อย่าให้อาตมาทำให้ชีวิตโยมเครียดอีกเลย ชวนคุยเพื่อขบคิดและขบขันไปกับ พส.

เรามีนัดพูดคุยกับ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ที่วัดสร้อยทอง ในตอนบ่ายของวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้จะเป็นวันหยุด แต่กิจของสงฆ์ยังคงดำเนินไปไม่หยุดหย่อน และนักข่าวมากมายหลายสำนักก็ยังปักหลักรอพบและขอสัมภาษณ์ท่านตลอดทั้งวัน หลากหลายหัวข้อ หลากหลายประเด็น เพราะนาทีนี้ พส. (พระสงฆ์) ที่สังคมให้ความสนใจและจับตามองน่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พระมหาไพรวัลย์ ที่สร้างกระแสความนิยมระดับถล่มทลาย มียอดคนดูไลฟ์ว่ากันเป็นหลักแสน (สภาพพพ) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอะไร เราคิดว่าสื่อหลายสำนักคงจะวิเคราะห์กันอย่างทะลุปรุโปร่งไปแล้ว

        จะดีงามหรือไม่ถูกใจใคร นั่นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์เราก็แล้วกัน 

        แต่สำหรับ a day BULLETIN ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างบทสนทนา ตั้งคำถาม หาคำตอบ และเปิดพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ เราจึงเลือกที่จะมาสนทนาทั้งทางโลกและทางธรรมกับพระมหาไพรวัลย์ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราคุยกันว่า การสัมภาษณ์แบบนี้ (ไม่ไลฟ์ ไม่ถ่ายวิดีโอ) ก็ดีไปอย่าง เพราะไม่มีเสียงหัวเราะทุก 5 นาที 

        “อาตมาก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรถึงชอบหัวเราะ แต่มันก็มีประเทศนี้แหละที่หัวเราะแล้วมีปัญหา” 

        ตรงนี้ทางเราก็อดที่จะหัวเราะไม่ได้… สารภาพ 

        พื้นที่สนทนาอย่างจริงจัง ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าความเงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน เราจึงขออนุญาตท่านย้ายสถานที่คุยจากในโบสถ์ ซึ่งระหว่างนั้นมักจะมีญาติโยมเข้ามาขอพรบ้าง ไหว้พระบ้าง ไปสู่กุฏิอันเป็นฉากคุ้นตาของญาติโยม… นั่นคือห้องเล็กๆ ที่มีตู้หนังสืออัดแน่น และเป็นห้องที่ท่านใช้สำหรับการไลฟ์ผ่านเพจอยู่เป็นประจำ 

        ห้องธรรมดาๆ ที่วันนี้ฮิตถึงขนาดที่มีคนเอาภาพไปทำวอลเปเปอร์สำหรับใช้ประชุมออนไลน์ 

        ระหว่างบทสนทนา ย่อมมีจังหวะเงียบ จังหวะนิ่ง ตามธรรมชาติของคนที่ต้องหยุดคิด 

        ก่อนจะมีเสียงดัง ย่อมต้องมีความเงียบนำมาก่อน จากนั้นทุกอย่างก็จะกลับสู่ความเงียบอันเป็นบ่อเกิดของมันอีกครั้ง นี่เป็นวงจรตามธรรมชาติ

        เกิดขึ้น ตั้งอยู่ subscribe เป็นเรื่องของโลกโซเชียลฯ

        แต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ พลุบนท้องฟ้าเป็นแบบไหน 

        พระ… ก็เป็นแบบนั้น 

หลังจากที่คนส่วนใหญ่รู้จักกับท่านมากขึ้นจากกิจกรรมและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอถามว่าท่านเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บ้าง 

        เรียนรู้ว่าการจะทำอะไรสักอย่างต้องทำให้สุด ไม่ว่าจะเรื่องของการไลฟ์หรืออะไรก็ตาม เมื่อตั้งใจทำอะไรสักอย่างขอให้ทำไปเรื่อยๆ อาตมานึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่ท่านบอกว่าเกิดเป็นคนควรพยายามจนกว่าจะสำเร็จ และถึงจะไม่สำเร็จก็ต้องพยายามไว้ก่อน เพราะความพยายามบางอย่างอาจจะไม่นำไปสู่ความสำเร็จก็ได้ แต่เราต้องมีความพยายามเป็นหลัก และหมั่นทบทวนตรวจสอบเสมอว่าสิ่งที่ทำนั้นเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งข้อดีของการที่อาตมาไลฟ์ก็คือ มีคนติดตามเยอะขึ้น การไลฟ์เป็นการให้พื้นที่กับเรามากขึ้น เป็นพื้นที่ซึ่งเราไม่เคยมีและก่อนหน้านี้เราก็พยายามอยากจะมี แต่ก็ไม่มี ต้องบอกว่า งานเผยแพร่ธรรมะนี่ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามันต้องการพื้นที่ อาตมาพูดเสมอว่าธรรมะที่ดี ถ้าเราพูดแล้วไม่มีคนฟังก็ไม่มีประโยชน์ ต่อให้หัวข้อธรรมะนั้นลึกซึ้ง เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีคนฟัง มันจะไปเอาประโยชน์จากตรงไหน ดังนั้น การที่เราไลฟ์แล้วมีคนมาฟังเยอะก็ให้บทเรียนแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมต้องการ แต่เราจะพูดแต่เรื่องธรรมะอย่างเดียวได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะในบริบทของสังคมที่กำลังเป็นอยู่ คนส่วนใหญ่มีความเครียดสะสม ปัญหาคือคนเผชิญกับความทุกข์ทั้งทางกายและทางจิตใจกันมากมาย ทางกายก็เป็นเรื่องปัจจัยเงินทองที่ร่อยหรอ เรื่องธุรกิจหรือการงานที่เคยทำ สมบัติพัสถานต่างๆ มันสูญหายไปจากโควิค-19 หรือสภาพเศรษฐกิจ มันก็ทำให้คนเราสุขภาพจิตใจย่ำแย่ เรื่องนี้จะปฏิเสธว่ามันไม่เกี่ยวกันไม่ได้ ความจน ความไม่มี ความทุกข์ทางกาย ความเจ็บป่วยจะมาพร้อมกัน พอคนป่วยกายแล้วเดี๋ยวต่อไปก็จะป่วยใจเพราะหาทางออกไม่ได้ 

