นภพัฒน์จักษ์

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ | คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังกระโจนเข้าไปในสมรภูมิข่าวสารยุคดิจิตอล

ช่วงสองสามปีมานี้ เราเข้าสู่ยุคที่สื่อต่างๆ มองเห็นโลกออนไลน์เป็นสนามแห่งใหม่ที่ทุกเจ้าจะต้องเร่งเข้าไปจับจองพื้นที่ แต่มันก็เป็นยุคเดียวกันกับที่โนติฟิเคชันในโซเชียลมีเดียบนฝ่ามือเรากลับยั่วยวนใจกว่าเบรกกิ้งนิวส์ที่เคยคุ้นกันในสื่อเดิม เมื่อเนื้อหาข่าวที่เคยสลักสำคัญทั้งข่าวเศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม ต่างประเทศ ฯลฯ ได้ละลายไหลรวมไปกับเรื่องชวนคลิกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชันบินโลว์คอสต์ต่างประเทศ แฟชั่นลดราคาเซตใหม่ แถมยังมีคลิปแมวขี้วีนให้ต้องดูจนจบ

ภายใต้การกำหนดของเทคโนโลยี โลกเปลี่ยน การรับรู้เปลี่ยน และส่งผลมาทำให้ตัวเราทุกคนเปลี่ยน ทั้งวงจรธุรกิจสื่อและเทรนด์ข่าวสารพัดไหลเวียนไปตามเทคโนโลยีกำหนด การ ‘ถูกมองเห็น’ กลายเป็นโจทย์สำคัญของการทำสื่อ มันจึงส่งผลสะเทือนไปถึงการทำข่าวให้ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับสำนักข่าว ‘เวิร์คพอยท์นิวส์’ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงกลุ่มหนึ่งกำลังกระโจนเข้าไปในสมรภูมิข่าวสาร พวกเขาอยากพิสูจน์ตัวเอง และอยากจะยืนยันว่าวลี Content is the King ยังใช้งานได้ และเริ่มสร้างทีมข่าวออนไลน์มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2560 เราจึงไม่พลาดที่จะพูดคุยกับหนึ่งในเบื้องหลังคนสำคัญคือ ‘เอม’ – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ ถึงความท้าทายของการทำข่าวในยุคดิจิตอล

นภพัฒน์จักษ์

 

คุณว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีส่งผลต่อความคิดความเห็นของผู้คนอย่างไร

     การเข้ามาของเทคโนโลยีให้ผลดีมากๆ คนเข้าถึงข้อมูล มองในมุมคนทำสื่อนะ สมมติอย่างเรื่อง LGBT ถ้าเราอยู่ในยุคทีวี เราไม่รู้ว่าคนอื่นๆ คิดอะไร คอมเมนต์ยังไง เราก็ไม่กล้าดันประเด็นนี้ไปให้สุด คือเทคโนโลยีก็ช่วยให้คนออกมาสื่อสารกันได้ ช่วยขยับสังคมไปได้เยอะมาก ถ้ายังอยู่ในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยี เราก็ไม่กล้าทักท้วงว่าเรื่องบ้านพักศาล ศาลทำผิดนะ งานบางชิ้นเราก็นำเสนอไป เพื่อแค่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาแสดงความเห็น ซึ่งหลายคนอาจจะมองข้ามไปว่านี่คือคุณูปการของเทคโนโลยี

 

