โลก สังคม รวมถึงชีวิตประจำวันของเราขับเคลื่อนด้วยการสื่อสาร ทุกๆ วินาทีมีทั้งข้อมูลใหม่และข้อมูลเดิมที่เกิดการแลกเปลี่ยนตลอดเวลาผ่านเทคโนโลยี จนเกิดเป็น Big data และคลังข้อมูลมหาศาลในโลกดิจิตอล ซึ่งกำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ใช้งานอย่างเราต้องเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงเพื่อทำความรู้จัก พัฒนา และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ โดยเฉพาะแวดวงที่ธุรกิจและการเมือง
ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมและการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษา เขากับเพื่อนก่อตั้งกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมและการเมืองในช่วงปี 2553-2555 หลังจากเรียนจบ ด้วยประสบการณ์ที่มีเขาได้ให้คำปรึกษาในด้านการบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ขององค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 4 ปี ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาโทด้าน Communication and Information Sciences ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วกลับมาก่อตั้ง Rethink Thailand เพราะต้องการเห็นประเทศไทยก้าวพ้นปัญหาทางการเมืองที่ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มาเป็นเวลากว่า 10 ปี
ถ้าปัจจุบันที่เป็นอยู่คือผลลัพธ์ในอดีต และการเมืองเป็นเรื่องของการสื่อสาร การกระทำจากความคิด ข้อมูล และการสื่อสารผ่านสื่อที่เราเสพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสนใจและไม่ควรมองข้ามไปเหมือนที่ผ่านๆ มา และการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร น่าจะทำให้เรามองเห็นสังคมหรือบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราเห็นภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ตอนนี้กว้างและชัดเจนมากขึ้น
เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจสื่อใหม่ และมีการนำข้อมูลมาใช้มากขึ้น คุณคิดว่ามันกำลังจะส่งผลต่อการเมืองและการเลือกตั้งในปีหน้านี้อย่างไรบ้าง
คนรุ่นใหม่ใช้สื่อใหม่เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคที่เขาเติบโต เขาอาจจะไม่ได้สนใจก็ได้ แต่คนทำสื่อรุ่นก่อนต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะวิธีคิดต่างกัน การทำเนื้อหาที่ดี มีคนอ่านเยอะในโซเชียลมีเดียต่างจากการทำเนื้อหาที่ดีในหนังสือพิมพ์แน่ๆ หรือการทำคลิปวิดีโอออนไลน์ก็ต่างจากการทำรายการทีวี ความต่างเหล่านี้เป็นความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทั้งสิ้น เช่น ถ้าคุณทำคลิปที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าลงยูทูป แล้วมีคนดูมากกว่าที่ทำลงทีวี บริษัททีวีก็เสียเปรียบ เป็นเรื่องที่คนทำสื่อต้องปรับตัว
คนรุ่นใหม่ที่ทำสื่อใหม่บนโซเชียมีเดียอยู่แล้ว เขามีฐานคิดบางอย่างที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าในอนาคตข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางไหน อาจจะมีสื่อรูปแบบใหม่เกิดขึ้นแล้วคนรุ่นเราเองก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน
สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดมาก คนรุ่นอายุประมาณ 30 ขึ้นไปบางคนไม่เข้าใจการใช้ทวิตเตอร์ เพราะเขาโตมากับการใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก จนรุ่นใหม่ย้ายมาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น มิลเลนเนียลรุ่นแรกๆ ก็ต้องปรับตัวแล้วว่าจะทำความเข้าใจกับทวิตเตอร์ยังไง
“
