พลอย จริยะเวช

‘Good Life in Crisis’ เข้าใจความสุขในห้วงยามที่ชีวิตเผชิญความทุกข์: พลอย จริยะเวช

เราจะมี ‘ชีวิตที่ดี’ ได้อย่างไร – ถ้าหากรายล้อมรอบตัวมีแต่เรื่องแย่ๆ และวิกฤต

        นั่นคือสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ได้เรียนรู้ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านความจริงในชีวิตมาถ่ายทอดเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า What is the Good Life?

        ผู้หญิงคนนี้คือ พลอย จริยะเวช ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่แห่งเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของเมืองไทย แต่เมื่อไม่นานมานี้ เธอสูญเสียผู้เป็นบิดาอย่าง ศ. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญของสังคมไทย

        ใช่ – การสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย, ไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม

        พลอยผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ด้วยการย้อนกลับไปทำความรู้จักกับผู้เป็นพ่ออีกครั้ง คราวนี้อาจละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เคยด้วยซ้ำ เธออ่านบันทึกเก่าๆ ของพ่อ เมื่อครั้งที่ความคิดของผู้เป็นบิดายังอยู่ในกระบวนการจัดเรียงตัวเพื่อตกผลึกในเวลาต่อมา เธอจึงได้ร่วม ‘เดินทาง’ ไปกับความคิดที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้น

        และในบันทึกเหล่านั้น มีคำถามสำคัญคำถามหนึ่งวางอยู่

        คำถามที่ว่า – ชีวิตที่ดีคืออะไร?

        ในยามสุข เราอาจมีคำตอบร้อยแปดว่าชีวิตที่ดีสำหรับเราคืออะไรได้บ้าง ลูกกวาดหลากสี รอยยิ้ม ข้าวของ ความอบอุ่น หรือสิ่งใดก็ตามที่ส่งผลในแง่บวกกับชีวิต ทว่าในยามทุกข์และยามเกิดวิกฤตเล่า – คำถามที่ว่า, ชีวิตที่ดีคืออะไร – จะกระทบกระแทกและก่อร่างสร้างรูปให้กับ ‘ภายใน’ ของเราอย่างไรบ้างไหม

        ชวนอ่านบทสนทนาระหว่าง a day BULLETIN และ พลอย จริยะเวช ในห้วงยามที่คนไทยไม่น่าจะมีความสุขกันสักเท่าไหร่ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ กำลังสุมรุมเข้ามาหลากหลายมิติ

        แต่เป็นยามทุกข์และวิกฤตเช่นนี้นี่เอง ที่คำถาม – ชีวิตที่ดีคืออะไร, อาจกลายเป็นคำถามที่แหลมคมและน่าหาคำตอบที่สุดก็ได้

        เหมือนที่ผู้หญิงคนนี้เคยตั้งคำถามนี้ในห้วงยามเช่นนั้นมาแล้ว

 

พลอย จริยะเวช

ภาพของ พลอย จริยะเวช คือผู้นำเทรนด์ในด้านต่างๆ มายาวนาน แต่หนังสือ What is the Good Life? แสดงให้เห็นว่าพลอยลงลึกในความคิดและการเปลี่ยนผ่านหลายด้าน ถ้ามองย้อนกลับไป เราเห็นได้ชัดเจนว่าแกนสำคัญในงานของพลอยไม่ว่าเป็นช่วงไหนก็คือการบอกเล่าถึง ‘ความน่าอยู่’ หรือ ‘ความสุข’ ของชีวิตและสิ่งชุบชูใจในหลายๆ มิติ คำถามคือ การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในหนังสือ ทำให้พลอยมองคำว่า ‘ความน่าอยู่’ หรือความสุขของชีวิตต่างออกไปจากเดิมอย่างไรบ้าง

        รู้สึกว่ามองคำว่า ความน่าอยู่ ความสุข หรือสิ่งชุบชูใจ ไม่ได้ต่างไปจากเดิม แต่การเปลี่ยนผ่านหลายด้านที่ปรากฏใน What is the Good Life? อาจเกิดจากความตระหนก ที่ตื่นมาวันหนึ่งเหมือนจู่ๆ เรามองไม่เห็นการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นมากกว่า ตกใจว่าทำไมมันหายวับไปหมด ในที่สุดก็ อ้อ นี่เราอยู่ในสภาวะเป็นทุกข์ค่อนข้างหนัก

        ที่ผ่านๆ มา ชีวิตที่เคยคิดว่าเจอกับสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ มันไม่ใช่เลย กระจอกมาก แค่ระคายผิวใจ อย่างมากก็ถลอกเลือดซิบ เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการพลัดพรากจากพ่อ เหมือนถูกแทงแรงๆ ที่อวัยวะสำคัญ แผลเหวอะเลือดไหลไม่หยุด เจ็บปวดแผลฉกรรจ์ เรื่องใหญ่ ต้องตั้งสติว่าควรห้ามเลือด เย็บแผล ทำแผล ฆ่าเชื้อ อักเสบ ไข้ขึ้น กินยา รักษาตัว มีหลายกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านหลายด้าน เพื่อให้แผลสมานสนิท ไม่ติดเชื้อลุกลาม ซึ่งก็คือการที่เราต้องจัดการกับข้างใน ทำให้พบความจริงหลายสิ่ง เช่นว่าความสุขในชีวิต ความชุบชูใจ มันแค่อุปกรณ์เสริมแก่นในที่แท้ แต่มันไม่ใช่สาระหลักของชีวิต มันอาจไม่ช่วยให้เลือดหยุดไหล ขณะเดียวกันก็ใช่ว่ามันจะไร้ค่าเสียทีเดียว เพราะเราก็ค้นพบต่อไปว่า มันคือสินทรัพย์จับต้องไม่ได้ที่เราได้ใช้เพื่อสร้างพลังชีวิต มีไว้ก็ดี เพราะมันก็มีส่วนช่วยเสริมความยืดหยุ่นของฐานในการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้ดี