        อาตมาคิดว่าเป็นจังหวะพอดีที่เราจับจุดถูกว่า ในสภาวะที่คนมีความตึงเครียด เราควรจะให้อะไรกับสังคมสักอย่าง นอกจากจะเป็นหลักคิดแล้ว ต้องช่วยบรรเทาความทุกข์ทางใจให้เขาได้ด้วย เป็นความผ่อนคลายซึ่งการพูดคุย ไลฟ์ตอบคำถามที่อาตมาทำไปนั้นก็ตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกไว้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด คนที่มาติดตามเราก็เหมือนกัน เพราะมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้คนมาติดตามและให้ความสนใจ เช่น การใช้ศัพท์ใช้แสง การใช้วลีฮิต การเอาประเด็นทางสังคมที่คนสนใจมาวิพากษ์วิจารณ์ มาพูดถึง ก็เลยดึงดูดความสนใจของคน ถ้าเป็นธรรมะที่ลอยอยู่เหนือปัญหา อยู่เหนือบริบท คนก็ไม่ฟังหรอกเพราะฟังไปก็ไม่ได้อะไร เขาไม่อิน เพราะว่าไม่สามารถเอาไปใช้กับสิ่งที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันได้

ในแต่ละวัน พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ทำอะไรบ้างในมุมของการเป็นพระสงฆ์ ที่นอกเหนือจากการไลฟ์ให้ญาติโยมเข้ามาดู

        อาตมาทำทุกอย่างที่เป็นกิจของสงฆ์ตามปกติเช่น ทำวัตรเช้าเย็น สอนหนังสือ ทุกวันนี้เราก็ยังสอนหนังสืออยู่ งานสาธารณสงเคราะห์ก็ทำอยู่ เรียกว่าทำทุกอย่างเหมือนก่อนที่จะมีคนมาติดตามเยอะอย่างทุกวันนี้ เช่นไปช่วยชาวบ้านหลังวัดเนื่องจากหลังวัดเป็นชุมชน เราก็ต้องไปจัดหาชุด PPE ให้เขา ไปจัดการงานศพคนที่ติดโควิด-19 (ทีมงานเห็นป้ายที่ติดไว้บริเวณหน้าวัดด้วยว่า ทางวัดสร้อยทองจัดเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ให้ฟรีหากเป็นผู้ยากไร้หรือไร้ญาติ) อาตมาทำทุกอย่างเหมือนเดิมเพียงแต่ไม่เป็นที่พูดถึงเท่านั้นเอง เมื่อก่อนก็มีคนติดตามอยู่บ้างแต่ก็เป็นจำนวนหลักแสน แต่ตอนหลังมันเยอะขึ้นเป็นหลักล้าน ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ท้อใจหลายครั้งกับการทำเพจเหมือนกันนะ เพราะว่าเพจของเราเคยถูกแฮ็กครั้งหนึ่ง และอีกครั้งตอนที่ไปเปลี่ยนระบบอะไรสักอย่างแล้วเพจก็หายไป ก็รู้สึกท้อและไม่อยากทำแล้ว จำนวนคนติดตามก็หายไป แล้วเราก็เสียดายข้อมูลสิ่งที่เคยโพสต์ รูปภาพ แต่สุดท้ายก็คิดว่าช่างเถอะเหลือแค่ไหนก็แค่นั้น มีเพจก็ดีกว่าไม่มี ซึ่งปกติเรามีเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่แล้ว และมีเพจสาธารณะอีกอันหนึ่ง แต่ก็ไม่คิดว่าในวันหนึ่งจะมีคนมาติดตามเราเป็นหลักล้าน 

 

“อาตมาบอกเลยว่าอาตมาไม่ได้บวชให้ใครศรัทธา คนที่พูดว่าพระแบบนี้น่านับถือเหรอ? ก็อาตมาไม่ได้บวชเพื่อให้ใครมานับถือ อาตมาไม่ได้มาบวชให้คนมานับถือ ไม่เคยตั้งตัวเป็นเกจิ ทำท่าให้คนเลื่อมใส ใส่ลูกประคำ นั่งปลุกเสกสิ่งของแบบนั้นเราไม่เอาอยู่แล้ว ถ้าอาตมาต้องการเป็นแบบนั้นก็ไปทางนั้นแล้ว ทำตัวเป็นเกจิดูขลังๆ เสกๆ เป่าๆ เดี๋ยวก็มีลูกศิษย์เต็มวัด อาตมาแค่อยากเป็นเพื่อน ไม่ได้อยากเป็นครูบาอาจารย์ของใคร ฉันอยากคุยกับคน สนุกสนาน เอนจอย มองโยมเหมือนกับเป็นพี่น้องในบ้านได้ไหม”

 

แต่ก็เคยอยู่ในจุดที่คนฟังน้อยที่สุดมาแล้วใช่ไหม

        แต่ก่อนคนฟังเป็นหลักสิบก็มีมาแล้วนะ หรือบางทีต้นคลิป 100 คน กลางคลิปเหลือ 50 คน พอปลายๆ คลิปไม่เหลือใครเลยก็มี พูดคนเดียว จะพูดไปทำไมก็มี (หัวเราะ) ผ่านมาหมดแล้ว ไม่มีหรอกที่มาไลฟ์ครั้งแรกแล้วคนฟังเป็นแสน ไม่มีทาง คนเราต้องมีการเริ่มต้น กว่าเราจะมาเป็นที่รู้จักของคน เราต้องเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มีคนเป็นสิบๆ ล้านคน ใครจะมารู้จักพระมหาไพรวัลย์ทั้งหมด เป็นไปไม่ได้หรอก 

        แต่อาตมาก็อาศัยว่าทำงานไปเรื่อยๆ ยอดคนติดตามหายก็ไม่เป็นไร ท้อก็ยังทำ ถือคติว่า ‘ท้อที่ดีที่สุดก็คือท้อแล้วให้ทำ อย่าท้อแล้วหยุด ท้อได้แต่อย่าถอย หรือบางครั้งจะถอยก็ได้ แต่อย่าหยุดไปเลย’

ตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านมีคนที่เป็นต้นแบบให้กับตัวเองบ้างไหม

        ตอนเด็กๆ ยังไม่มีหรอก แต่ก็เรียนรู้เรื่อยๆ พอเราอยู่ในวงการสงฆ์ ในวงการศาสนา ก็จะมีคนที่เป็นต้นแบบเหมือนกันนั่นแหละ เด็กสมัยนี้มีดาราศิลปินนักร้องเกาหลีเป็นไอดอล วงการพระก็เหมือนกัน ตอนอาตมาบวชก็เป็นยุคที่ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ดังก่อนแล้ว แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้นเป็นสิบๆ ปี ก็มีอาจารย์พยอม (พระพยอม กลฺยาโณ) มีหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ซึ่งตอนนั้นท่านยังไม่สิ้น เราชอบแนวคิดอย่างนี้ เราเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว เราชอบพระในสายที่จะให้ปัญญา สายวิจารณ์ สายวิพากษ์ความเชื่อ เป็นการสอนแบบพุทธในแนวเหตุผลนิยมสักหน่อย เราก็ถือแบบท่านเป็นหลักในการที่จะเผยแผ่ศาสนา

