ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน: ยิ่งปกปิด ยิ่งอยากรู้, ยิ่งข่มขู่ ยิ่งหาญกล้า

วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา หลายคนได้เห็นภาพชายคนหนึ่งนำโบขาวไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่การชุมนุม ณ แยกราชประสงค์ ในเย็นวันนั้น เขาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า “วันนี้รับไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ผมหวังว่าวันหน้าพี่จะมายืนข้างพวกเรา” 

        ในวันถัดมา วันที่ 16 ตุลาคม ที่มีการสลายการชุมนุม ณ แยกปทุมวัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่เริ่มฉีดน้ำสลายผู้ชุมนุมนั้น ชายคนเดียวกันนี้ได้นำโบขาวไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ในความวุ่นวายนั้น เราเห็นปากเขาขยับแต่จับไม่ได้ว่าพูดอะไร ก่อนที่เขาจะถูกจับตัวขึ้นรถตำรวจไปในนาทีถัดมา 

        ชายคนนี้คือ ‘เติ้ล’ – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร ผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ต้องการปลูกฝังความคิดวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมไทยในการเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา การพัฒนาประเทศในแขนงต่างๆ รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มนุษย์ทุกคนคิดเองได้ ตั้งคำถามเป็น

        หนึ่งอาทิตย์หลังจากถูกจับกุม เราชวน เติ้ล ณัฐนนท์ มาพูดคุยกันว่าในวันนั้นเขาคิดอย่างไร ทำไมนักวิทยาศาสตร์อย่างเขาถึงเลือกนำโบไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ เขาพูดอะไรต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตรงนั้น และความสนใจของเขาเรื่องวิทยาศาสตร์ การสำรวจอวกาศ เกี่ยวข้องอะไรกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในวันนี้

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

หนึ่งสัปดาห์หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม หลังถูกจับกุม รู้สึกอย่างไรบ้าง ชีวิตเปลี่ยนไปไหม

      ชีวิตเราเหมือนเดิมนะ จะก่อนหรือหลังเหตุการณ์เราก็ยังทำสิ่งที่เราทำเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เขาชวนให้ไปร่วมร่างนโยบาย Space Economy แล้วก็เรื่องการศึกษา เราก็ไปคุยกับทีมเราเหมือนเดิม 

แล้วอย่างวันนี้1 ไปรัฐสภามา ไปทำอะไร ดูเหมือนว่าภาครัฐสนใจให้คุณมีส่วนร่วมมากขึ้นหรือเปล่า คุณไปพูดอะไรกับเขาบ้าง 

        เราพูดเสมอว่าเด็กและเยาวชนคิดเองได้ เขาควรได้รับการสนับสนุนมากกว่ากีดกัน ไปวันนี้เราก็ยืนยันคำเดิม เราไม่รู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นจะทำให้คนฟังเรามากขึ้นหรือน้อยลง เราว่าไม่มีอะไรน่าแปลกใจด้วยซ้ำที่เราหรือใครสักคนจะเอาโบขาวไปผูกให้เจ้าหน้าที่อย่างวันนั้น เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกล้าหาญอะไร เราแค่แสดงจุดยืนของเรา เราไม่เคยทรยศต่อหลักการของเรา เราทำอย่างที่เราเชื่อ เราทำแบบนี้มาตลอด คนรอบตัวเราไม่มีใครประหลาดใจเลย แค่การแสดงออกครั้งนี้มันอยู่ในช่วงที่การจับกุมของรัฐกลายเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาผู้คน มันเลยได้รับความสนใจขึ้นมา 

คนรอบตัวไม่มีใครประหลาดใจที่คุณถูกจับ?

        ไม่มี ทุกคนรู้จักเราดีว่าหลักการเราคือเลือกข้างสิ่งที่ถูกต้อง เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง เราไม่ได้ทำร้ายใคร ตั้งแต่ต้นปีที่ไปขึ้นพูดที่จุฬาฯ เราบอกว่าศัตรูของเราคือความโง่เขลา เราบอกว่าศัตรูของมนุษยชาติไม่ใช่ใคร ฝ่ายไหนเลย แต่คือความโง่เขลาที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ใช่ความวุ่นวายไม่ดีนะ แต่ทุกครั้งที่คนปฏิบัติไม่ดีต่อกันมันเกิดจากความโง่เขลาทั้งนั้น

แล้วคิดว่าที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจปฏิบัติกับเราเช่นนั้น มันเกิดจากความไม่รู้ในเรื่องอะไร

        ความไม่รู้ว่าเราทุกคนสามารถคิดเองได้ ตำรวจมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่นายให้มา บอกให้เดินหน้าก็เดิน ให้ฉีดน้ำก็ฉีด ตรงข้ามกับผู้ชุมนุม ดูในม็อบ คุณสั่งใครได้ไหมว่าจะให้เขาทำอะไร เช่น จะเดินไปทำเนียบ แต่ใครจะเริ่มเดินตรงไหน จะหยุดเมื่อไหร่ อยู่ดีๆ จะลุกมาปราศรัย ไม่มีใครสั่งได้ เรามีเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีการไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้ขึ้นเวที แต่เราเลือกรับบทนักสื่อสาร เพื่อจะไปสู่เป้าหมายเดียวกันนี้ แต่เจ้าหน้าที่เขาไม่ได้เลือกเป้าหมายและวิธีการเขาเองเลย นายสั่งอะไรมาก็ทำตาม ให้จับก็จับ 

การที่ครั้งนี้เราเลือกพุ่งตรงไปสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ เพราะเราอยากบอกเจ้าหน้าที่เรื่องนี้หรือเปล่า ว่าเราทุกคนสามารถคิดเองได้

