ของเหลวสีเหลืองอำพันที่ถูกบรรจุลงในขวดแก้วรูปทรงแปลกตามีเอกลักษณ์ จัดวางเรียงรายกันอยู่บนชั้นจนไม่เหลือพื้นที่ว่าง มองครั้งแรกอาจให้ความรู้สึกคล้ายกับห้องปฏิบัติการของนักเคมี แต่ผิดถนัด! เพราะทั้งหมดนี้คือคอลเล็กชันน้ำหอมวินเทจในครอบครองของ ‘นุชี่’ – อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้หลงใหลในสัมผัสแห่งกลิ่น ซึ่งตามเก็บสะสมมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี
จากหลายที่มาและจุดกำเนิดของน้ำหอมแต่ละขวดที่ถูกเลือกให้ออกเดินทางข้ามทะเลและทวีปจนมาสิ้นสุดที่ชั้นวางนี้ ล้วนมีเหตุผลเดียวกัน นั่นคือความงามในฐานะงานศิลปะที่สร้างสุนทรียะ และครั้งเมื่อเขาเปิดขวดน้ำหอมออก กลิ่นแห่งประวัติศาสตร์ก็ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง พร้อมรุกเร้าให้ทุกคนที่ได้รับสัมผัสตื่นรู้ นี่คือกลิ่นแห่งมวลมนุษย์ ซึ่งประเมินค่ามิได้
ถึงตอนนี้แม้เขาจะปิดขวดน้ำหอมนั้นไปนานแล้ว แต่กลิ่นของเรื่องเล่าจากประสบการณ์และความทรงจำส่วนตัวที่เขาถ่ายทอดในบทสนทนานี้ยังคงเด่นชัดเสมอ นี่คือเรื่องราวเคล้ากลิ่นหอมปนฉุน ซึ่งจะเปิดเผยความซับซ้อนของเซนส์ที่ทรงพลังมากที่สุด นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน และจากประวัติศาสตร์ชวนใคร่รู้สู่กลิ่นกายของคนใกล้ชิด
ในฐานะศิลปินคุณนิยามกลิ่นว่าอะไร
กลิ่นคือความทรงจำ ภาษานักปรุงน้ำหอมเรียกว่า Olfactory memory เกิดจากการดมกลิ่นมากมายเพื่อจดจำให้ได้ ถ้าเราไม่เคยได้กลิ่นอะไร เราก็จะไม่รู้จักกลิ่นนั้น เช่น พูดถึงหญ้าแฝก คนทั่วไปอาจจินตนาการว่าต้องมีกลิ่นเขียวๆ แต่เมื่อได้ดมน้ำมันสกัดจากหญ้าแฝกจะพบว่าเป็นกลิ่นดิน จริงๆ แล้วมันบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เพราะการบรรยายกลิ่น ต้องอาศัยเซนส์อื่นๆ มากมาย อาจจะเปรียบเทียบกับสี โน้ตต่างๆ หรือคำพูด แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่ากับความทรงจำ ถ้าเราเคยดมกลิ่นนั้นมาก่อนเราจะจำได้ทันที แม้ดมเพียงครั้งเดียวก็ตาม
เมื่อกลิ่นคือความทรงจำ แล้วความทรงจำของคุณที่เด่นชัดมากที่สุดคืออะไร
กลิ่นเป็นเซนส์ที่แปลกเพราะมักมาพร้อมกับสิ่งอื่นๆ ดังนั้นการที่กลิ่นๆ หนึ่งจะทำให้คนนึกถึงความทรงจำนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน เราอาจอธิบายออกมาไม่ได้แต่เราจำสถานการณ์ตอนที่ได้กลิ่นนั้นได้ กลิ่นที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของเราที่สุดคือ กลิ่นน้ำหอมของแม่สมัยสาวๆ ตอนที่เรายังเป็นเด็ก เพราะเราใกล้ชิดกัน แม่ใช้น้ำหอมอะไรเราก็จะเข้าใจว่าเป็นกลิ่นของแม่ แต่เมื่อแม่เลิกใช้น้ำหอม เราก็ไม่ได้กลิ่นนั้นอีกเลย
