นพพันธ์ บุญใหญ่

นพพันธ์ บุญใหญ่ | สัญชาตญาณ ศรัทธา และความจริงของสิ่งมีชีวิตที่นิยามตัวเองว่าประเสริฐ

มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่แสดงความซับซ้อนได้ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ในแง่นามธรรม มนุษย์มีความคิด ความเชื่อที่หยั่งรากลงลึกในใจเกินใครคาดเดา ในแง่รูปธรรม ร่างกายของมนุษย์ประกอบสร้างจากหน่วยของชีวิตที่ยึดโยงกันเป็นอีกโลกที่ไม่เคยเปิดเผยให้ใครได้เห็น หากไม่พึงใจแหวกล้วงเข้าไปสำรวจ เพราะความซับซ้อนเหล่านี้หรือเปล่าที่ทำให้มนุษย์นิยามตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ หาใช่สัตว์เดรัจฉานดาษดื่น

     เราจะแน่ใจและสามารถเชื่อถือตัวเองได้ดีเทียบเท่ากับคำว่า ‘สัตว์ประเสริฐ’ ได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าการกระทำบางอย่างที่เราแสดงออกมา (จากความคิดความอ่าน) กลับขัดแย้งและรุนแรงเกินกว่าจะอยู่ภายใต้นิยามนี้ได้ เรารู้ตัวกันไหมว่าเมื่อเจอสถานการณ์ที่บีบคั้นเหลือทน เราสามารถพาตัวเองไปถึงจุดที่ชั่วร้ายยิ่งกว่า ‘สัตว์เดรัจฉาน’ เสียอีก อย่างน้อย The Cult of Monte Cristo นวนิยายดัดแปลงจากละครเวทีของ ‘อ้น’ – นพพันธ์ บุญใหญ่ ก็แสดงให้เห็นความจริงแท้ในข้อนี้

     ไฟในโรงละครส่องสว่างให้คนดูจับคู่ตำแหน่งที่นั่งกับเลขบัตรที่ถืออยู่ในมือ ส่วนสูจิบัตรที่แจกให้นั้น คือสิ่งช่วยทำความเข้าใจเบื้องต้นกับละครที่กำลังแสดงในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า

     “มันเป็นเรื่องของทุกคน มันเป็นบันทึกชีวิตจากความทรงจำที่เราต่างแชร์ร่วมกันจนกลายมาเป็นคำถามว่า ตัวตนของพวกเรามาจากไหน? เราถูกหล่อหลอมมาจากเบ้าประเภทใด? และที่สำคัญคือเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง?…

     เสียงผู้คนจอแจอื้ออึงไปทั่วโรงละครกำลังเงียบลงพร้อมกับแสงไฟที่ค่อยๆ หรี่จนดับมืด ดนตรีบรรเลงขึ้นส่งสัญญาณให้คนดูวางสายตาไปบนเวที จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เราทุกคนต่างมีมุมมืดในใจ ละครเวทีเรื่องนี้จะคอยจี้จุดเหล่านั้น แล้วเราจะได้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นหรือของใครคนใดคนหนึ่ง

     ม่านเปิดกว้างพร้อมกับเสียงดนตรีค่อยๆ เฟดลง ไฟสีขาวบนเวทีค่อยๆ ส่องสว่างอย่างช้าๆ เผยให้เห็นนักแสดงสองคนนั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ โดยมีฉากหลังเป็นโบสถ์คริสต์ ทั้งคู่กำลังจะเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อเล่าเรื่องความเชื่อ ความคิด ความดี ความชั่ว สัญชาตญาณ และความเป็นมนุษย์ ถึงตอนนี้ทุกอย่างเงียบสงัดได้ยินเพียงเสียงหายใจของคนดู

 

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

คุณเชื่อไหมว่ามนุษย์เกิดมาเป็นผ้าขาว และถูกเติมสีสันโดยสภาพแวดล้อมและการหล่อหลอมจากสิ่งรอบตัว

     เราเชื่ออย่างนั้นในวัยหนึ่ง ว่าคนเราถูกแต่งเติมด้วยสิ่งแวดล้อม คน เพื่อนในวัยเด็ก ซึ่งจะสร้างให้เราเป็นผู้ใหญ่ แต่มันก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับอะไรที่เติมเข้ามา เพราะคนเราปรับ ดัดแปลง และประยุกต์ทุกอย่างให้เข้ากับตัวเองได้ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด แล้วก็มีมนุษย์อีกประเภทหนึ่งที่ใช้สัญชาตญาณนำ โดยที่อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมถึงทำแบบนั้น

 

สำหรับคุณ สัญชาตญาณสำคัญอย่างไรกับการมีชีวิตอยู่

     สิ่งนี้เข้ามามีบทบาทกับเรามาก เราอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเป็นสัญญาณเตือนคอยบอกให้เราทำหรือไม่ทำอะไร อย่าไป อย่าเดิน ทำนี่สิ ทำนั่นสิ ซึ่งเราเชื่อในสิ่งนั้น บางวันเรากำลังจะออกจากบ้านแล้วมีบางอย่างบอกว่าเอาร่มไปไหม แล้ววันนั้นฝนก็ตก เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือสัญชาตญาณหรือจิตใต้สำนึกกันแน่ แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นสัญชาตญาณมากกว่า มันสำคัญมาก เพราะมันทำให้อยู่รอดได้ มันดูแลเรา ฝรั่งก็พูดแบบนี้ ให้ฟังสัญชาตญาณของตัวเองแล้วทำตาม

