แม้ว่าปัจจุบัน นิก อุท (Nick Ut) จะเกษียณแล้ว แต่ทุกวันนี้เขายังคงแบกกล้องและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อถ่ายภาพอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และดูเหมือนว่ากล้องถ่ายภาพเหล่านั้นได้กลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเขาไปแล้ว เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นดีเอ็นเอ เป็นทั้งหมดของชีวิตที่ทำให้เขาเป็น นิก อุท ช่างภาพสงครามชาวเวียดนาม-อเมริกัน เช่นที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ สำหรับ นิก อุท ชีวิตหลังเกษียณคืออะไร หรือแท้จริงแล้วชีวิตของเขาไม่เคยเกษียณเลย
เวลาจะกดชัตเตอร์แต่ละครั้ง คุณมีเทคนิคอย่างไรบ้าง
ผมพกกล้องอยู่ตลอดเวลา และผมชอบสังเกตผู้คน เพราะช่วงเวลาที่เหมาะสมมันเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที โดยที่คุณไม่มีทางรู้เลย มันจึงเป็นงานของผมที่ต้องจ้องมองสถานการณ์อยู่ตลอด เพื่อนผมคนหนึ่งเคยพูดว่า เราเป็นเพื่อนกันมานาน และไปทำงานในสถานที่เดียวกันหลายครั้ง แต่รูปของเราไม่เคยเหมือนกันเลย ใช่ เพราะสายตาของตากล้องทุกคนแตกต่างกัน ผมชอบจ้องมองผู้คน แต่ผมไม่ชอบให้ผู้คนจ้องมาที่กล้องผม ผมมักจะถ่ายภาพผู้คนจากไกลๆ ให้เป็นเป็นคนตัวเล็กๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างมากกว่า
ผมเคยถ่ายรูปวาฬตัวใหญ่มาก กระโดดขึ้นมาจากน้ำพอดี พอคนเห็นเขาก็บอกผมว่า นิก คุณโชคดีจังที่ถ่ายภาพนี้ได้ผมบอก ไม่ ผมไม่ได้โชคดี ผมแค่รู้ว่าเมื่อไหร่วาฬมันจะกระโดดขึ้นมา เพราะผมเฝ้ามองมันตลอด หรืออย่างเมื่อไม่นานมานี้ที่ผมถ่ายภาพซูเปอร์มูนแล้วมีเครื่องบินแล่นผ่านกลางดวงจันทร์พอดี ช่างภาพเด็กๆ เขาก็มาถามว่า คุณถ่ายได้ยังไง จังหวะมันเหมาะมาก เหมือนโฟโต้ช็อปเลย ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ความโชคดีเลยนะ ทุกอย่างมันวางแผนไว้หมดแล้ว
แล้วคุณวางแผนอย่างไรบ้าง
เพื่อที่จะถ่ายพระจันทร์ให้ได้ชัดๆ คุณต้องไปตระเวนหาโลเกชันที่เหมาะสม อย่างผมอยากให้มีเครื่องบินบินผ่านพระจันทร์ ผมก็ไปตั้งกล้องอยู่ห่างจากจุดเครื่องบินแลนดิ้งประมาณ 30 ไมล์ และรอ ถ้าในรูปผมอยากให้เครื่องบินดูลำใหญ่ และพระจันทร์เล็ก ผมก็รอจนกระทั่งดึกๆ พระจันทร์ก็จะเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้เครื่องบินที่บินผ่านดูลำใหญ่ขึ้น ถ้าคุณอยากได้รูปที่มันดีจริงๆ ก็ต้องใช้เวลากับมัน บางทีก็ต้องเดินไกลเป็นไมล์ แต่มันก็คุ้ม คนที่เห็นเขาก็ไม่เชื่อนะว่านี่เป็นรูปถ่ายจริง นึกว่าโฟโต้ช็อป (หัวเราะ)
มันจะดีกว่าไหมหากคุณได้ดูโมเมนต์นั้นด้วยตาตัวเอง แทนที่จะดูผ่านวิวไฟน์เดอร์
แน่นอนว่าเวลาผมเห็นอะไร ผมจะซึมซับด้วยตาตัวเองก่อน ซึ่งมันทำให้ผมได้วิเคราะห์ด้วยว่าต้องถ่ายภาพนั้นอย่างไร ตั้งชัตเตอร์สปีดเท่าไหร่ แสงเท่าไหร่ มันมาจากการวัดด้วยตาก่อนทั้งนั้นแหละ อย่างถ้าจะถ่ายรูปดวงจันทร์ มันตั้งถ่ายเป็นออโต้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถ่ายมาแล้วมันจะไม่ชัดเจนแบบนั้น อาจจะดูคล้ายๆ แสงไฟกลมๆ มากกว่า
