คุย 10 คำถามกับ ‘สกลธี’ อยากให้ กทม. ดีกว่านี้ ผู้ว่าฯ ต้องสายลุย และบริหารจัดการเป็น

“ใน 3-4  ปีที่ผ่านมา ผมลงไปในแทบทุกพื้นที่ของ กทม. ได้เห็นภาพความเป็นจริง สมมติถ้าผมทำงานอยู่ในห้องอย่างเดียว ผมก็จะไม่รู้ว่าปัญหาของ กทม. คืออะไร”

        บางส่วนบางตอนจากการได้นั่งสนทนากับ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หนนี้ เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ก้าวเข้ามาร่วมวงเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน  

        ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในการดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ สกลธีบอกว่า เขาสนุกกับการทำงานมาก และปัญหาที่ต้องแก้ไขก็มีมากเช่นเดียวกัน แต่คีย์สำคัญอย่างหนึ่งที่เขาได้ค้นพบจากการลงพื้นที่ทำงาน นั่นคือ อย่าปล่อยงาน ต้องจี้และติดตาม เพื่อที่จะทำให้ภารกิจนั้นๆ เสร็จสิ้นอย่างที่ตั้งใจ แต่ถึงอย่างนั้น กทม. เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 11 ล้านคน ยังมีอีกสารพันปัญหา และสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพ—ดีขึ้นจริงให้ได้ 

        “ถ้าผมได้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ สองเรื่องที่สำคัญที่ต้องนำมาใช้ คือหนึ่ง การบริหารจัดการให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และสอง ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น” 

        สกลธีว่าอย่างนั้น และบอกอีกด้วยว่า กรุงเทพฯ ในมุมมองของเขา ไม่ต้องวิลิศมาหรา ไม่ต้องขายฝัน แต่ขอแค่ ‘คนกรุงฯ’ อยู่เมืองนี้แล้วแฮปปี้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ที่สำคัญ เหล่านโยบายที่คิดขึ้นมาในช่วงหาเสียง เขายืนยันว่า “ผมสามารถทำทุกนโยบายที่ขายไว้ได้หมด ภายใน 4 ปีอย่างแน่นอน”

        หากเป็นรถแข่ง ก็ต้องบอกว่า เขามี ‘แต้มต่อ’ จากการเคยลงวิ่งในสนามแห่งนี้มาก่อน ยิ่งโดยเฉพาะการเห็นถึง ‘อุปสรรค’ จากหน้างานจริง แต่ถึงอย่างนั้น ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า คนมีประสบการณ์จะได้เปรียบ หากว่าไม่ลงมือทำอย่างตั้งใจ

        “คนเป็นผู้ว่าฯ สำหรับผม ต้องลุย ต้องมีพลัง อย่านั่งแต่ในห้องทำงาน ต้องไปเจอกับปัญหาตรงหน้า คุณถึงจะได้รู้ว่า มันควรแก้ไขอย่างไร”

        เวลาแห่งการช่วงชิง ‘เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.’ ใกล้เข้ามาทุกที ตามไปอ่าน 10 คำถาม-คำตอบ ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ ตลอดจนมุมมองของแคนดิเดตวัย 44 ปีคนนี้ ที่เขายังยืนยันชัดเจนว่า ทุกเรื่อง ทุกนโยบายที่หลุดออกจากปาก สามารถทำได้จริง…

1. ถ้าจะให้คะแนนตัวเองกับภารกิจเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. กว่า 4 ปีที่ผ่านมา คุณให้คะแนนตัวองเท่าไร

        ผมพอใจประมาณ 8 เต็ม 10 เรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจ ผมให้ตัวเองเต็มที่เลย ถ้าใครติดตามการทำงานของผมจะทราบดีว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับหน้าที่รองผู้ว่าฯ จนกระทั่งวันสุดท้าย ผมทำงานอย่างเต็มที่ ทำตลอด ซึ่งผลงานที่ตั้งใจไว้ก็เสร็จเกือบหมด อาจจะมีบางอย่างที่ติดขัดบ้าง เช่น ของบประมาณไม่ผ่าน หรือติดขัดในระบบการทำงาน แต่โดยรวมผมถือว่าพอใจ

