ประภัสร์ จงสงวน

ประภัสร์ จงสงวน: ถกปัญหา ‘หัวลำโพง’ พื้นที่นี้ต้องเป็นของมวลชนคนไทยทุกคน

เป็นข่าวที่ทั้งสร้างความงุนงง และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กรณีการประกาศ ‘ปิดหัวลำโพง’ หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่มีอายุกว่า 105 ปี 

        แรกเริ่มเดิมที ข่าวออกมาว่าจะดำเนินการทุบทิ้ง แล้วคงเหลือไว้เพียงโครงสร้างที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญ เพื่อนำไปจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ส่วนพื้นที่เดิมจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 

        เวลาผ่านไปไม่นานนัก การข่าวระลอกสองก็ถูกประกาศออกมาอีกว่า หัวลำโพงจะหยุดการเดินรถไฟ จากเดิมวันละนับร้อยเที่ยว ให้ค่อยๆ ลดลงเหลือราวๆ หลักสิบเที่ยวต่อวัน ซึ่งขบวนที่เหลืออื่นๆ นั้นให้ไปหยุดจอดยังสถานีกลางบางซื่อแทน

        จากสองข่าวใหญ่ที่ว่ามา เล่นเอาเกิดกระแสคัดค้านขึ้นมาในทันที ทั้งการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของการนำพื้นที่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการหยุดจำนวนขบวนรถไฟ ที่ส่อเค้าว่าเหมือนเป็นการ ‘ผลักภาระ’ ไปให้กับประชาชนเต็มๆ เนื่องจากต้อง ‘จ่ายเพิ่ม’ กับค่าเดินทางที่เป็นส่วนต่อเข้ามายังเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 

        ในเสียงคัดค้าน ตลอดจนความสงสัย มีผู้ชายที่ชื่อ ‘ประภัสร์ จงสงวน’ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมอยู่ในนั้นด้วย เขาออกมาให้ข่าวในโซเชียลมีเดีย รวมถึงจัดแถลงข่าวถึงความไม่โปร่งใสครั้งนี้

        ถึงตรงนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่า หัวลำโพงจะเดินหน้าไปในทิศทางใดในอนาคต a day BULLETIN จึงเชิญประภัสร์มาร่วมพูดคุยกัน เพื่อขยายให้เห็นถึง ‘ภาพปัญหา’ ที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้ รวมถึงทางออกที่เหมาะสม ควรจะเป็นอย่างไร พื้นที่ต่อจากนี้มีคำตอบรออยู่…

ประภัสร์ จงสงวน

ถ้าให้คุณช่วยสรุปง่ายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นของหัวลำโพงในเวลานี้ ‘ต้นตอ’ เกิดขึ้นจากอะไร

        ถ้าพูดกันตรงๆ คือ มีคนที่อยากได้พื้นที่หัวลำโพงเพื่อเอาไปพัฒนาเชิงพานิชย์ ซึ่งที่นี่เป็นที่ใจกลางเมืองแปลงใหญ่มาก หาไม่ได้แล้วแถวนี้ แล้วเผอิญเป็นที่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีปัญหาเรื่องการเงินมาโดยตลอด ตอนแรกข่าวที่ออกมา เขาจะทุบทั้งหมด ตอนหลังพอเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องการหยุดเดินรถเข้ามาที่หัวลำโพง ซึ่งหนักเข้าไปอีก เพราะนั่นหมายความว่า คุณกำลังผลักภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชนมากขึ้น