ดังนั้น จริงๆ แล้วในความคิดของท่าน พระก็สามารถวิจารณ์ได้ทุกเรื่องจริงไหม

        พูดได้สิ พระไม่ได้เป็นใบ้นี่นา ถ้าพระเป็นใบ้สิถึงจะพูดไม่ได้ แต่แน่นอนว่าเมื่อพูดอะไรไปแล้วต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเองด้วย เพราะสำหรับอาตมาก็เชื่อว่ามันต้องเป็นความรับผิดชอบในตัวของคนนั้นเอง ที่จะใช้เสรีภาพในการพูด แต่มันไม่ควรปิดกั้นที่จะไม่ให้พูด วงการคณะสงฆ์เขาก็เรียนเรื่องสังคม หรือในมหาวิทยาลัยสงฆ์เขาก็มีวิชาการปกครอง เขาเรียนรัฐศาสตร์ เรียนรัฐประศาสนศาสตร์ เรียนนิติศาสตร์ เขาเรียนอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อให้ธรรมะสามารถไปด้วยกันกับศาสตร์เหล่านั้นได้ เพราะเวลาไปคุยกับนักกฎหมาย ถ้าเราไม่รู้กฎหมาย คุณจะเอาอะไรไปสอนเขา ไปคุยเรื่องการเมืองกับนักรัฐศาสตร์ คุณไม่รู้หลักการปกครองเลย คุณก็พูดไปมั่วส่งเดช เพราะคุณไม่รู้เลยว่าปัจจุบันเขาปกครองด้วยหลักวิธีคิดอะไร รูปแบบการปกครองแบบไหน สุดท้ายก็คุยกันไม่รู้เรื่อง

หมายความว่าศาสนาพุทธในวันนี้กำลังพยายามหลอมรวมเข้ากับโลกยุคปัจจุบันให้ได้

        อาตมาพยายามจะให้เป็นแบบนั้น อยากให้ธรรมะเป็นสิ่งที่ไปอยู่กับศาสตร์อื่นๆ ได้ แล้วไปได้แบบมีเหตุมีผลเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่ว่าเวลาเขานึกถึงธรรมะแล้วก็ส่ายหัว ว่า โอ๊ย! ทำไมล้าหลังไม่รู้เรื่องเลย พูดไปเรื่อย เทศน์ไปเรื่อย ธรรมะที่ไม่ล้าหลังต้องทันโลก ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นสมัยใหม่มาก ถ้าเทียบกับยุคสมัยที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนา ถ้าเทียบกับลัทธิอื่นๆ ที่มีอยู่ในตอนนั้น ทำไมคำสอนของท่านได้รับการยอมรับและแพร่หลายในชมพูทวีป ก็เพราะวิธีคิดได้รับการยอมรับ ธรรมะของท่านพูดถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ทั้งนั้น โดยเอาแนวคิดเรื่องกรรมมาอธิบาย แทนที่จะบอกว่ามนุษย์เกิดมาเพราะถูกลิขิตมาจากเทพหรือจากอะไรก็ตาม 

        หรือกระทั่งที่บอกว่าเราไม่มีสิทธิเข้าถึงความจริงได้ถ้าเราไม่บูชา หรือไม่ทำพลีกรรมบวงสรวงต่อเทพเจ้าอะไรก็ว่าไป พระพุทธเจ้าท่านเปลี่ยนความคิดนี้ใหม่ โดยบอกว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรม มนุษย์สามารถเป็นครูสำหรับตัวเองได้ อย่างที่พระเจ้าบอกว่าท่านไม่มีครู ท่านตรัสรู้เอง ท่านค้นพบสัจธรรมด้วยตัวท่านเอง โดยที่ท่านไม่ต้องไปอ้อนวอนบูชาใคร แต่ถามว่าวิธีคิดในทุกวันนี้สมัยใหม่หรือเปล่า สำหรับอาตมาแล้วศาสนาพุทธได้ถูกทำให้กลายเป็นอะไรที่มันไม่ถูกต้องตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า ศาสนาก็เลยดูเป็นเรื่องล้าสมัยไม่ตอบโจทย์หลักการเคารพปัจเจกนิยม ไม่สนใจเรื่องคุณค่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เลย ธรรมะกลายเป็นเรื่องของการไปรับรองหรือเป็นเครื่องมือของรัฐ ถ้าพูดแบบง่ายๆ เรารู้สึกว่าศาสนาในปัจจุบันเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นศาสนาที่ยืนอยู่บนหลักของความเที่ยงธรรม

สิ่งที่ท่านได้ไปวิพากษ์วิจารณ์สังคมแล้วได้รับผลกระทบกลับมาเยอะที่สุดคือเรื่องอะไร

        จริงๆ แล้วอาตมาวิพากษ์ทุกเรื่องเลย การเมืองก็วิพากษ์ ว่านายกรัฐมนตรีก็ทำมาแล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราพูดถ้าเราไปอยู่ในสังคมที่เขาเป็นอารยะ สิ่งที่เราพูดมันเป็นเรื่องปกติเลย ไม่มีหรอกบ้านเมืองที่แค่เราพูดแล้วก็ไปเอากฎหมายมาปิดปากเราไม่ให้พูด ทั้งๆ เรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น หลักเสรีภาพ แต่คุณกลับพยายามจะบอกว่าสิ่งที่เราพูดมันผิด แบบนี้เราก็ไม่เห็นด้วย และพยายามจะยืนหยัดว่าสิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องพื้นฐาน และเราไม่ได้พูดเพราะว่าเราต้องการจะโจมตีใครหรือเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล แต่เราพูดถึงหลักการที่ไม่ว่าใครทำผิดหลักการนี้ก็คือผิด ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเลือกฝั่งนี้ ฝั่งนั้น เราสนใจเรื่องหลักการ เช่น หลักความยุติธรรม ความชอบธรรม เราไม่ได้สนใจคน เพราะคนเปลี่ยนแปลงได้ คนในวันนี้อาจจะดี แต่ผ่านไปสองสามวันคนอาจจะไม่ดีก็ได้ ถ้าเราไปยึดที่คน จะเหมือนไม้หลักปักขี้เลนที่มันจะเอนง่าย เราจึงต้องยึดหลักการไว้ หลักการต้องคงอยู่ไม่ว่าคนจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ตาม

ถ้าขออนุญาตถามท่านตรงๆ ดังนั้น หากญาติโยมมายึดที่ตัวท่านก็ถือว่าไม่สมควร? 