        ถามว่าผลงานไหนที่เห็นเป็นภาพชัดๆ ยกตัวอย่างเรื่องเทศกิจ ผมสามารถย้ายซากรถที่จอดทิ้งเอาไว้ตามตรอกซอกซอย ทำไปได้ราวๆ 1,100 คัน เรื่องการจับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า 3-4 ปีที่ผ่านมา ผมจับปรับไปได้ราวๆ 46 ล้านบาท ซึ่งเยอะมาก เฉลี่ยปีละ 15 ล้านบาท ส่วนด้านความปลอดภัย ผมติดกล้อง CCTV จากเดิม 5 หมื่นกว่าตัว เพิ่มเป็น 6 หมื่นกว่าตัว แต่มันก็ยังไม่เพียงพอ ถ้าเทียบกับที่เมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ขนาดเมืองเขาพอๆ กับเรา แต่เขาติดกล้อง CCTV ทั้งเมือง 3 ล้านตัว ซึ่งแน่นอนว่ามันช่วยในเรื่องความปลอดภัยที่มากขึ้น ถ้าผมมีโอกาสจะกลับมาทำตรงนี้ต่ออย่างแน่นอน

        อีกเรื่องที่ผมหางบประมาณเอาไว้แล้วก่อนที่จะหมดวาระ คือการจ้างงานคนพิการ ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการไทยหาได้แทบน้อยมากที่จะจ้างคนพิการ แต่ กทม. ทำโครงการเตรียมเอาไว้แล้ว เราจะจ้างคนพิการ 300-400 คนต่อปี และก่อนหน้านี้เราได้เปิดโรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการขึ้นที่ย่านหนองจอก ส่วนหนึ่งผมลองฝึกให้ทำ smart farming ลองหัดปลูกพืชผักในลักษณะใช้พื้นที่ไม่เยอะ แต่เป็นพืชที่สามารถขายได้ ซึ่งพอเขามีความรู้จากตรงนี้ เขาก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้

        อีกเรื่องที่เป็นผลงานที่ภูมิใจเช่นกัน คือการทำสถานีดับเพลิงเพิ่มขึ้นอีก 4-5 สถานี ซึ่งโดยปกติเกิดเหตุไฟไหม้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1-2 เหตุการณ์ เราจะทำยังไงให้เจ้าหน้าที่ไปถึงจุดเกิดเหตุได้ภายในไม่เกิน 10 นาที ทางแก้คือต้องเพิ่มสถานีดับเพลิง ที่ผ่านมาเราทำเพิ่มไปได้ 4-5 สถานี แต่เตรียมที่จะขยายให้มากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก แถวคลองสามวา มีนบุรี ที่ยังมีสัดส่วนสถานีดับเพลิงอยู่เป็นจำนวนน้อย เรามีแผนสร้างเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

2. จากสโลแกนการหาเสียงของคุณ ‘กทม. More ทำกรุงเทพฯ ให้ดีกว่านี้ได้’ พอจะบอกได้ไหมว่า กรุงเทพฯ จะดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร

        กรุงเทพฯ จะดีขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วย นี่คือคอนเซปต์ของผม ผมยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เมื่อสักครู่ผมเล่าเรื่องที่จับมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า 46 ล้านคันใน 4 ปี นี่คือผมใช้แรงงานคนหมดเลย แต่ลองคิดดูว่าถ้าเรามีกล้อง CCTV ที่เยอะมากกว่านี้ มันจะช่วยผ่อนแรงคนไปได้เยอะ 

        หรือเรื่องการออกใบขออนุญาตต่างๆ เช่น ขออนุญาตก่อสร้าง เรื่องเหล่านี้เป็น pain point ของคนทำธุรกิจด้านนี้มาตลอด ต่อไปเราวางระบบให้เป็นออนไลน์ เอาทุกอย่างมาวางไว้บนโต๊ะ ไม่ใช่อยู่ใต้โต๊ะ ถึงเวลาถ้าคุณส่งเอกสารมาครบ เจ้าหน้าที่ไม่สิทธิ์ดึงเอกสารคุณไว้ได้ ในทางกลับกัน เขารับเอกสารคุณไป เขาต้องทำให้จบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย 

