นิก อุท

Nick Út | คุณค่าแห่งชีวิตจากการถ่ายภาพในสมรภูมิรบของช่างสภาพสงครามระดับตำนาน

การออกจากบ้านไปทำงานโดยไม่รู้ว่าค่ำนี้จะได้กลับมาไหม เป็นสถานการณ์ที่มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราจินตนาการไม่ออก แต่สำหรับ นิก อุท (Nick Út) ช่างภาพชาวเวียดนาม-อเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงระดับตำนาน การจากบ้านไปทำงานถ่ายภาพคือการกระโจนเข้าไปสู่สนามรบ นอนกลางดินกินกลางทราย กระสุนและสะเก็ดระเบิดปลิวข้ามหัวผ่านหูไป ในขณะที่เขาคอยจับจ้องวินาทีที่ดีที่สุด วินาทีสำคัญของเหตุการณ์ วินาทีที่จะเปลี่ยนการรับรู้ของคนทั้งโลก แล้วก็ปรับโฟกัสและกดชัตเตอร์ให้ทันภายในเสี้ยววินาทีนั้น

ทุกวินาทีคือความเป็นความตาย และมีความสำคัญอย่างที่คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายทุกวันนี้ไม่มีทางเข้าถึง สำหรับเขา วันเวลาที่ผ่านมาหกสิบกว่าปีในชีวิต และห้าสิบกว่าปีของมหาสงครามในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจอยู่เสมอว่า เราอาจมี ‘วันนี้’ แค่ครั้งเดียว

หลังจากงานเปิดนิทรรศการ My Story by Nick Ut ที่ Leica Gallery Bangkok เราได้มีโอกาสได้พูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ กับนิก อุท ถึงเรื่องราวมากมายในชีวิต ทั้งเรื่องประสบการณ์ครั้งสำคัญเมื่อตอนทำงานกับสำนักข่าว AP มากว่า 51 ปี เขาเป็นเจ้าของผลงานอันโด่งดัง ‘The Terror of War’ หรือในอีกชื่อว่า ‘The Napalm Girl’ ภาพถ่ายสะท้อนความโหดร้ายจากสงครามเวียดนามซึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี ค.ศ. 1973

นิก อุท

การเห็นความโหดร้ายของสงคราม เห็นภาพผู้คนเสียชีวิต และการประสบกับเหตุการณ์เฉียดตายมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีนี้ ไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนเงียบขรึม เก็บตัว หรือมองโลกในแง่ร้ายแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขาคือช่างภาพชราวัยเกษียณที่มองโลกในแง่ดี มองชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และยังมุ่งมั่นกับการทำงานหนักเพื่อเรียนรู้และค้นหาตัวเอง แถมยังเคืองนิดๆ เวลาใครมาบอกว่าเขาแก่อีกต่างหาก

แม้ว่าทุกวันนี้ เราจะเห็นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงมากมาย ทั้งในรูปแบบของภาพถ่าย วิดีโอ หรือแม้กระทั่งไลฟ์ แน่นอนว่าเราทุกคนต่างรับรู้ว่ามันโหดร้าย ทารุณ แต่เหตุการณ์เหล่านี้กลับเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สงครามและความขัดแย้ง ยังคงมีอยู่ทุกที่ ราวกับว่ามนุษย์เราไม่เคยเข้าใจถึงผลกระทบของความรุนแรงนี้เลย—ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

“They never learn.” เขาตอบ และนั่นก็ยิ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อวันหนึ่งเราอาจจะได้เข้าใจบทเรียนนี้เหมือนที่ นิก อุท เข้าใจ