        ทั้งสองเรื่องนี้ ถ้ามาคุยกันในรายละเอียด เริ่มจากเรื่องการจะเอาพื้นที่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ก่อน ในความเป็นจริงทรัพย์สินที่มีของการรถไฟฯ เยอะมาก ผมสงสัยว่าทำไมต้องมาเอาจุดนี้ พื้นที่ที่เป็นที่ดินว่างเปล่า หรือไม่มีการดำเนินการอะไร มีตั้งเยอะแยะ ทำไมคุณไม่ไปใช้ที่เหล่านั้น ยกตัวอย่างช่องนนทรี นี่ก็ที่การรถไฟฯ เป็นที่สวยมากด้วย อยู่ตรงข้ามบางกระเจ้า เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ตรงนั้นไม่มีใครทำอะไรเลย ทำไมคุณไม่ไปดู ทำไมต้องมาเป็นที่นี่

        ส่วนประเด็นต่อมา คือการหยุดเดินรถเข้ามายังหัวลำโพง อย่างที่บอกไป มันจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมหาศาล นี่พูดถึงเฉพาะคนที่เดินทางนะครับ นอกจากนั้นยังมีที่ได้ผลกระทบอีกมาก เช่น คนที่อยู่รอบๆ บริเวณนี้เขาทำมาหากิน อยู่กับระบบรถไฟมาเป็นสิบๆ ปี เขาขาดรายได้อย่างแน่นอน แม้กระทั่งรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่มีสถานีอยู่ที่นี่ ก็จะมีปัญหาตามไปด้วย เพราะทุกวันนี้รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รับคนที่มาจากรถไฟปกติเพื่อเดินทางเข้าเมืองเป็นจำนวนเยอะมาก ถ้าตรงนี้บอกปิดปุ๊บ รถไฟฟ้าใต้ดินจะมีปัญหาทันทีเช่นกัน 

“รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่เป็นกิจการสาธารณูปโภค ดังนั้น คุณจะมาหวังผลกำไรไม่ได้ ผมยกตัวอย่างให้ฟังอย่างนี้ ในการทำโครงการทุกชนิด มันจะมีเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กับผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งทุกครั้งเวลาเปิดโครงการ ทุกๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการคลัง ด้านงบประมาณ มักจะดูแต่ผลตอบแทนทางการเงิน แต่ไม่ดูผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ก่อนที่คุณจะอนุมัติโครงการต่างๆ คุณอ้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเสมอ”

        มันมีคำถามตามมาว่า ทำไมถึงต้องหยุดเดินรถ ในเมื่อทุกอย่างไม่มีอะไรพร้อมเลย ย้อนกลับไปตอนผมเป็นผู้ว่าการรถไฟฯ ราวๆ ปี 2555-2557 เราคุยกันชัดเจนมาตลอด ถ้ามีการสร้างสถานีกลางบางซื่อขึ้นมา สถานีนี้ก็ยังต้องใช้อยู่เหมือนเดิมคือทุกประเทศในโลก สถานีรถไฟที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะที่เป็นสถานีเก่าแก่ เขาเก็บเอาไว้หมด อย่างโตเกียวสเตชั่น เขาสร้างโรงแรมเหนือตัวสถานีเดิมขึ้นไป โดยอ้างว่าใช้สิทธิ์ทางอากาศ แต่ประเด็นคือ เขาสร้างโดยไม่ไปยุ่งกับสถานีรถไฟเดิม เขาคงไว้อย่างนั้น แล้วทำให้คนที่มาท่องเที่ยวสะดวกขึ้นด้วย คือสามารถเข้าพักที่โรงแรมนี้ได้เลย แล้วจากสถานีเดิมก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้หมด ถ้าทำแบบนี้ ผมเข้าใจได้ แต่ถ้าจะประกาศทุบ ลองไปดูได้เลยทุกประเทศในโลกนี้ ไม่มีใครเขาทุบสถานีรถไฟ เพื่อเอามาพัฒนาเชิงพาณิชย์กันหรอกครับ

ถ้าย้อนเวลากลับไป นับตั้งแต่ช่วงระหว่างการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ เคยมีการพูดคุยถึงเรื่องการปิดการใช้สถานีหัวลำโพงบ้างหรือไม่

