“จริงๆ ครอบครัวเราไม่ได้สนใจการเมืองเลย ก็ติดตามข่าวบ้าง แต่ก็ไม่ได้สนใจเป็นอันดับต้นๆ จำได้ว่าตอนนั้นที่บ้านยังคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวอยู่เลย เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า เพราะเขามองว่าหน้าที่เราคือทำงานของเรา ส่วนเรื่องการเมืองก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองไป
“แต่หลังจากเกิดรัฐประหารปี 2557 ที่ครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษกิจ แล้วตัวเราเองก็เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมถูกจับกุมหลังไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าหอศิลป์ ด้วยการไปยืนมองดูเวลาครบรอบการรัฐประหารในปี 2558 หรือ 1 ปีต่อมา ตอนนั้นเรารู้เลยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุเพียงแค่ครอบครัวเราแล้ว แต่มันเกิดจากความผิดเพี้ยนของการปกครองในประเทศ ณ ตอนนั้นด้วย”
นี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘มายด์’- ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หญิงสาววัย 25 ปี จากจังหวัดสระบุรี ที่ปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศรู้จักเธอในฐานะหนึ่งในแกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก หลังจากที่เธอออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“เหตุการณ์ที่หอศิลป์ ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า ประชาชนกลุ่มหนึ่งแค่อยากแสดงความคิดของตัวเองอย่างสันติ แต่ทำไมเขาถึงทำไม่ได้ จริงๆ แล้วเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีอำนาจมากแค่ไหน เราทำอะไรได้บ้างในประเทศนี้ แค่ยืนมองเวลาเรายังยืนมองไม่ได้ แค่ยืนทำกิจกรรมเรายังทำไม่ได้ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง”
Hometown & Education
ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำให้คุณมองเห็นถึงปัญหาทางการเมืองจริงๆ คือการเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกลิดรอนสิทธิ
ใช่ หลังจากนั้นเราเริ่มทำความเข้าใจว่าประเทศไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น ทำไมประชาชนถึงถูกจับไปแบบนั้น สืบสาวไปเรื่อยจึงค้นพบว่า เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง การเข้ามายึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการละเลยอำนาจของประชาชนแล้วทำการรวบเอามาเป็นของคนกลุ่มเดียวเท่านั้น
ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร เศรษฐกิจจะหยุดชะงักลงในช่วงหนึ่ง แล้วถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาพยุงหรือดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ก็ยิ่งดิ่งลงเหวไปอีก เราจำได้ว่าก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจประเทศเราก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่พอรัฐบาลไม่มีการเยียวยาในสิ่งที่เขาทำลงไป สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเลยคือคนรากหญ้า คนหาเช้ากินค่ำ ได้รับผลกระทบแน่นอน ครอบครัวเราเองที่เป็นชนชั้นกลางธรรมดา แม่ทำอาชีพค้าขาย พ่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็หนีไม่พ้นปัญหานี้เหมือนกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัวเราแล้ว แต่มันมีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม่เราเคยขายของได้เดือนละเกือบแสน เหลือเพียงสองหมื่นกว่าบาทต่อเดือนเท่านั้นเอง ซึ่งการที่มันขายไม่ดีแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดจากแม่เราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนในประเทศก็ไม่มีกำลังในการใช้จ่ายที่มากพอด้วย เราถึงบอกว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องภายในครอบครัวเราแล้ว
แล้วใครต้องรับผิดชอบล่ะ ก็ต้องเป็นรัฐบาลสิ คุณเข้ามากระทำการบางอย่างให้เศรษฐกิจชะงัก และยังไม่ทำการฟื้นฟูเยียวยาให้ดีพอ มัวแต่สนใจเรื่องปัญหาเชิงอำนาจนิยม การช่วงชิงตำแหน่งทางการเมือง มองไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นนอกรัฐสภาแม้แต่น้อย
แค่นี้ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ชัดเจนแล้วว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อประชาชนเลย แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น
แสดงว่าคุณกำลังหา ‘ผู้ร้าย’ ให้กับเหตุการณ์ที่ทำให้กิจการครอบครัวซบเซาในครั้งนั้น?