พอเราเริ่มสะสมน้ำหอมวินเทจ ก็ได้กลิ่นนั้นอีกครั้ง เป็นกลิ่นน้ำหอมที่ดังมากในยุคหนึ่ง ชื่อว่า L’air du temps แปลว่า Air of This Time บรรจุในขวดคริสตัลทรงสวยมีนกสองตัวบินคลอเคลียกันชวนโรแมนติก เมื่อเราได้กลิ่นก็นึกได้ทันทีว่า โอ้ย ตายแล้ว วันนั้นแม่ใส่สูทลายสกอตคู่กับกระโปรง มาลาหน้าบ้าน แล้วแม่ก็นั่งแท็กซี่ออกไปสนามบิน เราก็ร้องไห้เพราะรู้สึกคิดถึง ทั้งบรรยากาศ สถานที่ เสียง เกิดขึ้นพร้อมกันอีกครั้งจากความทรงจำเก่าๆ เป็นเพราะกลิ่นของแม่ในวันนั้นที่เด่นชัดมากจนเรียกความทรงจำทุกอย่างให้ย้อนกลับมาปรากฏอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เวลาผ่านมาแล้วเกือบจะ 20 ปี ถ้าให้ดูรูปถ่ายกับแม่ในวันนั้น เราอาจจะไม่ได้รู้สึกเท่ากับการได้ดมกลิ่นด้วยซ้ำ
อีกกลิ่นที่เราจำได้แม่นคือ กลิ่นในหอประชุมจุฬาฯ เป็นกลิ่นจากเก้าอี้เก่าๆ หรือโครงสร้างของอาคารที่ผ่านอายุการใช้งาน กลิ่นอับ กลิ่นเหงื่อ กลิ่นห้องน้ำ หรือกลิ่นอะไรก็แล้วแต่ที่ผสมปนเปกันแล้วออกมาเป็นกลิ่นเฉพาะของสถานที่ ทำให้นึกถึงตอนเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ เพราะตลอดทั้ง 4 ปี เราเข้าออกหอประชุมจุฬาฯ บ่อยมากเพราะต้องทำละครคณะ เลยกลายเป็นความทรงจำที่ค่อนข้างอัดแน่นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 ปัจจุบัน หลังจากหอประชุมจุฬาฯ ปรับปรุงแล้วเสร็จ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากลิ่นจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า
สามารถสรุปได้ไหมว่ากลิ่นมีอิทธิพลรุนแรงต่อความทรงจำและประสบการณ์
ใช่ๆ เราเห็นตรงตามนั้น และคิดว่าหลายคนก็เชื่อว่ากลิ่นเป็นเซนส์ที่ทรงพลังมากที่สุด เมื่อดมแล้วก่อให้เกิดทั้งความรู้สึก ประสบการณ์ และความทรงจำ
เมื่อกลิ่นเป็นเซนส์ที่ทรงพลัง แสดงว่ากลิ่นสามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้เกิดขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจลดทอนคุณค่าบางอย่างลงได้
เรื่องลดทอนเราไม่แน่ใจนะ ก็อาจจะมี ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เช่น ใส่กลิ่นไปแล้วทำให้คนไม่ชอบ รำคาญ แต่เราชื่นชอบน้ำหอมในเชิงเสริมสร้างมากกว่า เพราะเรามองเป็นงานศิลปะที่ให้คุณค่าทางใดทางหนึ่ง ใช้เสริมบุคลิก เสริมความสุขให้เราได้ สำหรับเราน้ำหอมเป็นสุนทรียะในการใช้ชีวิต เราไม่ได้ใช้เพราะเหตุผลด้านแฟชั่น
จริงๆ น้ำหอมไม่ได้ต่างจากงานศิลปะประเภทอื่น คือมีโครงสร้าง มีเรื่องราวความเป็นมา และก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก เพียงแต่ว่าเราจะสนใจดมหรือเปล่า อย่างน้ำหอมวินเทจทุกขวดที่เราสะสม เราจะรู้เรื่องราวเบื้องหลังการสร้าง ที่ต้องมีกลิ่นเปิดหรือ head นำมาสู่กลิ่นที่เป็นหัวใจหลักหรือ heart และร่ายมาถึงกลิ่นท้ายหรือ base ซึ่งกลิ่นทั้งหมดต้องกลมกลืนกัน เกิดเป็นเรื่องราวหรือภาพ หรือความรู้สึกบางอย่าง ที่สำคัญแต่ละกลิ่นก็มีความหมายเชิงส่งผลกระทบต่อสังคมในยุคนั้นๆ ด้วย
