ปราบดา หยุ่น

เมือง-มนุษย์-กรุงเทพฯ มองความซับซ้อนของเมืองผ่านสายตา ปราบดา หยุ่น

กรุงเทพฯ ในสายตาของคุณเป็นอย่างไร?

        บ้างก็ว่าเป็นเมืองโรแมนติก บ้างก็ว่าเป็นเมืองเหงา บ้างก็ว่าเป็นเมืองแห่งความศิวิไลซ์ แต่สำหรับ ปราบดา หยุ่น นั้น เขามองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ซับซ้อนในตัวเอง

        “กรุงเทพฯ มีความซับซ้อนทับถมหลายอย่างจนคลี่คลายได้ยาก สมมติว่าเรามีหน้าที่แก้ไขกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น เราคงเครียดนะ มันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทำ”

        เรารู้จักปราบดาในฐานะนักเขียนมาอย่างยาวนาน ก่อนปี 2559 ที่เขาจะมาสัมผัสงานภาพยนตร์อิสระเป็นเรื่องแรก Motel Mist โรงแรมต่างดาว ตามติดมาด้วย Someone from Nowhere มา ณ ที่นี่ ทั้งสองเรื่องโดดเด่นในการใช้สถานที่หรือพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว พร้อมทั้งยังใช้สัญญะต่างๆ ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างได้แยบยล

        และหลังจากซุ่มทำผลงานอยู่สักพักใหญ่ ปี 2564 ปราบดาพร้อมแล้วสำหรับการกลับมาสู่วงการภาพยนตร์ด้วยผลงาน Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ซีรีส์สัญชาติไทยเรื่องล่าสุดจาก Netflix สตรีมมิ่งระดับโลกที่มีผู้ชมกว่า 209 ล้านคนใน 190 ประเทศ ครั้งนี้เขากุมบังเหียนทั้งตำแหน่งผู้จัด ผู้อำนวยการสร้าง และผู้ร่วมเขียนบท ออกมาเป็นซีรีส์แนวแอ็กชัน-ระทึกขวัญที่ฉายภาพของกรุงเทพฯ ในมุมมองที่แตกต่างออกไป รวมไปถึงเรื่องราวความลึกลับดำมืดกลางกรุงที่รอวันคลี่คลาย

        “ความซับซ้อนของมันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ควรได้รับการปรับปรุงอันดับต้นๆ ของโลก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองอันดับต้นๆ ที่ไม่ง่ายในการที่จะปรับปรุงเช่นกัน”

        อันที่จริงเราอยากชวนปราบดาเดินทางในกรุงเทพฯ ไปพร้อมกัน เพื่อถ่ายทอดความคิดและมุมมองต่างๆ ผ่านสถานที่จริง ทั้งเส้นทางสุขุมวิทที่เขาผูกพัน ชวนเดินทางด้วยขนส่งมวลชนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปัญญา หรือไปนั่งผ่อนคลายริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขาชอบไปบ่อยๆ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เราจึงทำได้เพียงสนทนากันผ่านโปรแกรมสนทนาทางไกลที่น่าจะเป็นเครื่องมือเดียวที่อำนวยความสะดวกให้กับเราในเวลานี้ 

        ถึงกระนั้น นี่ก็ยังเป็นบนสนทนาที่ยังพาเราไปสำรวจเรื่องราวและความซับซ้อนของกรุงเทพฯ ผ่านความคิด ปราบดา หยุ่น ได้ชัดเจนอยู่ดี

ปราบดา หยุ่น

ทราบมาว่าคุณเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิด อยากรู้ว่าพอได้ยินคำว่า ‘กรุงเทพฯ’ ความทรงจำแรกที่ผุดขึ้นมาคือความทรงจำอะไร

        เราเกิดในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ก็จริง แต่ว่าโตที่สมุทรปราการ เราเลยใช้ชีวิตวัยเด็กที่สมุทรปราการมากกว่า เพราะฉะนั้น เวลานึกถึงกรุงเทพฯ ความทรงจำแรกก็คือไกล (หัวเราะ) ตอนเด็กจะเข้ากรุงเทพฯ นานๆ ครั้ง ส่วนใหญ่จะไปกับคุณแม่ช่วงเสาร์-อาทิตย์โดยการนั่งรถเมล์ แต่เราเป็นคนเมารถง่ายมาก ฉะนั้น เวลานั่งรถเมล์โดยเฉพาะรถเมล์ปรับอากาศจะเวียนหัวอยากอาเจียนอยู่ตลอดเวลา เราเลยไม่ชอบการเดินทางมากรุงเทพฯ เท่าไหร่ ทั้งไกล วุ่นวาย ไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำไม สาเหตุหลักๆ ก็เพราะไม่ชอบนั่งรถนานๆ นี่แหละ

