นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ | บทเรียนแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวจากคนทำสื่อยุคดิจิตอล

a day BULLETIN จับตาดู ‘เอม’ – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากผู้เขียนหนังสือ ‘เกิดเป็นนักข่าวต้องใส่รองเท้าที่วิ่งได้’ ปัจจุบันเขาสวมหมวกเป็นบรรณาธิการข่าวออนไลน์ เวิร์คพอยท์นิวส์ หลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านสื่อที่สหราชอาณาจักร ก็กลับเมืองไทยและปวดหัวกับงานใหม่ว่าจะเคาะโจทย์ออนไลน์ให้กับที่นี่อย่างไร

เราได้เห็นถึงความสำเร็จ ความผิดพลาด เสียงชื่นชม และคำประณามด่าทอ เรารู้ว่าเขากำลังดิ้นรนปรับตัวเพื่อค้นหาแนวทางและความเป็นตัวของตัวเอง บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นการจับมือกันของคนหนุ่มสาวจากทีม a day BULLETIN x The MOMENTUM x Workpoint News x @addcandid พวกเราและทีมเวิร์คพอยท์นิวส์ไปร่วมงานเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่

เอมและทีมงานวิ่งตามสัมภาษณ์หัวหน้าและเลขาธิการพรรค ส่วนพวกเรา a day BULLETIN พร้อมกับ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหาร The MOMENTUM และ พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ ช่างภาพในนาม @addcandid ก็ไปวิ่งตามเอมที่กำลังวิ่งตามแหล่งข่าว เพื่อทำบทสัมภาษณ์และภาพถ่ายเชิงสารคดีชุดนี้มาอีกที

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีกำหนดทุกสิ่ง เมื่อสื่อเปลี่ยน ข่าวเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เอม นภพัฒน์จักษ์ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บทเรียนทั้งสำเร็จและล้มเหลวของเขาน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับพวกเราในฐานะคนทำสื่อยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

นภพัฒน์จักษ์

 

จากนักข่าวเจนสนามที่เมืองไทย พอไปเรียน International Journalism ที่ City University สหราชอาณาจักร ตอนนั้นพบเจออะไรบ้าง

     ก็ถือว่าเราได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนสักที เพราะไม่เคยเรียนด้านสื่อมาก่อน เราเรียนด้านธุรกิจมา เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กๆ ทั้งชีวิตเป็นคนไม่ตั้งใจเรียนเลย ไม่เคยเตรียมตัวกับการเรียน แต่พอได้ไปเรียนตรงสายกับสิ่งที่สนใจจริงๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่ถ้ามีคลาสเรียนเก้าโมง ก็จะไปนั่งรอตั้งแต่แปดโมงครึ่ง แถมอ่านหนังสือเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน แล้วก็สนุกแบบสนุกมากๆ เป็นโลกที่เราแฮปปี้ โลกที่เราได้เรียนรู้จริงๆ

 

ตอนที่เรียน ได้ไปฝึกงานสื่อดั้งเดิม ทั้งหนังสือพิมพ์ The Independent และสถานีโทรทัศน์ BBC สองสื่อนี้เขาก็ถูก Digital Disruption ด้วยใช่ไหม และพวกเขาเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างไร

     มีที่ The Independent นี่แหละที่ชัดมาก เราไปฝึกเดือนธันวาคม แล้วเขาก็ปิดหนังสือพิมพ์ตอนเดือนมีนาคม อย่างนี้เลยนะ (หัวเราะ) ตอนที่ไปฝึกงาน สตาฟฟ์ทุกคนก็บ่นให้ได้ยินว่าเหนื่อยมาก ไม่ไหวแล้ว คือเขาต้องเขียนข่าวจำนวนเยอะมากในแต่ละวัน แล้วก็ต้องเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สิ่งพิมพ์มันปิดตัว งานถึงจะเริ่มเบาลง คือทีมงานต้องทำเนื้อหาให้ทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ประคองไว้ให้มันดูไม่น่าเกลียด นี่ขนาด The Independent ที่เราดูจากภายนอกว่าดูดี มันก็ทำให้ได้เข้าใจนะ หนังสือพิมพ์อังกฤษที่เราดูแล้วเนื้อมันแน่นๆ ก็ทำกันอยู่แค่สิบคนนั่นแหละ บางคนวันหนึ่งเขียนหกข่าว ทั้งหกข่าวนี้คือเขียนใหม่ขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่รีไรต์แบบในบ้านเรา เราเห็นแล้วก็แบบ โอ้โฮ ก็เข้าใจการทำงานของสื่อต่างประเทศมากขึ้น เห็นภาพมากขึ้น