        ไม่มีครับ ผมถึงบอกว่านี่เป็นครั้งแรก ขนาดคนรถไฟเองยังไม่รู้เรื่อง คุณลองสังเกตข่าวประชาสัมพันธ์ที่ออกมาจากการรถไฟฯ แต่ละครั้งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ทุกคนสับสนไปหมด ผมพูดตรงๆ ในฐานะที่เคยอยู่รัฐวิสาหกิจมาหลายแห่ง ผมอยู่มาตั้งแต่การทางพิเศษฯ องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) จนมาอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถ้าคุณเป็นระดับหัวหน้าหน่วยงาน คุณมีหน้าที่ต้องชี้แจงเหตุและผล โดยเฉพาะในสิ่งที่รัฐมนตรีได้ทำ ว่ามันสมเหตุสมผล รวมทั้งมันจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ คุณมีหน้าที่บอกเขานะครับ ทำอย่างนี้แล้วจะมีผลกระทบอย่างนั้นอย่างนี้ หรือทำอย่างนี้กระทรวงจะมีปัญหา รัฐบาลจะมีปัญหา แต่คำถามก็คือ คุณได้มีการทำอย่างที่ว่านี้หรือเปล่า

        ถ้าผมเป็นรัฐมนตรี เกิดมีผู้ว่าการรถไฟฯ มาบอกผมว่าถ้าท่านทำอย่างนี้ จะมีผลกระทบอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ต้องคิดนะ เกิดผมทำไปแล้ว สั่งการไปแล้ว คนอีกเท่าไรที่จะเดือดร้อน ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯ แต่คนที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพทุกวันเขาเดือดร้อนหมด คุณจะเป็นที่เกลียดชังของคนอีกเท่าไร เรื่องแบบนี้มันคุ้มกันไหม

        คือเข้าใจนะว่าท่านอยากทำ และเข้าใจด้วยว่าทำไมท่านถึงอยากทำ แต่ว่าถามจริงๆ เถอะครับว่า มันเหมาะสมและคุ้มค่า หรือว่ามันดีสำหรับประชาชนหรือเปล่า คุณอ้างว่าไม่เป็นไรหรอก จอดที่บางซื่อเอา คุณรู้หรือเปล่า จากสถานีบางซื่อ ไปรถไฟฟ้าใต้ดิน มันห่างกันเท่าไร ประมาณ 1 กิโลเมตรครับ แล้วคุณจะให้เขาเดินไปเหรอ อีกอย่างรถไฟใต้ดินช่วงเช้าๆ มันขึ้นได้จริงหรือเปล่า วันนี้บางซื่อไม่ใช่สถานีต้นทาง มันมีสถานีอื่นๆ ที่รับคนมาตั้งเท่าไร คุณเอาคนตรงนั้นเข้าไปใส่อีก ถามว่ามันจะมีสักกี่คนที่ขึ้นได้ 

ประภัสร์ จงสงวน

        แล้วยังจะบอกต่อไปอีกว่า เดี๋ยวให้รถเมล์ ขสมก. ไปรับ วิ่งจากบางซื่อเข้ามาที่หัวลำโพง ผมถามว่าโลกความจริงต้องใช้เวลากี่ชั่วโมง ต้องฝ่าการจราจรอีกเท่าไหร่ คุณบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวเราเพิ่มรถเข้าไปเยอะๆ สรุปนี่คือการขายผ้าเอาหน้ารอดไปใช่ไหมครับ ยิ่งพูดยิ่งเห็นว่า มันเป็นอะไรที่ไม่เมกเซนส์ คนพูดไม่ได้รู้จริงว่า วิธีการเดินทางมันเป็นยังไง และจะมีผลกระทบอะไรบ้าง

