“ผมมีคติอยู่อย่างหนึ่งว่า ผมเชื่อว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่มนุษย์ทำไม่ได้ ยกเว้นก็แต่จะไม่ทำเอง”
นี่เป็นหลักคิดของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปัจจุบัน กับการเป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 6 ซึ่งเจ้าตัวยังเน้นย้ำอีกว่า เขาคือนักปฏิบัติ ที่เน้นการลงมือทำ มากกว่าคำพูด
“พูดแล้วไม่ลงมือทำ นโยบายมากมายก็จะอยู่แค่ในกระดาษเท่านั้น”
ด้วยสไตล์การทำงานที่เน้นทำ มากกว่าเน้นพูด จึงทำให้ที่ผ่านมากว่า 5 ปีในการทำหน้าที่ ‘พ่อเมือง กทม.’ เขาได้สร้างสรรค์และแก้ไข ในเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ที่ว่ามากมาย สุดท้ายก็ยังมีภารกิจให้ ‘ต้องทำต่อ’ จึงเป็นที่มาของการขอโอกาส ‘ไปต่อ’ กับบทบาทความเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครอีกสมัย
“ถ้าเลือกผม ไม่ต้องนับหนึ่ง เหมือนบ้านที่ปลูกเอาไว้แล้ว มีชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ที่เหลือคือเข้าไปตกแต่ง และสานต่อให้บ้านเป็นบ้านที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น”
อัศวินเปรียบเปรยอย่างนั้น ซึ่งหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เขาจะได้รับโอกาสเข้าไปจัดการ ‘บ้านหลังนี้’ ต่ออีกหรือไม่ อีกไม่นานคงได้ทราบกัน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ชวนอ่านการสนทนาระหว่างเราและอดีตผู้ว่าฯ กทม. ด้วย 10 คำถามที่พอจะสะท้อนทั้งตัวตน ผลงาน ตลอดจนความคิดอ่าน ซึ่งอาจช่วยในการพิจารณาได้ว่า เขาเหมาะสมที่จะ ‘ไปต่อ’ หรือไม่

1. สิ่งที่ได้ลงมือทำในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเปรียบเป็นของสักอย่างหนึ่ง คุณคิดว่ามันคืออะไร และทำไปได้แค่ไหนแล้ว
ผมเปรียบเป็นบ้านแล้วกัน เป็นบ้านสองชั้น ตอนนี้ขึ้นชั้นหนึ่งเรียบร้อย ส่วนชั้นสองมีพื้นแล้ว เดี๋ยวตีฝา มุงหลังคา ที่เหลือคือตกแต่งให้น่าอยู่ ซึ่งถามว่าทำไมถึงต้องเลือกผมให้ไปต่อ เพราะผมไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ เหมือนการปลูกบ้าน ไม่ใช่ว่าจะปลูกได้เลยทันใจ มันต้องอาศัยเวลา ไหนจะต้องลงเสาเข็ม ไหนจะต้องเทตอม่อ และอื่นๆ อีกมากมายสารพัด แต่โชคดีที่ผมทำมาแล้ว บ้านนี้มีชั้นหนึ่ง กำลังขึ้นชั้นสอง ดังนั้น ถ้าเลือกผม ไม่ต้องเริ่มปลูกบ้านใหม่ ไปต่อได้เลย ไม่ต้องนับหนึ่ง ไปเริ่มนับที่หก เจ็ด แปด เก้า สิบเลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผมอยากให้บ้านนี้เป็นต่อไป ผมเน้นอยู่ 3 อย่าง คือหนึ่ง คนในบ้านมีความปลอดภัยในชีวิต สอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ดีกว่าในปัจจุบัน และที่สำคัญ ข้อสาม คือบ้านนี้ต้องมีความสงบสุข ผมขอแค่สามอย่างนี้ ที่ต้องทำให้ได้ ห้ามขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น มีความปลอดภัย แต่ไม่มีความสงบสุข ยังมีการตีรันฟันแทง มีการฆ่าแกงกัน มันก็ไม่มีปะรโยชน์
2. เมื่อสมัยที่คุณยังเป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยมีสโลแกน เช่น NOW ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที พอจะหยิบยกเหตุการณ์ไหนที่สะท้อนสโลแกนเหล่านี้ได้บ้าง