พลอยบอกไว้ในท้ายเล่มว่า จากที่เคยรับผิดชอบ The Essence of Style ในหนังสือ ‘พุทธะในปราด้า’ มาบัดนี้ได้เคลื่อนมาสู่ The Essence of Life ภายใต้การทำงานร่วมกันกับพ่อในอีกรูปแบบหนึ่ง อยากให้เล่าถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ว่า ว่าเกิดขึ้นอย่างไร

        กระบวนการเปลี่ยนผ่านของเราน่าจะมาจากความวิตกจริต กลัวการถูกครอบงำ เวลาประสบทุกข์ พลังข้างในมันเหือดหายหมด แปลว่าจิตเราอ่อนมาก ตามด้วยภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ค่อยดีนัก เหมือนเราเหวี่ยงตัวออกจากวงโคจรชั้นในสุดที่ดีสุดของชีวิตโดยเราไม่รู้ตัว

        เราถอยออกจากคนที่เรารักและไว้ใจขั้นสุดอย่างที่ไม่เคยเป็น คนใกล้ตัวซึ่งเราน่าจะพุ่งไปหาและระบายทุกข์อย่างแม่ คนรัก พี่น้อง หรือเพื่อนรักบางคน คนในครอบครัวที่รักเราและเรารักเขา ความทุกข์มันมีผลข้างเคียงดึงเราออกห่างจากผู้คนที่มีค่าอย่างนี้ เข้าใจที่เขาว่ากันว่า ‘รู้สึกโดดเดี่ยว’ คือเรารู้สึกไปเองว่าไม่มีใครเข้าใจ และเกรงใจว่าเขาก็ต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน

        อย่างกับแม่ รู้สึกผิดมากทุกครั้งที่ร้องไห้หนักมากใส่แม่เวลาเราคิดถึงพ่อ คือคิดว่าแม่ก็น่าจะแย่หรือต้องจัดการกับความทุกข์ไม่ต่างจากเรา ส่วนสามี เขาก็มีวิธีจัดการกับความทุกข์อย่างเดียวกันในอีกแบบ เพราะความเป็นเขากับความเป็นเรามันต่างกัน แม้จะรักกันและเข้าใจกันในแทบทุกเรื่อง แต่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราร้องไห้คร่ำครวญถึงพ่อปานนั้น เวลาเขาปลอบมา บางทีฟังแล้วก็หงุดหงิดทะเลาะกันก็มี มันก็จะเกิดภาวะที่เราลอยหวือออกห่างจากผู้คนที่รักเราที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นช่วงเวลาเปราะบาง จิตอ่อน ขวัญหนี ซึ่งอันตราย ถ้าเรามูฟผิดทางมันคงไปกันใหญ่ แบบอยากจัดการกับทุกข์ให้มันหมดไปไวๆ เอาตัวเข้าไปลองอะไรใหม่ๆ ไปเจอคนอื่นๆ ในวงรอบๆ ที่ห่างออกไปเพราะคิดว่าเขาเข้าใจเรากว่า อาจถูกครอบงำชักจูงได้ง่ายนำไปสู่ปัญหาใหม่ ต้องใช้สติ อยากจัดการตัวเองให้ได้ก่อนในระดับหนึ่ง ให้จิตเราแข็งขึ้นก่อนแล้วค่อยพาตัวออกไปรับการบำบัดจากโลกภายนอก

        เอาเข้าจริงไม่อยากพึ่งพาใคร แต่ความย้อนแย้งคือ ในที่สุด คนเดียวที่เราเลือกให้มาช่วยเราแบบใกล้ชิดสุดในการทะลุทุกข์ คนที่เราอยากขอความช่วยเหลือให้เขาปลอบประโลมเรา ก็ยังคงเป็นพ่อ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ใหญ่สุดในชีวิตครั้งนี้ มานึกดูแล้วก็ตลกดี ก็เลยเป็นเหตุผลที่เราว่าในที่สุดเราได้ทำงานร่วมกับพ่อในอีกรูปแบบ ซึ่งนำไปสู่การที่ทำให้เข้าใจ Essence of Life หรือแก่นของชีวิตได้ในที่สุด

