10 คำถามกับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร กับแนวทางสร้างเมืองที่เป็นธรรมกับทุกคน

“เมืองน่าอยู่สำหรับผม คือเมืองที่ทุกคนเท่ากัน เมืองที่ทุกๆ คนที่อยู่ในเมืองนี้แล้วรู้สึกว่าเราตั้งตัวได้ มันมีโอกาสที่เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ใช่เกิดมาแล้วก็ยากจน โตก็จน ตายก็จน กลับชาติมาเกิดใหม่ก็ยังจน”

        ประโยคเข้มๆ ที่มาจากความคิดของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งกว่า 44 ปีมาแล้ว ที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นชาว กทม. มาแต่อ้อนแต่ออก รู้ เห็น และสัมผัสกับความเป็นจริงของคนกรุงเทพมาไม่น้อยกว่าใครๆ 

        วันนี้ วิโรจน์ขออาสาเข้ามาทำหน้าที่ดูแลจัดการ กทม. ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีที่เขาบอกว่า มันคือความตรงไปตรงมา และอย่าได้เกรงใจกับปัญหาที่หมักหมมอยู่ใต้พรมของเมืองแห่งนี้มาเนิ่นนาน

        “เราจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ มาโดยตลอด คิดว่าคนกรุงเทพรู้ปัญหาตัวเองไหม รู้นะครับ เวลามีผลโพลอะไรออกมา ไม่น่าเชื่อว่า โพลล์วันนี้กับเมื่อสิบปีก่อน มันแทบไม่ต่างกัน มันคือการที่เราจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ แล้วเมื่อไรที่เราจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ เราจะรู้สึกสิ้นหวัง มันเหมือนคุณทำกิจการขาดทุนแล้วขาดทุนเล่า เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นกิจการ คุณก็อาจจะเลิกทำมันได้ แต่คุณเลิกที่จะอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครไม่ได้”

        เพราะเมืองหลวงแห่งนี้ คือ ‘บ้าน’ ของใครหลายๆ คน และไฟแห่งความหวังก็ยังไม่ได้ดับมอดไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะกับผู้ชายคนนี้ ที่เขายังเชื่อมั่นว่า สามารถทำกรุงเทพให้เป็นเมืองแห่งความหวังของทุกคนได้ 

        และนี่คือ 10 คำถามที่ว่ากันด้วยความหวังและการเปลี่ยนแปลง ที่เราถาม วิโรจน์ตอบ และมีชาว กทม.ทุกคนเป็นผู้ร่วมกันพิจารณา…

1. หนึ่งในสโลแกนการหาเสียงของคุณครั้งนี้ คุณบอกว่า ‘พร้อมชนเพื่อคน กทม.’ ถ้าให้หยิบปัญหาที่คุณคิดว่า ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม. คุณพร้อมที่จะชนแน่ๆ ปัญหาเหล่านั้นมีอะไรบ้าง?

        จริงๆ มีหลายเรื่อง ผมยกตัวอย่างปัญหาที่เห็นกันชัดๆ เช่น เรื่องการจัดเก็บขยะ รถขยะไม่ยอมไปเก็บตามกำหนด หรือเก็บล่าช้ากว่ากำหนด นี่คือปัญหาที่เขาบ่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ในมุมกลับกัน เขาก็สงสัยกันว่า แล้วทำไมรถขยะของ กทม. ถึงไปเก็บขยะให้เจ้าของห้างฯ ได้ทุกวี่ทุกวัน แต่บ้านเรือนประชาชนกลับไม่เก็บตรงตามเวลา เรื่องนี้มันมีประเด็นตรงที่ว่า เพราะประชาชนทั่วไปจ่ายค่าขยะถูกแค่ 20 บาทต่อเดือน ถ้าอยากเก็บทุกวัน ต้องจ่าย 260 กว่าบาท คิดในฐานเฉลี่ยแบบห้างฯ ซึ่งแบบนั้นมันก็ไม่แฟร์ เพราะปริมาณขยะมันคนละแบบกันเลย 