 

เมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทย คุณย้ายสายจากงานทีวีเปลี่ยนมาเป็นงานออนไลน์ แถมเปลี่ยนบทบาทจากนักข่าวและผู้ประกาศข่าวมาเป็นบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ทำไมถึงได้เปลี่ยนแปลงมากมาย

     คือพี่กรณ์ (ชลากรณ์ ปัญญาโฉม, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิตอลทีวี เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์) ชวนมา โจทย์ตอนนั้นคือพี่กรณ์บอกว่าอยากได้ความน่าเชื่อถือ ซึ่งสำหรับเรา ตอนนั้นไอ้คำว่า ‘น่าเชื่อถือ’ นี่มัน abstract มาก แวบแรกเลยคิดว่า ไม่เอาอะ ไม่เป็น บก. ตอนสมัยทำข่าวก็สงสาร บก. อยู่แต่ออฟฟิศ นั่งปิดข่าว แบบนี้เราไม่เอาอะ แต่สุดท้ายก็เลือกมาทำ คิดว่า เอาวะ ลองดู ลองทำสามเดือน ถ้าไม่ได้ก็ออก (หัวเราะ)

     พอมาทำงานออนไลน์แล้วก็ยังทำไม่เป็นนะ ไม่รู้หรอกว่ามันต้องใช้ทีมกี่คน ตอนแรกๆ เราก็ทำอย่างที่เจ้านายบอกมา เขาอยากได้บทความใช่ไหม เราก็ไปหาบทความมาลง ปรากฏว่ามันเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง ช่วงแรกเราเขียนข่าวลงเว็บ ทำกราฟิก งานมันไม่เหมือนข่าวทีวีที่เราทำมา แล้วที่สำคัญมากๆ คือเมื่อก่อนเราทำข่าววันละชิ้น ก็รับผิดชอบหนึ่งชิ้นนั้นไป แต่ตอนนี้มันเยอะไปหมดเลย วันละห้าหกเรื่อง สิบเรื่อง แถมมาตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่หยุดหย่อน

     ก็มีวันที่เราคิดจะลาออก เพราะรู้สึกว่าเราทำงานนี้ไม่ได้แน่ๆ เช้านั้นไปบอกพี่กรณ์แล้วด้วย แต่แล้วก็ลังเลว่า ถ้าย้ายไปทำงานที่อื่น เราจะได้ลองผิดลองถูกกับงานของเราเองหรือเปล่า เพราะทำที่นี่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังได้ทำทุกอย่างที่อยากทำ ได้เห็นภาพที่เราอยากเห็น ถ้ามันจะห่วย มันก็ห่วยกับมือเราเอง ก็ลองดูวะ เลยคิดใหม่ แล้วเย็นวันนั้นก็ส่งข้อความไปหาพี่กรณ์ จำได้ว่าลาออกตอนเก้าโมง แล้วก็นอยด์อยู่ทั้งวัน จนทุ่มหนึ่งก็เมสเสจไปบอกว่า พี่กรณ์ครับ ผมขอลังเลนิดหนึ่งได้เปล่า (หัวเราะ) คือตอนนั้นรู้สึกเป็น loser เหี้ยๆ เลย พี่กรณ์ก็บอกว่า ไม่เป็นไรเอม พี่ไม่ได้รีบ

     ตอนหลังเราใช้วิธีการขยายศักยภาพจากคนที่เข้ามาร่วมทีมทำงาน ซึ่งโชคดีมากๆ ทีมงานสามสี่คนแรกที่เข้ามานี่ ไม่รู้เราทำบุญมาด้วยอะไร คือเข้าเป้าทั้งหมดเลย วัดกันแล้วเก่งกว่าเราอีก เป็นบุญของผมมากๆ พอเริ่มมีน้องเข้ามาช่วยงาน มีงานทำเสร็จออกไปแล้วคนชม เราก็รู้สึกว่า เฮ้ยๆ บางทีแม้ไม่ต้องเป็นงานของเรา แต่เป็นสิ่งที่เรามีส่วนร่วมผลักดัน พอมีฟีดแบ็กมา มันก็น่าภาคภูมิใจเหมือนกันนะ เอาจริงๆ ภูมิใจกว่าสมัยตัวเองทำข่าวเองอีก ได้เห็นงานดีๆ ของน้องๆ เนี่ย แล้วก็คิดว่าบางทีเราคิดแบบเด็กไปหน่อยหรือเปล่าที่จะทำแต่งานเบื้องหน้า แล้วก็ทำแต่อะไรที่เข้าตัวเราอย่างเดียว