        ใช่ ในฐานะที่เราเป็นผู้ชุมนุม อาจถูกมองว่าเป็นฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่เมื่อถอดชุดออกมา เราก็คนเหมือนกัน มันไม่มีอะไรเลย แล้วเราทำไปเพื่ออะไร วันที่เราไปผูกโบ คนแรกไม่รับ สองไม่รับ สามไม่รับ เพราะอะไร พอมีคนรับแล้ว คนก่อนหน้าที่ไม่รับจะเริ่มสงสัยกับตัวเองแล้วว่าทำไมเขาไม่กล้ารับ เขาอยากรับไหม แล้วเขากลัวอะไร คำถามมันจะทำให้เขาค่อยๆ ออกจาก status quo สิ่งที่เขาเคยชินทีละนิด

มีคำถามอะไรที่เราตั้งใจจะให้เขาฉุกคิดไหมในการไปยื่นโบให้เขา

        เราอยากชวนเขาคิดว่าเขาคิดเองได้หรือเปล่า ตัดสินใจเองได้ไหม ติดภาพจำกับการชุมนุมเดิมๆ อยู่ไหม นี่อาจเป็นคำถามที่เขาไม่เคยถามตัวเองมาก่อนเลยก็ได้

คิดว่าอะไรทำให้เจ้าหน้าที่บางคนเลือกรับโบของเรา บางคนเลือกจะไม่รับ

        เขาคงสับสน แต่เราว่าความสับสนคือการสั่นสะเทือนทางความคิด ถ้าทุกคนเล่นตามบทอัตโนมัติ เราในฐานะผู้ชุมนุมที่ความสับสนเกิดขึ้นตรงหน้า เราอาจโต้กลับด้วยความโกรธทันที แล้วก็ถูกจับ อีกฝ่ายมองว่าสมควรแล้วตามเกม แต่ทำแบบนั้นมันไม่ได้อะไรขึ้นมา เราเลือกจะใช้วิธีที่ต่างไป เลือกวิธีที่คนไม่คิดว่าผู้ชุมนุมจะทำ ไปดูในคลิปต่างๆ ได้เวลาเจ้าหน้าที่จะจับผู้ชุมนุมจะมีคำหนึ่งที่เขาชอบพูดกันคือ พี่เล่นตามบทพี่ น้องเล่นตามบทน้อง เขาจะพูดอย่างนี้เสมอ เราแค่อยากแสดงออกให้เขารู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องเล่นตามบทก็ได้ เขาเล่นตามความคิดตัวเองได้ 

คิดว่าอะไรขวางกั้นไม่ให้เขาเล่นตามบทที่เขาคิดขึ้นมาเอง

        สมองเขาถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่นะ แต่นี่เป็นปัญหาของสังคมเลย คือเราไม่ค่อยถูกทำให้ต้องออกจากสิ่งที่เชื่อแล้ว ชินแล้ว นักเรียนถูกบอกให้เรียน เชื่อฟังผู้ใหญ่ ตำรวจต้องทำตามหน้าที่ นี่คือ status quo ที่เราเชื่อกันมาตลอด แต่ถ้าจะเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เราต้องก้าวข้ามสิ่งที่เคยเป็น เราถึงจะเห็นวิธีการใหม่ๆ เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

แล้วอะไรจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนก้าวข้ามสิ่งที่เคยเป็น ไปสู่ขอบเขตใหม่ๆ ได้

        การปะทะทางความคิด ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นชั่วพริบตา คนทศวรรษก่อนหน้านี้จะเชื่อไหมว่า racism จะเป็นเรื่องที่ทนยอมกันไม่ได้ แต่เราเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจาก movement มากมายทั่วโลกตอนนี้ แม้มันจะไม่ข้ามวันข้ามคืน แต่เรารู้สึกกันใช่ไหมว่าการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ จะทำให้คนรู้สึกว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดนั้นเท่าเทียมกัน เรารู้สึกไหมว่าการเถียงกันเอาเป็นเอาตายของเฟมทวิตกับเบียวจะทำให้คนยอมรับความหลากหลาย ไม่ต้องจำแนกคนด้วยเพศอีกต่อไป เรารู้ว่ามันจะนำไปสู่จุดนั้นในท้ายที่สุดแม้มันจะยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน แม้ตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหันไปบอกนายเขาได้ว่า ผมไม่ทำครับ แต่เมื่อวันหนึ่งมันเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงมันเริ่มมาจากการปะทะกันทางความคิดแบบนี้ จากที่ใครคนหนึ่งฉุกคิดได้ว่าสิ่งที่เคยเป็นไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น

คุณคิดว่าเจ้าหน้าที่เริ่มตั้งคำถามกับบทบาทตัวเองบ้างแล้วหรือยัง

        คนอื่นเราไม่รู้ แต่ภาพเจ้าหน้าที่ที่เราเห็นคือเขาไม่ได้อยากจับ เราถึงบอกว่ามันช่างเป็นการกระทำที่สูญเปล่า วันที่เราไป ตชด. ภาคหนึ่ง เราไม่รู้สึกว่าเราโดนจับ เรารู้สึกขึ้นมาว่าเรากำลังอยู่ในประวัติศาสตร์ฉากเดิมของประเทศนี้ การที่สื่อต่างชาติสงสัยว่าจับผู้ชุมนุมทำไม มันทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรา 

ตอนนั้นที่เขาเริ่มฉีดน้ำ ผู้ชุมนุมเริ่มลุกฮือวิ่งหนี แต่คุณกระโดดเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ คุณไม่กลัวบ้างเหรอ