        ไม่ควร อาตมาบอกเลยว่าอาตมาไม่ได้บวชให้ใครศรัทธา คนที่พูดว่าพระแบบนี้น่านับถือเหรอ? ก็อาตมาไม่ได้บวชเพื่อให้ใครมานับถือ ถามก่อน… สภาพ! อาตมาไม่ได้มาบวชให้คนมานับถือ ไม่เคยตั้งตัวเป็นเกจิ ทำท่าให้คนเลื่อมใส ใส่ลูกประคำ นั่งปลุกเสกสิ่งของแบบนั้นเราไม่เอาอยู่แล้ว ถ้าอาตมาต้องการเป็นแบบนั้นก็ไปทางนั้นแล้ว ทำตัวเป็นเกจิดูขลังๆ เสกๆ เป่าๆ เดี๋ยวก็มีลูกศิษย์เต็มวัด อาตมาแค่อยากเป็นเพื่อน ไม่ได้อยากเป็นครูบาอาจารย์ของใคร ฉันอยากคุยกับคน สนุกสนาน เอนจอย มองโยมเหมือนกับเป็นพี่น้องในบ้านได้ไหม ส่วนเขาจะนับถือเราในฐานะอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือสุดท้ายเขาจะไม่นับถือเราเลยก็ได้

แล้วการนับถือใครสักคนที่แท้จริง ท่านคิดว่าควรมาจากอะไร

        ความเคารพนับถือหรือไม่ เป็นเรื่องส่วนตัวของคนคนนั้น เราจะนับถือใครสักคนหนึ่งควรมาจากการที่เราเห็นอะไรบางอย่างในตัวของเขาที่ควรค่าแก่การที่เราจะนับถือได้ เช่น บางทีอาจจะไม่ต้องนับถือในความดีของเขาได้ไหม แต่เรานับถือในวิธีคิดของเขา หรือนับถือในอะไรสักอย่างหนึ่ง คนที่เรานับถือไม่จำเป็นต้องดีทุกอย่างสำหรับอาตมา ถ้าเรื่องนี้เขาพูดดีวิธีคิดของเขาใช้ได้ แล้วเราจะนับถือในวิธีคิดของเขาได้ไหม แต่เราอาจจะไม่นับถือในตัวเขาหรอก เพราะเขาอาจจะไม่ได้เป็นแบบอย่างสำหรับเรา เขาอาจจะมีเรื่องส่วนตัวที่เขาก็ไม่ได้ทำอะไรดีทั้งหมด แต่เรานับถือแค่บางอย่างของเขาได้ไหม

ตอนนี้คนเราก็นิยามความหมายของคำว่า ‘คนดี’ แตกต่างกันไป ท่านเองมีความเห็นอย่างไรกับคำคำนี้บ้าง

        คนดีควรเป็นคนที่คนอื่นบอกว่าดี คือใครก็เป็นคนดีได้ แต่การเป็นคนดีนั้นต้องมาจากการที่คนคนนั้นได้รับการชื่นชม หรือได้รับการยอมรับจากใครสักคนหนึ่งในการทำอะไรสักอย่าง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการอุทิศตัวเอง เป็นความเสียสละเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อสังคม แล้วมีคนจํานวนหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง ยอมรับหรือพร้อมใจกันเรียกว่าเขาคือคนดี คนดีอาจจะไม่ได้ดีแบบในทางศาสนาก็ได้ แต่เขาอาจจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่เกื้อกูลคนอื่น อันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นต่อสังคมโดยรวม แต่คนดีต้องไม่ใช่คนที่บอกว่าตัวเองดี อาตมาถือหลักคำสอนสำคัญว่า กลองที่ไม่ตีแล้วดังเองคือกลองอัปรีย์ (หัวเราะ) คนดีส่วนใหญ่ตอนนี้คือคนที่ดังเอง เป็นคนที่ตีตัวเองแล้วบอกว่าฉันดีกว่าคนโน้น ผมดีกว่าคนนั้น โยมต้องให้คนอื่นเขาชมสิ จะชมตัวเองดีเพื่ออะไร ถามก่อน… สภาพ

ความจริงที่เจ็บปวด แล้วเราก็เห็นได้บ่อยๆ ด้วยก็คือ บางทีคนดีก็เป็นคนไม่ดีได้เช่นกัน 

        คนเราเป็นสีเทาๆ ทั้งนั้นแหละ ไม่มีหรอกคนที่ขาวบริสุทธิ์หรือดำสนิท เราอย่าไปมองคนด้วยชุดความคิดว่าเป็นคนดีหรือไม่ดีเลย เพราะจะทำให้เราติดภาพบางอย่าง เราจะเป็นคนธรรมดาไม่ได้เหรอ ไม่ต้องดีไม่ต้องเลว เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ขอว่าเป็นคนธรรมดาที่ไม่ไปทำความเดือดร้อนต่อคนอื่นได้ไหม พอไหม ไม่ทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเอง ที่สำคัญคือไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นด้วย เป็นคนธรรมดาแบบนี้ได้ไหม เป็นคนเทาๆ ได้ไหม ชีวิตของคนส่วนใหญ่เขาเป็นคนเทาๆ กันนะไม่ใช่คนดี พระเองก็เป็นแบบนั้น พระสวดมนต์แล้วกินหมูกระทะตอนเย็นยังมีเลย (หัวเราะ)

 

“พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกไว้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด คนที่มาติดตามเราก็เหมือนกัน เพราะมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้คนมาติดตามและให้ความสนใจ เช่น การใช้ศัพท์ใช้แสง การใช้วลีฮิต การเอาประเด็นทางสังคมที่คนสนใจมาวิพากษ์วิจารณ์ มาพูดถึง ก็เลยดึงดูดความสนใจของคน ถ้าเป็นธรรมะที่ลอยอยู่เหนือปัญหา อยู่เหนือบริบท คนก็ไม่ฟังหรอกเพราะฟังไปก็ไม่ได้อะไร เขาไม่อิน เพราะว่าไม่สามารถเอาไปใช้กับสิ่งที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันได้”

 

ท่านรู้สึกกับชื่อเสียงที่เข้ามาตอนนี้อย่างไร และหากว่าอีกสองเดือนต่อไปจากนี้ความดังที่มีอยู่ค่อยๆ หายไป ท่านมองความไม่จีรังนี้อย่างไร