เคยรู้สึกหรือเปล่าว่าเสรีภาพบวกเทคโนโลยีมันออกมาเป็นพลังลบ

     ไม่เลย เราแฮปปี้กับโลกที่เละๆ แบบนี้ เรางงกับคนที่มองว่ายุคก่อนดีกว่า ยุคที่มีแค่ทีวี 6 ช่อง แล้วไม่มีอินเทอร์เน็ตเลยเนี่ย ไม่รู้ว่าเขาโหยหาอะไร มันดีกว่าตอนนี้มากมายเหรอ สมมติคุณบอกสื่อออนไลน์ยุคนี้แม่งแย่ ซึ่งเราไม่รู้ไง เราก็ไม่ทันได้ทำงานในยุคที่มีทีวี 6 ช่อง แต่ว่าเราไม่ค่อยซื้อเวลาคนพูดว่าสื่อยุคนี้แย่ มันง่ายไป ถ้าจะเถียงกันก็ขอเหตุผลอะไรแบบที่จับต้องได้ชัดๆ หน่อยว่าสื่อยุคก่อนมันดีกว่าตรงไหน

 

ก็ทำไมมีเสรีภาพในการสื่อสารมากขนาดนี้ แต่ว่าเผด็จการก็ยังอยู่ได้ล่ะ

     คุณตั้งคำถามผิดหรือเปล่า อืม… เราไม่รู้ว่า มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะต้องการประชาธิปไตยอยู่แล้วหรือเปล่า คนเราเกิดมาก็ต้องการปัจจัย 4 ก่อนหรือเปล่า ซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่ปัจจัย 4

 

เดี๋ยวเราจะเอาประโยคนี้ไปทำโควต โพสต์ในเฟซบุ๊ก

     (หัวเราะ) แล้วคนก็จะอ่านแค่ 2 บรรทัดนั้น แล้วก็เข้าใจเราผิดในทันทีใช่ไหม

     ขออธิบายเสริมว่ามันอาจจะเป็นแบบนั้น แต่มันก็พิสูจน์แล้วว่าประชาธิปไตยช่วยให้การทำมาค้าขายดีขึ้น พอผู้คนกินอยู่ดีขึ้น มันก็กลับมาที่เรื่องความคิดความอ่านเรื่องประชาธิปไตย และอีกอย่าง คุณต้องไม่ลืมว่าฝั่งเผด็จการเขาก็ใช้เสรีภาพตรงนี้เป็นเครื่องมือของเขาเหมือนกัน เสรีภาพ เทคโนโลยี และโลกออนไลน์มันไม่ใช่อาวุธแค่ฝั่งประชาธิปไตย มันเป็นอาวุธกลางที่ทุกคนก็เอามาใช้ได้หมด อยู่ที่ว่าใครจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า

 

นภพัฒน์จักษ์

 

การที่เผด็จการยังอยู่ได้ยาวนานถึงขนาดนี้ มันเป็นเพราะว่าสื่อออนไลน์เอาข่าวมาทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ทำให้คนเข้าถึงง่าย เรียกยอดไลก์ยอดแชร์ได้ง่าย แต่มันเป็นดีกรีที่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนแม้ทีวีจะมีอยู่แค่ 6 ช่อง แต่มันหมัดหนักแล้วก็จบไปเลย ขณะที่ออนไลน์มันยิงคอนเทนต์แบบเหลาะแหละหรือเปล่า

     มันไม่เกี่ยวกับสื่อ มันเกี่ยวกับตัวบุคคลมากกว่า ถ้าคุณจะหมายถึงกรณีเรื่องนาฬิกาหรู ถ้าเป็นนักการเมืองปกติคนอื่นๆ ผมว่าเขาต้องลาออกไปแล้ว คือมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นยุคทีวีหรือเป็นยุคออนไลน์ แล้วเอาเขามาทำตัวตลกหรืออะไรอย่างที่คุณว่า แต่นี่คือเคสพิเศษจริงๆ ที่คนคนนี้เขาเชื่อว่าเขาอยู่ต่อไปได้ แล้วสำหรับคนไทยเรา นี่ก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่พอใจถึงขนาดลุกฮือ แล้วตอนนี้มันก็อยู่ในบรรยากาศที่ก็ชุมนุมเกิน 5 คนไม่ได้ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความอาจหาญมากๆ

 