        ไม่กลัวเลย แต่สิ่งที่เราเห็นคือสายตาเจ้าหน้าที่ต่างหากที่มีความกลัว สับสน แต่เราไม่สับสนอะไรเลย เพราะเราไม่ได้ทรยศกับหลักการของเราเอง

คิดว่าอะไรทำให้เจ้าหน้าที่ที่เต็มไปด้วยเกราะกำบัง อุปกรณ์ป้องกันตัวพร้อม มีรถฉีดน้ำคันใหญ่อยู่ข้างหลังมีความกลัว ในขณะที่เรามือเปล่ากลับไม่กลัว 

        (ตอบทันที) มนุษย์มีความคิดผิดชอบชั่วดีเสมอ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกออกแบบมาให้ช่วยเหลือกัน นี่เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในยีนมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไรว่าเราต้องพึ่งกันเราถึงจะอยู่รอดได้ ทารกเกิดมาไม่เหมือนสัตว์อื่นนะ เขาต้องการคนเลี้ยงดู หรือต่อให้เราโตแล้ว เราก็ยังต้องกินข้าว ต้องมีที่อยู่อาศัย มันก็ยากที่เราจะสร้างปัจจัย 4 ทุกอย่างขึ้นเองคนเดียว การมีอยู่ของเราล้วนต้องพึ่งคนรอบข้างทั้งนั้น แต่เวลาที่นายสั่งให้จับ สั่งให้ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม สมองเขาถูกฝึกมาให้ทำตามคำสั่งอัตโนมัติ ไม่มีเวลาจูนกับจิตใต้สำนึกนี้เลย เราว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เขาสับสน

อิทธิพลความคิดกลุ่มอาจทำให้เราลืมเชื่อมโยงกับสำนึกของเราเอง ต่างฝ่ายต่างเล่นตามบทตัวเอง คุณคิดว่าเราควรมีท่าทีอย่างไรต่อกันให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกถึงสำนึกพื้นฐานนี้ได้ 

        ทุกคนมีคำตอบของตัวเอง เราแค่จะไม่ขัดกับหลักการของเราเอง คุณโกรธได้นะ ถามว่าเราโกรธไหม มันโกรธอยู่แล้ว แต่มากกว่าความโกรธคือความสงสัย ว่าคุณทำไปเพื่ออะไร คนอื่นอาจโกรธแล้วต่อว่า จะเรียกว่าขี้ข้าเผด็จการหรืออะไรก็ได้ ไม่ผิด จะผิดก็ต่อเมื่อคุณเพิกเฉย และขัดกับหลักการตัวเอง อย่างน้อยที่สุด คุณควรจะรู้สึกถึงความผิดชอบชั่วดี

ทำไมถึงมองว่าความเพิกเฉยไม่ถูกต้อง มองอย่างไรที่บางคนบอกว่าเลือกเป็นกลาง บอกว่าเจ้าหน้าที่อาจทำเกินกว่าเหตุ แต่เด็กก็ไม่สุภาพ ขอเลือกเป็นกลางได้ไหม ไม่ทำอะไรเลยได้หรือเปล่า

        ความเป็นกลางไม่มีจริง คุณอาจแสดงออกว่าเป็นกลาง แต่ลึกๆ เราต่างรู้ตัวเองอยู่เสมอว่ารู้สึกอย่างไร นอกเสียจากว่าคุณไม่รู้สึกรู้สากับอะไรแล้ว ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต่างจากไร้ชีวิต

ตอนยืนต่อหน้าเจ้าหน้าที่คุณพูดอะไรกับเขา

        เราบอกเขาว่า ‘สิ่งที่พวกพี่ทำมันจะหลอกหลอนพวกพี่ไปตลอดชีวิต’ เราไม่ได้ขู่นะ มันคือความจริง เขาจะจำภาพวันนั้นได้เสมอว่าเกิดอะไรขึ้น เขาจะจำมันอย่างไร จำแล้วรู้สึกภูมิใจ หรือเสียใจไปตลอดชีวิต มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขา ถ้าคนเราตัดสินใจขัดหลักการต่อตนเอง มันจะหลอกหลอนเราไปตลอดชีวิต

        เหตุการณ์ต่างๆ ในหน้าประวัติศาสตร์จะ 14 ตุลา 6 ตุลา ปี 53 เราไม่ต้องบอกหรอกว่าอะไรรุนแรงหรือไม่ เราแค่ต้องบันทึกไว้ว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นที่นี่ ทุกครั้งหลังจากนี้ที่เรามาสยาม เวลาเรา เจ้าหน้าที่ หรือผู้มาชุมนุมเดินผ่านตรงนี้ เราจะมองมันไม่เหมือนเดิมอีกเลย เราจะจำมันได้ตลอดชีวิต ถ้าเรามีลูกเราก็จะบอกเขาว่า พ่อเคยถูกจับตรงนี้ เพราะพ่อเอาโบขาวมายื่นให้ตำรวจ เราแค่ต้องบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ไว้ เราแก้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะนำไปสู่อนาคตแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราจะจดจำมันอย่างไร 

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
ขอบคุณภาพจาก ทวิตเตอร์ @VoiceTVOfficial 

แล้วคุณว่าเราควรจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมอย่างไร เพื่อให้เหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

        จดจำว่าไม่มีความจำเป็นใดที่มนุษย์ต้องกระทำความรุนแรงต่อกัน เราเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำคือความสับสน แม้กระทั่งประยุทธ์เองตอนนี้เขาก็คงสับสนมากแน่ๆ 