        จนกระทั่งเรียน ม.1 ถึงได้เข้ากรุงเทพฯ บ่อยๆ ด้วยเหตุผลว่าเราเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ช่วงแรกๆ เราก็ยังอยู่จังหวัดสมุทรปราการนะ แต่พอขึ้น ม.2 ม.3 ที่บ้านก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ช่วงเป็นวัยรุ่นก็รู้สึกว่ากรุงเทพฯ น่าตื่นเต้นดีนะ แต่ก็ยังเด็กเกินไปที่จะค้นหากรุงเทพฯ ในมุมอื่น อาจเพราะว่าเราก็ยังใช้ชีวิตแบบนักเรียนด้วยล่ะ เช้าไปโรงเรียน เย็นนั่งรถเมล์กลับบ้าน แค่นั้นเลยครับ ไม่ได้ทำกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเมืองจริงๆ

พอเติบโตขึ้นมา แต่ละช่วงวัยมองกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปไหม

        กรุงเทพฯ เปลี่ยนในแง่รูปลักษณ์ครับ ที่ชัดเจนมากคือมีความเป็นสากลมากขึ้น มีความเจริญในแง่วัตถุ ในมุมหนึ่งก็รู้สึกว่าภาพลักษณ์ภายนอกเรียบร้อยขึ้นนะ เพราะการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กเราจะใช้เส้นทางเดิมๆ ในการเดินทาง มันก็เลยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งสยามสแควร์ สุขุมวิท หรือสำโรงที่เปลี่ยนไป ฉะนั้น เส้นทางรถไฟฟ้าทุกวันนี้จากสยามไปถึงสมุทรปราการจึงเป็นเส้นทางในความทรงจำของเรา ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ของรูปลักษณ์ที่เจริญไปตามวัตถุของกรุงเทพฯ

ท่ามกลางความเจริญที่เกิดขึ้น มีอะไรบ้างที่คุณรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่เปลี่ยนไปเลย

        คิดว่าระบบขนส่งมวลชนน่าจะทำได้ดีกว่านี้ครับ เพราะในแง่ความเจริญสิ่งที่เห็นได้ตามเมืองหลวงใหญ่ๆ ทั่วโลกคือความสะดวกในการเดินทางที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว ซึ่งจริงๆ บ้านเราก็มีแล้วนะ แต่กรุงเทพฯ เริ่มช้ามาก กว่าเราจะมีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินก็ช้า และทุกวันนี้ก็ยังกระจายตัวไม่มากพอ ค่าตั๋วก็แพงสำหรับคนทั่วไป ในขณะที่ขนส่งมวลชนราคาถูกกว่าก็ไม่ได้มีการปรับปรุงมากนัก มันแปลกนะสำหรับคนอายุจะ 50 แล้วที่ตอนวัยรุ่นใช้รถเมล์คันไหน ทุกวันนี้ก็ยังมีรถเมล์คันเดิมวิ่งอยู่ (หัวเราะ) หรือแม้แต่รถไฟทางไกลก็ควรได้รับการพัฒนาปรับปรุงมากกว่านี้ หรือห้างสรรพสินค้าอาจไม่จำเป็นต้องมีมากมายขนาดนี้ ในมุมหนึ่งเกิดจากที่เราไม่มีตัวเลือกมานาน เมืองของเราถูกสร้างขึ้นมาโดยที่ไม่คิดถึงกิจกรรมนอกบ้านมากนัก ทำให้ขาดแคลนสวนสาธารณะเล็กๆ ตามมุมต่างๆ หรือแม้สถานที่สาธารณะที่ผู้คนออกมาใช้ร่วมกันด้วยความรู้สึกปลอดภัยและสะอาด ทำให้ความรู้สึกการมีสมบัติส่วนรวมมันน้อยเกินไป พอกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด สิ่งก่อสร้างต่างๆ จึงหันไปตอบสนองระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมากกว่า เช่น การสร้างห้างสรรพสินค้าหรือการสร้างคอนโดมิเนียม ซึ่งอาจจะไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีจำนวนมากอย่างในทุกวันนี้ ซึ่งนอกจากจะมีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แล้ว เราก็ยังมีมินิมาร์ตอยู่ตามซอกซอยต่างๆ อีก แล้วส่วนใหญ่ล้วนเป็นแบรนด์เดียวกันอีก ทำให้คนกรุงเทพฯ มีทางเลือกค่อนข้างน้อย