        หรือเรื่องการเก็บขยะ รอบการเก็บไม่เคยสัมพันธ์กับปริมาณขยะ บางซอยเก็บสองวัน บางวันซอยเก็บสามวัน อันนี้อยู่ที่การบริหารจัดการของ ผอ.เขต ซึ่งเป็นแผนเดิมที่ทำกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว พูดง่ายๆ ถ้าเก็บอยู่สองวันก็สองวันอยู่อย่างนั้นมาตลอด ทั้งๆ ที่บางชุมชนขยะน้อยกว่า แต่มาเก็บถึงสามวัน ปัญหาเหล่านี้ต้องเอาระบบเอไอเข้ามาช่วย ลองเอาวิทยาศาสตร์มาคำนวนดู แล้วจัดการแบบ tailor made คือดูเป็นเคสๆ อย่างชุมชนไหนขยะเยอะ ก็ปรับให้มีการเก็บที่ถี่ขึ้นหน่อย ปัญหาขยะล้นเพราะไม่มีคนมาเก็บก็จะลดลงไป

        ส่วนเรื่องศักยภาพในการเก็บขยะ ที่เป็นปัญหามายาวนาน ทำไมขยะถึงเก็บไม่พอ หรือทำไม กทม. ถึงต้องเอาพนักงานมาเก็บ ทำไมถึงไม่จ้าง outsource ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ. สาธารณสุข หรือ พ.ร.บ. รักษาความสะอาด สามารถทำได้ แต่ต้องไปแก้ที่ข้อบัญญัติของ กทม. เอง เพราะฉะนั้น ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ ผมจะใช้ outsource หรือให้เอกชนเข้ามาทำ

        ต่อไปนี้เราไม่ต้องซื้อถังขยะ เอาเอกชนเข้ามาลงทุน แทนที่เราจะทุ่มเสียเงินไปกับการเก็บขยะปีละ 5 พันล้านบาท เราปล่อยเอกชนทำ ถึงเวลาเขาจ่ายเงินให้เราด้วย แล้วเราเอา 5 พันล้านที่เคยจ่าย ไปทำถนนให้แต่ละเขตเพิ่ม หรือไปทำอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม หรือทำโครงการที่สร้างคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพให้ดีขึ้นดีกว่า

        กทม. ไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่างก็ได้ แต่ต้องรู้จักบริหารจัดการ ลองเอาวิธีการใหม่ๆ เข้ามาใช้ดู อะไรที่เคยทำมาเป็น 10-20 ปี ถ้ามันไม่ดีขึ้นก็ลองเปลี่ยนบ้าง แล้วที่สำคัญ ต้องรู้จักดึงเงินจากข้างนอกเข้ามาด้วย 

 

3. กับการลงสนามจริงตลอด 4 ปีที่ผ่าน คุณเห็น ‘จุดอ่อน’ อะไรในระบบการทำงานของ กทม.

        ผมยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการประมูลงาน หรือการบิดดิ้ง (bidding) ที่ผ่านมา ข้อเสียของการบิดดิ้งคือ มักจะเลือกเจ้าที่ยื่นราคาประมูลถูกที่สุด แต่ปัญหาที่มักจะตามมาคือพวกที่ประมูลไปในราคาถูก พอถึงเวลามักจะทิ้งงานไปกลางคัน 

        เรื่องนี้ กทม. เจอบ่อยมาก สมมติเป็นโครงการลอกท่อราคา  5 แสน มีเจ้าหนึ่งมาประมูลไปแค่แสนเดียว กทม. ก็ให้ไป เพราะถูก แต่พอถึงเวลาทำงานจริง ลอกท่อไปสองจ้วง จากนั้นก็หนีหายไปดื้อๆ เอาเงินแสนหนึ่งไปเรียบร้อย ผมจึงมองว่า การบิดดิ้งแค่ราคาอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ มันต้องมีอย่างอื่นเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เช่น ประวัติของบริษัท ผลงานที่ผ่านมา 