 

นภพัฒน์จักษ์

 

อยากรู้ว่าพอมาทำข่าวออนไลน์ เจอความต่างอะไรไปจากงานข่าวในสื่อเก่าบ้าง

     ต่างกันหลายอย่างเลย ทั้งเรื่องเวลา เรื่องฟอร์แมต ข่าวออนไลน์มันทำอย่างไรก็ได้อย่างที่ใจเราอยากทำ audience ก็ต่างกัน ตอนที่เราทำเนชั่นทีวี audience คือใครก็ไม่รู้ เพราะเราไม่ได้มีปฏิกิริยาจากคนดู อย่างทุกวันนี้ที่พอเราปล่อยงานไป คนก็จะมาวิจารณ์ได้เลย เมื่อก่อนแบบนี้จะมีก็นานๆ ที ต้องเป็นชิ้นที่มันเปรี้ยงๆ จริงๆ คนก็จะทวีตมาหา หรือเขียนมาหาในบล็อกโอเคเนชั่น

 

จะว่าไปเครือเนชั่นและ คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นเจ้าแรกๆ เลยที่พยายามให้นักข่าวปรับตัวสู่โลกออนไลน์ เช่น ให้ใช้โซเชียลมีเดีย คุณมองว่าความพยายามแบบที่ว่านี้ยังใช้ได้ผลในทุกวันนี้อยู่หรือเปล่า

     คุณสุทธิชัยมีวิสัยทัศน์ที่ดีมาก แต่ว่าความผิดพลาดก็คือ นอกจากเขาแล้ว ส่วนอื่นๆ มันไม่ได้ขยับตาม บวกกับบรรยากาศของการไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ ถ้ามองย้อนไป สมรภูมิทวิตเตอร์ของเนชั่นนี่เอาชนะได้สบาย แต่ว่าสมรภูมิเฟซบุ๊กคือเราแพ้ เนชั่นไม่ได้มีอะไรเปรี้ยงปร้างในเฟซบุ๊ก แต่เอาจริงๆ สำนักข่าวอื่นๆ ก็ปรับตัวช้า ต้องรอโน่น อีจันมาแจ้งเกิดปีก่อน ทุกที่ถึงขยับกัน

     ถ้าพูดถึงความเป็นผู้นำ คุณสุทธิชัยในฐานะคนระดับหัวที่สุดขององค์กร เขาก็มีวิชันมากแล้ว ยุคที่คนใช้เฟซบุ๊กกันเยอะๆ เขาก็พูดเลยว่า ต้องทำคลิปสั้น แต่มันก็ไม่มีการนำพามาสู่ว่าคลิปสั้นแล้วแปลว่าอะไร ต้องมีคนตัดต่อ ต้องมีมือกราฟิก มันไม่มีคนที่นำพานโยบายนั้นไปต่อ ซึ่งก็น่าเสียดาย เราทำงานมากับคุณสุทธิชัย เราเคารพเขามาก เราคิดว่าด้วยอายุและตำแหน่งระดับนี้ วิสัยทัศน์ที่มีคือดีมากแล้ว แต่ปัญหาคือคุณสุทธิชัยให้วิชันมาแล้ว แต่เราไม่ทำกันเอง

 

ทำมา 1 ปีแล้ว คิดว่าค้นพบสูตรที่ลงตัวว่าข่าวออนไลน์ควรต้องเป็นอย่างไรแล้วหรือยัง

     ยังนะ มันต้องลองทำไปเรื่อยๆ เดิมเราเคยมีโมเดลที่ว่า เพจ ‘เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์’ ที่มี 12,000,000 ไลก์ ช่วยแชร์งานของเวิร์คพอยท์นิวส์ให้ทุกชิ้น แต่มันทำแบบนี้ได้แค่ช่วงแรก เพราะทุกฝ่ายก็ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง จะให้เขาแชร์ให้ทุกชิ้นก็ไม่ได้ เราก็ต้องปรับ อาจจะคลีเช่หน่อยนะ แต่สูตรคือ เราต้องปรับตลอด แล้วเราก็ปรับตลอดจริงๆ เช่น เราทำวิดีโอแปะแคปชัน สักพักวิธีการเดิมยอดเริ่มดรอป ก็ต้องเปลี่ยนแล้ว