        สุดท้าย ทำไมไม่คิดเรื่องการเก็บค่าขยะในอัตราที่เป็นธรรม แล้วไม่ต้องเอาภาษีของคนกรุงเทพฯ ไปแบกจ่ายค่าชดเชยเรื่องขยะ ทำไมไม่เก็บค่าขยะให้มากขึ้นจากกลุ่มนายทุน แล้วเอาเงินตรงนี้ไปปรับปรุงจุดทิ้งขยะให้ทั่วถึง ทำให้เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น แล้วถ้ามันจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเกี่ยวกับรถขยะ หรือการจัดจ้างพนักงาน คุณก็ต้องทำ เพราะมันเป็นสวัสดิการของคนเก็บขยะ รู้ไหมวันนี้เรามีคนเก็บขยะกับคนกวาดถนนประมาณ 3 หมื่นกว่าคน แต่เขามีสวัสดิการที่ไม่ดีเอาซะเลย เรื่องเหล่านี้เราสามารถทำให้มันเหมาะสมขึ้นได้ เพื่อเอามาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวม 

2. ถ้าให้เลือกคำสักคำหนึ่ง ที่คุณคิดว่าจะยึดใช้ในการทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.

        ผมคงเลือกคำว่า ‘ความเป็นธรรม’ ผมยกตัวอย่างเรื่องนี้ พวกนายทุนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีที่ดินแปลงใหญ่กลางเมือง เขาเอาที่ไปปลูกกล้วย ปลูกมะนาว แล้วล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้ ถามว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้เสียภาษีที่ดินน้อยลง คุณเคยเห็นมหานครไหนในโลกเขาทำกันแบบนี้ไหม แบบนี้มันเป็นธรรมกับคนกรุงเทพไหมล่ะ คนกรุงเทพฯบางคนเขามีบ้านสองหลัง เขาตั้งใจว่าจะซื้อบ้านหลังที่สองให้ลูกอยู่ เขายังต้องเสียภาษีที่ดินหลังที่สองเลย แต่สิ่งที่คนบางกลุ่มทำ มันแฟร์กับเขาไหม

        เมืองมันจะเป็นธรรมได้ ลำพังแค่การบริหารไม่พอหรอก ต้องมีคนมาวางกลไกที่มีเจตจำนงทำให้เมืองมีความเป็นธรรมมากขึ้น เราไม่ได้จะมาเอารัดเอาเปรียบนายทุน แต่ในเมื่อเราเห็นความอยุติธรรมอยู่ตรงหน้า เราเห็นการเอาภาษีไปแบกให้นายทุน เราเห็นนายทุนได้เงื่อนไขพิเศษ สามารถเอารัดเอาเปรียบแบบไม่เป็นธรรมกับประชาชน ถ้าตัวแทนของเมือง ที่ประชาชนเลือกมา ไม่มีความกล้าหาญ ที่จะเข้าไปปรับปรุงกลไกแบบนี้ ผมก็ต้องถามแบบตรงๆ ว่า คุณจะมาเป็นผู้ว่าฯ ไปทำบ้าอะไร ไม่มีประโยชน์หรอก

3. ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนมีนโยบายที่ดีมากมาย แต่สุดท้ายทำไม่ได้เพราะปัญหาโครงสร้างการทำงาน คุณมองระบบข้าราชการไทยเป็นอย่างไร