     อาจเป็นเพราะแม่ด้วย แม่ชอบใช้สัญชาตญาณนำ เขาเปิดห้องเช่า เราเห็นเขาปฏิเสธคนที่มาติดต่อขอเช่า เลยถามว่าทำไม แม่ตอบว่าหน้าไม่ได้ (หัวเราะ) แล้วคนนั้นก็ไปอีกตึกซึ่งเป็นห้องของเพื่อนแม่ แม่เลยเตือนเพื่อนให้ระวัง แต่เพื่อนแม่ปล่อยเช่าไปแล้ว ปรากฏว่าสามเดือนต่อมาคนนั้นไม่จ่ายค่าเช่าแล้วขนของหนีไป เราเห็นแม่ใช้สัญชาตญาณกับหลายๆ อย่างในชีวิต ซึ่งเราก็คงติดมาด้วยแหละ

     สัญชาตญาณ เหมือน spider-sense ของสไปเดอร์แมนที่คอยเตือนให้ระวังภัย มันเป็นโปรแกรมที่ฝังอยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะใช้งานได้ บางคนใช้งานไม่เป็นด้วยซ้ำ เราคิดว่าการฝึกสมาธิบ่อยๆ จะทำให้สัญชาตญาณคมมาก และถ้าเราลดทอนสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นในชีวิตไปได้ สัญชาตญาณของเราก็จะคมมากขึ้น แต่ตอนนี้มันยาก เพราะรอบตัวรายล้อมไปด้วยสิ่งที่มากเกินกว่าความต้องการของชีวิต

 

ทราบมาว่าในวัยเด็กคุณเคยประสบอุบัติเหตุจมน้ำ เหตุการณ์ในวันนั้นเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณไหม หรือเปลี่ยนแปลงคุณอย่างไร

     ตอนนั้นเราเด็กเกินไปที่จะรู้ว่ามันมีความหมายว่าอะไร เหมือนกับ Vagabond (การ์ตูนญี่ปุ่นที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของซามูไร) ในเรื่องมีตัวละครชื่อ โคจิโร่ เด็กพิการหูหนวกและเป็นใบ้ มันไปเจอดาบเล่มหนึ่งแล้วแบกติดตัวตลอดเวลา เพราะมันชอบ อย่างที่เราว่าสัญชาตญาณจะคอยบอกอะไรบางอย่าง แต่มันไม่รู้หรอกว่าอะไรทำให้มันหยิบดาบนี้มา รู้แต่ว่าอะไรบางอย่างของดาบนี้ดึงดูดมันมาก ซึ่งก็ไม่มีใครมาแปดเปื้อนหรือแต้มสีใส่ มันจับของมันเอง จนมันไปเจอกับลุงคนหนึ่ง ลุงถามว่าลากดาบไปมาทำไม ไม่รู้หรือว่าอันตราย เด็กพิการโต้ตอบไม่ได้ ลุงเลยเอาดาบเฉือนแขนมัน เด็กมองเลือดที่ไหลแล้วร้องไห้ ตอนนั้นเองมันถึงรู้ว่าสิ่งนี้อันตรายขนาดไหน เราเลยรู้สึกว่า ชีวิตของเด็กคนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว มันได้เปิดประตูบานใหม่ อาจเป็นการได้รู้อะไรบางอย่างที่ไม่ควรรู้ในตอนนั้น

     ตอนที่เราจมน้ำ ก็ได้รู้อะไรบางอย่างเหมือนกันตั้งแต่เด็ก โดยไม่แน่ใจว่ามีผลกระทบอะไรหรือมันชี้ให้เราไปในทางที่คนอื่นไม่ไปกันหรือเปล่า เราไม่รู้ว่าทำไมตัวเองชอบเดินในที่มืด ชอบสำรวจตึกหรือสถานที่คนเดียว เราไม่กลัวความมืด เราหลงใหลและสนใจในมิติที่เหนือธรรมชาติ ไม่ได้หมายถึงเรื่องผี แต่เป็นเรื่อง UFO มนต์ดำ เรื่องทำนองนี้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร (หัวเราะ) เลยไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์จมน้ำเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าเหมือนเด็กในการ์ตูนคนนั้นแหละที่มันโดนดาบเฉือนเข้าแขน

 

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

แล้วตัวคุณเป็นคนแบบไหน

     เราเป็นคนที่ค่อนข้าง appreciated กับการที่ไม่ได้เป็นอะไร หมายถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยมีสิ่งที่เข้ามากวนใจคนเราได้ง่ายมาก เลยรู้สึกว่าการที่มีสุขภาพจิตปกติคือชีวิตที่ดี แม้ว่าภายนอกจะเป็นคนแสดงออกเยอะ (หัวเราะ) แต่สุขภาพจิตภายในเราอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้เป็นอะไร เลยรู้สึกว่าแค่นี้ก็เป็นสิ่งประเสริฐแล้ว เลยไม่แน่ใจว่าเป็นคนประเภทไหน อืม… (นิ่งคิด) อาจจะเป็น observer เพราะเราชอบสังเกตการณ์

 

คุณชอบสังเกตอะไร

     คน (ตอบทันที) จริงๆ แล้วสังเกตทุกสิ่งนะ แต่คนเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนทุกอย่างรอบตัวให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็จะสังเกตคนในเชิงพฤติกรรมมากกว่าอย่างอื่น เราว่ามันน่ามอง น่าสงสัย แล้วก็ชอบเสือกเรื่องคนอื่น (หัวเราะ) หมายความว่าชอบเวลาคนอื่นคุย ฟังเรื่องราวของเขาว่าเขาพูดอะไร อย่างไร น่าจะเป็นนิสัยของนักเล่าเรื่องที่ต้องเก็บสิ่งเหล่านี้เอาไว้ใช้เป็นข้อมูล

 