การทำงานเป็นช่างภาพสงครามในอดีตมีความแตกต่างจากปัจจุบันมากแค่ไหน

แตกต่างมาก ถ้าเทียบการทำงานในสงครามเวียดนามช่วง 50 ปีที่แล้ว กับสงครามอิรักในตอนนี้ ผมพูดได้เลยว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน คุณจะไม่มีวันได้เห็นรูปภาพแบบ The Terror of War จากสงครามไหนทั้งนั้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ คอยควบคุมสื่ออยู่ตลอด เขาไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปเดินดุ่มๆ ในสงครามด้วยตัวเองเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว

อย่างในสงครามเวียดนาม ผมถ่ายรูปทุกรูปด้วยตัวผมเอง ผมเลือกสถานที่ เลือกมุม นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปยังจุดต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้มันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เราถูกควบคุม ถ้าถ่ายภาพศพในสงคราม เขาก็จะตะโกนด่าทันที สงครามบางแห่งเขาไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปเลยแม้แต่คนเดียว และนั่นทำให้นักข่าวอเมริกันโกรธมาก หรือถ้าหากที่ไหนพอจะให้อิสระสื่อได้บ้าง เขาก็อาจจะอนุญาตให้เข้าไป 2 คน ถ่ายภาพนิ่ง 1 คน และวิดีโอ 1 คน ซึ่งผมไม่ชอบเลย เพราะมันทำให้พวกเราได้ภาพที่พวกเขาต้องการให้คนเห็นเท่านั้น ไม่มีอิสระในฐานะสื่อมวลชน

ตอนผมยังทำงานอยู่ เพื่อนผมเคยบอกว่า ‘นิกกี้ อย่าไปเลยอิรัก เพราะมันไม่เหมือนยุคสงครามเวียดนาม’ แล้วเขาก็จะโน้มน้าวว่า ‘คุณไปมาตั้งหลายสนามรบแล้ว จะไปอีกทำไม’ ซึ่งผมก็มักจะบอกว่า ‘ถ้าไม่ใช่เพราะรูปสงคราม ทุกวันนี้ก็ไม่มี นิก อุท หรอก’ ขนาดตอนนี้ผมอยู่แอลเอ แค่มองไปรอบๆ ก็มีการขัดแย้งมากมาย ทั้งเม็กซิโก เมืองท่าต่างๆ เมื่อสงครามจบลง เขาก็สนใจแต่ชัยชนะ สิ่งที่อยู่ในสื่อจึงมีแค่เรื่องราวของผู้ชนะสงคราม โดยที่ไม่ได้สนใจว่าก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมผมต้องไปอยู่ที่นั่น เก็บภาพ เก็บช่วงเวลาเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด

ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมานาน แต่ช่วงเวลานั้นยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณอยู่ไหม

ผมคิดว่าตัวเองตายไปแล้วหลายครั้ง ทุกๆ ครั้งที่ผมไปถ่ายภาพในสงคราม ผมเผื่อใจตลอดว่าจะไม่ได้กลับมา ผมบอกลาครอบครัว บอกลาเพื่อน เหมือนว่ามันเป็นวันสุดท้าย แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องโชคดีที่ผมได้ทำงานแบบนี้

เพราะการที่ต้องคิดอยู่ตลอดว่า ไปสนามรบนี้ผมอาจจะตายก็ได้ มันทำให้ผมเข้าใจคุณค่าของการมีชีวิตและได้ทบทวนตัวเองทุกวัน รวมถึงทำให้ผมเข้าใจคำสอนของศาสนาพุทธด้วย

ในระหว่างการทำงาน ผมเคยเห็นระเบิดร่วงลงมาไม่ไกลจากตัวผมเลย จำได้ว่าร่างกายมันสั่นไปหมด เส้นผมไหม้ไปครึ่งหนึ่งได้ มันน่ากลัวมาก แล้วก็เคยมีเหตุการณ์ที่ผมกับเพื่อนร่วมงานกำลังนั่งกินข้าวกลางวันกันอยู่ แต่แค่ไม่กี่เสี้ยววินาที เขาโดนยิงและเสียชีวิตต่อหน้าผม ตอนนั้นมันทำให้ผมตระหนักเลยว่าชีวิตมันแค่นี้เอง สั้นมาก คนที่เรานั่งอยู่ด้วยกัน หันไปเขาก็ตายแล้ว