ในวิธีการวิทยาศาสตร์ เราก้าวข้ามความสับสนอย่างไร

        เราค้นหาตัวแปร ตั้งคำถามว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย แล้วมันนำไปสู่ผลอะไร เวลาสับสน เราจะถามตัวเองว่าเราเห็นอะไรบ้าง เซนส์อะไรได้บ้าง เราจะไม่ปิดกั้นตัวเอง จะไม่รีบด่วนตัดสิน ไม่เอาผลมาด่วนสรุปเหตุว่ามันเป็นแบบนี้ เพราะแบบนี้ ถ้าคิดอย่างนั้นเราจะไม่รู้ความจริงอะไรเลย

แล้วถ้าเราต่างก็ติดกับดักขอบเขต echo chamber ของตัวเอง โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่การสื่อสารครึ่งหนึ่งก็อยู่ในโลกออนไลน์ ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับข้อมูลที่ตนเองเชื่ออยู่แล้ว เราจะเปิดการรับรู้ของเราให้ไกลกว่าขอบเขตของเราได้อย่างไร

        การที่เรารู้ตัวว่าอยู่ใน echo chamber แบบไหน มันจำกัดข้อมูลอย่างไรบ้าง เป็นการรู้ตัวขั้นแรกนะ นักวิทยาศาสตร์จะเตือนตัวเองเสมอว่าเขามีขอบเขตการรับรู้อยู่ นักจักรวาลวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า observable universe จักรวาลที่สามารถสังเกตได้ เราไม่สามารถรู้สิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการรับรู้ของเรา ทุกคนมีจักรวาลนี้เป็นของตัวเอง observable universe ของเรากับคนอื่นไม่เหมือนกัน มันมีจุดที่ intersect กันบ้าง แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด เพราะเราเป็นคนละก้อนมวลกัน ดังนั้น เราแค่ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง เราไม่ได้รู้มากไปกว่าผู้อื่น ไม่มีใครฉลาดหรือโง่กว่าเรา ถ้าเรารับความจริงข้อนี้ได้ ถือว่าเราก้าวเข้าสู่ความคิดแบบวิทยาศาสตร์แล้ว ถามว่านักวิทยาศาสตร์มี echo chamber ของตัวเองไหม นักวิทยาศาสตร์นี่แหละเต็มไปด้วย echo chamber จากความรู้เก่าที่มีมาก่อนเลย แต่เขารู้จักมันดี เขารู้ว่าทำไมเขาคิดเช่นนี้ เขาจึงต้องคอยก่อกวนความคิดตัวเองตลอด

ทำไมในความเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณถึงเลือกสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อะไรทำให้คุณเชื่อ อะไรเป็นเหตุผลว่านี่คือทางที่ใช่ ในเมื่อยังมีบางคนมองภาพผู้ชุมนุมครั้งนี้ว่าโง่เขลา ถูกยุยง ปลุกปั่นอยู่เลย

        เรามองประวัติศาสตร์โลกย้อนไปหลายร้อย หลายพันปี ถ้าคุณมองย้อนประวัติศาสตร์มนุษยชาติแบบนี้คุณจะพอคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เอาแค่ศตวรรษก่อนหน้า สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง คนไม่ได้มองคนเป็นคนเหมือนกัน คนมองว่าคนบางชาติเป็นสัตว์ เอาไปขายได้ ไปทรมาน ไปเป็นทาส ไปฆ่าให้ตาย แต่พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มนุษย์เห็นความสูญเสีย เราเริ่มมีการตั้งสหประชาชาติ เริ่มนิยามสิทธิมนุษยชนให้เกิดการรับรู้ทั่วกันว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เรามองย้อนไปแค่นี้ก็เห็นชัดแล้วว่าไม่มีใครสามารถกำหนดชีวิตใครได้ ไม่มีชีวิตใดมีค่ากว่าใคร ทุกคนเท่าเทียมกัน วิวัฒนาการทั้งโลกมันเคลื่อนมาสู่จุดนี้แล้ว เราไม่สามารถย้อนวิวัฒนาการกลับ

ถ้าในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ชีวิตเป็นความจริงขั้นสุด แต่ในขณะเดียวกันความจริงประกอบสร้างมันก็เป็นคุณค่าสูงสุดของบางคน เช่น ศาสนา ศีลธรรม สถาบัน ฯลฯ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร หากการให้คุณค่าความจริงเราไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

        ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถ้าเราเถียงกันบนชุดข้อมูลมันจะไม่จบสิ้น สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับคือไม่มีความจริงเดียว ฝ่ายหนึ่งต้องเห็นก่อนว่าเยาวชนไม่ได้ถูกหลอกมา เขาคิดเองได้ เพราะเขาได้รับข้อมูลมาแบบนี้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายเติบโตมากับความจริงอีกชุด เขาได้รับการปลูกฝังมาแบบนี้

        จริงๆ แล้วเราอยู่ร่วมกับคนที่ให้คุณค่าต่างกันมาตลอด เอาแค่เรากับเพื่อนหรือแฟน ก็มีความเชื่อที่ต่างกันเยอะมาก เราเป็นสาย skepticism วิมตินิยม เชื่อว่าทุกอย่างถูกควบคุมโดยหลักฟิสิกส์ธรรมชาติที่เราสามารถทำนายทุกอย่างได้ สามารถสร้างสมการอธิบายความเป็นไปของอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้ ในขณะที่เพื่อนเราหลายคนเชื่อเรื่อง free will เชื่อว่าเรามีเจตจำนงเสรีที่กำหนดชีวิตตัวเองได้ โดยไม่ต้องหาหลักการหรือเหตุผลมาอธิบายขนาดนั้น นี่เป็นหัวข้อทางปรัชญาที่ถกเถียงกันได้ ไม่มีใครต้องฆ่ากัน หวังร้ายต่อกันเพราะเรามีกรอบในการมองความจริงต่างกัน 