ตอบได้เต็มปากเลยว่านี่คือผลงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะแค่การเข้ามาของเขาก็ไม่ถูกต้องแล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะยอมรับกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเลยสักครั้ง เพราะนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา ยังทำให้สภาวะทางการเมืองเกิดความสั่นคลอน ไม่มั่นคงมากขึ้นไปอีก
ทำไมถึงคิดว่าตอนนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาและเริ่มปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับคนในสังคม
ตอนนี้พื้นที่ประชาธิปไตยกำลังเปิดและมีเพดานสูงกว่าหลายปีก่อนมาก เราเลยมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปลูกประชาธิปไตยต้นเดิมให้สูงทะลุเพดานมากขึ้นไปอีก และคงเป็นการดีที่จะเริ่มหว่านเมล็ดพันธ์ุลงบนพื้นที่อื่นๆ ให้เราได้รู้จักคำว่าประชาธิปไตยมากขึ้น
แต่กว่าคุณจะมองเห็นถึงปัญหาทางการเมืองแบบนี้ ครอบครัวก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว จะดีกว่านี้ไหมถ้าเราได้เรียนรู้บริบททางการเมืองและได้มีโอกาสแก้ไขปัญหากันตั้งแต่เด็ก
ระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากในการบ่มเพาะสิ่งที่เรียกว่าอนาคต เราอยากให้บ้านเมืองหรือพลเมืองเป็นแบบไหน การศึกษาสามารถช่วยหล่อหลอมขึ้นมาได้ทุกรูปแบบ ดังนั้น นอกจากความรู้พื้นฐานที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้แล้ว ความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองคิดและต่อยอด ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประชากรให้เข้าใจความต่างของมนุษย์ได้มากขึ้น ซึ่งเรามองว่าการศึกษาไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น
จากประสบการณ์ของเราเอง การศึกษาถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบที่แข็งแรงเกินไป ยากที่จะเปิดโอกาสให้เด็กออกไปค้นหาตัวเองข้างนอก อีกทั้งยังไม่ส่งเสริมให้เขาเริ่มค้นหาตัวเองว่าอยากจะทำอะไรในอนาคตอีก แต่จะชี้นำด้วยค่านิยมทางสังคมมากกว่า ว่าคุณต้องเรียนสายการเรียนวิทย์-คณิต จะได้โตไปแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้หลากหลายมากขึ้น โดยไม่สนใจเลยว่าเด็กคนนั้นชอบหรือเปล่า หรือมีความถนัดอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เรามีโอกาสจะสร้างคนเก่งที่หลากหลาย แต่การศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากพอ
เชื่อไหม ถ้าการศึกษาไทยสร้างค่านิยมว่าคนเก่งมีหลายด้าน มนุษย์มีความแตกต่าง จะสามารถช่วยให้คนเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยที่จะหล่อหลอมให้คนยอมรับความแตกต่างในอนาคตได้มากขึ้น
โดยสิ่งที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้โดยตรงเลยคือเรื่องการเมือง การที่สอนให้เขาเข้าใจชีวิตตัวเอง เข้าใจบทบาทของตัวเองในสังคม เข้าใจบริบทของสังคมตอนนั้นว่าต้องการอะไร และควรขับเคลื่อนไปทางไหน ทั้งหมดคือสิ่งที่จะช่วยแนะนำให้เขาเข้าใจว่าตัวเองต้องพัฒนาอย่างไรในอนาคตข้างหน้า ซึ่งผลลัพธ์จะแตกต่างจากการสอนแกมบังคับว่าเด็กโตไปต้องทำแบบนั้นหรือเป็นแบบนี้เท่านั้น
แต่ถ้าพูดให้ละเอียดลงไปอีก คงต้องมาดูกันที่เนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศึกษาที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง การท่องจำควรเป็นสิ่งที่ต้องเอาออกไปให้เร็วที่สุด ในวิชาเหล่านี้ กระบวนการสอนไม่ควรเป็นแบบนั้น มันควรถูกสอนด้วยครูที่เปิดกว้างและรับความหลากหลายได้มากกว่านี้ สามารถเล่าข้อมูลให้เด็กฟังได้อย่างรอบด้าน ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่เล่าเหตุการณ์ทางการเมืองโดยยกขั้วการเมืองหนึ่งให้กลายเป็นฮีโร่เข้ามาปราบขั้วการเมืองอีกฝั่ง แบบนั้นไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ผิดเลย
ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกัน ระบบการศึกษาไทยยังติดอยู่ในกับดักของวิชานี้ผ่านการศึกษาแต่อดีตที่ผ่านมา โดยที่ไม่สนใจเลยว่าอนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร เรามัวแต่ท่องชื่อของกษัตริย์ในราชวงศ์อยุธยา แต่ไม่เคยมานั่งวิเคราะห์เหตุการณ์ในช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 หรือพฤษภา 53 เลย คือถึงมีก็มีอย่างเบาบาง ไม่เพียงพอต่อการนำไปต่อยอดและถกกันในชั้นเรียน ทั้งที่เรื่องแบบนี้คือรากฐานของอนาคตเด็กๆ ทั้งนั้น
