ 16 แต่ต้องไปอยู่ในด่านที่ 25 เราจะมองมุมไหน จะมองว่ามันยากไหม หรือมองว่ามันคือเกม เราต้องสนุกกับมัน แล้วมองว่านี่คือสิ่งที่เราทำได้ และผมรู้สึกว่าถ้าทำแล้ว เราสามารถสร้างความสุขให้กับคนดูได้ไหม ให้การสื่อสารบางอย่าง สะท้อนให้คนดูมองเห็นตัวเองได้ แล้วสิ่งที่ผมทำจะมีประโยชน์กว่าการเล่นเกมที่ไม่ใช่มีแค่ความสนุก ผมมองแบบนี้มาตลอด ตอนนี้สนุกกับเกมชีวิตในวงการบันเทิง จนเข้าปีที่ 7 แล้ว
เดี๋ยวนี้เวลามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นมา สังคมก็จะไปโทษว่าเป็นเพราะเกมเสมอ เราก็มักจะโทษสิ่งอื่นก่อนที่จะโทษตัวเอง
ใช่ๆ เราโทษคนอื่นเก่ง มนุษย์ทุกวันนี้โทษคนอื่นเก่ง เรากินพริกเข้าไปแล้วก็ร้องว่าเผ็ดฉิบหายเลย แล้วใครเขาใช้ให้เอาเข้าปากล่ะ ก็ตัวเองกินเองใช่ไหม ถูกไหม พี่สาวของผมมีลูกชื่อน้องเกล อายุ 5 ขวบ เป็นเด็กที่น่ารักมากและเป็นเด็กฉลาดมาก แต่ตอนนี้น้องเกลยังพูดไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ตามธรรมชาติของเด็กพออายุสัก 3-4 ขวบ ต้องพูดได้แล้ว พี่สาวเครียด ทำไมลูกไม่พูดล่ะ ทำไมลูกพูดไม่ได้ ลูกพัฒนาการช้าหรือเปล่า
ผมมีโอกาสเล่นกับน้องเกล เลยเห็นว่าน้องเกลติดมือถือมาก ผมรู้เลย คงว่าเพราะเด็กอยู่แต่กับโทรศัพท์มือถือจึงขาดการฝึกฝนเรื่องการสนทนาหรือเปล่า เพราะใช้แค่นิ้วคุยกัน จิ้มหน้าจอไปมา บางทีของพวกนี้เราเลือกเอง ใช้มันเอง และรับผลของมัน เมื่อเกิดเรื่องผิดพลาด สิ่งแรก ต้องมองตัวเองก่อน ซึ่งมุมมองของผมก็อาจจะไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกเทาๆ จะให้หาคำตอบถูกทุกข้อก็เป็นไปไม่ได้ มันไม่มีชอยส์มาให้ชีวิตด้วยซ้ำ ว่าปัญหานี้ต้องกากบาท ง.งู คือถูกทุกข้อ ทำสิ่งนี้จะให้ถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ เราเรียนรู้สัจธรรมนี้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน เด็ก 40 คน ยังไม่รักครูทั้ง 40 คนเลย นับอะไรกับการมาทำงานตรงนี้ ต้องทำงานให้คนเป็นล้านคนชอบ เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องมองตัวเองหากเกิดผิดพลาด