        ผมไม่เคยหมดหวังกับข้าราชการ ผมเชื่อว่า 90% ของคนที่สอบเข้ามาเป็นข้าราชการ พวกเขาต้องการรับใช้ประชาชน มันยังมีน้ำดีอยู่เยอะ เขาอยากทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่มั่นใจว่าถ้าทำแล้วจะมีใครปกป้องสิ่งที่เขาทำหรือเปล่า ผมว่าหลายๆ คนรอทำงานกับผู้ว่าฯ แบบตรงไปตรงมา หลายคนท้าทายด้วยว่า วิโรจน์จะตรงไปตรงมาจริงไหม ก็ต้องลองให้โอกาสผมดู แล้วผมเป็นคนไม่ค่อยกลัวอะไร แต่ถามว่าอะไรคือสิ่งที่น่ากลัว มันคือเรื่องบุญคุณ ผมโชคดีที่ไม่เคยมีบุญคุณกับนายทุนหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ผมไม่เคยไปรับจ้างทำงานให้ใคร ดังนั้น ไม่มีใครที่มีบุญคุณกับผม ผมสามารถทำงานอย่างตรงไปตรงมาได้ 

4. จุดอ่อนของกรุงเทพมหานครในสายตาของคนที่ใช้ชีวิตอยู่มา 44 ปีของคุณคืออะไร

        เราจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ มาโดยตลอด ถามว่าคนกรุงเทพรู้ปัญหาของตัวเองไหม รู้นะครับ เวลามีผลโพลอะไรออกมา คุณลองสังเกตสิ ผลโพลของวันนี้กับเมื่อของสิบกว่าปีก่อน แทบไม่ต่างกันเลย แล้วเมื่อไรที่เราจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ เราจะรู้สึกสิ้นหวัง มันเหมือนคุณทำกิจการขาดทุนแล้วขาดทุนเล่า เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นกิจการ คุณก็อาจจะเลิกทำมันได้ แต่คุณเลิกที่จะอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครไม่ได้ 

        แล้วที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ทุกคนยังรู้ด้วยว่า ทำไมถึงแก้ปัญหาเดิมๆ ไม่ได้ เพราะมันมีการเว้นวรรคการทำงานของคนบางกลุ่มใช่ไหม หรือเว้นวรรคให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชนใช่ไหม การที่เราต้องคอยเอาภาษีของเราไปปรนเปรอกับนายทุน ผู้รับเหมา หรือเครือข่ายอุปถัมภ์ รวมถึงต้องยอมให้ใครบางคนตีตั๋วเด็กอยู่ตลอดเวลา แล้วกรุงเทพมหานครก็ผลักภาระเหล่านี้ให้กับประชาชน หลายครั้งหลายหนที่เราต้องทนดูอีเวนต์ห่วยๆ งานที่จัดขึ้นแบบผักชีโรยหน้า ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่ามันแก้ใจกลางของปัญหาไม่ได้ แต่เราก็ยังทำมันต่อไปเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้คือภาพรวมๆ ของจุดอ่อนกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

5. ถ้าเปรียบกรุงเทพมหานครเป็นบริษัท แล้วผู้ว่าฯ กทม. เป็นซีอีโอ สมมติคุณคือซีอีโอของบริษัทแห่งนี้ คุณจะมี KPI (Key Performance Indicator) กับเรื่องอะไรบ้าง เพื่อชี้วัดความสำเร็จของการบริหารงานตลอด 4 ปีจากนี้

        ผมขอแบ่งเป็น 2 Tier หรือ 2 ระดับ ระดับแรกคือระดับบน เป็นภาพรวมใหญ่ๆ ก่อน ซึ่งสิ่งที่จะชี้วัดการทำงานของผมคือ หนึ่ง เรื่องสถิติอาชญากรรม การเป็นมหานครที่ดี สถิติทางอาชญากรรมต้องจำกัดมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางร่างกาย หรือการถูกคุกคามทางเพศ เรื่องที่สอง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการจราจร กับคนเดินเท้า ต้องลดน้อยลง 

        สาม เรื่องการเจ็บป่วย ระบบสาธารณสุข เราดูแลดีแค่ไหน จำนวนผู้ป่วยติดเตียงของคน กทม. เพิ่มขึ้นไหม ประชาชนที่เจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มีแนวโน้มดีขึ้นแค่ไหน เรื่องนี้สะท้อนไปถึงพื้นที่สีเขียวที่ต้องมีเพิ่มขึ้นมากด้วย

        เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องการค้าการขาย เม็ดเงินที่เกิดจากการบริโภคอุปโภคในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร เกิดธุรกิจขนาดเล็กใหม่ๆ ขึ้นแค่ไหน สะท้อนว่าเมืองนี้มันมีโอกาสในการตั้งตัวได้มากน้อยแค่ไหน และเรื่องที่ห้าเรื่องสุดท้าย ต้องดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไปด้วย ต้องลดปัญหาเหล่านี้ลงไป

        พวกนี้คือตัวชี้วัดในระดับภาพรวม ส่วนตัวชี้วัดในระดับภาคปฏิบัติ เริ่มต้นที่การจัดการขยะให้กับบ้านเรือน ตรงตามกำหนดไหม ปัญหามลพิษจากขยะ โดยเฉพาะที่เป็นปัญหามากๆ เรื่องขยะที่ส่งกลิ่นเหม็น ในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เช่น ที่ลาดกระบัง สวนหลวง ประเวศ ที่ผ่านมาทุกคนเลือกที่จะเงียบ แต่ผมไม่เงียบ และไม่เกรงใจใคร ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข

        ต่อมาเป็นเรื่องทางเท้า ต้องซ่อมแซม บำรุงให้มันดี จะตั้งไว้กี่กิโลเมตรก็ว่าไป ส่วนปัญหาเรื่องทางเท้าที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก เราแก้ได้ มันอยู่ที่ขั้นตอนการตรวจรับงาน ต้องมีมาตรฐาน ห้ามต่ำกว่ามาตรฐาน อีกเรื่องที่ควบคู่กันมาคือการลอกท่อระบายน้ำ ผมกำหนดเลย ในสองร้อยวัน ต้องลอกท่อได้ทั่วกรุง

        อีกปัญหาที่ต้องแก้ไขคือน้ำประปา เชื่อไหมว่า ประชาชนแถวเขตคลองสามวา มีนบุรี ยังไม่มีน้ำประปาใช้ แล้วที่ตลกร้ายมากกว่านั้น พอข้ามจากเขตจากตรงนั้นไปไม่ไกล เป็นพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ตรงนั้นกลับมีน้ำประปาใช้ ปัญหาคือการประปานครหลวงแจ้งว่าไม่คุ้มที่จะเดินท่อประปา ถ้าเป็นอย่างนั้นให้สิทธิ์เอกชนรายอื่นเข้ามาทำไปเลย 

        เรื่องต่อมาคือไซต์งานก่อสร้าง ต้องทำให้แล้วเสร็จตามกำหนด ต้องเร่งรัด ต้องคืนพื้นผิวถนนให้ประชาชน แล้วไม่ใช่ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ คนใช้มอเตอร์ไซค์วิ่งแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต แบบนี้ไม่เอา เรื่องสุดท้าย คือการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ข้อนี้สำคัญ ผมจะให้ออกข้อบัญญัติไม่ให้นายทุนเอาที่ดินไปปลูกต้นกล้วย ต้นมะนาว เพื่อเลี่ยงภาษี 

        คุณเอาอย่างนี้ไหม ถ้าคุณยังไม่ได้ใช้พื้นที่ตรงนั้นในระยะยาว คุณมอบสิทธิ์ให้กับกรุงเทพมหานคร แล้วกรุงเทพมหานครก็จะเอาที่ดินไปทำเป็นสวนสาธารณะ หรือแม้แต่เป็นศูนย์กายภาพบำบัดให้กับผู้สูงอายุก็ได้ ผมว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึงเรื่องนี้เท่าไร คนเฒ่าคนแก่ เวลาเจ็บป่วยรักษาตัวนานๆ กล้ามเนื้อต่างๆ มันไม่เหมือนเดิม เขาต้องการการทำกายภาพ แต่สวนสาธารณะทุกวันนี้ หนักไปทางเครื่องออกกำลังกายให้กับคนหนุ่มคนสาว ผมว่าน่าจะเอามาทำเพื่อผู้สูงอายุบ้าง 

        ทั้งหมดทั้งมวลเราตกลงกับเจ้าของที่ดินเหล่านี้ได้ กทม. อาจจะยกเว้นการเก็บภาษีให้คุณ ผมว่าแฟร์ๆ นะ หรือถ้าไม่อยากให้ กทม. ทำ คุณทำเอง โดยทำเป็น public space เก็บค่าเข้าใช้เล็กๆ น้อยๆ ที่ประชาชนรับได้ แล้วไปลดการหักจ่ายภาษีเอาก็ได้เหมือนกัน ผมว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบนายทุน แต่เราต้องบริหารจัดการให้เป็นธรรมมากกว่า ซึ่งผมเชื่อว่ามันดีกว่าการไปปลูกกล้วยอยู่ใจกลางเมืองเยอะ

6. กรุงเทพมหานครมีทั้งสิ้น 50 เขต คุณคิดว่าถ้าใส่อะไรลงไปใน 50 เขตเหล่านี้ แล้วประชาชนจะมีความสุขมากขึ้น

        ผมอยากใส่งบประมาณลงไป แต่ตอนนี้งบประมาณส่วนใหญ่มันถูกจัดสรรไปอยู่ที่สำนักงาน หรือไปอยู่ที่เขต หรือแม้แต่อยู่ที่งบกลางของผู้ว่าฯ  ทีนี้พอใครเป็นคนถืองบ มันก็เหมือนถืออำนาจ ถูกไหม แต่ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ ผมดึงงบประมาณเหล่านี้ออกมาก่อนเลย 4 พันล้าน แล้วกระจายเงินลงไปในชุมชนกว่าสองพันชุมชนในกรุงเทพฯ โดยให้ชุมชนละห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาทแล้วแต่ขนาด นอกจากนี้ยังมีกลไกที่เปิดให้ประชาชนได้เข้ามานำเสนอ หรือได้เข้ามาโหวตว่าจะทำโครงการอะไร เพื่อแก้ปัญหาที่มันตรงโจทย์เขา 

        มันไม่ใช่แค่การกระจายงบ แต่มันเป็นการกระจายอำนาจให้กับประชาชน แล้วที่สำคัญ ไอ้งบที่มันเคยอยู่ในฝ่าย อยู่ในเขต ในสำนักกลางผู้ว่าฯ หรือที่เรียกว่างบราชการ คุณคิดว่ามันเป็นงบราชการจริงเหรอ ไม่ใช่หรอก มันเป็นงบผู้รับเหมา พอผู้รับเหมาเห็นตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างก็จะวิ่งกรูกันเข้ามา แล้วก็เอาไปทำโครงการที่มักง่าย หรือที่ทำได้ง่ายๆ สุดท้ายคุณก็จะเห็นแต่โครงการที่ทำแล้วทุบ ทำแล้วทุบ วนๆ อยู่อย่างนี้ 

        แต่ถ้าเกิดประชาชนถืองบประมาณเอง แล้วโหวตว่าต้องทำอันนั้น ต้องทำอันนี้ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่แค่ออกไปทำเพื่อรับใช้ประชาชน มันเหมือนเป็นการกลับความรู้สึกกัน ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจ คุณเป็นลูกน้องประชาชน ดังนั้น คุณต้องไปทำ

        คราวนี้ปัญหาที่คนในชุมชนเขาเห็นอยู่ตรงหน้าทุกวัน มันก็จะได้รับการแก้ไข และที่สำคัญ มันไม่ใช่แค่การแก้ปัญหา แต่มันเป็นการทำให้เขารู้สึกว่า เขาคือเจ้าของกรุงเทพฯ เขาคือคนที่มีอำนาจ ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัย หรือผู้ถูกปกครอง แล้วความเชื่อมั่นต่อเมืองเมืองนี้มันจะกลับมา

7. นโยบายอะไรที่คุณเชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

        ผมตั้งใจจะเติมเงินสวัสดิการให้คนกรุงเทพฯ ทุกกลุ่ม อย่างสวัสดิการผู้สูงอายุ จากหกร้อยบาท เติมขึ้นไปอีกเป็นหนึ่งพันบาท เด็กแรกเกิดถึงหกขวบ ตอนนี้จะได้เงินหกร้อยบาทสำหรับครอบครัวที่ยากจน แต่ผมจะเติมให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะครอบครัวยากดีมีจน เพิ่มเป็นพันสองร้อยบาท ผู้พิการแต่เดิมได้แปดร้อยบาท ผมเติมให้ทุกคนเป็นหนึ่งพันสองร้อยบาท 

        ย้ำก่อนว่านี่ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐสวัสดิการ ถามว่าเอาเงินมาจากไหน มันก็คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ กทม. เก็บได้ นี่ไม่นับพวกภาษีป้ายต่างๆ ทั่ว กทม. ซึ่งผมได้ข่าวลือมาว่ามีที่ไม่เข้าระบบอีก60-70% เลยทีเดียว ถึงบอกว่า เงินน่ะมี แต่ปัญหาคือวันนี้เรายังเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะบางที่ดิน เล่นเอาไปปลูกกล้วย ปลูกมะนาวกันซะหมด 

        อย่างที่บอก ผมถือว่านี่เป็นการเริ่มต้นการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับคนกรุงเทพฯ แล้วลองคิดดูดีๆ ถ้าเรารู้สึกว่า พ่อแม่ของเราได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐ มันจะทำให้เรากล้าที่จะวิ่งตามความฝันของตัวเอง กล้าที่จะไป re-skill up-skill ไปบุกเบิกนั่น บุกเบิกนี่ เพราะเรารู้ว่าเมืองเมืองนี้ดูแลพ่อแม่เราได้ดี แถมมันยังเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเราเองอีกด้วย เพราะผมกับคุณสักวันก็ต้องแก่ตัวลง ถ้าเกิดเรารู้ว่าเมืองเมืองนี้สามารถดูแลเราได้ดีในยามแก่ ผมจะไม่ยี่หระที่จะบุกเบิก ทำตามความฝันของตัวเองเลย แล้วเมืองที่คนวิ่งตามความฝันอย่างสุดชีวิต โดยที่ไม่ต้องพะวักพะวนกับอุปสรรคใดๆ ผมถามหน่อยว่า มันจะเป็นเมืองที่มีความหวังไหม

8. ‘เมืองน่าอยู่’ ในความหมายของคุณต้องเป็นอย่างไร

        ง่ายๆ เลย เป็นเมืองที่คนต้องเท่ากัน เมืองที่ปัญหาของทุกๆ คนได้รับความใส่ใจเหมือนๆ กัน เมืองที่ทุกๆ คนอยู่ในเมืองนี้แล้วรู้สึกว่าเราตั้งตัวได้ เมืองเมืองนี้มันมีโอกาสที่เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ใช่เกิดมาแล้วยากจน โตก็จน ตายก็จน กลับชาติมาเกิดใหม่ก็ยังจน 

        ในแง่ของความรู้สึก มันต้องเป็นเมืองที่เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ใช่แค่ผู้ถูกปกครอง เป็นเมืองที่เรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่เราเป็นผู้อยู่อาศัย ส่วนโครงการปลูกผักชีมากมายที่เคยถูกจัดขึ้นมา มันไม่ได้แก้ที่ใจกลางของปัญหาอย่างแท้จริง เหมือนปลูกทุ่งลาเวนเดอร์ สวยๆ ฝันๆ แต่มันทำให้เมืองน่าอยู่ไม่ได้หรอก สุดท้ายมันจะเป็นเพียงเมืองน่าอยู่สำหรับผู้มาเยือน หรือสำหรับคนมีสตางค์เท่านั้นเอง โดยที่คุณก็ยังซุกปัญหามากมายไว้ใต้พรม คุณทำให้ปัญหาของเมืองเหมือนหนูในท่อ ที่ทุกคนต่างก็รู้ว่ามันมี แล้วพอวันที่ฝนตก มันก็จะเผยโฉมออกมา แล้วคุณก็พากันร้องยี๊ เมืองแบบนั้นมันไม่น่าอยู่หรอก

9. กรุงเทพมหานครเพิ่งมีอายุครบ 240 ปี ถ้าพรุ่งนี้จะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชื่อ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร คุณจะนำพา ‘กรุงเทพฯ’ ไปในรูปแบบใด

        มันต้องเป็นเมืองที่โอบรับความหวังของทุกคนให้ได้ เป็นเมืองที่สร้างความเชื่อมั่นว่าปัญหาที่เราเคยเจอมายาวนาน หรือเรียกว่าปัญหาเจ็ดชั่วโคตร มันจะเริ่มทุเลา คลี่คลาย และความเหลื่อมล้ำของเมืองค่อยๆ ลดลง รวมทั้งพอกันทีกับคำพูดสวยหรู ประเภทสู้แล้วรวย เพราะในโลกความจริง คุณปล่อยให้คนดิ้นรนต่อสู้ โดยที่เมืองไม่ช่วยเหลืออะไรคุณเลยไม่ได้ 

        ถามหน่อยว่า ไอ้คนที่สู้แล้วรวย ที่ออกมาพูดตามสื่อน่ะ มันมีอยู่กี่คน พวกนี้มัน rare case หรือเป็นพวกส่วนน้อย ส่วนคนที่สู้แล้วตาย พวกนี้คนส่วนมาก ทำไมไม่เอามาพูดถึงบ้าง เราเลิกหลอกให้คนมีความหวังในรูปแบบเดิมๆ เสียที ทั้งๆ ที่กลไกและโครงสร้างบางอย่างของเมืองนี้ ไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนไปเลย ดังนั้น เมืองแบบนี้จะไม่มีวันได้เจอในการบริหารในแบบวิโรจน์อย่างเด็ดขาด

10. สุดท้าย ถ้าคุณไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งที่พูดมาทั้งหมด คุณจะยังทำเหมือนเดิมไหม

        วิโรจน์ไม่ได้เป็นคนที่แพ้แล้วเลิก ผมมีอุดมการณ์ที่อยากสร้างเมืองที่คนเท่ากัน เมืองที่เป็นความหวังของทุกๆ คน นี่ไม่ใช่ความฝันของผมเพียงคนเดียว แต่มันเป็นความฝันของชาวอนาคตใหม่ ผมขอเรียกเหมารวมเอาว่า เป็นชาวอนาคตใหม่แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่สนับสนุนเรา สมาชิกพรรค ส.ส. ส.ก. 

        ผมไม่รู้หรอกว่าจะแพ้หรือชนะ แต่มันไม่ได้ทำให้ความฝันของผมหยุดลง ส่วนใครที่บอกแพ้แล้วเลิก แสดงว่าคุณไม่ได้มีความหวังกับเรื่องนี้จริงๆ การเลือกตั้งมันเป็นแค่เพียงโอกาสที่ผมจะได้ปักธงความคิด เพื่อพาคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันไปยังจุดที่ต้องการได้ใกล้ยิ่งขึ้น ส่วนจะได้หรือไม่ได้ มันไม่ได้ทำให้เป้าหมายของผมเปลี่ยน เป้าหมายของผมแข็งแรงมาก และต้องเดินไปให้ถึงสักวัน


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