คุณนิยามตัวเองเป็นนักเล่าเรื่อง

     ตอนอายุ 25 เราอยากเป็นนักแสดง ที่ตัดสินใจแบบนี้เพราะรู้แค่ว่าอยากทำ แม้ว่าจะไม่เคยเรียนการแสดงหรือทำอะไรแนวนี้มาก่อน แต่คิดว่าน่าจะทำได้ พอได้ทำจริงๆ ก็ถึงจุดที่รู้สึกว่าต้องเติมวิชาให้ตัวเอง เลยเข้าไปอยู่ในแวดวงละครเวที ซึ่งเราโชคดีที่มีคนต้อนรับเข้าไป จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจเขียนบทและกำกับละครตัวเอง จากนักแสดงเราเริ่มสร้างงานตัวเองมากขึ้น ได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ เป็นคนคุณภาพที่ทำให้งานออกมาดี แล้วมันก็พาเรามาเรื่อยๆ ถึงวันนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่าทุกอย่างที่เราทำเกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่อง (narrative) ทั้งหมด นักแสดงเป็นแค่จุดเริ่มต้นแต่สุดท้ายแล้วเราเป็นนักเล่าเรื่อง มันเติมเต็มเรา เราเจอสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งคนอื่นๆ ก็น่าจะมีจุดนี้เหมือนกัน

 

ล่าสุดคุณมีผลงานเขียนเป็นนวนิยายเรื่องแรกซึ่งดัดแปลงมาจากบทละครชื่อเดียวกันว่า The Cult of Monte Cristo การเล่าเรื่องแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร

     แตกต่างตรงที่ตอนเขียนบทละครไม่มีเดตไลน์ เขียนไปได้เรื่อยๆ ให้ตัวเองกำกับ ให้นักแสดงอ่าน ฉะนั้นข้อมูลที่เป็นรายละเอียดมีไม่เยอะ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะส่วนใหญ่การทำละครจะมีแค่บทพูด และมีข้อมูลประกอบคร่าวๆ ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ช่วงเวลาใด ที่เหลือจะไปด้นเอาตอนซ้อม เพราะเป็นตอนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด หลังจากสามปีแรกในการทำละคร เริ่มมีงานเขียนบทเข้ามามากขึ้น เราต้องฝึกเขียนบทเองในเชิงว่าจะทำอย่างไรให้สื่อสารกับทีมทำงานได้ ช็อตนี้ถ่ายยังไง แอ็กติงออกมาเป็นยังไง ทำให้เขียนงานชัดเจนขึ้น ฉากนี้ แสงนี้ ดนตรีนี้ นักแสดงเล่นแบบนี้ ใส่เสื้อแบบนี้ ทุกอย่างมันคมมากขึ้น

     ส่วนนวนิยายเป็นงานเขียนที่ต้องผสมผสานหลายอย่าง เราเคยเขียนบทความลงคอลัมน์ในนิตยสารมาก่อน เราชอบเอาวิธีเขียนบทซึ่งมีรูปแบบเฉพาะมาใช้ในงานเขียนอื่นๆ เพราะมันน่าสนใจดี เพื่อเล่าภาพด้วยตัวหนังสือให้คนอ่านเห็นชัด งานเขียนของเราจึงมักจะมีคีย์เวิร์ด เช่น ภาพแคบ มีเดียมช็อต ซูมเอาต์ สโลโมชัน ไม่เอาเสียง แล้วมันทำงานกับคนทั่วไปได้ด้วย พอบอกภาพแคบ คนอ่านจะเข้าใจทันทีว่าตอนนี้ภาพแคบถูกยัดเข้ามาในหัวแล้ว ซึ่งเราคิดว่าไม่ค่อยมีใครทำ

     แล้วการเขียนนวนิยายก็เหมือนทำงานจริงๆ ตื่นมาเก้าโมง แล้วต้องเขียนถึงห้าโมงเย็น เขียนให้ได้เยอะที่สุด พยายามให้ได้ภาพจากตัวหนังสือ เมื่ออ่านแล้วจะเกิดเป็นจังหวะ เสียง และทำนอง ซึ่งเราให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก จังหวะต้องวน ขึ้น รัว แล้วหยุด เหมือนเพลง การอ่านสำหรับเราจึงไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เกี่ยวกับสิ่งระหว่างทาง หรือ aside ข้างทางของเรื่องเป็นสิ่งน่าสนใจมากกว่าเนื้อเรื่อง คนที่ไปดู Hamlet (บทละครแนวโศกนาฏกรรมของวิลเลียม เชกสเปียร์) เขาไม่ได้อยากรู้หรอกว่าตัวเอกจะรอดไหม แต่เขาไปฟังและดูองค์ประกอบที่เป็นความสวยงามต่างๆ ข้างทางกัน ซึ่งมันกระตุ้นอารมณ์ ความคิด มากกว่าเรื่องนี้จบยังไงอีก เรามองแบบนั้น

 

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

แล้วคุณคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า ‘โลกนี้คือโรงละคร เราทุกคนคือนักแสดง’

     โลกคือละครหรือเปล่า… (นิ่งคิด) ก็คงเป็นอย่างนั้น แต่เรามองอีกแบบหนึ่งว่าทุกคนมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง แล้วเรามองเรื่องของเรายังไง อย่างเช่น นักแสดงได้บทบาท เขาก็ต้องตีความว่าเป้าหมายของตัวละครนี้คืออะไร แล้วต้องทำให้สำเร็จ ยิ่งพยายามหนักเท่าไร ยิ่งเข้มข้นเท่านั้น แต่ถ้าไม่ใส่ใจ ไม่พยายาม ผลลัพธ์ก็แห้งเหี่ยว เพราะนักแสดงไม่ได้ใส่ความพยายามหรือความเข้มข้นเข้าไปในบทบาทนั้น

 

ก็เหมือนกับชีวิต ชีวิตมันยาก แต่เราพยายามมากแค่ไหน อย่าบ่นเพราะพยายามนิดเดียวแต่หวังผลเยอะ