     มีสิ่งที่ทีมเราคิดกันเอง ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวหรือเปล่า แต่ได้ข้อเท็จจริงมาว่า คนไทยส่วนใหญ่จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตแค่ 200 บาท เท่ากับว่าเวลาเขาจะคลิกดูวิดีโอ มันต้องคิดถึงเรื่องค่าเน็ตด้วย คนส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กลุ่มที่อยู่ในออฟฟิศ มีไว-ไฟแบบเรา จากช่วงหนึ่งที่ทำวิดีโออย่างเดียว เราก็เลยเริ่มหันมาทำอัลบั้มภาพให้คนคลิกดูทีละอันบ้าง เพราะคิดว่าใช้เน็ตน้อยกว่า คนส่วนใหญ่น่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า มันก็ต้องปรับตลอด แล้วก็มีเรื่องภาพไซซ์สแควร์ มีวิดีโอแนวตั้ง มีงานสัมภาษณ์ ฯลฯ เราก็ลองทำไปเรื่อย ยิงไปเรื่อยๆ พูดจริงๆ เลยนะ เราว่าที่ผ่านมาแป๊กมากกว่าเวิร์ก แล้วมันก็จะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน เราก็ได้แต่ลองไปเรื่อยๆ

 

นภพัฒน์จักษ์

 

ตัวชี้วัดที่จะบอกว่าเราในฐานะบรรณาธิการ มีความสำเร็จหรือล้มเหลวคืออะไร

     มันก็เห็นๆ กันอยู่ คือจากยอดแชร์ยอดวิวนี่แหละ ซึ่งมันก็จะมีนักวิชาการบางคนที่ชอบพูดว่า แหม สมัยนี้สื่อหิวแต่ยอดแชร์ยอดวิวนะ เราบอกได้เลยว่างานห่วยๆ ที่เราผลิต มันมักจะไม่มีใครแชร์หรอก งานมันจึงต้องดีด้วย แต่ก็จะมีคนชอบอ้างว่า งานคุณภาพๆ คนไทยไม่สนใจหรอก ซึ่งพวกเราต้องไม่เชื่อแบบนั้น เราบอกน้องๆ ในทีมตลอดว่าอย่าเอาความคิดแบบนั้นมาอยู่ในหัว เวลาเราทำเรื่องสำคัญๆ อย่างข่าวเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ แต่ไม่ค่อยมีใครอ่าน ถ้าคนไม่รับ ยอดไม่วิ่ง แปลว่าเรายังทำข่าวนั้นได้ไม่ดีพอ ก็ต้องทำข่าวให้ดีกว่านี้ เขียนให้เข้าใจได้มากกว่านี้ มันมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวคนอ่านได้มากกว่านี้ เราก็ต้องพยายาม

 

ในขณะที่หลายคนอาจจะถอดใจไปทำข่าวสีสัน อย่างข่าวตุ๊กแกขึ้นบ้านไปเลย

     ซึ่งข่าวตุ๊กแกเราก็ทำ (น้ำเสียงมุ่งมั่น) เวิร์คพอยท์นิวส์ก็ทำข่าวตุ๊กแก เราก็มีคนที่ทำข่าวชาวบ้าน ซึ่งมันเป็นข่าวที่คนเขาสนใจ เขายังอยากดู จะเอาไปตีหวย เอาไปทำอะไรก็ตามสะดวกเขา เราก็ทำ เราไม่ปฏิเสธ แต่เรานำเสนอเรื่องพิษภัยของการติดหวยไง คือทำหนึ่งไม่ได้แปลว่าจะทำสองไม่ได้