เทคโนโลยีเปลี่ยนตลอด การพูดถึงการปรับตัวจึงต้องคุยกันอยู่เรื่อยๆ เพราะสิ่งใหม่พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา
”
แต่มันก็มีปัญหาบางเรื่อง คนที่เติบโตมาต่างยุค สมมติฐานพื้นฐานในการมองสังคมก็ต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่าง จดหมายลูกโซ่มีปัญหามากกับคนรุ่นพ่อแม่ ซึ่งตอนนี้กลายเป็น fake news บนโซเชียลมีเดีย เพราะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารน้อย อะไรที่พวกเขาเห็นส่งต่อกันเยอะ ก็จะมองว่ามีความน่าเชื่อถือไว้ก่อน เป็นเรื่องจริงไว้ก่อน ส่วนคนรุ่นใหม่ที่โตมากับอินเทอร์เน็ตที่ข่าวสารเยอะจนล้น โตมาในยุคการตัดต่อภาพเป็นเรื่องง่าย ปั้นเรื่องให้คนแชร์กันง่ายๆ คนรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะมีภูมิต้านทานกับเรื่อง fake news มากกว่า มักเป็นคนรุ่นลูกที่ต้องบอกพ่อแม่ว่าข่าวไหนจริงไม่จริง ความต่างลักษณะนี้เป็นเรื่องระดับพื้นฐาน ส่วนจะมีผลแค่ไหนกับการทำสื่อขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บางคนมองว่าเป็นปัญหา แต่บางคนไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา
ในบริบทโลก การเกิดขึ้นของสื่อใหม่และวิทยาศาสตร์ข้อมูลส่งผลกับการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะกรณีการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์
ในยุคนี้ คนที่เข้าถึง data ย่อมได้เปรียบ เฟซบุ๊กมี data เยอะมาก กลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีแพลตฟอร์มทำเงินได้มหาศาลจากการขายโฆษณา เพราะรู้ว่าผู้ใช้คนไหนสนใจเรื่องอะไร แล้วเลือกป้อนโฆษณาสินค้าและบริการไปยังผู้ใช้ได้อย่างเฉพาะเจาะจง การเมืองก็สามารถทำได้ในระดับเดียวกัน สมมติในพื้นที่จังหวัดหนึ่งมีความกังวลเรื่องสุขภาพมาก ก็ทำโฆษณาการเมืองโดยเน้นเนื้อหาและประเด็นนโยบายสุขภาพและเจาะจงไปว่าใช้ในพื้นที่นี้ หรือมองในอีกแง่ว่ามีอะไรที่คนกลัวบ้าง การเมืองก็สามารถพูดถึงสิ่งนั้นได้
กรณีทรัมป์ เขารู้ว่าฐานสียงของเขากังวลเรื่องผู้อพยพ เขาจึงใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อเน้นย้ำประเด็นและพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ แม้ว่าทางปฏิบัติอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ต้องพูดให้ฐานเสียงเชื่อมั่นในตัวเขาให้ได้ ดังนั้นเวลาฐานเสียงเจอทรัมป์จะตะโกนว่า ‘Build the Wall’ หรือ ‘White Power’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหาเสียงของทรัมป์ที่ต้องการสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผ่านการคิดมาแล้วว่าฐานเสียงของเขาต้องการฟังอะไร และเขาก็พูดสิ่งนั้นออกไป
สมัยก่อนมักจะนิยมใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์จับประเด็น แต่ตอนนี้การวิเคราะห์ใดๆ ของผู้เชี่ยวชาญถ้าขาด data ก็ถือว่ามีความเสี่ยง ขณะเดียวกันถ้ามีแต่ data อย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะ data เท่ากับข้อมูลในอดีต ไม่มีทางบอกได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการใช้ AI ทายผลฟุตบอลโลกที่ผ่านมา เจ๊งกันหมดเพราะ AI ทายว่าเยอรมนีจะได้แชมป์ ข้อจำกัดของ big data คือตรงจุดนี้ ในระดับพื้นฐานมันไม่สามารถบอกได้ตรงๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้ามีบางอย่างเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด สิ่งนั้นจะกลายเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนทันที แล้วมันจะหักลบข้อมูลในอดีตด้วย ความไม่แน่นอนจึงยังเป็นความได้เปรียบของมนุษย์ อีกนานมากๆ กว่าเราจะมีคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถคิดในสิ่งที่คนคาดไม่ถึงได้
