ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา a day BULLETIN แวะไปเยี่ยมเยียนบูธสำนักพิมพ์ openbooks เราได้พบเจอกับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่ยืนรอต้อนรับแฟนคลับนักอ่านของเขาตรงนั้นแทบจะทุกวันและทั้งวัน
เขาเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งจิบชาจีนและสนทนากันอยู่พักใหญ่ ทำให้เราได้เห็นมุมจากภายในเมื่อมองออกไป หนุ่มสาวนักอ่านเดินพลุกพล่านผ่านไปมา ด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและความหวังต่ออนาคตที่ดีขึ้นของตัวเองและสังคมไทย และที่น่าสังเกต ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มันมีบรรยากาศอึมครึมของความวิตกกังวลและหวาดหวั่นแฝงอยู่
บางคนแวะเวียนมาซื้อหนังสือของเขา พูดคุยกันเล็กน้อยก่อนจะขอลายเซ็นและเดินจากไป บางคนขอมาร่วมนั่งจิบชาและสนทนากันยาวๆ ให้ถึงใจ บูธสำนักพิมพ์ openbooks กลายเป็นพื้นที่ของการสังสรรค์พบปะ ปรับทุกข์และเกื้อหนุนใจกันระหว่างผู้คนหลากหลายวัยและความสนใจ
ในห้วงยามที่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวดูเหมือนว่าจะไม่เป็นใจ สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง การเมืองแบบเผด็จการ เทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทุกมิติในวิถีชีวิตและการงาน ผลงานหนังสือหลายเล่มของภิญโญคงจะโดนใจและตอบโจทย์พวกเขาได้พอดี
ภิญโญหยิบ How Will You Measure Your Life? ผลงานเล่มใหม่ของเขาที่แปลและเรียบเรียงมาจากต้นฉบับของ เคลย์ตัน คริสเตนเซน ขึ้นมาแกะห่อและก้มหน้าเซ็นชื่อยุกยิก ยื่นส่งมาให้เราพร้อมกับบอกว่า ในห้วงยามนี้ คุณต้องอ่านเล่มนี้
มันเกี่ยวกับการดิสรัปชันและรีอินเวนชัน เมื่อความสุขความสำเร็จอันหอมหวานในอดีตกำลังล่วงเลยไป เขาบอกว่าเราจะต้องรีบค้นหาปัญญาใหม่ๆ มาใส่หัว เพื่อรีอินเวนต์ตัวเองกลับขึ้นมาอีกครั้ง เรารับปากกับเขาว่าจะอ่านให้จบ เพื่อที่หลังงานหนังสือฯ เราจะมานั่งสนทนาและตกผลึกความคิดกับเขาถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง
สิ่งเก่าไป สิ่งใหม่มา เราจะอยู่ท่ามกลางห้วงเวลานี้อย่างมีความสุขได้อย่างไร? – เราอยากจะคุยกับเขาเรื่องนี้
ทีมคุณจะมากี่คน? – เขาถาม เราบอกว่าทีมสัมภาษณ์แบบเต็มทีมของ a day BULLETIN นั้นมีเกือบสิบชีวิต เขาบอกว่าไม่ต้องๆ คุณมาคนเดียวก็พอ เราจะไปนั่งจิบชากันต่อที่บ้านของผม เพราะบทสนทนาที่ดีนั้นต้องสงบสุข เพื่อที่คู่สนทนาจะได้ใคร่ครวญความคิดและสะท้อนชีวิตของตัวเองออกมาอย่างแท้จริง
อาทิตย์ต่อมา ท่ามกลางชั้นหนังสือสูงท่วมหัว เพลงบรรเลงเป็นไวต์นอยซ์ แสงเทียนวูบไหวสร้างบรรยากาศ ป้านชาจีนตรงหน้ามีควันลอยเอื่อย และกล้วยทอดเบรกแตกถุงใหญ่ ภิญโญบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตและความคิดอ่านที่เปลี่ยนแปลง ผ่านตัวอย่างผลงานเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์หลายเล่มที่ผ่านมา บทสนทนาระหว่างเราสอง ลื่นไหลไปเหมือนกับเบรกแตกเช่นกัน
สำนักพิมพ์และหนังสือของคุณกำลังได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เราเห็นคุณไปนั่งรอแจกลายเซ็นและพูดคุยกับผู้อ่านในงานหนังสือฯ เป็นประจำ คุณได้มองเห็นหรือมีข้อสังเกตอะไรบ้าง
เราออกบูธในงานหนังสือและนั่งคุยกับคนอ่านแบบนี้มาสองปีแล้ว ที่พยายามจะไปนั่งทุกวัน ตอนนี้มีคนสองประเภท ประเภทแรกคือคนที่มานั่งคุยเมื่อสองปีที่แล้ว ว่าเขากำลังหาทางออก ทำงานในองค์กร เอเจนซี สื่อ SME มานั่งคุยกันเพลินๆ คนกลุ่มนี้มาเจอกันครั้งล่าสุด บอกว่าเขาหาทางออกได้ เอเจนซีใหญ่รายหนึ่งมานั่งคุย พี่เป็นไงบ้างปีนี้ เขาบอกว่า เฮ้ย ผมคิดออกแล้ว หาทางออกได้แล้ว นี่คือเขาไปต่อได้ เขารู้ว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร หลังจากผ่านความทุกข์โศกมาสองปี เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมก็เพราะเขากลับมาเล่าให้ฟัง ด้วยอะไรก็ไม่รู้ ไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ได้ไปช่วยเขาคิด และอีกประเภท เป็นจำนวนมากเลยที่ยังคิดไม่ออก สองปีที่แล้วเขาบอกว่าเจอปัญหาในหน้าที่การงาน
อย่างมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่สั่งซื้อหนังสือเราไปแจกให้อาจารย์อ่านกัน เพราะมหาวิทยาลัยกำลังจะหายไปเยอะมาก อาจจะ 60-70 % ที่จะต้องหายไป เพราะไม่มีนักศึกษาเข้าไปเรียน นิเทศศาสตร์อย่างพวกเราจะปรับตัวอย่างไร เราทำสื่อก็รู้กันดีว่าตอนนี้มีปัญหามาก แล้วเด็กที่กำลังเรียนอยู่ล่ะจะทำอย่างไรเมื่อจบออกมา เขาจะดำรงตนอย่างไรในโลกยุคใหม่ หรือแม้กระทั่งในครอบครัว มีพ่อแม่หลายคนซื้อหนังสือเราไปให้ลูกอ่าน เพราะเป็นห่วงลูก และบางทีผมเห็นคนซื้อไปให้แฟน คนซื้อไปให้เพื่อน เพราะเขาเป็นห่วงกันว่าจะปรับตัวอย่างไร กลายเป็นสังคมที่ต้องการความรู้อย่างมาก และไม่มีใครมีคำตอบสำเร็จนะ เราเองก็ไม่มี แค่มานั่งคุยกัน ฟังปัญหาของกันและกัน ไม่มีคำตอบให้หรอก เพราะธุรกิจเอย ชีวิตจริงเอย มันหลากหลายมากเกินกว่าที่ใครจะมีคำตอบให้ทุกคนได้