ทำไมเด็กรุ่นหลังถึงไม่มีสิทธิ์ได้เรียนรู้ล่ะ อดีตคือสิ่งที่ควรศึกษาเพื่อหาทางแก้ไข และป้องกันในอนาคต ไม่ใช่ศึกษาแค่ให้รู้แล้วก็ปล่อยให้หายไปกับกาลเวลา
หมายความว่าสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน คือการนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านและสามารถใช้ต่อยอดกับอนาคตของนักเรียนได้
ใช่ ถ้าไม่มีกระบวนการแบบนี้ เด็กจะไม่เรียนรู้ ไม่สร้างสรรค์สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนั้นได้ จะทำให้เราเรียนรู้ทุกอย่างอยู่ในกรอบเท่านั้น
จริงอยู่ เด็กควรรู้ว่าสังคมไทยมีกรอบอยู่ตรงไหน แต่เรามองว่านี่เป็นแค่หลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับนี้ เพราะอนาคต กรอบหลายๆ เรื่องต้องมีการขยายหรือเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ต้องให้เด็กลองไปสำรวจนอกกรอบดูก่อนว่ามีอะไรรอเขาอยู่ในอนาคต จากนั้นค่อยนำกลับมาปรับใช้และพัฒนากรอบในปัจจุบันของตัวเองดีขึ้น
เชื่อไหม เห็นแบบนี้ เราเป็นคนที่โคตรเกลียดวิชาสังคมศึกษาในโรงเรียนเลย เพราะเรารู้สึกว่าทำไมต้องมานั่งท่องจำ ทำไมต้องมานั่งเขียนเรียงความที่ลอกข้อมูลมาจากหนังสือ เหมือนเป็นวิชาที่เราเรียนไปแบบไม่ต้องคิดอะไร ข้อมูลที่ได้ก็ไม่ได้มานั่งตรวจสอบเลยว่าครบถ้วนแค่ไหน ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเราทั้งนั้น ถ้าการศึกษาไทยยังเป็นแบบนี้ต่อไป เรามองว่านี้ก็เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ปัญหาเรื่องภูมิศาสตร์และการเมืองเป็นเรื่องที่น่าพูดถึงเหมือนกัน เพราะคุณเองเคยอาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีความเหลืองมากๆ คิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาต่อประชาธิปไตยหรือเปล่า
มีความเป็นไปได้สูงมากที่ในแต่ละพื้นที่จะมีความคิดที่เหมือนและแตกต่างกันกระจายอยู่ แต่สุดท้ายก็จะมีการรวมกลุ่มคนที่มีความคิดเดียวกันเข้าหากันในพื้นที่นั้นๆ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์จังหวัดสีเหลือง จังหวัดสีแดง แบบที่ผ่านมา
ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนเห็นต่างคือสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นและมีอยู่ เพราะจะทำให้สังคมเกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าถ้าหากเราพูดกันในเชิงหลักการ
แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่แบบนั้น การทำร้ายคนที่เห็นต่างทางการเมือง การบอยคอตคนที่เห็นต่าง ไปจนถึงขั้นไล่คนออกจากจังหวัด เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจแก่นแท้ประชาธิปไตยที่ดีพอ เรามองว่าสุดท้ายแล้วเราอยู่กันในสิ่งที่เรียกว่าสังคม เราก็ต้องมีการเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน
ถ้าเป็นเสียงส่วนน้อยในพื้นที่ จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับส่วนมากที่เห็นต่างอย่างไรดี
สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียวคือยึดมั่นในหลักการของตัวเอง ยืนหยัดในเหตุผลเข้าไว้ เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปปะทะคารม ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะสุดท้ายเราจะไม่ใช่คนที่คิดแบบนี้เพียงคนเดียวในโลก ในอนาคต เราคงจะต้องได้เจอพื้นที่ใหม่ๆ และอาจได้พบคนที่คิดเหมือน สังคมที่มีความเห็นคล้ายกัน แล้วจุดนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้แสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่
ในทางปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องยากที่คนกลุ่มน้อยจะช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมมาแสดงออกได้ แต่กว่าจะถึงวันที่เราเจอพื้นที่ของตัวเอง ขอให้เคารพความเห็นต่าง และลองเรียนรู้ดูว่าเขาคิดอะไร ทำไมถึงเห็นต่างจากเรา บางทีอาจจะได้ชุดความรู้หรือมวลความคิดที่แตกต่างที่ช่วยเกลาอุดมการณ์ของเราเฉียบแหลมมากขึ้น
พูดกันตามตรงนี่คือการ compromise นะ (หัวเราะ)
ครั้งหนึ่ง โรงเรียนที่คุณเคยศึกษาได้เชิญชวนนักเรียนไปทำกิจกรรมทางการเมือง1 ซึ่งถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา และความเห็นทางการเมืองในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน คุณคิดว่าเป็นเรื่องที่สมควรไหม
