ในวันๆ หนึ่ง คุณกดปุ่มแชร์ข่าวกี่ครั้ง และเคยเอะใจหรือถามตัวเองดูสักครั้งไหมว่า ข้อมูลที่กดแชร์ออกไปนั้น จริง เท็จ หรือมีส่วนถูกต้องแค่ไหน เคยหรือไม่ที่เกิดอาการชั่งใจก่อนแชร์เพราะไม่แน่ใจว่าข้อมูลนั้นชัวร์หรือมั่วกันแน่
แม้จะไม่ใช่เรื่องเกินคาดเดา แต่ก็เป็นเรื่องน่าตกใจอยู่ดี เมื่อ ‘โย’ – พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ดำเนินรายการ ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ รายการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารที่ถูกปล่อยผ่านโซเชียลว่า ในจำนวนข้อมูลที่หลั่งไหลมาบนหน้าฟีด มากกว่าครึ่งนั้นคือเรื่อง ‘ไม่จริง’ จึงเป็นคำถามที่กรุ่นอยู่ในใจเราว่า เรื่องไม่จริงที่สังคมเชื่อว่าจริงนั้น จะสร้างความเสียหายไปไกลได้ถึงไหน—ซึ่งร้ายแรงที่สุดนั่นคือ… ถึงชีวิต
โยเริ่มต้นอาชีพมาในสายงานข่าว ทั้งเป็นนักข่าวภาคสนาม นักข่าวที่ติดตามข่าวสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนักข่าวสายไอที เป็นผู้ประกาศข่าว ผ่านงานสื่อมาหลายต่อหลายด่าน ปัจจุบันก็ยังคงคลุกคลีอยู่กับงานข่าว เพียงแต่ไม่ใช่บทบาทของผู้สื่อข่าวหรือผู้นำเสนอ หากทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร หรือเรียกอย่างสั้นกระชับว่า ‘fact checker’
“Fact checker คืออาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่อย่างเฉพาะเจาะจง ตอนนี้ทั่วโลกเจอปัญหาเหมือนกันหมดคือมีการเกิดขึ้นของข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้และสร้างความเดือดร้อน ดังนั้น ทุกที่ต้องมีการจัดการ และหนึ่งในกลไกแก้ปัญหานี้คือคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันที่จริงหน้าที่นี้มีมาหลายสิบปีแล้วในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ใช่เป็นตำแหน่งงานพื้นฐาน เพราะค่อนข้างเป็นต้นทุนที่สูงพอสมควร fact checker โดยส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจสอบคำพูดของนักการเมือง ภายหลังก็มีเรื่องโควิด เรื่องสุขภาพเข้ามา มีการตรวจสอบในหมวดหมู่อื่นๆ มากขึ้น”
โยเล่าให้เราฟังถึงที่มาของบุคคลที่ทำงาน fact checking ให้ฟังอย่างคร่าวๆ รวมไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น fact checker ในรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ที่คลี่คลายข้อสงสัยของข้อมูลข่าวสาร ด้วยการเป็นสื่อกลางค้นหาคำตอบมานำเสนอ พร้อมทั้งเปิดช่องทางให้ทุกคนที่ ‘เอ๊ะ’ กับข้อมูลที่ผ่านตา ได้ส่งข้อกังขาเข้ามาให้ช่วยไข รวมไปถึงการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยได้ชั่งใจก่อนเชื่ออะไรง่ายๆ และไม่โดนหลอกเพราะเรื่องที่แชร์ต่อๆ กันมา
อยากให้คุณโยช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่ารายการ ชัวร์ก่อนแชร์ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ช่วงก่อนที่จะได้ทำ ชัวร์ก่อนแชร์ ผมเป็นนักข่าวที่ติดตามกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ประกาศข่าว ได้ทำอะไรหลายอย่าง และทำสกู๊ปด้านไอทีด้วย ตอนนั้นมีอะไรที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊กหรืออินเทอร์เน็ตนักข่าวสายไอทีจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น นักการเมืองโพสต์บนเฟสบุ๊ก นักข่าวไอทีไปเอาจากเฟซบุ๊กมาเขียนข่าวหน่อย