ในวันที่คุณอายุ 20 ปี คุณเริ่มต้นความฝันและวาดหวังในชีวิตไว้อย่างไร?
สำหรับ ‘บาส’ – เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ZAAP Party เขาเริ่มต้นแพสชันของตัวเองด้วยความล้มเหลว และพาชีวิตติดลบไปกับหนี้ก้อนใหญ่เกือบหนึ่งล้านบาท สิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้คือต้นทุนที่มีค่าที่สุดของวัยเด็ก กำลังใจและคำพูดเล็กๆ จากเพื่อน ทัศนคติที่ปรับเปลี่ยนและมองทุกอย่างว่าเป็นการทดลองและลงทุน ซึ่งสิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการเผชิญหน้ากับความจริงและลงมือทำมัน
ไม่ว่าใครที่ยังเรียนอยู่หรือจบออกมาทำงานแล้ว กำลังทุกข์ ท้อ หรือหมดหวัง เราอยากให้คุณได้รู้จักชีวิตของผู้ชายคนนี้ที่ยืนยันแล้วว่าชีวิตไม่ได้จบสิ้นในวันที่คุณล้มเหลว แต่มันอยู่ที่คุณเอาจริงเอาจัง ทดลอง และลงมือจัดการกับความจริงที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร
การเริ่มต้นชีวิตวัยหนุ่มด้วยการมีเงินติดลบ 9 แสนบาท มันหนักแค่ไหน จุดเริ่มต้นธุรกิจ ZAAP Party ในวันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ้านับปีนี้ก็เข้าปีที่ 6 แล้ว จุดเริ่มต้นของ ZAAP Party ไม่ได้เป็นออร์แกไนเซอร์อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้นะ จุดเริ่มมาจากตอนที่ผมจัด ZAAP Charity Concert ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ขณะนั้นผมเป็นทูตกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกเราเป็น สาย CSR ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แล้วตอนนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พวกเราก็มาคิดว่าจะช่วยทำอะไรกันดี ผมไม่อยากทำอะไรเดิมๆ อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งเราชอบงานเบื้องหลังเพราะเคยทำละครเวที อีกอย่างหนึ่งที่ชอบคืองานแนวคอนเสิร์ต ก็เลยบอกเพื่อนๆ ว่าลองทำคอนเสิร์ตการกุศลดูสักหนึ่งงานไหม
ซึ่งครั้งแรกที่เริ่มต้นก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ทุกคนคิดนะ คุณลองนึกภาพตาม ผมเป็นพวกปาร์ตี้บอยที่ชวนเพื่อนๆ ไปนั่งดูคอนเสิร์ตการกุศลในหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทายดูสิ (หัวเราะ) ผลสุดท้ายคือไม่มีใครซื้อบัตร ZAAP Charity Concert ครั้งแรกก็เลยเจ๊งเละเทะ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ คือติดหนี้พ่อตัวเองก้อนแรก 9 แสนบาท ตอนเรียนอยู่แค่ปี 3 ทำอะไรไม่ถูก
ความล้มเหลวในตอนนั้นทำให้คุณมีรู้สึกยังไง แล้วผ่านมาได้ยังไง
เอาง่ายๆ เลยนะ คืออยากจะเมาทุกคืน เครียดมาก ที่บ้านผมก็ไม่ได้รวย พ่อก็เลยต้องเอาเงินเก็บของเขามาให้ผมไปใช้หนี้ แล้วต้องแบ่งเอาไปดูแลน้องๆ อีก ความเครียดในชีวิตตอนนั้นทำให้เราปล่อยชีวิตเละเทะเลย กินเบียร์ทุกคืน ปล่อยตัวเองอ้วน เพราะไม่เคยเจอสถานการณ์ล้มเหลวแบบนี้ ปกติชีวิตผมไม่เคยมีปัญหาเรื่องการเงิน เลยกลายเป็นความกดดันที่ยากมากในตอนนั้น