เราจะไม่กล่าวอ้างว่ามีการบังคับหรือไม่ แต่การที่คุณเป็นสถาบันการศึกษาแล้วชวนเด็กไปทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเลือกข้าง เรามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างมากในการใช้ลำดับการปกครองในเชิงครูกับนักเรียน บอกให้เด็กแสดงจุดยืนทางการเมืองข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าคุณอยากแสดงออกทางการเมือง เราว่าคุณควรไปในฐานะพลเมืองคนหนึ่งจะดีกว่า
เพราะอย่างที่บอกไปว่าครูควรมีหน้าที่นำเสนอความเห็นทางการเมืองให้ครบทุกด้าน แต่ถ้าคุณยังเอาบทบาทของครูไปยึดโยงกับการเมืองที่มีการเลือกข้าง ก็คงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะได้ความเห็นทางการเมืองอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมา
สิ่งที่ครูควรทำจริงๆ คือสอนให้เด็กตั้งคำถาม สอนให้เขาตัดสินใจ แบบนี้จะทำให้เขามีความเห็นทางการเมืองที่มั่นคงและสามารถตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คืออะไร เราออกมาเดินบนถนนทำไม มีตัวอย่างให้เห็นเยอะมาก ว่าคนที่เขาประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ส่วนใหญ่เขาเติบโตมากับหลักความคิดที่ชัดเจนซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้จริงในอนาคต
คุณคิดว่าในปัจจุบันประชาธิปไตยกำลังเป็นกระแสมากเกินไปไหม
ยอมรับว่าตอนนี้ประชาธิปไตยกลายเป็นเทรนด์ (Trends) ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เหมือนกับว่าถ้าใครไม่กระโดดเข้ามาสนใจปัญหาทางการเมือง จะถูกมองว่าเป็น อิกนอแรนต์ (Ignorant) ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเลย
ประชาธิปไตยที่กลายเป็นกระแสคือดาบสองคมอย่างหนึ่ง ในแง่ดีคือมัน ‘ป๊อปปูลาร์’ เข้าถึงง่ายเอามากๆ มีการเบ่งบานของแนวคิดและความรู้กระจายเต็มไปหมด แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่ประชาธิปไตยเข้ามาอย่างรวดเร็วและกะทันหัน ทำให้บางคนปรับตัวไม่ทัน ไม่ได้มีการศึกษาที่เพียงพอ แต่ก็ต้องรีบกระโดดเลือกข้างแล้ว ซึ่งในระยะยาวจะกลายเป็นปัญหาสำคัญมากๆ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเลือกอะไรอยู่
‘ถ้าเธอไม่ชู 3 นิ้ว ฉันจะประณามเธอ’ วาทกรรมนี้เราไม่เห็นด้วยมากๆ ถ้าเข้าใจหลักประชาธิปไตยจริงๆ คุณจะเคารพในสิทธิของคนอื่นมากกว่านี้ คุณจะเข้าใจว่าเขามีสิทธิ์ที่จะชูหรือไม่ชูนิ้วของตัวเอง มีสิทธิ์ที่จะพูดหรือไม่พูดปัญหาทางการเมือง และคุณเองจะเข้าใจด้วยว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์ไปบอกเขาว่ารักชาติหรือไม่รักชาติ
เราพยายามบอกทุกคนเสมอว่าต้องทำความเข้าใจก่อนถ้าจะอยู่ข้างเดียวกัน ถ้าไม่ทำความเข้าใจแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าเลือกไปแล้วจะเป็นผลดีกับตัวเรา จะตรงกับความต้องการของเรา อย่าหลงกระแสแล้วกระโดดข้ามมาอีกฝั่งโดยที่ไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่
แล้วจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเช่นนี้อย่างไรดี
ถ้ามองในแง่ดีที่ตอนนี้ประชาธิปไตยกำลังเป็นกระแสมากๆ เราจะถือโอกาสตรงนี้ปลูกชุดความคิดและให้ความรู้ทางประชาธิปไตยให้มากที่สุด จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีข้อมูลทางการเมืองกระจายอยู่ในทุกที่ของสังคม ใครที่ไม่เคยสนใจการเมืองและเริ่มสนใจตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณจะศึกษาและเรียนรู้การดมืองในประเทศได้อย่างรวดเร็ว
Politics & Participation
ในเมื่อจุดเริ่มต้นทางการเมืองของคุณคือช่วงที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพอดี อะไรที่คิดว่าเป็นความบกพร่องจนคุณต้องออกมาเรียกร้องและกลายเป็นแกนนำม็อบในปัจจุบัน
จริงๆ เรื่องของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดได้เป็นวันเลย (หัวเราะ)
อย่างแรกเลยคือท่านก่อการรัฐประหารเข้ามาเมื่อปี 2557 แต่ดูเหมือนว่าการรัฐประหารมีการจัดเตรียมเอาไว้ก่อนแล้ว เพราะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยเป็นคนเปิดปากกับสำนักข่าวบางกอกโพสต์เองว่า ตัวเองได้พูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาผ่านทางแอพพลิเคชันไลน์ โดยมีใจความว่า