เราเป็นคนเขียนข่าวเราก็จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือ เรื่องนี้ไม่จริง กระทรวงนี้ออกมาชี้แจง แล้วมีแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกันเราก็พบหลายข้อความที่เป็นข้อความเก่าๆ ที่ไม่น่าเชื่อเลย ถูกโพสต์ถูกเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ไลน์ก็เพิ่งเกิดมาไม่กี่ปี มีข้อความจากไลน์เริ่มเข้ามาเยอะและเกี่ยวข้องกับคนหลายๆ วงการ มีข้อมูลเท็จต่างๆ วิ่งผ่านเข้ามาในไลน์ ดังนั้นข้อมูลที่น่าสงสัยต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาบนโซเชียลมากขึ้น แล้วตัวเราก็ต้องทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นมากขึ้นในลักษณะการแก้ข่าว
ปี 2557 เราเลยนำเสนอผู้ใหญ่ของช่องว่าเราน่าจะทำอะไรที่เป็นคอลัมน์หรือเฉพาะเจาะจงเพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอม ที่จริงเราทำข่าวในลักษณะนั้นอยู่แล้ว แต่มันไม่เป็นชื่อหรือเป็นอะไรที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายๆ ผู้บริหารก็มองว่าน่าสนใจ แล้วรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ก็เป็นหนึ่งในเซตรายการใหม่ของสำนักข่าวไทยที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2558 โดยเริ่มต้นจากเป็นสกู๊ปข่าวสั้นๆ ประมาณ 3-4 นาที สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ออกอากาศทุกวันเสาร์ อยู่ในข่าวภาคค่ำของช่อง 9 MCOT HD โดยมีหนึ่งในผู้สนับสนุนคือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมีความยาวเป็น 5 นาทีจนถึงปัจจุบัน
ชัวร์ก่อนแชร์ ตอบโจทย์ในการทำงานข่าวของคุณโยไหม
มันตอบโจทย์ในส่วนที่ว่าเวลาที่เราทำข่าว เราอยากให้คนรู้ข้อเท็จจริง ก่อนหน้านี้เราก็คัดเลือกแต่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงไปนำเสนอ แต่พอยุคนี้คนเดือดร้อนเพราะมีเรื่องไม่จริงเข้ามาในชีวิตเขาเยอะ เราก็คิดว่าถ้าเป้าหมายของเราคือการทำให้คนรู้ข้อเท็จจริง เราก็อาจต้องปรับเพิ่มบทบาทบางอย่างเข้าไป เลยกลายเป็นวิธีเล่าเรื่องในรายการนี้ว่า แม้มันเป็นเรื่องไม่จริง เราก็ต้องหยิบมาเล่าว่ามันไม่จริง แล้วทำให้คนได้รู้ข้อเท็จจริงผ่านการเล่าเรื่องของเรา
แต่ทีนี้เราจะกำหนดได้ยังไงว่าจริงไม่จริง ก็จะมีหลากหลายวิธีจับในแต่ละเรื่อง เช่น บางเรื่องสามารถตัดสินความจริงและความไม่จริงได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ บางอย่างก็ตัดสินไม่ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และบางอย่างก็ไม่สามารถตัดสินได้เลยว่าจริงหรือไม่จริง ดังนั้นก็ต้องไปดูเป็นเรื่องๆ หรือเป็นหมวดๆ ไปว่าเรื่องนั้นสามารถตรวจสอบหรือตัดสินได้มั้ย และถ้าตัดสินได้จะตัดสินด้วยอะไร
สิ่งที่เราเห็นกันอยู่คือทุกวันนี้ข้อมูลไหลเข้ามาในโซเชียลฯ เยอะมาก คุณใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกประเด็นมานำเสนอ