        ดังนั้น ถ้าได้เข้าไปทำงานอีกครั้ง ผมจะรื้อการทำสัญญา TOR (Terms of Reference) ใหม่ทั้งหมด ต่อไปคุณจะเอาบริษัทมาประมูลรับเหมาลอกท่อ ผมไม่ให้คุณใช้ราคาอย่างเดียว แต่ผมพิจารณาเรื่องผลงานในอดีตที่เคยทำมาด้วย ไม่อย่างนั้นพอตัดสินกันแค่ด้วยราคา คุณก็จะเอาที่ราคาถูกสุด แต่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ งานเหล่านี้มันเป็นงานมีรายละเอียด ผู้ว่าฯ ต้องใส่ใจ เพราะสุดท้ายเมื่อผลงานออกมาไม่ดี คนที่ถูกตำหนิคนแรกก็คือผู้ว่าฯ กทม. นั่นล่ะ

4. คุณคิดว่า ‘กุญแจสำคัญ’ ในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. คือะไร

        คือการรู้จักบริหารงาน กรุงเทพฯ มีงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่หักเงินเดือนพนักงานไปแล้ว 40% เบ็ดเสร็จจะเหลือเงินให้ใช้จริงๆ ราวๆ 4 หมื่นล้านบาท ยิ่งเมื่อ 2 ปีก่อน เราเจอวิกฤตโควิด-19 งบประมาณถูกหั่น เหลือเงินสนับสนุนราวๆ 2 หมื่นล้าน โครงการต่างๆ ที่ว่าจะทำ ก็พลอยหยุดชะงัก ชะลอตัวกันหมด 

        แต่ขณะเดียวกัน ปัญหามันมีทุกเรื่อง ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องไฟ เรื่องถนน เรื่องกล้อง เรื่องขยะ ซึ่งคนเป็นผู้ว่าฯ ต้องบริหารจัดการเป็น เรามีเวลา 4 ปี เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องทำ และเงินที่มีมันไม่ได้เยอะแยะอะไรเลย ซึ่งถ้าเราจะรอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าเราคงทำในสิ่งที่อยากทำไมได้ ดังนั้น ผู้ว่าฯ ควรมีวิธีการหาเงินเอง เพื่อนำเงินเข้ามาบริหารจัดการสิ่งที่ทำอยู่ให้เดินหน้าไปได้ดีกว่านี้

        เช่น เรามีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่ดินของ กทม. เอามาเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ได้ไหม อาจจะให้เช่า หรือให้เอกชนเอาไปทำนู่นทำนี่ หรือพื้นที่ต่างๆ ของเรา เราให้สิทธิ์เอกชนในการทำโฆษณา เช่น เอาป้ายโฆษณามาติด เอาจอโฆษณามาติด ได้เงินค่าเช่าเพิ่มเติม หรืออาจจะออกเป็นพันธบัตร อะไรก็ว่าไป ซึ่งถามว่า ตามกฎหมายเราทำได้ไหม เราทำได้ ใน พ.ร.บ. กทม. เรามีอำนาจในการทำสิ่งเหล่านี้ได้

        นอกจากบริหารงานให้เป็นแล้ว อีกอย่างที่คนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำ คือการบริหารความพึงพอใจของคนกรุงเทพฯ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปัญหามันแก้ไม่ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก มันต้องมีจุดที่ผิดพลาดบ้าง แต่ถ้าเราตั้งใจ และทำให้เห็นว่าเรามีวิธีการแก้ไข หรือทำให้ผลมันออกมาดีกว่าที่เคยเป็น แม้ว่าอาจจะยังไม่ 100% แต่ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ รับได้ มันเหมือนเหตุการณ์ฝนตกหนัก แล้วน้ำท่วมกรุงเทพฯ  ประชาชนต้องเห็นผู้ว่าฯ ต่อให้ทำอะไรไม่ได้ แต่ผู้ว่าฯ ต้องไปสั่งการ เพื่อทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น ผมว่าคนกรุงเทพฯ อยากเห็นภาพเหล่านั้น มันเป็นเรื่องทางจิตใจที่เรามองข้ามไปไม่ได้