เราอยู่ร่วมกับความต่างมาตลอด ทำไมคุณค่าระหว่างสถาบัน และการเชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์มันคอขาดบาดตายขนาดนั้น

        เพราะมันใหม่มากในสังคมเรา อย่างเรื่อง Black Lives Matter ถ้าคุณไปพูดเมื่อห้าสิบหกสิบปีที่แล้วคุณก็เป็นคนประหลาดเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้เราพูดกันได้ปกติ เป็นเรื่องที่ต้องพูดด้วยซ้ำ เราเชื่อว่าอีกไม่นานเรื่องสถาบัน เรื่องการเมือง เรื่องเพศ จะเป็นเรื่องที่เราคุยกันได้ปกติ ไม่มีใครต้องกลัวในการพูดถึงเรื่องพวกนี้ 

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

มีคนบอกว่าถ้าเราตั้งคำถามผิดแต่แรก ก็ยากที่เราจะหาคำตอบได้ หรือเรากำลังตั้งคำถามผิดในช่วงเวลานี้หรือเปล่า ว่าเราต้องเลือกอะไร ปกครองแบบไหนดีกว่ากัน

        คำถามถูกแล้ว แต่เวทีผิด คำถามพวกนี้ต้องถามกันในสภา เอาผู้แทนประชาชนมาคุยกัน แต่พอกลไกสภาไม่เอื้อให้เกิดการพูดคุยได้อย่างเสรียุติธรรม กลายเป็นว่าเราเอาคำถามนี้มาห้ำหั่นกันแทน โดยที่เราอาจไม่ได้ต่อสู้กันเพื่อตอบคำถามนี้แต่แรก เรากำลังลืมไปว่าเราสู้กันเพื่ออะไร

เราลืมอะไรกันไปอยู่

        ลืมว่าไม่มีความจริงโดยสมบูรณ์ และท้ายที่สุดแล้ว เรากำลังหาทางอยู่ร่วมกัน 

ที่เราเถียงกันไม่จบสิ้นว่าอะไรคือความจริง มันเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่ประวัติศาสตร์สังคมหลายเรื่องมันไม่กระจ่างมาโดยตลอดไหม 

        ใช่ เราเลยไม่เห็นด้วยเลยกับความพยายามปกปิด หรือซ่อนหมุดคณะราษฎร 

คิดว่าเขาซ่อนเพื่ออะไร

        (เงียบ) ไม่รู้เลยอะ สมองเราไม่สามารถคิดในทางนั้นได้

ยิ่งซ่อนคนยิ่งอยากรู้ไหม

        แน่นอน แต่มันก็มีคนสองจำพวก คือ dogmatism เขาว่ามาไงฉันก็เชื่อตามนั้น เขาบอกว่าไม่ต้องรู้ ไม่ต้องมี ก็ไม่ต้อง แต่พวก skepticism ทั้งหลายจะยิ่งถามเลยว่าทำไมจะรู้ไม่ได้ 

ทำไมคนรุ่นเรา หรือจริงๆ ก็รุ่นคุณด้วยที่เติบโตมากับระบอบการศึกษากระแสหลักที่ไม่ได้ส่งเสริมการคิดได้ วิจารณ์เป็น ถึงลุกขึ้นมาตั้งคำถามพร้อมๆ กัน ปัจจัยการลุกฮือของสมัยนี้คืออะไร 

        เราว่าไฟแห่งความสงสัยไม่เคยดับ ไม่ว่าจะเป็นยุคมืด หรือยุคใดก็ตาม ไฟมันอยู่ตรงนั้นเสมออยู่แล้ว แต่อาจเป็นเพราะว่ายิ่งมืด ไฟยิ่งสว่าง

ยิ่งซ่อน ยิ่งปกปิด ยิ่งค้นหา ยิ่งตั้งคำถาม

        ใช่ แล้วคนรุ่นเราเจอความจริงที่ถูกปิดซ่อนไว้เยอะมาก เจอเรื่องหนึ่ง มันก็ตั้งคำถามสืบย้อนไปเรื่อยๆ คนตั้งคำถามกันเยอะมากนะว่าจะจับนักวิชาการ จับสื่อ จับเยาวชนไปเพื่ออะไร จับไปแล้วได้อะไร 

การจับกุมมันส่งผลอย่างไรต่อเราบ้าง มันทำให้เรากลัวตามเจตนาของการจับกุมหรือเปล่า หรือมันยิ่งทำให้ผู้ถูกจับกุมและเพื่อนฝูงกล้ามากขึ้น

        เรารู้สึกว่าเรากระจายความคิดไปได้มากกว่าเดิมอีก ไม่ว่าจะไปสู่ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้วยกันเอง หรือฝ่ายตำรวจ ทหาร รัฐบาล แต่นี่ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนดี หรือไม่ดี ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับเราเหมือนกัน อย่างต้นปีเราเคยพูดว่าจะสนใจความเท่าเทียมทางเพศโดยไม่สนปัจจัยทางชีววิทยาไม่ได้ ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับเราทั้งหมด แต่มันไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนความเชื่อ เพราะเราเชื่อแบบนั้น ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ถ้ามีคนเดือดร้อนจากความเชื่อของเรา เราถึงจะตรวจสอบตัวเองใหม่ว่าเราคิดผิดหรือเปล่า

ทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อตามความคิดของตน ตราบใดที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ไปลากคอจองจำเสรีภาพใครหากเขาไม่คิดตาม 

        ใช่ เราถึงมองว่าเรื่องนี้มันเข้าใจง่ายมาก คนอีกร้อยปีอาจหัวเราะกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ได้ว่าเถียงกันเรื่องอะไร นี่มันคอมมอนเซนส์มากเลย

หากไม่มีเสรีภาพทางความคิด หากการคิด การแสดงออกยังเป็นภัยอันตราย ต่อให้ปฏิรูปการศึกษา รีฟอร์มประเทศ 4.0 อย่างไรก็ไม่ได้ส่งเสริมให้คนสร้างสรรค์ ทันโลกได้ 

        นั่นเป็นความจริง ถ้าเราทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัยในการตั้งคำถาม วิวัฒนาการเราจะหยุดชะงัก

ไอแพดไม่ช่วยอะไร ขอแค่เพียงมีเสรีภาพ ยังช่วยให้คนคิดได้มากกว่า

        กาลิเลโอยังคิดทฤษฎีในคุกเลย

กาลิเลโอก็นับเป็นขบถแห่งยุคสมัยเหมือนกัน แต่ทำไมเราถึงเคารพนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ในอดีต แต่กลับแปะป้ายคนที่คิดต่าง กล้าตั้งคำถาม กล้าท้าทายขนบเดิมๆ ว่าคือการชังชาติ คำว่าขบถก็มีนัยยะติดลบในตัวมันเอง

        มันใหม่แหละ ถ้าเราอยู่ยุคกรีกโบราณ เราก็คงคิดว่าโสเครตีสเป็นบ้าเหมือนกัน ตอนเด็กเราก็สงสัยนะว่าทำไมคนสมัยก่อนไม่เชื่อว่าโลกกลม เขารู้กันมาตั้งแต่ยุคบาบิโลเนียแล้ว แต่สุดท้ายเราก็เห็นนะว่าทำไมเขาไม่เชื่อ มันเป็นเรื่องศาสนาไง เป็นเรื่องอำนาจ ในยุคสมัยนี้ก็เหมือนกัน การตั้งคำถามกับสถาบันมันมีอำนาจเชิงวัฒนธรรมอยู่ ไม่ต้องย้อนไปไกล ก่อนหน้าโซเชียลมีเดียเรายังนึกไม่ถึงเลยว่าจะมีมีมเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โอ้โฮ ต้องบาปหนักแน่ๆ ดีไม่ดีติดคุกด้วย

แต่ความตลก การทำให้มันเป็นเรื่องปกติ มันทำให้เราเห็นว่าเรื่องที่ดูสูงส่ง แตะต้องไม่ได้ มันไม่ได้น่ากลัว มันเป็นเรื่องจับต้องได้

        ความตลกมันเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่งนะ มันทำให้เราคิดต่างไปจากสามัญสำนึกปกติ เราเคยโพสต์เฟซบุ๊กถามว่าถ้าเอาเบียร์แอลกอฮอล์ 0% ไปใส่บาตรจะได้ไหม คนก็มาเถียงกัน บ้างบอกว่าทำให้พระวุ่นวาย อีกคนก็ถามว่าวุ่นวายตรงไหน มันไม่มีแอลกอฮอล์ บ้างให้เหตุผลว่าเดี๋ยวคนมาเห็นแล้วจะรู้สึกไม่ดี ต่อให้ 0% ก็เถอะ พระก็โดนต่อว่าไปแล้ว เนี่ย การได้ความเห็นใหม่ๆ มันมาจากคำถามบ้าๆ แบบนี้ แต่ถ้าคุณไปบอกว่าคิดบ้าอะไร หยุดคิดเดี๋ยวนี้ นอกจากมันจะไม่ขำแล้ว มันจะไปสกัดความคิดน่าสนใจที่อาจเกิดขึ้นได้หมดเลย

กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์เอามาใช้กับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้หรือเปล่า

        ได้แน่นอน เราพูดเสมอว่าการจำแนกศาสตร์ในโลกนี้ไม่มีจริง ทุกอย่างล้วนเป็นปัญญาธรรมชาติ ปรัชญามาจากคำสองคำประสมกันคือ philos ที่แปลว่าความรัก และ sophia ที่แปลว่าความรู้ ปรัชญาคือความรักที่จะใคร่รู้ เราว่านี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนโลก 

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของเรามาจากความรักที่จะอยากรู้อะไร หรือมาจากความรักอะไร

        ทั้งชีวิตนี้เราถามตัวเองเสมอว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกันให้ดีขึ้นได้อย่างไร มันเป็นเป้าหมายชีวิตเรา ต่อให้เราทำงานวิทยาศาสตร์ ส่งการทดลองไปอวกาศกี่ร้อยกี่พันชิ้น ถ้ามันไม่นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั้งโลก เราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม

        เราตื่นมาทุกวันพร้อมความรู้สึกว่าเราอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ มากเลยอะ (ยิ้มไปพูดไป) แค่กินข้าวกับเพื่อนแล้วได้คุยกันเรื่องปรัชญา สังคม มันก็ทำให้เรามีความสุขมากๆ 