 

     มันคือประเด็นของคนยุคนี้ด้วย เด็กถูกเลี้ยงมาให้ได้รับอะไรบางอย่างจากพ่อแม่อย่างง่ายดาย สิ่งของ การยกย่อง ได้หมดทุกอย่าง มันทำให้เด็กหวังจะเอาผลอย่างเดียว แต่ไม่ได้เห็นว่าระหว่างทางไปยังไง ไม่ให้ความสำคัญในขั้นตอน บวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างแอพฯ นัดเดต ไม่ต้องไปนั่งประดักประเดิดกับผู้หญิง ไม่ต้องเดินเข้าไปจีบด้วยมุกฝืดๆ ถูกใจใครก็แค่ swipe หรือแชตไป มันเลยไปลดทอนทักษะแห่งความเป็นคน นั่นคือความพลาด ชีวิตมันต้องเฟล ไอเหี้ยขายหน้าว่ะ เสียท่า เสียฟอร์ม เพื่อที่จะได้แข็งแกร่งขึ้น อะไรแบบนี้ถูกลดทอนออกไปหมด

     เราเลยรู้สึกว่าชีวิตเป็นเรื่องเล่า (narrative) มากกว่า อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเล่าเรื่องของตัวเองยังไง เหมือนเวลามีคนบอกว่า ขับรถอยู่ดีๆ แล้วถูกรถอีกคันตัดหน้า จะยิ้มให้ ไม่โกรธ และคิดว่าเขารีบไปทำงานหาเงินเลี้ยงคนที่รัก นี่คือ narrative ของเขาที่เลือกเล่าเรื่องนี้ แต่ narrative ที่คนอื่นเลือกจะเป็นโกรธ โมโห อารมณ์เสีย เห็นไหมว่าเราสามารถเปลี่ยน narrative ของเราได้หมดเลยว่าเราควรจะปฏิบัติหรือมอง narrative ของตัวเองยังไง

     ดังนั้น โลกคือละครหรือเปล่า ใช่ มันคือละคร และเราสร้างบทบาทให้ตัวเองเล่นได้ว่า narrative ของเราจะเป็นยังไง ไปในทางไหน เพราะยุคนี้มีแต่คนสร้างบทบาทให้ตัวเองเยอะแยะ เป็นยูทูบเบอร์ เป็นไลฟ์โค้ช เป็นนู่นนี่นั่น อาชีพใหม่โผล่ขึ้นมาเยอะมาก ไม่รู้จะยั่งยืนหรือเปล่านะ แต่เขาสร้างบทบาทของตัวเองผ่านการเล่าเรื่อง เพื่อให้อยู่ในโลกนี้ได้

 

ใน The Cult of Monte Cristo พูดถึงความคิด ความเชื่อ แล้วความเชื่อของคุณเองล่ะเป็นอย่างไร

     จริงๆ เราโตมากับการไม่มีความเชื่ออะไรเลย เพราะที่บ้านไม่ได้เน้นอะไร แต่ตอนเด็กๆ เรามีเพื่อนเป็นคนผิวดำ เขานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก แม่ของเขาเคร่งศาสนามาก ทุกวันอาทิตย์เราจะไปเข้าโบสถ์กับเขา แล้วก็ถูกห้ามเล่นเกม ห้ามเปิดเพลง ห้ามดูทีวี ห้ามอ่านหนังสือ คิดดูนะ ข้อมูลเหล่านี้เข้ามาในหัวของเด็กอายุ 11 ขวบ ว่ามีพระเจ้าอยู่ทุกที่ มันก็ยิ่งน่าสนใจ แล้วมันเกิดความคิดย้อนแย้งว่าแล้วทำไมถึงยังมีความอยุติธรรม มีโชคร้าย แต่พอโตขึ้นเราก็เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

     เราเคารพทุกศาสนาเพราะเป็นแสงนำทาง เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้กับคน เราเคารพในหลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเพราะเรียบง่ายและเข้ากับเรา เคยไปปฏิบัติสมาธิ 10 วัน ไม่พูดอะไรเลย เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยให้คนมีหลักยึดถือได้ พอดีๆ ไม่มากไป ไม่น้อยไป เราจะนิ่งขึ้น มีความมั่นคง

 

คุณชอบพอกับสิ่งใดมากกว่ากันระหว่าง ‘ถูกต้อง’ กับ ‘ถูกใจ’

     โห อันนี้ยากมาก ถูกต้องกับถูกใจเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบของการเป็นผู้ใหญ่ เป้าหมายก็คือทำในสิ่งที่ถูกต้องให้ได้แม้ว่าไม่ถูกใจ ซึ่งเป็นความนามธรรมของการทำดีให้กับผู้อื่นโดยที่เราไม่ได้ห่าอะไรเลย เพราะคนเรามักจะทำดีให้คนอื่นเพื่อที่เราจะได้รู้สึกดี เราต้องยอมรับก่อนว่าเวลาเราให้ของหรือให้เงินเราทำก็เพราะอยากให้ตัวเองรู้สึกดี แต่การทำดีที่ไม่กระทบกับเราแบบปิดทองหลังพระคือสิ่งที่หายาก สุดท้ายเรามักจะเลือกทำสิ่งที่ถูกใจนะ (หัวเราะ) ถูกใจเหมือนเป็นกิเลส ก็ต้องสู้กันไป

 