สิ่งที่ช่วยดึงตัวเองกลับมาในช่วงแย่ๆ คือการมีเพื่อนที่ดี เพื่อนเป็นคนเข้ามาช่วยตั้งคำถามที่จุดประกายไอเดียให้ผมว่า ทำไมไม่ลองจัดปาร์ตี้ดูล่ะ เขาเห็นผมปาร์ตี้กับเพื่อนเยอะมาก แล้วผมรู้จักคนตามแหล่งแฮงเอาต์เยอะ ก็เลยเอาไอเดียนี้มา
แต่ตอนแรกก็ยังดื้อนะ คิดว่าถ้าจัดก็ยังอยากจะจัดแบบเป็นคอนเสิร์ตการกุศลเหมือนเดิมนั่นแหละ คืออย่างน้อยๆ อยากนำเงินที่ได้ไปทำบุญ แล้วก็เอามาคืนทุนตัวเอง แต่เพื่อนๆ เบรกไว้ ก็เลยลองมาดีไซน์ลักษณะปาร์ตี้ในแบบของพวกเรา ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นแรกของ ZAAP Party ซึ่งเริ่มจากหนี้ก้อนนั้นแหละ แล้วก็เหลือเงินเพียง 5 หมื่นบาทในการจัดงานในผับ วงดนตรีที่มาเล่นก็เป็นรุ่นพี่ที่รู้จักกัน ชวนดีเจมาเปิดแผ่น ออกแบบเป็นคอนเสิร์ตในลักษณะปาร์ตี้ มีคอนเซ็ปต์ว่าเป็นปาร์ตี้เพื่อคนโสด
กลุ่มตลาดใหญ่แน่นอนเลยใช่ไหม คนโสด
(หัวเราะ) เราเอาความโสดมาเล่นเป็นแก๊ก ซึ่งเกิดจากเวลาไปนั่งร้านเหล้า นั่งๆ อยู่แล้วสังเกตเห็นนักร้องชอบแซวคนดู ‘ขอเสียงคนโสดหน่อยโว้ย’ ทั้งร้านกรี๊ดกันสะบั้นหั่นแหลกมาก เราก็ เฮ้ยๆ อันนี้แหละ มันสะท้อนให้เห็นลักษณะสำคัญของคนรุ่นเรา คือรุ่นที่ให้ความสำคัญกับสถานะทางสังคม ให้ความสำคัญกับเรื่องความโสด เราก็เลยดึงจุดนั้นมาประยุกต์ใช้ต่อ แล้วตอนนั้นมีงาน Sensation มาจัดที่เมืองไทย เราก็งงๆ ทำไมมีคนใส่แต่ชุดสีขาวกันได้ทั้งงานแบบนั้น แล้วถ้าเราอยากให้คนแต่งตัวมางานเราบ้างล่ะ จะทำยังไง ก็เลยลองคิดกันดูว่าน่าจะทำเป็นคอนเซ็ปต์ Dress Code ให้เกี่ยวกับคนโสดไปเลยดีไหม ก็เลยได้ชื่อว่า ‘ไม่โสดขาว เหงาดำ’ สรุปคนใส่สีดำกันมาทั้งงานเลย
นั่นคือการเปลี่ยนความเครียดในชีวิตตอนนั้นให้เป็นแรงขับเคลื่อนในการคิดงานใช่ไหม
จริงๆ ผมว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับการที่คุณเศร้าอยู่ เสียใจอยู่ หรือเครียดอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่คุณต้องคอยสังเกตตัวเอง สังเกตสิ่งรอบข้าง แล้วดึงมาประยุกต์ใช้ คุณจะผ่านมันไปได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์ บางคนชอบพูดว่าคิดงานไม่ออกเลย เครียด นอยด์ แฟนบอกเลิกก็คิดงานไม่ออก นอนไม่พอก็คิดงานไม่ออก คือมันมุ่งไปที่พื้นฐานอารมณ์ทั้งหมดเลย แต่ผมกลับมองว่าสิ่งสำคัญคือการลงมือทำมากกว่า เราต้องเพิ่มการกระทำให้ตัวเอง สังเกตทุกอย่าง นำมาประยุกต์ แล้วก็ลงมือทำ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร เราจะผ่านมันไปได้
เราอยากรู้ว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ชอบปาร์ตี้สนุกกับเพื่อนๆ กับเด็กหนุ่มอีกคนที่สร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาจากงานปาร์ตี้นั้น