        ผมอยากตำหนิผู้ที่เป็นฝ่ายบริหารขององค์กร เพราะนี่เป็นหน้าที่คุณ คุณต้องอธิบาย คุณอยู่ที่หน่วยงานนี้ คุณต้องรู้ว่าหน่วยงานนี้เขาทำอะไร หน้าที่ขององค์กรนี้ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งการรถไฟฯ ขึ้นมา คือการดูแลประชาชน ดูแลการขนส่งของประชาชน แล้วสิ่งที่คุณกำลังจะทำ ผมถามว่า มันตรงกับหน้าที่คุณหรือเปล่า

นอกจากประเด็นเรื่องการนำพื้นที่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือการลดจำนวนขบวนรถไฟ ยังมีประเด็นอื่นที่คุณยังมีความสงสัยอีกไหม

        ผมขออธิบายอย่างนี้ ถ้าสถานีไม่ได้ใช้งาน หรือไม่มีการเดินทางเข้ามา มันสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนสีผังเมืองได้ คือพื้นที่นี้เดิมเป็นสีน้ำเงิน คือเป็นพื้นที่หน่วยงานราชการ ไม่สามารถใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ แต่ถ้าเปลี่ยนไปเป็นสีแดง มันจะสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ทันที ถามว่าต้องการแค่นี้หรือเปล่า

        ถ้าคุณต้องการแค่การเปลี่ยนสีผังเมือง ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่โหดร้ายกับประชาชนมากๆ คุณอาจไปสร้างบุญคุณกับคนบางกลุ่ม แต่คุณกำลังทำร้ายประชาชน ทำร้ายประเทศ มากไปกว่านั้น คุณกำลังทำร้ายสมบัติที่รัชกาลที่ 5 ท่านได้พระราชทานกับประชาชน ไม่ได้พระราชทานให้กับรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด พระองค์ทรงมอบให้กับประชาชนของท่าน แล้วพวกคุณมีสิทธิ์อะไร หรือวันนี้คุณจะบอกว่าตรงนั้นไม่สำคัญ คนละยุคคนละสมัย พูดมาสิครับ แน่จริงพูดออกมาเลย ว่ามันเป็นอย่างนั้น

“มันถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่ประเทศนี้ควรจะแก้ไขเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง กลุ่มคนที่กว้านซื้อที่ดินเพื่อการใดการหนึ่ง คุณต้องเสียภาษีเพิ่มเติมได้สักที คนเหล่านี้คือคนที่รู้เรื่องโครงการก่อนใคร และมักจะไปซื้อที่ดินเอาไว้ โอเค ซื้อก่อนผมไม่ว่า แต่คุณต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ต่างประเทศเขาทำกันทั้งนั้น มีแต่ประเทศไทย ปล่อยให้เศรษฐีกว้านซื้อที่ ยิ่งรวยหนักเข้าไปอีก ควรคิดอะไรที่เกิดความเป็นธรรมกับสังคมบ้าง แล้วก็เอาสิ่งเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคม”

ในประเด็นเรื่องกิจการการรถไฟที่ขาดทุนมาโดยตลอด จนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการนำพื้นที่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ คุณมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

        เรื่องหนี้สิน ถึงจะเยอะยังไงก็ตาม ไม่ว่าคุณจะบอกเท่าไรนะครับ จะ 2 แสนล้าน หรือตัวเลขจริงๆ แค่ 1.8 แสนล้าน ทั้งหมดทั้งมวล ในความเป็นจริงคือ ทรัพย์สินที่การรถไฟฯ มี มีมากกว่าหนี้สินที่การรถไฟฯ มีอยู่เยอะ พูดรวมทั้งประเทศนะครับ เพราะฉะนั้น คุณมาหาว่าการรถไฟฯ ขาดทุน มันจะเป็นไปได้อย่างไร 

        แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น นี่คือรัฐวิสาหกิจประเภทที่เป็นกิจการสาธารณูปโภค ดังนั้น คุณจะมาหวังผลกำไรไม่ได้ ผมยกตัวอย่างให้ฟังอย่างนี้ ในการทำโครงการทุกชนิด มันจะมีเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กับผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งทุกครั้งเวลาเปิดโครงการ ทุกๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการคลัง ด้านงบประมาณ มักจะดูแต่ผลตอบแทนทางการเงิน แต่ไม่ดูผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ก่อนที่คุณจะอนุมัติโครงการต่างๆ คุณอ้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเสมอ เช่น ควรจะอนุมัติให้สร้าง เพราะสร้างแล้วจะได้ประโยชน์อย่างนั้น ได้ประโยชน์อย่างนี้ แต่พอสร้างเสร็จ ปรากฎว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดทุน เป็นหนี้ เนื่องจากไม่สามารถเอาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมาคิดรวมได้ ต้องเป็นผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น เรื่องมันถึงได้เป็นแบบนี้ เราก็จะเป็นหนี้วนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ คือถ้าสามารถเอาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมาคิดได้ ผมเชื่อว่าหนี้ของการถไฟฯ ไม่สูงขนาดนี้

ประภัสร์ จงสงวน

        แต่ถ้าลองสมมติย้อนเวลาไปตั้งแต่วันแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านสร้างรถไฟขึ้นมา กำไรเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันนั้นแล้วนะครับ นี่คือกำไรของประเทศ เพราะการที่ท่านทรงสร้างรถไฟขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งในการบอกกับต่างชาติว่าประเทศไทยศิวิไลซ์แล้ว เราพัฒนาแล้ว เราเป็นประเทศอารยะเช่นกัน นอกจากนั้นสิ่งที่ตอบแทนกลับมาตลอด 105 ปีที่ผ่านมาคืออะไรบ้างครับ คือเราได้สร้างขนส่งมวลชนราคาถูกๆ ให้กับประชาชน ทำให้เกิดโอกาสต่างๆ กับผู้คนมากมาย ประชาชนได้ขนส่งสินค้าในราคาถูก ครอบครัวได้ส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือ ถ้ารถไฟราคาแพง อย่างที่ผู้บริหารอยากให้เป็นอย่างนั้น หรือเรียกว่าสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ผมถามจริงๆ ว่า ชาวบ้านเหล่านั้นจะมีปัญญาส่งลูกเข้ามาเรียนหนังสือได้ไหม ถึงตรงนี้ ผมถึงอยากบอกว่า เศรษฐกิจทางอ้อม มูลค่ามันมากกว่าที่เราเป็นหนี้อยู่เยอะ

ล่าสุดเรื่องราว ‘การเปลี่ยนหัวลำโพง’ ได้ถูกชะลอออกไป และมีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อหาทางออกร่วมกัน คุณคิดว่าทางออกที่เหมาะสม ควรเป็นอย่างไร

        ผมอยากให้ทุกคนตระหนักถึงสมบัติของชาติ การรถไฟไทยมีประวัติศาสตร์มายาวนาน 120 กว่าปี ตัวสถานีหัวลำโพงมีอายุ 105 ปี ถ้ามันพูดได้ ผมรับรองว่า มันเล่าเรื่องอะไรได้เยอะเลย โดยเฉพาะเรื่องการจะถูกเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ นี่คงไม่ใช่ครั้งแรกหรอก คุณว่าไหม (ยิ้ม) 

        แต่ที่นี่คือหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของชาติ เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ผมอยากเห็นมันเป็นอยู่อย่างนั้น ผมถือว่าสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้พี่น้องประชาชนชาวไทย เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้เราทุกคนเวลาไปต่างประเทศ เรามีความภาคภูมิใจ ประเทศไทยมีการรถไฟมายาวนานเทียบเท่านานาชาติ  หรือเวลาฝรั่งมาบ้านเรา สิ่งที่เขาอยากเห็น คืออัตลักษณ์ของความเป็นไทยแบบนี้