        คนชอบถามว่าเราทำงานวิทยาศาสตร์อยู่ดีๆ มาพูดเรื่องการเมืองทำไม เราไม่ได้สนใจแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไง เราแค่เป็นตัวเอง คือชอบตั้งคำถาม สงสัยไปเรื่อย ช่วงไหนมีเรื่องอะไรเราก็ถามเรื่องนั้น เกิดโควิด-19 เราก็คุยเรื่องโรคระบาด ตอนส่งจรวดก็คุยเรื่องอวกาศ ตอนนี้มีชุมนุมเราก็คุยเรื่องการเมือง บางคนคิดว่าเราชอบตั้งคำถามกวนตีน แต่เราไม่ได้กวนตีนเพราะมันเป็นเรื่องนี้ไง เราแค่ก่อกวนทางความคิดไปเรื่อยๆ ชวนคนสงสัยไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างตอนที่เราบอกเจ้าหน้าที่ว่าสิ่งที่พวกพี่ทำจะหลอกหลอนพวกพี่ไปเรื่อยๆ เอาโบไปให้ก็เพื่อชวนเขาคิด

ประโยคนี้คือเตรียมมาก่อนไหม หรือมันผุดขึ้นมาตอนนั้นเลย

        ไม่ได้คิด มันขึ้นมาเอง แต่ถ้าหลักการเรามั่นคง สิ่งที่เราคิด พูด ทำ มันจะไม่ขัดกับตัวเราเอง อย่างกรเพื่อนเรา (กรทอง วิริยะเศวตกุล – ผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co) ทันทีที่ถูกจับ ก็ไม่ได้เตรียมอะไรกันมาก่อน แต่เขาก็จัดการทุกอย่างแทนเรา โทร.บอกสถานทูต เอารูปขึ้นเพจ เราโชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจเรา คุยกันบ่อยจนรู้ว่าหลักการเราคืออะไร ความชัดเจนนี้ทำให้ไม่มีใครสับสน รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ

หลักการที่เชื่อในความเป็นมนุษย์ทำให้คุณไม่กลัว แต่ทำไมมันถึงส่งผลทำให้คนรอบตัวไม่กลัวตามไปด้วยได้

        นั่นสินะ (เงียบสักพัก) เราคงคุยกันเยอะมากจนความคิดมันเชื่อมต่อกันได้ นี่เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากของมนุษย์นะ การที่เราสามารถส่งต่อความคิดเราไว้กับใครอีกคน แล้วตัวเราเองก็เต็มไปด้วยมนุษย์อีกหลายคนเช่นกัน เรารู้สึกว่าในตัวเรามีทั้ง สตีฟ จ็อบส์ โสเครตีส คาร์ล เซแกน ความคิดของพวกเขาเต็มเปี่ยมในตัวเรา มันทำให้เราไม่กลัว

        ไอแซ็ก นิวตัน เคยบอกว่าที่เราเห็นได้ไกล เป็นเพราะเรายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ หมายความว่าเราเป็นผลลัพธ์จากสิ่งที่คนรุ่นก่อนฝากไว้ให้เรา ยิ่งคิดมันยิ่งน่าทึ่งนะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันจริงๆ 

คุณว่าตอนนี้มีความคิดอยู่ในเจ้าหน้าที่ที่คุณยื่นโบให้ไหม

        แม้จะเป็นเสี้ยววินาที แต่ภาพที่เราเห็นคือเราได้เข้าไปอยู่ในตัวเขาแล้ว เราเชื่อว่าในชั่วขณะที่สับสนนั้นเขาเกิดความคิด ความรู้สึกมากมาย วันที่เราเอาโบไปผูก เราผูกเหมือนบายศรีเลยนะ มันคือการส่งต่อความคิดอะ เราเข้าไปอยูในตัวเขา คิดแล้วเราตายตาหลับได้เลย เราเกิดขึ้นมาชั่วคราว แต่เราได้อยู่ในตัวคนอื่นต่อไป เราฝากความคิดเราไว้กับโลก 

ถ้ามันจะมีความคิดสักเศษเสี้ยวเดียวที่เราได้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ในชั่วขณะนั้น คุณอยากให้เป็นความคิดเรื่องอะไร

        Stay hungry stay foolish จงหิวโหย จงกระหายรู้ นี่เป็นคำพูดของ สตีฟ จ็อบส์ เราชอบบอกให้คนโง่เขลา นี่ไม่ใช่คำด่านะ แต่คือคำที่เราใช้เตือนใจตัวเอง มันคือการบอกตัวเองว่าไม่รู้อะไร ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการรู้ว่าไม่รู้อะไร2 มันมีคนพูดคำนี้แล้วนะ มันตรงกับใครไม่รู้แหละ แต่มันแวบขึ้นมาในหัวตอนนี้ มันเป็นอย่างนี้บ่อยนะที่จู่ๆ เรานึกอะไรขึ้นมาได้ พอพูดไปแล้วคนก็บอกว่านี่พูดเหมือนกับคนนั้นคนนี้เลย ครั้งหนึ่งเราพูดว่า อยากให้โลกเป็นแบบไหนก็ทำแบบนั้น เขาก็บอกว่าพูดเหมือนทะไลลามะเลย เราไม่รู้ว่าใครพูด แต่ก็โอ… ดีจังเลย

อาจเพราะใดๆ ที่เป็นสัจธรรมแล้ว มันจะเป็นโต้แย้งไม่ได้ มันจะเป็น statement ในทำนองเดียวกันเสมอ

        ใช่! ใช่! (เสียงตื่นเต้น) เวลานักวิทยาศาสตร์คิดสมการอะไรบางอย่างออกมา มันน่าแปลกใจใช่ไหมว่าเขาอยู่กันคนละที่ คนละเวลา แต่คิดออกมาแล้วได้คำตอบเดียวกันเฉย อะไรที่มันเป็นสัจธรรมแล้ว มันคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ 

แต่การที่จะรับรู้ความจริงเช่นนั้นได้ การที่จะหาคำตอบได้ ก็ต้องมาจากเสรีภาพที่จะถามได้แต่แรกก่อน