        กระบวนการมันคงเริ่มต้นที่เราสร้างความเชื่อว่าพ่ออยู่กับเรา คุยกับเราได้ในอีกรูปแบบ ร่างเขาอาจไม่มีอยู่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้เหมือนเดิม แต่พลังงานตกค้างที่พ่อทิ้งไว้มันมวลใหญ่ มหาศาลทีเดียว พอสัมผัสได้ บรรจุอยู่ในวัตถุต่างๆที่เป็นกระดาษลักษณะต่างๆ ตั้งแต่เศษกระดาษขนาดเท่าฝ่ามือ เอสี่ ไปจนหนังสือเป็นเล่ม ซึ่งเราเชื่อว่ามันพูดคุยโต้ตอบกับเราได้ บังเอิญตอบคำถามให้คลายใจในสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ก็บอกทุกคนว่าเป็นครั้งแรกที่เข้าใจในเนื้องานของพ่อจริงๆ พอเตาะแตะเข้าใจในสิ่งที่เขาคิด เกิดการแกะรอยตามไปในสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งมันก็สร้างความยากลำบากไปอีกแบบที่ต้องทำความเข้าใจ คิดตามหนักมาก อ่านอะไรเสริมเพื่อให้เข้าใจ จะว่าไปก็เป็นการสร้างสมาธิ เสริมสติที่ดี อาจช่วยให้สงบลง ได้คิด คิดได้

        ทีนี้ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในชีวิตการทำงาน เราเลือกสายงานที่มันเกี่ยวพันกับเปลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจไม่ยาก สบาย สนุก มีสไตล์ สวยงาม เพลินๆ ซึ่งเราก็สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาโดยการศึกษาแก่นของเปลือกที่เราสนใจนั้นๆ อาหารเช้า กาแฟ สุขภาพ การเดินทาง ศิลปะ เรานำเสนอเรื่องราวเหล่านี้โดยใช้การค้นคว้า วิเคราะห์ ผ่านประสบการณ์จริง แสดงความเห็น แต่ถึงจะอย่างไร มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเปลือกนอกล้วนๆ เรียกให้หรูหน่อยว่า ‘สไตล์’

        พอมา Good Life ซึ่งไปยุ่งไปแตะกับงานของพ่อ มันไม่ง่ายสบายแบบนั้น เพราะแต่ละประเด็นที่เป็นความชำนาญของพ่อคือแก่น ความคิด ระดับทฤษฎีที่เกิดจากพ่อศึกษาเรื่องราวที่มันใหญ่มากๆ อาจเกี่ยวพันกับปรัชญาบ้าง โครงสร้างทางสังคมบ้าง ต่างจากงานสบายๆ สไตล์ๆ ของเรา แต่มันก็เชื่อมโยงไปสู่สารัตถะของการมีชีวิต และทำให้เราต้องพิจารณาและพูดถึงความทุกข์และข้างใน ก็เลยเกิดอะไรใหม่ๆ น่าจะเป็นครั้งแรกที่มองข้างในตัวเองและกลับตะเข็บในบอกเล่าออกมาแยะสุด

        งานปกติเราประเด็นมันเล็กๆ จุ๊กจิ๊ก และเราเองก็ทำหน้าที่มองหรือนำเสนอบอกเล่าให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปของกระแสโลกภายนอก แต่คราวนี้มันเป็นโลกภายใน ตัวตน แถมยังเป็นคนที่เชื่อเรื่อง personalized ความเฉพาะตนหนักมาก ไม่เคยเชื่อหรืออยากรู้ประสบการณ์คนอื่น คิดว่าเรื่องใครก็เรื่องคนนั้นมันเทียบเคียงกันไม่ได้ ช่วงแรกในการเขียนก็เลยค่อนข้างติดๆ ขัดๆ เกร็งๆ งกเงิ่นที่จะต้องพูดเรื่องข้างในตัวเอง คิดซับคิดซ้อนว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ฟูมฟายหรือพูดเรื่องส่วนตัวมากไป เพราะเรายังไม่อยากรู้เรื่องคนอื่นเลย ก็ยิ่งลำบากไปอีก

        แต่ก็ทำให้เข้าใจว่างานที่เราทำ ประเด็นที่เราเคยหลงตัวเองว่า ถึงฉันทำงานเรื่องสไตล์ แต่มันก็เป็นการศึกษาเรื่องสไตล์ที่ลงลึกถึงแก่นของสไตล์ มันผิดตรงไหน คือก็รู้แล้วล่ะว่ามันไม่ผิด มันแค่เป็นปัญญาแคบๆ เรามีแค่ ‘ความรู้’ ทั่วไป สำหรับประกอบร่างสร้างการงาน ความชุบชูใจหรือความสุขในชีวิตสิ่งที่อยู่ในเนื้องานที่เรานำเสนอ มันไม่ได้มีอานุภาพพอให้เราเข้าใจโลกหรือทุกข์ได้ ก็ต้องเข้าใจและยอมรับว่า อ้อ เรารู้สิ่งแคบๆ มีปัญญาในเรื่องแคบๆ มากมายหลากหลาย และการเขียน Good Life มันใช้ทักษะและความรู้ วิธีคิดแบบเดิมไม่ได้ มันไม่พอ ก็เรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือทางการคิดใหม่ๆ ไปด้วย ก้าวเข้าไปรู้จักสิ่งที่กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น อันมีจำนวนน้อย แต่ว่าครอบคลุมอยู่เหนือบรรดาสิ่งแคบๆ ทั้งหมดที่เรารู้มา ย่อมทำให้ตระหนักว่าการเข้าใจอะไรที่มันจะชักนำให้เราตอบปัญหาต่างๆ ได้นั้นมันต้องเข้าใจภาพรวม ภาพใหญ่ ในแบบที่ต่างไปจากเดิม ในหนังสือก็เลยจะมีบทที่เกี่ยวกับกระบวนการคิด กระบวนทัศน์ และเรื่องราวหลายอย่างที่คนอ่านส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่การบอก 1-2-3-4 หรือเน้นวิธีการมีหรือสร้างชีวิตที่ดีแบบตรงๆ เป็นข้อๆ แต่ทุกอย่างมันยึดโยงไปสู่ชีวิตที่ดีได้