แล้วคุณชอบแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่างการถ่ายภาพที่ต้องวางแผนเยอะๆ หรือภาพที่ได้มาด้วยความบังเอิญ
ผมชอบทั้งสองแหละ ความรู้สึกมันแตกต่างกัน อย่างอาทิตย์ที่แล้วผมไปถ่ายภาพนกที่แอลเอ แล้วช่างภาพที่ไปด้วยกันเขาเดินตามผมกันหมดเลย เพราะเขาอยากจะก๊อบปี้มุมผม (หัวเราะ) ซึ่งผมไม่ว่าอะไรหรอก เขาจะมีรูปคล้ายๆ กับผมก็ได้ แต่ผมอยากให้รูปของผมสวยที่สุด (หัวเราะ)
คุณเกษียณจาก AP แล้ว มีแผนกับชีวิตหลังเกษียณอย่างไรบ้าง
ผมเกษียณมาได้ 7 เดือนแล้ว แต่ก็ยังวุ่นมาก เพราะต้องเดินทางไปท่องเที่ยวและบรรยายตามสถาบันการศึกษาในประเทศต่างๆ ตลอด โดยเฉพาะตามมหาวิทยาลัย พวกนักศึกษาและช่างภาพข่าวรุ่นใหม่เขาจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เอาจริงๆ พอเกษียณแล้วถึงจุดที่สบายมากๆ ก็อยากกลับไปทำงานต่อเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมทำที่ AP มาตั้ง 51 ปี ถึงวันนี้ ความรู้สึกต่องานมันเคยไม่เปลี่ยนเลย ผมรักงานของผม และไม่เคยเกษียณจากการเป็นช่างภาพ ปัจจุบันก็ยังถ่ายรูปไปเรื่อยๆ
7 เดือนที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง
เที่ยวเยอะมาก และได้ใช้โอกาสนี้ถ่ายรูปสิ่งต่างๆ รอบโลก อย่างอาทิตย์ที่แล้วผมไปเม็กซิโก ได้ถ่ายรูปวาฬตัวใหญ่มาก (ลากเสียง) ถ้าอยู่บ้านผมที่แคลิฟอร์เนียก็จะถ่ายรูปต้นสน ไปอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ถ่ายรูปสัตว์ ธรรมชาติ พวกนี้เป็นรูปที่เมื่อก่อนผมอยากถ่ายมากนะ แต่ไม่มีเวลา
ถ้ามองย้อนกลับไปห้วนคิดถึงงานที่เคยทำไหม
ถึงจะเกษียณตัวเองออกมาแล้วก็ยังต้องกลับไปถ่ายรูปอย่างเก่า เพราะผมคิดถึงเพื่อนๆ ของผมทุกคนเลย อย่างเมื่อตอนที่มีเรื่องไฟป่าที่เบเวอร์ลี ฮิลส์ แคลิฟอร์เนีย ผมก็ยังไปถ่ายรูปทำข่าว มีแต่คนมาบอกว่า ‘อะไรวะ! เกษียณแล้วไม่ใช่หรอ ทำไมมาอยู่นี่’ ก็เลยบอกไปว่า ‘เออ กูกลับมาแล้วล่ะ’ (หัวเราะ)
“
ผมได้บทเรียนจากเวียดนามมามากจนผมคงจะไม่ทำตัวบ้าบิ่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เหมือนตอนนี้ ที่เรารู้แล้วว่าเราออกไปสนามรบเพื่อไปหาเรื่องราวหรือประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ใช่รูปของทหารบาดเจ็บล้มตาย
”
เคยมีความรู้สึกอยากกลับไปที่สมรภูมิรบบ้างไหม
อยากกลับไปนะ แต่ผมได้บทเรียนจากเวียดนามมามากจนผมคงจะไม่ทำตัวบ้าบิ่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เหมือนตอนนี้ ที่เรารู้แล้วว่าเราออกไปสนามรบเพื่อไปหาเรื่องราวหรือประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ใช่รูปของทหารบาดเจ็บล้มตาย เพราะบางครั้งถ่ายรูปศพมามันไม่มีใครแคร์ด้วยซ้ำ