หลักเกณฑ์ในการดูว่าเรื่องไหนเราจะสงสัยและจะไปตรวจสอบมั้ยจะแตกออกเป็นหลายๆ ประการ หลักๆ เลยเราจะมีวิธีการคัดเลือกคล้ายๆ ข่าว คือเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมในระดับสูง แต่ว่าในคำว่าผลกระทบต่อสังคมมันก็จะยังแบ่งได้อีกว่าเป็นผลกระทบในด้านไหน เพราะแต่ละเรื่องผลกระทบมันไม่เท่ากัน อย่างเช่น เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความร้ายแรงสูงสุดของเรื่องนี้มันคือเรื่องความตาย ดังนั้น เราก็จะมองว่าถ้าเรานำเสนอแล้วเป็นยังไง ถ้าไม่นำเสนอจะเป็นยังไง บางเรื่องเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ บางเรื่องเป็นความคิดทางการเมือง ซึ่งผลกระทบก็อาจจะมี อาจไม่ได้ทำให้ใครตายในทันที แต่อาจมีผลกระทบบางอย่างที่ทำให้คนตายทีหลังได้ หรือมีผลกระทบในเชิงผลสืบเนื่องที่ตามมาก็เป็นไปได้
แต่เมื่อเรารับทราบผลกระทบ มันก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างที่เรารู้ว่ามีผลกระทบเราจะต้องทำหรือทำได้ทั้งหมด มันจะมีส่วนการกลั่นกรองเรื่องนี้มันเช็กได้มั้ย ถ้าภาษาอังกฤษของวงการ fact checker เราเรียกว่า fact checkable claims คือเป็นคำกล่าวอ้างที่ตรวจสอบได้ เป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า ตรวจสอบได้มั้ยว่าจริงหรือเท็จ
เรื่องแบบไหนที่จะถูกคัดทิ้งไปในขั้นนี้
เรื่องที่เป็นความคิดเห็น ตรวจยังไงก็ไม่ได้เพราะเราไม่รู้จิตใจคน แต่บางทีผมก็จำเป็นต้องนำเสนอสิ่งนี้โดยนำเสนอว่ามันเป็นข้อคิดเห็นที่ตรวจสอบไม่ได้ เพราะบางทีมันอาจจะเป็นประโยชน์ถ้าเราจะบอกว่าอันนี้ตรวจสอบไม่ได้ด้วยมันเป็นข้อคิดเห็น
เรื่องความเชื่อก็จะอยู่หมวดนี้ด้วย มันมีหลายอย่างมากเลยที่จะไปเถียงกันในเรื่องความเชื่อ หรือข้อเท็จจริงมันย้อนไปกระทบเรื่องความเชื่ออีกที เรื่องศาสนาก็อยู่ในหมวดของความเชื่อด้วยเหมือนกัน บางครั้งเรื่องการแชร์กันไม่ว่าเรื่องศาสนาหรือไม่เกี่ยวกับศาสนา กลไกของเรื่องที่แชร์มันถือกำเนิดมาจากความต้องการที่จะหยิบเรื่องนั้นมาทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีกับศาสนาหรือกับอะไรบางอย่าง แม้ว่าเรื่องนั้นจริง จริงบางส่วน หรือไม่จริงเลย ซึ่งบางเรื่องถ้าหยิบมาพูดแล้วพูดไม่ครบ มันจะไปสร้างปัญหา
ดังนั้น เรื่องความเชื่อบางทีเราจะบอกว่ามันคือความเชื่อ แล้วจบที่ว่ามันคือความเชื่อ เช่น มีคนที่ส่งข้อความเข้ามาให้เราตรวจสอบว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริง เดือนนี้มีวันอาทิตย์ห้าครั้งแปลว่าโชคดีจริงมั้ย แบบนี้ก็มี (หัวเราะ) แล้วเราจะตรวจสอบยังไงเพราะมันยืนยันอะไรไม่ได้ คำตอบที่เราให้เขาไปก็คือมันเป็นความเชื่อ จบแค่ตรงนี้ เพราะถ้าอธิบายต่อมันจะถูกตีความได้อีกเยอะ
ในขณะที่วงการ fact checker ในต่างประเทศอย่างอเมริกา กลับมามีกระแสขึ้นเพื่อตรวจสอบนักการเมืองคือ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ทำไมเราไม่เห็นเรื่องการเมืองเช่นนี้บ้างใน ชัวร์ก่อนแชร์
ทั้งหมดมีเหตุผลหมดเลยและต้องอธิบายแจกแจง ณ วันที่ ชัวร์ก่อนแชร์ กำเนิดรายการมา เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำอะไรเป็นเรื่องพิเศษ นิยามของเราตอนนั้นคือตรวจสอบเรื่องที่แชร์กันบนโซเชียลฯ และเผอิญว่าเรื่องที่เราแชร์ในโซเชียลที่เราพบในช่วงปีแรกจะเป็นเรื่องสุขภาพ มันจึงเป็นเหตุให้ช่วงนั้นเราทำเรื่องสุขภาพเยอะมาก และถ้าถามว่าทำไมมีแต่เรื่องสุขภาพไม่มีเรื่องการเมือง ก็เพราะตอนนั้นเป็นช่วงรัฐประหารใหม่ๆ การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกฟรีซหมดเลย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองก็ถูกตัวกฎหมายฟรีซไว้ เพิ่งมาปลดล็อกไม่กี่ปีก่อนเลือกตั้ง เมื่อเราทำเรื่องสุขภาพก็มีคนสนใจและส่งต่อเรื่องเข้ามาด้วยความที่หน้าร้านของชัวร์ก่อนแชร์มีทำเลแบบนั้น ทำให้มีผู้สูงอายุเข้ามาเยอะ ต่อมาเราก็ขยับไปทำเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการทดลองแปลกๆ เรื่องสารเคมี เรื่องมักกะลีผล เรื่องโรตีใช้เท้าเหยียบ หรือใช้เนื้องูทำลูกชิ้นปลา