สำหรับหลายคน นกฮูกมีความหมายในเชิงปัญญาหรือปรีชาญาณ นกฮูกมักถูกมองว่าเป็นผู้เปี่ยมปัญญา แต่สำหรับพลอยและหนังสือ What is the Good Life? นกฮูกดูมีความหมายบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่านั้น ความหมายที่ว่าคืออะไร

        ปรีชาญาณคือ wisdom ซึ่งก็คือปัญญาแบบอัพเกรดใช่ไหม? เรียกว่าเป็นความรู้ที่มันมีพัฒนาการ วิวัฒนาการ ถึงจะก่อให้เกิดผลของปัญญา เกิดการกระทำที่สำเร็จผลใดๆ ใหม่ๆ ได้ ของเราคงเป็นการเปลี่ยนผ่าน นกฮูกก็มีส่วนช่วยในจุดนี้ จริงๆ ตอนที่นกฮูกโผล่มา เราไม่ได้คิดไปถึงปรีชาญาณเลย คือนกฮูกเป็นของสะสมของพ่อ เขามีอยู่ในตู้ที่ห้องทำงานเป็นร้อยๆตัว ตั้งแต่จิ๋วเท่านิ้วก้อยไปจนตัวใหญ่ๆ ดินเผา เซรามิก เหล็ก ทุกวัสดุ เวลาไปทำงานต่างเมืองพ่อก็เล็งของที่ระลึกเป็นรูปนกฮูกใส่กระเป๋าเสื้อกลับมา พอเขาไม่อยู่ เราก็เปิดตู้เลือกมาหลายตัว เหมือนรับมาเลี้ยงต่อ พ่อเคยบอกว่านกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา เพราะมันตื่นรู้ ตาโตคิ้วกระดกอยู่ในความมืดมิด เป็นสัตว์ที่ตื่นตอนกลางคืน ปกติตามเรื่องฮูกไม่โผล่มาตอนเช้า มันไม่ใช่เวลาของฮูก บรรณาธิการ ภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) บอกว่าน่าสนใจที่ฮูกบินมาคุยกับเราในยามเช้า

        นกฮูกที่เพ่นพ่านอยู่ไปทั่วทั้งเล่ม สำหรับเราน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความเหนือจริงมากมายหลายอย่าง จะว่าไปตั้งแต่กระบวนการที่เราคิดว่าเราทำงานร่วมกับพ่อ หรือเราเลือกพ่อเป็นผู้ช่วยให้เราทะลุทุกข์ ทั้งที่อยู่คนละมิติ มันไม่น่าเป็นไปได้ หรือการฝันถึงพ่อ หนึ่งปีที่พ่อจากไป สรุปว่าเราฝันถึงเขา 19 ครั้ง ซึ่งมันบ้ามาก เป็นอีกหนึ่งความเหนือจริง การฝันก็มีทั้งสนุกทั้งเศร้า ในบางฝันพ่อพูดอะไรกับเราสั้นๆ แบบต้องตีความ บางฝันก็มายิ้มๆ น้อยครั้งที่พูดเป็นประโยคยาวๆ เราเลยรู้สึกว่าการพูดคุยกับฮูกในตอนเช้า มันเหมือนส่วนขยายอธิบายบทสนทนาในฝัน ทุกเช้าที่อ่านงานเขียน บทความ ลายมือพ่อ ร้องไห้หนักมาก นอนน้ำตาไหลสะอึกสะอื้นนานเป็นชั่วโมงจนหนำใจ และรู้สึกว่าได้คุยกับฮูกจริงๆ การปรากฏของฮูกมันเลยชัดเจนมากสำหรับเรา มีความเป็นจิตแพทย์ล่องหนที่เดลิเวอรีมาที่บ้าน เป็นความเหนือจริงในความจริงที่มันเนียนมากสำหรับเรา ชอบปฏิกิริยาของคนอ่านที่มีต่อฮูกมาก มีท่านหนึ่งถามว่าทำไมกล้าเอาความเหนือจริงมาไว้กับประเด็นที่มัน intellect อีกท่านถามว่าตกลงฮูกนี่มีมาจริงๆ ใช่ไหม ตลอดปีนั้นทุกคืนก่อนนอนก็วาดรูปนกฮูก ตวัดพู่กันฟว่าบๆๆๆ

นกฮูกดูเหมือนจะคอยตั้งคำถามกับพลอย ทำให้ฉุกคิดถึงเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ตั้งคำถามถึงประสบการณ์เฉพาะที่เราได้รับมา แต่ยังไม่มีพลังมากพอจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงในชีวิต แท้จริงแล้ว คำถามจากนกฮูกคือคำถามที่ผุดขึ้นมาจากภายในของพลอยเอง หรือเป็นคำถามที่มาจากที่อื่น (เช่นจากคุณพ่อ) หรือเป็นทั้งสองสิ่งที่ผสานรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