5. คุณพูดถึง ‘น้ำท่วม’ นี่คือหนึ่งในปัญหาสุดคลาสสิกของ กทม. ถ้าพรุ่งนี้คุณคือผู้ว่าฯ กทม. คุณจะแก้ไขมันอย่างไร

        ปัญหาอย่างหนึ่งของการระบายน้ำในกรุงเทพฯ คือท่อระบายน้ำ ขนาดที่เราใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 60 เซนติเมตร ถ้าฝนตกลงมาในระดับที่เกินกว่าท่อจะรับได้ ยังไงก็ท่วม เราต้องเปลี่ยนขนาดท่อระบายน้ำ ทุกแห่ง ทุกซอย ให้มีขนาดใหญ่กว่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ตัวช่วยที่เราลงทุนกับมันไปอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นอุโมงค์ระบาย, water bank,  pipe jacking หรือที่ผลักดันน้ำ ปัจจุบันเรามีทุกอย่างครบหมด เพียงแต่ท่อระบายน้ำ 80-90% ที่อยู่หน้าบ้านนี่แหล มันมีขนาดเล็ก น้ำจึงไม่สามารถเดินทางไปถึงตัวช่วยเหล่านี้ได้

        นอกจากต้องเปลี่ยนท่อระบายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย คือการลอกท่อ เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเรามีโครงการสร้างรถไฟฟ้าแทบจะทั่วกรุงเทพฯ แล้วผู้รับเหมาบางรายก็ชุ่ย พอทำเสร็จปุ๊บกวาดปูนลงไปในท่อ ท่อมันก็เลยตัน เพราะฉะนั้น ต้องไล่ทะลวงท่อ ทุกบ้าน ทุกซอย ความยาวรวมประมาณ 6,400 กิโลเมตรทั่วกรุง เพื่อให้มันพร้อมรับกับอุปกรณ์ที่เราลงทุนไป เพราะถ้าน้ำเดินทางไปช้า ประสิทธิภาพของสิ่งที่ทำขึ้นมา ก็ไม่สามารถทำให้น้ำลดลงไปได้ 

6. คุณได้เบอร์ 3 ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ เราขอสัก 3 นโยบาย ที่คุณคิดว่ามันจะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

        จริงๆ มีหลายเรื่อง แต่ถ้าให้ยก 3 เรื่องที่จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องแรก การจราจร หรือเรื่องรถติด เรื่องนี้เป็น pain point ของคนกรุงเทพฯ มาตลอด จะทำยังไงให้ปัญหามันลดลง กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนเพียง 5% แต่มีรถจำนวน 11 ล้านคัน อันนี้เฉพาะที่จดทะเบียนกรุงเทพฯ ไม่นับทะเบียนต่างจังหวัดที่วิ่งเข้ามาอีก ถ้ามาวิ่งพร้อมๆ กัน ยังไงรถก็ติด

        ปัญหาที่ต้องแก้คือ ทำยังไงให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำให้ขนส่งสาธารณะสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งอีก 2-3 ปี รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ก็จะทยอยก่อสร้างเสร็จ แต่ปัญหาคือ คนก็อาจจะไม่ใช้อยู่ดี เพราะมันไม่สะดวก เราจึงต้องนำ feeder เข้ามาช่วย ก่อนหน้านี้ท่านนายกฯ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เคยสนับสนุนโครงการล้อ ราง เรือ คือเราต้องเอา feeder เหล่านี้มาช่วย โดยเข้ามาเชื่อมต่อให้คนสามารถเดินทางไปหารถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งตรงนี้เราต้องทำให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงจริงๆ เพื่อให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าให้ได้ 

        อีกส่วนหนึ่งของเรื่องจราจรคือ การวางระบบสัญญาณไฟจราจรด้วยเอไอ เมื่อก่อนเราใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมสัญญาณไฟ แต่บางครั้งตำรวจอาจจะเห็นแค่เฉพาะปริมาณรถตรงหน้า อยากจะปล่อยแค่รถตรงบริเวณแยกของตัวเอง ไม่ได้เห็นว่าทำแบบนั้นอีกสามแยกต่อไปข้างหน้า รถอาจจะติดหนักก็เป็นได้ ทีนี้ถ้ามีเอไอเข้ามาช่วยคำนวนทั้งระบบ ด้วยการทำงานจะรู้เลยว่า ควรปล่อยสัญญาณไฟแค่ไหนอย่างไร 