ผมเชื่อแค่ว่าถ้าเราอ่านหนังสือมากพอ เดินทางมากพอ และกล้าที่จะกระโดดลงเหว แล้วค่อยกระโจนกลับขึ้นมาใหม่ นั่นคือคุณ reinvent ตัวเองใหม่ ก็จะช่วยได้เยอะเลย
Reinvention คืออะไร
มันคือทิ้งของเดิมไปเกือบทั้งหมด คุณจึงจะเริ่มต้นสร้างสิ่งใหม่ได้ ถ้าไม่ reinvent คุณก็ต้องต่อยอดไปจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งมันกำลังจะพังทลายลงไป คุณไปสร้างบ้านสวยแค่ไหนบนเรือที่กำลังจะล่มในที่สุดเรือก็ต้องล่ม คุณจะไปเรียงเก้าอี้บนเรือไททานิกจะมีประโยชน์อะไร คุณต้องหนีออกจากไททานิก เหมือนในหนัง ไททานิก บางคนก็รีบหนี บางคนก็คิดว่าชีวิตนี้ใช้มาพอแล้ว เขาก็เลือกที่จะอยู่บนเรือ เปิดเพลงฟัง แล้วก็จมไปพร้อมเรือ ก็เป็นทางเลือกแบบหนึ่ง เป็นการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีรูปแบบหนึ่ง เหมือนกัปตันที่ผูกตัวเองไว้กับพังงาเรือ หรือสองผัวเมียที่กอดกันจมน้ำไป คุณเลือกได้ว่าจะมีชีวิตไปทางไหน
เราเห็นห้างสรรพสินค้าใหญ่โต ถามจริงๆ บางชั้นที่เราไปเดิน เราเห็นลูกค้าสักกี่คน เวลาไปเดินห้างฯ เราเห็นอดีต เห็นความรุ่งเรืองในอดีต รถติดขนาดนี้ถามจริงๆ ว่ายังมีใครขับรถเพื่อจะไปจอดไว้แล้วก็เดินซื้อสินค้า เขาก็อาจจะไปเดินๆ ส่องดู จากนั้นก็เปิดมือถือเช็กราคา แล้วสั่งซื้อออนไลน์ ห้างสรรพสินค้าก็กลายเป็นที่โชว์ แล้วมันไม่มีใครได้เงินจากการโชว์นี้ บนเรือที่กำลังจม ถ้าคุณอยู่ชั้นบนสุด คุณก็ยังสบายได้อยู่ เพราะคุณยังไม่จม แต่คนชั้นล่างเขาจมน้ำกันไปแล้ว
ยอดหอคอยของสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะไม่มีวันจมคือหนังสือพ็อกเกตบุ๊กใช่ไหม
พ็อกเกตบุ๊กเคยจมไปแล้วรอบหนึ่ง ตอนเกิดอีบุ๊กขึ้นมา มันเคยถูกน้ำท่วมไปแล้ว แต่ในที่สุดก็ลอยน้ำขึ้นมา เพราะมันพิสูจน์ตัวเองได้ว่าคุณค่าของการอ่านหนังสือบนแผ่นกระดาษนั้นมีอยู่จริง ละเมียดละไมกว่าจริง แล้วยิ่งพฤติกรรมคนที่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือทั้งวัน ถ้าจะให้เขาไปอ่านอีบุ๊กบนหน้าจออีก เขาก็ไม่ไหวเหมือนกัน ที่สุดแล้วเราก็ต้องการดีท็อกซ์หรืออะไรบางอย่างที่ย้อนกลับมาอ่านหนังสือกระดาษที่ให้สัมผัสจริงๆ เพราะแบบนี้มันจึงลอยกลับมา แต่ถามว่ามันจะรุ่งเรืองเหมือนในอดีตไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ แล้วถ้าคราวนี้มันลอยกลับมา แล้วเรายังทำงานกันแบบในอดีตอีก คนก็ไม่ยอมรับแล้ว เราต้องทำอะไรบางอย่างใหม่ สร้างฟังก์ชันใหม่ สร้างคุณค่าใหม่ มันก็คือการ reinvent ตัวเองนั่นแหละ
สายพานของธุรกิจพ็อกเกตบุ๊ก ตั้งแต่โรงพิมพ์ สายส่ง หน้าร้าน สำนักพิมพ์ ไล่ย้อนกลับไปเรื่อยๆ ก็ต้อง reinvent ตัวเองใหม่หมดเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้อ่าน ถ้าคุณไม่ทำอะไรใหม่เลย คุณทำงานเหมือนเดิม ผู้อ่านก็ไม่รับคุณหรอก เพราะวิธีการอ่าน วิธีการเสพสื่อ มายด์เซตของเขาเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถึงแม้พ็อกเกตบุ๊กจะไม่ตาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่านจะเอาคุณนะ และถึงแม้คุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปได้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าทำได้ถูกต้อง แค่ยังไม่จมน้ำ เมื่อออกจากเรือไททานิกมาได้ เรามีชูชีพใส่ไว้ แต่เรายังไม่รู้ว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว เราจะต้องว่ายไปอีกนานแค่ไหน
อย่างเมื่อก่อนถ้าพบโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เราอาจจะอยู่ในธุรกิจนั้นต่อไปได้อีกสิบยี่สิบปี แต่ในทุกวันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ปีนี้ทำสำเร็จ ไม่รู้ปีหน้าและปีต่อไปจะสำเร็จแบบนี้อีกไหม เราไม่สามารถรื่นรมย์กับความสำเร็จไปได้นานๆ แล้วความสำเร็จนั้นก็มาจากสูตรของเรา สูตรเราก็ใช่ว่าจะไปใช้กับคนอื่นได้ มันก็ต้องสูตรใครสูตรมัน ทุกคนต้องการสูตรใหม่เพื่อสร้างตัวเองไปสู่อนาคต
การพบปะกันระหว่างนักเขียนและผู้อ่าน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไหม
อย่างน้อยที่สุดมันคือความเป็นมนุษย์ เราแก่ๆ กันแล้วก็จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ ชีวิตบนหน้าจอที่เราใช้ร่วมกันอยู่ เราไม่ได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เราไม่ได้เจอกันนานแค่ไหนแล้ว วิธีเดียวที่จะได้เจอก็คือในงานอีเวนต์แบบนี้ ในงานหนังสือแบบนี้ เราได้เจอกัน ได้รับรู้ร้อนหนาว ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข พูดคุยอัพเดตกันคำสองคำก็ยังดี ในเวลาสิบเอ็ดวันมันคือการเรียนรู้กันอย่างเข้มข้นมาก การออกมาเจอกันต่อหน้าต่อตา กลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังเยอะมาก เหนื่อยมาก เจอกันวันละแปดชั่วโมง นานสิบเอ็ดวัน นับไปสิ ได้เจอกันแบบ all walk of life ทุกสาขาอาชีพ เราไม่ได้คิดแค่ว่าทำวิธีนี้แล้วจะทำให้หนังสือเราขายดี แต่ด้วยความแก่ๆ กันแล้ว ก็รู้สึกอยากสัมผัสความเป็นมนุษย์ อยากรู้เห็นทุกข์สุข ถ้าพูดในเชิงศาสนา ก็คือมันรู้สึกว่าได้เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายกัน เหมือนเป็นช่วงเวลาแห่งการบำบัดกัน
งานหนังสือก็เลยกลายเป็นวิหาร หนังสือก็คือคัมภีร์ และนักเขียนก็คือนักบวช ที่จะมาช่วยกันบำบัดความทุกข์ของยุคสมัย ทำหน้าที่แทนศาสนาไปเลยใช่ไหม
ก็อาจจะมีส่วนนะ เพราะทุกวันนี้ศาสนาถูกทำให้บิดเบี้ยวไปเยอะ ถ้าเป็นศาสนาจริงๆ มันดีหมดอยู่แล้วทุกศาสนา แต่เราก็ตีความและไปห่อหุ้มมันจนใหญ่มาก จนมองไม่เห็นแก่นธรรมที่แท้จริง ผมคิดว่าคนสมัยนี้รำคาญเปลือกที่หุ้มอยู่ แก่นจริงๆ น่ะมีอยู่ แต่คนไม่อยากเข้าวัดไปแล้วเจอเปลือกต่างๆ พวกพิธีกรรมรกรุงรัง แต่สำหรับเราที่เป็นนักเขียน เราทำแบบนั้นไม่ได้ เราเขียนหนังสือด้วยการนำแก่นมาเสนอ และคนอ่านจับแก่นนั้นได้ ถ้าทำได้ เราก็มีที่ยืนอยู่ในสังคม หาแก่นของตัวเองให้เจอ แล้วเราจะทำหน้าที่แทนศาสนาได้บางส่วน
แต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ใครจะทำหน้าที่แทนศาสนาได้ แสดงว่าจิตวิญญาณจะต้องสูงกว่าผู้อ่าน เพราะเขาต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่ถ้าจิตวิญญาณของเราก็พอๆ กันกับคนอ่าน เราจะนำเขาได้อย่างไร ทุกวันนี้ถามว่าเราเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเขาหรือ ก็ไม่หรอก ผมว่าเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมากกว่า เราดีกว่าเขาเหรอ ไม่หรอก บางวันเราอาจจะดีกว่า แต่บางวันเราแย่กว่า มันมีบางวันที่เราจิตตกเหมือนกัน และถามว่าเราฉลาดกว่าเขาเหรอ ก็ไม่อีก คนอ่านบางคนเป็นหมอ เป็นผู้พิพากษา เป็นเจ้าของกิจการ เพียงแต่เราคุยกันรู้เรื่อง
“
เราต้องการคุยกับคนที่ฉลาดที่สุดในโลกเท่านั้นเหรอ ไม่หรอก เราต้องการคุยกับคนที่คุยกันรู้เรื่องมากกว่า เราต้องการคุยกับคนที่รับฟังเรา ไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด
”
การอ่านหนังสือก็คือการสนทนากับหนังสือเล่มนั้น และผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น
ใช่เลย และในที่สุดมันก็น้อมนำให้เรากลับมาคุยกับตัวเอง หนังสือที่ดีจะน้อมนำเรากลับมาสู่ตัวเอง ไม่ใช่มาสอนว่าต้องทำตามที่ผมว่าสิ มันจะมีประโยชน์อะไร มีใครเชื่อใครบ้างในยุคนี้ เราต่อต้าน ตั้งคำถาม ยิ่งหนังสือขายดีนะ ในใจคนอ่านลึกๆ เขาจะตั้งคำถามว่ามันดีจริงเหรอ
หัวใจสูงสุดของการเขียนหนังสือคือ เราไม่ได้ทำให้เขาเชื่อเรา แต่เราทำให้เขาตั้งคำถามบางอย่าง และเขาจะย้อนกลับไปสนทนากับตัวเอง เขาจะคิดด้วยตัวเองว่า อ๋อๆ จะไปต่อแบบนี้ จะทำแบบนี้ ไม่มีใครตอบคำถามของใครได้อีกแล้วในยุคนี้ เริ่มแรกมันต้องเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองก่อน ปัญหาของคนทุกวันนี้คืออยากเปลี่ยนทุกอย่าง ไม่พอใจอะไรสักอย่าง อยากเปลี่ยนทุกอย่างยกเว้นตัวเอง ไม่พอใจอะไรสักอย่างเพราะลึกๆ แล้วไม่พอใจตัวเองนั่นแหละ ดูคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก มีใครถูกใจอะไรบ้าง มีใครดีพอสำหรับทุกคนบ้าง
หนังสือเล่มล่าสุด How Will You Measure Your Life? จึงมีน้ำเสียงของการทบทวนชีวิตตัวเองมากขึ้นกว่าเล่มก่อนหน้า
ถูกต้อง นี่คือต้นทางของความคิดเรื่องดิสรัปชัน เมื่อเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คุณจะอยู่อย่างไร เรื่องนี้มันสำคัญมากในยุคที่เราเห่อความมั่งคั่ง เห่อสตาร์ทอัพ เห่อความสำเร็จ เห่อชื่อเสียง ถ้าคุณไม่มีหลักยึดที่ดี มันเสี่ยงมากที่คุณจะไปผิดทิศผิดทางและพาคุณไปสู่หายนะ
ในยามที่เราเผชิญหน้ากับดิสรัปชัน เราจะต้องกระโจนออกไปสู่สิ่งใหม่ หรือเราจะกลับคืนมาสู่ภายในตัวเองกันแน่
ก็กลับมาที่จุดเดิมที่เราคุยกันว่ามันไม่มีใครให้คำตอบสำเร็จรูปกับคุณได้ เพราะคุณมองแบบแยกส่วนเกินไป ว่านี่คือธุรกิจ นี่คือชื่อเสียง นี่คืออำนาจ นี่คือครอบครัว นี่คือมิตรภาพ นี่คือความสุขภายใน คุณมองว่ามันแยกกัน จึงต้องเลือก พอต้องเลือก ก็เลยไม่รู้จะเลือกอย่างไร จริงๆ ถ้าเราดึงมันกลับเข้ามาหากัน ผูกรวมกันให้เป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อเป็นเรื่องเดียวกันแล้วเราก็ไม่ต้องเลือก เราแค่ผสมมันให้ดี ถ้าผสมให้ดี สัดส่วนดีๆ มันก็กลมกล่อมได้