อาจจะเป็นโชคด้วยนะ ผมว่าตัวเองโชคดี แล้วก็อยากจะบอกเด็กรุ่นใหม่ว่าใช้ความเป็นเด็กของเราให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้ผมอายุ 27 แต่ตอนที่ผมเริ่มต้นธุรกิจคืออายุ 21 นั่นผ่านมา 6-7 ปี จนถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยรู้สึกว่าที่เราทำอยู่นี่คือธุรกิจเลย ด้วยความเป็นเด็กจึงพูดได้เต็มปากว่าเราไม่ได้ทำธุรกิจ ZAAP Party เราเพียงแค่ทำทุกอย่างที่เรารักให้เป็นการหารายได้อย่างที่มันควรเป็น ซึ่งอยากจะให้เพื่อนทุกคนใช้ความเป็นเด็กให้เป็นประโยชน์
ก็ถือเป็นความโชคดีที่ผมได้เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น ได้สร้างงานที่ไม่ใช่งาน เพราะเรารักในสิ่งนี้ เราชอบ เราได้ทดลอง พลาด และล้มเหลว เพราะตอนเด็กๆ เราสามารถบอกได้ว่า ‘พี่ครับ ผมยังเด็กอยู่ ยังอยากสนุกอยู่’ ทุกวันนี้ก็ยังพูดได้ว่าสนุกกับสิ่งที่ทำ มันไม่ใช่งาน ไม่ใช่ธุรกิจ เพราะถ้าเราคิดว่ากำลังทำธุรกิจมันจะกดดันทันที จะเครียดขึ้นมาเลย จะเกี่ยวกับกำไรขาดทุนนู่นนี่นั่นเยอะแยะมาก พอเราตัดเรื่องพวกนี้ออกไปก็กลายเป็นเราได้เริ่มจากแพสชันอย่างแท้จริง
และอีกอย่าง ต้นทุนที่มีค่าที่สุดของวัยเด็กสำหรับผมก็คือเพื่อน เพื่อนที่เราปรึกษาได้ เพื่อนที่เขาไม่คิดถึงเรื่องธุรกิจกับเรา ถามอะไรเขาก็ตอบด้วยความเป็นเพื่อนจริงๆ พอมาบวกกับความเป็นเด็ก เวลาคนอื่นมองคุณหรือคุณจะทำอะไร เขาก็มักจะให้โอกาสคุณก่อนเสมอ ผมว่าปัจจัยหลักๆ ก็สองข้อนี้แหละ คือความเป็นเด็กและเพื่อนๆ แต่ถ้าจะถามหาอีกข้อ ผมว่าคือไฟ เวลาล้มหรือดับมันจะกลับมาติดใหม่ได้ง่ายกว่า ผมว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าปล่อยเวลาล่วงเลยไป รอให้คุณโตไปเป็นผู้ใหญ่แล้วไฟจะติดยาก
ไม่ได้บอกว่าผู้ใหญ่ไม่มีไฟนะหลายๆ คนก็มีไฟ แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าเวลาไฟดับไป วัยเด็กมันจุดติดง่ายกว่า ฉะนั้น ผมมองว่าอย่าปล่อยเวลาให้ตัวเองโตไปเรื่อยๆ แล้วพูดว่า ‘เดี๋ยวค่อยไปทำตอนสามสิบก็ได้ รอมีเงินก่อน’ ผมว่าเราต้องลองก่อน ให้ตัวเองได้ลอง
ผมพูดเสมอว่า ถ้าคุณไปวิ่งหาโอกาส คุณก็จะไม่เจอโอกาส คนชอบพูดว่าต้องออกไปหาโอกาสสิ ต้องค้นหาแพสชันของตัวเองสิ ไม่เจอหรอก หรือจะมีสักกี่คนที่เจอ แต่สำหรับคนที่จะเจอ คุณไม่ต้องวิ่งไปหา คุณแค่รู้ตัวเองว่าคุณทำอะไรได้บ้าง แล้วโอกาสมันจะวิ่งเข้าหาคุณเอง นี่คือแนวคิดสำคัญที่สุด แล้วชีวิตผมก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ผมเคยมัวแต่วิ่งเข้าหาโอกาส สุดท้ายก็เฟล ไฟดับ แต่พอเราลองจุดไฟตัวเองอีกครั้ง ลองถามตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง เฮ้ย เราจัดปาร์ตี้ได้นี่หว่า พอรู้ว่าเราทำได้ ทำครั้งแรกสำเร็จ ครั้งที่สองก็จะทำอีก ครั้งที่สามก็จะทำอีก คือไม่ต้องวิ่งหาโอกาสเลย แต่สร้างจากตัวเอง
บางทีนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดก็ได้ การค้นหาว่าเราทำอะไรได้ดี