        ยกตัวอย่างชาวเยอรมนี สถานีรถไฟที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต คือสถานีพี่น้องกับหัวลำโพงบ้านเรา เพราะสร้างมาในเวลาใกล้เคียงกัน เวลาคนเยอรมันมาเที่ยวเมืองไทย เขาชอบมาดูสถานีรถไฟ เพราะเขาผูกพันกับการเดินทางแบบนี้ แต่ผมถามจริงๆว่า แล้วเราจะรู้สึกยังไง ถ้ามีชาวต่างชาติเข้ามาที่หัวลำโพง ภายนอกเราเหมือนสถานีที่แฟรงก์เฟิร์ตทุกอย่าง แต่พอเดินเข้ามา… อ้าว ด้านในกลายเป็นช็อปสินค้าไฮเอนด์ แบรนด์เนมเต็มไปหมด 

        เพราะเท่าที่ทราบมา ทีแรกเขาจะทำหัวลำโพงให้ด้านหน้ายังคงเหมือนเดิม แต่ด้านในเปิดเป็นคล้ายๆ ห้างสรรพสินค้า เป็นร้านขายของราคาแพง ของไฮเอนด์ ผมถามว่า คุณจะนำประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตเหล่านี้ มาทำให้เหลือแค่ประตูทางเข้า แล้วพอเดินเข้ามากลายเป็นช็อปสินค้า คุณทำไปเพื่ออะไร เราเป็นได้แค่นั้นจริงๆ เหรอครับ

ประภัสร์ จงสงวน

ถ้าจะส่งเสียงไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ คุณอยากได้ท่าทีอะไรที่ชัดเจนบ้างสำหรับเรื่องราวเหล่านี้

        ผมอยากเห็นรัฐออกมาบอกว่า โครงการนี้ล้มเลิก ถ้าคุณอยากพัฒนาคุณไปเอาที่อื่น ตรงนี้ล้มเลิกไปเถอะครับ แล้วหลังจากนั้น คุณก็รีบทำส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีแดงให้มาถึงหัวลำโพงให้เร็วที่สุด เพราะนี่คือโครงการที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งควรจะทำให้ลุล่วงโดยเร็ว  เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นอีก 

        ในรายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นรถไฟที่วิ่งได้ถึง 160 กม./ชม. หรือพูดง่ายๆ ว่า วิ่งออกไปอยุธยาแป๊บเดียวถึงสบายๆ สมมติถ้าสร้างส่วนต่อไปถึงอยุธยาได้จริง คนที่อยู่อยุธยาแล้วต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ จะสามารถเดินทางไปกลับได้สะดวกยิ่งขึ้น ผมคิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกเยอะ ทำให้มีคนอยากไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ต้องแออัดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถย้ายไปอยู่ที่อยุธยาได้เลย

        ผมคนหนึ่งถ้ามีระบบขนส่งดีๆ ผมไม่อยู่กรุงเทพฯ แน่นอน ผมเบื่อการที่ต้องอยู่บนรถที่มีการจราจรที่แออัด ซึ่งไอ้ที่เห็นรถติดๆ มันก็ไม่ได้เป็นเพราะรถยนต์อย่างเดียว แต่มันเกิดจากการที่คุณไปสร้างอะไรก็ไม่รู้ ที่เป็นจุดดึงผู้คนให้ไปอยู่รวมกันในบริเวณนั้น โดยที่เจ้าของที่ตรงนั้นก็รวยไป แต่ไอ้คนใช้รถใช้ถนนไม่ได้รวยด้วยเลย อาจจะจนลงด้วยซ้ำ เพราะเสียค่าน้ำมันมากขึ้นในระหว่างที่รถติด 