ในระหว่างสงคราม ผมเห็นเพื่อนตายต่อหน้าต่อตาไปหลายคน อย่างเพื่อนช่างภาพผมคนหนึ่งกำลังออกตามหาช่างภาพอีกคน พอเขาเจอเพื่อนคนนั้น เขาก็โดนสไนเปอร์ยิงเสียชีวิต คุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะตายเมื่อไหร่

ในเมื่อมันอันตรายขนาดนี้ ทำไมช่างภาพสงครามจึงยอมที่จะเสี่ยงชีวิตไปที่นั่น

จากสงครามเวียดนาม ผมได้เรียนรู้เยอะมาก เรื่องการระมัดระวังตัวเอง อย่างที่อิรัก ปากีสถาน คุณต้องสังเกตอาการของคนท้องถิ่น ถ้าเขาบอกว่าตรงนั้นอันตราย ก็ห้ามเข้าไปเด็ดขาด คนที่ทำงานกับผม ทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น หรืออเมริกันเองเขาก็จะรู้ว่าผมระวังตัว และเขาก็ขอตามผมไปด้วย เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะโดนยิงเมื่อไหร่ นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากสงคราม

ช่างภาพที่เขาไม่ได้ถ่ายภาพสงครามบ่อยนัก เขามักจะมากับกล้องตัวใหญ่ เลนส์ยาวๆ ซึ่งจริงๆ มันอันตรายนะ ผมมักใช้กล้องเล็กๆ เลนส์ไม่ใหญ่มาก พอเกิดเหตุอะไรจะได้วิ่งหนีทัน บางคนยังเอาไอโฟนถ่ายภาพในสงครามด้วยซ้ำ มันเล็กและสะดวกกว่าเยอะ ถ่ายเสร็จก็ส่งอีเมลไปที่ส่วนกลางได้เลย แต่เมื่อก่อนใช้กล้องฟิล์ม ต้องกลับเข้าตัวเมืองไปล้างฟิล์ม กว่าจะได้รูปก็ต้องรอนานพอสมควร

นิก อุท

แล้วคุณชอบแบบเมื่อก่อนหรือตอนนี้มากกว่ากัน

มันแตกต่างกันนะ ตอนนี้ต่อให้คุณเป็นนักเขียน พนักงาน คนธรรมดาทั่วไป คุณก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปถ่ายวิดีโอได้ และแชร์รูปได้เดี๋ยวนั้นเลย ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ใช่นักข่าวก็ตาม แต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่มีใครมีสมาร์ตโฟน ทุกอย่างต้องใช้เวลารอค่อนข้างนาน เครื่องมือก็ไม่ได้สะดวกเท่าตอนนี้

อย่างตอนไปสงคราม เราก็ต้องแบกกล้องกันพะรุงพะรัง มีเลนส์หลายขนาด ถ้าหนาวมากๆ เราก็จะได้ชุดเสื้อคลุมทหารมาใส่ หรือถ้าที่ไหนมีระเบิด เราก็จะได้เสื้อกันไฟกันคนละตัว เหมือนเป็นทหารเลย แค่เปลี่ยนจากถือปืนเป็นถือกล้อง แต่นั่นก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลเหมือนกันว่าทำไมตอนเราอยู่สงครามเวียดนาม ช่างภาพถึงโดนยิงกันเยอะ ก็ดูสิ แต่งตัวเหมือนทหาร ถือเลนส์กล้องที่ยาวเหมือนปืน คนที่มองเรามาจากไกลๆ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราถือกล้องหรือถือปืนอยู่

เคยมีครั้งไหนไหมที่คุณตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะถ่ายรูปผู้คนที่อยู่ในอันตรายหรือเข้าไปช่วยเขาดี