        อย่างที่เราบอกว่าฮูกคือความเหนือจริง ต้นฉบับของพ่อมีหลายกองใหญ่มาก เราจะสุ่มหยิบมาอ่านวันละ 4-5 ชิ้น โน้ตที่เป็นการ์ดเตรียมการสอนที่เขาเอายางมัดไว้ก็มีหลายปึก ทำไมเราหยิบมาแล้วเจอที่พ่อเขียนว่า อะไรคือชีวิตที่ดี? มันเตะตามาก มีความดลใจว่านี่จะต้องเป็นชื่อหนังสือ เป็นเล่มแรกในชีวิตที่ตั้งชื่อหนังสือได้ก่อน และเป็นเล่มแรกที่ตั้งเอง ส่วนใหญ่จะเขียนไปก่อนแล้วชื่อเรื่องมันถึงจะมาตอนจบ ไม่ก็ brainstorm กันกับบรรณาธิการ ทีมสำนักพิมพ์ แต่นี่ไม่ มันมาเลย ชัดมาก แล้วสิ่งที่เราสุ่มหยิบมาอ่านแต่ละเช้า มันก็ใช่มาก ค่อยๆ ประกอบร่างสร้าง outline ให้เคลื่อนไคลไปต่อแต่ละบทได้อย่างลื่นไหล

        บทความพ่อที่หยิบมามันยังเชื่อมโยงประกอบร่างกับหนังสืออื่นๆ ที่เราซื้อหามาเก็บไว้ แต่ไม่มีอารมณ์อ่านเพราะไม่เข้าใจหรืออ่านแล้วเบื่อ แต่ปีที่ผ่านมานี้ พอเราหยิบงานพ่อมาแต่ละชิ้น มันอธิบายกันได้กับหนังสือหลายเล่มที่มีอยู่ อย่างเรื่องการอาบป่า Forest Bathing เปิดอ่านครั้งแรกไม่เก็ตเลย น่าเบื่อหาวหลับ พออ่านงานอ่านบทความพ่อไปเรื่อยๆ มันจะเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ทำให้กลับไปเข้าใจเรื่องอาบป่า กลับไปหยิบมาอ่าน โอ๊ย เข้าใจมากๆ สนุก คือมันทำให้ outline ประเด็น ไหลไปต่อได้แบบสัมพันธ์กันทั้งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกัน นำพาเราไปให้เข้าใจอะไรกระจ่าง มันทำให้เชื่อเรื่องการปะทะกันของพลังงาน ฮูกเป็นตัวเปิดจักระให้เราสื่อสารกับอะไรที่เราเชื่อว่าเป็นพลังงานตกค้างของพ่อที่เขาทิ้งไว้บนโลกนี้และเครื่องเราจูนรับมาได้ ซึ่งก็คืองานที่เขาทำนั่นแหละ 

ในหนังสือ มีถ้อยคำของเฮสเส บอกว่า wisdom ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเหนือจากการตระเตรียมวิญญาณของเราในด้านต่างๆ ให้พร้อมรับทุกห้วงขณะของชีวิต สำหรับพลอย คำว่า wisdom หรือปรีชาญาณ หมายถึงอะไร มันงอกงามขึ้นมาจากความทุกข์ได้ไหม

        เราว่าหมายถึงการมีพลังข้างในที่เอื้อต่อการประมวลผลพลังภายนอกที่มาปะทะได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือทำให้เรารู้วิธีใช้เหตุผลในแต่ละเรื่อง เข้าใจตรรกะ สัจจะอะไรก็ตามมากพอขนาดก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ที่มันชักนำให้เราตอบหรือสยบปัญหาได้ นำไปสู่ความกระจ่างในอะไรบางอย่าง แน่นอนว่าย่อมเกิดการพัฒนาด้านอารมณ์ ความรู้สึก หลอมรวมสิ่งที่จำเป็นต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แปลว่าเกิดการเคลื่อนไหวภายในก่อน

 

พลอย จริยะเวช

พลอยบอกว่า การเขียนหนังสือเล่มนี้เหมือนการค่อยๆ ว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำในยามค่ำคืนมืดมิด หลังจมดิ่งอยู่ก้นบึงมาเป็นเวลานาน สำหรับพลอย ความทุกข์ของการจมดิ่งอยู่ใต้น้ำ ค่อยๆ ทำให้ว่ายขึ้นมาสู่ผิวน้ำ และผลิบานเกิดความสุขขึ้นมาได้อย่างไร และความสุขที่เกิดขึ้นจากความทุกข์ แตกต่างจากความสุขที่คนทั่วไปเข้าใจอย่างไร

         จริงๆ เราไม่ได้แก้ไขอารมณ์เราให้มันเป็นสุข แต่เราพบวิธีสกัดการเจริญเติบโตของทุกข์หรือสิ่งกัดกร่อนจิต อารมณ์ ความรู้สึก อย่างที่บอกคือเราตระหนกที่จู่ๆ ก็ไม่รู้สึกรู้สากับอะไรที่เราเคยคิดว่าชุบชูใจ หรือที่เคยเรียกว่ามีความสุข เพราะเรามีทุกข์เข้ามาสะเทือนสภาวะ ‘อยู่ดี มีสุข’ well-being  การจัดการสกัดความทุกข์ไม่ให้มันเติบโตได้ก็แปลว่าเรามีสกิลเพิ่มคือกรองกุมปัญญาได้ในทางใหม่ๆ มันก็น่าปีติ อาจเป็นความสุขรูปแบบใหม่ที่เราดึงตัวเองกลับมาสู่สภาวะเกือบปกติได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนตัวตนของพลอย ก็คือยามเช้า พลอยสนใจอาหารเช้า สนใจการ ‘ตื่น’ ขึ้นรับวันใหม่ แม้แต่ในหนังสือเล่มนี้ บทแรกก็ยังเริ่มต้นด้วย Good Morning สำหรับพลอย ยามเช้าคืออะไร ยามเช้าช่วยเยียวยาเราอย่างไร ทำไมยามเช้าถึงสำคัญต่อชีวิต ยามเช้าสัมพันธ์กับยามอื่นๆ ในชีวิตอย่างไร