        ผมเลยอยากถามว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่ประเทศนี้ควรจะแก้ไขเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง  กลุ่มคนที่กว้านซื้อที่ดินเพื่อการใดการหนึ่ง คุณต้องเสียภาษีเพิ่มเติมได้สักที คนเหล่านี้คือคนที่รู้เรื่องโครงการก่อนใคร และมักจะไปซื้อที่ดินเอาไว้ โอเค ซื้อก่อนผมไม่ว่า แต่คุณต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ต่างประเทศเขาทำกันทั้งนั้น มีแต่ประเทศไทย ปล่อยให้เศรษฐีกว้านซื้อที่ ยิ่งรวยหนักเข้าไปอีก ควรคิดอะไรที่เกิดความเป็นธรรมกับสังคมบ้าง แล้วก็เอาสิ่งเหล่านั้นกลับคืนสู่สังคม 

“ง่ายที่สุดสำหรับผมคือ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สมมติวันข้างหน้าหัวลำโพงต้องมีการขยับขยายกันจริงๆ ประเด็นคือจะทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้ เช่น พัฒนาเชิงสูงแบบที่ญี่ปุ่นทำไหม ออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยด้านบนขึ้นไป แต่ประเด็นที่สำคัญคือ คุณต้องบอกกับประชาชนที่ให้ความร่วมมือ สามารถเข้ามาค้าขายที่ตรงนี้ได้ เราสามารถพัฒนาที่ตรงนี้ไปด้วยกัน แบบนี้คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังสำหรับผม”

        ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ารัฐบาลกำหนดว่า ให้เอาเงินภาษีที่ดินตรงนี้มาช่วยเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้กับผู้คน ผมว่าปัญหาเรื่องค่าเดินทางจะลดลงไปเยอะ ชื่อมันก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ก็ควรต้องให้มวลชนได้ใช้ ไม่ใช่ให้คนเพียงกลุ่มเดียว

สมมติถ้าให้คุณสามารถสร้าง ‘โมเดลการรถไฟในฝัน’ คิดว่าจะทำอะไรบ้าง

        ถ้าผมมีอำนาจ รถไฟฟ้าทั้งหมดทุกสายที่วันนี้กำลังจะเปิดตัว ผมให้เอาสัญญามาดูใหม่หมด ประเด็นคือ ทำยังไงให้ค่าโดยสารถูกที่สุด ลองดูว่าจะหาผลตอบแทนทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าโดยสารอะไรได้บ้างไหม เพราะเคยมีการทำให้เห็นมาแล้ว กรณีบีทีเอสที่ตั้งบริษัทขายโฆษณาบนพื้นที่ของสถานีรถไฟฟ้า ไปดูรายรับของเขาสิครับว่าปีละเท่าไหร่ นั่นคือวิธีการหารายได้ ถูกไหม ถ้าเราคิดบนพื้นฐานแบบนี้ ผมว่ามันยังสามารถช่วยพยุงค่าโดยสารได้ หรือสมมติถ้ายังไม่พอ เราก็มาดูทางเลือกอื่นๆ หรือแม้แต่ให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร

ประภัสร์ จงสงวน

        หากประชาชนสามารถเดินทางโดยสะดวกขึ้น วิถีชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนไป จากที่ต้องซื้อรถมาขับ เรียนจบต้องมีรถคันแรก คุณเอาเงินไปซื้ออะไรที่มันสร้างอนาคตให้กับคุณดีกว่า ซึ่งพอเป็นอย่างนั้น วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนก็จะมุ่งไปที่การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับตัวเอง พอชีวิตดีขึ้น สังคมก็พัฒนา ประเทศก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับไปเอง

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของทุกๆ สังคม แต่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในความหมายของคุณ ต้องเป็นอย่างไร

        ง่ายที่สุดสำหรับผมคือ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สมมติวันข้างหน้าหัวลำโพงต้องมีการขยับขยายกันจริงๆ ประเด็นคือจะทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้ เช่น พัฒนาเชิงสูงแบบที่ญี่ปุ่นทำไหม ออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยด้านบนขึ้นไป แต่ประเด็นที่สำคัญคือ คุณต้องบอกกับประชาชนที่ให้ความร่วมมือ สามารถเข้ามาค้าขายที่ตรงนี้ได้ เราสามารถพัฒนาที่ตรงนี้ไปด้วยกัน แบบนี้คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังสำหรับผม 