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

คุณมีมุมมองหรือความคิดเกี่ยวกับความดีงาม และความชั่วช้าอย่างไรบ้าง

     จริงๆ เราเป็นคนชั่วมาก เป็นคนชั่วที่พยายามเป็นคนดี เพราะเป็นคนชั่วมันง่ายกว่า ชั่วในที่นี้หมายถึงนิสัยเสีย ขี้เกียจ อารมณ์ร้าย ซึ่งเราชอบเพราะทำให้เราเขียนงานอะไรแบบนี้ได้ แต่เราก็พยายามเป็นคนดีนะ การจะเป็นคนดีได้ก็ต้องไปอยู่กับคนดี เพราะเขาจะมอบสิ่งที่ดีๆ ให้ คอยขัดเกลาเรา แต่เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วความดีคืออะไรกันแน่ อย่างที่บอกว่าคนเราเกิดมามันไม่เกี่ยวว่าต้องเป็นผ้าขาวและโดนแปดเปื้อน บางคนเกิดมามันก็เป็นแบบนี้แหละ ช่วยไม่ได้หรอก อาจเป็นดีเอ็นเอหรือสัญชาตญาณบางอย่างที่ดึงดูดให้ไปในทางนั้น แลัวกลับมาไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรหรือเปล่า เพราะดีชั่วมันเป็นมุมมองที่ว่าอันนี้ดี อันนี้เลว แต่ในเชิงของคน มันไม่มีอะไรดีหรือเลว วันนี้ดี พรุ่งนี้อาจจะเลวก็ได้ หรือดีวันนี้เพื่อหวังประโยชน์ในอนาคต

     ในอีกมุมหนึ่ง ดีหรือชั่วสำหรับที่นี่ขึ้นอยู่กับความพอใจ ถ้าพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา คนนั้นจะกลายเป็นคนไม่ดีทันที แต่ถ้าถูกใจเราคือคนดี เราว่ามันเน่าเฟะมาก มันห่วย จนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคนเรายืนหยัดอยู่ในสังคมได้ด้วยบริบทอะไร เพราะบ้านเมืองวางคีย์เวิร์ดและแปะป้ายทุกสิ่งอย่างกับความดีและความชั่ว ลิมิตคนให้เป็นดำหรือขาวเท่านั้น บ้านนี้ดีอยู่แล้วรวย (แค่นหัวเราะ) จ้ะ ถ้าแค่เอาป้ายนี้มาติดบ้านแล้วกูรวยคือดีมาก หรือเห็นคนมีรอยสัก สูบบุหรี่ กินเหล้า แล้วบอกไม่ดี เกี่ยวกันหรอ มันไม่ใช่ หรือเป็นเรื่องปริมาณไปเลยก็มี ทำมากได้บุญมาก ดีชั่วที่นี่จึงกลายเป็นแค่เรื่องการตลาด 

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นคุณใช้ชีวิตอย่างไรให้รู้สึกถึงคุณค่าขณะมีชีวิต โดยไม่ต้องกังวลถึงอนาคต อดีต หรือความดีชั่วหลังความตาย

     (นิ่งคิด) เราตอบได้ในประสบการณ์ของเรา แต่เราไม่สามารถตอบได้ในการวิเคราะห์สังคมหรือคนอื่น ตอนที่เราตัดสินใจทำงานด้านการเล่าเรื่อง มันคือเป้าหมายที่เติมเต็มเรา เรามีความสุขเมื่อพบว่าเจอสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งคนอื่นๆ ก็น่าจะมีจุดนี้ คือมีเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง แล้วก็ต้องตั้งใจใช้ชีวิตให้ส่งเสริมกับเป้าหมาย และที่สำคัญคือต้องพักผ่อน

     ประเทศอิตาลี น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เขาให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมาก มีอยู่ในรากฐานที่ว่าเมื่อทำงานถึงระดับหนึ่งต้องพักผ่อน มีกฎหมายสนับสนุนให้คนทำงานไปเที่ยว บางบริษัทพักเที่ยง 2 ชั่วโมงเพื่อให้กลับไปกินข้าวที่บ้านได้ เป็นวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตมาก นี่คือคุณภาพชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านี้ ไม่ต้องเสร่อทำอะไรให้เยอะแยะชีวิต แค่ให้ใช้เวลาได้เต็มที่ เพราะเวลามันไปแล้วไปเลย เป็นสิ่งที่มีจำกัด

     แล้วที่นี่ล่ะ เราให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตกันยังไงบ้าง เพราะสุดท้ายมันคือตัวเราที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ยังไง สิ่งที่เราทำดูเอาแต่ใจตัวเองไปหน่อย เราจากอังกฤษมาอยู่กรุงเทพฯ ตัวคนเดียว ก็รอดมาได้นะ (หัวเราะ) แต่เราไม่เห็นด้วยเวลาใครก็ตามบอกว่าอยากทำก็ทำเลยไม่ต้องกลัว ซึ่งมันไม่มีทางเวิร์กกับทุกคน แต่ละคนมีเงื่อนไขบางอย่าง เราไม่สามารถจะไปบอกคนอื่นได้เหมือนโฆษณาชวนเชื่อว่าให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิต มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ไม่มีเวลาไปใช้ชีวิตหรอก แต่ยังไงก็ตาม คนเราควรให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต การกิน การอยู่ มากเท่ากับการทำงาน

     ที่นี่ไม่ได้เน้นอุดมการณ์แบบนี้ด้วยหรือเปล่า แทบจะไม่มีเลย นอกจากออกกำลังกาย เล่นกีฬา นั่งสมาธิ ทำบุญ เข้าวัดแล้วชีวิตจะดีขึ้นเอง เราคิดว่าก็ดีนะแต่มันไม่พอ พอไม่มีอุดมการณ์นี้ เราเลยรู้สึกว่ายากสำหรับคนที่นี่ เพราะแค่ดูสภาพแวดล้อมก็ฟ้องแล้วว่าไม่ค่อยใส่ใจต่อการใช้ชีวิตกัน มันไม่ได้อยู่ในความคิดหรือดีเอ็นเอด้วยซ้ำ ขับรถไม่ใส่หมวกกันน็อก ขับขี่สวนเลนถนน ไม่อยากมีชีวิตอยู่กันเหรอ หยุดยาวทีก็ตายกันฉิบหายวายวอด ช่วงเทศกาลสังสรรค์แต่กลับมีคนตายปีละเป็นร้อยๆ เราไม่เข้าใจ ทำไมคนที่นี่เลือกใช้ชีวิตเสี่ยงๆ เมื่อถึงวัยนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือความใส่ใจในการใช้ชีวิต การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งแต่ละคนต้องค้นหาเอง