        ยามเช้ามันคือการตื่นมาพบโอกาสใหม่ที่จะตั้งต้น แบบเราไม่รู้หรอกว่ายามอื่นๆ ของวันมันจะดีหรือจะห่วย ส่วนใหญ่วันไหนเลวร้ายมากเราจะยิ่งรอพรุ่งนี้เช้า เพราะตามสถิติอีกวันมันจะดีขึ้น แต่ถ้าเมื่อวานดีมากๆ แบบโคตรดี ตื่นเช้ามาก็จะเสียววาบๆ ว่าวันนี้มันจะมีเรื่องไหม อยู่มาจนมิดเซ็นจูฯ ก็จะรู้แล้วล่ะว่ามันก็สลับไปสลับมาแบบเต๋าที่ว่าเป็นกฎธรรมชาติ อะไรถูกดึงไปสุดทางไหนมันก็จะดีดกลับไปอีกทาง

         ส่วนอาหารเช้า นอกจากตอนเขียนหนังสือสุขภาพที่ลองแล้วพบว่ากินแล้วมันดีกับระบบเรา ก็ติดมาสิบปี เรียกว่าเป็นนิสัยส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว มีประโยชน์เสริมมา คือมันกลายเป็นเครื่องเจริญสติเหมือนวาดรูปตอนกลางคืน จริงๆ ไม่ชอบทำอาหารหรอก ทำไม่เก่งด้วย แต่ชอบจัดสำรับ จนคนแซะว่าดัดจริต เขาคงเหนื่อยจะแซะแล้ว เพราะมันไม่เลิกอาหารเช้าซะที คือพบว่าฮัลโหลเบรกฟาสต์มันดีต่องาน Commercial Art ที่เราทำ พวกวาดรูปและนำไปออกแบบผลิตภัณฑ์ คอมโพสิชัน การใช้สี ส่วนหนึ่งมาจากการหยิบจับจัดวางอาหารเช้าที่ฝึกทุกวันมาเป็นสิบปี มันเป็นสกิลที่เกิดจากสภาวะ trance จัดอยู่หมวดกิจกรรมเดียวกับไปทำโยคะ เดินสวนลุม สองอย่างนี้เป็นกิจกรรมภาคเย็น เช้าตื่นมาทำอาหารเช้า อ่านหนังสือ ก่อนนอนวาดรูป นี่ปรับสติทุกชั่วยามของวันเลยนะจะว่าไป

        ส่วนในหนังสือ Good Life เป็นความลึกซึ้งประณีตของบรรณาธิการ คือเราเขียนจบทั้งเล่มพักใหญ่แล้วก็พอใจมาก โล่งอกแบบเก็บกระเป๋าจะไปนอนนิ่งๆ โง่ๆ มองทะเลแล้ว แต่ตลอดเวลาก็บ่นกับโญมาตลอดว่า พอใจมากทุกบท แต่ติดนิดหนึ่งตรงขึ้นต้นด้วยบทแรกที่เราเขียนถึงพลังแห่งจิตใจ มันเป็นบทที่เราอ่อนแอสุด ขวัญหนีแบบกู่ไม่กลับ พอก่อนจะออกไปเที่ยวทะเล โญก็มอบโชคบอกว่า พลอย ฉันว่าเธอควรเขียนเพิ่มอีกบทนะ เหมือนเป็น afterword หันกลับมามองตัวเองทั้งหมด เธอจบสวยแล้ว แต่ถ้าเขียนอีกหน่อยจะสวยขึ้นไปอีก นี่ก็แทบกรี๊ด คืองงมาก เขียนจนหมดตัวหมดใจไปแล้ว ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรอีก พอตั้งสติเขียนได้ ก็รู้ว่าถูกหลอก บก. เขาชวนให้เรามองย้อนทวน ที่หลอกอีกชั้นคือเขาไม่ได้เอาไว้ท้ายเล่ม แต่เอามาไว้ต้นเล่มเลย แล้วตั้งชื่อว่า Good Morning เราคิดว่าโญคิดว่ามันคือการตื่นเช้าที่หมายถึงการตื่นรู้ และค่อย flash back เขียนว่าหนึ่งปีก่อนหน้า…

พลอยเขียนไว้ว่า – พ่อเชื่อว่า เมื่อคนเราอายุได้ 50 ปี คนเราก็จะมีหน้าตาอย่างที่สมควรจะเป็นเช่นนั้น (ซึ่งเป็นประโยคที่มาจาก จอร์จ ออร์เวล) เพราะเราได้ผ่านสองช่วงวัยสำคัญมาแล้ว สำหรับพลอย คำว่าใบหน้าอย่างที่สมควรจะเป็นสำหรับตัวเอง จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