     ทุกวันนี้เราก็ยังต้องแก้อะไรอีกหลายอย่างในการทำงาน แต่เราจะอึดอัดเสมอเวลามีคนบอกว่า สื่อเดี๋ยวนี้มึงชอบหิวยอดแชร์ยอดวิว ซึ่งผมว่าคำพูดพวกนี้คือดูถูกคนเสพสื่อมาก คนสมัยนี้เขาเลือกแชร์เลือกเสพนะโว้ย ถ้าเกิดคนดู แสดงว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับเขา การที่เราทำงานที่เน้นยอดแชร์เยอะๆ ไม่ได้แปลว่าเราเป็นสื่อเลวโดยอัตโนมัติ แล้วมันก็จริง เรามีชิ้นที่เปรี้ยงๆ อย่างเรื่องยา ทางเดินเบรลล์บล็อก เรื่องท้องในวัยเรียน เรื่องบ้านป่าแหว่ง ข่าวต่างประเทศที่อาจจะดูยาก ซึ่งงานของเราคือการทำให้คนดูรู้สึกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา

 

การที่เคยทำข่าวดั้งเดิมมาก่อนในแวดวงทีวี ซึ่งฟีดแบ็กอาจจะไม่ได้เร็วหรือได้ยินไม่ชัดเท่าไหร่ พอมาเจอโลกออนไลน์ เราสะเทือนหัวจิตหัวใจมากน้อยแค่ไหนเวลามีคนมาคอมเมนต์

     ก็ยังมีอยู่ แต่หน้าด้านขึ้นเยอะมาก (หัวเราะ) จิตใจนี่เหี้ยมเกรียมขึ้นเยอะ ที่บอกอย่างนี้เพราะเมื่อก่อนเป็นคนใจเสาะมาก ไม่มีจุดยืนเลย คนด่าก็รู้สึกไปเยอะ เมื่อก่อนมันจะมีบรรยากาศแบบประมาณว่า ก็เราอยากทำข่าวให้เขาชอบเรา ซึ่งแบบนี้มันก็ไม่ใช่นิสัยที่ดีของนักข่าวนะ แต่ทุกวันนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปแล้ว อย่างเราทำบทสัมภาษณ์ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วโดนด่าเยอะๆ เนี่ย โอ๊ย สบายมาก หรือตอนทำเรื่องโรฮิงญาแล้วโดนด่า มีคอมเมนต์มาเหน็บแนมว่าเวิร์คพอยท์รับไปอยู่ด้วยสัก 50 คนไหมล่ะ แบบนี้เราก็โอเค เรามีจุดยืนของเรา

 

นภพัฒน์จักษ์

 

ความคิดที่ว่าอยากให้คนมาชอบเรา มีผลต่อการกำหนดทิศทางการทำงานหรือเปล่า

     ก็มีนะ คือเราเป็นคนชอบฟีดแบ็ก ถ้าไม่มีฟีดแบ็ก มันก็จะแบบ… ทำไปทำไมวะ? เวลาจะเลือกประเด็นข่าว มันก็มีเรื่องที่อยู่ในกระแส เรื่องแบบที่รู้ว่าถ้าทำแล้วคนต้องพูดถึงแน่นอน อย่างช่วงนี้มันมีช่องที่ชอบสัมภาษณ์คนที่รู้ๆ กันว่าคนเกลียด แล้วก็เอาเขามาขยี้ๆ ในรายการ ซึ่งอะไรแบบนี้เป็นน่านน้ำที่เรายังไปไม่ถึงเหมือนกันนะ คือเราอยากให้คนมาชอบ เราก็เลือกประเด็นที่สำคัญหน่อย บางเรื่องคนจะเกลียดก็เกลียดไป ไม่เป็นไร คือถ้าคนชม เราก็แฮปปี้ แต่บางเรื่องเวลาคนมาด่า ถ้าเรามีหลักเกณฑ์ของเราอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้มองว่าเสียหายอะไร อย่างตอนทำเรื่องผู้ลี้ภัยโรฮิงญา เรานำเสนอไปรวด 7-8 ชิ้น แล้วคนด่าว่าทำไมเข้าข้างจังเลยวะ เราก็โอเค ไม่เป็นไร ด่าก็ด่าไป อันนี้เรามีจุดยืนอยู่แล้วว่าเราจะให้ความรู้ ว่าจะบอกเล่าสิ่งนี้ การที่เราบอกว่าเขาน่าเห็นใจไม่ได้แปลว่าเราสนับสนุนรัฐให้รับพวกเขาเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมืองไง มันมีเลเวลของมัน