น่าประทับใจที่คนวัยเกษียณยังรักงานของตัวเองได้ขนาดนี้ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ทำงานไปก็งอแงไป คุณเก็บรักษาแพสชันอันแรงกล้านี้ไว้ได้อย่างไร
ผมแค่รักมัน ผมรักการถ่ายภาพจนไปไหนก็ต้องพกกล้องไว้กับตัว ขาดไปแล้วรู้สึกเหมือนจะไม่สบาย จนภรรยายังโวยใส่ผมบ่อยๆ ว่าสรุปรักกล้องหรือรักแฟนมากกว่ากัน (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ง่ายหน่อยเพราะมีไอโฟนแล้ว มีอะไรเข้าตาก็หยิบมาถ่ายได้ทันทีเลย ผมเคยไปทำงานกับค่ายผู้ลี้ภัยที่เยอรมนี ถือกล้องไปก็มีแต่คนด่า ตะโกนใส่ว่า มาถ่ายรูปทำไม! ก็เลยต้องเอาไอโฟนขึ้นมาทำเป็นดูหนัง ฟังเพลง แกล้งทำท่าหัวเราะไป แต่จริงๆ แอบถ่าย ปรากฏว่าไม่มีใครรู้ตัวสักคน (หัวเราะ) หรือตอนไปทำข่าวในพื้นที่แก๊งมาเฟียแอฟริกันในแอลเอ ก็ต้องทำเป็นคุยผ่านเฟซไทม์เพื่อไม่ให้ใครรู้ เพราะสิ่งสำคัญนอกจากการถ่ายภาพให้ดี คือคุณต้องรู้วิธีหยิบกล้องมาใช้ให้เป็นด้วย
คุณได้กลับไปเวียดนามบ้างหรือเปล่า
กลับตลอด ตอนนี้กำลังมีโปรเจ็กต์สารคดีอยู่ และมีเวิร์กช็อปสำหรับช่างภาพข่าวรุ่นใหม่ด้วย
คุณบอกว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเยอะมาก แล้วเวียดนามล่ะ
เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ตึกสูงมากมายไปหมด โดยเฉพาะในฮานอย ผมว่าอีกประมาณ 10 ปี เวียดนามก็คงคล้ายๆ กับฮ่องกงหรือสิงคโปร์เลยแหละ อย่างผมเอง จากเคยเป็นคนที่รู้แทบจะทุกซอกทุกมุมของฮานอยสมัยสงครามเวียดนาม พอตอนนี้กลับไป เดินหลงซะงั้น (หัวเราะ) การศึกษาเวียดนามก็กำลังได้รับการพัฒนาด้วย ผมคิดว่าคนเวียดนามรุ่นใหม่มีโอกาสมากกว่ารุ่นก่อนๆ มาก พูดภาษาอังกฤษได้ เดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ ได้ทั่วประเทศ มีอิสระ เขาได้เรียนรู้เยอะมาก
หลังจากเกษียณ คุณมีโอกาสได้ไปสอนนักเรียนถ่ายภาพตามมหาวิทยาลัยจำนวนมาก พวกเขายังอยากออกไปเสี่ยงกับการทำข่าวสงครามอยู่ไหม แล้วคุณสอนอะไรพวกเขาบ้าง
ยังมีคนรุ่นใหม่อีกมากที่อยากออกไปอยู่ตรงนั้น พวกเขารู้อยู่แล้วว่ามันเสี่ยง แต่ก็ยังอยากจะเรียนรู้อะไรคล้ายๆ กับที่ผมได้ผ่านมา สงครามนั้นอันตราย และคุณต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก แต่ชีวิตเราทุกวันนี้ก็มีแต่ความไม่แน่นอนอยู่แล้ว
“
การที่เรานั่งคุยกันอยู่ตรงนี้ อีกไม่กี่นาทีอาจมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็ได้ ยิ่งสงครามสมัยนี้เป็นสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เราไม่มีที่ให้หลบซ่อนกันอีกต่อไป อยู่หรือตายมันวัดกันในทุกวินาที
”
ไม่เหมือนกับสมัยเวียดนามที่พอมีคนมาบอกว่าทางนั้นอันตราย เราก็ไม่ต้องไป หรือบางทีเราไปบอกใครว่าคนนี้ตายแล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะเขาไม่เห็นระเบิด แต่ยังไงก็ตาม ความระมัดระวังคือสิ่งที่สำคัญมากๆ ต่อให้คุณเสี่ยงชีวิตเพื่อรูปที่สวยงามขนาดไหน ต้องไม่ลืมว่าในอาชีพช่างภาพนี้ คุณคือส่วนที่สำคัญที่สุด มีช่างภาพเด็กๆ ที่ต้องตายไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ เพียงเพราะพวกเขาอยากจะได้รูปสวยๆ โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนกับโลกสมัยสงครามเวียดนามอีกแล้ว เพราะฉะนั้น รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