จนพอใกล้ๆ ช่วงเลือกตั้ง เราก็คิดว่าควรทำเรื่องการเมือง แต่สิ่งเราได้เรียนรู้จากต่างประเทศคือเรื่องการเมืองช่วงเลือกตั้งมันรุนแรงมาก หากเรานำเสนอจะต้องมีความบาลานซ์จริง ต้องเช็กข้อมูลเกี่ยวกับทุกพรรคการเมือง
ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้มันต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งคน และเงิน แต่เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอ เพื่อให้การนำเสนอมีความน่าเชื่อถือในความสมดุลที่เป็นรูปธรรมมากพอ จนไม่ย้อนกลับมากระทบความน่าเชื่อถือในเนื้อหาอื่นๆ ของเรา นี่ก็เป็นเหตุผลว่าในช่วงเลือกตั้งผมไม่ทำเรื่องการเมืองเลยสักเรื่องเดียว แต่เปลี่ยนไปให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันการเลือกตั้งแทน ด้วยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และด้วยปัจจัยนั้นก็ยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เรายังทำได้ดีเรื่องสุขภาพอยู่ และมันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องชีวิตของคน โดยเฉพาะปีที่โควิด-19 ระบาดปีแรก เราแทบไม่ได้ทำเรื่องอื่นเลย มีแต่เรื่องสุขภาพ
สถานการณ์โควิด-19 จนกระทั่งมาถึงตอนนี้ทุกอย่างยังคงเป็นเรื่องใหม่ ข้อมูลถูกแชร์เยอะมากและถี่มาก จริงบ้างเท็จบ้าง ขณะเดียวกันคนก็ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนคุณเองก็ต้องตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องโดยแข่งกับเวลาด้วย
ใช่ครับ เรื่องนี้ผมนับถือหมอ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการที่กล้าพูดมาก เพราะผมเคยพยายามติดต่อหลายคนก็จะได้รับคำตอบว่าไม่อยากพูดเพราะเรื่องยังใหม่อยู่ แต่ ณ เวลาที่หมอไม่พูด มันจะมีใครสักคนหนึ่งที่ไม่ใช่หมอพูดเข้าไปในโซเชียลฯ แล้วคนก็เชื่อ ดังนั้น ระหว่างที่หมอยังไม่พูด หมอรอให้อะไรชัดเจน เราจะจัดการกับข้อมูลกลุ่มนี้ยังไง หรือจะช่วยคนตรงนี้ยังไง สิ่งที่ช่วยได้ก็คือต้องบอกเขาด้วยเมสเสจเดิมๆ นี่แหละว่า มันอาจจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง หรืออย่าเพิ่งเชื่อทันที แล้วบางครั้งเรื่องวัคซีนมันไปสู่เรื่องค่ายความคิดแล้ว วัคซีนนี้ดีกว่ายี่ห้อนั้น บางคนบอกโควิดไม่อันตราย เลยไปถึงคนที่คิดว่าโควิดเป็นแค่เครื่องมือทางการเมือง มันกว้างมาก แล้วเราจะจัดการข่าวสารข้อมูลตรงนี้เพื่อช่วยคนตรงไหนก่อน
ความท้าทายคือผู้เชี่ยวชาญก็ต้องรอว่าข้อมูลเรื่องไหนครบถ้วนสมบูรณ์ ในขณะที่ข้อมูลเท็จก็ออกมาตลอดเวลา เราเองก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่ก็ต้องถูกต้องด้วย ดังนั้น เมื่อต้องเลือกระหว่างช้าแล้วถูกต้อง ก็ต้องยอมช้า แต่อุดมคติของเราก็คือเร็วและถูกต้องด้วย ซึ่งมันต้องใช้กลไกหลายอย่างทั้งเรื่องทักษะ การนัดหมายกับผู้เชี่ยวชาญ การมีคอนเนกชัน และจัดการความท้าทายเรื่องเวลา เพราะคอนเทนต์จะมีค่าสูงสุดเมื่อคนต้องการ ยกตัวอย่าง โควิดจะเป็นช่วงเวลาที่คนต้องการคอนเทนต์พร้อมกัน แต่มันรวดเร็วมากจนไม่สามารถผลิตและเสิร์ฟได้ทัน ซึ่งก็แปลว่าในช่วงเวลานั้นจะมีคนบางคนถูกข้อมูลเท็จเข้าไปในหัวแล้วเชื่อเลย จำไปแล้ว ทีนี้แก้ยากแล้ว แต่เราก็พยายามแก้ ใช้หลากหลายวิธีในการแก้ปัญหาให้เขา