พูดถึงมนุษย์กับข้อมูลและสื่อใหม่ มนุษย์มีความซับซ้อน แต่สื่อใหม่เทคโนโลยีใหม่เริ่มเข้าแทรกแซงข้อมูลส่วนตัวของมนุษย์เพื่อจุดประสงค์หรือผลประโยชน์บางอย่าง ถือเป็นเรื่องน่ากังวลใจหรือไม่
มนุษย์มีความซับซ้อนจริง แต่บางสิ่งเราสามารถทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ เช่น คอมพิวเตอร์รู้ว่าเราชอบอะไร จากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรา ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ซับซ้อน เพราะผู้ใช้ชอบอะไรก็จะค้นหาคำนั้นบ่อยๆ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง มนุษย์เรามีความซับซ้อนทางอารมณ์ การจับโกหกด้วยคอมพิวเตอร์โดยวิเคราะห์สีหน้าและประมวลผลการทำงานของร่างกาย ก็ยังไม่แม่นยำพอที่จะใช้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะมนุษย์มีแง่มุมที่ซับซ้อนมากและคอมพิวเตอร์ยังไม่มีความสามารถเทียบเคียง มีอีกหลายเรื่องที่มนุษย์เราซับซ้อนเกินกว่าจะสอนคอมพิวเตอร์ให้สามารถเข้าใจได้
ในทางการเมืองก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ยังต้องทำหน้าที่ตอบคำถามหลายๆ อย่าง เพราะคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำแทนเราได้ แต่อนาคตก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน มีคำพูดติดตลกว่า เวลาบอกนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ว่าสิ่งนี้คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้หรอก วันต่อไปเขาจะไปหาวิธีทำให้คอมพิวเตอร์ทำสิ่งนั้นได้ ฉะนั้นอย่าบอกว่าคอมพิวเตอร์ทำอะไรไม่ได้ แต่ต้องบอกว่าคอมพิวเตอร์ยังทำอะไรไม่ได้มากกว่า
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า เฟซบุ๊กมีอัลกอริทึม (Algorithm) คอยกำหนดทิศทางและเลือกป้อนเฉพาะข้อมูลที่เราสนใจ ซึ่งทำให้เกิด echo chamber1 และ bias ได้ สิ่งนี้มีผลต่อการเมืองอย่างไร เพราะในท้ายที่สุดทำให้ผู้ใช้เกิดพฤติกรรมเสพข้อมูลที่เข้าข้างอุดมการณ์ที่เชื่อเท่านั้น
มีแน่ๆ อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดสื่อสมัยก่อนมีทรัพยากรใช้อย่างจำกัด แต่ละฝ่ายต้องแข่งขันช่วงชิงพื้นที่ตรงกลาง ทำให้คนรับสื่อได้ทั้งสองด้าน แต่มีข้อเสียคือการให้อำนาจกับพื้นที่ตรงกลางมากเกินไป จนสื่อมีอิทธิพลสูงมากเวลาตัดสินใจจะเลือกข้างฝ่ายไหนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียมาแก้ไขปัญหานี้ ทำให้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ คำถามคือเมื่อสังคมพัฒนามาถึงจุดนี้ ตอนนี้ คนมี echo chamber ของตัวเองแน่ๆ แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
แนวคิดหนึ่งคือ เฟซบุ๊กต้องมีอัลกอริทึมให้ผู้ใช้เจอสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบบ้าง แต่มันขัดแย้งกับมุมมองทางธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะถ้าเฟซบุ๊กทำแบบนั้นแล้วรายได้หายไป ลูกค้าหายไป ผู้ใช้รู้สึกไม่ดีเพราะใช้เฟซบุ๊กแล้วเจอเนื้อหาฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ชอบ สุดท้ายความเสียหายจะเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊ก ในทางธุรกิจจึงเป็นไปไม่ได้เลย
“
สิ่งที่ทำได้เองคือ เราต้องตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เราอ่านในโซเชียลมีเดียนั้นไม่ใช่ทั้งหมดในสังคมนี้ เราต้องมีสมมติฐานร่วมกันว่า โลกทั้งใบไม่ได้เป็นแบบนั้น
”
ยังมีอีกหลายๆ echo chamber ที่เราไม่ได้อยู่ในนั้น ทำให้เรารู้ว่าต้องเสพเนื้อหาที่รอบด้านมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีการนำเสนอออกมา ไม่รู้ว่าทางปฏิบัติจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาแน่ๆ เพราะยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาชัดเจน ต้องทำการทดลองศึกษาหาวิธีกันต่อไป
หรือถ้ามองเฟซบุ๊กเป็นแค่แพลตฟอร์ม เขาก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ามองว่าเฟซบุ๊กคือคนที่มีอำนาจมากๆ เพราะสามารถทำให้เราเลือกหรือไม่เลือกสิ่งใดๆ ได้ แล้วอัลกอริทึมสร้าง bias ให้เกิดขึ้นจริงได้ เฟซบุ๊กอาจแบนข้อมูลบางอย่าง เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง และอาวุธปืน แล้วให้เหตุผลว่าเป็นเนื้อหาที่ฝ่าฝืนต่อแนวทางการใช้งาน พออัลกอริทึมแบนเนื้อหาเหล่านี้ได้อันโนมัติ ก็วนกลับมาว่าทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง เพราะฝ่ายที่สนับสนุนการครอบครองปืนโดยพลเรือนก็จะรู้สึกไม่แฟร์ แต่ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กอาจจะไม่ต้องทำอะไรกับเรื่องนี้เลยก็ได้ เพราะมันเป็นธุรกิจ
แสดงว่าวิจารณญาณคือสิ่งสำคัญที่สุด
ในสื่อรุ่นเก่า อย่างน้อยที่สุดจะพบว่ามีกองบรรณาธิการคอยวิเคราะห์และตรวจสอบเนื้อหา แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น สื่อรุ่นเก่าก็ยังมีวิกฤตความเชื่อมั่น มีคนไม่เชื่อว่าเป็นกลาง มีคนไม่มั่นใจว่าเนื้อหาจะดีพอ สื่อใหม่ก็คงไม่ต่างกัน มีการแข่งขันกันที่คุณภาพและความเร็ว ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือ สื่อรุ่นใหม่จะบอกและประกาศตัวตนเลยว่าเป็นคนแบบไหน มีความคิด ความเชื่อแบบใด มีอุดมการณ์อย่างไร ขณะที่สื่อเก่าจะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นกลาง ซึ่งคนไม่เชื่อหรอกว่าเป็นกลาง และนี่คือความปกติแบบใหม่ เป็นการเปิดเผยให้ชัดๆ เลยว่าสื่อเป็นคนอย่างไร แล้วคนเสพสื่อจะเลือกเองว่าสื่อนั้นสอดรับกับความเชื่อหรือความคิดที่เหมือนกันกับเขาหรือไม่
แต่จะว่าไปแล้ว ผมว่าความเป็นกลางหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าคุณภาพของงาน สมมติฝ่ายที่คิดค้านเรื่องใดเรื่องหนึ่งผลิตงานที่ทำออกมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้นำเสนอด้วยความกลัว การเหยียดหยาม และสร้างความเกลียดชังอย่างไม่มีเหตุผล นั่นเป็นเรื่องที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบไหนก็ตาม ไม่ต้องเป็นกลางก็ได้ แต่สังคมต้องการงานที่มีคุณภาพ มีจริยธรรมในการนำเสนอ ทุกครั้งที่เห็นงานไม่มีคุณภาพอยู่บนอินเทอร์เน็ต รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นสื่อต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอ และผู้เสพต้องมีวิจารณาญาณในการเลือกเนื้อหาด้วยเหมือนกัน
สังคมและการเมืองไทยตอนนี้กำลังเริ่มตื่นตัวอีกครั้ง เพราะความหวังว่าจะได้เลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ ในฐานะนักสื่อสารคุณมองสถานการณ์ตอนนี้อย่างไร
สถานการณ์ตอนนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้ามองภาพระยะใกล้เราจะมองไม่เห็นภาพรวมภาพใหญ่ว่าสังคมกำลังจะไปในทิศทางไหน เมื่อมองภาพใหญ่ได้ไม่ชัด เราก็ยิ่งจะสูญเสียพลังมหาศาลไปกับการต่อสู้ระยะสั้น แล้วในท้ายที่สุดมันทำให้สังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตัวอย่างที่ชัดคือ คนที่สนใจการเมืองจะติดตามข่าวการเมืองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ บรรณาธิการข่าวที่ดูแลเนื้อหาการเมืองก็จะนำข่าวย่อยๆ มาวิเคราะห์เป็นบทความการเมือง ปัญหาคือเมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่วัน งานนั้นก็เก่าไปแล้ว คำถามที่ตามมาคือคนที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จะเอาอนาคตที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาผูกติดกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ต้องมองให้ไกลกว่านั้น