 

เวลาที่คุณทุ่มเทกับงานดีๆ แต่คนอาจจะไม่ได้สนใจมากเท่าที่คาด คุณจัดการกับความรู้สึกอย่างไร

     เราบอกกับน้องในทีมเสมอว่า พวกเรามันก็แค่หนึ่งในล้านสิ่งที่เขาจะได้เห็นในแต่ละวันๆ เวิร์คพอยท์ไม่ได้แข่งแต่กับสื่อด้วยกันอย่างเดียว สิ่งที่เขาเห็นในแต่ละวันคืออะไร เขาก็จะไปเห็นโต๊ะสวยๆ เห็นเสื้อผ้าสวยๆ อะไรด้วย ซึ่งเขาอาจจะไม่สนใจพวกเราเลย วันหนึ่งเขาอาจจะเปิดเน็ตเพื่อดูแต่คลิปตลกอย่างเดียวเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น ข้อแรกคือทำให้คนสนใจก่อน โดยหลักที่เราสอนน้องก็คือ เรื่องที่อยากจะเล่า คอนเทนต์หนึ่งที่อยากจะทำ มันก็เหมือนดาบอันหนึ่ง แต่มันต้องมีปลายดาบที่แหลมที่สุดที่ทำให้ดึงคนเข้าไปดูให้ได้

     มันต้องมีเทคนิค ต้องมีคำพูดอะไรที่แบบ ปึ้ง! แล้วดึงคนเข้าไปดู อย่างเช่นเราเล่นคำพูด ซึ่งอันนี้เป็นคำพูดพี่ติ่ง (สมภพ รัตนวลี, ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เวิร์คพอยท์ทีวี) คือ ‘ศาลอยู่กับป่าได้ แต่คนอยู่กับป่าไม่ได้’ เราพูดเรื่องความไม่เท่าเทียม เรื่องสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเราแพ็กเกจมันแบบเดิม แบบเขียนบทความแล้วพาดหัวว่า ‘ปัญหาสองมาตรฐานในเมืองไทย ในกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่มีวันสิ้นสุด’ แล้วก็เขียนบทความ สัมภาษณ์ มันก็เป็นดาบทื่อๆ เล่มหนึ่ง คนก็เงี่ยหูมาฟังเราน้อย แต่เราขอแค่ว่าเปรี้ยงเดียว แต่คนเก็ตแล้วเก็บไปคิด ไปต่อยอดกันเอง คือสุดท้ายเราคือสื่อ ไม่ใช่สำนักวิชาการ

 

นี่เป็นคาแร็กเตอร์ของคุณเอง หรือเป็นคาแร็กเตอร์ของออนไลน์

     เป็นคาแร็กเตอร์ใหม่ที่เป็นกรอบคิดใหม่ในโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว อย่างเรื่องยาชุด เราก็บอกไปเลยว่าให้คุณหยุดกิน คือถ้าเป็นจริตเดิมที่ต้องมานั่งกังวลว่าเดี๋ยวกลุ่มเภสัชกรเขาจะไม่พอใจ มันก็จะกั๊กไปกั๊กมา แต่เรื่องแบบนี้ชัดเจนแล้วว่าต้องหยุดกิน อย่างเรื่องการสร้างบ้านพักตุลาการในป่า พอพูดไปจะสะดุ้งว่าเป็นการพิพากษาหรือเปล่า แต่ว่านี่เป็นเรื่องสองมาตรฐาน คือเราไม่ได้บอกว่าไปสร้างบ้านในป่าแล้วมันไม่ผิดกฎหมาย แต่เราสื่อว่า ขอให้ใช้กฎเดียวกันกับทุกคนในประเทศ ซึ่งนี่เป็นคุณที่สังคมควรมี เรื่องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พวกนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สังคมควรมี เรื่องแบบนี้เราก็ต้องกล้าที่จะเลือกข้าง

 

แต่ถ้าอย่างนั้นมันก็ชี้นำคนอ่านไหม

     ใช่ แต่เรา base on fact นะ เราก็ทำงานหนักในการหาข้อมูลมา และสองคือ this is the way it works in online มันก็คืออะไรที่บอกคนไปเลย บอกไปเลยว่าคิดแบบนี้ มันมักจะเวิร์กเสมอ

 


เรื่อง: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ภาพ: พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์