ไม่ยากสิ คือเราค้นพบมันได้ตั้งแต่วันที่คิดว่าอยากจะทำอะไร ผมชอบคำว่า ‘ทำทันที’ ที่ท่าน ว.วชิรเมธี สอน คือเราทำทันทีโดยไม่จำเป็นต้องสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยคุณได้คือลดความคาดหวัง ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้เริ่มเสียทีก็คือความคาดหวังที่สูงเกินไป เช่น อยากเป็นเจ้าของบริษัทตั้งแต่อายุยังน้อย คิดว่าต้องมีเงินเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน ทุกคนจะคิดว่าต้องเริ่มด้วยความคาดหวังที่สูงเสียก่อน แต่จริงๆ แล้วคือคิดแล้วลงมือทำเลยครับ มันจะช่วยลดความคาดหวังลง เช่น คุณอยากเป็นเจ้าของบริษัท ก็เริ่มลองก่อนเลย ปีนี้ฉันจะลองดู ไปเรียนรู้บริษัททำยังไง ไปเรียนรู้คู่แข่ง ไปเรียนรู้ตลาดก่อน อันนี้คือเริ่มได้แล้วนะ แต่ถ้าเราไม่ได้ลดความคาดหวัง เราก็จะไปมองที่ปลายทางแทน เราจะมองว่าฉันจะต้องมีบริษัทอยู่ตรงนี้ ฉันต้องเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่สยาม แต่จริงๆ นะ เออว่ะ ฉันลองขายเสื้อผ้าออนไลน์ดูก่อนก็ได้นี่ ฉันลองขายตลาดนัดดูก่อน สิ่งพวกนี้คือการที่เราได้ทำ และลดความคาดหวังลง ฉะนั้น ผมมองว่าเริ่มเลยครับ ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่นี่แหละ มหาวิทยาลัยหรือมัธยมก็ได้ อยากลองอะไรก็ลองเลย เพราะผิดพลาดมาก็ไม่มีใครว่า แต่คุณลองปล่อยชีวิตไปถึงอายุ 30-40 มีภาระ มีครอบครัว ก็เริ่มอะไรได้ยากแล้ว
ชอบที่คุณพูดคำว่า ‘ลอง’ บ่อยมาก กระบวนการทดลองมันมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ใช่ไหม
มันคือสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นก่อน ได้ทำก่อน มันมีการลองอยู่สองแบบนะ คือเราได้ลองทำ ก็จะได้บทเรียนเพื่อนำไปพัฒนา กับอีกแบบหนึ่งคือลองทำแล้วไม่ได้รับผล ฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจกันก่อน เมื่อจะทำอะไรบางอย่างต้องยอมรับในผลที่ตามมา และมองหาปัญหาหรือสาเหตุ ถ้าสิ่งที่ตามมาหลังจากลองแล้วไม่ดี แต่สำหรับผม การลองทำให้ชีวิตเราได้ซ้อม ชีวิตคนเราก็เหมือนนักมวย บางทีเราซ้อมแทบตาย ขึ้นไปชกแค่สองสามนาที บางทีซ้อมมาท่านี้ ไปบนเวทีดันไม่เจอ แต่อาจมีท่าอื่นขึ้นมาช่วยเราได้ ตรงนี้สำคัญกว่า บางทีเราไปมองแต่ตอนขึ้นชก แล้วเตรียมมวยแค่บางท่ามาขึ้นชก แต่ในเวลาจริงๆ มันอาจเป็นการไปดึงสกิลอื่นๆ ที่เราเคยได้ลองทำมาใช้ก็ได้ ดังนั้น ตรงนี้แหละคือการสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะการทำงาน หรือการใช้ชีวิต
ผมมองว่าเราทุกคนต้องสังเกตตัวเอง บางทีไม่ต้องลองทำ แต่ให้ลองสังเกตดูแทน ผมชอบดูชีวิตคนอื่นเป็นยังไง ชอบคุย ชอบฟังคนอื่นๆ เพราะนั่นคือการได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ เหมือนกัน การตั้งใจฟังนี่แหละไม่เสียเงินสักบาท การฟังจากผู้ใหญ่ จากคนที่ประสบความสำเร็จ ประสบการณ์ ความสำเร็จ และแนวความคิดของเขา มันคือการได้รับแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตเรา
เมื่อก่อนผมเป็นคนพูดมาก แต่เดี๋ยวนี้ผมลองเปลี่ยนเป็นผู้ฟัง ก็ทำให้เปิดกว้างขึ้น ได้เห็นมิติของคนอื่น ผมเลยมองว่าการที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารักหรือได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะวันหนึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเราจะเจอปัญหาอะไร แต่ว่าประสบการณ์ที่คุณได้ลองทำและสะสมมา สามารถจะดึงมาใช้ได้
ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้ได้ทดลองกันเลย เรียนในห้องแล้วก็ไปนั่งสอบ เขามีคำตอบให้เลือกแค่สี่ช่อง และผลออกมามีแค่ผิดและถูกแค่นั้น
คนมักจะมองข้อสอบเพียงแค่ถูกผิด ถ้าถูกก็ได้หนึ่งคะแนน แต่ผมกลับมองต่าง ผมพยายามมองมันเป็นข้อดี ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมันได้ เราก็ต้องมองหาข้อดีของมันให้ได้ (หัวเราะ) การที่เราจะตัดสินใจกาคำตอบสักข้อ แสดงว่าเราต้องผ่านการอ่านหรือได้เรียนรู้โจทย์นั้นมาก่อน
ชีวิตเราก็เป็นแบบนั้น ถ้าเราอยากทำอะไรสักอย่าง คุณจะมั่วทำ คุณจะเสี่ยงทำ หรือคุณจะไปหาความรู้มาก่อน แล้วตอบข้อนั้นให้มันถูก ใช่ คุณอาจจะตอบคำถามของ ม.4 ไม่ได้ แต่พอคุณขึ้น ม.5 คุณก็กลับไปอ่านได้นี่หว่า คุณก็แค่เสียคะแนนนั้นไป แล้วยังไง ก็เหมือนกันกับการกระทำ ตอนนั้นเราอาจจะทำไม่ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งที่ผ่านมาแล้ว คุณอยากจะกลับไปทำให้ได้ หรือใส่ใจอยากไปรู้ให้ได้ คุณก็ย้อนกลับไปดูมัน แต่คนส่วนใหญ่พอทำข้อสอบไม่ได้ก็รู้สึกว่าอยากไปเรียนเรื่องอื่นแทนแล้ว แต่ถ้าคนที่ใส่ใจ มันก็คือการกลับไปค้นคว้า ไปอ่าน แล้วกลับไปทำให้ดี คุณอาจจะไม่ได้คะแนนตอนนั้น แต่อย่างน้อยคุณก็ได้รู้ ทุกวันนี้ผมมองว่าข้อสอบข้อไหนที่ผมทำไม่ได้ ผมก็ไปทำข้ออื่นที่ผมทำได้ก่อน แล้วค่อยกลับมาทำ
หมายความว่า คุณค่าที่แท้จริงของการสอบ ไม่ได้ประเมินในวินาทีที่ครูให้คะแนนเรา
ผมมองว่าทัศนคติของคนเราถูกสอนให้มองที่ปลายทางเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยกี่ร้อยล้าน คุณก็ไปดูที่มูลค่าปลายทาง แต่คุณไม่ได้ดูระยะทางที่ผ่านมาเลย
อย่างผมเรียนศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคร แต่กลับมีวิชาเดียวที่ผมชอบและรักมากคือ Art Management แต่เวลาที่ผมไปเรียนที่คณะนั้น ก็ทำให้ผมรู้อีกหลายอย่าง ฉะนั้น ถ้าเรามองว่าเรียนศิลปกรรมศาสตร์จบมาแล้วไม่ได้อะไร มันไม่ใช่ เราต้องไปดูระหว่างทาง ทุกวันนี้ผมทำออร์แกไนซ์ก็ได้ความรู้จากละครเวทีที่ทำตอนนั้น ดังนั้น ระยะทางนี่แหละที่สำคัญที่สุด
ผมชอบพูดคุยกับคนว่าคิดเห็นอย่างไร เวลามีปัญหาทำอย่างไร สร้างบริษัทจากอะไร ขยายไปธุรกิจอื่นเพราะอะไร เราต้องไปดูระยะทางตรงนั้น เพื่อจะมาพัฒนาตัวเรา