การพิจารณาน้ำหอมที่เราดม ก็เหมือนได้ดูหนังที่มีความสำเร็จทางศิลปะที่ดีมากเรื่องหนึ่งเลยนะ แต่คนส่วนมากสัมผัสได้ยาก เพราะเขาไม่ได้มี Olfactory memory ที่หลากหลาย เมื่อดมกลิ่นแล้วจะได้ความรู้สึกระดับผิวเผิน แต่สำหรับคนที่มี จะเข้าใจดีว่าน้ำหอมหลายๆ กลิ่นที่เป็น iconic ของโลก มีความซับซ้อนมากๆ คิดได้ยังไงถึงปรุงออกมาได้ดีขนาดนี้
ทราบมาว่าคุณเองเคยพยายามสกัดกลิ่นแปลกๆ จากสิ่งที่อยู่รอบตัว เหมือนกับที่ ฌอง-แบบติสต์ เกรอนุย ตัวเอกในวรรณกรรมเรื่อง น้ำหอม (Das Parfum) ทำ คุณคิดว่าตัวคุณกับเกรอนุยมีบางส่วนที่เหมือนหรือคล้ายกันไหม ในเรื่องความกระหายใคร่รู้
ก็อาจจะใช่นะ ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองชอบเรื่องกลิ่นอยู่แล้ว ช่วงประมาณสองสามขวบ เคยเอาไบกอนมาฉีดเล่นแล้วดม เพราะรู้สึกว่ามันหอมดี จนถูกส่งโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่ตัวเราเองก็จำไม่ค่อยได้หรอก แต่แม่เล่าให้ฟังว่าเป็นแบบนั้น
พอเรียนชั้นมัธยม เวลาชอบกลิ่นอะไร เราก็คิดต่อไปว่าอยากจะเก็บกลิ่นนั้นไว้ เช่น กลิ่นผักแปลกๆ อย่าง กะเพรา ยี่หร่า หรือแม้กระทั่งกลิ่นผิวดินหลังฝนตก แล้วห้องวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมีอุปกรณ์สำหรับกลั่นไอน้ำ เราก็เอามาลองทำ จำไม่ได้หรอกว่าไปเรียนรู้วิธีกลั่นไอน้ำจากที่ไหนมา แต่สิ่งที่จำได้คือไปซื้อผักจากตลาด หยิบหินที่อยากเก็บกลิ่นมา แล้วลองสกัดดู สุดท้ายไม่สำเร็จ โตขึ้นมาถึงรู้ว่าที่จริงแล้ววิธีนี้ทำได้เฉพาะพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยเท่านั้น
ก็เหมือนในวรรณกรรมเรื่องน้ำหอม เกรอนุยถามวิธีการเก็บกลิ่นจากนักปรุงน้ำหอม เขาก็สอนวิธีกลั่นด้วยไอน้ำ ด้วยความที่สนใจมาก วันหนึ่งเกรอนุยลองกลั่นกลิ่นเหล็กขึ้นสนิมแต่ก็ไม่สำเร็จ จริงๆ การเก็บกลิ่นมีหลายวิธีต้องค่อยๆ เรียนรู้ อย่างเราชอบกลิ่นมะกรูดมาก เคยพยายามสกัดด้วยไอน้ำซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เมื่อเรามีความรู้มากขึ้น วิธีสกัดกลิ่นที่ดีที่สุดสำหรับพืชตระกูลซีตรัส (citrus) คือ cold pressed หรือสกัดเย็น
กลิ่นแบบไหนที่คุณโปรดปรานมากที่สุด
เมื่อเราปรุงน้ำหอมเอง เรากลับมองเห็นความงามของทุกวัตถุดิบ ทั้งกลิ่นธรรมชาติ กลิ่นสังเคราะห์ หรือสารเคมีที่ใช้ ทุกกลิ่นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ก็เหมือนกับจิตรกร สมมติชอบสีฟ้ามากๆ แต่เมื่อขึ้นจิตรกรรมแล้วก็ต้องเห็นความงามของทุกสี แต่ถ้าให้ระบุกลิ่นที่ชอบ ต้องใช้เวลาคิด (นิ่งคิด) กลิ่นธรรมชาติเราชอบกุหลาบ กฤษณา ชะมด และมะลิ
ส่วนกลิ่นสังเคราะห์ที่ชอบ คือ Isobutyl Quinoline เป็นโมเลกุลสังเคราะห์ กลิ่นคล้ายเหล็กขึ้นสนิม และเครื่องหนัง ดาร์กๆ หน่อย หรือ Hedione ให้กลิ่นมะลิ เรามักจะเปรียบเป็นมะลิต้องแสงอาทิตย์ อีกกลิ่นคือ Evernyl Veramoss เป็นกลิ่นมอสสังเคราะห์ ใช้ผสมทำกลิ่นมอสร่วมกับ Oakmoss จากธรรมชาติ