“ก่อนกฎอัยการศึกจะประกาศใช้ พลเอกประยุทธ์บอกผมว่า คุณสุเทพและมวลชนผู้สนับสนุน กปปส. เหนื่อยมามากพอแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะรับช่วงทำหน้าที่ต่อ”2
หากเกิดการจัดเตรียมให้เกิดการรัฐประหารมาก่อนจริง มันคือเรื่องที่ไม่สมควรยอมรับได้ เพราะหมายความว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านโกหก ท่านไม่ได้เข้ามาเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน ท่านจงใจที่จะเข้ามายึดอำนาจประชาชน นี่คือเรื่องโกหกคำโตที่ท่านได้สร้างให้กับประชาชน แถมยังบอกอีกว่าเราจะรีบคืนความสุขให้พวกคุณ ขอเวลาไม่นาน
6 ปีแล้ว ไม่นานเลย (หัวเราะ)
ต่อมาช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการประกาศใช้มาตรา 44 ที่เป็นมาตราที่สั่งอะไรก็ได้ จะโอนคนเข้าค่ายทหารก็ได้ จะจับนักศึกษาก็ได้ จะประกาศเคอร์ฟิวก็ได้ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน มาตรานี้ถือเป็นเครื่องมือที่อันตรายมากกว่าประชาธิปไตย แต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเลือกที่จะใช้โดยไม่สนใจเลยว่าจะขัดต่อหลักการปกครองของประเทศอย่างไรบ้าง
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าคนที่จะคืนความสุขให้กับประชาชน เหตุใดถึงมาขัดขวางประชาธิปไตย เหตุใดจึงทำตัวเป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกได้ถึงเพียงนี้
อีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้ คือช่วงทำประชามติโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ3 ที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งให้ออกมาร่วมโหวต No ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้อ่านร่างฉบับดังกล่าว และไม่เคยได้ทำความเข้าใจจริงๆ ว่าข้างในเขียนอะไรบ้าง
ทั้งที่เป็นการแสดงออกในกรอบของประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าคนที่ออกมารณรงค์ให้โหวต No ถูกดำเนินคดีแทบทุกคน เป็นเรื่องแปลกมากที่ในบ้านเรา เวลาใครออกมาวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานต่างๆ ของรัฐ ใครที่ออกมาพูดว่ารัฐธรรมนูญที่เราจะประกาศใช้ในอนาคตมีปัญหาอย่างไร ถึงถูกดำเนินคดีแทบทั้งหมดเลย ทำไมการออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม และแก้ไขปัญหาให้กับความไม่โปร่งใสเช่นนี้ กลับถูกปิดปาก ซึ่งเป็นวิธีที่โคตรจะไม่ประชาธิปไตยเลย
นี่ยังไม่รวมในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ที่เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมาย มีบัตรออกลูกในหีบ มีบัตรเขย่ง มีการหยุดนับคะแนน ทั้งหมดนี้ไม่เคยได้รับความกระจ่างจากรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย พวกเขาไม่เคยออกมาพูดเลยว่าในตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น ปล่อยให้คลุมเคลือเป็นแบบนี้ต่อไป เราก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่คิดว่าหลายๆ คนน่าจะพอเดาได้ (ยิ้ม)
สำหรับเราแล้ว การกระทำแบบนี้คือละครที่จัดทำเพื่อหลอกลวงประชาชน ซึ่งถือเป็นกว้างขวางคอชิ้นใหญ่ของประชาธิปไตย
ความผิดนี้ร้ายแรงจนถึงขั้นที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องลาออกเลยเหรอ
ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคนนี้เขาไม่มีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่แล้ว เขาไม่ได้แสดงให้เห็นว่าได้พยายามสุดความสามารถหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อประชาชนเลย ซึ่งนอกจากไม่ทำอะไรแล้วเขายังลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ริบเอาผลประโยชน์ไปจัดสรรปันส่วนแบบไม่เท่าเทียมอีก
สิ่งนี้คือเรื่องที่พวกเราพูดคุยกันมานานมากแล้ว พวกเราไม่ได้อยู่ดีๆ จะให้ท่านลาออก แต่เรามองดูและสะสมความผิดจนมั่นใจแล้วว่าเขาต้องลาออกเนื่องจากไม่มีความเป็นผู้นำอีกต่อไป
ถึงจะพูดแบบนี้ แต่ก็ยังมีอีกฝั่งที่เขาเห็นด้วยและยังสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก
เราไม่ได้บอกว่าตัวเองถูกต้องที่สุดสำหรับสังคม แต่เราเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับตัวเอง ในสังคมประชาธิปไตย ความหลากหลายคือเรื่องสำคัญที่ต้องเคารพอยู่แล้ว ดังนั้น หากใครบอกว่าความคิดตัวเองคือคำตอบสุดท้ายในสังคม เราว่าไม่ถูกต้อง