กิจกรรมนักศึกษาตอนเรียนอยู่ เป็นเหมือนโลกจำลองของการทำงานจริงๆ ให้กับคุณ
ใช่ๆ พูดถูกเลย เพราะละครเวทีมันละเอียดมาก แล้วผมก็ได้อะไรเยอะ ผมพูดกับทีมงานที่บริษัทเสมอว่า อย่ามองว่างานออร์แกไนซ์ไม่ให้อะไร เพราะงานนี้เราได้ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทุกอย่างอยู่ที่นี่หมด แต่คุณมองแค่ต้นกับปลายทางไม่ได้ ระยะทางระหว่างเดินนี่แหละสำคัญที่สุด ลองดูสิ คุณได้พูดคุยกับลูกค้า ได้เห็นความคิดคน ได้เจอผู้คนแปลกใหม่ ได้เห็นการจัดการศิลปิน ได้สั่งข้าวกล่องด้วยนะ ทีนี้คุณก็รู้ต้นทุนหมดเลย สั่งซัพพลายเออร์เป็นยังไง เซตไม่ทันเป็นยังไง คุณได้รู้หมด ออร์แกไนเซอร์ให้ทักษะทุกอย่างกับเรา ดังนั้น อย่ามองแค่ปลายทาง นั่นจะทำให้คุณพลาดสิ่งที่มีมูลค่ามากที่สุด
ฟังดูคุณสนุกกับการทำงานมากเลย อยากรู้ว่าคุณมีความกลัวบ้างไหม แล้วคุณจัดการมันอย่างไร
ความกลัวเหรอ (นิ่งคิด) มันก็มีนะ แต่ผมว่าความกลัวจะหายไปได้ถ้าคุณมีเพื่อน ผมเป็นคนดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวคนเดียว ผมเชื่อเรื่องนี้มากๆ ต่อให้คนพูดว่าคุณเก่ง ผมจะพูดกลับไปเสมอเวลาคนพูดถึงงานเราในทางที่ดีว่าต้องขอบคุณทีมงานของเราทุกคน คือไอ้ความกลัวที่เข้ามาในระหว่างการทำงานจะหายไปได้ถ้าคุณมีคนช่วย ความกลัวจะหายไปเมื่อคุณได้อะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกสบายใจ
โอเค ลองคิดภาพความเป็นจริง เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่นั่งแย่ๆ นั่งเศร้าๆ อยู่ เราคงไม่หายเองได้ง่ายๆ ผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเวลาที่กลัว เศร้า หรือเสียใจ มันไม่สามารถหายด้วยตัวเองได้ สิ่งที่ทำให้หายเร็วที่สุดคือต้องหันซ้าย ขวา หน้า หลัง แล้วมีเพื่อนหรือใครสักคน เพื่อที่ว่าให้เราได้เห็นมิติอื่นบ้าง
อีกอย่างหนึ่งเราต้องตั้งคำถามให้ถูก ถ้าตั้งคำถามด้วยอารมณ์ เราก็จะได้คำตอบเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเราตั้งคำถามด้วยเหตุและผล มันก็จะถูกแก้ด้วยเหตุและผล ฉะนั้น เราต้องถามคำถามให้ถูก เช่น งานนี้จะขาดทุนแล้วว่ะ แต่ถ้าเราถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุน แบบนี้ไม่มีใครตอบได้หรอก เพราะมันจะขาดทุนอยู่แล้วนี่ไง แต่คุณต้องลองเปลี่ยนคำถามดู จะทำยังไงให้มันคุ้มที่สุด ทำยังไงให้มันเป็นการลงทุนแทนการขาดทุน ทำยังไงให้เราได้งานต่อไป หรือทำยังไงให้เงินก้อนนี้ย้อนกลับมาในวันข้างหน้า พอเปลี่ยนคำถามเราก็จะตอบได้ เออ เอาอันที่เหลือไว้สร้างงานหน้า เก็บของอันนี้ไว้ ทำโปรดักชันมาแล้วใช่ไหม ผลิตแล้วจะได้เก็บไว้ เอาเหล็กอันนี้ไปขาย เห็นไหม
แต่ถ้าเราถามว่าทำอย่างไรให้ไม่ขาดทุน พระเจ้ายังตอบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งคำถามให้ถูกเวลาเรากลัว หรือเจอปัญหาเข้ามา ต้องมีสติ
ภาพ: inkit photo