งานของผมคือการถ่ายรูปทหาร และผู้คนในสงคราม แน่นอนว่าผมไม่อยากได้รูปถ่ายที่พวกเขาตายหรอก ผมอยากได้ภาพตอนเขามีชีวิตอยู่ ถ้าผมเห็นคนที่จนมากๆ หรือต้องการความช่วยเหลือ ผมก็มักจะให้เงิน อาหาร หรือให้ยากับพวกเขา โดยเฉพาะกับเด็กๆ เคยมีครั้งหนึ่งในระหว่างที่ผมเดินทางในเวียดนามและกัมพูชา ผมได้เห็นคนจน คนน่าสงสารมากมาย ผมก็เลยให้เงินและให้อาหารเขา พวกเขาร้องไห้แล้วถามผมว่า ‘ผมเอามาให้ทำไม ทหารคนอื่นเขาโหดร้ายมาก แทบจะฆ่าพวกเรา แต่ทำไมคุณเอาของมาให้เรา’ ผมก็บอกว่า ‘ผมไม่ใช่ทหาร ผมเป็นช่างภาพ’

ทั้งที่เราต่างก็เห็นภาพความรุนแรงและความเจ็บปวดจากสงครามกันมามากมาย แต่ทำไมทุกวันนี้เราถึงยังมีสงครามกันอยู่

สงครามเป็นเรื่องของความรุนแรง ส่วนตัวผม ผมไม่ชอบรูปที่เป็นภาพผู้เสียชีวิตจากสงคราม แล้วก็เชื่อว่าคนอื่นๆ ก็ไม่อยากเห็นมันเหมือนกัน ยิ่งในตอนนี้สื่อต่างๆ ของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์หรือโทรทัศน์ ไม่สามารถเผยแพร่รูปของผู้ตายได้แล้ว ถ้ามีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิต คุณไม่สามารถไปเก็บภาพร่างของเขาได้ การทำงานของช่างภาพจึงเป็นการหามุมอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของร่างไร้ชีวิตเหล่านั้น อาจจะเป็นครอบครัวและลูกของเขาที่กำลังร้องไห้ สิ่งของ ความเสียหายต่างๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวได้ แต่ไม่ใช่การถ่ายภาพคนตายตรงๆ หรือถ้าจะต้องถ่ายจริงๆ ก็ถ่ายแค่อวัยวะบางส่วนเท่านั้น อาจมีบางสื่อในไทย พม่า จีน เผยแพร่รูปของเวียดนาม มันน่าหดหู่มากๆ แต่ถ้าพูดถึงทั่วโลกตอนนี้ เขาไม่ทำแบบนั้นกันแล้ว

แม้ตอนที่ไปทำข่าวในสงครามเวียดนาม ผมเองก็ไม่ชอบถ่ายภาพของผู้เสียชีวิต ผมชอบที่จะบันทึกอาการ การแสดงออกของคน อย่างในรูปที่เป็นผู้หญิงนั่งอยู่ที่บ้านของเธอ แล้วระเบิดก็ทำลายทุกอย่างเสียสิ้น ซึ่งเทคนิคการถ่าย ถ้าไปโคลสอัพใกล้ๆ ก็จะไม่เห็นอะไร ผมจึงเลือกถ่ายจากมุมกว้าง ทำให้เราได้เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น ส่วนอีกภาพคือตอนที่เฮลิคอปเตอร์ลงมาจอดรับเพื่อช่วยชีวิตเด็กๆ ที่ทุกคนต่างตะเกียกตะกายไปหาโอกาสรอดชีวิต  ภาพนั้นก็เป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ทั้งหมดเช่นกัน

นิก อุท

ในเมื่อมันน่าหดหู่ใจขนาดนี้ แต่ทำไมดูเหมือนมนุษย์จะยังไม่เคยเรียนรู้อะไรจากสงครามเลย 