        จริงๆ พ่อเขียนไว้ว่าใบหน้ามันไม่สำคัญเท่าแววตา อย่างคนไปทำหน้าทำศัลยกรรมมา ใบหน้าอาจเหมือนกันกับคนอื่นที่อยากเหมือนได้ แต่แววตามันไม่ได้ ความมั่นใจ ความพอใจ ความปรารถนาดีร้าย สุขเศร้าเหงารัก มันดูได้จากแววตา ขณะนี้เราว่าแววตาเรายังไม่ใช่อย่างที่สมควรจะเป็น คือรู้ว่ายังเศร้าอยู่ เขียน Good Life ดีขึ้นมากแต่ยังไม่เหมือนเดิม อยากมีใบหน้าและแววตาที่กำจัดทุกข์ได้หมดจดกว่านี้ ก็ไม่รีบเร่ง ร้องไห้ไปได้เรื่อยๆ เข้าใจคนที่ใส่แว่นดำตอนกลางคืนหรือแว่นดำอยู่ในอาคารแล้ว ยังต้องพึ่งแว่นดำมาก ความหมองยังไม่หมด

ตอนหนึ่งในหนังสือ พลอยอุทิศให้กับการอาบป่าหรืออาบสวน ทำไมการอาบป่าหรืออาบสวน หรือการเข้าถึงธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนยุคใหม่ ธรรมชาติช่วยเยียวยาอะไรให้เราได้บ้าง

        ธรรมชาติมีมาก่อนมนุษย์ ควรและเคยมีพลังอำนาจเหนือเรา มนุษย์เคยอ่อนน้อมอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนสมัยดึกดำบรรพ์ ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแบบไม่ทำลายสภาวะการดำรงอยู่นั้น ยุคก่อนก็เป็นไปได้เพราะประชากรยังน้อย ต่อมาคนแยะขึ้น มีการผลิตสิ่งที่ทั้งขัดแย้งรบกวนธรรมชาติ มหึมาเกินขนาดมนุษย์ มีการเปลี่ยนรูปธรรมชาติ พยายามเอาชนะธรรมชาติ ก่อให้เกิดการเสียสมดุลซึ่งในที่สุดก็กลับมากระทบโลกอย่างที่เห็นผ่านปัญหาสภาวะแวดล้อมต่างๆ คนยุคนี้ก็เลยมีหน้าที่ต้องลดระดับการครอบงำทำลายธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็รู้แล้วว่าต้องพาตัวเข้าไปพึ่งพิงให้ธรรมชาติเยียวยา

        ด้วยความที่ Good Life ออกแนวพลังงานนิยมตั้งแต่บทแรก เราเริ่มเข้าใจเรื่องความสำคัญของการหายใจ ซึ่งดีและได้ผลสุดก็คือการหายใจสูดรับพลังจากธรรมชาติ เมื่อพูดถึงการหายใจก็ต้องมีเรื่องกลิ่น ในป่า ต้นไม้ คุณภาพอากาศกลิ่นธรรมชาติ กลิ่นดิน กลิ่นน้ำมันในพืช มันมีความสะอ้าน ดีต่อสุขภาพใจและกายของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่อยู่ในห้องซึ่งต้องพึ่งพาเครื่องกรองฟอกอากาศกำจัดฝุ่น PM 2.5 เปิดแอร์แบบอากาศไม่ไหลเวียน ความโปร่งโล่งที่แท้ทางการหายใจ การสูดรับพลัง ไม่ว่าออกซิเจนหรืออะไรมันก็อยู่ในป่าในสวนที่ที่มีต้นไม้เยอะๆ การได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าครบ การเดินในป่าในสวนช่วยนำจังหวะในร่างกายให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ก็จะเริ่มสดชื่น ฟื้นฟู 

พลอยพูดถึงความทรงจำและวัตถุแห่งความทรงจำเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างมาก คิดว่าความทรงจำกับการมีชีวิตที่ดีนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร ความทรงจำในอดีต เป็นตัวกำหนดชีวิตในปัจจุบันและอนาคตของเรามากน้อยแค่ไหน

         ตอนเขียนหนังสือ Good Life ก็ได้อ่านอะไรแยะมาก อ่านไปนึกว่าไม่ได้ใช้ก็แยะ แต่ถ้าไม่อ่านก็ไม่เข้าใจเรื่องที่อยากเข้าใจ เลยอ่านเจอว่าวัตถุคือสสาร (Matter) ที่มีรูปในทางสังคม คนเราย่อมผูกพันกับสสารที่มีรูป ไม่ใช่เนื้อสสาร การที่สสารประกอบร่างเป็นวัตถุมันก็พัวพันกับมนุษย์ ถ้าย้อนกลับไปดูแน่นอนว่าวัตถุเป็นสิ่งสำคัญสร้างความสัมพันธ์ก่อร่างสังคมด้วยซ้ำ คนเราเกิดมาต้องกินอาหาร มีเครื่องนุ่งห่มปัจจัย 4 วัตถุก็เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของมนุษย์ แน่นอนว่ารวมถึงความทรงจำ นำไปสู่ขนบ วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ มันก็ทำหน้าที่ใหญ่กว่าวัตถุแห่งความทรงจำที่เราเขียนถึงซึ่งมันสะท้อนความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เป็นสิ่งจับต้องได้ที่เชื่อมไทม์ไลน์ห้วงขณะชีวิตคน ตรึงตราเรา 