ปราบดา หยุ่น

นึกถึงข่าวล่าสุดของโรงภาพยนตร์สกาล่าที่บริษัทห้างสรรพสินค้าชนะประมูลสิทธิ์พัฒนาที่ดินตรงนั้น ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้าอีก ว่าแต่ทำไมเราต้องผูกติดคำว่า ‘เจริญ’ กับวัตถุหรือ Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) ต่าง ๆ คุณคิดว่าเมืองควรมีความเจริญแบบอื่นอีกไหม

        อาจเป็นลักษณะเฉพาะของการเติบโตแบบประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างทางอำนาจด้วย ว่าใครมีอำนาจในการจัดสรรและสร้างสิ่งต่างๆ บนที่ดินเหล่านั้น คนมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อสาธารณะจริงๆ มันมีไม่มากพอในบ้านเรา ส่วนใหญ่เขาก็จะคิดถึงผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากกว่า ห้างสรรพสินค้าก็เหมือนกัน มันเป็นสูตรสำเร็จง่ายๆ ของนายทุนที่สร้างขึ้นมาเพื่อได้รับผลตอบแทน ถ้าจะสร้างอะไรที่เน้นประโยชน์ส่วนรวมและนายทุนก็ได้ประโยชน์มันค่อนข้างท้าทาย ส่วนตัวผมก็เสียดายนะ ผมรู้สึกว่ามันน่าจะมีวิธีที่ไปด้วยกันได้ทั้งสองด้าน คือนายทุนสามารถมอบสิ่งดีๆ สู่สาธารณะได้ ขณะที่นายทุนก็ยังมีโอกาสสร้างกำไรอยู่ 

        ส่วนคำว่า ‘เจริญ’ เท่าที่เราสัมผัสมา เมืองที่เจริญคือเมืองที่ผู้คนมีจิตสำนึกร่วมกันเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของเมืองหรือการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในเมือง (Sense of Belonging) เช่น ความรู้สึกว่าอยากเดินในสวนสาธารณะ ความอยากทำกิจกรรมในพื้นที่ส่วนรวม ความรื่นรมย์ในเมืองอื่นถูกสร้างขึ้นมาได้มากกว่ากรุงเทพฯ การเดินห้างของเราคงได้แค่ความเย็น ผมว่าน่าจะเป็นเหตุผลหลักด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากไปช้อปปิ้งตลอดเวลา เหมือนว่าในกรุงเทพฯ แทบไม่สามารถสร้างความรื่นรมย์อื่นนอกเหนือไปจากการเดินเข้าไปในอาคารเย็นๆ

        เมืองอื่นเขาจะมีกิจกรรมที่ให้ความรื่นรมย์ในการออกจากบ้าน เช่น นิวยอร์กมีสวนสาธารณะต่างๆ ที่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะเจออะไร คนเล่นดนตรี หรือคนเล่นกีฬาที่เราสามารถเข้าไปแจมได้โดยไม่จำเป็นต้องนัดล่วงหน้า หรือว่าฤดูนี้ของปี สวนนี้จะมีภาพยนตร์กลางแปลงให้ดู อีกสวนมีละครเวทีให้ดู มันมีกิจกรรมมากมายที่คนสามารถทำร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ เพียงแต่กรุงเทพฯ มันไม่มีคนริเริ่มสิ่งเหล่านี้เท่าไหร่

ถ้าอย่างนั้นมีพื้นที่ไหนในกรุงเทพฯ ที่คุณไปแล้วรู้สึกรื่นรมย์หรือผ่อนคลายบ้าง

        ช่วงเวลาที่ทำให้เรารู้สึกชอบกรุงเทพฯ คือตอนนั่งเรือข้ามฟาก เพราะนั่นเป็นกิจกรรมที่ทำให้เห็นกรุงเทพฯ ในมุมที่รื่นรมย์ รู้สึกว่ากรุงเทพฯ มีความสวยงาม ได้เห็นแม่น้ำ ได้เห็นวิถีชีวิต ซึ่งเป็นการเดินทางที่มีความพิเศษ ไม่ใช่การเดินทางบนถนนกรุงเทพฯ ที่เป็นความทุกข์สำหรับเรา (หัวเราะ) เวลานั่งเรือข้ามฟากเรารู้สึกว่าเมืองนี้มีสิ่งที่พิเศษ โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกดินมันสวยงามมาก แม่น้ำเจ้าพระยาก็สวยงาม กรุงเทพฯ ยังมีความสวยงามอยู่ แม้แต่การนั่งเรือด่วนในคลองก็ยังสร้างความประทับใจนะ เพราะการเดินทางโดยเรือมันสะดวกมาก ไม่ทำให้เราเครียดเหมือนการติดอยู่บนท้องถนน

        แต่เราก็ยังรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ในความเป็นเมืองหลวงยังมีความรู้สึกแบบหมู่บ้านอยู่พอสมควรเมื่อเทียบกับเมืองหลวงใหญ่ๆ เมืองอื่นในโลกที่เคยสัมผัสมา ทั้งถนนหนทาง ตรอกซอกซอยของกรุงเทพฯ จะมีสเกลเล็กกว่า เป็นสเกลของความเป็นชุมชน ส่วนถนนกว้างๆ จะอยู่ชานเมืองออกไป ใจกลางเมืองส่วนใหญ่จึงมีแต่ตรอกซอกซอยเล็กๆ ผสมผสานกับความเป็นชุมชนที่มีอยู่ เช่น ต่อให้เราอยู่ในย่านธุรกิจที่แออัดมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสาทร สีลม หรืออโศกเองก็ตาม กรุงเทพฯ ก็ยังมีชุมชนเล็กๆ หลบซ่อนอยู่ เช่น ย่านอินเดีย ย่านคริสเตียน ย่านมุสลิม หรือย่านคนญี่ปุ่น มันคือความหลากหลายที่มีสีสัน แต่มันยากที่เราจะไปสัมผัสมันบ่อยๆ ฉะนั้น ถ้าเอาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนได้ กรุงเทพฯ ก็ยังมีรสชาติหลากหลายให้เราได้สัมผัส

ในเมื่อกรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของผู้คน ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชนชั้น หรือศาสนา คุณคิดว่าความหลากหลายในกรุงเทพฯ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งไหม

        เป็นทั้งเสน่ห์ที่ให้เราไปสัมผัสวัฒนธรรมอื่นโดยไม่ต้องเดินทางไปไกล ขณะเดียวกันมันตอกย้ำว่าความเจริญมันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ นะ เพราะถ้าความเจริญสามารถกระจายตัวออกไปได้มากกว่านี้ แต่ละเมืองแต่ละจังหวัดจะมีจุดเด่นและเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะในประเทศที่เจริญแล้วคนจะมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิต เช่น ถ้าเราอยากมีวิถีชีวิตแบบนี้เราจะไปอยู่เมืองนี้ ถ้าอยากทำงานแบบนี้ต้องไปเมืองนั้น หรือถ้าอยากเรียนวิชานี้ก็ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยประจำเมืองนั้น แต่เมืองหรือจังหวัดในไทยส่วนใหญ่มันไม่มีกิจกรรมหรืออาชีพให้คนทำได้จริงๆ ถ้ามองภาพรวม สิ่งที่จะช่วยให้ทั้งประเทศเจริญไปพร้อมกันไม่ใช่แค่ทางวัตถุ แต่ว่าคือการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย

ปราบดา หยุ่น

ความหลากหลายในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนต่างคนต่างอยู่มากขึ้น เราไม่เคยรับรู้ความเป็นไปของเมืองเดียวกัน ยกตัวอย่างกรณีม็อบที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่บางคนในกรุงเทพฯ กลับไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของม็อบด้วยซ้ำ คุณมีความคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