 

ความเป็นผู้ใหญ่คือการมีอำนาจที่พยายามสั่งสอนคนที่เด็กกว่า เพียงเพราะอายุที่มากกว่าทำให้คิดว่าตัวเองย่อมรู้ดีกว่า คุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

     ผู้ใหญ่หลายคนเสียความเป็นเด็กไปแล้ว เราว่าถึงเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องตัดความเป็นเด็กออกไปจากตัวเอง หลายคนชอบพูดว่าโตแล้วจะไม่ได้กลับไปเป็นเด็กอีก ไม่ มึงยังเป็นเด็กได้อยู่ เพราะการมีวัยเยาว์ในตัวทำให้เราไม่แก่ ข้างนอกอาจจะแก่ลงก็จริงแต่ข้างในมีพลังอยู่ ซึ่งมันเป็นความขัดแย้งอย่างหนึ่ง เวลาเห็นผู้ใหญ่ที่ไม่เคยแก่ลงเลย เราจะทึ่งคนแบบนี้มาก เขาไม่ได้วางตัวเป็นผู้ใหญ่เคร่งขรึม เขาเป็นแค่คนคนหนึ่งที่เรียนรู้มาเยอะ แต่ผู้ใหญ่บางคนที่ทำตัวเป็นผู้ใหญ้ ผู้ใหญ่ (เน้นเสียง) ทำตัวอาวุโส พยายามพูดหรือแสดงออกให้เด็กเคารพ คนแบบนี้คือแก่จริงๆ แก่แล้วแก่เลย

     จริงๆ ทุกคนมีความเยาว์อยู่ในตัว เพียงแค่เราลาจากหรือตัดขาดมันออกไป วัยเด็กสบายกว่าในเชิงการใช้ชีวิต ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องพยายาม มีคนดูแล การเป็นผู้ใหญ่แม่งยากกว่าเยอะ ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าถูกใจ (หัวเราะ) เพราะเรามีความสุขกับความเยาว์ในตัวเอง เลยมาทำละครเวที เพราะละครมอบพลังและความรู้สึกนั้นได้ เราได้เล่น ได้แสดง ได้ทำให้คนมีความสุข ปรบมือ หัวเราะ การเล่นทำให้เรารักษาความเยาว์ไว้ในตัว

 

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

ภาพรวมของสังคมโซเชียลตอนนี้ ดูเหมือนว่ากำลังโหยหาคนสักคนหรือคำคมเท่ๆ มาเป็นไลฟ์โค้ชให้นำทางชีวิต คุณคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้สะท้อนถึงอะไร ใช่การไร้ความเชื่อมั่นในตัวเองหรือเปล่า

     ไอเดียนี้มาจากความเป็นปัจเจกหรือ individual ซึ่งที่นี่ไม่มีเท่าไร ถ้ามีก็เป็นไอดอล เป็นดารา เหตุที่คนต้องการไลฟ์โค้ชเพราะขาดความมั่นคง อย่างเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่เกือบพันคนตามคำบัญชาของ จิม โจนส์ ในปี ค.ศ. 1978 ที่ประเทศกายอานา เขาให้ทุกคนกินน้ำผลไม้ผสมไซยาไนด์ เพราะคิดว่าตายไปแล้วจะมีพระเจ้ามารับพวกเขาไปใช้ชีวิตชั่วนิรันดร์ในอีกมิติ ซึ่งเรื่องลัทธิและความเชื่อแบบนี้มีเยอะมาก ก็แล้วแต่รสนิยมว่าคุณเชื่ออะไร เมื่อใครสักคนพูดคีย์เวิร์ดที่สะกิดต่อมคุณได้ หรือตอนนั้นคุณอาจรู้สึกเคว้งอยู่ แล้วสิ่งนั้นมันเกี่ยวคุณไว้ได้ คุณก็เชื่อเขาแล้ว

     กลับมาที่บ้านเราก็ไม่ต่างกัน แต่ที่นี่ขาดความเป็นปัจเจกตั้งแต่เด็กๆ แล้วเรายังถูกย้ำซ้ำๆ ว่า You are nobody. อย่าเงยหัวขึ้นมา ทำตัวให้เป็นระเบียบ ทำตัวเป็นคนดี ซึ่งการเป็นคนดีทำให้ไม่ได้เปิดใจให้รับสิ่งอื่นๆ ในชีวิต คนเราต้องรู้จักความชั่วสิ จะได้รู้ว่าอะไรคือดี ถ้าคุณไม่โดนทำร้าย คุณก็จะไม่รู้ว่าความดีคืออะไร