สมัยที่ผมมาเป็นผู้ว่าฯ ใหม่ๆ มีการก่อสร้างอุโมงค์แยกมไหสวรรย์ ทำมาหลายปีไม่เสร็จสักที จนชาวบ้านบ่นกันหนัก ถึงขนาดมาพูดกับผม ตกลงนี่มันอุโมงค์มไหสวรรย์ หรืออุโมงค์มไหนรก เพราะสร้างนานมาก แล้วกีดขวางการจราจร ผู้คนสัญจรไปมากันลำบาก พอผมเข้าไปดูในรายละเอียด ปัญหามาจากการประสานงานกับผู้รับเหมา มันจึงทำให้มีความเยิ่นเย้อในการทำงาน และใช้เวลาสร้างนานมาก สุดท้ายผมเข้าไปจัดการ ข่วยเร่ง ช่วยประสาน ไม่นานก็เสร็จ ทุกวันนี้เปิดใช้ได้แล้ว
หรือที่ทำการกรุงเทพมหานคร ทุกคนรู้ว่า กทม.1 อยู่ที่เสาชิงช้า ส่วน กทม.2 อยู่ที่ย่านดินแดง เป็นอาคารสูง 37 ชั้น เชื่อไหมว่าตรงนั้นสร้างมา 28 ปี ยังไม่เสร็จเสียที พอผมมาเป็นว่าผู้ว่าฯ ช่วงปลายปี 2559 วันแรกที่เข้าไปในศาลาว่าการ กทม. ที่เสาชิงช้า มีคนทำงานอยู่ราวๆ หกพันกว่าคน ซึ่งแออัดมาก ผมถามว่า ที่ทำการ กทม.2 เมื่อไหร่จะเสร็จ เขาบอกอีกปีหนึ่ง ผมบอกไม่ได้ สร้างมา 28 ปีแล้ว ทำไมไม่เสร็จสักที สุดท้ายพอเช็กกันไปมา มันยังเหลือที่ไม่เสร็จอีกไม่กี่ชั้น ผมตัดสินใจไปนิมนต์พระสังฆราชมาทำบุญเปิดอาคารให้เลย ตอนนั้นเปิดไปได้ 20 ชั้น ซึ่งบรรเทาความแออัดของคนทำงานไปได้เยอะมาก ไม่อย่างนั้นไม่รู้ต้องรอไปอีกกี่ปี ทำมาตั้ง 28 ปี ยังไม่พออีกเหรอ
ผมแก้ไขปัญหามาเยอะตลอด 5 ปี อย่างคลองหลอด เมื่อก่อนขายของกันบนคลอง มีคนอาศัยอยู่พันสองร้อยกว่าครอบครัว เราต้องการพัฒนาภูมิทัศน์ให้สะอาดสะอ้านมากขึ้น เริ่มต้นจึงค่อยๆ ไปเจรจากับเขา พอได้รับความร่วมมือ เดี๋ยวนี้มีความสวยงามมากขึ้น ตั้งแต่คลองหลอดบริเวณหลังกระทรวงกลาโหม ไปจนถึงกระทรวงมหาดไทย เลยผ่านออกไปยังปากคลองตลาด ไปจนถึงโรงเรียนราชินี ทุกวันนี้น้ำสะอาด ใสกิ๊กเลย
หรือย่านคลองผดุงกรุงเกษม ผมก็เอาเรือไฟฟ้ามาวิ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย จนมาแห่งที่สองที่บริเวณคลองแสนแสบ หรือแม้แต่คลองโอ่งอ่าง ได้รับการชื่นชมในระดับโลก คือไม่ใช่แค่อัตลักษณ์ความสวยงาม แต่ตรงนั้นถือเป็นโบราณสถาน เมื่อก่อนเรียกย่านสะพานเหล็ก มีคนค้าขาย เด็กผู้ชายชอบไปซื้อเกม ซื้อของเล่น แต่ปัจจุบันพอเราปรับปรุงภูมิทัศน์ ก็มีความสวยงามขึ้น ที่สำคัญ มันช่วยคืนความเป็นธรรมชาติไปด้วย
3. ทำไมยุคผู้ว่าฯ อัศวิน ถึงโดดเด่นเรื่องคลอง คุณสนใจอะไรเรื่องนี้เป็นพิเศษ
คนไทยมีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำมาตั้งแต่โบราณ กรุงเทพมีคลองมากถึง 1,682 คลอง แต่ทุกวันนี้บางคลองตื้นเขิน บางแห่งมีเศษขยะลงไปทับถมหนาเป็นเมตร เวลาน้ำท่วมทุกคนก็บ่น แต่ไม่เคยช่วยกันอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง ตอนผมเป็นผู้ว่าฯ จึงพยายามดำเนินการขุดลอกคูคลอง เราทำไปได้ 50-60 คลอง ตั้งใจว่าจะพยายามลอกคลองให้ได้ทั่วกรุง แต่ต้องใช้เวลา ในคราวเดียวกัน เราไปทำความเข้าใจกับประชาชน จนเดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยทิ้งชยะลงในคลอง ถามว่ายังมีไหม มี แต่น้อยลง เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่มีจำนวนเยอะมาก
4. จุดแข็งอะไรที่คุณเชื่อว่า สามารถที่จะทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ดี และพัฒนาให้ กทม. ไปต่อได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ผมมีจุดแข็งอยู่ 3 ประการ คือหนึ่ง ผมเป็นนักปฏิบัติ ที่ผ่านมานโยบาย กทม. มีคนคิดไว้เยอะ ทั้งคิด ทั้งเขียน เก่งๆ กันทั้งนั้น แต่ปัญหาคือมีแต่คนคิด แต่ไม่มีคนเอาไปปฏิบัติ พอไม่มีคนทำ นโยบายเหล่านั้นก็เป็นแค่เพียงกระดาษ ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่มนุษย์ทำไม่ได้ ยกเว้นแค่จะไม่ทำเองมากกว่า ผมจึงเน้นที่การลงมือทำ
ส่วนจุดแข็งข้อที่สอง ผมเป็นนักประสาน ยกตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ เรื่องการนำสายไฟ-สายสื่อสารลงดิน ถามว่าศักยภาพของกรุงเทพมหานครทำได้ไหมกับเรื่องนี้ เราทำได้ แต่เราไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงมือทำ ผมจึงต้องไปประสาน ผมเริ่มจากการไปคุยกับผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง เรามาช่วยกันคิด ช่วยกันเอาสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงดินกันดีไหม
พอได้พูดคุยกันจึงทำให้รู้อีกว่าที่เห็นเป็นสายม้วนๆ กลมๆ อยู่บนเสาไฟนั่นน่ะ มันมีประมาณ 20 หน่วยงานที่เป็นเจ้าของสายเหล่านั้น บางสายทำสัญญาเช่ากับการไฟฟ้าฯ บางสายแอบมาติดตั้งเอง เป็นสายไฟเถื่อน ซึ่งเรื่องพวกนี้เราไปตัด ไปเก็บเลยไม่ได้ เพราะเราอาจจะโดนฟ้องเอาได้ ดังนั้น ผมก็พยายามประสานกับเจ้าของสายไฟทั้งหลาย เช่น กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้มาช่วยกันนำสายสื่อสารบางส่วนลงดิน
จนปัจจุบันเราเก็บสายเหล่านั้นไปได้เยอะพอสมควร เทียบเป็นความยาวราวๆ 250 กิโลเมตร ประมาณกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งถ้าผมได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ ผมจะเอาสายไฟที่เหลือทั้งหมดลงดินให้หมด เคยคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว คำนวนกันคร่าวๆ ว่า ไม่เกิน 20 ปีน่าจะเสร็จ แต่ผมขอ 2 ปี ต้องเสร็จ
มาถึงจุดแข็งข้อที่สาม ผมเป็นคนเปิดกว้าง รับความคิดเห็นของทุกคน และคนทุกชนชั้น เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งดีๆ ทั้งนั้นที่เขาเสนอมา ผมอาจไม่ใช่นักคิดที่เก่งกาจ แต่เราให้คนที่คิดเก่งๆ มาช่วย แล้วเราเปิดรับความคิดเหล่านั้น เพื่อเอามาคัดสรรอีกที ทีมงานผมในชุดนี้มีคนรุ่นใหม่มากมาย อย่าคิดว่ามีแต่คนแก่ เราผสมผสานเอาความคิดของคนหลายรุ่น ผมยืนยันเลยนะว่า ถ้าผมได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง ผมจะเอาคนรุ่นใหม่ คนที่ไฟแรงๆ มาทำงานด้วย แต่ไม่ได้มาช่วยผม ไม่ต้องช่วยอัศวิน แต่ให้มาช่วยกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ คือบ้านของคุณ มาช่วยกันทำให้บ้านหลังนี้น่าอยู่ขึ้น
5. ในมุมกลับกัน ถ้าให้วิเคราะห์ คุณคิดว่าจุดอ่อนของคุณคืออะไร ที่ต้องพยายามแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
จุดอ่อนของผมคือผมไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์สิ่งที่ทำลงไป ผมเป็นคนประชาสัมพันธ์น้อย ผมถูกตำหนิติติงอยู่เรื่อยว่าไม่มีปากหรือไง ทำไมไม่พูด ผมก็ไม่รู้จะพูดทำไม คือชาวบ้านเขามองด้วยตาก็เห็นว่า อะไรที่เคยเป็นปัญหา เช่น คูคลอง ถนนหนทาง เมื่อก่อนมันเคยสกปรก รกรุงรัง เดี๋ยวนี้มันก็ดีขึ้น
ถ้ามีคนมาถามว่า 5 ปีที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง ผมมักจะพูดว่าให้ลองขับรถรอบกรุงเทพฯ ดู แล้วลองพิจารณา เมื่อก่อนตรงนั้นเป็นอะไร แล้วเดี๋ยวนี้มันเป็นอะไร มันเปลี่ยนไปแค่ไหน และเอาเข้าจริง ผมมีเวลาทำงานประมาณ 2 ปี ผมเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ปลายปี 2559 ซึ่งช่วงปลายปีเป็นช่วงไว้อาลัยการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งทาง กทม. ต้องดูแลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาร่วมงาน ผมอยู่ตรงนั้นปีหนึ่งเต็มๆ และล่าสุดมาเจอโควิด-19 อีกสองปี สรุปผมได้ทำงานเต็มที่แค่ 2 ปี คือปี 2561 กับปี 2562 แต่ก็ถือว่าทำมาได้เยอะ ทำมาได้ครึ่งหนึ่งจากที่คาดการณ์เอาไว้ ด้วยความที่ผมเป็นคนใจร้อน พอรู้ปัญหาปั๊บ ผมลงไปชนกับปัญหาเลย ผมจะไม่รอ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยไปดู ไม่มี ผมไปเลย ดูให้เห็น แล้วแก้ไขทันที
แต่ทีนี้มันเหมือนทำมากกว่าพูด เลยกลายเป็นจุดอ่อนว่า เราขาดการประชาสัมพันธ์ แต่ผมก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำลงไป เพราะเรามีเจตนาที่ดี การทำอะไรดีๆ อย่างน้อยคนก็ต้องเห็น
6. กรุงเทพมหานครมีทั้งสิ้น 50 เขต คุณคิดว่าถ้าจะใส่อะไรลงไปใน 50 เขต แล้วจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่านี้
การกระจายอำนาจ และรับฟังเสียงจากประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เมื่อก่อนการจะตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อยู่ที่อำนาจรัฐทั้งหมด แล้วสั่งการลงมาจากบนลงล่าง แต่ผมคิดสวนทาง ผมอยากให้คนข้างล่างส่งเสียงขึ้นมาข้างบนมากกว่า คุณอยากได้อะไร เสนอขึ้นมา เพราะคนที่รู้ปัญหาดีที่สุดคือคนในชุมชน
ถามว่าคนข้างบนรู้ปัญหาคนข้างล่างไหม รู้ แต่รู้แบบภาพกว้างมาก แต่คนที่รู้ลึก รู้ละเอียดจริงๆ คือคนที่อยู่ข้างล่าง หรือคนในชุมชน แล้วกรุงเทพฯ มี 50 เขต มีชุมชนอยู่สองพันกว่าชุมชน ทุกคนย่อมรู้ดีว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร เพราะฉะนั้น คุณอยากได้อะไร อยากแก้ไขอะไร คุณย่อมจะรู้ดีที่สุด
ก่อนหน้านี้ผมเริ่มไปแล้ว คือการทำชุมชนให้เข้มแข็ง ผมให้ประธานชุมชน คณะกรรมการชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด สมมติชุมชนนี้อยากได้ท่อน้ำ คุณก็ไปคิดมา แล้วมานำเสนอ ชุมชนนี้อยากได้ศูนย์เด็กเล็กเพิ่ม หรือชุมชนนั้นอยากได้ถนน ก็นำมาเสนอกัน โดยแจ้งที่เขตให้ช่วยประสาน เราก็มีหน้าที่พิจารณา สั่งการ เพื่อให้สิ่งที่เขาต้องการได้ใช้ประโยชน์จริงๆ
หรืออย่างปัญหาขายของบนทางเท้า บางทีเทศกิจไม่อนุญาต ส่วนคนเดินเท้าก็ลำบาก ผมให้คุยกันเอง มีคณะกรรมการชุมชน และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มาตกลงกัน ใครต้องการแบบไหน ให้จัดสรรกันอย่างเป็นธรรม หาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน สุดท้ายเราเป็นเพียงแต่กรรมการตัดสิน ซึ่งการทำแบบนี้ ทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้ แล้วชุมชนจะมีความเข้มแข็ง เพราะทุกคนมีส่วนร่วม แล้วสังคมมันก็จะมีความสุขมากขึ้น
7. ถ้าจะมีสักคำหนึ่ง ที่คุณจะใช้ในการบริหารงาน หากว่าจะได้กลับไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ อีกครั้ง คุณคิดว่าคำคำนั้นคือคำว่าอะไร
‘มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน’ ผมชอบคำนี้นะ ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อก่อนเวลาเดินทางมาจากฝั่งธนฯ ลงจากสะพานพุทธ ถ้าเป็นช่วงเวลาสักหนึ่งทุ่ม เราแทบจะเลี้ยวซ้ายไปไม่ได้เลย เพราะติดตลาดดอกไม้ตรงปากคลองตลาด ถนนแทบจะไม่มีเลนรถให้วิ่ง แต่เดี๋ยวนี้รถวิ่งสะดวกมาก เพราะอะไร มันเกิดจากการเจรจา เรามาตกลงกัน ถนนความกว้าง 5 เมตร ด้านริมผมแบ่งให้คนค้าขาย 2 เมตร อีก 1 เมตรไว้ให้ผู้พิการสัญจรไปมาได้ ส่วนอีก 2 เมตรที่เหลือไว้ให้ประชาชนคนเดินเท้า นี่คือการแบ่งกันทำมาหากิน มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน
ผมถึงบอกว่าไม่มีอะไรที่เราทำไมได้ เว้นแต่จะไม่ทำ อย่างปัญหาน้ำท่วมบริเวณชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านมาเราทำคันกั้นน้ำยกขึ้นมา 50 เซนติเมตร เป็นความยาวประมาณ 79.5 กิโลเมตร แต่มีอยู่ 11 จุดที่เป็นจุดฟันหลอ ซึ่งเกิดจากบ้านเรือนบริเวณดังกล่าวไม่ยอมให้ทำพนังกั้นน้ำ เช่น ที่ท่าเรือข้ามฟากแถวๆ ทรงวาด มีตึกแถว 2-3 ห้อง เขาไม่ยอมให้ทำ ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งน้ำท่วมถึงเอว เราก็ไปคุยกับเขา คือถ้าไม่ทำ ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็จะเดือดร้อนเหมือนกัน พอเจรจากันดีๆ เขาก็เข้าใจ
หรืออีกแห่งที่ใต้สะพานซังฮี้ มีร้านอาหารแห่งหนึ่งไม่ยอมให้ทำพนังกั้น เพราะเขาต้องใช้พื้นที่เพื่อขายอาหาร แต่วันหนึ่งผมเข้าไปเจรจา ช่วยผมทีเถอะ คุณยังค้าขายได้เหมือนเดิม แต่ขอให้ทำพนังกั้นน้ำ เพราะทำแล้วมันจะช่วยลดความเดือดร้อนของส่วนรวมไปได้มาก จนสุดท้ายเขาก็ยอมในที่สุด
ปัจจุบันยังเหลืออีก 9 จุดที่ยังเป็นจุดฟันหลอ น้ำยังเข้ามาได้ ส่วนใหญ่เป็นแนวเขตชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมไม่เคยคิดที่จะไปฟ้องร้อง คือเราไม่เคยใช้หลักนิติศาสตร์ แต่เราใช้หลักรัฐศาสตร์ คือการเจรจา ค่อยๆ คุยกัน มันอาจจะช้าหน่อย ต้องใช้เวลา แต่เราก็ต้องเข้าใจ เขาก็คือคนคนหนึ่ง คนที่มีฐานะยากจน เขาไม่รู้จะทำยังไง ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือ เราต้องจัดการหาที่ให้เขาย้ายออกไป เรื่องแบบนี้ เราต้องใจเขาใจเรา มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ก็ต้องร่วมต้าน ร่วมกันแก้ไข