        จากเรื่องจราจร มานโยบายข้อที่สอง เรื่องสาธารณสุข กทม. มีศูนย์สาธารณสุขอยู่ 69 แห่ง แต่เราไม่ได้ใช้ศูนย์ฯ ให้เต็มศักยภาพ แล้วที่สำคัญ เรามักจะเห็นผู้สูงอายุต้องเดินทางฝ่ารถติดไปนั่งรอเข้าคิวตรวจที่โรงพยาบาลแต่เช้า กว่าจะได้ตรวจก็บ่าย ทำไมเราไม่เอาหมอมาไว้ที่ศูนย์สาธารณสุขเหล่านี้ เพื่อให้คนเฒ่าคนแก่ไม่ต้องเดินทาง แต่คำว่าพาหมอมาที่ศูนย์สาธารณสุข ผมไม่ได้หมายความว่าให้หมอมาจริง แต่ให้หมอมาตรวจคนไข้ผ่านระบบที่เรียกว่า telemedicine โดยให้คุณหมอตรวจผ่านระบบออนไลน์ อาจจะต้องบริหารจัดการเรื่องคิวของคุณหมอสักหน่อย เช่น จัดแบ่งเวรคุณหมอที่ต้องมาตรจคนไข้ผ่าน telemedicine ตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปจนถึงเที่ยง กระจายไปตามศูนย์สาธารณสุขต่างๆ ส่วนเรื่องการจ่ายยา ให้ใช้วิธีส่งยาไปที่บ้าน พวกนี้คือเคสคนไข้ทั่วไป แต่ถ้าเจ็บป่วยถึงขนาดต้องแอดมิต หรือเป็นคนไข้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจเฉพาะทาง ประเภทเหล่านี้ถึงค่อยนัดมาตรวจที่โรงพยาบาล 

        ปัจจุบันศูนย์สาธารณสุขมีอยู่ 69 แห่ง ความจริงต้องเพิ่มอีก สมมติ กทม. มี 50 เขต อย่างน้อยควรมีศูนย์ฯ แบบนี้เขตละ 2-3 แห่ง ตั้งอยู่ตามชุมชนใหญ่ๆ เพื่อให้สามารถเข้ามาดูแลคนเจ็บคนป่วยได้ทั่วถึง รวมทั้งแบ่งเบาภาระการจัดการภายในโรงพยาบาลหลักไปได้อีกเยอะ

        มาถึงเรื่องที่สาม ผมเน้นที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นั่นคือ เรื่องกล้องวรจรปิด CCTV จากเดิมตอนนี้มี 6 หมื่นกว่าตัว ต้องเพิ่มขึ้นอีก แล้วระบบการทำงาน ต้องซิงก์ไปที่ส่วนกลางทั้งหมด เรามีวอร์รูมไว้สำหรับดูภาพจากกล้องเหล่านี้ จาก 6 หมื่นกว่าตัวต้องดูได้จากที่เดียว แล้วหากจะขอดูภาพ เมื่อก่อนประชาชนต้องเอาซีดีมาขอไรต์ใส่แผ่น ปัจจุบันส่งเป็นไฟล์ให้เขาไปเลย ไม่ต้องเอาซีดีมาที่ศาลาว่าการ กทม. อีกแล้ว 

