The Last Battle คุย 10 คำถาม กับการรบครั้งสุดท้ายของ ‘รสนา’ แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.

“รสนาบริหารไม่เป็นหรอก เป็นแต่นักเคลื่อนไหว” 

        ประโยคที่มาพร้อมรอยยิ้มขำๆ ระหว่างการสนทนาของเรากับแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 7 นามว่า รสนา โตสิตระกูล ซึ่งเอาเข้าจริง ประโยคดังกล่าวอาจเป็นปมความสงสัยของใครหลายคน ที่มีความคาใจว่า นักเคลื่อนไหวที่เน้นการปราบการทุจริตและการโกงอย่างรสนา จะพลิกภาพตัวเองมารับภารกิจเป็น ‘แม่เมือง กทม.’ ที่เน้นงานบริหารมากกว่าได้หรือไม่

        พูดง่ายๆ รสนากำลังท้าทายภาพลักษณ์ของตัวเอง แถมยังโชว์ศักยภาพที่ยังไม่ค่อยมีใครเคยเห็น แต่เธอบอกว่า การทำหน้าที่บริหาร กทม. นั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่สำคัญมากกว่า และต้องทำให้ได้เสียก่อน คือการหยุดวิถีแห่งการโกงกิน ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกินกรุงเทพมายาวนาน

        “กรุงเทพฯ เหมือนคนอมโรค เหมือนคนที่มีพยาธิ เราต้องถ่ายพยาธิออกจากตัวให้ได้เสียก่อน พร้อมกับบำรุงร่างกายเสียใหม่ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น” 

        รสนาบอกอย่างนั้น และนี่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อาวุธสำคัญ’ ที่แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. คนนี้พร้อมจะจัดหนัก หากว่าได้เข้าไปทำหน้าที่ ‘แม่เมือง กทม. คนใหม่’ ซึ่งถ้าทำได้ เธอบอกว่ากรุงเทพฯ ยังมีความหวัง แต่ในมุมกลับกัน หากทำไม่ได้ นี่คงเป็น The Last Battle หรือการรบครั้งสุดท้ายของผู้หญิงที่ชื่อรสนา 

        ในวัย 68 ปี ผ่านเวทีการทำงานทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และภาคการเมือง เป็นนักปราบการคอร์รัปชัน สร้างผลงานอันลือลั่นเอาไว้ไม่น้อย รวมทั้งเคยก้าวเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ขับเคลื่อนนโยบายทางการเมืองมาแล้วเช่นกัน ดังนั้น เรื่องประสบการณ์และความมุ่งมั่น หายห่วง!

        สำหรับความท้าทายครั้งล่าสุดนี้ เธอขอลงชิงชัยด้วยหวังว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร แม้จะไม่ใช่ตัวเต็ง สปอตไลต์จะไม่ฉายส่องมาบ่อยๆ แต่อย่างน้อย ขอสู้กันสักตั้ง!

        การรบครั้งสุดท้ายของรสนาจะมีประเด็นที่น่าสนใจอะไรอยู่บ้าง ตามไปอ่าน 10 คำถามเพื่อสะท้อนมุมมอง วิสัยทัศน์ และตัวตนของความเป็นรสนา ที่เธอยังบอกอีกด้วยว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. รับรองเมืองนี้ต้องเปลี่ยนแน่นอน


1. ถ้าให้เปรียบ ‘กรุงเทพฯ’ เป็นคนสักคนหนึ่ง คุณมองเห็นคนคนนี้เป็นอย่างไร

        เป็นคนอมโรค กรุงเทพฯเพิ่งอายุครบ 240 ไปไม่นาน ซึ่งถ้าเทียบกับเมืองหลวงของโลกที่อื่นๆ เรายังถือว่าเป็น young city มาก บางเมืองมีอายุหลายร้อย หลายพันปี เพราะฉะนั้น กรุงเทพฯ ในสายตาเราจึงเป็นคนหนุ่มสาว แต่เป็นคนหนุ่มสาวที่อมโรค เพราะเราอาจจะมีพยาธิอยู่เยอะ นั่นคือการโกง การคอร์รัปชัน ซึ่งมันมาดูดกินสารอาหารที่จำเป็นในร่างกาย แทนที่เราจะเป็นคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง มีความสมาร์ท แต่กลายเป็นคนอมโรคมาอย่างยาวนาน