ทุกวันนี้เราคิดว่า เฮ้ย ให้เวลากับครอบครัวมาก ให้ความสำคัญกับความสุขภายในใจมาก เราจะสูญเสียโอกาสความสำเร็จทางธุรกิจ อะไรแบบนี้เหรอ เฮ้ย ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ที่เราหาสมดุล เมื่อไหร่ที่คิดออกแล้วว่ามันคือเรื่องเดียวกัน คุณก็เป็นสุขใจ แต่ถ้าคิดไม่ออก มองว่าเป็นสองด้าน คุณก็ต้องคอยตัดสินใจตลอดเวลา ธุรกิจก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตเรา มิตรภาพ ครอบครัวก็เช่นกัน หลายคนเลือกธุรกิจนำ แล้วทิ้งมิตรภาพ ให้เหตุผลว่าทำแบบนี้แล้วยุติธรรมกับธุรกิจคุณ แต่มันไม่ยุติธรรมกับเพื่อนฝูงเลย แบบนี้คุณก็ได้ธุรกิจไง แต่เพื่อนฝูงหายหมด ถามว่าคุ้มไหม ก็แล้วแต่คุณเลือก
บางทีการเกิดดิสรัปชันอาจจะไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป มันอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนให้เราได้ย้อนกลับมาพิจารณาสิ่งที่จริงแท้ในชีวิต อาจจะเป็นการยกระดับทางจิตวิญญาณโดยรวมของทั้งสังคม ตกลงว่าความหมายของชีวิตคืออะไรกันแน่ ยิ่งทุกวันนี้เราถูกดิสรัปต์ด้วยพวกเอไอ หุ่นยนต์ ฯลฯ เมื่อหน้าที่การงานหลายอย่างเราถูกแทนที่ ผมว่ามันอาจจะทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้ สิ่งที่ประเมินค่าทางเศรษฐกิจไม่ได้ กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง เพราะมันคือความหมายที่เราเหลืออยู่ ถ้าไม่สามารถตระหนักถึงความหมายนี้ได้ เราก็จะว่างเปล่ามากเลย มีสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นแต่โคตรสำคัญเลย เราชั่งตวงวัดความรู้สึกของเราได้เหรอ แต่ความสุขทุกข์นั้นเกิดจากความรู้สึกของเรา ไม่ได้เกิดที่เนื้อหนังแขนขา มันคือจิตวิญญาณของมนุษย์
ราวกับว่าแต่ละยุคสมัยจะมีแนวคิดและคำศัพท์ที่ฟังดูน่ากลัวๆ มาเป็นจุดขายของยุคนั้น อย่างเมื่อยี่สิบปีก่อนเราก็ตื่นตระหนกกับคำว่าโกลบอลไลเซชัน มายุคนี้ก็คือคำว่าดิสรัปชัน
มันไม่ใช่แนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้เรากลัว มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เราไม่เห็น ไม่เข้าใจ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจมันร่วมกัน มนุษย์เราคิดด้วยอะไร เราคิดด้วยภาษา เขาก็สร้างคำขึ้นมาอธิบายว่าปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโลก เรียกว่าโกลบอลไลเซชันบ้าง ดิสรัปชันบ้าง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้มันเพื่อปรับตัว
ถามว่าถ้าเราไม่ยอมรับมัน มันไม่ใช่ความจริง มันถูกสร้างขึ้น แล้วมันจะหายไปเหรอ ไม่ยอมรับว่ามีผีก็ได้ ถ้ามันมีมันก็มี ถ้ามันไม่มีก็ไม่มี แต่คุณก็ยังกลัวอยู่ดี คุณไม่ยอมรับผีก็ไม่ได้ทำให้คุณเลิกกลัวผี คุณบอกว่าผีไม่มีอยู่จริงก็ได้ แต่ให้ไปนอนป่าช้าวัดดอนตอนตีสาม คุณกลัวไหม คุณจะอยากรับความเสี่ยงนั้นไว้ไหม เพราะลึกๆ เราก็เสียวเหมือนกันว่ามันอาจจะมีจริง
วรรณกรรมที่เกิดขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย ก็จะให้คำตอบว่าเราจะอยู่กับความกลัวเหล่านี้อย่างไร
มันคือความพยายามร่วมกันที่จะบอกสิ่งที่เกิดขึ้น และจะดีกว่านั้น คือพยายามบอกว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร ไปต่ออย่างไร ช่วยกันคิด ความได้เปรียบของนักเขียนก็คือพวกเรามีเวลาที่จะเดินทาง สังเกต คิด และเขียน ในขณะที่คนอื่นเขาไม่มีเวลา เพราะเขาต้องทำงานประจำอย่างอื่น ถ้าเรามีความลักชัวรีนี้อยู่ในมือ เราก็ควรใช้โอกาสนี้ทำงานเพื่อบอกสังคมไหมว่าสิ่งที่เราเห็น ผู้คนที่เราได้พบ โลกที่เราได้ไป หนังสือที่เราได้อ่าน คนที่เราได้สนทนาด้วย มันคืออะไรบ้าง ถ้าเราเขียนออกมาบอกเขา และช่วยให้เขาคิดอะไรออก นั่นก็คือประโยชน์ของเรา กัลยาณมิตรคืออย่างนี้ ส่วนที่เขาคิดออกนั่นคือปัญญาของเขา ไม่ใช่ของเรา เขาคิดเอง ไม่ใช่เพราะเราไปบอก อย่าเข้าใจผิดว่านั่นคือปัญญาของเรา ไม่มีใครมีปัญญาสูงขนาดนั้นหรอก แต่เราบอกวิธีคิดได้ การคิดเป็นหน้าที่ของทุกคน
อาลัน เดอ บัททัน บอกว่าหนังสือแนวพัฒนาตัวเองทั้งโลกมีอยู่แค่สองแนว คือหนึ่ง คุณต้องเปลี่ยนแปลง และสอง คุณก็เป็นอย่างที่คุณเป็นนั่นแหละ
(หัวเราะ) ก็มีส่วนจริง มันไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะออกจากคอมฟอร์ตโซนนั้น และก็ไม่ใช่ทุกคนที่ออกจากคอมฟอร์ตโซนไปแล้วจะไปสร้างอะไรใหม่สำเร็จ สมัยอยุธยาแตก ก็มีแค่พระเจ้าตากสินคนเดียวที่ประสบความสำเร็จ คนอื่นก็คงไปเป็นเจ้าก๊ก เจ้าเมืองอะไร แล้วล่มสลายไป และมันมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้อยากออกจากเมือง แล้วก็มีวิธีที่เขาจะอยู่รอดได้ ประคับประคองตัวเองไป ไม่ผิดอะไร คุณก็ต้องนิยามตัวเองให้ได้ว่าจะอยู่ตรงไหนในสถานการณ์ จำเป็นต้องออกไปไหม ไม่มีใครบอกสูตรสำเร็จ