อย่างกรณี Arab Spring ผู้คนใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกันจนรวมพลังประท้วง แต่ต่อมาเผด็จการทหารก็วนเวียนกลับมา เป็นตัวพิสูจน์ว่า ลำพังเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และการแสดงความเห็นออนไลน์ ไม่ช่วยให้เกิดประชาธิปไตยได้จริง

     เราว่านั่นมันโจทย์ใหญ่มากนะ มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนระบอบการปกครอง เปลี่ยนผู้นำของระบบเลย ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียวแล้ว มันเป็นเรื่องสังคม วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมที่เขามีกันมานาน แต่เราว่าถ้าพูดถึงเรื่องเล็กๆ ที่เราพอจะขับเคลื่อนไปกันได้ เทคโนโลยีมันช่วยได้แน่นอน ค่อยๆ ช่วยขับไปได้ เรื่องเล็กๆ อย่างเช่น ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ควรยืนพิงเสา คนเห็นก็โพสต์แล้วด่ากัน อันนี้คือเล็กมากๆ แต่มันเป็นเรื่องเล็กในโครงสร้างใหญ่ เช่น เราเดาว่าอีกไม่เกิน 5 ปี เด็กนักเรียนอาจจะไว้ผมยาวได้ อะไรอย่างนี้ ซึ่งไม่น้อยที่มันมาจากเทคโนโลยี

 

คลิปหนึ่งใน TED Talks ของ วาเอล โกนิม ที่พูดเรื่องสถานการณ์การเมืองที่อียิปต์ มันพอเป็นบทเรียนให้ไทยได้ไหมว่า การเสพข่าวการเมืองในโซเชียลมีเดียเยอะๆ นอกจากจะเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้ว ยังไม่ช่วยป้องกันอำนาจจากเผด็จการได้ คุณมองเรื่องนี้ว่ายังไง

     มันมีมุมที่น่ากลัวว่าจะเป็นแบบอียิปต์ และมีมุมที่ต่าง มุมที่น่ากลัวคือ คนไทยคุ้นชินกับการบูชาบุคคล พึ่งพาวีรบุรุษ หวังว่าจะมีใครคนหนึ่งขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาร้อยแปดที่มีในสังคม มากกว่าที่จะเชื่อมั่นในตนเอง มากกว่าเชื่อมั่นในระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเท่าเทียมกัน ซึ่งภาวะบูชาบุคคลนี้น่ากลัวเสมอ ถ้าดันมีผู้นำที่จะพาเราไปสู่ความแตกแยกก็จะฉิบหายได้

     ส่วนมุมที่ต่างและน่าจะทำให้เราเบาใจได้ลงว่าไทยจะไม่เกิดสงครามกลางเมืองคือ สังคมไทยยังยึดโยงกันด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่มาก แถมความแตกต่างทางความคิดไม่น้อยก็เกิดจากคนเจเนอเรชันที่ต่างกัน ซึ่งภาพนี้ทำให้การปะทะกันเกิดได้ยากขึ้น

     ถ้าว่ากันด้วยเรื่องโซเชียลมีเดียล้วนๆ มันมีภาวะ Tunnel Vision (ทัศนวิสัยอุโมงค์) จริงๆ แต่ในฐานะผู้ผลิตสื่อ เราเคยนำเสนองานที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความแตกแยก และสุดท้ายเราก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอย่างที่บอก คนเสพเขาฉลาดนะ เขามองออก ส่วนเรื่อง Tunnel Vision มันออกแนวต่างเสพ ต่างแยกย้ายกันไปสบายใจมากกว่า ถึงเวลาก็ไม่ค่อยจะปะทะกันจริงๆ เท่าไหร่

     โดยพื้นฐานสังคมไทยแล้วเราแลกเปลี่ยนกันทางความคิดและข้อมูลกันน้อยไปด้วยซ้ำ โซเชียลมีเดียอาจจะเข้ามาเติมพอดี แต่ถ้าวันหนึ่งมันเริ่มถึงจุดที่เลยเถิด ก็คงต้องกลับมาคุยกันใหม่