ในการตรวจสอบประเด็นหนึ่ง เราต้องมีข้อมูลรองรับมากกว่าหนึ่งแหล่งเสมอไปมั้ย
จริงๆ ต้องมีหลายแหล่ง วิธีการเล่าเรื่องของ ชัวร์ก่อนแชร์ ในวิดีโอ เราจะใช้การบอกว่ามันคือข้อเท็จจริงและความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของหลักฐานที่นำมาใช้ตัดสินว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริง แต่เราก็ต้องใช้ประกอบกันหลายๆ อัน ในบางเรื่องที่เห็นว่ามีหมอคนเดียวมาพูด จริงๆ แล้วเราพยายามสมดุลหลายๆ เรื่อง ถ้าเรื่องไหนมีโอกาสเกิดดราม่าสูง มีการถกเถียงสูงมาก ถ้าไม่ได้สองคนสามคนมาบาลานซ์ก็อย่านำเสนอดีกว่า แต่ถ้าบางเรื่องมันมีความชัดเจนอยู่แล้วทางวิชาการ บางครั้งเราใช้หมอคนเดียวพูด แล้วใช้เครดิตของหมอท่านนั้นเป็นความน่าเชื่อถือของข้อมูล การที่หมอมาพูดไม่ได้หมายถึงหมอคนหนึ่งมาพูด แต่เขาแบกองค์กรและแบกชื่อเสียงทั้งชีวิตของเขาไว้ในการออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ เราก็ใช้กลไกเหล่านี้มาคานกัน โดยเราเองก็ต้องระวังไม่ให้ตัวเองเป็นเครื่องมือทางธุรกิจหรือไม่เป็นเครื่องมือใดๆ ก็ตามจากการเลือกบุคคลมาเป็นผู้ให้ข้อมูล
บางครั้ง ชัวร์ก่อนแชร์ ก็นำเสนอประเด็นที่อาจไปมีผลกระทบกับธุรกิจ
ชัวร์ก่อนแชร์ เคยทำเรื่องครีมเทียมเมื่อนานมาแล้ว จนตอนนี้เรื่องนี้ก็ย้อนกลับมาเป็นประเด็นอีก ตอนนั้นเราก็ให้ข้อเท็จจริงว่าอันที่จริงแล้วไม่ได้อันตรายอย่างที่เราแชร์กัน เพียงแต่ถ้ากินเยอะก็อันตราย ปรากฏว่าทัวร์ลง มาเขียนโจมตีกันว่า “อันนี้อย่าไปเชื่อ มันเอื้อนายทุนอีกแล้ว” หรือครั้งหนึ่งเราทำเรื่องข้อดีสิบประการของผลไม้ชนิดหนึ่ง เป็นข้อดีแบบเวอร์ๆ เลย แล้วนักวิชาการก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่จริงๆๆๆ สุดท้ายสิบข้อดีนั้นไม่จริงสักข้อ เราทำคอนเทนต์นี้ออกไปโดยพยายามบาลานซ์ทั้งสองฝั่ง ก็มีคนสันนิษฐานว่าข้อมูลพวกนี้แชร์มาเพื่อขายผลไม้ พอเราไปหักล้างก็มีคนเสียผลประโยชน์ เพราะบางคนใช้คอนเทนต์เหล่านี้เป็นเหตุผลในการขายของ ขายครีม หรือผลิตภัณฑ์อะไรที่สืบเนื่องจากสิ่งนั้นอีก
เรื่องส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ เคยเกิดปัญหาอะไรกับรายการไหมเวลาต้องทำประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ตอนนี้ยังไม่เคยโดนฟ้อง และไม่ต้องการด้วย (หัวเราะ) คือผมและทีมงานทุกคนอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงกันมาก แล้วเราก็พยายามเตือนกันว่าจะผิดพลาดไม่ได้เลยนะ ถ้าเสี่ยงกับการผิดพลาดแม้จะสักนิดหนึ่ง สู้เราไม่นำเสนอดีกว่า เราไม่ใช่แค่ว่าไปตรวจสอบมาได้ปั๊บ เรื่องนี้จริงแล้วเรานำเสนอเลย ทุกคนที่ทำงานตรงนี้ต้องคิดหลายชั้น คิดถึงผลกระทบ คิดถึงสิทธิที่เรามี คิดถึงการรับผิดชอบสืบเนื่องหรือผลสืบเนื่องที่เกิดจากการกระทำของเรา
เราทำคอนเทนต์เยอะ วิดีโอ ชัวร์ก่อนแชร์ จะเป็นวิดีโอที่ฝังซับไตเติลเข้าไป ก็ค่อนข้างเป็นงานที่หนักในการทำ บางทีก็มีพิมพ์ผิด คนก็จะเขียนคอมเมนต์ว่า ชัวร์ก่อนแชร์นะ (หัวเราะ) มันก็จะเจ็บไง เราจึงต้องพยายามมากๆ ที่จะทำยังไงไม่ให้เกิดการผิดพลาด แต่ว่าในเวลาเดียวกันเราก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบกับความผิดพลาดด้วย เพราะว่าสุดท้ายแล้วแม้เราพยายามเต็มที่ยังไงก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แนวทางในการรับมือของเราก็ต้องเป็นสิ่งที่แฟร์กับคนดูและคนอ่านด้วย คือต้องเป็นการแก้ไขโดยทิ้งร่องรอยการแก้ไขไว้ เช่นแจ้งไปเลยว่าอันนี้สะกดผิด อันนี้เราปรับแก้บางอย่างเพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่พอผิดปุ๊บลบทิ้ง ไม่เหลือร่องรอย
มีอะไรที่ผิดพลาดแล้วรู้สึกว่าปล่อยผ่านไม่ได้
เราจะมองการผิดพลาดมีสามระดับ ระดับตัวสะกดเราก็จะแก้เข้าไป ถัดมาคือความผิดพลาดที่ไม่กระทบต่อแก่นเรื่อง ก็จะบอกว่ามันขาดอะไร หรือคลาดเคลื่อนในมุมไหน แล้วอธิบายเข้าไปในชิ้นงานที่ขึ้นออนไลน์ ระดับที่สามคือมันกระทบแก่นเรื่อง เช่นตอนทำเรื่องฉีดวัคซีนแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันเพราะกินยาคุม ตอนนั้นออกทีวีไปแล้วก็ต้องยอมปล่อยไป แต่เรามาแก้ไขใหม่ในวิดีโอที่อัพโหลดขึ้นออนไลน์
จากการทำงานมาตลอดหลายปี คุณคิดว่าสังคมไทยพร้อมจะเชื่อและพร้อมจะแชร์ในเรื่องทำนองไหนมากที่สุด
(นิ่งคิด) เรื่องที่มีอะไรที่เป็นสัดส่วนของอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในนั้น หรือเรียกว่าดราม่านั่นเอง มันเป็นเนื้อหาบวกกับการเคลือบด้วยอะไรสักอย่าง เช่น มีเรื่องขัดแย้ง มีเรื่องที่ดีใจสุดขีด น่ากลัวสุดขีด สยดสยอง มีเรื่องตื่นเต้น ที่มันเกี่ยวโยงกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมักจะประสบความสำเร็จในการลอนช์สู่วงการข่าวปลอม แล้วมักจะทำให้คนหลงเชื่อหรือเปิดใจรับสิ่งนั้นเข้ามาในสมองของตัวเองได้เร็ว ซึ่งอันนี้คงไม่ได้เป็นแต่ในสังคมไทย ลักษณะของข้อมูลเท็จที่แพร่กระจายอยู่ในต่างประเทศก็มาสไตล์นี้
ส่วนสังคมไทยเชื่อเรื่องอะไร หนึ่งในสิ่งที่สังเกตได้และคิดว่ามันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียคือ ความห่วงใยคนอื่น มันทำหน้าที่โดยอัตโนมัติ ทำให้คนจำเป็นต้องตัดสินใจว่าเขาจะส่งต่อเรื่องนี้ไปให้คนอื่นที่เขารักและห่วงใยหวังดี เช่น เรื่องอาหาร เรื่องยา คำแนะนำ เรื่องกฎหมาย เรื่องวันหยุด มีระเบียบใหม่เกิดขึ้น การรักษาใหม่ วิธีป้องกัน เรื่องความน่ากลัว พอเห็นเรื่องแบบนี้ปั๊บมันด่วน ด่วนจนรู้สึกว่าแชร์ไปก่อนแล้วกัน ไม่จริงไม่เป็นไรหรอก แชร์ไปให้ระวังตัว ผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้สังคมไทยเรามักเชื่อและตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จเพราะเราห่วงใยคนอื่น หรืออยากให้เขาได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่เราเพิ่งได้รับมา และคิดไปว่ามันมีประโยชน์
จริงๆ ใน ชัวร์ก่อนแชร์ จะมีประโยคหนึ่งที่อยู่ใน ชัวร์ก่อนแชร์ หลายตอนว่า เรื่องนี้ถ้าจริงก็มีประโยชน์และควรรีบบอกกัน แต่ก่อนจะแชร์ต่อต้องเช็กให้ถูกชัวร์ ผมเรียกมันว่าเป็นประโยคผดุงคุณธรรม คือเราไม่อยากให้รายการเราไปทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองไม่ฉลาด และไม่อยากไปทำร้ายน้ำใจ ไม่อยากทำให้คนรู้สึกว่าต่อไปนี้เลิกแชร์ เลิกหวังดี ฉันหวังดีแล้วทำคุณบูชาโทษ
เราจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้คนในวันที่ข่าวสารมากมายทะลักในหน้าฟีดโซเชียลอย่างไร
ผมคิดว่ามันคือความตระหนัก เหมือนเรามองเห็นไฟ เรารู้ว่ามันร้อน เราจะไม่เอามือไปโดนมัน หรือถ้าจะไปโดนเราก็ต้องใส่ถุงมือก่อน ดังนั้น ถ้าจะทำให้คนรู้เท่าทันมากขึ้น เขาต้องรู้ในธรรมชาติของข้อมูลข่าวสารในยุคนี้ ว่ามันมีโอกาสที่จะมีความไม่น่าเชื่อถือสูง และเมื่อเปิดรับใดๆ ก็ต้องเปิดรับด้วยความระมัดระวัง
แสดงว่าข้อมูลที่เห็นมีโอกาสที่เป็นเรื่องไม่จริงมากกว่าเรื่องจริง
โดยสัดส่วนของเรื่องที่แชร์กันเป็นแบบนั้น คือส่วนใหญ่ถ้าเทียบกันแล้วเป็นเรื่องไม่จริงเกินครึ่ง เพราะเรื่องที่จริงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตื่นเต้น พอไม่ตื่นเต้นการแชร์จะน้อย ส่วนเรื่องไม่จริงมันดูตื่นเต้น มีอะไรที่เร้าอารมณ์ ทำให้มันวนเวียนอยู่ได้ แล้วมันก็มีโอกาสหรือมีศักยภาพที่คนจะส่งต่อไปได้เรื่อยๆ แต่อันนี้มันเป็นปัจจัยปัจจัยปลายทาง จริงๆ ปัจจัยต้นเหตุมันคือการที่พวกเราสามารถที่จะสร้างเนื้อหากันได้ง่ายขึ้น ส่งไปถึงใครก็ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก จะด้วยความจงใจหรือไม่จงใจ ด้วยความอยากจะทำรายได้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ความง่ายตรงนั้นมันกลายเป็นการสร้างสิ่งที่เป็นอันตรายต่อคนอื่นเข้าไปแทน
ที่เราชื่นชมกันว่ามันคืออิสรภาพในยุคข้อมูลข่าวสารที่เราสามารถสร้างอะไรก็ได้ เป็นยุคแห่งการสร้างสรรค์ผลงานระดับสูงที่มีต้นทุนต่ำมาก แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เอื้อให้ข้อมูลระดับคุณภาพต่ำถูกสร้างขึ้นมาได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน แล้วการสร้างนี้มันไม่ถูกควบคุมหรือไม่ถูกระบบหรืออะไรที่เคยมีมาในอดีตจัดการหรือจำกัดไว้ เมื่อก่อนคนที่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ เช่น สื่อมวลชนก็ต้องมีศีลธรรม จรรยาบรรณ กฎหมายอะไรครอบกำกับอยู่ แล้วมันแพงด้วย แต่ตอนนี้ทุกอย่างถูกหมด ใครๆ ก็ทำได้ แล้วมันไม่ใช่ต้นทุนในการสร้างต่ำเท่านั้น ต้นทุนในการส่งต่อหรือแพร่กระจายมันก็ต่ำด้วย จึงทำให้เกิดความโกลาหลของข้อมูล และเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า ในยุคนี้เป็นยุคที่หาสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ยาก อะไรที่ดูดีไม่ได้แปลว่าน่าเชื่อถือ แต่คนจำนวนหนึ่งไม่ได้ตระหนักว่าความดูดีกับความน่าเชื่อถือมันไม่เกี่ยวกัน พอเขาขาดความตระหนักก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อได้ แต่หากตระหนักเขาก็จะสามารถป้องกันตัวเองได้ เพราะทุกวันนี้ข้อมูลเป็นเหมือนไฟร้อนๆ ที่เราต้องจัดการอย่างระมัดระวัง ถ้ารับเข้ามาหมดถึงจุดหนึ่งเราจะป้องกันตัวเองไม่ได้
นอกจาก ชัวร์ก่อนแชร์ จะมีการทำงานแบบตั้งรับแล้ว ได้มีการทำงานในเชิงรุกด้วยใช่ไหม
ชัวร์ก่อนแชร์ เป็นส่วนหนึ่งของ อสมท. แล้ว อสมท. ก็มีภารกิจการเป็นสื่อและเป็นสื่อกลางเพื่อทำให้เกิดการรู้เท่าทันมากขึ้นผ่านข้อมูลข่าวสารต่างๆ ชัวร์ก่อนแชร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความรู้เท่าทัน เราทำกันอยู่สามอย่างคือในตอนเริ่มต้นเราตรวจสอบความจริงเรื่องที่แชร์กันบนโซเชียล และเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่ แต่การแก้ข่าวปลอมเป็นการพูดเชิงรับ ต้องรอให้เกิดก่อนถึงจะแก้ พอมันเกิดกว่าเราจะรู้มันก็นาน แปลว่าระหว่างทางมีคนที่เดือดร้อนเพราะสิ่งนั้นไปเยอะแล้ว