     เราไม่ได้มีอคติกับวลีสั้นๆ หรือคีย์เวิร์ดโดนๆ เราคิดว่าคนที่คิดได้เขียนได้แม่งฉลาด (หัวเราะ) อย่าไปโทษคนขาย มองคนซื้อดีกว่า แล้วมันก็มีตลาดสำหรับสิ่งนี้ด้วยจะให้ทำไงได้ เป็นหลักอุปสงค์อุปทาน จริงๆ การมีไลฟ์โค้ช ทำให้เราสงสัยว่าอินเทอร์เน็ตที่นี่ก็มี แสดงว่าหนังสือ หนัง วรรณกรรมบ้านเราไม่ได้ส่งเสริมให้คนเปิดกว้างพอ เพราะไลฟ์โค้ชหลายคนก็ไม่ได้คิดเอง เอามาจากสิ่งที่อ่านกันทั้งนั้น ปรัชญาตะวันตกบ้าง ตะวันออกบ้าง เปลี่ยน สลับ ยำกันจนเป็นข้อมูลมือสองแล้วค่อยเอามาพูดให้กับคนที่ต้องการความหวัง ซึ่งมันไม่ได้ผิด เพราะเรามองเป็นความขาดแคลนในปัจเจก และคนเรามันยืนหยัดด้วยตัวเองไม่ได้ จะว่าไป ไลฟ์โค้ช สองคำนี้อยู่ด้วยกันก็ประหลาดแล้ว คือชีวิตมึงยากมากขนาดที่ต้องมีคนมาโค้ชเลยหรอ ให้หายใจเข้า หายใจออก กิน ขี้ วันนี้ผมโดนเจ้านายด่ามา ไม่เป็นไรนะ ไม่เป็นไร เอาจริงดิ

 

แล้วอะไรคือสิ่งที่จะสามารถสั่งสอนชีวิตให้เรียนรู้และเติบโตได้

     (ตอบทันที) ความเจ็บปวด ความผิดหวัง ความไม่ยุติธรรม ความขัดแย้ง ดราม่า สิ่งเหล่านี้จะสั่งสอนเรา อย่าหลีกเลี่ยงมัน เพราะจะทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น อดทนกับคนมากขึ้น เด็กที่โตมาแล้วไม่เคยเจอปัญหาอะไรเลย เขาจะดีลกับคนอื่นได้ยากเพราะเขาไม่มี empathy ไม่รู้ว่าเดือดร้อนคืออะไร ความทุกข์คืออะไร เพราะกูสบาย เกิดมามีพร้อมทุกอย่าง ไม่ต้องขวนขวายอะไรแล้ว เพราะฉะนั้น เราจะทึ่งกับคนที่ทำงานหนักเพื่อให้ได้บางสิ่งบางอย่างมา อะไรที่เป็นอุปสรรคนี่แหละที่จะทำให้คนแข็งแรงและเติบโต ทุกอย่างในชีวิตมันคือการเรียนรู้ เมื่อเกิดอะไรแย่ๆ ขึ้นในชีวิตแล้วคุณไม่ได้เรียนรู้เลย นั่นแปลว่าคุณเจ็บฟรี

 

สำหรับคุณอะไรคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการมีชีวิต

     มนุษย์คนอื่นคือสิ่งที่น่ากลัว มนุษย์ที่ไม่ต่อคิว มนุษย์ที่ไม่มี empathy มนุษย์ที่หากินกับความอ่อนแอของคนอื่น มนุษย์ที่… มันเยอะมาก เสือดำในป่ามันไม่ตายเองหรอก มนุษย์ก็เข้าไปหาเรื่อง ในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก นอกจากมนุษย์ด้วยกันเอง ภัยพิบัติก็คือภัยพิบัติ เป็นธรรมชาติ การตกงาน หมดแพสชัน มันยิบย่อยมากถ้าเทียบกับมนุษย์คนอื่น แต่ด้วยปรัชญาพุทธศาสนา ทำให้เรารู้สึกว่ากลัวไปก็เท่านั้น เพราะเราทำอะไรไม่ได้

 

อะไรคือความน่าเชื่อถือที่สุดในความเป็นมนุษย์

     การกระทำ พูดเยอะไม่มีความหมายอะไร การฟังไลฟ์โค้ชพูดโน่นนั่นนี่ หรือการที่เรามัวแต่พูดกับตัวเองก็ไม่มีความหมายเท่ากับการกระทำ เพราะสุดท้ายทุกอย่างต้องลงมือทำให้มันเกิดขึ้น การกระทำของคนเรามันฟ้องทุกอย่างอยู่แล้ว

 

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่บ่อนทำลายความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุด

     คิดว่าขนาดไม่ต้องทำอะไรมาก เราก็ถูกทำลายอยู่แล้วนะ การเป็นมนุษย์มันก็ยากในระดับหนึ่ง ถ้าเราไม่กิน ไม่นอน ไม่ตื่น ไม่ออกกำลังกาย การไม่พยายามทำอะไร นั่นก็คือการทำลายเราแล้ว การที่เราตัดสินไม่ได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก หรือการที่แยกแยะไม่ได้ การที่ไม่วิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้แหละจะทำลายเรา

 

เชื่อไหมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ

     ก็น่าจะใช่นะ แต่ก็ไม่ทุกคนเนอะ คงไม่ใช่ทุกคน บางคนเกิดมาแล้วคิดว่าการเป็นคนเป็นสิ่งตาย แล้วมองข้ามมันไป ทั้งๆ ที่มนุษย์ทำอะไรได้ตั้งเยอะแต่กลับไม่ทำอะไร เราว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐในเชิงที่เกิดมาแล้วสมประกอบ นั่นก็เป็นพรประเสริฐแล้วนะที่ได้มา แต่ก็อย่างที่ว่า พอรู้สึกว่าเป็นสิ่งตาย ก็ใช้ชีวิตไปไม่ทำอะไร แต่ชีวิตมันทำได้เยอะมาก การมอบความสุขให้คนอื่น การมีเป้าหมาย ย่อมสร้างคุณค่าให้กับชีวิตได้

 

การทำละครทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขี้นไหม

     ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะว่าการแสดงมอบความสุขและความหยั่งรู้หรือ awareness ให้กับตัวเรามากขึ้น แล้วการแสดงก็ยกจิตใจคนให้สูงขึ้นด้วย การแสดงคือการบำบัด เพราะในชีวิตจริงคนเราไม่จริง แต่บนเวทีคนเราอะจริง อย่างน้อยในงานของเราก็เป็นแบบนั้น เราไม่ได้ขึ้นไปแสดงหรือเล่าเรื่องอะไรบางอย่างที่ตบตาคนหรือเรื่องที่มันเกินเลยชีวิตจริง เนื้อหาละครจะร่วมสมัยกับชีวิตคนทั่วไป

     เราคิดว่าชีวิตจริงของพวกเรานั้นไม่จริง เพราะเราวางตัวใส่กัน เราวางบทพูดกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีคีย์เวิร์ดที่ต้องพูดและห้ามพูด ปฏิบัติกับคนไม่เหมือนกัน น้ำเสียงไม่เท่ากัน แล้วเราก็หาจุดเชื่อมโยงไม่ได้ด้วยว่าอะไรคือความเป็นกลาง ความปัจเจกมันไม่มี มันน้อย อาจจะเป็นเฉพาะตอนหนุ่มสาวก็ได้ พอโตขึ้นแล้วก็จะไม่วางตัว แต่อาศัยที่ความอายุมากกว่าไว้คอยเอาเปรียบ กูแก่กว่ามึงกูเลยแสดงแบบนี้ได้ มึงแสดงไม่ได้ เพราะมึงเด็กกว่า มึงต้องกดหน้า มึงต้องไหว้กู ที่นี่เป็นแบบนี้ แต่ที่อังกฤษไม่เป็น เราจึงไม่ปฏิบัติกับคนด้วยอะไรแบบนี้ เราสังเกตเห็นว่าทุกคนที่เราเจอก็แสดงกันหมด แสดงทุกวัน ขายของก็ต้องแสดงให้คนมาซื้อ เจอด่านก็ต้องแสดงเพราะไม่อยากโดนปรับ แถลงข่าวก็แสดง วันศุกร์สองทุ่มก็ต้องแสดง รัฐบาลก็ออกมาเล่นละครอยู่ประจำ อ่านบท ท่องบท จำไม่ได้ด้วย ก่อนเลือกตั้งก็ยกคณะแห่กันมาเร่แสดงให้คนดู ตามแคว้นต่างๆ ให้เราซื้อของเขา แต่บนเวทีของเรานั่นอะจริง จริงคือเราพูดและหยิบบางบริบทของสังคมมาเล่น

 

แสดงว่าในความเป็นมนุษย์ไม่มีความสมบูรณ์แบบ

     ไม่มีหรอก ทุกคนมีจุดด่าง มีปมที่ต้องพยายามต่อสู้ไปวันๆ เคยเชื่อและมีความคิดว่าอยากเจอไอดอลของตัวเอง แต่ก็ผิดหวัง เพราะภาพของไอดอลที่เราเลือกเอามาตั้งในหัวมันสมบูรณ์แบบแล้ว แต่พอเจอตัวจริง มันไม่เป็นแบบนั้น เหี้ย! ไม่ใช่ว่ะ (แค่นหัวเราะ) ก็ผิดหวัง เสียเซลฟ์เลย แล้วไอดอลแม่ง ass hole  มาก (หัวเราะลั่น) แสดงว่าคนเราก็ต้องเหี้ยบ้าง ใครมันจะดีได้ตลอดเวลา เลยไม่แน่ใจว่าความสมบูรณ์แบบมีจริงหรือเปล่า เรามักจะไม่เชื่อในสิ่งนี้ เพราะชีวิตไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

สุดท้ายแล้วคุณเชื่อในสิ่งไหน

     เชื่อในคนปากหมา เชื่อในคนที่ทำตัวนิสัยเสีย เพราะว่าเขาสัตย์ซื่อกับความเหี้ยของเขาต่อหน้าคนอื่น โดยที่เขาไม่เอาใจใครเลย เขาเป็นตัวของตัวเองที่สุด เราไม่ไว้ใจคนที่สมบูรณ์แบบ เพราะมันไม่น่าเป็นจริงได้ พอเห็นข่าวผู้หญิงเจอผู้ชายรวยร้อยล้าน ชีวิตดี สมบูรณ์แบบมาขอแต่งงาน เราจะทึ่งเรื่องแบบนี้มาก เพราะว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นจริง อย่างที่บอกชีวิตมันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ สุดท้ายก็เลิก ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ คนเรามันเติบโตไปในทิศทางของตนที่แตกต่างกันไป แล้วความสมบูรณ์แบบนี้แหละมักจะทำลายคน โดยเฉพาะคนที่พยายามตามหามัน

 


The Cult of Monte Cristo

นพพันธ์ บุญใหญ่

 

     จากละครเวทีสู่นวนิยายที่จะหลอนไปจนถึงสามัญสำนึก ณ โรงเรียนคาทอลิกลึกลับกลางป่าที่ซึ่งเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยมีเด็กสาวห้าคน มาเซอร์สาวหนึ่งคน ศพหนึ่งศพ และศรัทธาอันบ้าคลั่งโยงใยร้อยรัดทุกคนเข้าด้วยกัน แล้วเสถียรผู้มาเยือนในฐานะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของศิลปะ (ทั้งที่เขาจบวิศวะมา) จากรัฐตัวคนเดียวจะทำอะไรได้ แถมยังเอาตัวไม่ค่อยรอดจากฤทธิ์สุรายาเมาด้วยซ้ำ ทว่าอะไรบางอย่างกำลังพุ่งเข้ามาจากกาแล็กซีอันห่างไกล และมันอาจมาเพื่อปลุกความหมายของทุกชีวิตทั้งชีวิต

     *คำเตือน* นวนิยายเรื่องนี้อาจมีเนื้อหาและภาษาไม่เหมาะกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี