10 คำถามกับ ‘ศิธา’ แคนดิเดตที่พร้อมจะลงมือทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ‘ไม่เคยคิดทำ’

“วิธีการทำงานของทหารอากาศ เราใช้การระดมสมอง ร่วมกันวางแผน พร้อมทั้งรับฟังปัญหาจากทุกคน เราถูกฝึกคิดให้มีลอจิก (logic) หรือมีเหตุมีผล และทุกครั้งที่เราออกไปทำการบิน นั่นหมายความว่าเราได้เอาทรัพยากรของประเทศชาติราคาเป็นพันล้านออกไปด้วย ดังนั้น หน้าที่ของเราคือ ต้องทำให้สิ่งเหล่านั้น สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากที่สุด”

        ประโยคบางช่วงบางตอนจากการพูดคุยกับ น.ต. ศิธา ทิวารี อดีตนายทหารอากาศ รวมทั้งยังเคยเป็นนักบินขับเครื่องบินเอฟ-16 แต่สำหรับในวันนี้ เขาคือหนึ่งในแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเจ้าตัวได้รับหมายเลข 11 ในการหาเสียงครั้งนี้

        “หลายคนบอกว่าผมเปิดตัวลงผู้ว่าฯ ช้า มีเวลาแค่ 50 กว่าวัน จะสู้คนอื่นไหวเหรอ แต่ผมไม่กังวลนะ เพราะผมเชื่อมั่นว่าเรามีความคิดที่ดี และก็เชื่ออีกว่า มีคนที่เห็นด้วยกับผมอยู่ไม่น้อย”

        จากผลสำรวจโพลหลายสำนักที่ออกมา แม้ว่าชื่อศิธาอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับหัวแถว เป็นตัวเต็งชนิดมีกระแสแรงเชียร์ท่วมท้น แต่เขาพยายามชูจุดขายในไอเดียที่แตกต่าง แถมด้วยประสบการณ์จากเวทีการเมืองระดับชาติอีกกว่า 30 ปี จึงพอจะการันตีได้ว่าสิ่งที่ศิธาคิดและพูดออกมานั้น เขาทำได้จริง และมีเหตุมีผลเพียงพอ หนำซ้ำบางไอเดียของเขา ยังน่านำไปทดลองแก้ ‘ปัญหา’ อันหมักหมมของกรุงเทพฯ ที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย

        จุดนี้จึงทำให้ ‘ม้านอกสายตา’ อย่างศิธา เริ่มวิ่งไล่แรงแซงขึ้นมาทุกขณะ จากที่เปิดตัวช้า กลายเป็นว่าไปปรากฏตัวบนเวทีดีเบตที่ไหน เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ สุดท้ายเมื่อถึงวันเข้าคูหา ไม่ว่าจะกาเบอร์อะไร ศิธาบอกว่า ยินดีน้อมรับฟังเสียงของประชาชนชาว กทม. และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะเดินหน้าพัฒนา ‘กรุงเทพฯ’ ต่อไปอย่างแน่นอน

        “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ผมอยู่กรุงเทพฯ มาตลอด แล้วลูกหลานผมก็ต้องอยู่เมืองนี้ต่อไป ดังนั้น ผมอยากทำกรุงเทพฯ ให้พัฒนาขึ้นไปกว่านี้”

        ก่อนจะถึงวาระการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอีกไม่กี่วันนี้ เรามาร่วมสนทนากับแคนดิเดตเบอร์ 11 พร้อมกับ 10 คำถาม ที่เตรียมไว้ให้เขาได้ตอบ กรุงเทพมีเรื่องให้ต้องแก้ไขมากมาย และผู้ชายที่ชื่อ ‘ศิธา’ อาสามาช่วยจัดการ ด้วยวิธีคิดดีๆ จากบทสนทนาครั้งนี้…

1. ในฐานะที่คุณเคยเป็นนักบินเอฟ-16 มาก่อน คุณคิดว่าทักษะไหนของการเป็นนักบินที่สามารถนำประยุกต์ใช้ในการเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้บ้าง

        โดยปกติทหารอากาศมักถูกสอนให้ทำงานเป็นทีม เน้นการระดมสมอง ร่วมกันวางแผน เราถูกฝึกสอนว่าเราไม่ได้มีหน้าที่ไปตายในสนามรบ แต่มีหน้าที่ที่จะต้องนำทรัพยากรของชาติ ราคาเป็นพันล้าน ซึ่งก็คือเครื่องบิน ให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากที่สุด 

        ผมคิดว่าด้วยนัยยะความสำคัญตรงนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ กล่าวคือ เราต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นนักวางแผนที่ดี และสำคัญที่สุด ทำยังไงให้สามารถใช้ทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

        แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะทำหน้าที่ให้ได้ดี คุณก็ต้องมีประสบการณ์ที่มากพอ ภาษาทหารอากาศเขาเรียกว่า ต้องมีชั่วโมงบิน ต้องเรียนรู้มาก่อน แล้วต้องรู้จริง รู้อย่างมีเหตุมีผล คุณถึงจะทำหน้าที่ตรงนั้นออกมาได้ดี

2. กับการอาสาเข้ามาเป็น ‘พ่อเมือง กทม.’ ครั้งนี้ คุณคิดว่ากุญแจสำคัญอะไรที่คนเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องมี

        สำหรับผม มันคือการมีกระบวนการคิดที่ดี รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ในที่นี้ คือสิ่งที่เรามองเห็นว่า เรื่องที่จะลงมือทำต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน หรือคนส่วนรวมได้มากที่สุด ผมยกตัวอย่างสมัยที่ผมเคยเป็นประธานบอร์ดของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ผมเป็นคนที่ริเริ่มให้ทำสนามขี่จักรยานที่สุวรรณภูมิ เรื่องมันเกิดจากการที่มีคนร้องเรียน แจ้งว่ามีรถของคนที่มาขี่จักรยานถูกงัดแงะ ทางการท่าฯ จึงตัดสินใจปิดไม่ให้คนภายนอกเข้ามาจอดรถเพื่อเป็นการตัดปัญหา

        แต่ผมเกิดสนใจขึ้นมา เพราะอยู่ๆ การที่มีคนประมาณ 300-400 คนเข้ามาใช้บริการสนามแห่งนี้ แสดงว่ามันต้องมีอะไรดี ไม่กี่วันต่อมา ผมเอาจักรยานลงไปปั่นกับเขาด้วย มันเลยทำให้ผมเห็นว่า สนามที่นี่มีวิวที่สวยงาม บรรยากาศดี เรียกว่าเป็นสวรรค์ของคนขี่จักรยานเลยก็ว่าได้ 

        จากนั้นผมสั่งเปิดให้คนเข้ามาจอดรถได้เหมือนเดิม แล้วเพิ่ม รปภ. เข้าไปดูแล มากกว่านั้น ผมพัฒนาถนนด้านในสนามบินความยาวกว่า 23.5 กิโลเมตร จากแต่ก่อนพื้นเป็นหลุมเป็นบ่อ ผมทำพื้นให้เรียบอย่างดี แล้วไปเอาสีมาทาสวยงาม ผมใช้งบซ่อมบำรุงไปไม่กี่ล้าน แต่ได้สนามจักรยานอย่างดีเพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง 

        ปรากฏว่าพอเปิดใช้งานไปได้ไม่นาน มีคนเข้ามาใช้บริการวันละ 3,000-4,000 คน พอแบรนด์สินค้าเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งมาเห็นเข้า เขาขอมาเป็นสปอนเซอร์ ช่วยทำคลับเฮาส์ให้ ลงทุนไป 40 ล้านบาท จากที่ไม่มีอะไรเลย อยู่ๆ มีคนมาลงทุนให้ 40 ล้าน ไม่นานนัก ทาง SCB ไปได้ข่าวว่าที่นี่เป็นสวรรค์ของคนขี่จักรยาน พอเขามาดู เขายื่นข้อเสนอ ขอเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักในการบริหารจัดการสนามเป็นเวลา 10 ปี โดยจะมอบเงินให้ปีละ 40 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท 

        ปัจจุบัน SCB ยังเป็นผู้บริหารจัดการสนามแห่งนี้อยู่ น่าจะลงเงินไปเป็นพันล้านบาทแล้ว ถือว่าเป็นการทำ CSR ที่ดีที่สุดของรัฐวิสาหกิจก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันสนามจักรยานแห่งนี้ ทำให้คนมาปั่นจักรยานกันปีละราวๆ หนึ่งล้านคน เฉลี่ยเดือนละสามพันกว่าคน บางวันเป็นหลักหมื่น 

        สิ่งที่ผมอยากสะท้อนจากเรื่องนี้คือ ถ้าคุณมีกระบวนการคิดที่ดี แล้วมีวิสัยทัศน์ คุณจะสามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นได้เสมอ เหมือนอย่างที่ผมทำสนามจักรยานแห่งนี้ จากวันที่ไม่มีอะไรเลย แต่ผมสามารถทำให้เศษหินเศษดิน กลับกลายเป็นมีมูลค่านับพันล้านบาท สำคัญมากไปกว่านั้น ผมทำให้คนมาขี่จักรยานออกกำลังกาย ปีหนึ่งกว่า 30 ล้านกิโลเมตร นี่คือโอกาสที่ผมเห็น แล้วผมสามารถทำมันได้สำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมอยากนำมาต่อยอดเพื่อคนกรุงเทพฯ ต่อไป

3. ที่ผ่านมา คุณมีสโลแกนการหาเสียงที่ชวนสะดุดหู คุณบอกว่า ‘จะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ’ พอจะยกตัวอย่างได้ไหมว่า เรื่องเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

        ผมยกนโยบายเรื่องนี้ที่เป็นนโยบายหลักของพรรคไทยสร้างไทย นั่นคือ การเน้นให้การช่วยเหลือคนตัวเล็กๆ ในสังคม หรือเรียกว่าการสร้าง empower เพิ่มพลังให้กับประชาชน โดยการปลดล็อกสิ่งที่เคยกดทับเขา หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เขาทำมาหากินได้ยาก เช่น เรื่องกฎหมาย ในอดีตเคยมีกฎหมายอะไรที่มันไม่เอื้อต่อการทำมาหากินของประชาชน เราจะต้องเข้าไปแก้ไข 

        แล้วเราก็จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมา การทำงานของข้าราชการเหมือนกรรไกร คือมีความคมด้านเดียว หลายๆ โครงการใช้นักวิชาการมาทำ หรือจ้างที่ปรึกษาในราคาค่าใช้จ่ายเป็นล้านๆ แต่ว่าที่สุด มันไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะคุณไม่ได้ฟังข้อเสนอจากประชาชน กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำมาไม่เคยตอบโจทย์ หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างแท้จริง

        แต่การนำหลักการ empower เข้ามามีบทบาท จะทำให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะออกเสียง สามารถเข้ามาช่วยบอกได้ว่า ชุมชนของเขาต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร จากนั้นจึงจะเป็นทำงานร่วมกัน ทั้งข้าราชการ นักวิชาการ และประชาชน เพื่อทำให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างมีศักยภาพจริงๆ 

        อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ไม่เคยทำ แต่ผมจะลงมือทำ นั่นคือ ต้องเปลี่ยนมายด์เซตของข้าราชการ ต่อไปนี้ข้าราชการ กทม. ต้องมีวิธีคิดใหม่ จากระบบอุปถัมภ์แบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยนไปเป็นข้ารับใช้ประชาชน นี่ไม่ใช่วาทกรรม แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง 

        ผมเองเคยเป็นข้าราชการทหารอากาศมาตั้งแต่อายุ 18 ผมรู้ดี เราต้องเลิกเสียที ระบบผู้น้อยต้องเสิร์ฟผู้ใหญ่เพื่อให้หน้าที่การงานก้าวหน้า แต่พอเห็นผมพูดอย่างนี้ อาจสงสัยว่าผมจะไปทะเลาะกับข้าราชการ ไม่ใช่เลย ถ้าจะทะเลาะ เราทะเลาะกับข้าราชการแค่ 10% เท่านั้น คือกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากระบอบอุปถัมภ์ แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่เป็นกัน

        เพราะฉะนั้น เราต้องเลิกวิถีเหล่านี้ เพื่อทำให้คนทำงานดีๆ มีความหวัง มีกำลังใจ และอยากพัฒนาตัวเอง รวมทั้งทำให้องค์กร กทม. เจริญก้าวหน้า ไม่ใช่หวังแต่ทำความดีความชอบ เพื่อให้ผู้ใหญ่เห็น หมดยุคแบบนั้นแล้ว

4. คุณชูเรื่อง Empower การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนตัวเล็กๆ จึงเป็นที่มาของหนึ่งในนโยบายเรื่อง ‘เปิดให้ค้าขายได้ 24 ชั่วโมง’ นโยบายนี้ทำได้จริงๆ ใช่ไหม

        เปิด 24 ชั่วโมงได้ แต่ไม่สามารถเป็นไปได้กับทุกพื้นที่ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องใช้ระบบฟังเสียงประชาชน กลไกของเรื่องนี้เราต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาลงความเห็นกัน ยกตัวอย่างที่ถนนข้าวสาร ถ้าจะเปิดแบบ 24 ชั่วโมง เราต้องเรียกประชาชนย่านนั้นมาออกความเห็นร่วมกัน ใครมีความเห็นว่าอย่างไร ควรเปิดหรือไม่ควรเปิด สมมติมีคนบอกว่าควรให้เปิดสัก 70-80% เมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น เราก็ต้องให้เขาได้เปิด

        ผมมองว่าวิธีการนี้จะเป็นการโซนนิ่งกันไปเองโดยธรรมชาติ ถ้าย่านไหนไม่เหมาะกับการเปิดค้าขาย 24 ชั่วโมงจริงๆ ผู้คนในชุมชนเขาจะลงความเห็นกันเอง ซึ่งก็ต้องเข้าใจและรับได้ เรื่องแบบนี้ผมคิดว่าควรปล่อยให้ demand กับ supply ทำหน้าที่ของมัน แล้วสุดท้ายมันจะกลายเป็นเรื่องของชุมชนตกลงกันเอง เพียงแต่ทุกอย่างต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ กทม. วางเอาไว้

5. ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเรียบร้อยแล้ว และหลังวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ คงจะได้ปฏิบัติภารกิจ ‘ลุยน้ำท่วม’ ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนนั้น คุณจะจัดการกับปัญหาน้ำรอการระบายเหล่านี้อย่างไร

        คุณเชื่อไหม กรุงเทพฯ มีคลองรวมกันยาว 2 พันกว่ากิโลเมตร เราได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออกมาแต่ไหนแต่ไร แต่เราไม่เคยเอาคลองเหล่านี้มาใช้ประโยชน์จากปัญหาน้ำท่วมเลย ถ้าผมเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ ผมจะเริ่มต้นจากการบูรณาการปัญหาเสียก่อน เช่น กรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำที่ต้องเจอแน่ๆ คือ หนึ่ง น้ำเหนือ คือน้ำที่ไหลลงมาจากด้านบนของประเทศ สอง น้ำฝน และสาม น้ำหนุน คือน้ำทะเล 

        ทีนี้เมื่อมาดูในรายละเอียด ปริมาณน้ำเหนือ ถ้าไหลลงมาเกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำจะเอ่อล้นตลิ่ง ส่วนน้ำฝน ถ้าตกลงมาเกิน 60 มิลลิเมตรทั่วกรุงเทพฯ ก็เตรียมตัวน้ำท่วมขัง และสุดท้ายน้ำหนุน ถ้าวัดจากบริเวณปากคลองตลาด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมา หากมีความสูงเกิน 2.2 เมตร น้ำจะเริ่มท่วมเข้ามายังพื้นผิวถนน 

        หน้าที่ของเราคือ รองรับทั้งสามน้ำ ในเวลาที่มันเกินปริมาณ โดยใช้วิธี ‘พร่องน้ำ’ เราจะพร่องน้ำเข้าไปในคลอง ระยะทางกว่าสองพันกิโลเมตร ซึ่งมันสามารถทำได้ ทุกวันนี้ การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมาก เวลาพายุจะเข้า ฝนจะมา เขาบอกล่วงหน้าตั้งหลายวัน หน้าที่ของเราคือพร่องน้ำในคลองรอไว้ เพื่อเอาน้ำปริมาณมากมายเหล่านี้ให้ไปลงในคลองไว้ก่อน

        ทีนี้เรามาดูคุณภาพของคลอง ปัญหาที่ผ่านมาคือ เราไม่ค่อยขุดลอกคูคลอง เราใช้งบประมาณตรงนี้ต่อปีเป็นร้อยล้าน แต่ถึงเวลาทำจริง ไม่เคยมีใครเข้าไปตรวจเช็กดูว่าได้ลอกกันถึงราคาร้อยล้านหรือเปล่า เพราะน้ำก็ดำ สกปรก ไม่มีใครกล้าลงไปตรวจดูหรอก 

        ไม่เป็นไร ผมมีวิธี ง่ายมาก กรุงเทพฯ มีประตูกั้นน้ำทะเลอยู่ เวลาที่น้ำลง เราเปิดประตูออกให้สุดเพื่อให้น้ำไหลออกให้หมด พอน้ำไหลออกหมดปั๊บเราปิดประตูระบายน้ำ แล้วไปไล่ดูตามแม่น้ำลำคลอง ทีนี้จะรู้เลยว่าคลองเหล่านั้นมันถูกขุดลอกไปมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญ มันพร้อมที่จะเป็นตัวช่วยเวลาที่มีปริมาณน้ำมากๆ ได้จริงมั้ย 

        ที่ผ่านมา เราสร้างทั้งอุโมงค์ยักษ์ สร้างตัวช่วยมากมายหลายอย่าง เพื่อไม่ให้น้ำท่วม แต่ในความเป็นจริงคือ น้ำเหล่านี้ไม่เคยไหลเข้าไปยังอุปกรณ์เหล่านี้ เพราะขาดการบริหารจัดการ แล้วเราก็ปล่อยให้น้ำรอการระบายอยู่ที่หน้าแข้ง หรือที่หัวเข่าของเราอยู่ร่ำไป

6. มีนโยบายไหนที่คุณคิดว่า ถ้าเป็นผู้ว่าฯ แล้วคุณจะทำทันที และเชื่อว่ามันจะส่งผลดีต่อคนกรุงเทพฯ อย่างอย่างแน่นอน

        จริงๆ ทุกนโยบายนั่นล่ะครับ (ยิ้ม) เพราะผมเชื่อว่า หากมีกระบวนการคิดที่ดี ปัญหาหลายๆ อย่างของกรุงเทพฯ สามารถแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยก็บรรเทาเบาบางลงได้ ผมยกตัวอย่างเรื่องการกำจัดขยะแล้วกัน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของ กทม. มาโดยตลอด

        ทุกวันนี้เรามีโรงงานกำจัดขยะเพียงพออยู่แล้ว แต่ปัญหาคือลักษณะของขยะที่ต้องกำจัด มันไม่ได้ถูกแบ่งแยกแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พูดง่ายๆ มันมีทั้งขยะเปียก ขยะอันตราย รวมกันอยู่ในนั้น และเมื่อถึงเวลานำไปเผา มันจะเกิดมลภาวะขึ้นตามมา ไม่นับว่าต้องใช้พลังงานในการเผาที่มากกว่าปกติอีกด้วย

        ถามว่าต้องทำยังไง ถ้าผมได้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ ผมจะแยกระหว่างขยะมักง่าย กับขยะที่แยกมาแล้ว บ้านไหนคุณไม่แยกขยะ ที่ผมเรียกว่าขยะมักง่าย ก็ไม่เป็นไร ผมขอคิดอัตราค่าเก็บขยะแบบก้าวหน้า คือเก็บเพิ่มขึ้น เพราะถือว่านี่เป็นค่ามักง่าย ส่วนคนที่แยกขยะ ถ้าทำได้แบบถูกต้องสมบูรณ์ ผมจะไม่เก็บเงินคุณ แล้วผมให้พนักงานไปเก็บขยะให้ฟรีๆ อีกด้วย 

        ทุกวันนี้ กทม. ใช้จ่ายเงินค่าเก็บขยะปีหนึ่งราวๆ 7 พันล้าน ส่วนหนึ่งเราเก็บจากประชาชนได้มาประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งผมไม่เอาเงิน 400-500 ล้านนี้จากคนที่แยกขยะเรียบร้อย แต่ผมไปเก็บเพิ่มจากคนทิ้งขยะแบบมักง่ายแทน สมมติเคยเก็บอยู่ 100 ก็อาจจะเพิ่มเป็น 200 ซึ่งพอคำนวนเงินกันดีๆ ผมอาจจะได้เท่าทุนกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกัน ขยะครึ่งหนึ่งที่เกิดจากการแยกขยะมาเรียบร้อย ผมสามารถเอาไปขาย แปรเป็นเงินกลับมาทำประโยชน์ให้กับ กทม. ต่อได้อีก และที่สำคัญ พลังงานที่ใช้ในการกำจัดเหล่านี้ มันก็จะลดน้อยลงไปด้วย

        ถามว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ถ้าจะทำให้เห็นผลทันที ผมคิดว่าถ้ามีการเปลี่ยนอัตราการจ่ายที่แตกต่างกันจริง เดี๋ยวก็เห็นผล แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น คือคนจะค่อยๆ หันมาแยกขยะในท้ายที่สุด แล้วถ้าถึงวันที่ไม่มีใครทิ้งขยะมักง่ายอีกเลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกก็คือ ผมจะเก็บเงินค่าขยะไม่ได้สักบาท แต่ต้นทุนจากการดำเนินการเรื่องขยะกว่า 7 พันล้าน มันก็จะลดลงไปด้วย มันอาจจะถูกใช้ไปแค่ 3.5 พันล้าน หรือ 3 พันล้าน ซึ่งเงินส่วนต่างที่เหลือนี้ มันเปลี่ยนไปใช้เป็นประโยชน์กับส่วนอื่นๆ ของ กทม. ได้อีกมากมาย

7. ถ้าใช้หลัก KPI (Key Performance Indicator) มาเป็นตัววัดผลงาน หากคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. นับตั้งแต่ปีที่หนึ่งไปจนถึงปีที่สี่ คุณจะมีผลงานด้านไหนมาชี้วัดความสำเร็จในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ บ้าง

        ผมเริ่มตั้งแต่วันแรกเลย ผมจะเข้าไปคุยกับข้าราชการ กทม. เพื่อเปลี่ยนชุดความคิดทั้งหมด เราจะเป็นข้าราชการที่รับใช้ประชาชน ต่อไปนี้จะไม่มีข้าราชการในระบอบอุปถัมป์อีกต่อไป ถ้าเข้าไปเปลี่ยนมายด์เซตเหล่านี้ได้สัก 50% จะถือว่าดีมาก 

        แล้วผมจะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในเขตต่างๆ เสนอขึ้นมาว่าจะทำอะไร เราจะไม่มีเสาไฟกินรีที่คนใช้ไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้ใช้ หรืองบประมาณซ่อมแซมสวนลุมฯ 600 ล้านบาท ขอแบ่งมาสัก 300 ล้านบาท ไปสร้างสวนอื่นๆ เพิ่ม เพื่อกระจายความเสมอภาคให้กับประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ดีกว่ามั้ย 

        ส่วนเรื่องขยะ ผมจะทำเป็นระบบขั้นบันได คือค่อยๆ ให้คนปรับตัว พยายามให้คนหันมาแยกขยะให้ได้มากขึ้น ส่วนเรื่องน้ำท่วม ผมบอกเลยว่าถ้าใช้วิธีการของผม แก้ได้เลย 50% นี่คือสิ่งที่จะเกิดในปีแรกทั้งหมด

        พอปีที่สอง เรื่องการจราจร ต้องยอมรับว่าเรื่องรถติดแก้ยากมากๆ ตราบใดที่เราไม่สามารถเอาคนออกจากรถ เอารถออกจากถนน สิ่งที่ควรต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จคือรถไฟฟ้าทั้งสิบสาย ต้องจูงใจให้คนหันมาใช้ ต้องกำหนดเรื่องราคาให้เหมาะสม และอนาคตต้องเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมกว่านี้ เพราะถ้ามันสะดวกสำหรับคนเดินทางจริง ผมเชื่อว่าคนจะหันมาใช้ แต่ทุกวันนี้มันยังไม่ไปถึงขั้นนั้น ปัญหาการจราจรจึงยังเหมือนเดิม แต่ในอนาคตถ้าระบบการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าดีขึ้น มันจะส่งผลต่อเรื่องมลภาวะ อากาศก็จะดีขึ้น ปัญหา PM2.5 ก็จะลดลง 

        ส่วนปีที่สามต่อเนื่องปีที่สี่ ทุกอย่างที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปีแรกจะดีขึ้น และเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นทั้งหมด เช่น เรื่องขยะ มลภาวะ ส่วนแม่น้ำลำคลอง ผมจะทำให้ใสแจ๋วเลย อีกเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นคือ เรื่องความปลอดภัย ผมเน้นการติดกล้องวงจรปิดให้เพิ่มขึ้น แล้วเราใช้ประโยชน์จากกล้องสองอย่างคือ ตรวจดูความปลอดภัย และตรวจจับคนทิ้งขยะตามแม่น้ำลำคลองไปด้วย 

        นี่เป็นภาพรวมสี่ปี ซึ่งในรายละเอียดคงมีสิ่งที่ต้องทำ และแก้ไขมากกว่านี้ ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าเราตั้งใจทำนับตั้งแต่วันแรก สี่ปีผ่านไปมันต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน

8. ในมุมกลับกัน ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งที่คิดขึ้นมาเหล่านี้ จะยังคงถูกสานต่อไปอีกไหม

        ผมทำงานการเมืองมา 30 ปี สิ่งที่มุ่งหวังมาตลอดคือ ทำให้บ้านเมืองพัฒนา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ผมเติบโตมาทั้งชีวิต ต่อให้ผลจะออกมาอย่างไร ผมถือว่าเราทำให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้ว่าเรามีวิธีคิดแบบนี้ เราเป็นทางเลือกอื่นๆ ซึ่งถ้าใครที่เห็นว่าความคิดผมน่าสนใจ คุณมาร่วมมือกับผมได้เลย 

        เวลาที่ลงแข่งขันกีฬาอะไรสักอย่าง ทุกคนอยากชนะด้วยกันทั้งนั้น ผมลงเลือกตั้งครั้งนี้ผมก็อยากจะชนะ เพราะผมอยากทำเมืองนี้ให้มันดี แต่ถ้าไม่ชนะ ผมถือว่าไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า คนกรุงเทพฯ จะได้รู้ว่า ผมจะทำสิ่งเหล่านี้ และก็จะทำต่อไป ผมยังเคยบอกอีกด้วยว่า ถ้าผมไม่ชนะ นโยบายที่ทำมาทั้งหมด หากผู้ว่าฯ คนใหม่อยากจะเอาไปใช้ คุณเอาไปได้เลย ผมยินดีมอบให้ หรือสมมติหลังเลือกตั้งแล้วฝนตกน้ำท่วมขึ้นมา จะเรียกศิธาไปช่วยแก้ ผมก็ยินดี ไม่คิดเงินด้วย (ยิ้ม)

9. ‘เมืองน่าอยู่’ ในมุมมองของคุณต้องเป็นอย่างไร

        เมืองที่น่าอยู่สำหรับผมคือเมืองที่สร้างคน สร้างงาน และสร้างเมืองไปพร้อมๆ กัน ผมขอใช้ 3 คำนี้ คือ People, Profit และ Planet เราต้องให้ความสำคัญกับคน ต้องสร้าง empower ให้กับพวกเขา เพื่อให้คนมีศักยภาพ มีงานทำ มีสวัสดิการที่ดี รวมทั้งต้องมีรายได้ที่เลี้ยงชีวิตตัวเองได้ แต่ทั้ง People และ Profit จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่อง Planet หรือสิ่งแวดล้อม เราต้องทำให้บ้านที่ชื่อว่า ‘กรุงเทพฯ’ แห่งนี้มีความน่าอยู่มากขึ้น อย่าให้กรุงเทพฯ เป็นแค่เมืองน่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการร่วมมือและการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งถ้าทั้ง 3P นี้มีความแข็งแรง และมีความสมดุลในกันและกัน ผมเชื่อว่าเมืองแห่งนี้จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

10. ถ้าหลังวันที่ 22 พฤษภาคม กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าฯ คนใหม่ที่ชื่อ ‘ศิธา’ คุณจะนำทางเมืองแห่งนี้ไปด้วยคำว่าอะไร

        ผมอยากใช้คำว่า ‘ภูมิใจ’ ถ้าเราทำให้คนกรุงเทพฯ มีความภาคภูมิใจในเมืองของเขา เราสามารถดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนออกมาได้ ทำให้เขาเกิดความรัก ความเชื่อมั่น ซึ่งหากคนเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลก็ดี หรือผู้ว่าฯ กทม. ก็ดี เข้าใจตรงจุดนี้ แล้วดึงให้ทุกคนมามีส่วนร่วม มาช่วยกันคิดสร้างสรรค์ หรือคิดแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่ามันจะเกิดความภูมิใจกับทุกคน แล้วเมืองเมืองนี้จะมีศักยภาพมากขึ้น และพร้อมจะเจริญก้าวหน้าไปอย่างมีคุณภาพ


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