ถามว่าปี พ.ศ. 2310 ถ้าจะอยู่หรือจะออกอันไหนเสี่ยงกว่ากัน คนที่อยู่ในสถานการณ์ตอนนั้นไม่รู้หรอก เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ถ้าคุณอยู่ต่อ ก็อาจจะมีชีวิตรอด คือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย แล้วตอนนี้คุณอยู่อังวะแล้วนะ ไปสืบเชื้อสายอยู่ที่พม่า มันก็โมเดลใครโมเดลมัน
สำหรับพวกเรานักเขียน เราเป็นขบถโดยธรรมชาติ คนเป็นนักคิดนักเขียนจะเป็นขบถ ก็ต้องหาทางออกจากสถานการณ์คับขันนี้ไป ถ้าเป็นเรา ก็จะไม่บอกว่าตอนนี้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องทำอะไร แค่กินน้อยใช้น้อย ผ่อนบ้านครึ่งหลัง อีกครึ่งหลังให้เขายึดไป ไม่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนก็ได้ เอาทุกคนมานอนรวมในห้องเดียว เปิดแอร์เครื่องเดียวก็ได้ ในทางปัญญาเราต้องฟันฝ่าออกไปสู่อนาคต แต่เราไม่ใช่นักรบ ไม่มีม้า ไม่มีช้าง ไม่มีดาบ ไม่มีปืน เราก็ใช้ปัญญาฟันฝ่าออกไป เหตุที่สังคมโลกวิวัฒน์ไปเรื่อยๆ ก็เพราะมนุษย์ไม่ยอมจำนนอยู่ไปอย่างเดิม
แต่สุดท้ายหนังสือก็ไม่ได้เขียนให้คนแค่ 1% ที่ออกไปแล้วประสบความสำเร็จ มันเขียนเพื่อคนอีก 99% ที่เหลือ ว่าคุณจะออกแบบชีวิตของคุณต่อไปอย่างไร เราต้องให้ความชอบธรรมกับคนตัวเล็กตัวน้อยในการมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างสง่างามด้วย เพราะมันไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด เราต้องให้ความชอบธรรมกับการมีชีวิตอยู่ เพราะการมีชีวิตอยู่ก็เป็นความสง่างามแล้ว ไม่ต้องร่ำรวย ไม่ต้องมีชื่อเสียง ไม่ต้องมีอำนาจ คุณก็สง่างามและมีความสุขได้ เวลาในชีวิตเราเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ไม่ใช่เงิน คุณมีเงินมากแค่ไหนก็ตามที แต่ถ้าพระเจ้าเอาเวลาของคุณไปหมด คือคุณไม่มีชีวิตอยู่แล้ว คุณก็ใช้เงินนั้นไม่ได้
ปรัชญาแต่ละสำนัก หนังสือแต่ละเล่ม นักเขียนแต่ละคน ดูเหมือนมันมีทางเลือกมากมาย เราจะเลือกเชื่ออย่างไร
มนุษย์มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ไม่มีใครเชื่อใครแบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก อย่างถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้ากันหมด ตอนนี้เราเป็นพระโสดาบันกันหมดแล้ว เราก็จะปฏิบัติธรรมกันเคร่งครัด เป็นพุทธศาสนิกที่ดี แต่มันไม่ยักจะเป็นอย่างนั้น เพราะเราทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกอย่างสมบูรณ์ ทั้งในทางชีวิตและทางจิตวิญญาณ ไม่มีใครที่เก่งมากจนกระทั่งโน้มน้าวให้ทุกคนเชื่อและทำตามตัวเองได้หมด แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า แล้วนักเขียนกระจอกๆ อย่างเราจะทำอะไรได้
มีนักอ่านที่เป็นแฟนคลับคนไหนที่เชื่อคุณมากๆ ถือว่าคุณเป็นลัทธิอะไรบางอย่างไหม
โอ้โฮ ถ้ามีถึงขนาดนั้น ถือว่าเราล้มเหลว เพราะหนังสือไม่ได้มีเมสเสจว่าให้คนอ่านมายึดติดกับตัวผู้เขียน เราเขียนเน้นย้ำอยู่ตลอดว่าเราไม่ใช่ผู้มีปัญญา เราแค่เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราไม่ใช่อาจารย์ เรายังเป็นนักเรียน เราไม่ใช่คนเรียนสูงนะ เรียนมาน้อย ตอนสมัยเรียนก็ตกๆ หล่นๆ ไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นเลย เราก็ทนทุกข์ทรมานมาเหมือนกัน อ่านหนังสือไปด้วยกัน ออกเดินทางไปพร้อมกัน แล้วก็เอามาเล่าในฐานะของคนที่เห็นมา ไม่ใช่ในฐานะของคนที่รู้แล้ว ปัญญาเป็นเรื่อง on process ไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเราฉลาดกว่าเขาแล้วเขียนหนังสือสอนเขา มันไม่ใช่ว่าเราออกมาสอน ทุกคนต้องเชื่อผม ทำอย่างนี้แล้วจะดีขึ้นภายในห้าวันสิบวัน โถ ใครจะมาสอนกันอย่างนั้นได้ ทำได้แค่ว่าเรามาร่วมฟันฝ่ากันออกไป พวกเรา พวกคุณ กำลังอยู่ในเรือลำเดียวกัน แล้วไม่ต้องกลัว ทุกคนผิดได้ ทุกคนหน้าแหกได้ ล้มเหลวผิดหวังอีกได้ ทุกวันนี้ผมก็แบกหนังสือไปขายเอง นั่งอยู่ที่บูธก็คุยกันธรรมดาๆ ไม่มีใครมาต่อคิวด้วย ถ้าเดินผ่านมาก็เจอกันแค่นั้นเอง ผมมานั่งรอคุณ ไม่ใช่คุณมาต่อคิวรอผม ผมรอคุณนานกว่าที่คุณรอผมอีกนะ
มันจะมีนักเขียนอีกจำพวกที่มีดีกรีในการสั่งสอนผู้คนมากกว่าคุณ พวกที่เป็นไลฟ์โค้ช หรือพวกที่เป็นลัทธิสอนการใช้ชีวิตและการทำงานบางแนว
อือ ผมเข้าใจว่าสมัยนี้มันมีพวกนี้อยู่เยอะ แต่นักเขียนอย่างเราคงไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะผมไม่ได้เชื่อในคำตอบแบบสูตรสำเร็จขนาดนั้น ช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังเคว้งคว้างมาก และต้องการลัทธิอะไรให้ยึดเหนี่ยว ถ้าเขาพอมีที่ยึดเหนี่ยวได้บ้าง เพียงชั่วครู่ชั่วยาม แล้วหลังจากนั้นก็ไปต่อด้วยตัวเองได้ แบบนี้โอเคนะ ไม่เสียเงินเสียทองมากเกินไป ไม่เปลี่ยวเหงาจนฆ่าตัวตายไปก่อน เมื่อถึงวันที่เขาสละเรือออกจากลัทธินั้นแล้วขึ้นฝั่งของตัวเองได้ แบบนี้ก็ดีไป ไม่ใช่ว่าติดอยู่บนเรือนั้นตลอด
วันหนึ่งที่เราเปลี่ยวเหงามากๆ ชีวิตดำดิ่งลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว ถ้าเห็นใครมีเรือมารับเราขึ้นไป เราก็อยากขึ้น ผมก็มองด้วยความเห็นอกเห็นใจ
เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนจบออกมา เผชิญหน้ากับโลกที่กำลังดิสรัปต์และเปิดโอกาสใหม่ๆ กว้างออกไป พวกเขาได้รับการคาดหวังอย่างมาก มีทางเลือกในชีวิตเยอะมาก
มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความรู้ในการที่เขาจะรับมือและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ สิ่งที่ขาดแคลนอย่างมากคือศิลปะการใช้ชีวิตอันเรียบง่ายและมีความสุข เราคิดว่าต้องประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีอำนาจ ซึ่งมันไม่ใช่ทั้งหมดไง ความสุขมีได้ทันที นี่ไม่ใช่แค่คำพูดเท่ๆ นะ อย่างวันนี้ระหว่างที่กำลังรอคุณมา ผมก็นั่งเปิดเพลงฟัง จุดเทียนประดับในห้องให้ดูสวยๆ สร้างบรรยากาศ ลงทุนกับเทียนไปสี่แท่ง ราคาแค่ไม่กี่บาท แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ต้มน้ำมาชงชาอร่อยๆ นั่งจิบกัน แค่นี้ก็มีความสุขไหม ใช้เงินมากมายเหรอ แทบไม่ได้ใช้เลย สิ่งเหล่านี้ที่มันหายไป และเราต้องช่วยกันเอากลับคืนมา
แต่เรื่องเล่าในยุคนี้ส่วนใหญ่ บอกเราว่าต้องทำสตาร์ทอัพและสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ หรือต้องรวยร้อยล้านตั้งแต่อายุน้อยๆ
ก็อย่างใน How Will You Measure Your Life? ได้สะท้อนให้เห็นว่าด้านมืดของเรื่องเล่าความสำเร็จพวกนั้นมันคืออะไร ความสำเร็จมีต้นทุนที่คุณต้องจ่ายไปเยอะมาก ด้านที่พวกเขาไม่ได้มีความสุขก็เยอะ เราก็จะได้เห็นไง อย่าไปเชื่อเรื่องเล่าในสื่อเหล่านั้นทั้งหมด เพราะไม่มีใครแชร์เรื่องเล่าแห่งความทุกข์หรอก ไม่มีใครแชร์เรื่องล้มเหลว เขาก็แชร์เรื่องความสำเร็จของตัวเองกันใช่ไหม เดี๋ยวเรามาเซลฟีกันหน่อย แล้วแชร์ออกไปว่าวันนี้เรามีความสุขความสำเร็จ ไปนั่งถ่ายกันตรงมุมชั้นหนังสือตรงนั้นแหละ แล้วก็ผลัดกันกดไลก์ให้กันไปกันมา แค่นี้ก็มีความสุขความสำเร็จแล้วใช่ไหม
โซเชียลมีเดียกำลังจะทำให้เราแชร์เรื่องความสุขความสำเร็จในงานเพื่อแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม
ใช่ แล้วมันก็ยิ่งกดดัน ใครมาเห็นก็ โอ้โฮ พี่เขาประสบความสำเร็จขนาดนี้แล้ว ก็แหม เรื่องล้มเหลวเราไม่ค่อยเล่าให้กันฟังไงล่ะ
อยากให้คุณเล่าเรื่องความล้มเหลวให้ฟังหน่อย
โอ๊ย เยอะแยะ ตอนเลิกทำนิตยสาร ผมเขียนบทความคร่ำครวญมาก คุณจำไม่ได้เหรอ เพียงแต่ว่าผ่านมันมาได้ เลิกได้ ทิ้งได้ มาทำสำนักพิมพ์ก็ในช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนไปยุคอีบุ๊กพอดี พอไปทำทีวีก็ โอ้โฮ ตอนเลิกรายการกลายเป็นข่าวดัง มันคือการเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงชีวิต เรียกว่าความสำเร็จไม่ได้หรอก แต่จะเรียกว่าความล้มเหลวก็ไม่เชิง มันคือการสูญเสียสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิตเราไป ถ้าเรามัวนั่งคร่ำครวญเสียใจอยู่กับมันไปอีกสามปีห้าปี ก็เสียเวลาไง เราเลิกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มามากมาย ล้มเหลวมาจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถึงเอามาแชร์กับเพื่อนๆ ได้
สำนักพิมพ์นี่ก็เพิ่งกลับมาเริ่มใหม่ แล้วคนอื่นก็อาจจะเลือกมองว่าครั้งนี้มันคือความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริง เราทำงานกันหนักมาก หนักเสียจนเรามานั่งคุยกัน เฮ้ย ทำไมเราต้องทำงานหนักขนาดนี้ ขนหนังสือไปนั่งขายสิบเอ็ดวันจนป่วย นึกขึ้นมาว่า เราก็ไม่ได้ต้องการเงินขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะปกติเราก็อยู่อย่างสมถะ ใช้เงินน้อยมาก ไม่ใช้ของราคาแพงอะไรเลย ทำไมเราต้องเหนื่อยขนาดนั้น แสดงว่าเราทำบางอย่างผิดอยู่หรือเปล่า เราอาจจะต้องออกแบบชีวิตกันใหม่ หาวิธีที่จะไม่ต้องทำงานหนักจนป่วยแบบนั้นอีกแล้ว ต้องเปลี่ยนแล้ว ถ้ายังทำอะไรแบบเดิม ผลก็จะออกมาซ้ำเดิม เราไม่มีความสุข เราป่วยไข้ ต้องหาทางทำชีวิตให้ดีขึ้นไปอีก