 

นภพัฒน์จักษ์

 

ตอนที่ไปเรียนต่อแล้วคิดว่าจะกลับมาทำทีวี แต่ว่าพอกลับมาเมืองไทยแล้ว รายการข่าวทีวีมันค่อยๆ หายไป รู้สึกเหมือนนั่งไทม์แมชชีนไปอนาคตอีกร้อยปีเลยไหม

     ตรงข้ามกันเลย คือเราไปอยู่ในโลกที่เหมือน 100 ปีข้างหน้ามากกว่า พอกลับมาที่นี่รู้สึกเหมือนยังอยู่ใต้บาดาล แปลกใจว่า อ้าว เฮ้ย มึงเหมือนเดิมเลยเหรอ นี่ก็เบื่อเหมือนกัน เหมือนเรากำลังจะลืมสิ่งที่เรา appreciate คือพอไปอยู่นู่น เราก็จะ appreciate สิ่งที่เขามี ซึ่งพอกลับมาใหม่ๆ ก็จะลืมไปว่าเราเคย appreciate อะไร สำหรับเราที่เคยสนุกกับเพื่อน นั่งรถไฟ อ่านหนังสือ ดูวิวทิวทัศน์ข้างทาง แล้วมันสวยไง แต่อยู่ที่นี่ มีแต่รถ มีแต่ตึกเก่าๆ อะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราค่อยๆ ลืม

     พอเรียนจบกลับมา เราก็เบื่อมากกับการทำงานอ่านข่าว แล้วก็ต้องอ่านแต่ข่าวที่เราไม่เชื่อ ต้องตื่นเช้ามาอ่านข่าวนกแปดหัว ตอนกลับมาแรกๆ ก็กลัวว่าต้องกลับไปทำอย่างนั้นอีก เลยพยายามเลี่ยงอยู่ ถ้าเกิดตอนนั้นเลือกที่จะอ่านข่าว ก็คงต้องเสียเวลาชีวิตนี้ไปสามเดือนกับข่าวหวยสามสิบล้าน ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอนจอยได้สามเดือนแน่ๆ

 

ในฐานะบรรณาธิการข่าว งานที่ทำตอนนี้คือจุดสูงสุดในสายงานข่าวในเมืองไทยแล้วหรือยัง

     ถ้าอยู่เมืองไทยก็คือเวิร์คพอยท์เท่านั้น สิ่งที่ทำให้ไปทำที่อื่นก็ต้องไประดับต่างประเทศ เราคิดว่าเราอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ด้วยดีเอ็นเอขององค์กรกับโอกาสที่เรามีตอนนี้

นภพัฒน์จักษ์

 

ในการประชุมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ อาคารยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ตอบคำถามสื่อมวลชนและผู้สนใจ นี่คือส่วนหนึ่งที่เขาตอบโต้กับ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ และทีมข่าวออนไลน์เวิร์คพอยท์นิวส์

 

คุณเคยพูดว่าอยากจะชวนสื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทร่วมกันมากกว่านี้ อยากรู้ความเห็นของคุณว่าที่ผ่านมามีอะไรที่คิดว่าสื่อยังทำหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม

     พูดชัดๆ นะครับ วิชาชีพสื่อมีความสำคัญใหญ่หลวงต่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะสังคมไหนๆ ในโลก ถ้าสื่อมวลชนไม่กล้ายืนยันในสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพของตัวเอง ประชาธิปไตยก็จะพัง พังมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น เราจึงอยากเชิญชวนคนทำงานสื่อมวลชนให้หันกลับมาดูรากเหง้าของความเป็นสื่อว่ามันสำคัญอย่างไร มันต้องมีหน้าที่อะไรต่อการสร้างประชาธิปไตยในสังคม

 


เรื่อง: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ภาพ: พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์