เราชอบใส่กลิ่นเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอมที่ปรุง
แล้วความเหม็นหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ล่ะ
สำหรับเราเอาเข้าจริงไม่ค่อยมีนะ แต่ถ้าดมวัตถุดิบในการทำน้ำหอม จะพบว่ามากกว่าครึ่งกลับเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ มันจะเหม็นเขียว เหม็นสาบ เหม็นเหมือนอ้วก เหม็นเหมือนผมคนไม่ได้สระ เหม็นเหมือนเนื้อเน่าก็มี แต่ว่าเวลาปรุงน้ำหอม เราจะเอาแต่กลิ่นหอมใส่รวมกันทั้งหมดไม่ได้หรอกนะ มันจะเอียนชวนแหวะมากกว่า ต้องเอากลิ่นเหม็นๆ เหล่านี้ใส่ผสมไปด้วย แล้วจะหอมขึ้น ดูมีคาแร็กเตอร์ มีเรื่องราว มีความน่าสนใจ
หรือตอนถ่ายทำหนังเรื่อง มะลิลา เราใช้กลิ่นปลาเค็มล่อแมลงวัน คนอื่นๆ เหม็นกันทั้งกองถ่าย อ้วกแตกอ้วกแตน แต่เรามองว่ามันเป็นกลิ่นธรรมชาติ วัตถุดิบที่เราใช้ปรุงน้ำหอมก็มีกลิ่นเน่าๆ แบบนี้แหละ เพราะฉะนั้นเวลาดมกลิ่นเราก็จะเก็บไว้เป็น Olfactory memory ไม่ต้องทำอะไร แค่ดมและจำ
อย่างกลิ่นต้นตีนเป็ด บางคนว่าหอม บางคนว่าเหม็น อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างความหอมกับความเหม็น มันขึ้นอยู่กับ Olfactory memory หรือเปล่า
ใช่ กลิ่นเดียวกันแต่บางคนดมแล้วเวียนหัว บางคนชอบ มันอยู่ที่ Olfactory memory ของคนคนนั้น กลิ่นต้นตีนเป็ดเป็นกลิ่นดอกไม้ เวลาดมเราก็พยายามจะแยกโปรไฟล์กลิ่นว่ามีกลิ่นเหม็นเขียวผสมกับกลิ่นดอกไม้ เป็นสัญชาตญาณของนักปรุงน้ำหอม จะดมกลิ่นอะไรก็แล้วแต่ต้องพยายามแตกกลิ่น ถามว่าชอบกลิ่นต้นตีนเป็ดไหม ก็โอเคนะ เป็นกลิ่นดอกไม้แบบหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้สึกถึงขนาดไม่ชอบ
ย้อนกลับไปที่คุณบอกว่ากลิ่นมีความหมายเชิงส่งผลกระทบต่อสังคม อยากให้คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้
ต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ก่อนน้ำหอมค่อนข้างถูกสงวนไว้สำหรับคนมีเงิน ยังไงน้ำหอมก็ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับคนทั้งโลกอยู่แล้ว ที่ดินมีไว้เพื่อปลูกข้าวหรือทำการเกษตรไม่ได้มีไว้ปลูกดอกไม้ ดังนั้น น้ำหอมจึงเป็นของฟุ่มเฟือยเพื่อตอบสนองคนรวย คนไม่มีเงินไม่มีสิทธิ์สัมผัสความสุนทรีย์ของน้ำหอมได้หรอก แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ผู้ผลิตต้องคิดว่าทำยังไงให้น้ำหอมขายได้มากและกว้างที่สุด
“
แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต น้ำหอมคือบันทึกของยุคสมัยอย่างหนึ่ง
”