นี่ก็คือกระบวนการของการ measuring ชีวิตตัวเราเองอีกครั้ง แล้วมันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราดิสรัปต์ตัวเองโดยไม่รอให้มันมาดิสรัปต์เรา เพื่อให้เมื่อถึงงานหนังสือคราวหน้า ชีวิตเราจะได้สมดุลมากขึ้น แต่เราไม่สามารถคิดหาวิธีที่ครบจบกระบวนความในคราวเดียว มันคือกระบวนการปรับตัวไป ดังนั้น ในงานหนังสือแต่ละคราว เราก็ไม่ได้ทำอะไรซ้ำซาก อันไหนมากไปเราก็ผ่อน หนักไปเราก็ถอย เพราะตอนนี้เราไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้งแล้ว ถ้าเอาเงินเป็นที่ตั้ง งานคราวหน้าก็ลุยแหลก ต้องเพิ่มหนังสือไปอีกร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วความสุขก็เหลือศูนย์ใช่ไหม
แต่มันมักจะมีความรู้สึกเสียดายแวบเข้ามา เมื่อเราต้องเลือกที่จะทิ้งเงิน แล้วเอาครอบครัวหรือความรักแทน
ไม่เสียดายเลย นี่ไม่ได้พูดเอาเท่นะ คือพออายุ 40-50 คุณจะคิดขึ้นมาได้ว่าเราผ่านมาครึ่งชีวิตแล้ว ครึ่งหลังที่เหลืออยู่นี่เราจะใช้ชีวิตอย่างไรดี เอาให้มันดีที่สุดสำหรับเวลาที่เหลืออยู่ ถ้าเราเลือกจะใช้ชีวิตเหมือนครึ่งแรก มันก็คือการทำซ้ำ แล้วจะมีผลต่างออกไปจากเดิมตรงไหนล่ะ ถ้าเรารู้สึกว่าพอแล้ว ชีวิตเริ่มดีแล้ว และต่อจากนี้ไปเราคงไม่ได้ใช้เงินเยอะแยะอะไร เราก็วางแผนชีวิตครึ่งหลังที่เหลืออยู่นี้ใหม่หมด คือทำให้มันเป็นพรจากพระเจ้าจริงๆ เราจะได้มีความสุขก่อนที่จะจากโลกนี้ไป
ณ จุดที่เราต้องตัดสินใจเลือก เราจะเลือกอย่างไร โดยที่จะไม่ต้องมานั่งเสียดายทางที่เราไม่ได้เลือก และไม่มานั่งผิดหวังกับทางที่เลือก
ในทางวิทยาศาสตร์ มีแนวคิดชื่อว่า Heuristic คือคุณไม่มีทางรู้หรอกว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือทางไหน ในรังผึ้งมีผึ้งอยู่เป็นหมื่นตัว ผึ้งแต่ละตัวมีทิศทางการบินแตกต่างกัน ในการบินออกจากรังไปหาน้ำหวานแล้วก็บินกลับ พวกมันแต่ละตัวพยายามหาแพตเทิร์นที่สั้นที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่พวกมันไม่มีทางรู้เลยว่าต้องบินไปทางไหน สิ่งที่ทำได้ก็คือบินออกไป ผลรวมของทั้งหมดก็คือได้น้ำผึ้งกลับมาสู่รัง บางตัวอาจจะบินใกล้บ้าง บางตัวอาจจะบินไกลบ้าง
ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน ปัญหาของยุคสมัยคือเรามีทางเลือกมากเกินไป มันมีกี่ล้านวิธีที่เราจะเลือกใช้ชีวิตเราได้ ถ้าเราจะต้องรอไปจนกว่าจะเจอวิธีที่ดีที่สุด เราก็ไม่ได้ไปไหนซะที ปัญหาคือมันมีวิธีที่ดีที่สุดจริงหรือเปล่า อาจจะไม่มีก็ได้ ในเมื่อไม่มี คุณก็ต้องเลือกเอาสักวิธีนั่นแหละ แล้วก็ให้อภัยตัวเองถ้าวิธีนั้นมันไม่เวิร์ก สิ่งที่คุณทำได้มันก็เท่านี้เอง คือเลือกมาสักวิธี แล้วก็ลองทำไปก่อน
ถ้าจะถามต่อไปอีกว่าแล้วเลือกอย่างไร ก็นี่ไง ข้างในใจคุณจะคอยบอกคุณ เฮ้ย อยากทำอย่างนั้น อยากทำอย่างนี้ บางทีผมขับรถออกไปก็นึกๆ ขึ้นมา กูอยู่ไม่ไหวแล้วว่ะในกรุงเทพฯ ย้ายบ้านดีกว่าไหม ซึ่งถ้าคุณเลือกที่จะไม่ย้าย ก็อยู่ต่อไปแล้วหาคำอธิบายมาให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ สมมติว่าอยู่ต่อไปอีกสักพัก พบว่าตลอดปี สามร้อยหกสิบห้าวันแทบไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย เพราะเบื่อกรุงเทพฯ เราก็มานั่งคิดอีก อ้าว แล้วทำไมเราต้องอยู่กรุงเทพฯ วะ มันจะต่างกันตรงไหนถ้าเราไม่ได้ออกไปไหนอยู่ดี เพื่อนฝูงก็แทบไม่ได้เจอกัน เพราะไม่มีใครอยากมาเจอ เพราะต่างคนต่างก็รถติดพอกัน แบบนี้เราก็อยู่ต่างจังหวัดได้นี่ แถมอากาศดีกว่า ก็จะเกิดคำถามวนกลับมาในใจแบบนี้ จนในที่สุดก็ต้องย้ายออกไปอยู่ดี
สุดท้ายมันก็คือความกล้าหาญที่จะเลือก แล้วก็ยอมรับความเสี่ยงนี้ อย่าโกรธตัวเองถ้ามันไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง มันมีทั้งผิดและถูก แต่อย่างน้อยเราได้เลือก
หน้าที่ของหนังสือดีๆ ก็คือทำให้เราได้ย้อนกลับมาฟังเสียงในใจตัวเองแบบนี้ใช่ไหม
ถูกต้อง คุณก็จะได้ตัดสินใจเลือก ไม่ว่าจะมีกี่ล้านทางเลือกก็ตาม ตอนหนุ่มๆ พวกเราทุกคนได้อ่านวรรณกรรมชั้นดีของโลก ผมถามจริงๆ ว่าเวลาอ่าน เรานึกถึงวิกตอร์ อูโก้ นึกถึงแซงแตกซูว์เปรี นึกถึงนักเขียนพวกนั้นเหรอ ไม่หรอก เรารู้สึกเศร้าโศก ซาบซึ้งทั้งหลาย สุดท้ายคือเราย้อนกลับมานึกเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเราเองทั้งนั้น เวลาดูหนังเศร้า เราไม่ได้สงสารตัวละคร เราสงสารตัวเอง จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปสงสารตัวละครสมมติเหล่านั้น สุดท้ายแล้ว วรรณกรรมมันทำให้ภายในของผู้อ่านเติบโต
ภายในของเราเติบโตขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเราก็เป็นห่วงเรื่องเงินทองและความมั่นคงในวัยแก่ชราอยู่ดีนะ
ถึงที่สุดจุดหนึ่งนะ อาชีพอย่างเรา วิถีชีวิตอย่างเรา ก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากนักหรอก เราไม่ต้องการเงินถึงร้อยล้าน เราต้องการเงินแค่ถึงระดับหนึ่งซึ่งทำให้เรารู้สึกมั่นคง เหลือความหรูหราให้นิดหน่อยว่าทุกปีสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เวลานั่งเครื่องบินเราก็นั่งอีโคโนมีคลาส ยอมเมื่อยหลังหน่อย ไปเดินซื้อหนังสือโดยไม่ดูราคาได้ สั่งกาแฟโดยไม่ต้องดูราคาได้ เราต้องการลักชัวรีแค่นี้พอ ถ้าแค่นี้เรารู้สึกพอได้แล้ว มิติเรื่องอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ตามมาเอง มิติด้านในจะตามมาเมื่อด้านนอกเรานิ่ง