2. ถ้าจะต้องมี ‘ยา’ มารักษาอาการอมโรคเหล่านี้ คุณคิดว่ามันคืออะไร

        ถ้ามีพยาธิ ก็ต้องใช้ยาถ่ายพยาธิ ถูกไหม (ยิ้ม) แต่สำหรับการโกง ต้องใช้กลไกของการปราบโกงเข้ามาแก้ไข คุณเชื่อไหมว่า ถ้าไปดูดัชนี้ชี้วัดความโปร่งใสที่องค์กรนานาชาติจัดทำสำรวจขึ้นมา ประเทศเราสอบตกมาตลอด 20-30 ปี มันกลายเป็นว่าเราไปอยู่ในกลุ่ม 27 ประเทศด้อยพัฒนา เหตุเกิดเพราะความโกง ซึ่งในความเป็นจริง ประเทศเราทันสมัยมาก แต่เราไม่พัฒนาไปไหนเลย เพราะเราไม่สามารถกำจัดการทุจริตคอร์รัปชันลงได้ 

        เราเชื่อมั่นว่าจะเข้ามาหยุดการโกงนี้ได้ อย่างสมัยที่เคยเป็น สว. (สมาชิกวุฒิสภา) เราเป็นประธานกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล แต่ ณ วันนั้นสิ่งที่เราทำได้คือชี้เป้าความผิด เราไม่มีอำนาจในการเข้าไปจัดการ แต่ถ้าวันนี้ได้รับโอกาสในการเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ เราเชื่อว่าเราสามารถลงมือจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ทันที รวมทั้งเป็นต้นทางในการทำให้เกิดความโปร่งใส ทำให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในหน่วยงาน

        ยกตัวอย่างกลไกการตรวจสอบ ที่ผ่านมามีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย หรือกลุ่ม ACT เกิดขึ้นมา หน่วยงานนี้ทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ ทั้งเรื่องการประมูลงาน การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ประชาชนไม่เคยมีโอกาสรับรู้ แถมหน่วยงานรัฐก็ไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนได้รู้เสียอีก แต่ถ้าเราได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เราจะเปิดเผยทั้งหมด ไม่ว่าจะโครงการไหน โปรเจกต์อะไร ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้เลย แล้วดีซะอีก มีคนเข้ามาตรวจสอบ มันทำให้เราโปร่งใสไปด้วย วิถีการคอร์รัปชันมันก็จะค่อยๆ ลดลงไป และสิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือทรัพยากร เราจะมีทรัพยากรที่มากพอ สำหรับที่จะแบ่งปันให้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

        การแก้ทุจริต คุณต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งถ้าทำได้ครบทุกอย่างจริง มันจะแก้ปัญหาไปได้เยอะ มีคำที่คนไทยชอบพูดว่า ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก ความจริงก็มีอยู่แค่นั้น ถ้าคุณเป็นผู้นำแล้วคุณไม่หาผลประโยชน์ ปัญหานี้มันก็จะลดลงไป แต่ถ้าลูกน้องคุณไปหาเศษหาเลย มันก็เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องแก้ไข 

        อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะไม่มีใครที่นั่งอยู่ข้างบน แล้วสามารถเห็นได้ทุกอย่าง คือคุณต้องรู้จักกระจายอำนาจ เจตนารมณ์ของการบริหารส่วนท้องถิ่นแบบ กทม. คือต้องการให้เป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือกันให้ได้มากที่สุด ดังนั้น จึงต้องดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมา ประชาชนรู้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง แต่เขาไม่เคยได้รับโอกาสในการเข้ามาเสนอความคิดเห็นหรือช่วยแก้ไขปัญหาเลย

3. ถ้าจะมีสักคำหนึ่งที่คุณยึดไว้เป็นหลักในการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คำนั้นคือคำว่าอะไร

        บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประโยคนี้คือหน้าที่ของคนเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งเราคิดว่า กทม. เหมือนทีมแม่บ้าน แล้วเราขอมาสมัครงานเป็น ‘หัวหน้าแม่บ้าน’ หน้าที่ของหัวหน้าแม่บ้านคือคุณต้องฟังเสียงประชาชน เขาต้องการอะไร หรือแจ้งปัญหาอะไรที่ต้องการให้แก้ไขเข้ามา

        ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. นโยบายหนึ่งที่เราต้องการผลักดันคือ กระจายงบประมาณ 50 ล้าน ลงไปใน 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ เพราะจากที่เคยรับรู้มา ผู้อำนวยการเขตมีเงินให้ใช้อยู่ปีละ 2-3 ล้านบาท ถามว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ คุณจะแก้ไขยังไงกับเงินจำนวนเท่านี้ ถ้าเรามีงบประมาณเพิ่มขึ้น ทีนี้ ผอ.เขตก็ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น อย่ารอให้คนมาเรียกร้องอย่างเดียว แต่คุณต้องลงไปสานสัมพันธ์กับชาวบ้าน เขามีปัญหาอะไร แล้วเขาสามารถที่จะทำเรื่องขอให้ กทม. เข้าไปช่วยแก้ไขได้ บอกแล้วไงว่าเราเป็นทีมแม่บ้าน ต้องคอยจัดการปัญหาให้กับคนในบ้าน แล้วเมื่อมีเงินมากขึ้น ปัญหามันก็จะแก้ไขได้รวดเร็วมากขึ้น ถูกไหม

        เงิน 50 ล้าน จำนวน 50 เขต รวมเป็นเงิน 2,500 ล้านบาท มันจิ๊บจ๊อยมาก เพราะเท่าที่ทราบมา เงินที่เก็บไว้ในส่วนกลางของผู้ว่าฯ มีอยู่ราวๆ 14,000 ล้านบาท เราดึงออกมาทำเพื่อประชาชน กระจายอำนาจลงไปให้กับประชาชนแต่ละเขต แล้วเขาสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ เราว่ามันคือประโยชน์อย่างแท้จริง แล้วการกระจายอำนาจลงไป มันจะทำให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหา เป็นไปได้จริงมากขึ้น 

        ในส่วนของเรา เรามาอย่างอิสระ เราไม่ได้มีใครมาหนุน เราไม่ได้มี agenda ที่ต้องตอบแทนใคร เพราะฉะนั้น เราจึงมีแต่เรื่องของประชาชาชนเท่านั้น ที่เขาสามารถส่งเสียงมาถึงเราได้ ซึ่งอำนาจประชาธิปไตย มันก็คืออำนาจของประชาชน แล้วเราก็ต้องการให้อำนาจของเขายังคงอยู่ เราในฐานะที่เป็นผู้ที่มารับอาสา เป็นหัวหน้าแม่บ้าน ก็ต้องฟังเจ้าของบ้าน นอกจากจะต้องฟังแล้ว คุณก็ห้ามขโมยของในบ้านด้วย แล้วที่สำคัญ อย่าทำตัวเป็นเจ้าของบ้านซะเอง

4. นโยบายหนึ่งในการหาเสียงของคุณ ‘ตั๋วรถไฟฟ้าราคา 20 บาท’ นี่ไม่ใช่การขายฝัน แต่ทำได้จริงใช่ไหม

        ทำได้จริง และนี่คือเรื่องสำคัญมาก กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ้าเราย้อนกลับไปดูเมื่อสัก 6-7 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนต่อเที่ยวอยูที่ 10-16 บาท แต่ที่เราจ่ายถึง 65 บาทตลอดสาย เพราะเราต้องจ่ายค่าโครงสร้างของรถไฟฟ้าด้วย โอเค เขาเป็นคนลงทุนค่าโครงสร้างขึ้นมา เราก็ต้องคืนค่าโครงสร้างให้เขา ทีนี้มันกำลังจะหมดสัมปทานลงในอีก 7 ปีข้างหน้า คือในปี 2572 ซึ่งหลังจากนั้น รถไฟฟ้าสายนี้จะตกเป็นของ กทม. นั่นหมายความว่า จากนี้ไปเราจะไม่ต้องจ่ายค่า Infrastructure หรือค่าโครงสร้างเหล่านี้ ที่เคยจ่ายมาตลอด 30 ปีของสัมปทาน นั่นจะทำให้เราใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง

        แล้วถามต่อว่ามันจะลดเหลือ 20 บาทตลอดสายได้จริงหรือ ทำได้สิ เพราะค่าใช้จ่ายที่เหลือ มันมีแค่ค่า Maintenance ตัวรถไฟฟ้ากับค่าการเดินรถ ซึ่งยังไงก็ต้องถูกลงกว่าเดิมอยู่แล้ว เพราะเราไม่ต้องไปจ่ายค่าโครงสร้างแบบที่แล้วมา 

        นอกจากนี้เรายังไม่ต้องไปเอากำไรจากประชาชนที่มาใช้บริการด้วย เพราะเราหารายได้จากทางอื่นได้ตั้งมากมาย เช่น เราสามารถให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์บนสถานี เราสามารถมีโฆษณา เราสามารถมีการเชื่อมต่อของสถานีกับพื้นที่ของเอกชน พวกนี้สามารถสร้างเป็นเม็ดเงินได้หมด นี่ยังไม่รวมส่วนต่อขยายที่เป็นของ กทม. เอง ทั้งหมดต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 พันล้านบาท แค่นี้เราก็สามาราถเอาเงินมาทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย โดยที่ไม่ต้องไปคิดค่าโดยสารกับประชาชนแพงๆ

        แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คือ ถ้าจะเกิดการต่อสัญญาสัมปทานออกไป จะต้องทำภายใน 5 ปีก่อนหมดสัญญา นั่นหมายความ อีก 2 ปีข้างหน้า จะต้องมีการเจรจากันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง ดังนั้น นี่จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ย่อมมีผลต่อสัมปทานนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

        ในมุมของเรา ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ เราจะทำให้เกิดการประมูลการเดินรถขึ้นแทน โดยให้แต่ละเจ้าเข้ามาประมูลราคาการเดินรถ ใครที่ให้ราคาต่ำสุดก็ได้ไป แล้วในอนาคตต้องเชื่อมทั้งระบบ ล้อ ราง เรือ สมมติคุณลงจากรถไฟฟ้าภายในหนึ่งชั่วโมงนี้ คุณสามารถไปขึ้นรถเมล์ หรือไปลงเรือ ภายในราคาเดียว พูดง่ายๆ ว่า 20 บาทคุณสามารถขึ้นได้ทุกอย่าง

5. อีกหนึ่งนโยบาย ‘บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท’ คุณมั่นใจว่าทำได้จริงใช่ไหม

        ได้สิ แต่ทีแรกทีมงานตัวเองยังไม่เชื่อเลยว่าจะทำได้ เราจะเอาเงินที่ไหนไปเพิ่มได้ขนาดนั้น เราเลยตอบง่ายๆ ว่า ถ้าปราบโกงได้ ลำพังแค่พวกรับเงินใต้โต๊ะ ประมาณ 20% ที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ หรือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่เป็นของ กทม. ทราบว่าทุกวันนี้มีทรัพย์สินกว่า 2.5 แสนล้านบาท จะแบ่งเงินตรงนี้มาทำไม่ได้เชียวหรือ

        นโยบายนี้เราไม่ได้ขายฝัน มันเป็นไปได้ แต่เราไม่ได้ทำแบบถ้วนหน้า เราทำเฉพาะคนที่ไม่มีหลักประกันอะไรเลย อย่างผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการที่เคยทำงานรัฐวิสาหกิจ พวกนี้เขามีบำเหน็จบำนาญอยู่แล้ว หรือผู้สูงอายุที่อยู่ในหลักประกันสังคม รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินสองแสนบาทขึ้นไป พวกนี้เขาดูแลตัวเองได้ เราก็ไม่ต้องจ่ายให้ แต่เราจะจ่ายให้เฉพาะคนที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 แสนกว่าคน เราเติมเงินลงไปเพิ่มให้ แต่จะมีระดับของการให้ที่หลดหลั่นกันไป เช่น อายุ 60 ปี ได้ 2,400 บาท ถ้าอายุมากขึ้นไปอีก ก็จะได้เพิ่มขึ้นไป ทั้งหมดรวมแล้วอยู่ที่งบประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อปี 

        ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้ แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นไปในทีเดียว เราค่อยๆ ขยับไป จาก 600 เป็น 1,200 จาก 1,200 เป็น 2,000 แล้วไป 2,400 จนไปถึง 3,000 ภายใน 4 ปีที่เป็นผู้ว่าฯ โดยเราสามารถรีดเงินจากการทุจริต รวมทั้งนำรายได้จากวิสาหกิจของ กทม. ซึ่งต้องควบคุมดูแลให้โปร่งใส และมีศักยภาพมากขึ้น รายได้เหล่านี้จะถูกนำมาเพื่อเป็นสวัสดิการแก่สังคม ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป

6. นอกจากกระจายอำนาจไปสู่เขตทั้ง 50 เขต ถ้าจะใส่อะไรลงไปเพิ่มทั้ง 50 เขตนี้อีก คุณคิดว่าจะใส่อะไรลงไป เพื่อทำให้ชาว กทม. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

        เราอยากใส่ชุดความคิด ‘การรู้จักพึ่งพาตัวเอง’ ยกตัวอย่างเรื่องเล่าหนึ่งให้ฟัง ในยุคสมัยพระร่วง ที่คนไทยยังตกเป็นเมืองขึ้นของขอม เราต้องส่งส่วยน้ำใส่ไปในโอ่งดินเผา ซึ่งชาวบ้านต้องแบกกันหนักมาก พระร่วงสงสารชาวบ้าน จึงมีความคิดให้เอาไม้ไผ่มาสาน แล้วเอาครั่งมายาตามแนวเพื่อไม่ให้น้ำรั่ว ปรากฏว่าได้ภาชนะใส่น้ำในน้ำหนักที่เบากว่ากันเยอะมาก ที่สำคัญ วัสดุที่ใช้เป็นของที่หาได้ง่ายๆ มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า เราจะทำยังไงให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยสามารถใช้สิ่งที่เป็นต้นทุนในสังคมที่มีอยู่ สร้างให้เกิดประโยชน์ และกลายเป็นรายได้กลับไปที่ชาวบ้านนั่นเอง

        ส่วนตัวเราเชื่อว่ามีคนไทยที่มีความสามารถอยู่เยอะมากในประเทศนี้ แต่เป็นความสามารถที่ถูกปิดบัง เหมือนหินที่ทับหญ้าเอาไว้ เราจึงขออาสายกหินที่ทับหญ้านี้ เพื่อให้ต้นหญ้าได้เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น เปรียบไปก็เหมือนคนหนุ่มคนสาว คุณอย่าเพิ่งหมดหวัง กรุงเทพฯ ต้องซัพพอร์ตคนเหล่านี้ ให้คนที่มีความสามารถได้ลุกขึ้นมาพัฒนา เรามีหน้าที่สนับสนุนให้เขาได้เดินต่อไปได้

 

7. ถ้ามีคนรุ่นใหม่ที่กำลังลังเล คิดว่าจะกาเบอร์ 7 ‘รสนา’ ดีหรือไม่ คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขา

        อย่าตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใครเพราะอายุ และต้องถามกลับไปว่า ความเป็นคนรุ่นใหม่คืออะไร สำหรับเรา มันอยู่ที่วิธีคิด มีเยอะแยะไปคนรุ่นใหม่ที่ในที่สุดคุณก็หลงอยู่ในอำนาจ เหมือนที่มีคนเคยพูดว่า “If you can’t beat them, join them.” คือถ้าเอาชนะอะไรสักอย่างไม่ได้ ก็ให้เป็นพวกเดียวกันไปซะเลย ไม่ต่างอะไรกับถ้าเราไม่คอร์รัปชัน คนอื่นก็คอร์รัปชันอยู่ดี แล้วสมมติว่าคนที่คิดแบบนี้มีอายุ 20-30 ปี เราจะเรียกคนเหล่านี้ว่ารุ่นใหม่ได้หรือเปล่า เราตัดสินความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตรงไหน  

        เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เมืองนี้ดีขึ้นจริง ให้มาร่วมมือกัน ทำให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ เคยได้ยินคำว่ามวลวิกฤต หรือ Critical Mass ไหม การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นในจังหวะที่ปริมาณเปลี่ยนเป็นคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่มันจะเกิดขึ้นจากคนกลุ่มน้อยเสมอ เหมือนแม่น้ำลำธาร ที่เกิดขึ้นจากตาน้ำเล็กๆ บนยอดเขา แล้วถึงจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น ความเปลี่ยนแปลงก็เช่นกัน อาจจะเริ่มแค่คนเพียง 8 คน แล้วเพิ่มเป็น 16 คน เป็น 32 คน จนในที่สุด มันก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นบรรทัดฐานใหม่ๆ ให้กับสังคมได้ 

        การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็น The Last Battle ของรสนาก็ว่าได้ (ยิ้ม) คือจะลองสู้ดูสักตั้งหนึ่ง เราจะเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยถ้าเราทำให้มันเกิดเป็นโมเดลขึ้นมาได้ ซึ่งมันอาจะไม่ใช่ว่าพูดปุ๊บแล้วสามารถทำได้เลย หลายเรื่องต้องใช้เวลา แต่ยังไงก็ต้องลงมือทำ ถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ถ้าเชื่อและอยากเห็นในสิ่งเดียวกัน ให้มาร่วมมือกับรสนา

8. ถ้าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง คุณจะยังเดินหน้า ‘ทำ’ ในสิ่งที่พูดมาทั้งหมดอยู่ไหม

        เราบอกแล้วว่านี่คือ The Last Battle (ยิ้ม) ถ้าย้อนกลับไป 40 ปีก่อน เราทำงานการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด และถ้าย้อนกลับไปดูผลงานที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราพยายามปกป้องรักษาสิ่งที่เป็นทรัพยากรหรือเป็นต้นทุนของประเทศมาโดยตลอดเช่นกัน เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสวัสดิการของประชาชนคนไทย 

        ดังนั้น หากถามว่า ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราก็จะยังคงทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอยู่ดี ส่วนในมุมที่พูดว่า The Last Battle เป็นมุมที่แซวตัวเองว่าอายุเยอะแล้ว แต่ยืนยันว่าไม่ใช่คนแก่ เรายังเป็นคนรุ่นใหม่ รุ่นใหม่ในที่นี้หมายถึงจิตวิญญาณของตัวเอง เรายังเป็นคนหนุ่มคนสาวอยู่เสมอ เพราะเรายังมีความหวังกับบ้านเมืองนี้ ดังนั้น ต่อให้จะไม่สำเร็จในภารกิจนี้ แต่เราก็จะเดินหน้าต่อไป ถ้าคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสังคม

9. ถ้าจะมีสักประโยคหนึ่งที่จะบอกกับ ‘คนกรุงเทพฯ’ คุณอยากพูดว่าอะไร

        เราต้องเลิกเป็นคนอมโรค (ยิ้ม) เมืองของเราต้องเดินไปข้างหน้า ถ้าเราทำสักจุดหนึ่งให้เป็นต้นแบบ มันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ที่ผ่านมา เราเคยมีความหวังกันว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ไปๆ มาๆ มันกลายเป็นการปฏิรวบไปจนได้ และทุกคนก็หมดหวัง ไอ้การหมดหวังมันไม่ใช่สิ่งที่ดี เราต้องมีความหวังตลอดเวลา เราต้องคิดว่าโลกไม่ใช่เป็นอย่างที่มันเป็น แต่โลกมันต้องเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น และเราต้องสู้เพื่อให้โลกมันเป็นอย่างที่ควรจะเป็น

10. สุดท้าย ‘เมืองน่าอยู่’ ในความหมายของคุณต้องเป็นอย่างไร

        เป็นเมืองที่สามารถจัดการกับอบายมุขทั้งหลายให้หมดไปได้ และต้องทำให้ประชาชนมีความหวัง ไม่ใช่อยากย้ายประเทศตลอดเวลา นอกจากนี้ต้องเป็นเมืองที่มีชีวิต ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ผู้คนต้องมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข อยู่แล้วต้องพัฒนาชีวิตตัวเองได้ และถ้าจะให้ดีกว่านั้น เมืองนี้น่าจะทำให้คนเข้าใจในชีวิตตัวเองมากขึ้น คืออย่าทุกข์ง่าย อย่าสุขยาก จงมีชีวิตด้วยความสุขง่ายๆ กับสิ่งรอบตัว แล้วก็อยากให้มีประชาชนที่เป็น Smart Citizen หรือประชาชนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่เป็นคนดูดาย หรือปัดความรับผิดชอบ อยากให้หันหน้ามาร่วมมือกัน เพื่อทำให้เมืองเมืองนี้มันน่าอยู่จริงๆ


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