กลับมาเรื่องคนที่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับเราคิดว่าเป็นเรื่องมุมมองที่แตกต่างกันมากกว่า เป็นเรื่องของความหลากหลายของมนุษย์ จริงๆ เป็นเรื่องดีเสียอีกที่มีความเห็นแตกต่างเกิดขึ้นในสังคม เราจะได้เห็นมุมมองต่อเรื่องนี้ที่หลากหลายมากขึ้น
เราคงพูดไม่ได้ว่าเข้าใจความคิดของฝ่ายนั้นทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราเห็นคือคนบางกลุ่มยังคงยึดติดอยู่กับตัวบุคคล แต่มองไม่เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของรัฐบาลเท่าไหร่ เขาอาจมองเห็นความเด็ดขาด ขึงขัง ไม่ฟังใครแบบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อาจละเลยถึงวิธีการเข้ามา ขอบเขตของอำนาจที่ใช้ และผลงานหลังจากเข้ามาทำงาน เป็นไปได้ว่าบางคนอาจเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการทำงานในรูปแบบนี้ของท่าน แต่คำถามที่อยากให้ช่วยกันคิดจริงๆ คือ เราจะยอมรับกับผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตของประชาชนเพียงเท่านี้จริงหรือ ทั้งที่ประเทศเรามีศักยภาพที่พัฒนาไปได้ไกลกว่านี้
ถ้าคุณมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะทำอย่างไร
คงใส่ใจ ‘เครื่องมือทางการเมือง’ มากกว่า เรามองว่าความคิดเห็นเป็นสิทธิประชาชนซึ่งต้องมีความหลากหลายอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเคารพและรับฟัง ไม่ใช่มองว่าการที่ประชาชนเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิดแล้วก็ไม่สนใจ ต้องร่วมพูดคุย ร่วมหารือ หาทางออกที่ให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งถ้าได้ทิศทางที่คนส่วนมากยอมรับแล้ว ต่อมาคือการใช้เครื่องมือหรือรัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องมีการร่างโดยยึดโยงกับเจตจำนงและต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
เชื่อไหม ถ้ารัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อประชาชนจริง ทุกคนในสังคมจะได้รับผลประโยชน์กันอย่างถ้วนหน้า มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีการจัดสรรปันส่วนที่เท่าเทียม แล้วหลังจากนั้นก็จะเกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ของสังคมตามกลไกลของมันเลย แค่นี้เอง
ส่วนเรื่องความขัดแย้งเราแก้ไขได้ด้วยการเปิดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัย ไม่ใช่ใครพูดอะไรไม่เข้าหูแล้วไปอุ้มเขา ไปขัดขวาง ไปออกหมายจับ รัฐบาลควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้เขาแสดงจุดยืน ได้วิพากษ์และวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เหล่านี้ถ้ารัฐบาลตั้งใจรับฟังจริงๆ จะเป็นผลดีกับเขาเสียอีกหากนำไปปรับใช้ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนได้ในภายหลัง
อีกหนึ่งข้อเรียกร้องสำคัญที่เป็นเหมือนชนวนที่ทำให้ม็อบคณะราษฎร 2563 ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ก็คือการพูดถึงเรื่องที่อ่อนไหว ถือเป็นเรื่องที่ใหม่ในสังคมไทยเป็นอย่างมาก คุณอธิบายอย่างชัดเจนได้ไหมว่าความหมายของปฏิรูป (Reform) ของกลุ่มคณะราษฎรนั้นคืออะไร
สิ่งแรกที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนคือการปฏิรูปไม่ได้หมายถึง ‘ล้มล้าง’ แต่คือ ‘ทำให้เหมาะสมและพัฒนาให้ดีขึ้น’ ซึ่งพูดตามตรงเราคือกลุ่มที่อยากทำให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ เราอยากให้สถาบันกษัตริย์กลับมามีเกียรติและคงอยู่อย่างงดงามสถาพรต่อไป เพื่อเป็นมิ่งขวัญให้กับประชาชน
อย่างการแก้ไขมาตรา 112 ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายข้อนี้เป็นการที่จำกัดพื้นที่ไม่ให้พูดถึงพระมหากษัตริย์อย่างเสรี จึงไม่เกิดการร่วมพูดคุยถกเถียงไม่มีการหาทางออกร่วมจุดร่วมตรงกลางในความขัดแย้งดังกล่าว
เราเองยังเชื่อว่ามาตรา 112 ควรมีอยู่ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ต้องพูดตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริง ไม่มีการใส่สีเติมไข่ และไม่มีการนำเสนอความคิดของตัวเอง เพียงแต่ตัวมาตราเองก็ต้องมีการระบุชัดเจนว่าเพดานของการพูดควรจะอยู่ระดับไหน ซึ่งตัวเราเองมองว่าปัจจุบันสิทธิในการพูดถึงสถาบันอย่างตรงไปตรงมายังน้อยเกินไป
อยากให้ทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเหล่านี้ลองทำความเข้าใจดูว่า แทนที่จะมัวแต่คุยกันลับหลัง ลองหันหน้ามาคุยกันตรงๆ ดีกว่าไหม