        ความทรงจำในอดีต ก็คือห้วงขณะที่มาประกอบกันร้อยเป็นสายให้เห็นแต่ละช่วงชีวิต สำหรับเรา มันก็ไม่ถึงกับกำหนดชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้แบบเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ถ้าเราร้อยมันได้ให้เห็นภาพใหญ่ประมาณหนึ่ง

เมื่อตัวตนมี จึงมีความตรึงตรา อะไรที่ตรึงใจมันก็จะมีผลเป็นส่วนในการประกอบชีวิตในอนาคต ความทรงจำที่สะท้อนตัวตนในอดีตได้ชัด มันก็ฉายไปถึงปัจจุบันกับอนาคตได้

ถ้าชีวิตแบ่งออกเป็นช่วงๆ ช่วงละ 25 ปี พลอยเคยนึกภาพตัวเองในอีก 25 ปีข้างหน้าไว้ไหม ว่าจะเป็นอย่างไร คิดว่าในตอนนั้น นกฮูกจะยังอยู่กับพลอยหรือเปล่า และเป็นไปได้ไหม ที่พลอยจะเติบโตจนเป็นนกฮูกที่ให้คำแนะนำกับคนอื่นๆ ต่อไป

         นกฮูกนี่ตามเรื่องส่งบินกลับเข้าป่าไปแล้ว ณ ขณะนี้บอกว่ายังไม่ต้องบินมาเยี่ยมกันตอนเช้าอีก แต่เชื่อว่าอีก 25 ปีข้างหน้า จะนัดพบกันแน่นอน เพราะจังหวะเวลามันใช่และได้ เนื้อชีวิตเราก็หนาขึ้นไปอีก มีเรื่องให้พูดคุย ทบทวน โดยส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนมีฮูกประจำตัวที่เฝ้าดูเราทุกคนอยู่ แล้วแต่ว่าเราจะเปิดจิตสนทนากันช่วงไหน

        จริงๆ ก่อนย่างเข้าวัยมิดเซ็นจูฯ ก็เริ่มมีน้องๆ รุ่นที่เด็กกว่าเรามาแล้ว พี่พลอยยยยย! แล้วถาม ก็พอแนะนำให้ได้บ้าง ทำให้รู้ตัวว่าต้องเริ่มสะสมความรู้ที่จะพัฒนาเป็นปัญญาขึ้นไปอีก เผื่อจะเป็นฮูกฝึกหัดได้บ้าง

สำหรับพลอย ถ้าให้นิยามคำว่า ‘ความสุข’ สั้นๆ พลอยจะนิยามคำคำนี้ว่าอย่างไร

        เข้าใจทุกข์ พอใจข้างใน สามารถเกิดห้วงขณะที่จิตเกิดความร่าเริง ชื่นบาน

 

พลอย จริยะเวช

ว่าด้วยนกฮูก

1. ทำไมนกฮูกในหนังสือต้องมาในตอนเช้า

        พลอยว่า นกฮูกที่บินมาตอนเช้าคือการฝืนธรรมชาติ เหนือจริง ภิญโญเป็นคนสังเกตว่านกฮูกที่ไหนมาตอนเช้า อาจจะเหมือนกับการข้ามไปอีกมิติ ข้ามรัตติกาลอันมืดมิดเพื่อมาในตอนเช้าก็ได้

2. ทำไมนกฮูกที่วาด ถึงมีใบหน้าและบุคลิกที่แตกต่างกัน

        อย่างที่พลอยเขียนว่า บางคืนนกฮูกอาจจะเป็นพ่อ บางคืนก็อาจจะเป็นสมุนของพ่อ แต่ทุกตัวจะมีความกวนแบบพ่อ อาจเพราะวันนี้มาไม่ได้ก็เลยฝากมาหน่อย (หัวเราะ) เลยไม่เหมือนกัน

3. อยากให้เล่าถึงตอนวาดนกฮูก

        เราจะวาดตอนกลางคืน เพื่อให้มาตอนเช้า เวลาที่ฝันถึงพ่อ จะวาดทุกครั้ง 19 ฝันก็จะมีทั้ง 19 นกฮูก แต่พอจบเล่มนี้แล้วก็ไม่มาอีกเลย

ว่าด้วยหนังสือ

        What is the Good Life? เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ พลอย จริยะเวช ที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นงานเขียนที่ลึกซึ้ง เล่าถึงความทุกข์ของการสูญเสียผู้เป็นที่รัก และการตั้งคำถามที่เกิดจากการสูญเสียนั้นว่า – ชีวิตที่ดีคืออะไร

         จัดพิมพ์อย่างประณีตโดยสำนักพิมพ์ openbooks โดยมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นบรรณาธิการ

ว่าด้วยการ ‘อาบสวน’

        “พลอยอาบสวนที่สวนลุมพินีมากที่สุด เพราะใกล้บ้าน จะมีบริเวณรูปปั้นผู้หญิงอ้วน ถ้าเดินตรงตัดเข้าไป เราจะรู้สึกว่าใช่ เขาบอกว่าต้องใช้เวลาเดินอยู่พักหนึ่ง และมี digital detox สักหน่อย แต่การอาบสวนที่ดีมากอีกแห่งคืออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่นั่นมีมอส ต้นไม้ หลังๆ เวลาไปเที่ยวเมืองไหนก็จะตามหาสวน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นอาบป่าเหมือนกันนะ”