หัวลำโพงวันนี้อายุ 105 ปี คุณอยากให้ปีที่ 106, 107, 108… และปีต่อๆ ไปของหัวลำโพงเป็นอย่างไร

        ผมอยากให้หัวลำโพงคงอยู่กับประเทศไทยไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ให้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ที่พอทุกคนเข้ามาแล้ว สามารถหลับตามองเห็นภาพของหัวลำโพงในอดีตได้ เมื่อก่อนที่นี่เคยมีโรงแรมด้วย เทียบกับสมัยนี้ต้องประมาณระดับ 5 ดาว นี่คือความศิวิไลซ์ในอดีตของเรา  ผมจึงอยากเห็นที่นี่คงอยู่กับประเทศไทย เป็นสถานที่ที่คนไทยเข้ามาแล้วสามารถพูดได้ว่า ประเทศเราไม่ได้ด้อยไปกว่าบ้านเมืองอื่นๆ เราเป็นประเทศแรกๆ ที่มีรถไฟ เราเดินรถไฟขบวนแรกๆ พร้อมๆ กับญี่ปุ่นนะครับ เมื่อก่อนประเทศแถวนี้มาดูงานประเทศเรา อย่างมาเลเซียเมื่อก่อนส่งคนมาฝึกงานกับเรา ในอดีตย่านมักกะสันเอาไว้ใช้ต่อรถไฟเองนะครับ แต่พอไม่ได้รับความสนใจ ทุกคนคิดว่าสร้างถนนดีกว่า มีรถยนต์ดีกว่า ทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด

สิ่งที่ได้ออกมาพูดทั้งหมดนี้ ถ้าจะมีสักเรื่องที่คุณคาดหวังอยากให้มันเกิดขึ้น อยากให้เป็นเรื่องอะไร

        อย่างน้อยที่สุด ถ้ามันทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ท่านได้สร้างไว้กับประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อว่า จากเหตุการณ์นี้ มีคนเข้าไปเสิร์ชข้อมูลของหัวลำโพงกันมากขึ้นแน่นอน อย่างน้อยได้รู้ถึงที่มาที่ไป รู้ประวัติของหัวลำโพง เท่านี้มันก็เป็นการช่วยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รู้จัก รวมทั้งหันกลับมามองเห็นถึงคุณค่าของสถานที่อันเก่าแก่ ได้ซึมซับกับสิ่งที่บูรพกษัตริย์ไทยได้ทรงสร้างให้กับประเทศนี้เอาไว้

ประภัสร์ จงสงวน

ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้ คุณมีความกังวลที่จะสร้างคู่ขัดแย้งขึ้นไหม

        ไม่เลย คนเราถ้าทำสิ่งที่ถูกต้อง คุณไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น ถ้าเราเป็นคนอย่างที่เราพูด ทำในสิ่งที่เราพูดจริง เราไม่ต้องไปกลัวอะไร (ยิ้ม)

มีประโยคทองที่คุณออกมาพูดในงานแถลงข่าว ‘ผมจะเป็นคนรถไฟจนวันตาย’ นี่ก็เป็นเรื่องจริงที่พูดจากใจใช่ไหม

        จริงสิ ความภูมิใจที่สุดของผม คือการได้เป็นคนรถไฟ ถึงแม้ผมจะทำงานอยู่ที่นี่ไม่นานนัก แต่ผมภูมิใจมาก คำว่า ครฟ. คือตัวย่อของ ‘คนรถไฟ’ มันมีความหมายสำหรับคนที่รักรถไฟอย่างผมมาก ผมเน้นอีกครั้งว่า สำหรับคนที่รักรถไฟนะครับ (ยิ้ม)

ประภัสร์ จงสงวน