        เราไม่สนใจเรื่องนี้เลย จะบอกว่าพูดแบบดาราก็ได้ (หัวเราะ) ทุกวันนี้มันมาเกินกว่าที่เราคิดไว้มากๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความดังหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าถามว่าสิ่งที่รู้สึกได้คืออะไร อาตมาบอกเลยว่ามันคือ ความเหนื่อยที่มาพร้อมกับกับการที่คนรู้จักเราเยอะขึ้น ยิ่งเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็ต้องยิ่งทำงานเยอะขึ้น แต่อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้ายังเป็นกระแสให้คนยังตามเราอยู่หรือยังสนใจเราอยู่ แม้จะเป็นแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น เพราะคนเขาไม่อยู่กับเราตลอดหรอก เดี๋ยวสักพักเขาก็จะหายไปเอง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยพูดไว้ว่า “คนทุกคนจะถูกลืม” อาตมาถือหลักคิดนี้มาตลอด ต่อให้คุณดังคุณเด่นคุณจะเป็นอะไรก็ตาม แต่สักวันหนึ่งคุณจะถูกลืม ทุกคนจะถูกลืม ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องเห็นประโยชน์จากตรงนี้ และใช้ประโยชน์จากการที่คุณมีคนรู้จัก มีคนชื่นชม มีคนตามคุณ สร้างประโยชน์ให้มากที่สุดในช่วงที่ยังทำได้ อย่างการที่อาตมาให้สัมภาษณ์เพราะอาตมารู้สึกว่าสิ่งนี้คือการทำงานอย่างหนึ่ง เอาสิ่งที่เราอยากถ่ายทอดไปอยู่ในบทความหรือในอะไรก็ตาม

มีข้อสงสัยว่า ในวันนี้จะจำแนกระหว่างพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำหรืออบรมสั่งสอนให้ข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อผู้คนแตกต่างกับคนที่เป็นไลฟ์โค้ชอย่างไร

        ต้องแยกจากกันจริงๆ เหรอ ทำไมใครคนใดคนหนึ่งถึงเป็นอะไรมากกว่าหนึ่งอย่างไม่ได้เหรอ ล่าสุดมีคนจะชวนอาตมาไปทำงานเป็นจิตแพทย์ด้วยซ้ำ แต่อาตมาบอกเขาไปว่าอาตมาเป็นไม่ได้หรอก อาตมาต้องรักษาตัวเองก่อน (หัวเราะ) อาตมาก็ป่วยทางจิตเหมือนกัน เพราะชอบหัวเราะบ่อยๆ จะให้ไปรักษาคนอื่นได้อย่างไร เพราะตัวเองก็ยังไม่รู้อาการของตัวเองเลย แต่ประเด็นคือ คนเราจะเป็นอะไรมากกว่าหนึ่งอย่างได้ไหม ทำไมต้องไปแบ่งว่าไลฟ์โค้ชเป็นพระไม่ได้ หรือพระเป็นไลฟ์โค้ชไม่ได้ สมัยก่อนพระพุทธเจ้าท่านก็โค้ช ท่านก็แนะนำวิธีบรรเทาทุกข์ให้กับคนที่มีความทุกข์ เวลาคนมีความทุกข์เขาก็เข้าหาพระพุทธเจ้า ท่านก็โค้ชชิ่งให้กับเขา แล้วทำไมถึงจะเป็นไม่ได้ละ เพียงแต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เพียงแค่แนวทาง ท่านพาไปถึงวิธีการปฏิบัติด้วย ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย แต่โค้ชหลายคนแค่โค้ชให้แต่ไม่ทำให้ดู ไม่เคยทำอะไร ก็มึงอยากมาฟังกูเองก็ช่วยไม่ได้ (หัวเราะ)

ซึ่งธรรมะของพระพุทธเจ้านำเราไปสู่วิถีทางของการพ้นทุกข์

        เราไม่ต้องใช้คำว่า ‘พ้นทุกข์’ หรอก ถ้ามันดูสูงไป อาตมาว่าใช้เพื่อเป็นการนำไปสู่การหลุดพ้นจากปัญหา หรือไปให้พ้นจากปัญหาดีกว่า ซึ่งก็คือการโค้ชใช่ไหม ทำไมคนถึงต้องการไลฟ์โค้ช เพราะเขารู้สึกว่าบางทีปัญหาบางอย่างถ้าคิดด้วยตัวเราคนเดียวก็คิดไม่ได้ เขาต้องการเพื่อนสำหรับคิด เพื่อนสำหรับแนะแนวทาง ซึ่งไลฟ์โค้ชอาจจะตอบโจทย์ตรงนั้น ซึ่งเวลาที่คนไปฟังก็อาจได้วิธีคิดบางอย่างที่เขาอาจจะมองไม่ถึง มองไม่เห็นหรือลืมมองไป ไลฟ์โค้ชมีประโยชน์ในมิตินั้น แต่ธรรมะไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เป็นแนวทางสำหรับการปรึกษาพูดคุยเท่านั้น แต่มีวิธีการในการปฏิบัติอยู่ในนั้นด้วย

จะว่าไปตอนนี้วัยรุ่นจำนวนหนึ่งก็หันมาสนใจธรรมะหรือสิ่งที่ท่านสอนมากขึ้น ตรงนี้ท่านมองอย่างไร

        วัยรุ่นต้องการคนที่รับฟังเขา เข้าใจวิธีคิดของเขา ซึ่งโดยในข้อเท็จจริงคนที่สนใจเรื่องศาสนาไม่ค่อยสนใจประเด็นนี้ คนที่สนใจเรื่องศาสนาเขาก็จะมองแต่มุมของศาสนา และมองเด็กรุ่นใหม่ว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีศีลธรรม เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเข้าวัด เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ฟังธรรม เด็กเดี๋ยวนี้… ฯลฯ ซึ่งเป็นมุมมองที่มองว่าเด็กวัยรุ่นไม่ดีนั่นแหละพูดง่ายๆ ซึ่งจริงๆ วัยรุ่นก็มีวิธีคิดแบบของเขา ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องไปทำความเข้าใจวิธีคิดของเขา แล้วเขาถึงจะพร้อมที่จะคุยกับเรา วัยรุ่นจะรู้สึกว่าพอเป็นคนที่ต่างเจเนอเรชันเขาก็ไม่อยากคุยด้วย เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ผู้ใหญ่ก็ไม่พร้อมจะรับฟัง 