        ประเด็นเดียวกันคือการไม่มีสำนึกของการใช้ชีวิตร่วมกันหรือสำนึกทางสาธารณะ สิ่งนี้สร้างให้ทุกคนคิดว่าต่างคนต่างอยู่ ทำให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับชีวิตเมืองมันไม่ได้มีจริงๆ หรอก เราเป็นเพียงหน่วยต่างๆ ที่ใช้ชีวิตในเมือง เช่น คนที่ทุกวันทำงานแถวสาทร เขาก็จะคิดแค่ว่าฉันเป็นมนุษย์สาทร หรือมนุษย์สะพานควายก็จะไม่ได้สัมผัสถึงปัญหาของคนที่อาศัยอยู่ลาดพร้าว ทั้งที่จริงเราใช้ชีวิตในเมืองเดียวกัน เราก็ควรเข้าอกเข้าใจกัน รับรู้ถึงปัญหาของแต่ละคนแล้วช่วยกันผลักดันแก้ไข แต่ทุกวันนี้มันต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างบอกว่าฉันจะทำให้ที่ที่ฉันอยู่ดีขึ้นแค่นั้น

เคยได้ยินมาว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งโอกาสที่ทุกคนเข้ามาแสวงหา คุณคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งโอกาสจริงไหม

        ทุกเมืองหลวงเป็นอย่างนั้นนะ เป็นคุณสมบัติหลักของเมืองใหญ่ที่มีโอกาส คนเข้าเมืองใหญ่ก็เพราะทำงาน หาเงิน เป็นทุกเมือง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเมืองจะขาดอัตลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยกตัวอย่างนิวยอร์กที่เป็นเมืองซึ่งแทบทุกคนมาจากทั่วโลก แต่อัตลักษณ์ความเป็นนิวยอร์กมันเกิดขึ้นจากความจับฉ่ายของมนุษย์ แม้แต่คนจากประเทศอื่นที่อยู่นิวยอร์ก เขาก็มีความภูมิใจที่เขาเป็นนิวยอร์กเกอร์ เพราะฉะนั้น มันต้องเป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตในเมืองถึงจะทำให้เรารู้สึกภูมิใจ ถ้าเราคิดแค่ว่าเข้ามาเพื่อทำงาน เก็บเงิน แล้วออกไป ยังไงก็ไม่มีทางภูมิใจในความเป็นเมืองที่เราอยู่

เมื่อความภูมิใจเกิดจากการใช้ชีวิต แสดงว่าการอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้คนเราแทบจะไม่ได้ใช้ชีวิตเลยเหรอ

        ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันครับ น่าจะเป็นเรื่องทำนองนี้มากกว่า เรามีประสบการณ์เรียนหนังสือที่นิวยอร์ก 6 ปี แต่ทำไมเราถึงมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของนิวยอร์กได้ ซึ่งเราเป็นคนไทยด้วยนะ ไม่ได้เป็นคนอเมริกัน พอกลับมาเมืองไทย 20 กว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังภูมิใจที่เคยได้อยู่นิวยอร์กอยู่เลย เรายังมีคุณสมบัติบางอย่างที่เกิดขึ้นตอนที่เราอยู่นิวยอร์ก เรายังมีความรู้สึกร่วมกับมัน แล้วความรู้สึกนั้นคือความรู้สึกที่ได้ใช้ชีวิตในเมืองร่วมกับคนอื่น เช่น เวลาที่เดินบนท้องถนนเราก็หันไปคุยกับคนแปลกหน้า หรือในรถไฟใต้ดินก็คุยกับคนที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก มันเป็นความรู้สึกร่วมของการใช้ชีวิตในเมืองเดียวกัน ขณะที่เมืองไทยเหมือนมีกำแพงอะไรบางอย่าง ต่อให้เราคุยกับคนแปลกหน้า เขาก็ไม่ได้คุยเพราะมองเราเป็นเพื่อนร่วมเมือง

การมีประสบการณ์ใช้ชีวิตในเมืองต่างประเทศ ทำให้มองเห็นกรุงเทพฯ ชัดเจนมากขึ้นหรือเปล่า

        มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เวลาที่คนเราใช้ชีวิตที่เมืองอื่น เราก็จะเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตในเมืองเดิมที่เราอยู่ มีหลายๆ อย่างในเมืองอื่นที่ดีกว่า แต่ก็มีหลายอย่างที่บ้านเราสะดวกกว่า เช่น กรุงเทพฯ ก็สะดวกในแง่ของกินที่ไม่มีวันขาดแคลน เดินออกไปนิดเดียวก็เจอสิ่งที่เราต้องการ ขณะที่ต่างประเทศบางเมืองเราต้องเดินทางข้ามเมืองเพื่อหาสิ่งที่ต้องการ แต่ประเด็นหลักที่เราต้องการพูดคือพื้นที่สาธารณะ ถ้ากรุงเทพฯ มีคุณสมบัติแบบนั้นบ้าง กรุงเทพฯ คงจะน่าอยู่ขึ้นเยอะ เพราะคุณสมบัติหลักในความน่าอยู่ของเมืองก็คือสิ่งที่อยู่นอกบ้านของเรา 