แล้วเทคโนโลยีช่วยให้การทำงานสมัยนี้ต่างจากเมื่อก่อนบ้างไหม
ต่างมากเลย ยิ่งตอนนี้คุณมีกล้องคุณภาพดีที่ใช้สำหรับข่าวสงคราม มีเลนส์เล็กเลนส์ใหญ่ให้เลือกเต็มไปหมด อย่างเวลามีเหตุกราดยิงที่อเมริกา สื่อไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ก็ไม่เป็นไร เราก็อยู่ไกลๆ ไปถ่ายจากมุมสูง ใช้เลนส์ระยะไกลเอา ภาพทุกภาพมันเล่าเรื่องอยู่แล้ว อาจจะพูดได้ว่ามันปลอดภัยขึ้นระดับนึง
อยากรู้ว่าในลมหายใจสุดท้ายของคุณ คุณจะถ่ายภาพอะไร
เอาจริงๆ ผมพูดมาตลอดว่า ถ้านิ้วผมยังไม่เจ็บ ผมจะไม่หยุดถ่ายภาพ แต่รูปสุดท้ายของชีวิตเหรอ? ตอนนั้นคงป่วยมากจนถ่ายไม่ได้หรอกมั้ง (หัวเราะ) ถ้ากำลังจะตาย ตอนนั้นผมก็คงไม่อยากจะถ่ายอะไรนะ มือมันคงไม่ทำงานแล้วล่ะ แต่ผมขอยังไม่คิดถึงตอนนั้นละกัน ผมยังไม่อยากแก่ (หัวเราะ) ทุกวันนี้เลยไปฟิตเนสออกกำลังกายทุกวัน เวลามีคนถามอายุเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยอยากจะบอกนักหรอก เอาเป็นว่ายังแบกเลนส์อันใหญ่ที่ถ่ายภาพพระจันทร์ได้ก็ละกัน
ไม่กี่วันก่อนแบกเลนส์ไปถ่ายซูเปอร์มูน มีคนบอกว่า ‘ตาแก่คนนั้นแข็งแรงจัง’ ในใจก็ยังคิดว่า ‘เฮ้ย เรียกข้าว่าตาแก่เลยหรอ ยังไม่แก่นะเว้ย’ ก่อนหน้านั้นไปถ่ายเนินทรายที่เดธวัลเลย์ ก็ยังเดินบนนั้นได้ 5 ไมล์นะ พวกรุ่นน้องมันเดินไม่ถึงครึ่งไมล์ก็หอบแฮกกันแล้ว (หัวเราะ) ต้องขอบคุณพระเจ้าที่สร้างให้ผมร่างกายแข็งแรง
รูปภาพที่คุณถ่ายสมัยหนุ่มกับตอนนี้ มันโตไปตามตัวคุณบ้างไหม ความสนใจคุณเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า
ตอนที่ผมยังเด็ก อายุสิบสี่สิบห้า พี่ชายผมมีกล้องเยอะมาก ผมก็ยืมเขามาใช้ถ่ายเล่น จำได้ว่าเป็นกล้อง Rollie ของเยอรมัน ตอนนั้นก็บอกพี่ชายว่า ไม่อยากได้ Rollie อยากได้ Leica พี่ยังบอกเลยว่า กำลังหัดถ่ายรูป จะเอา Leica ไปทำไม ครั้งแรกที่พี่ให้ยืมกล้องมาลองถ่ายเล่น ผมก็เอาไปถ่ายสาวๆ ในหมู่บ้านหมดเลย เด็กอะไรวะเนี่ย (ยิ้ม) จากนั้นก็ได้เริ่มสะสมผลงาน สะสมสตอรีของตัวเองมาเรื่อยๆ จนมาได้งานช่างภาพข่าว ซึ่งผมไม่เคยเรียนถ่ายรูปมาก่อนเลย
แล้วในวัยเกษียณ คุณมักจะถ่ายรูปอะไร
บ้านผมอยู่บนเนินเขาพอดี เลยมีนกเยอะ ก็ได้ถ่ายช็อตสวยๆ ของพวกมันไว้หลายช็อต บางทีก็ถ่ายนกอินทรี หรือบางทีก็ถ่ายภาพคนไร้บ้าน เพราะที่แอลเอมีคนไร้บ้านอยู่เยอะทีเดียว ผมชอบถ่ายรูปนะ ก็เลยถ่ายมันทุกอย่างนั่นแหละ จำไว้ว่า เวลาเราเห็นโมเมนต์ไหนดี ให้หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเดี๋ยวนั้น ถ้ามัวแต่ชักช้า ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว