‘เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเริ่มที่การพูดความจริง’ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ศึกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ลั่นระฆังเริ่มต้นกันไปเรียบร้อยแล้ว ปลายทางเส้นชัยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ใครจะได้รับการเลือกจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ อีกไม่นานคงได้รู้กัน

       ในบรรดาผู้เข้าสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ มีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม รองศาสตราจารย์ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้าร่วมช่วงชิงตำแหน่ง ‘พ่อเมือง กทม.’ ด้วยเช่นกัน แถมเขายังเปิดตัวลงสู้ศึกหนนี้มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน พร้อมลงพื้นที่ทำงานร่วมกับภาคประชาชนชาว กทม. มาตลอดเช่นเดียวกัน

       ออกตัวก่อน และชัดเจนแน่วแน่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตอนนี้-นาทีนี้ เขายังรั้งอันดับหนึ่ง ของผลโพลสำรวจความนิยมผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แทบทุกสำนัก พูดแบบภาษาชาวบ้านสักหน่อย งานนี้ชัชชาติเป็น ‘ตัวเต็ง’

       แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียง ไปปรากฏตัวตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมสวมเสื้อยืดตัวเก่งที่สกรีนบนหน้าอกเต็มๆ ว่า ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ 

       ด้วยวลีทองดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำภาพการเป็นนักปฏิบัติ ลงมือทำจริง และพอจะทำให้ชาวกรุงเทพฯ มีความหวังอยู่ไม่น้อย แต่ทั้งหมดทั้งมวล โจทย์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากว่าเขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้จริง คงมีการบ้านให้ลงมือแก้ไข และมีโจทย์ใหญ่ๆ ให้ได้คิดทำอีกเพียบ

       “สิ่งสำคัญของการเป็นผู้ว่าฯ คือต้องพูดความจริงก่อน” ชัชชาติบอกอย่างนั้น ในวันที่เรากับเขามีโอกาสสนทนากัน รวมทั้งยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็นความคาดหวังของคนเมืองกรุง ที่เขารับรู้และสัมผัสมาตลอด 

       อะไรทำได้จริง อะไรทำไม่ได้บ้าง และอะไรที่เขาจะลงมือทำอย่างแน่นอน ทั้งหมดอยู่ในบทสนทนาครั้งนี้ และเป็นบทสนทนาที่อยู่บนโลกแห่งความจริง ชัชชาติการันตีแน่นอน…

ถึงตรงนี้ น่าจะกินเวลา 2 ปีกว่าๆ นับตั้งแต่คุณเปิดตัวว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้คุณยังมีพลังในการลงพื้นที่หาเสียงมาตลอดจนถึงวันนี้

        ผมแค่มีความรู้สึกว่า เราอยากทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นกว่านี้ แค่นั้นเอง มันอาจจะเป็นพลังให้ผมยังคงเดินหน้ามาถึงทุกวันนี้ แล้วเวลาผ่านแป๊บเดียว นี่จะสองปีครึ่งแล้ว ถ้าเป็นเส้นทางสักเส้นหนึ่ง ตอนนี้น่าจะอยู่ที่โค้งสุดท้าย 

        ทุกวันนี้ทีมงานที่เข้ามาช่วยตั้งแต่วันแรกก็ยังอยู่ ทุกคนตั้งใจจริง เหมือนลงเรือลำเดียวกัน ลุยกันไปให้ถึงจุดหมาย แต่ละคนไม่ได้คิดว่าจะได้ตำแหน่งอะไรหรอก เขาอยากมาช่วย มีทั้งคนรุ่นใหม่ คนสูงอายุ ผสมผสานกัน แต่ทั้งหมดมีความต้องการเหมือนกัน คือเขาหวังจะเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดี และเป็นเมืองน่าอยู่ขึ้น

เป็น ‘ตัวเต็ง’ แล้วเกร็งมั้ย

        (หัวเราะ) เรื่องเต็งมันเพราะโพลนะผมว่า แต่โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ไปกังวลเรื่องการแข่งขันมากมายนัก เพราะหน้าที่ของเราคือ นำเสนอนโยบายออกมา ถ้าเกิดคนกรุงเทพฯ เขาเชื่อ และเลือกเราเข้าไปทำงาน เราก็พร้อมลุย แต่ถ้าเขาไม่เลือก เราก็ยังมีภารกิจอย่างอื่นให้ทำอีกตั้งเยอะแยะ

        ตลอดสองปีกว่าที่ผมลงพื้นที่ตามชุมชน มันทำให้เราเห็นปัญหามากมาย ดังนั้น ต่อให้ผมจะไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ ผมก็ยังจะเข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านี้อยู่ดี ผมคงไม่ได้จะเป็นจะตาย ถ้าหากผมไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เพราะที่ผ่านมาช่วงหาเสียง เราไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากมายอะไร ต้นทุนเราไม่สูง ทุนของเรามีแค่เวลา ซึ่งในมุมกลับกัน ผมคิดว่าผมได้กำไรด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาผมได้ความรู้ ได้ความคิดเพิ่มขึ้น มันเกินคุ้มแล้ว เราจึงไม่รู้สึกว่าขาดทุนอะไร ถ้าจะไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ ขึ้นมาจริงๆ

คุณลงพื้นที่มาตลอดสองปีกว่า ถ้าให้สรุปง่ายๆ ว่า เมืองที่คนกรุงเทพฯ อยากได้ จริงๆ มันควรจะต้องเป็นอย่างไร

        ผมว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการอะไรที่ซับซ้อนมากมาย เขาไม่ได้ต้องการเมืองอัจฉริยะที่ต้องมีเทคโนโลยีล้ำสมัยอะไรขนาดนั้น แต่ขอแค่อากาศสะอาด ขยะไม่มี ทางเดินเท้าเดินได้สะดวก และมีการขนส่งสาธารณะดีๆ แค่นี้เอง ที่พูดมาไม่ได้เป็นอะไรที่หรูหราเลย 

        แต่สิ่งเหล่านี้ ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพ มันจะทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น เดินทางไปทำงานสะดวก รวดเร็ว มีเวลากลับมาอยู่กับลูก มีสถานที่พาลูกไปเดินเล่น มีสวนไม่ไกลบ้าน ไม่ต้องใหญ่โต แต่เป็นสวนที่ดีมีคุณภาพ ผมว่านี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากได้ที่สุด

ที่พูดมาเป็นเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ทำไมที่ผ่านมา เรื่องพวกนี้ถึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเสียที

        เขาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง ผมยกตัวอย่างเรื่องขยะ เรื่องน้ำเสีย เรื่องทางเท้า เรื่องเหล่านี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ที่ผ่านมา เรื่องเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ priority หรือเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ในทางกลับกัน เราไปเสียเงินเป็นพันล้านกับโครงการบางโครงการ ทั้งๆ ที่บางเรื่องดูเล็กกว่าปัญหาขยะ น้ำเสีย ฟุตบาธพัง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราฉะนั้น ผมว่าเรื่องการจัด priority เป็นเรื่องสำคัญ ขึ้นอยู่ที่วิสัยทัศน์และการบริหารจัดการ

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักฝากความหวังไว้ที่ผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะต้องเนรมิตสิ่งต่างๆ ให้กับประชาชน หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว คุณคิดว่าจะตอบสนองความคาดหวังเหล่านี้ของผู้คนได้มากน้อยแค่ไหน

        ผมว่าหัวใจสำคัญของเรื่องเหล่านี้คือต้องพูดความจริง ชีวิตเราจะสุขหรือทุกข์ มันขึ้นอยู่กับการปรับความคาดหวังเหล่านี้เอง ความสุขมักจะเกิดต่อเมื่อได้ในสิ่งที่หวัง ส่วนความทุกข์ก็คือได้น้อยกว่าที่หวัง ซึ่งถ้าเกิดเรามีความคาดหวังที่ผิด เราก็จะมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่เป็นนักการเมือง อย่าไปสัญญาอะไรที่ทำไม่ได้ ผมยกตัวอย่างเรื่องรถติด มันไม่ได้แก้ง่ายขนาดนั้น แต่ถามว่าสามารถทำให้คล่องตัวขึ้นได้ไหม ทำได้ นี่คือการปรับความคาดหวังให้อยู่กับความเป็นจริง

แล้วส่วนตัวคุณมีวิธีแก้ปัญหารถติดอย่างไรในกรุงเทพฯ

        ที่ผ่านมา เวลาหาเสียง หรือเล่านโยบายอะไร ผมไม่เคยพูดว่าจะไม่มีรถติด อันนี้ลองสังเกตกันได้ เพราะว่าเรื่องรถติดมันเป็นเรื่องที่รถมากกว่าถนน ซึ่งไม่ได้แก้กันง่ายๆ แต่ผมอยากให้ลองเปลี่ยนจากการแก้ปัญหารถติดให้เป็นเรื่อง mobility หรือทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น คือรถอาจจะติด แต่คนสามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น มีทางเลือก ใช้รถไฟฟ้าได้ไหม มีเลนสำหรับรถเมล์โดยเฉพาะไหม หรือแม้แต่ใช้จักรยาน 

        แต่คำถามต่อมาก็คือ เรามี feeder หรือการขนส่งหน่วยย่อย ที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผมมองว่าวินมอเตอร์ไซค์ คือคำตอบที่เหมาะสมที่สุด เพียงแต่ว่าเราต้องปรับปรุงคุณภาพให้มันดีขึ้น ทั้งเรื่องราคา เรื่องการเรียกใช้บริการ การจัดการระบบต่างๆ ซึ่ง feeder เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้คนสามารถเชื่อมต่อกับการขนส่งหลักได้สะดวกยิ่งขึ้น

        เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เมืองของเรามีลักษณะเป็นเมกะบล็อก คือจะมีบล็อกไปทุกๆ สองกิโลเมตร คุณลองลองสังเกตดูสิ สมมติจากเอกมัยไปอ่อนนุช เรามีซอยย่อยมากมาย พวกนี้เปรียบเป็นเส้นเลือดฝอย ซึ่งการจะทำขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมเส้นเลือดฝอยเหล่านี้ ไม่ได้ทำกันง่ายๆ เหมือนบอกให้รถเมล์ไปวิ่งให้ถึงหน้าบ้านตามตรอกซอกซอย มันทำไม่ได้ง่ายๆ 

        คือเรื่องนี้เราอาจจะต้องยอมรับลักษณะทางกายภาพของเมืองเราก่อน แล้วหาทางแก้ไข ถ้าไม่อย่างนั้นคือต้องไปสร้างเมืองใหม่ ไม่ให้มีบล็อกที่ถี่เหมือนอย่างที่เป็น แล้วทุกถนนต้องไม่มีซอยตัน กรุงเทพฯ คือมหานครแห่งซอยตัน เรามีซอยตันเยอะมาก เราไม่สามารถนำขนส่งมวลชนลงไปวิ่งตามซอกซอยเหล่านั้นได้ เพราะมันจะวิ่งได้ไม่ครบลูป สุดท้ายคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ซอยตันเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้บริการ feeder คือถ้าไม่เดิน ก็อาจขี่จักรยาน หรือใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งอย่างที่บอก เราควรต้องปรับปรุงคุณภาพ feeder เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

        แต่อีกเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนเหมือนกัน คือ mindset หรือวิธีคิดของคน ต่อให้ปรับปรุงขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้นแค่ไหน แต่ mindset คนไม่เปลี่ยน มันก็ไม่มีประโยชน์ เคยมีคนมาคุยกับผม เขาบอกถ้ารถไฟฟ้าเสร็จหมดทุกโครงการ อีกหน่อยเขาก็ขับรถไปทำงานได้แล้ว เพราะรถจะไม่ติด อ้าว คือถ้ารถไม่ติด แต่พอทุกคนขับรถออกมา สุดท้ายรถมันก็ติดอยู่ดี ถูกไหม ผมว่าต้องเปลี่ยน mindset คือต้องหันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น เรื่องบางอย่างมันต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน สมมติแก้อย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างไม่แก้ มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีข่าวใหญ่อุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชน ‘คุณหมอกระต่าย’ (พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล) บนทางม้าลายจนเสียชีวิต ในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คุณมองเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

        ปัญหาของเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ผมแบ่งเป็นสองปัจจัย หนึ่งคือ ลักษณะทางกายภาพที่ไม่ดี และสองคือ เรื่องระเบียบวินัยจราจร สองปัจจัยนี้เป็นส่วนผสมกัน อย่างในมุมทางกายภาพ เช่น ปัญหาทางม้าลายที่ไม่มีสัญญาณไฟให้เห็นชัดเจน หรือหลายแห่งไม่มีไฟสัญญาณด้วยซ้ำ พวกนี้เราต้องแก้ไขให้ดีเสียก่อน อย่าเพิ่งไปโทษแต่คน เพราะต้องยอมรับว่า infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี มันก็มีส่วนสำคัญ

        เรื่องต่อมาคือระเบียบวินัยจราจร ผมเชื่อว่ามันเปลี่ยนกันได้ จากเหตุการณ์อุบัติเหตุครั้งนั้น ผมเห็นพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปพอสมควร มีการหยุดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอาศัยเวลา ต้องมีการรณรงค์กันในระยะยาว แล้วต้องทำอย่างมีแบบแผน ซึ่งที่ผ่านมา เรื่องการรณรงค์ต่างๆ เราชอบทำแบบไฟไหม้ฟาง คือทำเป็นช่วงๆ แล้วสังคมเรามักจะขับเคลื่อนด้วยการด่า กระแสถึงจะเกิด ทั้งๆ ที่เราควรขับเคลื่อนด้วยกลยุทธกันอย่างจริงจัง 

        ผมยกตัวอย่างแบบนี้ เราลองเริ่มต้นรณรงค์ที่คนขับมอเตอร์ไซค์ก่อน ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์มีจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนคัน ลองรณรงค์ให้จอดตรงทางม้าลายให้ได้ก่อน สมมติสัก 100 คัน มีจอดสัก 20 คัน ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีแล้วนะ ยิ่งพอคนเห็นทำมากขึ้นเท่าไหร่ เดี๋ยวก็จะค่อยๆ เริ่มจอดตามกันมากขึ้นเอง 

        เรื่องพวกนี้เหมือนการวิ่งมาราธอน ต้องว่ากันระยะยาว ถ้าทำไปสัก 5 ปีแล้วได้ผล ผมว่าคุ้มแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องคนเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ถ้าเป็นเรื่องทางกายภาพ พวกทาสีตีเส้น แบบนี้ไม่ยาก เพราะฉะนั้น การแก้ไขต้องแก้ทั้งเรื่องกายภาพกับระเบียบวินัย ทำควบคู่กันไป เพราะต่อให้ทางม้าลายดีเลิศยังไง แต่ถ้าคนขับมา 180 กม./ชม. ยังไงก็ชนอยู่ดี เราควรจะทำยังไงให้คนหันมาเคารพวินัยจราจร เริ่มจากการปลูกฝัง ในครอบครัว ในโรงเรียน ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ ต้องค่อยๆ ปรับกันไป แต่ต้องไม่ใช่การบังคับ

        ตอนงานศพหมอกระต่ายผมก็ไปร่วมงานด้วย แต่ไปนั่งอยู่ข้างหลัง คือไม่ได้อยากไปเพื่อเป็นเกียรติ หรือเพื่อให้เป็นข่าว แต่ผมไปให้เกิดความสำนึก ผมว่ามันคือหน้าที่ของคนเป็นผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวข้องนะ รวมทั้งควรจะต้องมีการตั้งคำถามกลับด้วยว่า ครอบครัวของเขาสูญเสีย ใครคือผู้ต้องรับผิดชอบ ถามว่า กทม. มีส่วนไหม มีสิ  ผมว่าพวกข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องไปร่วมงาน ไม่ใช่ไปเอาหน้า แต่ไปเพื่อสำนึก ที่เพื่อนเขาตาย ลูกเขาตาย มันเป็นเพราะเราทำหน้าที่บกพร่องหรือเปล่า แล้วปีหนึ่ง มีเคสแบบหมอกระต่ายเสียชีวิตกันเป็นพันๆ คน ทำยังไงไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก หรือให้มันลดน้อยลงบ้าง ต่อไปนี้เทศกิจ เลิกจับพ่อค้าแม่ค้า แล้วไปช่วยดูทางม้าลาย หรือเจ้าหน้าที่กวาดถนน มีเป็นพันๆ คน คุณก็อยู่ตรงนั้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา จุดไหนอุปกรณ์เสีย จุดไหนสัญญาณไฟบกพร่อง ช่วยกันแจ้งมา เพื่อแก้ไขให้ใช้งานได้ อย่างน้อยเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันลดความสูญเสียลงบ้าง

ทราบว่าคุณริเริ่มสร้างเครือข่ายชวนกิจการร้านกาแฟในเมือง มาร่วมกันเปิดเป็น ‘สภากาแฟ’ มีที่มาเป็นอย่างไร

        ผมอยากให้คนออกมาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คือเราไม่สามารถไปตั้งศูนย์ประสานงานในทุกๆ เขตของกรุงเทพฯ ได้หมด แต่เราสามารถสร้างเครือข่ายเหล่านี้ได้ โดยอาศัยร้านกาแฟตามเขตต่างๆ ใครอยากร่วมก็มาลงชื่อไว้ สิ่งที่อยากให้เป็นคือ อยากให้มีพื้นที่ที่คนได้ออกมาคุยเรื่องของเมือง ร้านกาแฟร้านไหนเข้าร่วม เราจะมีป้ายติดไว้ 

        แล้วทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ ในแต่ละเขตก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน หน้าที่ของเราคือ จะมีคนเข้าไปช่วยกัน curate หรือรวบรวมจัดการนำปัญหาเหล่านี้มาช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป

        ขณะนี้เรามีร้านกาแฟมาเข้าร่วมราวๆ ร้อยกว่าร้านแล้ว คิดเฉลี่ยกรุงเทพฯ มี 50 เขต ก็ตกเขตละ 2 ร้าน ซึ่งเราอยากขยายให้ได้มากกว่านี้ เพื่อกระจายการพบปะพูดคุยกัน และกระจายการรับรู้ปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพให้ได้มากยิ่งขึ้น

        ผมว่ากรุงเทพฯ ต้องมี public space ที่มีคุณภาพให้เยอะขึ้น และเมืองที่ดีคือคนต้องออกมาปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่อยู่แต่ในบ้าน นั่งเล่นแต่โซเชียลมีเดีย ถ้าเกิดเรามีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน มี art space ที่จัดแสดงงานศิลปะ ดนตรี รวมทั้งมีพื้นที่สีเขียว ให้พาลูกมาเดินเล่นได้ ผมว่านั่นคือคุณภาพชีวิตที่แท้จริง

โดยส่วนตัว คุณคิดว่าคนกรุงเทพฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี (well being) แค่ไหน

        มันต้องกำหนดก่อนว่า well being ในบริบทของความเป็นกรุงเทพฯ คืออะไรบ้าง ถ้าเป็นเรื่องอากาศ พื้นที่สีเชียว พื้นที่สาธารณะ อันนี้ผมว่าต้องมีเพิ่มขึ้นอีก อย่างนโยบายของผมคือต้องเพิ่มสวนใกล้บ้าน เพราะคนกรุงเทพฯ ยังเข้าถึงสาธารณูปโภคเหล่านี้ได้ไม่เท่ากัน 

        หลายคนมักไปติดภาพการมี well being แบบเมืองนอก บางคนอยากให้เมืองเป็นแบบโตเกียว ปารีส เบอร์ลิน หรืออัมสเตอร์ดัม สถานที่เหล่านั้นคือภาพจำที่เราไปจำมา แต่ความจริงแล้วแต่ละเมืองมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน กรุงเทพฯ ก็มีจุดดีๆ อยู่เยอะ ผมเคยไปเดินชุมชนในคลองสาน เป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา น่าอยู่มาก แล้ววชาวบ้านก็ดูมีความสุขในแบบของเขา ดังนั้น การมีความเป็นอยู่ที่ดี มันอาจไม่ต้องเป็นเหมือนเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศก็ได้ เรามีความสุขในแบบเมืองของเราเพียงแต่เราควรเอาจุดแข็งของเขามาปรับใช้ เช่น ที่สิงคโปร์ เขาทำยังไงเรื่องต้นไม้ที่ปลูกได้เต็มเมือง หรือที่โตเกียว เขาจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพขนาดนั้นได้ยังไง เราควรนำเรื่องเหล่านี้มาเรียนรู้ ดีกว่าที่จะต้องเป็นแบบเขาไปทุกเรื่อง

กุญแจสำคัญในเรื่องนี้ คือต้องสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดีเสียก่อน ถูกไหม

        ใช่ มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีสาธารณสุขที่ดี มีพื้นที่สีเขียว มีขนส่งสาธารณะ ให้การเดินทางมันสะดวกขึ้น ทุกคนจะได้มีเวลาไปใช้ชีวิตของตัวเอง หรือมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น อย่างที่ผมบอกไป คนกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการอะไรซับซ้อน ขอแค่คุณต้องช่วยเขาด้วยปรับปรุงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ 

        อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือที่อยู่อาศัย หรือการมีบ้าน ผมว่าการที่ประชาชนจะรู้สึกภูมิใจในวิถีชีวิตของตัวเองมากน้อยแค่ไหน การมีบ้าน หรือเรื่อง housing ถือว่ามีความสำคัญ ถ้าการที่เขามีบ้านที่ไม่รู้ว่าจะโดนไล่รื้อเมื่อไหร่ หรือบ้านที่อยู่ผิดกฎหมายหรือไม่ ผมว่าเขาไม่รู้สึกภูมิใจ ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเมือง ในทางตรงกันข้าม มันเป็นแค่ความรู้สึกของผู้อาศัยอยู่เท่านั้นเอง

        ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าไปช่วยเหลือตามชุมชนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ พวกที่โดนไล่รื้อมีอยู่เป็นหลักแสนคน ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการมีแค่ 3 อย่าง คือ ต้องการที่ดิน ต้องการเงินออม และต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเราเปลี่ยน mindset ให้คนรู้จักการออมเงินได้ พอเขาเริ่มมีเงินออม รัฐสามารถจัดหาที่ดิน โดยทำให้เกิดการกู้กับภาครัฐ จากนันก็เริ่มปลูกบ้าน ย้ายออกจากที่ดินที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะได้บ้านหลังเล็กๆ แต่เขาจะมีความภูมิใจ และรู้สึกมั่นคง คุณภาพชีวิตมันก็เกิดขึ้นตามมา

กรุงเทพฯ มีอายุมากว่า 240 ปี คุณมองกรุงเทพฯ เป็นเมืองแบบไหน

        ผมมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองเอกนครที่ใหญ่ที่สุดในโลก คำว่าเอกนครคือ เป็นเมืองที่เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองรองลงมาแล้ว มันมีความแตกต่างกันอยู่เยอะมาก ผมไม่แน่ใจว่าเมืองอันดับสองของเราคือเชียงใหม่หรือนนทบุรี แต่ว่ามันมีความต่างจากกรุงเทพฯ อยู่ถึง 4-5 เท่า มันไม่มีประเทศไหนในโลก ที่มีเมืองอันดับสองแตกต่างกันมากขนาดนี้

        แล้วความเป็นเอกนครมันมีสองแบบ แบบหนึ่งคือ เอกนครแบบปรสิต (parasite) คือดูดทรัพยากรทุกอย่างมาไว้ที่ตัวเอง แต่ไม่ได้ผลิตอะไรที่คุ้มค่านัก กับเอกนครแบบคอนทริบิว (contribute) คือดูดเอาทรัพยากรมาใช้ แต่ก็สร้างผลผลิต สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ด้วย คือพูดง่ายๆ เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ 

        ทีนี้พอมาวิเคราะก์ดูว่ากรุงเทพฯ เป็นเอกนครแบบไหน ปรากฎว่า มันเป็นแบบปรสิตมากกว่า เพราะเป็นเมืองที่ดึงดูดทรัพยากรทุกอย่างมาที่ไว้ที่ตัวเอง เมืองมีการขยายเติบโตเร็วมาก แต่มันไม่ได้สร้างผลผลิตในแบบที่ควรจะเป็น แถมเมื่อคนเข้ามามากขึ้น กลับกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายคนก็ถูกดีดออกไปข้างนอก เพราะปัญหาที่ดินแพง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบัน

ถ้าสามารถแก้ไขได้ คุณอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแบบไหนในมุมมองของคุณ

        จริงๆ กรุงเทพฯ เป็นได้หลายอย่าง  สมมติประเทศเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรากำหนดให้กรุงเทพฯเป็นเมือง health care ได้ไหม หรือเราขึ้นชื่อเรื่องสปา เราบอกว่า เราเป็นเมืองแห่งสปา หรือตอนนี้เทรนด์โลกกำลังสนใจเรื่องสมาธิ บ้านเมืองเราก็เป็นเมืองพุทธ เราบอกว่าเราจะเป็นเมืองแห่ง mindfulness ดีไหม 

        อันนี้คือยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เพราะนี่คือสิ่งที่คนภายนอกมองเห็นว่าเรามีจุดดีอะไร มันยังมีอีกหลายอย่างนะ ซึ่งเอาเข้าจริง เราสามารถจัดแบ่งเป็นโซนไปเลยก็ได้ พิกัดนี้ของเมืองเป็นโซนด้านอาหาร อีกจุดเป็นเป็นโซนวัฒนธรรม โซนท่องเที่ยว โซนครีเอทีฟ เราพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์เหล่านี้ออกมาให้เห็นชัดๆ และทำอย่างมีทิศทาง 

        ผมว่าการมีกลยุทธ มีการวางยุทธศาสตร์อย่างมีรูปธรรม มันจะทำให้เรามีเส้นทางให้เดินหน้าต่อไป แล้วเราจะสามารถ identity ตัวเองได้ว่าเราเป็นเมืองแบบไหน ที่สำคัญ มันคือการสร้างงานให้กับคนในเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่ครีเอตงานให้กับผู้คนได้ เพราะถ้าไม่มีงาน เราจะอยู่ในกรุงเทพฯ ทำไม เรากลับบ้านเราไม่ดีกว่าเหรอ ดังนั้น สิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องมีและจำเป็นต้องมีคือ หนึ่ง ต้องมี productivity คือการสร้างงาน สร้างรายได้ และสอง ต้องมี quality of life ซึ่งก็คือคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนที่อยู่ในเมืองแห่งนี้

ถ้าจะสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองมาตรฐานอย่างที่คุณบอกมา คิดว่าต้องเริ่มต้นทำอะไรนับตั้งแต่วันนี้

        ขอทำสองเรื่องนี้ให้ดีขึ้น คือสร้างให้เป็นเมืองที่มี productivity และมี quality of life เอาแค่นี้เลย คือชีวิตที่ต้องเสียเวลานั่งอยู่บนรถยนต์สองชั่วโมงบนถนน แบบนั้นต้องเลิกได้เสียที แล้วใช้เทคโนโลยีสร้าง productivity ให้มากขึ้น ที่เหลือคือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาด ถ้าไม่ได้มองเรื่องการเจ็บป่วย ผมว่าคุณภาพชีวิตเราดีขึ้นนะ เพราะเราได้อยู่บ้านมากขึ้น เราเริ่มมีเวลา เริ่มรู้แล้วว่าคุณภาพชีวิตที่มันควรจะเป็น เป็นยังไง บางคนอาจจะแย้งว่าอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำไมไม่ไปอยู่ต่างจังหวัดล่ะ แต่ต่างจังหวัดไม่มี productivity เท่ากรุงเทพฯ ไง ดังนั้น ถ้ากรุงเทพฯ มีพร้อมทั้งสองอย่างที่ว่ามา ผมคิดว่ากรุงเทพฯ จะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก

ถ้านี่จะเป็นโค้งท้ายๆ ของสิ่งที่คุณทำมาตลอดสองปีกว่า ถึงตรงนี้ อะไรคือสิ่งที่ยังยึดถือไว้นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

        คือการพูดความจริง ผมจะไม่ให้สัญญาอะไรเยอะแยะ ถ้าสังเกตนักการเมืองส่วนใหญ่มักจะชอบสัญญากันมากมาย สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจจะทำตามสัญญานั้น เหมือนพูดไปเรื่อย สัญญาโน่น สัญญานี่ แล้วทำให้นโยบายไม่น่าเชื่อถือด้วย สิ่งที่ดีที่สุดคือจงพูดความจริง แล้วพูดความจริงมันไม่ต้องจำ ถูกไหม ถ้าพูดโกหก ตายล่ะ หาเสียงครั้งก่อนเราพูดอะไรไปบ้าง เกิดต้องพูดใหม่ ดันพูดไม่ตรงกันซะอีก ดังนั้น พูดแต่ความจริง ไม่ต้องจำ และพูดกี่ครั้งก็เหมือนเดิม

ถ้าจะมี ‘ความจริง’ ที่อยากบอกกับคนกรุงเทพฯ ผ่านบทสัมภาษณ์นี้ คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง

        ผมคงอยากจะบอกว่า จงปรับความคาดหวังให้มันลงมาอยู่กับความเป็นจริง แล้วเราจะพบกับความสุข ผมยกตัวอย่างให้ฟังแบบนี้ ผมมีลูกหูหนวก ตอนที่เขาเกิดมาผมเสียใจมาก ชีวิตไม่เคยทุกข์ขนาดนั้นมาก่อน เพราะความคาดหวังของเราคือลูกต้องเป็นปกติ ทีนี้พอลูกเกิดมาหูหนวกมีปัญหา เราเสียใจ เพราะไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง 

        แต่อยู่มาวันหนึ่ง ผมเปลี่ยนวิธีคิด ผมปรับความคาดหวังลงมา เช่น ขอให้ลูกเราแค่พูดได้ก็พอใจแล้ว ปรากฎว่าพอลูกพูดได้แค่คำเดียวสั้นๆ ผมโคตรมีความสุขเลยวันนั้น หรือต่อมา ลูกเราแค่เข้าโรงเรียนได้ ผมก็โคตรมีความสุขเลย กระทั่งวันหนึ่งมหาวิทยาลัยรับเขาเข้าเรียน เรามีความสุขที่สุด ในมุมกลับกัน เพื่อนๆ บางคนลูกสอบเข้าเรียนหมอได้ มันยังเครียดกันอยู่เลย 

        ผมถึงอยากบอกว่า ชีวิตมันคือการปรับความคาดหวังและไม่เปรียบเทียบ รวมทั้งมีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น โอเค ไม่ใช่ว่าจะไม่คาดหวังอะไรเลย แต่เราต้องให้ความคาดหวังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อีกอย่างคือ เราสามารถซอยความคาดหวังให้เป็นสเต็ปๆ ไป พอสำเร็จไปถึงขั้นหนึ่ง เราก็ค่อยๆ ขยับความคาดหวังของเราขึ้นไปเรื่อยๆ

        ที่พูดมาทั้งหมด มันก็คงเหมือนกับเรื่องเมือง เราปรับความคาดหวังให้อยู่บนความเป็นจริง แล้วค่อยๆ พัฒนาไป จะเปลี่ยนเมืองภายในหนึ่งปีมันไม่ง่ายหรอก แต่ผมก็เชื่อว่าเราทำได้ ถ้าเราพยายามและช่วยกัน  

ถ้าหลังวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะมีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณอยากบอกอะไรไว้เป็นการล่วงหน้าบ้างไหม

        อยากบอกว่าไม่ต้องมาแสดงความยินดี นี่ผมพูดจริงๆ (หัวเราะ) ไม่ต้องมา ไว้ค่อยมาตอนที่ผมหมดวาระ ถ้าเกิดทำผลงานได้ดี ให้มาตอนจบดีกว่า ค่อยมาแสดงความยินดีกัน สำหรับผม การเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เรื่องสนุก มันคือภารกิจที่รอเราอยู่มากมาย มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันเป็นเรื่องชีวิตคนเป็นสิบล้านคน ที่เราจะทำยังไงให้เขามีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้นได้อย่างแท้จริง 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: แพรวา ชัยแสงจันทร์