คนต่างชาติมีมุมมองต่อกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง เพราะในสื่อ เช่น ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพกรุงเทพฯ เป็นเมืองอันตราย หรือเมื่องที่มีความดำมืดอะไรบางอย่างซ่อนอยู่

        ปกติต่างชาติชอบกรุงเทพฯ มากครับ เพราะเขามาอยู่แป๊บเดียว (หัวเราะ) เขาจะชอบเพราะอาหารอร่อย ค่าครองชีพไม่สูงมากนักสำหรับเขา โดยเฉพาะจตุจักรที่เป็นศูนย์รวมของราคาจับต้องได้ ขณะภาพลักษณ์เมืองอาชญากรรมที่เห็นในหนังฝรั่งนั้นเป็นเพียง Perception (การรับรู้) ของคนทำคอนเทนต์แบบนั้น เช่น จะทำหนังอาชญากรรมก็ต้องไปถ่ายที่พัฒน์พงษ์ ไม่ค่อยมีใครคิดไปถ่ายที่อื่น ซึ่งในซีรีส์ Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ที่เราอำนวยการสร้างก็พยายามหลีกเลี่ยงภาพนั้นด้วย เพราะนั่นไม่ได้เป็นภาพแทนของสิ่งที่คนไทยคิด เราอยากจะเปลี่ยน Perception คนต่างชาติเหมือนกัน ฉะนั้นด้านมืดของกรุงเทพฯ ในซีรีส์เรื่องนี้จึงเป็นด้านมืดในมุมมองคนไทย เป็นสิ่งที่เรารับรู้ในข่าวทุกวัน หรือประเด็นการคอร์รัปชันการทุจริตต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว

ปราบดา หยุ่น

‘วันชัย’ ตัวละครหลักของซีรีส์ (นำแสดงโดย ‘เวียร์’ – ศุกลวัฒน์ คณารศ) ก็เป็นคนต่างจังหวัดที่ตั้งใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำไมคุณถึงเลือกใช้คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นตัวละครนำ

        เพราะคนที่อยู่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยเหมือนตัวละครในเรื่องครับ แล้วคนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าไม่มีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในเมืองนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องอยู่กันไป

‘จำเป็น’ หรือ ‘จำยอม’ ที่ต้องอยู่

        (หัวเราะ) ทั้ง 2 อย่างครับ จำเป็นและจำยอมที่ต้องอยู่กันแบบนี้ เพราะฉะนั้น ซีรีส์เรื่องนี้จึงพยายามเล่าถึงตัวละครตัวเล็กตัวน้อยที่พยายามเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างโดยอุดมการณ์ส่วนตัวหรือสถานการณ์พาไป แต่เราก็พยายามสื่อสารด้านบวกว่า ความพยายามเหล่านี้ไม่ได้สูญเปล่านะ เพราะเราก็มีตัวอย่างจริงๆ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากคนตัวเล็กตัวน้อย หรืออย่างน้อยเสียงของคนตัวเล็กๆ ที่มารวมกันก็ทำให้มีพลังขึ้นมา เราไม่ได้คิดว่าปัญหาในกรุงเทพฯ จะแก้ได้ง่ายๆ ด้วยการลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยนะครับ แต่ว่ามันต้องเริ่มแบบนั้น ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้น เราก็จะอยู่ภายใต้คนที่มีอำนาจในการควบคุมชีวิตของเราต่อไป

ขณะเดียวกัน ‘แคต’ (รับบทโดย ‘ออม’ – สุชาร์ มานะยิ่ง) อีกหนึ่งตัวละครก็เป็นนักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงที่มาพร้อมอุดมการณ์ในฐานะกระบอกเสียงของประชาชน ตัวละครนี้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หน้าที่สื่อมวลชนใช่ไหม

        ส่วนหนึ่งครับ แต่ว่าคาแรกเตอร์นักข่าวมันสร้างความรู้สึกร่วมสมัย เพราะว่าแคตเป็นตัวแทนของการใช้สื่อในปัจจุบันที่ทุกคนมีศักยภาพเป็นนักข่าวในตัวเอง เพราะทุกคนมีสมาร์ตโฟนและมีโซเชียลมีเดียที่สามารถเผยแพร่ภาพและพูดสิ่งต่างๆ ให้โลกรับรู้ได้อย่างง่ายดาย เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้คนธรรมดามีพลังและอำนาจในการพูดถึงสิ่งต่างๆ ในสังคม เหมือนถนนที่เป็นหลุมบ่อ พอถ่ายลงโซเชียลฯ วันรุ่งขึ้นก็มีคนไปปรับปรุงแก้ไขให้ แต่ถ้ามันไม่ได้ถูกเผยแพร่ก็ไม่มีใครทำอะไร เราจึงอยากนำเสนอตัวละครนี้ถึงพลังที่มีอยู่ว่าจะเลือกใช้มันหรือเปล่า หรือจะเลือกใช้ในทางไหนกันแน่

        ทุกวันนี้สื่อมวลชนแบบดั้งเดิมอยู่ได้ยากมากนะ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปมาก แล้วทุกคนก็มีอุปกรณ์ที่สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ นับก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของวิชาชีพนี้เลย โดยเฉพาะคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อมวลชนจริงๆ ควรต้องปรับตัวยังไง ควรยกระดับวิชาชีพตัวเองขึ้นมาไหม เพราะเมื่อฉันทำอาชีพนี้แล้ว ฉันไม่ควรจะมีค่าเท่ากับใครก็ได้ที่มีมือถือหนึ่งเครื่องหรือเปล่า มันเป็นการตั้งคำถามผ่านตัวละครตัวนี้ด้วย

ปราบดา หยุ่น

ผลงานของคุณทั้งวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ มันใช้สถานที่สร้างบริบทหรือทำให้เกิดสถานการณ์หนึ่งเสมอ ใน Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง กรุงเทพฯ มีบทบาทสำคัญในเนื้อเรื่องไหม

        ก็เป็นตัวละครตัวหนึ่งของเรื่องครับ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวละครจะต้องเผชิญ แล้วหลายอย่างก็มาจากความเป็นเมืองและ Infrastructure หรือแม้แต่พฤติกรรมของคน เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนก็มาจากความเป็นเมือง ฉะนั้น ตั้งแต่ที่เราคุยเขียนบทกับผู้กำกับ พี่โขม (ก้องเกียรติ โขมศิริ) จึงตั้งใจว่ากรุงเทพฯ จะเป็นตัวละครหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้

ซีรีส์มีคำโปรยว่า ‘อยู่ในเมืองนี้…อย่ารู้เยอะ’ จริงๆ แล้วเราจำเป็นต้องรู้จักความซับซ้อนดำมืดในกรุงเทพฯ ไหม

        รู้ก็น่าจะดีกว่านะ อย่างน้อยถ้ารู้เราก็สามารถบอกตัวเองว่าจะจัดการสิ่งที่รู้นั้นยังไง จะใช้ชีวิตแบบไหน บางทีความไม่รู้ก็ทำให้เราไม่ได้ตัดสินใจหรือไม่ได้มีทัศนคติจริงๆ อย่างที่เราอยากมี เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ก่อนแล้วมาทบทวนน่าจะดีกว่า 

ในฐานะคนกรุงเทพฯ คุณอยากบอกอะไรกับความซับซ้อนดำมืดนี้บ้าง

        จริงๆ ในฐานะคนไทยและคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อย่างมากที่สุดที่ทำได้ก็คือสะกิดคนกรุงเทพฯ หรือคนไทยด้วยกันว่า สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ให้เห็นในชีวิตประจำวันของเรา ถึงเวลาที่ควรพิจารณาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง เพราะว่าเราอยู่กับมันมานานมากแล้ว เอาจริงๆ หลายอย่างที่เราเห็นในข่าว ทุกคนรู้ว่าความซับซ้อนนั้นมีอยู่จนไม่รู้สึกแปลกใจที่ได้ยิน เช่น ข่าวทุจริตต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนรู้ว่ามันมีอยู่ ถามว่าเรายังอยากให้มันมีต่อหรือเปล่า หรือว่าเราควรพูดถึงมันมากขึ้น ทุกคนควรกดดันให้คนที่เป็นต้นตอหรือตัวการรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ควรหมดไปได้แล้ว

ปราบดา หยุ่น


ภาพ: Netflix Thailand