หลายกลิ่นส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างกลิ่นใกล้ตัวที่สุดก็น้ำหอมที่แม่เคยใช้ เบื้องหลังการสร้าง L’air du temps คือช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ขวดคริสตัลรูปนกพิราบสื่อถึงสันติภาพ ส่วนชื่อหมายถึงอากาศแห่งช่วงเวลานี้ เพราะกลิ่นดอกไม้ให้ความรู้สึกถึงสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะก่อเกิดหลังมีสันติภาพซึ่งเต็มไปด้วยความรัก เป็นกลิ่นที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกและจิตใต้สำนึกของคนในยุคนั้นว่าหลังสงครามเรามีสันติภาพ มีความรัก มีสิ่งใหม่ๆ
สุดท้ายกลายเป็นน้ำหอมที่สื่อถึงความโรแมนติกที่ผู้ชายนิยมซื้อให้ผู้หญิง เป็นน้ำหอมที่มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่น้ำหอมที่ผลิตในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนสูตร เพราะในยุคแรกเริ่มไม่ได้ตรวจสอบสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อมีองค์กรมากำกับดูแล ส่วนผสมบางอย่างก็ถูกห้ามใช้ หรือไม่ก็จำกัดปริมาณ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ว่าควรจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า เพราะมันคือเหตุผลทางการตลาด ถ้าคนใช้น้ำหอมแล้วไม่แพ้ คนก็จะใช้กันมากขึ้น
เหมือนกับจานสีของศิลปิน ถ้าเราเปรียบเทียบนักปรุงน้ำหอมเป็นศิลปิน เขาต้องมีจานที่มีสีหลากหลายให้เลือกใช้อย่างไม่จำกัด ศิลปินย่อมชอบมากกว่า เพราะสามารถสร้างผลงานให้สำเร็จได้ตรงตามที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อสีบางสีหายไป ความสวยงามของภาพก็ต้องเปลี่ยน อย่างกลิ่นของ L’air du temps ตอนนี้ก็เทียบไม่ได้กับสมัยก่อน ดมแล้วไม่สมบูรณ์เท่า แต่ยังพอมีกลิ่นบางๆ หลงเหลืออยู่จางๆ เป็นซากในวันวาน
หรือ Shalimar เป็นต้นกำเนิดน้ำหอมเซ็กซี่ มันเป็นเรื่อง Olfactory memory ที่สั่งสมกันมาของมวลมนุษยชาติเลยล่ะ น้ำหอมในยุคแรกๆ เน้นกลิ่นดอกไม้ แต่ Shalimar มีส่วนประกอบของโน้ตวานิลลากับเครื่องหนัง ซีตรัส และดอกไอริส ดมแล้วจะเกิดจินตภาพเป็นโลกตะวันออก ทำให้นึกถึงทัชมาฮาลและความรัก ผู้สร้างก็ตั้งชื่อและบอกแรงบันดาลใจไปในแนวทางนั้น กลายเป็นกลิ่นที่ทำให้คนรู้สึกเซ็กซี่ เราว่าจินตภาพของคนสมัยนั้นมองผู้หญิงและโลกตะวันออกไปในทางเซ็กซี่ มีความลึกลับ เร้าความรู้สึกทางกายบางอย่าง ทำให้กลิ่นหวานๆ ของวานิลลาถูกเชื่อมโยงกับความเซ็กซี่ ทั้งที่มันคือกลิ่นอาหาร เหมือนจะไม่มีเหตุผลว่าทำไมคนถึงอยากมีกลิ่นเหมือนขนม แต่มันเริ่มต้นมาจาก Shalimar นี่แหละ แล้วก็เป็นน้ำหอมที่มีข่าวลือว่ากะหรี่ในยุคนั้นชอบใช้ด้วย ส่วนผู้ดีเขาใช้กลิ่นดอกไม้
ต่อมาน้ำหอมสไตล์นี้ก็ถูกพัฒนาเป็นน้ำหอมกลิ่นขนม กลิ่นผลไม้ ซึ่งผู้หญิงปัจจุบันนิยมใช้กันเพราะว่าเซ็กซี่ เช่น Fantasy Britney Spears เรื่องมันค่อนข้างซับซ้อนเพราะเกิดจากการสั่งสมทางประวัติศาสตร์ของการรับกลิ่น
กลิ่นเซ็กซี่สำหรับคุณคือกลิ่นแบบไหน