เป็นเรื่องอุดมการณ์ใช่ไหม
ใช่ เพราะสุดท้ายเราต้องตอบคำถามว่า ตอนนี้สถานการณ์เป็นแบบนี้ สื่อให้ความสนใจแบบนี้ แล้วตัวเราทำอะไรอยู่กันแน่ ถ้าเราบอกตัวเองเป็นคนทำงานด้านการสื่อสารประเด็นอุดมการณ์และนโยบายการเมือง หน้าที่จึงไม่ใช่แค่การสื่อสารหรือตอบโต้ข่าวแต่ละวันแบบไปๆ มาๆ ดังนั้นต้องบอกตัวเองให้ชัด ถ้าเราชัดเจน การทำงานจะนิ่งขึ้นแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม เราจะสามารถทำงานเพื่อความก้าวหน้าในสิ่งที่ทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับคนที่ทำงานด้านการสื่อสารประเด็นสังคม
คุณมองว่าเป็นความท้าทายกับการสื่อสารอย่างไร ในช่วงเวลาที่ประเทศปกครองด้วยเผด็จการทหาร
เป็นอุปสรรคของคนทำสื่อที่สนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยแน่ๆ แล้วอุปสรรคนี้ก็มีความชัดเจนมากๆ ว่าไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ หรือไม่ยอมให้อำนาจการตัดสินใจทิศทางของประเทศเป็นของประชาชน วิธีการที่ทำได้ง่ายสุดคือการควบคุมสื่อ โจทย์ของเราคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อทำในสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยคาดไม่ถึง ต้องมีนวัตกรรมทางสังคมบางอย่าง หรือมีวาทกรรมทางการสื่อสารบางอย่างที่ทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง เพื่อผลักดันให้สังคมไปต่อได้ ซึ่งต้องมีวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ คือวิธีคิดที่มองเห็นว่าสื่งที่ทำไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหา แต่เป็นวิธีการด้วย ในภาวะที่บีบคั้นนี้ เราต้องถามตัวเองว่ามีนวัตกรรมหรือกลไกบางอย่างที่เป็นวิธีคิดใหม่ แนวคิดใหม่ และการทำงานแบบใหม่ที่สามารถเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้ได้ไหม สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องรอบทเรียนจากต่างประเทศแล้วจึงทำ เราสามารถเรียนรู้จากสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศ แล้วหาโอกาส หาช่องว่างว่ามีอะไรที่เราทำได้บ้าง
อย่าง Rethink Thailand ก็เป็นไอเดียแบบนี้ คือมองภาพใหญ่ว่าขาดอะไร ก็ทำสิ่งนั้น แม้ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่เราทำสิ่งที่ขาด และเชื่อว่ายังมีสิ่งที่ขาดไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก เพราะเราไม่ต้องการคนที่ทำซ้ำในสิ่งเดิม หรือถ้าทำเรื่องเดิม ก็ต้องทำด้วยวิธีการใหม่ เพื่อให้สังคมไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้ถ้าเราต้องการจะรู้อะไรสักอย่าง ก็ค้นหาบนอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลนั้นมีคุณภาพแค่ไหน โดยเฉพาะประเด็นสาธารณะต่างๆ เช่น เรื่องนโยบายสุขภาพ กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ คนจะค้นหาประเด็นเหล่านี้ตลอดเวลาที่มีข่าว เรามองว่าประเทศไทยยังขาด online archive ที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ สำหรับ Rethink Thailand เราใช้ infographic animation เหมือนกับ TED-Ed แต่นำเสนอประเด็นสังคมเป็นภาษาไทย และเป็นบริบทในสังคมไทย
แล้วเรื่องอะไรในสังคมไทยที่ควรคิดใหม่
ถ้าเราไม่คิดใหม่อยู่เรื่อยๆ เราก็ไม่ได้ไปไหน เวลาจะคิดอะไรก็ตามเราต้องรู้ข้อจำกัดของสิ่งที่เราคิดด้วย ว่าอย่างน้อยที่สุดความคิดนั้นร่วมสมัยไปได้อีกนานแค่ไหน สิ่งที่เคยทำอยู่เดิมและทำกันอยู่เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือเปล่า เท่ากับว่าถ้าคิดใหม่ในเรื่องนี้เราจะรู้ว่า อาจจะมีที่ที่ดีกว่า ที่ทำให้เราไปต่อข้างหน้าได้มากกว่านี้
ประเทศไทยมีหลายเรื่องมากที่ต้องคิดใหม่ เราต้องคิดว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ถ้าใครบอกว่าสิ่งนี้คือความเป็นไทย ไม่ใช่นะ แต่เป็นการพูดด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะคนที่พูดได้ผลประโยชน์จากการไม่เปลี่ยนแปลง มันเป็นผลประโยชน์บนหยาดเหงื่อและหยดน้ำตาของคนอื่น สมมติบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องรักษาความเป็นไทย แปลว่าความไม่ตรงต่อเวลาหรือเปล่า หรือแปลว่าความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า เป็นเรื่องอภิสิทธิ์และชนชั้นหรือเปล่า
“
การมองว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เป็นความคิดที่อันตรายที่สุดเลยนะ เพราะทำให้สังคมไม่ไปไหน แล้วคนที่จะเจ็บตัวที่สุดคือประชาชนคนทั่วไปที่ควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มีอนาคตที่ดีกว่านี้
”
ยกตัวอย่าง เมื่อพูดถึงความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม การพัฒนาที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรมเหมือนกัน ดูสภาพรถติดที่เป็นอยู่ตอนนี้สิ ก็เพราะการพัฒนาที่ล่าช้า โครงการรถไฟฟ้าวางแผนไว้เป็นสิบๆ ปี คนย้ายเข้าไปใช้ชีวิตตามแผนนั้นหมดแล้ว แต่รถไฟฟ้าเพิ่งจะสร้าง คนก็ต้องจำใจซื้อรถมาใช้ แต่ถ้าไม่รีบย้ายราคาที่พักอาศัยก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก กลายเป็นว่ามีคนจำนวนมากต้องตกอยู่ในทางเลือกแย่ๆ สองทาง คือถ้าไม่ยอมให้มีรายจ่ายสูงขึ้นด้วยการผ่อนรถแล้วใช้ชีวิตกับรถติดๆ ก็ต้องยอมสร้างหนี้ก้อนโตไปกับที่อยู่อาศัยในเส้นรถไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งถูกปั่นราคาจนชนชั้นกลางก็จะเอื้อมไม่ถึงกันแล้ว เป็นผลกระทบของการพัฒนาที่ล่าช้าทั้งสิ้น
ความคิดในวันนี้ ตอนนี้ จึงอาจเป็นผลพวงมาจากคนและสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ใช่ แต่ถ้าพูดถึงคนรุ่นก่อน ก็ต้องถามว่าใคร เรามองว่าในสังคมมีผู้ใหญ่มากมายที่เป็นแบบอย่างให้กับเรา แต่เขาเป็นแบบอย่างที่ดีหรือเปล่า สิ่งที่เราทำได้คือ สังคมต้องช่วยกันตรวจสอบว่าใครเป็นแบบอย่างที่ดีกันแน่ หรือเป็นแบบอย่างเพราะมีชื่อเสียงในสังคมแล้วคิดจะพูดอะไรก็ได้ แต่สังคมปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว คำพูดและการกระทำจะถูกเก็บไว้บนอินเทอร์เน็ต คนจะบันทึกสิ่งที่คุณพูดไว้ตลอดเวลา นี่คือความปกติใหม่ เราสามารถช่วยกันเฝ้าดูว่าใครควรจะเป็นแบบอย่างให้กับสังคมได้
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความคิดหลักๆ 2 ประเด็น คือ แนวคิดแรก คนเป็นอย่างไรเกิดจากสื่อที่รับ มองผู้เสพสื่อแบบ passive ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งบอกว่า ผู้รับสื่อไม่ได้ passive แต่ active และเลือกรับสื่อเพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ เป็นความต้องการเชิงจิตวิทยา เขาอาจไม่ได้มีอุดมการณ์แบบนี้เพราะรับสื่อแบบนี้ แต่เพราะเขามีอุดมการณ์แบบนี้จึงเลือกรับสื่อแบบนี้ก็ได้ แม้ว่าจะมีแนวคิดสองแบบ แต่ในการทำงานต้องตอบได้ว่าอิงแนวคิดแบบไหนอยู่ ถ้าอิงแนวคิดแรก บอกข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อเดิม ซึ่งคนรับสื่ออาจเป็นคนกลุ่มเดิม หรือคนที่มีแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว อีกแนวคิดหนึ่ง คือคิดว่าคนเลือกรับสื่อ ทำให้เกิดการทำงานที่ละเอียดขึ้น เพราะทุกคนมีโอกาสเลือกเสพข้อมูลนี้ได้หมด
เช่น เวลาพูดถึงแคมเปญโลกร้อน หรือ Climate Change ในสหรัฐอเมริกา คนที่มีความคิดเป็นฝ่ายซ้ายหรือลิเบอรัล จะบอกว่าโลกร้อนเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกัน เพราะเป็นวิธีคิดที่เชื่อเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นฝ่ายขวา หรืออนุรักษ์นิยม ที่กังวลเรื่องธุรกิจ ก็จะบอกว่าโลกร้อนเป็นการเมือง ถูกสร้างขึ้นมาแล้วทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น ฝ่ายขวาบางคนก็จะมองเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของตัวเอง ว่าฉันจะทำอะไรก็เรื่องของฉัน เพราะฉะนั้นถ้าสื่อสารไปยังฝ่ายขวาแต่ทำสื่อแบบลิเบอรัล ก็พูดกันไม่รู้เรื่องแน่นอน
แต่ถ้าพูดเรื่องพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกใหม่กับฝ่ายขวาแทนว่า ทำไมธุรกิจของคุณต้องพึ่งพาน้ำมันอย่างเดียว ถ้าบริษัทน้ำมันมีอำนาจผูกขาดที่จะเปลี่ยนแปลงราคาอย่างไรก็ได้ คุณคิดว่ามันสมเหตุสมผลไหมที่ธุรกิจของคุณต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ การมีพลังงานทางเลือกที่หลากหลายคือการเพิ่มทางเลือกเสรีให้กับคุณนะ นี่คือตัวอย่างของการพูดเรื่องเดียวกัน แต่วิธีการพูดต่างกัน เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราพูดสอดคล้องความคิดความเชื่อของคนได้ นี่คือสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะทำให้เราออกจาก echo chamber ของเรา คือเปลี่ยนวิธีการพูดของเราให้สอดคล้องกับคนที่เราพูดด้วย
พูดถึง echo chamber ทำให้นึกถึงกรณี Arab Spring ที่การใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เกิดขี้นได้จริง แต่ในปลายทางกลับกลายเป็นกรงที่กักขังความคิดความเชื่อบางอย่างไว้เช่นเดียวกัน คุณคิดว่าเพราะอะไร
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่คนมีแนวคิดนี้มีพลังมาก แต่เขาลืมสื่อสารไปยังคงที่ไม่ได้เชื่อเหมือนกันในทันที เราไม่มีทางทำให้คนเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการเมืองเห็นชัดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าเลือกตั้งแล้วคุณได้รับเลือก 51% คุณก็เป็นรัฐบาลได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งประเทศคิดแบบคุณ ยังมีอีก 49% ที่เขาไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะชนะเลือกตั้งได้ ดังนั้น คุณจะไม่สื่อสารกับคนเหล่านี้ไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้เขาอาจจะสามารถสื่อสารไปในทางที่เห็นแย้งกับคุณแล้วกลายเป็น 51% ในอนาคตได้
เพราะฉะนั้น จากบทเรียนนี้ เราต้องไม่หยุดที่จะทำความเข้าใจคนที่เห็นต่างกับเรา ไม่เช่นนั้นเท่ากับว่าเราไม่ได้ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย หรือ echo chamber ของเราเองเลย เราต้องสื่อสารแต่ปรับวิธีให้เข้ากับคนแต่ละกลุ่ม เพราะเราไม่สามารถพูดแบบเดียวกันกับทุกคนได้ แต่ละคนมีความเชื่อและวิธีคิดแตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ผมว่าเป็นเรื่องความเข้าใจนะ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ คือการทำให้ประเด็นเรื่องความรักชาติถูกเอาออกไปจากการพัฒนาของฝ่ายก้าวหน้า เราต้องตั้งคำถามกันแล้วว่าทำไมนักกิจกรรมหลายคนจึงถูกกล่าวหาว่าชังชาติ ทั้งที่สิ่งที่เขาทำสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็อยู่กับประเทศชาติทั้งสิ้น ทำไมเขาถึงโดนโจมตีเรื่องนี้ เพราะอะไรสิ่งที่เขาทำจึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนา ภาพลักษณ์เกี่ยวกับความรักชาติของเขาหายไปไหน หรือเราสื่อสารเรื่องนี้น้อยเกินไป หรือเราไม่ได้สื่อสารเรื่องนี้เพราะละเลยว่ายังมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้มีวิธีคิดเหมือนกับเรา