คุณคิดอย่างไรที่มีหลายคนบอกว่ากลุ่มของคุณเป็นพวกชังชาติ
คำนี้เป็นวาทกรรมที่ทำร้ายและทิ่มแทงจิตใจเรามากนะ มาหาว่าเราและเพื่อนพ้องของเราชังชาติเหรอ คุณพูดออกมาแบบนี้ได้อย่างไร
คำว่าชังชาติ จริงๆ เป็นคำที่โจมตีได้ผิดประเด็นและไม่ได้สะท้อนอะไรออกเลย เป็นคำโจมตีเปล่าๆ ที่ทำได้แค่ประณามคนอื่นอย่างไร้หลักการ เพื่อจะยกหางตัวเองและบอกว่าฉันคือคนรักชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรจะมีใครที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติเพียงเพราะนิยามคำว่ารักชาติต่างกัน
ทุกคนต่างมีวิธีรักชาติในรูปแบบของตัวเองกันทั้งนั้น ถ้าไม่รักชาติเราจะเสียสละเวลาตัวเองออกมาเรียกร้องอนาคต ออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาทำไม เราคงไม่เจียดเวลาของตัวเองที่สุขสบายมาทำตรงนี้หรอก แต่เพราะเรารักชาติ เราเลยอยากออกมาเป็นหนึ่งเสียงที่บอกว่าปัญหาในสังคมที่มีอยู่ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
คุณไม่รู้สึกกลัวบ้างหรือ
พูดตรงๆ คือไม่กลัวเลย เราคุยกับทีมงานก่อนที่จะออกมาพูดในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ว่า ถึงเวลาที่ต้องพูดแล้ว เพราะถ้าไม่พูดตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะได้พูดตอนไหน จากนั้นทางทีมก็ตกผลึกชัดเจน ว่าเราจะทำอย่างไรให้การพูดยังสามารถทำได้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบก็คือการคุยด้วยข้อเท็จจริง
เพียงแต่เราใช้ธีมม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ เข้ามา ทำให้ประเด็นที่แหลมคมมากๆ มีความอ่อนโยนลง เราใช้ชื่อกิจกรรมว่าเสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร เห็นหรือเปล่าว่าตอนนั้นเรายังไม่กล้าเรียกชื่อตรงๆ เลย แต่ก็ยังยึดมั่นที่จะทำต่อเพราะหวังว่าจะเป็นการจุดประกายและผลักเพดานเรื่องนี้ออกไป
เชื่อไหมว่าช่วงแรกคนในม็อบยังกล้าๆ กลัวๆ เลยว่าจะตบมือเวลาพูดถึงเรื่องนี้ดีไหม แต่ทุกวันนี้คือเราสามารถคุยกันจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ได้แล้ว
แต่เราก็อยากบอกทุกคนให้ทุกคนให้ระลึกไว้ด้วยว่า การที่จะให้ได้ผลสำเร็จสูงสุดนั้นต้องเป็นการพูดคุยภายใต้กรอบของกฎหมาย การทำแบบนี้ไม่ใช่เพื่อช่วยให้ตัวเองปลอดภัย แต่ว่าจะเป็นการพูดคุยในจุดที่ทุกคนสามารถยอมรับได้ ซึ่งหลังจากนั้นก็จะเกิดการพูดคุยถกเถียงกันได้มากขึ้น เกิดการเปิดใจและรับฟังกันมากขึ้น
เพราะคุณรู้ว่ามีเครื่องมือที่ชื่อว่าข้อมูลและความจริงอยู่เลยไม่กลัวใช่ไหม
ครั้งหนึ่งเราเคยบอกผู้ชุมนุมว่า ‘เมื่อไหร่ที่ความจริงได้ประจักษ์แจ้งในแผ่นดินแล้ว มันจะไม่จางหายไป’
ทุกๆ เรื่องที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่แบบนั้น และไม่ถูกลืมอย่างแน่นอน กลับกัน เหตุการณ์ต่างๆ จะยิ่งถูกขุดคุ้ยขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อหาบทเรียนจากอดีต ทำความเข้าใจปัจจุบัน และออกแบบอนาคตของพวกเขาในท้ายที่สุด ดังนั้นหากเราพูดอะไรออกมา แล้วสิ่งนั้นอยู่บนพื้นฐานของความจริงไม่ใช่ความคิดเห็นที่กล่าวอ้างใคร ตามระบอบประชาธิปไตยสิ่งนี้ย่อมเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้ ตามความคิดเรา เพราะอย่างน้อยนี่ก็เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปพัฒนาชาติได้ในอนาคต
Next Plan & New Life
ทิศทางต่อไปของม็อบคณะราษฎร 2020 จะเป็นอย่างไรบ้าง
เหมือนเดิมเลย จนกว่าข้อเรียกร้องสำคัญที่ต้องการให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ประสบความสำเร็จ ตอนนี้เราไม่ถอยแล้ว เราต้องการให้คนที่เราจ่ายภาษีไปเป็นตัวแทนบริหารประเทศลาออกจากตำแหน่งแล้วแต่งตั้งคนที่มีศัพยภาพและมีความจริงใจมากพอเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แล้วถ้าหากท่านจะทำตัวเหมือนผู้นำบางคนที่อยู่จนครบวาระของตำแหน่ง ประชาชนก็จะอยู่ชุมนุมและอยู่เป็นเพื่อนจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน และหากมี ส.ส. บางคนถามว่าท่านผิดอะไร ถ้าได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงได้ทราบถึงทัศคติของพวกเราต่อนายกรัฐมนตรีคนนี้ผ่านชุดคำถามที่ผ่านมา
แต่ถ้าขนาดนี้แล้วยังยืนยันว่าอย่างไรก็ไม่ยอมลาออกอีก เราบอกเลยว่าไม่ได้ เพราะท่านถูกคนที่จ่ายเงินเดือนอย่างประชาชนแสดงความไม่พอใจต้องการให้ลาออก ท่านจะยังอยู่ต่อไปเหรอ นี่เป็นการคิดตามหลักเหตุและผลง่ายๆ เลย
ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พวกเรารู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่แค่วันนี้พรุ่งนี้แล้วจะได้ใช้เลย การร่างครั้งหนึ่งใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ปี แต่ภายในระยะเวลาดังกล่าวก็มีกระบวนการของมันที่สามารถเริ่มได้ทันที ดังนั้น ข้อเรียกร้องในตอนนี้คือรัฐสภาควรจะต้องกระตือรือร้นมากกว่านี้ ต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสียที ให้เรารู้ชื่นใจว่าอย่างน้อยก็กำลังอยู่ในกระบวนการ แต่ถ้ามีแต่สัญญาลมปาก ไม่เริ่มลงมือ พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปจนถึงเมื่อไหร่
ส่วนข้อเสนอสุดท้าย ข้อเรียกร้องนี้เรามองว่าน่าจะเป็นการแก้ไขที่จะตามมาในท้ายที่สุดเลยหลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ถ้าถึงช่วงที่ร่างจริงๆ ก็ขอให้เป็นการร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และจำเป็นอย่างมากที่รัฐธรรมนูญนั้นต้องพูดคุย เปลี่ยนแปลง แก้ไข ได้ทุกมาตรา เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์
ผู้แทนในสภาฯ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ม็อบคณะราษฎรกำลังสื่อสารอยู่ด้วยใช่ไหม
ในเมื่อคุณบอกว่าเป็นตัวแทนประชาชน คุณเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่า ประชาชนคือคนที่เลือกคุณเข้าไปเป็นผู้แทนของพวกเขา ดังนั้นพวกคุณต้องทำงานเพื่อประชาชนที่อยู่ข้างนอก ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องตัวเอง
คิดว่าอะไรที่เป็น ‘ตัวร้าย’ สำคัญที่สุดในการฉุดรั้งให้ประเทศไม่ได้เกิดการพัฒนาในอนาคตข้างหน้า
จริงๆ มีหลายอย่างเลย แต่สิ่งที่คิดว่าเราไม่ควรจะยอมรับมันได้อย่างเด็ดขาดคือการรัฐประหาร ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะใครจะทำก็ตาม รวมไปถึงถ้ารัฐประหารเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรมีใครรับรอง
เพราะนี่คือการใช้อำนาจประชาชนอย่างไม่ชอบธรรม และยังส่งผลให้ประเทศหยุดชะงัก ประเทศไทยมีการรัฐประหารมาแล้วกี่ครั้งแล้ว มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับมากแต่ก็ยังไม่พัฒนาไปไหนสักที ทั้งที่เป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรและบุคลากรชั้นดี อันที่จริงเราต้องเป็นประเทศที่พัฒนาไปได้แล้ว แต่ตอนนี้ทำไมเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา นี่คือเรื่องที่สังคมต้องเริ่มตั้งคำถาม
สำหรับเรา การรัฐประหารเป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้บั่นทอนความเจริญของประเทศ เป็นเครื่องมือที่ใช้ตัดแขนตัดขาให้ชาติไทยไม่เดินหน้าไปไหน
ส่วนการรัฐประหารครั้งล่าสุด ก็ไม่ควรที่จะมีใครจะต้องยอมรับได้ ไม่ควรมีใครมองว่าคนก่อการคือที่ฮีโร่ เพราะในความเป็นจริงเขาเป็นเพียงแค่คนที่เข้ามาในช่วงจังหวะและสถานการณ์ที่ชุลมุน แล้วทำการยึดอำนาจลิดรอนสิทธิ และจำกัดเสรีภาพคุณ
คุณมองประเทศไทยในอนาคตข้างหน้าว่าควรจะเป็นอย่างไร
ประเทศไทยข้างหน้าต้องมีโครงสร้างการเมืองที่มั่นคง เพราะจะทำให้รัฐบาลมีคู่มือในการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนอย่างชัดเจน แล้วหลังจากนี้ทุกอย่างก็จะได้รับการแก้ไขอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และโปร่งใสมากขึ้น ระบบการศึกษาจะได้รับการปรับปรุง การคมนาคมจะถูกวางแผนใหม่ เศรษฐกิจจะไม่ได้รับผลกระทบเมื่อมีภัยทางธรรมชาติหรือเหตุการณ์ภายนอกประเทศ
พูดให้เข้าใจง่ายกว่าเดิมคือ ถ้าการเมืองมันมั่นคง ปัญหาด้านอื่นจะได้รับการใส่ใจและได้แก้ปัญหามากกว่านี้ เพราะสังคมไทยในอนาคตที่แก้ปัญหาได้ที่สุดแล้วคือ
1. รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือสะท้อนเจตจำนงของประชาชน
2. รัฐบาลที่เข้ามาทำงานจะรู้ว่าต้องอย่างไรซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานเพื่อปรับปรุงได้
3. การทำงานที่ถูกต้องจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนภายในประเทศได้จริง
จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ในการเปิดพื้นที่ความคิดให้คนในสังคมได้กำหนดอนาคตที่เราต้องการ
1 https://pantip.com/topic/31297474
2 https://prachatai.com/journal/2014/06/54188
3 https://ilaw.or.th/node/4232