เราคิดว่าแท้จริงแล้วกลิ่นที่ทำให้รู้สึกเซ็กซี่คือกลิ่นสาบสัตว์ (animalic) ซึ่งเอามาใช้เพียวๆ ไม่ได้ เพราะเหม็น แต่มันจะถูกซ่อนอยู่ในโน้ตอื่นๆ โดยเฉพาะโน้ตวานิลลา แม้กระทั่ง Shalimar ก็ใช้เครื่องหนังซึ่งมีกลิ่นสาบสัตว์ต่ำๆ มาตัด
กลิ่นสาบสัตว์ที่ว่ามี 4 ชนิด ซึ่งตอนนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบ เพราะยากมากกว่าจะหามาได้ อย่างแรกคือ ซีเวต (civet) ได้จากชะมดเช็ด กลิ่นเหมือนผู้ชายที่ไม่ได้สระผมแล้วเราเอาจมูกไปดม กลิ่นจะสาบมาก อย่างที่สองคือ แคสโทเรียม (castoreum) จากต่อมกลิ่นของตัวบีเวอร์ ต้องฆ่ามันแล้วเอาต่อมกลิ่นไปทำให้แห้งก่อนนำมาสกัด เป็นกลิ่นเครื่องหนังเพราะหนังสัตว์มีกลิ่นเหม็นมาก จึงต้องเอากลิ่นนี้ซึ่งแรงมากมากลบ อย่างที่สามคือ แอมเบอร์กรีส์ (ambergris) อำพันทะเล อ้วกวาฬ หรือขี้วาฬ แล้วแต่ละเรียก เกิดจากวาฬกินหมึกเข้าไปมากๆ ทำให้มีไขมันสะสมในท้อง แล้วสำรอกออกมาลอยอยู่ในทะเลเป็นระยะเวลาหนึ่งจนถูกซัดมาเกยฝั่ง เป็นของหายากมากและแพงมาก กลิ่นเหมือนซอกหลืบของผู้หญิง เหม็นนิดๆ เค็มหน่อยๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่น และสุดท้ายคือ มัสก์ (musk) เป็นต่อมของกวางทิเบต ซึ่งต้องฆ่าเพื่อให้ได้มา ให้กลิ่นเหมือนซอกไข่ผู้ชาย (หัวเราะ) ดมแล้ว อุ๊ย นี่มันกลิ่นค*ย กลิ่นกางเกงใน
กลิ่นสาบๆ พวกนี้แหละทำให้เซ็กซี่ ถามว่าเป็นฟีโรโมนไหม บางส่วนก็ใช่เพราะได้มาจากต่อมกลิ่นของสัตว์ตามธรรมชาติ แต่ถามว่าทำให้คนเกิดอารมณ์ทางเพศไหม เราว่าไม่ถึงขนาดนั้น
ถ้าพูดถึงกลิ่นกาย คุณมีมุมมองต่อกลิ่นนี้อย่างไร แล้วกลิ่นกายทำให้คนที่คุณชอบทรงเสน่ห์ขึ้นหรือเปล่า
โอ๊ย เราชอบ (เน้นเสียง) เราชอบกลิ่นกายของผู้ชาย เคยอ่านงานวิจัยหนึ่งบอกว่าถ้าเครียดให้ดมกลิ่นกายผู้ชายใกล้ตัวแล้วจะดีขึ้น ก็ไม่เสมอไป (หัวเราะ) แต่ส่วนตัวชอบนะ ดมแล้วรู้สึกดี
ส่วนทำให้ทรงเสน่ห์ขึ้นไหม ถ้าเขาคือคนที่เราชอบก็เป็นไปได้ มันตอบยากนะ เราว่าแล้วแต่คนมากกว่า เพราะผู้ชายแต่ละคนก็กลิ่นไม่เหมือนกัน แต่เราตอบตัวเองได้นะว่าเราชอบกลิ่นผู้ชายคนไหนบ้าง
คุณไวต่อกลิ่นกายของคนรักหรือคนใกล้ชิดไหม
ไว ชอบนะ โดยเฉพาะกลิ่นเหงื่อ จำได้แม่นเลย เราเคยมีแฟนเป็นช่างเชื่อมเหล็ก มันเป็นกลิ่นจากที่ทำงานของเขา เมื่อกลับมาบ้านกลิ่นเหล็กก็จะติดตัวมาด้วย พอผสมกับกลิ่นกายแล้วให้ความรู้สึกที่แปลกมาก เซ็กซี่ไปอีกแบบ ทุกวันนี้ยังจำได้อยู่เลย
เป็นความรู้สึกแบบนี้ไหม เมื่อเริ่มคบหา คุณเริ่มได้กลิ่น เก็บกลิ่น พออยู่ด้วยกันใกล้ชิดกันจะเกิดการชินกลิ่น ถ้าห่างกันก็ไม่ได้กลิ่นกัน แต่ถ้ามาเจอกัน กลิ่นเดิมจะกลับมาเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง
ใช่ เป็นแบบนี้เลย เข้าใจถูกแล้ว ตามความคิดส่วนตัวของเราคิดว่าเป็นแบบนี้ เหมือนเวลาปรุงน้ำหอม ทำไปสักระยะหนึ่งก็ต้องพัก เพราะจมูกจะเริ่มบอด วันต่อมาค่อยมาปรุงต่อ กลิ่นเดิมๆ ก็จะชัดขึ้นอีกครั้ง มันมีความล้าแฝงอยู่ ยิ่งถ้าเราอยู่กับกลิ่นนั้นทุกๆ วัน ก็จะชิน แต่ถ้าห่างจากกันไปนาน แล้วกลับมาได้กลิ่นนั้นอีก มันจะทรงพลังมากขึ้น
เห็นไหมว่า Olfactory memory หรือความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่นมีความสำคัญมาก เวลาเราดมกลิ่นสาบๆ จะรู้สึกเซ็กซี่ คิดถึงแฟน แต่ถ้าคนอื่นมาดมกลิ่นเดียวกันเขาก็คงคิดถึงอย่างอื่น มันเป็นความรู้สึกเฉพาะตัวมากๆ เพราะแต่ละคนมีความทรงจำต่อกลิ่นเป็นของตัวเอง มันซับซ้อนเกินกว่าที่จะบอกกันได้
คุณคิดว่ากลิ่นมีผลต่อความสัมพันธ์ไหม
ความสัมพันธ์น่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นมากกว่า กลิ่นไม่ได้มีผลขนาดนั้น แต่กลิ่นทำให้เราจำเขาได้ เป็นตัวเก็บความทรงจำที่ดี ตอนที่คบกันเราไม่ได้มานั่งคิดหรอกว่ากลิ่นเขาเป็นแบบไหน เราโฟกัสจุดอื่นมากกว่า หน้าตา นิสัย อยู่ด้วยแล้วคุยกันรู้เรื่อง หรือเอาเก่ง (หัวเราะ) แต่ถามว่าพอเจอคนเอาเก่งแล้วเขามีกลิ่นเฉพาะตัว มันก็ยิ่งเซ็กซี่สำหรับเรา คือต้องดมและถามตัวเองว่ากลิ่นนั้นมีความหมายยังไงกับเรา
แบบนี้กลิ่นเป็นกุญแจสำคัญทำให้ดึงดูดเข้าหาหรือออกห่างหรือเปล่า
ถ้ากลิ่นกายเป็นไปได้ แต่ถ้าน้ำหอม เรามองเป็นเรื่องการเลือกใช้มากกว่า ซึ่งสำคัญนะ เวลาเราจะแนะนำน้ำหอมให้ใคร เราจะดูบุคลิกเขาเป็นหลัก เพราะกลิ่นต้องทำหน้าที่เสริมบุคลิกให้เราเด่นขึ้น ดังนั้นต้องใช้ให้เหมาะ เช่น ผู้หญิงคนนี้เป็นคนเนื้อนมไข่ เราก็จะแนะนำให้ใช้กลิ่นเซ็กซี่ เดินมาปุ๊บ ผู้ชายจะเห็นทันที เพราะหล่อนมาพร้อมกับกลิ่นที่ชัดเจน เกิดความดึงดูดบางอย่าง หรืออย่างวันนี้เราแต่งตัวเป็นชุดคลุมยาวแนววินเทจ เราก็ต้องดูว่าน้ำหอมตัวไหนเหมาะกับลุกส์เรา หรือเธอเป็นผู้ชายสบายๆ ก็ต้องใช้กลิ่นสบายๆ ดมแล้วอื้ม ใช่ รู้สึกว่าคนนี้เป็นคนสบายๆ น่าเข้าหา
ในฐานะผู้หลงใหลน้ำหอมวินเทจ เสน่ห์ของน้ำหอมอยู่ตรงไหน
อย่างแรกเรามองน้ำหอมเป็นศิลปะ คุณค่าของมันจึงอยู่ที่ความสมบูรณ์ทางศิลปะ เพราะมันเหมือนกับเราเสพภาพเขียน หรือฟังดนตรีที่ดีมีองค์ประกอบลงตัว เป็นความงามแบบหนึ่ง อย่างที่สองคือเราชื่นชมเรื่องราวและความหมายจากขั้นตอนการสร้างสรรค์ ว่าน้ำหอมขวดนี้มุ่งหมายอะไร และส่งผลต่อสังคมและยุคสมัยยังไง
คุณเริ่มต้นเก็บสะสมน้ำหอมวินเทจตั้งแต่เมื่อไหร่
เกือบๆ 10 ปีได้ ขวดแรกที่ได้มาคือ L’air du temps เป็นน้ำหอมของแม่ แต่ขวดที่หาซื้อเองแล้วสนใจเก็บจริงๆ จัง คือ Shalimar ตอนเปิดกล่องพัสดุกลิ่นมันฟุ้งขึ้นมาเลย เพราะน้ำหอมซึมออกมาจากจุกขวด พอได้กลิ่นก็รู้เลยว่าต่างจากน้ำหอมในปัจจุบันมาก ทุกอย่างสมบูรณ์ เรียกว่าสะเทือน ดมแล้ว อุ๊ย อย่างนี้หรือ อึ้งไปเลย ขวดเป็นคริสตัลเจียระไนด้วยมืออย่างดี เป็นแก้วที่ใสมาก เวลาเปิดขวดจะเกิดเสียง กิ๊ง! กังวาล มันคือสุนทรีย์ของการใช้น้ำหอม เมื่อหยดลงบนผิวผสมกับกลิ่นกายของเราแล้ว รู้สึกมีความสุขมาก กลายเป็นผู้หญิงเซ็กซี่ (หัวเราะ) เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตในวันนั้นไปเลย
ความสมบูรณ์ของน้ำหอมที่คุณว่าขี้นอยู่กับอะไร
เธอดมเธอก็รู้เลยว่าน้ำหอมนี้บ้งหรือไม่บ้ง เหมือนเวลาเธอดูหนังหรืองานศิลปะ เธอจะรู้เลยว่าอะไรคืองานมาสเตอร์พีซ มันพูดออกมาไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ข้างใน หรือเหมือนกับการฟังเพลง เธอจะรู้ทันทีว่าเพลงนี้ดีมาก เพลงนี้เหี้ยไม่มีคุณภาพ
แล้วกลิ่นก็ไม่ได้เป็นเรื่องความกลมกลืนอย่างเดียว บางครั้งความขัดแย้งก็เป็นมาสเตอร์พีซได้ มันเลยค่อนข้างตอบยาก อย่างเราทำน้ำหอมให้ตัวเอง เพราะไม่ชอบกลิ่นไม้กฤษณาที่มีอยู่ในตลาด รู้สึกว่าไม่ค่อยได้คุณภาพ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกไม้กฤษณาที่สำคัญ เราพยายามหาน้ำมันไม้กฤษณาที่ดีจนพบว่า ลำพังตัวน้ำมันเฉยๆ ก็เป็นน้ำหอมได้ด้วยตัวมันเอง กลิ่นซับซ้อนจนรู้สึกว่าตายแล้ว (เน้นเสียง) กลิ่นแรง ดูก้าวร้าว แต่ชอบมาก บางครั้งเราก็ใช้มันเพียวๆ เลย
ถ้าวันหนึ่งคุณสูญเสียการรับกลิ่นไป ถึงวันนั้นชีวิตจะเป็นอย่างไร
(นิ่งคิด) จริงๆ เราก็ยังตอบตัวเองไม่ได้นะว่าจะเป็นยังไง คงเศร้ามากๆ แม้ว่าเราจะทำงานเกี่ยวกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ทั้งเสียงและภาพด้วยก็ตาม แต่ถามว่าเราจะลืมกลิ่นต่างๆ ไหม มันไม่ลืมหรอก เพียงแต่ไม่ได้กลิ่นนั้นอีกแล้ว จะว่าไปก็เป็นเรื่องแปลกนะ ในประวัติศาสตร์มีนักปรุงน้ำหอมชื่อดังคนหนึ่ง คือ Jean Carles ได้ปรุงน้ำหอมที่ดังมาก คือ Miss Dior ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขารับกลิ่นไม่ได้ ดูแค่ส่วนประกอบและสัดส่วนทั้งหมดแล้วปรุง ก็เหมือน Beethoven แต่ง Symphony No.9 เขาก็ไม่ได้ยินอะไร แต่เขาจำโน้ตทุกตัวได้ รู้หมดทุกอย่าง แค่อ่านโน้ตก็รู้แล้วว่าเสียงเป็นยังไง
สุดท้ายแล้วอะไรคือคุณค่าของกลิ่นที่คุณได้รับ
กลิ่นสร้างความสุข นอกจากเป็นตัวเก็บความทรงจำแล้ว กลิ่นเป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจที่ดีมากนะ เวลาทำหนังเรามักจะเชื่อมโยงกับกลิ่นหรือน้ำหอมบางตัว สำหรับคนทำงานศิลปะโดยมากต้องมีสิ่งอ้างอิงบ้างเพื่อจะดูว่าหนังตัวเองเป็นยังไง แต่เราไม่ได้เทียบกับหนังอื่นๆ เราเทียบกับน้ำหอม
อย่างเรื่อง มะลิลา เราเทียบกับน้ำหอมชื่อ Vol de Nuit เพราะมีกลิ่นดิน สาบสัตว์ เหม็นเขียว และมีกลิ่นดอกไม้ซ่อนอยู่ ให้ความรู้สึกเร้าอารมณ์ของผู้ชาย แล้วเราก็จะดูองค์ประกอบของหนังทั้งหมดว่ามันสมบูรณ์เหมือนน้ำหอมนั้นหรือยัง กลิ่นมันทำให้งานโดดเด่นและต่างไปจากเดิม หลายคนบอกด้วยซ้ำว่าดูหนังเราแล้วเหมือนได้กลิ่นด้วย