ในมุมมองของคุณ สังคมไทยควรจะเรียนรู้บทเรียนการใช้สื่อ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา สถาพสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
บทเรียนที่สำคัญมากๆ คือ เราต้องอย่าชะล่าใจ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันอยู่เรื่อยๆ อุดมการณ์และการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องสื่อสารกันเสมอๆ ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจสังคม เรา take it for granted ว่านี่คือความเป็นไปของโลก คิดว่ายังไงๆ โลกก็กำลังไปในทางประชาธิปไตย คิดว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นในไทยอีก จนเราลืมสื่อสารความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ และลืมไปว่าสิ่งที่เราทำหรือไม่ทำอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยในด้านต่างๆ และเมื่อคนหมดความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงและอุดมการณ์นี้แล้ว คนก็จะหันไปหาทางเลือกใหม่ ซึ่งอาจจะแย่กว่าเดิม แต่เราปฏิเสธไม่ได้เพราะตอนนั้นความเชื่อมั่นมันหายไปแล้ว
ตัวอย่างที่ชัดมากคือนักการเมืองที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถทำให้คนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะเราลืมคิดไปว่าเมื่อหมดความเชื่อมั่น สังคมก็พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ระบอบอื่นๆ เข้ามา แน่นอนว่าผลสุดท้ายทุกคนล้มเหลวหมด ได้รับผลกระทบหมด ที่เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะความเชื่อมั่นหายไปตั้งแต่ต้น กลายเป็นวิกฤติความเชื่อมั่น แล้วความเชื่อมั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ เราไม่สามารถทุ่มโฆษณาสร้างความเชื่อมั่นได้ เพราะไม่มีใครเชื่อหรอก แต่มันต้องเกิดจากการกระทำ ความคิด การพูดคุย การนำเสนอ การสื่อสารบางอย่างที่ละเอียดอ่อนจึงจะทำให้คนเชื่อมั่นได้อีกครั้ง เป็นสิ่งที่ต้องทำการบ้าน เพราะว่าการจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนหนึ่งๆ ต่างมีวิธีการไม่เหมือนกันเลย ทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรตายตัว และการจะทำแบบนี้ได้ต้องมีแนวคิดนวัตกรรม คือไม่ทำสิ่งเดิมๆ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่า หาทางออกในสังคมที่เกิดการการเปลี่ยนแปลงใหม่เรื่อยๆ ได้
ณ วันนี้อะไรคือสิ่งที่คุณเชื่อมั่นมากที่สุด
โอ้โห ยากเลยเนอะ ท่ามกลางวิกฤตความเชื่อมั่นด้วย (นิ่งคิด) สำหรับประเทศไทย ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เรามีบทเรียนเยอะแยะมากมาย ผมเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและยังมีให้เห็นตอนนี้จะเป็นบทเรียนที่ติดตัวคนรุ่นใหม่ไป มันจะไม่ถูกลืม แต่เราต้องไม่ take it for granted นะ เราต้องพูดถึงเรื่องนี้เรื่อยๆ ทำให้คนไม่ลืมว่าเราพลาดโอกาสอะไรไปบ้าง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก
1 Echo Chamber เป็นคำเปรียบเทียบถึงห้องที่ออกแบบให้มีการสะท้อนเสียงกลับไปมา หมายถึงสถานการณ์ที่ข้อมูล ความคิด ความเชื่อหนึ่งๆ ถูกขยายหรือถูกสนับสนุนผ่านการสื่อสารและการทำซ้ำภายในระบบหนึ่งๆ ในห้องนี้ แหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ มักไม่ถูกตั้งคำถาม มุมมองที่แตกต่างหรือท้าทายต่อข้อมูลเดิมมักถูกปิดกั้น หรือถูกนำเสนอน้อยกว่าข้อมูลที่สอดคล้องกัน