        ใช่ไง (ยิ้ม)

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

เล่าเรื่อง Space Economy ให้ฟังหน่อย ที่ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชวนไปคุย

        ยกตัวอย่างเครื่องบินก่อนแล้วกัน แต่ก่อนการบินเป็นสิ่งไกลตัว เป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มมาก คนธรรมดาเข้าถึงไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เราไม่รู้เรื่องการบิน แต่เราก็ใช้ประโยชน์จากมันในชีวิตประจำวัน ไปทำงานเชียงใหม่ สั่งของต่างประเทศ มันคือการเปลี่ยนเรื่องที่เป็น frontier ให้มาอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้คนมองว่าการไปสำรวจดวงจันทร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่นี่จะเป็นอนาคตของเรา จริงๆ ทุกวันนี้เราก็ใช้ประโยชน์จากอวกาศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ GPS ดาวเทียม เทสลาก็เป็นผลจากงานด้านอวกาศของ อีลอน มัสก์ อวกาศจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

         ที่สำคัญคือ อวกาศต้องเป็นพื้นที่สำหรับพลเมือง หรือ Citizens for Space Exploration เราได้ไอเดียนี้มาจากทีม Space Initiative ของ MIT media lab เขาบอกว่าการสำรวจอวกาศทุกวันนี้มันต้องเป็น democratized space exploration คือเป็นการสำรวจอวกาศที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ อวกาศต้องเป็นสินทรัพย์ของมนุษย์ทุกคน

ทำไมการสำรวจอวกาศต้องเป็นเรื่องของทุกคน หากรัฐหรือนายทุนใหญ่เป็นเจ้าของเหมือนอุตสาหกรรมใหญ่ทุกวันนี้จะส่งผลต่างไปอย่างไร

        citizens คือความหลากหลาย เราต้องการเสียงความต้องการจากมนุษยชาติจริงๆ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ใครคนใดคนหนึ่ง เหมือนที่เราต้องมี free press แต่ก่อนสื่อมีแค่ทหาร เราก็จะได้ข้อมูลชุดเดียว แต่พอทุกวันนี้ที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ มีช่องตัวเองได้ เราก็ได้เห็นข้อมูลหลากหลายมากขึ้น การได้ฟังความเห็นกว้างๆ มันเป็นเรื่องจำเป็นกับทุกวงการ ไม่ใช่แค่เรื่องอวกาศ

‘ความฝันกับจักรวาล’3 คือชื่องานชิ้นหนึ่งที่คุณทำร่วมกับ ตูน บอดี้สแลม ในการแปลงเพลงไทยลงใน DNA สังเคราะห์ และส่งไปศึกษาในอวกาศ ความฝันของคุณในการทำงานด้านอวกาศคืออะไร

        เราอยากทิ้งความคิดของเราให้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นต่อไปมากที่สุด เพราะชีวิตนี้เราได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคนอื่นเยอะเหลือเกิน อย่าง คาร์ล เซแกน มันเป็นความสวยงามของชีวิตที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของคนอื่น และมีคนอื่นในตัวเรา

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ขอบคุณภาพจากอินสตาแกรม spaceth.co

คาร์ล เซแกน ส่งผลอย่างไรกับเรา

         โห (เงียบ) ความรัก มุ่งมั่นในวิทยาศาสตร์ และความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เขาสอนให้เรามองไปยังท้องฟ้าแล้วตั้งคำถามกับชีวิตเราเอง เขาอยู่ในยุคที่การสำรวจอวกาศมันถูกชะลอออกไป แต่เขาก็สามารถเขียนนิยาย เขียนหนังสือที่ทำให้การสำรวจอวกาศไม่ใช่แค่นัยยะทางการเมือง แต่เป็นสุนทรียะของชีวิต เราอยากทำอย่างนั้นได้บ้าง

อัลแบร์ กามู เคยบอกว่า ชีวิตเป็นเรื่องไร้ความหมาย และหากมองในเวลาของจักรวาลชีวิตเรานั้นก็เป็นเพียงชั่วพริบตาเดียว แล้วการกระทำทั้งหมดนี้ เราทำไปทำไม

        เพราะเรามีตัวตน I think, therefore I am ไง เราคิด เราถึงมีตัวตน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจักรวาลใหญ่แค่ไหน เราอยู่ในโลกสั้นแค่ไหนเมื่อเทียบกับเวลาจักรวาล แต่สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดคืออิสระในความคิดเราที่ทำให้เรารู้สึกถึงความมีอยู่ แม้อาจจะเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจักรวาล แต่ความคิดมันชัดเจนมากสำหรับเรา 

ในแง่นี้นั้น การที่จะรู้สึกว่ามีตัวตนได้ เราก็ต้องมีเสรีภาพในการที่จะคิดก่อน 

        ใช่ การปล่อยให้คนคิดได้ คือการเคารพการมีอยู่ของเขา

การเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยครั้งนี้ ในแก่นแท้มันคือการปลดปล่อยให้มนุษย์เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

        ใช่เลย (ยิ้ม) 

 

 


1 สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563
2 “I know that I know nothing.” เป็นคำพูดของโสเครตีสที่เพลโตกล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เขามีความสามารถที่จะเรียนรู้ จาก http://www.askphilosophers.org/question/506 
3 อ่านรายละเอียดโครงการ ‘ความฝันกับจักรวาล’ เพิ่มเติมได้จาก https://spaceth.co/messe

**อ่านบทความโดย ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน จากคอลัมน์ Scientifica ได้ทาง https://adaybulletin.com/authors/ณัฐนนท์-ดวงสูงเนิน