        ผมคิดว่าถ้ามีกล้อง CCTV มากขึ้น และมีสัดส่วนครอบคลุมในทุกพื้นที่ ทั้งตรอก ซอก ซอย ความปลอดภัยจะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน แล้วเสาที่ใช้ติดตัวกล้อง ไหนๆ ก็ต้องใช้ปักไปบนทางเท้าแล้ว เราทำให้มันมีประโยชน์มากขึ้นไปอีก เช่น ติดตั้งสัญญาณ Wi-Fi ใช้ฟรี ติดไฟส่องสว่าง ซึ่งอาจมีคนแย้งว่า เรื่องไฟฟ้านอกอำนาจหน้าที่ กทม. หรือเปล่า เราทำโซลาร์เซลล์สิ ผมสามารถผลิตไฟส่องสว่างได้เอง ซึ่งผลิตแค่ให้มันพอใช้ช่วงกลางคืน เท่านี้ก็จะช่วยเรื่องความปลอดภัยได้มากขึ้นแล้ว อ้อ! อีกอย่าง เสานี้ต้องติด PM 2.5 indicator หรือเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ประชาชนผ่านไปบริเวณไหน สามารถรู้ค่าฝุ่นบริเวณนั้นได้ทันที จากเสาเสาเดียว เราสร้างประโยชน์จากมันได้มากมาย แล้วสำคัญที่สุด คือมันสามารถทำได้จริงๆ

7. ถ้าคุณจะใส่อะไรลงไปใน 50 เขตของ กทม. แล้วเชื่อว่าจะทำให้ กทม. ดีขึ้นได้ในทันที คิดว่าจะใส่อะไรลงไป

        อย่างที่เล่าไปเมื่อสักครู่ ถ้าผมใส่ได้เลย ผมคงใส่กล้อง CCTV ให้กระจายเพิ่มขึ้น ความจริงผมวางแผนเรื่องงบประมาณตรงนี้ไว้ปีละ 3 พันล้านบาท คือต้องทำให้มันเพิ่มขึ้นจริงๆ แล้วมาดูว่าชีวิตความปลอดภัยของผู้คนจะดีขึ้นแค่ไหน กับอีกเรื่องที่อยากใส่เข้าไปทันทีคือ เรื่องสาธารณสุข ถ้าเราใช้ระบบ telemedicine เข้ามาช่วย ผมเชื่อว่าประชาชนจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น เรื่องสุขภาพของประชาชนก็จะดีขึ้น 

        อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องสีเขียว หรือสวนสาธารณะ กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ประมาณ 38 แห่ง ทั้ง 50 เขต แต่เราจะทำยังไงให้ทุกเขตมีสวนจำนวนเยอะขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเป็นสวนขนาดใหญ่ ขอแค่ขนาด 2 ไร่ 5 ไร่ก็ได้ ผมเคยไปทำที่เขตลาดพร้าว ชื่อว่า ‘สวนอยู่เย็น’ พอดีเราไปได้ที่รกร้างว่างเปล่าของ กทม. ก่อนหน้านี้มีคนเข้ามาบุกรุก เราก็ให้ทางเขตไปเคลียร์ เอาคนที่บุกรุกพื้นที่เข้ามา ให้ไปอยู่ที่บ้านมั่นคง ของ กทม. แล้วที่ดินตรงนี้เราก็ให้ทางเขตไปไถให้เป็นที่โล่งๆ แล้วลงต้นไม้ไว้ จากนั้นให้สำนักโยธา มาช่วยทำลู่วิ่ง สรุปว่าได้สวนเล็กๆ มาสวนหนึ่ง ให้คนได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจ โดยที่ไม่ต้องใช้งบแบบเป็นทางการเลย ซึ่งผมอยากทำอย่างนี้ในทุกๆ เขต ไม่จำเป็นต้องเขตละหนึ่งแห่งก็ได้ อาจจะ 2-3 แห่ง เท่าที่กำลังของเขตนั้นๆ จะทำได้ ในอนาคตจะทำให้เรามีสวนอยู่ใกล้ๆ ชุมชน ใกล้ๆ บ้านมากขึ้น

        ชีวิตคนกรุงเทพฯ สำหรับผม ไม่ต้องวิลิศมาหรา เอาเรื่องพื้นฐานให้ดีก่อน เช่น ไฟสว่าง กล้องครบ มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ขนส่งสาธารณะสะดวก เรื่องสำคัญอีกอย่าง ถึงเวลาฝนตกขอให้น้ำไม่ท่วมนานนัก ท่วมในแบบที่คนพอเข้าใจได้ เพราะบางทีมันอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ถ้าปริมาณมันมากเกินรับไหวก็ต้องเข้าใจ แต่ถ้าตรงไหนท่วมซ้ำซาก อันนี้ต้องแก้ไข หาวิธีเข้าไปจัดการ โจทย์ของเราคือ ทำยังไงให้เรื่องพื้นฐานที่มีอยู่แล้วมันดีขึ้น หรือแก้ไขให้มันดีขึ้น แล้วชีวิตคน กทม. ก็จะดีขึ้นตามมา

8. ปีนี้กรุงเทพฯ มีอายุ 240 ปี ถ้ากรุงเทพจะมีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ชื่อ ‘สกลธี’ คุณคิดว่าจะพา กทม. เดินหน้าไปทิศทางไหน

        ถ้าพูดตามสโลแกนหาเสียงของผม ต้องพากรุงเทพฯ ไปที่ที่ดีกว่านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่า ถ้าได้รับโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. ภายใน 4 ปีนี้ ผมสามารถทำให้เห็นผลได้แน่นอน ผมไม่ได้พูดแบบขายฝัน แต่ผมมีเหตุผลรองรับ ด้วยหนึ่ง ผมมีประสบการณ์มาแล้ว ผมรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไมได้ และอะไรที่ต้องทำ ข้อสอง ผมมีสไตล์การทำงานที่จี้ติด ผมทำงานเชิงรุก และลงลึกด้วย และข้อสาม ผมอยู่กับโลกความเป็นจริง สิ่งที่ผมบอกมาทั้งหมด ผมยืนยันว่าสามารถทำได้จริง และทำให้เห็นผลได้แน่นอน แม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับทำให้เป็นเมืองที่สุดยอดความศิวิไลซ์ แต่มันต้องเป็นเมืองที่ผู้คนมีความสุขมากขึ้น

9. ‘เมืองน่าอยู่’ ในมุมมองของคุณต้องเป็นอย่างไร

        เป็นเมืองที่สะดวกสบาย ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดที่สุด สมมติคุณอยากทิ้งขยะตรงไหน ต้องมีถังขยะให้คุณได้ทิ้ง ไม่ใช่มองหาแล้วไม่เจอ นอกจากนี้เดินทางไปไหนก็ต้องปลอดภัย มีไฟส่องสว่าง มีพื้นที่สีเขียว มีอากาศดีๆ มีที่ให้คนออกกำลังกาย มีสถานที่ให้คนในครอบครัวได้แชร์เวลาร่วมกันในวันหยุด คือไม่ใช่แค่ทำองค์ประกอบของเมืองให้ดี แต่เรื่องสุขภาพจิตของคนในเมืองก็ต้องดีด้วย ดังนั้น หน้าที่ของเราคือต้องทำให้ระบบการบริการของกรุงเทพฯ กับประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วเมืองจะน่าอยู่ขึ้น

10. ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครในฝัน’ ของคุณต้องเป็นอย่างไร

        ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ และมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ผู้ว่าฯ ในฝันของผม ต้องเป็นคนที่มีพลัง รวมทั้งต้องลุยทุกปัญหา คือทำงานอยู่ในห้องอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่มีทางเห็นปัญหา หน้าที่ผู้ว่าฯ คือต้องลงไปสัมผัสกับทุกๆ ปัญหาเหล่านั้น เช่น ทำไมคนเดินทางไม่สะดวก ขนส่งสาธารณะไม่เอื้ออำนวย ไปไหนต่อรถยาก เราลองลงไปสัมผัสดูสิว่ามันยากจริงแค่ไหน หรือระบบสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพ ลงไปดูหน่อยสิว่ามันเกิดอะไรขึ้น หรือทำไมเวลาคนจะไปสวนสาธารณะต้องเดินทางข้ามเขตไปไกลๆ ทำไมไม่มีสวนในเขตของเขา เรื่องเหล่านี้ต้องเอาตัวไปอยู่กับปัญหา พอได้เห็นปัญหาแล้ว เราจะรู้วิธีว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้น คนเป็นผู้ว่าฯ ต้องคิด ทำ และต้องเป็นแบบนี้อยู่เสมอ


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