        ซึ่งจริงๆ แล้วการรับฟังเป็นพื้นฐานที่สุดเลยของการแก้ไขปัญหา พระพุทธเจ้าท่านประกาศศาสนาด้วยวิธีคิดแบบนี้ ท่านไม่ได้อยู่ดีๆ มาสอน มาชี้ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ธรรมะในปัจจุบันกลับมีรูปแบบของการชี้นิ้วแล้วสอน สั่ง ทั้งที่บางทีฟังยังไม่ทันจบเลยด้วยซ้ำ คุณจะสอนเขาคุณต้องให้เขาพูดให้จบก่อน ให้เขาเล่าให้ชัดก่อน ว่าเขามีบริบท มีแนวคิด มีปัญหาอะไร ฟังเขาให้จบแล้วจึงเปิดโอกาสให้เขาได้อธิบาย เสร็จแล้วคุณจึงให้คำแนะนำ แต่เป็นคำแนะนำที่ไม่ใช่คำสั่งสอน และสุดท้ายต้องบอกให้เขากลับไปทบทวน ไปคิดด้วยตัวเอง ไปคุยกับตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาตมาจะบอกแบบนี้เสมอ กลับไปคุยกับตัวเอง อาตมาแนะนำได้ก็จริง แต่คนที่จะรู้ดีที่สุดหรือเข้าใจตัวเองได้ดีที่สุดก็คือตัวของโยมเอง

การกลับไปคุยกับตัวเองต้องทำอย่างไร

        คือการกลับไปทบทวนให้ดีว่า สิ่งที่เป็นความทุกข์นั้น มันมีชนวนเหตุมาจากไหน ต้นของเค้ามูลคืออะไร ให้ไปถามตัวเองพูดกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ ไม่หลอกตัวเอง

ณ วันนี้ท่านคิดว่าตัวเองทำหน้าที่ของอะไร 

        เราไม่ต้องบอกว่าเรากำลังทำหน้าที่อะไรต่อสังคม เหมือนเราแค่อยากพูดแล้วก็ใช้สื่อในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้นแหละ เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ในการพูดคุย แล้วมีคนเข้ามาฟังเยอะขึ้น ทุกครั้งที่จะไลฟ์ไม่เคยตั้งหัวข้อเลยว่าจะไลฟ์เรื่องอะไร มีแต่ตั้งเป็นหัวข้อตลกๆ ไป แล้วนำสิ่งที่คนถามในคอมเมนต์มาพูดคุยกัน แต่ส่วนใหญ่ให้เน้นคนที่มาร่วมฟังได้สนุกกัน คอมเมนต์ไหนสำคัญเราก็ตอบเขา การไลฟ์จะมีประโยชน์กับคนที่มาฟังเท่านั้น เหมือนเราเล่าเรื่องแล้วแชร์กัน แลกเปลี่ยนกันว่าเรื่องนี้มองอย่างไร

พระอาจารย์เคยรู้สึกอยากจะอยู่เงียบๆ บ้างไหมช่วงนี้

        ตอนนี้รู้สึกแล้ว (หัวเราะ) ไม่หรอก เวลาทำงานแล้วเหนื่อยเราก็ต้องคุยกับลูกศิษย์บ้างว่า อาจารย์ขอเว้นเวลาสักช่วงหนึ่งได้ไหม ให้อาจารย์ได้พักผ่อน เพราะถ้าทำงานแล้วสังขารพังก็ไม่ดี ต้องบาลานซ์ เข้าใจโยมบางท่านแล้ว เวลาที่เขาทำงานแล้วเขาวูบ ทำงานจนลืมเหนื่อย เรื่องนี้ต้องระวังเลย บางทีไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง บางคนทำงานเพราะอยากได้ปัจจัย (เงิน) หรืออยากให้สำเร็จเร็วๆ แต่ไม่คุ้มค่ากับการแลกด้วยสุขภาพนะ ตอนนี้ก็ภาวนาว่าให้เป็นกระแสแค่ช่วงแรก เดี๋ยวคนก็หายไปเองเพราะหมดกระแส (หัวเราะ) 

แล้วเวลาพักผ่อน พระอาจารย์ทำอะไรบ้าง 

        นอน ถ้าพักคือนอน งีบ ขนาดพระพุทธเจ้ายังมีปางไสยาสน์เลย พระพุทธเจ้ายังเหนื่อยแล้วนอน พระอาจารย์ยังต้องงีบ คนง่วงก็คือต้องงีบ นอนเลย อย่าฝืนนะ อย่างเครื่องยนต์เหมือนกัน เปิดทั้งวันเครื่องมันก็พัง

 

มะลิ กับชาดำ (หมาของพระอาจารย์) ก็ช่วยให้พระอาจารย์หายเหนื่อยได้ด้วยเหมือนกันใช่ไหม จะว่าไปแล้ว? 

        หมาก็เป็นตัวช่วยในการฟื้นฟูบำบัดจิตใจอย่างหนึ่ง เราอยู่กับเขาแล้วเรารู้สึกว่าสนุก เราเหนื่อยกลับมา พอเล่นกับเขาเราก็มีความสุข ถึงเขาเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่เขาก็มีความรู้สึก คนมักจะชอบพูดว่า “คุณอาจจะมีคนที่รักคุณเป็นร้อยเป็นพัน แต่ถ้าคุณเลี้ยงหมาสักตัวคุณจะรู้ว่า หมามีคนที่รักคือคุณคนเดียว” เขารู้ว่าคุณคุยกับเขา หรือคุณดุเขาอย่างไร คุณดุ เขาจะวิ่งหนีทันทีเลย หมาก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ร้องเป็น เจ็บเป็น คุณลองตีเขาสิ เขาร้องนะ แต่ก่อนมีหลวงพี่รูปหนึ่งมาถึงก็ทำเป็นแกล้งว่าจะตี หมาก็จะจำตั้งแต่ครั้งแรกเลย หลังจากนั้นหลวงพี่รูปนี้มาเขาจะเห่า รูปอื่นเขาจะไม่เห่า เขาจะจำเลยว่าคนนี้ไม่เป็นมิตรกับเขา

มีคำถามเรื่องหนังสือบ้าง อยากทราบว่าหลวงพี่อ่านหนังสืออะไรบ้าง ประเภทไหน? 

        อ่านหมดเลยนะ หนังสืออะไรที่เขาแนะนำมา แล้วเรารู้สึกว่าน่าสนใจก็อ่านหมด เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง มานุษยวิทยา นิยายอ่านบ้างเล็กน้อยนิดหน่อย เพราะนิยายบางเรื่องก็เขียนมาจากเรื่องจริง มันสะท้อนความทุกข์ของคน อย่างหนังสือของ ‘โยมพี่แหม่ม’ – วีรพร นิติประภา เจ้าของรางวัลนักเขียนซีไรต์ 2 ปีซ้อน เขียนดีมาก เราอ่านเพราะอยากรู้วิธีคิดของคนเขียน อยากรู้ว่าคนเขียนคนนี้ทำไมเขาถึงเป็นที่ชื่นชอบของสังคม เขาใช้ภาษาอะไร ภาษาเขาหยดเยิ้มมาก ละเอียดละออ ละเมียดละไม เราอ่านผ่านตัวอักษรแล้วเราเห็นภาพเลย 

ถ้าให้หลวงพี่แนะนำหนังสือตอนนี้ อยากแนะนำเล่มไหนบ้างไหม

อ่านหนังสืออาตมาก็ได้ เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า ‘ไปจำมาจากไหน ทำไมไม่เชื่อหลวงพี่’ ถ้าใครสนใจหนังสือธรรมะแนวใช้เหตุผล แต่สนุก ไม่ซีเรียส อ่านหนังสือเล่มนี้นะ เขียนโดยพระมหาไพรวัลย์ พระรูปนี้เขียนดีมากเลย (หัวเราะ) อาตมาเขียนเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ขายดีเพราะคนตามไปซื้อ เนื้อหาข้างในก็เช่นเรื่อง ทำไมกรวดน้ำต้องแตะตัว ตักบาตรต้องถอดรองเท้าไหม นั่งสมาธิเพื่ออะไร ปล่อยสัตว์เป็นทานได้บุญหรือบาป พ่อแม่เป็นอรหันต์ของลูกใครบอกไว้ พระพุทธเจ้าเกิดมาเดินได้ 7 ก้าวจริงหรือไม่ อยู่ในเล่มนี้หมด ซึ่งคำถามเหล่านี้จะเหมาะกับวัยรุ่นที่ชอบสงสัย เพราะวัยรุ่นสมัยใหม่เขามองศาสนาในเชิงการตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ ซึ่งจะต่างจากคนยุคเก่า รุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นปู่ รุ่นย่าที่จะนับถือศาสนาในสิ่งที่เชิดชูบูชาโดยไม่ตั้งคำถาม แต่เด็กรุ่นใหม่นับถือศาสนาไปพร้อมกับตั้งคำถาม 

 

“เราสนใจเรื่องหลักการ เช่น หลักความยุติธรรม ความชอบธรรม เราไม่ได้สนใจคน เพราะคนเปลี่ยนแปลงได้ คนในวันนี้อาจจะดี แต่ผ่านไปสองสามวันคนอาจจะไม่ดีก็ได้ ถ้าเราไปยึดที่คน จะเหมือนไม้หลักปักขี้เลนที่มันจะเอนง่าย เราจึงต้องยึดหลักการไว้ หลักการต้องคงอยู่ไม่ว่าคนจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ตาม”

 

เราเคยดูคลิปฆราวาสทะเลาะกับพระ แล้วมีประเด็นว่า สุดท้ายคนก็ไม่เห็นเคารพพระเลย 

        แล้วแต่ว่าพระรูปนั้นน่าเคารพหรือเปล่า แต่สุดท้ายอย่าลืมนะว่าพระก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีผิดบ้าง ถูกบ้าง สมัยพุทธกาลก็มี พระทะเลาะกับโยมเป็นปกติเลย ไม่มีอะไรที่สวยงามไปหมดหรอก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องมีปัญหา คนอยู่ในสังคมก็มีเรื่องให้ผิดใจกัน ต่อยกัน มีเยอะแยะซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลไป ไม่ใช่ภาพที่สะท้อนสังคมทั้งหมด ส่วนการนับถือเป็นเรื่องส่วนตัว คุณทำตัวไม่ดีเขาก็ไม่นับถือแค่นั้นเอง

ทราบมาว่าหลวงพี่ไปเรียนปริญญาโทเรื่องสันติศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำไมหลวงพี่ถึงสนใจเรียนเรื่องสันติศึกษา

        อาตมาสนใจเรื่องสันติ สนใจแนวคิดว่าเวลาเกิดความขัดแย้งแล้ว คนเราจะมีท่าทีอย่างไร เราจะมีส่วนไปช่วยสังคมให้พ้นจากความขัดแย้งได้อย่างไร หรือเราควรจะต้องมองเรื่องความขัดแย้งแบบไหนตามหลักของสันติวิธี อาตมาได้วิธีการคิดมาเยอะว่า ความขัดแย้งเกิดมาจากไหน มีชนวนมาจากอะไร แล้วต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เพิ่มความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วให้ลุกลามมากขึ้น สันติวิธีไม่ได้หมายถึงไม่มีความขัดแย้ง แต่หมายความว่าเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว คุณจะจัดการอย่างไร คุณจะคุยกันแบบไหนโดยหลักของสันติวิธีที่จะไม่ใช้ความรุนแรง สันติวิธีจะบอกคุณว่าสุดท้ายแล้วคนจะเข่นฆ่ากันจนตายขนาดไหนก็ต้องกลับมาสู่การพูดคุยกัน สงครามไม่ได้ยุติด้วยการฆ่ากัน แต่สงครามมันยุติโดยการที่คนมานั่งเจรจา หรือลงนามกัน เพื่อขอยุติสงคราม ซึ่งสังคมไทยขาดกระบวนการนี้เพราะไม่รับฟังกัน ไม่มีการแลกเปลี่ยนอะไรที่ยุติธรรมต่อกัน ความสมานฉันท์จะเกิดได้เพราะคนมีฉันทะร่วมกัน 

        ฉันทะคือความพอใจ พอใจทั้งหมดไม่มีหรอก แต่จะเป็นที่คนส่วนใหญ่มองว่าอย่างนี้เป็นสิ่งที่พอยอมรับได้ก็หาทางคุยกัน แต่ไม่ใช่การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทุกอย่าง แล้วไปบอกฝ่ายที่ไม่ได้ว่าขอให้สามัคคีกันเถอะ ไม่มีทาง ใครจะสามัคคีกับคุณภายใต้กฎกติกาที่ไม่แฟร์ ไม่มีใครสามัคคีให้คุณหรอก

ถ้าหากจะมีสัญญาณที่ดี ที่บอกว่าสังคมนั้นกำลังจะเกิดสันติ ท่านคิดว่าสัญญาณของมันคืออะไร 

        ความเป็นธรรมต้องมาก่อน ความขัดแย้งหลักๆ เกิดขึ้นเพราะความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม หรือความเหลื่อมล้ำ ไปดูในหลักคำสอนพระพุทธเจ้าสอนไว้ในอัคคัญญสูตร คนเริ่มทำผิดจริยธรรม ศีลธรรม เพราะเริ่มเกิดความเหลื่อมล้ำ คนมีความโลภมากก็เอาทรัพยากรไปใช้อย่างเดียว ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังหิวโหยอดยาก ฉะนั้น ในหลักอัคคัญญสูตรและจักกวัตติสูตร พระพุทธเจ้าถึงพูดเรื่องการแบ่งปัน ให้ทาน ในเมื่อคนกินดีอยู่ดี โจรกรรมก็จะน้อย อทินนาทาน (การขโมย หรือลักทรัพย์) ก็ไม่แพร่หลาย พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ ฉะนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำสำคัญมากว่า คุณจะทำอย่างไร วิธีการที่สันติจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อความเป็นธรรมเกิด แต่เมื่อไม่มีความเป็นธรรมก็ไม่มีสันติเกิดขึ้น

 

ต้องกลับมาที่ความยุติธรรม ความเป็นธรรมในสังคมก่อน ดูเหมือนพระอาจารย์จะให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมมาก

        อาตมาสนใจเรื่องนี้ สนใจการเมืองก็ในมิติของความเป็นธรรม อาตมาไม่ได้สนใจว่าฝ่ายไหนคือฝ่ายไหน ถ้าฝ่ายนี้เขาไม่ได้ความเป็นธรรม อาตมาก็จะพูดให้ฝ่ายนี้ อาตมาเลือกอยู่ข้างคนที่ไม่มีอำนาจ จะไม่อยู่ข้างคนที่มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายไหน คนมีอำนาจทำอย่างไรก็มีอำนาจ แต่คนที่ไม่มีอำนาจสิ ทำไมเขาถึงมาเดินขบวน ทำไมเขาถึงต้องมาเรียกร้อง ทำไมเขาถึงต้องมาปักหลักนอนกันหน้าทำเนียบครั้งแล้วครั้งเล่า อาตมาอยู่ข้างคนพวกนี้ คนที่มีแต่มือเปล่า ใครที่เป็นคนมือเปล่าอาตมาก็อยู่ข้างเขา สมัยก่อนอาตมาไปจุดเทียน ก่อนจะโดนจดหมายร้องเรียนเพราะอาตมาเป็นอย่างนี้แหละ นักศึกษาเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แค่ไม่ลงชื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถูกจับเข้าคุกกันหมด แล้วความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน นี่เรียกว่าไม่เป็นธรรม อาตมาจะพูดเท่าที่พูดได้ พยายามจะพูดให้ได้มากที่สุด

อยากทราบว่า ตอนที่ไปพบกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม เรื่องไลฟ์ หรือเรื่องที่มีคนร้องเรียน มีการร่วมหาทางออกกันอย่างไร

        ไม่มีอะไรหรอก เหมือนมีคนร้องเรียนเขาไป เขาก็เชิญมาเท่านั้นเอง เขาเรียกมาคุยขอความร่วมมือ รับฟังข้อกังวล เราก็ฟังเขา แต่กรรมมาธิการฯ ไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะต้องทำอะไร เขาไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วต้องปรับหรือเปลี่ยนอะไร แค่ขอความร่วมมือ บางอย่างเราก็ยินดี เพราะอาจจะมีคนคิดแบบกรรมมาธิการฯ ก็เยอะ อย่างเรื่องหัวเราะเสียงดังก็เป็นปัญหาระดับประเทศปัญหาหนึ่ง คือหัวเราะมากเกินไป เป็นเรื่องที่ตลกมาก มีประเทศไหนในโลกที่เสียงหัวเราะเป็นปัญหา หัวเราะมากเกินไปก็ไม่ได้ เป็นปัญหาระดับชาติ (หัวเราะ)

แล้วเรื่องการติดกัณฑ์เทศน์ พระอาจารย์ตอบได้ไหมว่า ตกลงเงินที่ญาติโยมบริจาคเข้ามาคือนำไปใช้อะไร 

        เรื่องนี้ก็เหมือนกัน พวกคุณไม่เคยทำบุญกันเลยเหรอ ถ้าให้ติดกัณฑ์เทศน์ไม่ได้ ก็มาสนับสนุนเป็นโยมอุปัฏฐากเลยก็ได้ เพราะลูกศิษย์อาตมา 3-4 คนที่มาช่วยกันทำงานต่างๆ ในวัดนี่ พวกเขาก็ต้องเรียนหนังสือ เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ได้อยู่วัดแล้ว เพราะเขาต้องเรียน เขาก็ไปเช่าห้องอยู่กันเอง แต่เราขอให้เขามาช่วยเพราะเขาขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 แล้วถ้าไม่ให้ติดกัณฑ์เทศน์ อาตมาจะเอาปัจจัยที่ไหนให้ ถ้าไม่ติดก็ได้ แต่อุปถัมภ์ หรือดูแลเลย บอกมาเลยว่าเลี้ยงดูลูกศิษย์อาตมากี่คน จะส่งเขาจนจบปริญญาไหม ถ้าไม่ให้ติดกัณฑ์เทศน์ก็ไม่ติด แต่ถ้าอาตมามีเรื่องอะไรอยากให้ช่วยเหลือก็จะขอนะ และเราก็ไม่ได้บังคับเลยว่าทุกคนต้องติดกันเทศน์ ต้องถวายปัจจัย 

พระอาจารย์ตั้งใจจะไลฟ์อย่างนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่ มีวางแผนอะไรไว้บ้างในการทำเพจ

        ต้องดูนะว่ายังมีกลุ่มคนฟังไหม เพราะอะไรก็ไม่จีรังหรอก สมัยนี้ดังแบบพลุแตกเดี๋ยวเดียวก็ซาแล้ว ดังนั้น ต้องระวัง ตอนที่มีชื่อเสียง อาตมาเห็นเยอะนะจากโควิด-19 หลายคนขายรถ ขายบ้าน เพราะเคยคิดว่าตัวเองมีชื่อเสียงแล้วทำเงินได้ พอวันหนึ่งไม่สามารถไปทำงาน หรือใช้ชื่อเสียงในการทำมาหากินได้แล้ว สุดท้ายก็จมลง แล้วก็ลำบากไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ เพราะฉะนั้น ความดังไม่ได้หมายถึงว่าคุณมีงานอย่างนี้ตลอดไป แล้วเดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียอันตรายมาก เมื่อมันทำให้คุณดังได้ ก็ทำให้คุณดับได้ เรื่องนี้ต้องระวังให้ดี พูดผิดนิดเดียวอาจกลายเป็นเรื่องเหยียบกันจนจมดินเลย ต่อให้ก่อนหน้านี้เคยพูดดีขนาดไหนก็ตาม