แต่ถ้าเรายังหาเช้ากินค่ำอยู่ อันนี้ก็ยาก คนเป็นนักเขียนอย่างเรามีความต้องการภายนอกต่ำ ข้างในจึงนิ่งได้ง่ายกว่า แต่ละคนมีเงื่อนไขแตกต่างกัน แต่วันหนึ่งมันจะมาถึง วันก่อนเจอ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ รอบล่าสุดในงานหนังสือ เขาก็บอกว่ามีความสุข แฮปปี้ดี ผมก็แซวเขา ถ้าน้าบอกแฮปปี้ อย่างผมนี่มอร์แดนแฮปปี้แล้ว เขาก็เล่าให้ฟังว่าไม่ได้มีเงินทองอะไรนะ ย้ายไปอยู่จังหวัดน่าน ต้องจุดฟืนหุงข้าวเลยนะ แต่เจอกันแล้วเห็นหน้าตาเขามีความสุขจะตาย เพื่อนฝูงมันไม่โกหกกันหรอก คนเป็นนักเขียนมันจะรู้กันว่าแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
แล้วสำหรับคนอื่นที่ไม่ใช่เป็นนักเขียนแบบพวกคุณล่ะ เพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนคณะบริหารธุรกิจมา เขาคิดแบบนี้ไหม
เราเลือกคณะเรียนผิดมาตอนเด็กๆ แต่พอโตขึ้นมา เราก็ไม่ควรจะเลือกผิดอีกต่อไปแล้วใช่ไหม หลังจากนั้นเราก็เลือกไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ตอนนี้เราก็เป็นนักเขียน เราไม่จำเป็นจะต้องเลือกผิดอีกต่อไปแล้วใช่ไหม
ชนชั้นกลางในเมืองทุกคน กำลังหลับตาฝันถึงชีวิตบั้นปลาย คือการออกไปทำสวนทำไร่ในต่างจังหวัดกันหมด
ใช่ ทุกคนทำตามความฝันนี้ได้ วรพจน์ก็ไม่เห็นมีเงินทองอะไร เขาออกไปก่อนใครเลย เห็นไหม เราคิดว่าอีกสองสามปีเราก็จะไปแล้วเหมือนกัน
ตอนแก่ๆ เราจะตายอย่างทรมานไหม
เฮ้ย เราจะไปรู้ได้ยังไงวะ และใครจะมาตอบให้คุณได้ คนเป็นเศรษฐีพันล้านหมื่นล้านเขายังไม่รู้เลย
ตอนแก่ๆ เราจะตายอย่างโดดเดี่ยวไหม
(หัวเราะ) ที่สุดก็ต้องมาดูใจตัวเองนะ ถ้ามีอายุมาเกินครึ่งชีวิตแล้ว เราก็ควรต้องเริ่มภาวนาแล้ว ถ้าเกินครึ่งชีวิตแล้วยังไม่เริ่มภาวนา ก็มีโอกาสเศร้าหมองยามแก่ชรา นั่งสมาธิ เจริญสติ ต้องกลับมาข้างในตัวเองแล้ว ถ้าไม่มีตรงนี้อยู่ คงจะว้าเหว่มาก เรื่องแบบนี้บอกเด็กรุ่นใหม่ไปคงยังไม่เข้าใจ แม่ผมตอนนี้อายุ 90 แล้ว เขาขี้หงุดหงิดมาก เป็นห่วงลูกหลานหลายเรื่อง และเขายังไม่เข้าใจว่าชีวิตคืออะไร เขามักจะย้อนเล่าไปถึงสมัยเด็กๆ ว่าเหนื่อยยาก เคยถูกรังแก คือเขาไม่เข้าใจว่ามันเป็นแต่ละสเตจของชีวิตที่ผ่านมาแล้ว ตอนนี้เป็นอีกสเตจแล้ว ผมว่าพ่อแม่ของคนรุ่นเราคงเป็นอาการเดียวกัน ซึ่งเราจะต้องสอนให้เขาภาวนา สุดท้ายแล้วเราก็คงต้องกลับไปยึดเหนี่ยวศาสนา จะอ่านหนังสือปรัชญา งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หนังสือฮาวทู หรือพวกไลฟ์โค้ชอะไรก็ตาม ในวาระสุดท้ายเราก็ต้องเลือกพระ ใครจะเอาไลฟ์โค้ช จริงไหม มันคือความกลัวขั้นสูงสุดของมนุษย์
คุณว่างเปล่าภายในไหม
ไม่รู้สึก ทุกวันนี้สภาพจิตใจค่อนข้างดี ถ้านั่งคุยกันก็น่าจะรู้ ว่าไม่สับสนเคว้งคว้าง พออายุสี่สิบอัพ คนเราก็มักจะนิ่งขึ้น ยิ่งถ้าได้ฝึกภาวนาก็พบว่ามีความสุขง่ายขึ้น
ในวัยหนุ่ม คุณเคยอยากเป็นคนระดับโลกอย่าง สตีฟ จ็อบส์, แจ็ก หม่า หรือ อีลอน มัสก์ แบบนั้นบ้างไหม
พวกเราเป็นคนทำสื่อ เราก็ควรจะใช้ความชอบธรรมกับชีวิตแบบอื่นบ้างนะ สิ่งที่ผมทำมากที่สุดในช่วงหลังๆ ทั้งที่ให้สัมภาษณ์และที่เขียนหนังสือ ก็คือให้ความชอบธรรมกับการมีชีวิตอยู่ของคนทุกแบบ ทุกระดับชั้น แทนที่จะให้ความชอบธรรมกับเศรษฐีระดับโลก ที่เป็นคนแค่ 1% เอาความชอบธรรมมาให้พวกเราที่มีกัน 99% เราเป็นสื่อ เราทำแบบนั้นได้ ลดการเล่าเรื่องความสำเร็จของ สตีฟ จ็อบส์ มาบอกเล่าเรื่องคนปกติธรรมดาทั่วไป และหนังสือของผมหลายเล่มก็เล่าเรื่องพวกนี้ เด็กรุ่นใหม่เมื่อได้อ่าน ก็จะได้รู้ว่าพวกเขามีชีวิตที่มีความสุขได้ ถึงแม้จะทำขนมปังอร่อยคุณก็มีความสุขได้ ชงกาแฟอร่อยก็ยิ่งใหญ่ได้ ถ้าเรามัวแต่เปรียบเทียบตัวเองกับเศรษฐีระดับโลกพวกนั้น เราก็ไม่เหลือความหมายในชีวิตแล้ว แล้วทำไมชีวิตเรามีความหมายอยู่ ก็เพราะเรามีมิติอื่นๆ อีกมากมายไงล่ะ
ถ้าเราบอกใครๆ ว่ามีความสุขกับชีวิตเรียบง่าย แต่คนอื่นอาจจะถามว่านี่เราหลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า
เฮ้ย ถ้าเรามีความสุข เราย่อมรู้ได้ด้วยตัวเอง มันไม่เกี่ยวกับว่าคนอื่นจะมาถามคุณว่าอะไร หรือคุณจะบอกคนอื่นว่าอะไร ความสุขของเราเป็นเรื่องของเรา คำถามของมันก็เป็นเรื่องของมัน ถ้ามันจะมาบอกว่า เฮ้ นี่มึงหลอกตัวเองอยู่นี่หว่า อ้าว นั่นก็เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องที่กูจะต้องมาตอบมึง (หัวเราะ)