อีกภารกิจหนึ่งของเราจึงเป็นการให้ข้อเท็จจริงก่อนที่ข่าวปลอมจะเกิด เราต้องพยายามเต็มที่ที่จะมองว่าเรื่องไหนมีโอกาสเกิดข่าวปลอมหรือประชาชนจำเป็นต้องได้ข้อเท็จจริงเรื่องไหน เราก็พยายามทำข้อเท็จจริงเรื่องนั้นเพื่อให้กลายเป็นภูมิคุ้มกัน เมื่อมีข่าวปลอมขึ้นมาเขาก็จะได้รู้ว่าอันนี้มันปลอม ภารกิจที่สามคือทำให้คนตรวจสอบเองได้ ชัวร์ก่อนแชร์ มีคอนเทนต์ชุด Fact Check Expert มีแท็กไลน์คือ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริงเองได้ ก็จะเป็นการเอาทักษะเรื่อง fact checker มาสอน
และปลายทางที่เราพยายามป้องกันอยู่และทำงานมาตลอดคือ ข่าวปลอมและภัยไซเบอร์ คือคนที่ถูกหลอกไม่ได้ถูกหลอกที่ข่าวปลอมแล้วเดือดร้อนเท่านั้น แต่คนที่ถูกหลอกด้วยข่าวปลอมจะถูกหลอกด้วยภัยไซเบอร์ต่างๆ ด้วย อย่างการหลอกลงทุน การส่ง SMS หลอกลวง สองอย่างนี้มันมีกลไกที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ ถ้าเขาถูกหลอกเรื่องข่าวปลอมเยอะๆ พอมีเรื่องภัยไซเบอร์เขาก็จะโดนเหมือนกัน คนที่เป็นอาชญากรไซเบอร์เขาก็ใช้อุบายจากพวกสร้างข่าวปลอมนี่แหละมาหลอกกัน ถ้าคนไม่ทันตระหนักรู้ว่าการสร้างเนื้อหาแบบนี้มันสร้างได้ สร้างง่าย เขาก็จะถูกหลอก แล้วมันนำไปสู่การทำให้เสียข้อมูลส่วนตัวและเสียเงินได้
ในปีนี้ สิ่งที่เราจะขยับไปทำมากขึ้นคือการทำให้เกิดการกระจายต่อของการสร้างความตระหนักรู้หรือสร้างความรู้เท่าทันให้เกิดขึ้น ปี 2564 เราได้ทำโครงการหลายโครงการที่เป็นลักษณะการอบรมหรือการสร้างองค์ความรู้เพื่อทำให้คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เราก็จะขยายตรงนั้นมากขึ้นอีกไปในกลุ่มของโรงเรียน ที่ผ่านมาเรามีการอบรม จัดค่ายนักสืบสายชัวร์ ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร มีนักเรียน ครู ผู้สูงวัย มาเข้าค่ายแบบ virtual เพื่อเรียนรู้เรื่องข่าวปลอมและภัยไซเบอร์ ซึ่งปีนี้เรายังคงทำต่อ
กับหนึ่งในไอเดียที่อยากทำให้เป็นรูปธรรมจริงจังคือการเปลี่ยนข่าวปลอมให้เป็นวัสดุทางการศึกษา ทั่วโลกพูดเหมือนกันหมดว่าคนจะไม่ถูกหลอกถ้าเราทำตั้งแต่เรื่องการศึกษา แต่พอไปถึงเรื่องการศึกษา ครูก็ขาดอาวุธ ขาดสิ่งที่จะนำไปสอนต่อและทันต่อเหตุการณ์ พอย้อนกลับมาดูตัวเรา เราวนเวียนอยู่กับวงการข่าวปลอมเยอะมาก ถ้าเราสามารถเปลี่ยนสิ่งนี้ให้เป็นวัสดุทางการศึกษาที่ครูสามารถนำไปสอนต่อในห้องเรียนอย่างสะดวก และตรงกับสาระวิชาหรือหยิบไปใช้ได้ง่าย มีความทันสมัย มีความสนุกสนาน เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย ทุกวิชาสามารถนำคอนเทนต์จากข่าวปลอมพวกนี้ไปสอน แทรกเข้าไปในการเรียน นักเรียนก็จะได้รู้ แล้วมันจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันซ้อนให้เขา
ติดตามเรื่องราวชัวร์ๆ ใน ชัวร์ก่อนแชร์ ได้ทาง
• ช่วงรายการข่าวของสำนักข่าวไทย อสมท. ช่อง MCOT HD
• ทางวิทยุ FM 100.5
• ช่องยูทูบ ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share
• ไลน์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
• เฟซบุ๊ก ชัวร์ก่อนแชร์
• TikTok ชัวร์ก่อนแชร์
• Twitter @SureAndShare
ที่เมื่อได้ชม ได้ฟัง หรือได้อ่านแล้ว จะทำให้กดแชร์ได้อย่างสนิทใจ
เรื่อง: ศิรวรรณ สิทธิกา | ภาพ: เชิดวุฒิ สกยา