ไม่มีวันเรียนรู้หรอก (No, they never learn.) ลองดูที่อิรักหรือซีเรียตอนนี้สิ มันย่ำแย่มาก ปีที่แล้วผมได้เจอกับช่างภาพซีเรียคนหนึ่ง เขายังเด็กมากๆ อายุแค่ 19 ปีเอง พ่อของเขาซื้อกล้องให้ตัวหนึ่ง ทำให้เขาได้มีโอกาสถ่ายภาพสงครามดีๆ ไว้เยอะทีเดียว จนผมเองยังอยากให้เขาชนะการประกวดจริงๆ เพราะทุกภาพสวยและบอกเล่าเรื่องราวของสงครามไว้มากมาย แต่ตอนนี้เขาได้ลี้ภัยมาอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้ว

จำเหตุการณ์ปีที่แล้วที่ตุรกีได้ไหม การสังหารทูตของรัสเซีย ภาพข่าวที่เห็นมาจากช่างภาพของผมเอง ซึ่งตอนนั้นเขาก็ไม่ได้ไปทำงานหรอก แต่เขาพกกล้องติดตัวไว้เสมอ พอเขาได้ยินเสียงผู้ชายตะโกน และเห็นเขาควักปืนออกมา เขาก็เตรียมหยิบกล้องแล้ว

นี่คือหน้าที่ของช่างภาพ คุณต้องสังเกตความเคลื่อนไหว จับตาดูโมเมนต์รอบๆ ตัวเสมอ ในหัวก็ต้องคิดอยู่ตลอด ช่างภาพรุ่นใหม่หลายคนถ่ายภาพแบบรัวๆ ถ่ายเผื่อๆ ไป แต่นั่นไม่ใช่ภาพที่ดีหรอก

ทำไมถึงคิดว่าเราไม่มีวันได้บทเรียนจากสงคราม

คงไม่มีวันนั้น คุณลองมองไปที่อิรักหรืออัฟกานิสถานดูสิ ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น มันมีระเบิดพลีชีพเกิดขึ้นทุกวัน ทุกที่ แม้แต่ตลาด โบสถ์ เจดีย์ หรือที่ไหนๆ เราเห็นเด็กเล็กๆ ล้มตายกันเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีก็ยังเป็นเหมือนเดิม

ผมจึงดีใจมากที่เวียดนาม ประเทศของผม สงครามได้จบลงแล้ว และก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม

ผมไปเม็กซิโกมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ตอนแรกก็กังวลเหมือนกัน เพราะที่นั่นก็มีฆาตกรรมกันรายวัน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไปทำข่าว เผยแพร่เรื่องราวของแก๊งอิทธิพลพวกนั้น ยิ่งมีอัตราการตายสูงกว่าที่อื่นๆ เลย

นิก อุท

น่าเศร้าเหมือนกันนะ ที่พวกคุณยอมเสี่ยงชีวิตแลกกับภาพที่แท้จริงของเหตุการณ์ต่างๆ แต่ต้องมาจบชีวิตลง และก็ถูกลืมไปตามเวลา

อย่างแรกเลยนะ การเป็นช่างภาพข่าวมันไม่ทำเงิน ผมก็ไม่ได้หาเงินได้มากมายอะไร แต่ผมพอใจกับงานนี้ ผมชอบและยังสนุกกับมันทุกครั้ง ผมมักคิดว่าอาชีพสื่อ อย่างผมหรือคุณเอง (ผู้สัมภาษณ์) มันซื้อกันไม่ได้ด้วยเงินหรอก อีกอย่างคือการที่ได้มีโอกาสทำงานตรงนี้ มันดีมากๆ ที่คนอื่นเขาได้จดจำเราจากภาพถ่ายของเรา แบบเดียวกับที่หลายๆ คนรู้จักชื่อหรืองานของผม ชื่อเสียงประเภทนี้ต่อให้มีเงินก็ซื้อหากันไม่ได้

 


ขอขอบคุณ: Leica Camera Thailand