8. จากประสบการณ์ 5 ปี คุณคิดว่าคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ต้องเป็นนักปฏิบัติ คือทำจริง อย่างที่ผมบอก ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรในโลกที่มนุษย์ทำไม่ได้ ยกเว้นไม่ได้ทำ แล้วคุณลองสลับกันดู ระหว่างทำไม่ได้ กับไม่ได้ทำ ความหมายมันต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับผม มันต้องทำได้ จะช้าหรือเร็วแค่นั้น การลงมือทำ มันจะทำให้คุณรู้ปัญหา แล้วไม่ต้องไปถามใคร เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว
แต่ในเมื่อลงมือทำแล้วมันยังติดขัดกับปัญหา คนเป็นผู้ว่าฯ ต้องรู้จักประสานให้เป็น อะไรที่ทำไม่ได้ อำนาจมีไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย คุณต้องรู้จักประสานให้หน่วยงานอื่นๆ ช่วยเหลือ และประการสุดท้าย ผู้ว่าฯ ต้องเปิดรับฟังความคิดของคนอื่น อย่ามีอัตตา อย่าตัวกูของกู กูเก่ง กูดีคนเดียว การทำงานที่ใช้หัวเดียว ไม่มีทางดีกว่าหลายหัวอย่างแน่นอน
ทั้งสามสิ่งเหล่านี้ คือคุณสมบัติที่คนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องมี อีกประการที่สำคัญ คือคุณอย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ
9. ‘เมืองน่าอยู่’ ในความหมายของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ต้องเป็นอย่างไร
เมืองน่าอยู่สำหรับผม ไม่จำเป็นต้องสวยหรูอะไรมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือมีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสภาพของเมืองที่สงบสุข เท่านั้นก็น่าอยู่แล้ว
สำหรับคนกรุงเทพฯ ผมว่าเขาต้องการแค่ 3 อย่างนี้เช่นกัน หนึ่ง ขอให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เดินทางไปไหนมีไฟส่องสว่าง ไม่ถูกฉกชิงวิ่งราว มีกล้องซีซีทีวีช่วยตรวจดูความปลอดภัย และสอง ขอให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ท้องไม่หิว ปากได้กิน ป่วยก็ไปหาหมอได้ เดินทางไปไหนสะดวก มีรถเมล์ รถไฟฟ้าใช้ ราคาไม่แพง และสาม ที่สำคัญที่สุดคือ มีความสงบสุข ต่อให้คุณภาพชีวิตดียังไง แต่ถ้าสังคมที่อยู่ไม่สงบ ผู้คนทะเลาะกัน ปิดถนน มีม็อบ ค้าขายลำบาก ชีวิตก็ไม่มีความสุขอยู่ดี
10. สำหรับคนที่ยังลังเล ไม่รู้จะเลือกกาเบอร์ไหนเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขาบ้างเป็นการปิดท้าย
ผมอยากบอกว่าผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ผมเป็นนักการบ้าน ผมพร้อมทำงานต่อ เพื่อประชาชนขาวกรุงเทพฯ และผมมีอิสระชัดเจน ผมไม่มีพรรค แต่ผมมีพวก (ยิ้ม) และพร้อมชนกับทุกพรรค ชนในที่นี้ ไม่ได้ชนแบบทะเลาะ ไม่ใช่ดับเครื่องชน แต่ชนกันทางความคิด ชนกับแนวทางการปฏิบัติ ชนกับนโยบาย
และไม่ว่าคุณจะเลือกใคร นี่เป็นประชาธิปไตยที่งดงาม ประชาธิปไตยคือการแข่งขัน โดยมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้น เขาต้องมีสิทธิ์เลือกว่าอยากได้ใคร ถ้ารักอัศวิน เลือกเบอร์ 6 แต่สำหรับคนที่ยังก้ำกึ่ง ให้ตัดสินใจเลือกเบอร์ 6 ไว้ก่อน ไม่ต้องคิดมาก เพราะผมมีประสบการณ์ ผมเคยทำมาแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบอัศวิน ไม่มีปัญหา แต่ขอให้คุณเลือกคนที่เขาไม่ใช่นักการเมือง ให้เขาเป็นนักการบ้าน เพื่อให้เขามาดูแลคุณ เท่านั้นเอง
เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