รตยา จันทรเทียร

รตยา จันทรเทียร: 29 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพราะงานอนุรักษ์ไม่มีวันสิ้นสุด

เมื่อถึงอายุ 88 ปี คุณมองภาพชีวิตของตัวเองอย่างไร? 

        เป็นคนวัยเกษียณที่ใช้ชีวิตสบายๆ อย่างที่อยาก ออกทำตามความฝันหลังจากตรากตรำงานหนักจนไม่เคยได้ทำในสิ่งที่คิด กลับกัน หรือคุณจะเป็นคนแก่ที่หมดไฟ ท้อแท้กับร่างกายที่ร่วงโรย ใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน นั่งหน้าจอโทรทัศน์เลื่อนเปิดรายการทีวีที่แสนน่าเบื่อ เหมือนตกอยู่ในกรงขังที่เรียกว่าร่างกายของตัวเอง 

        คุณคาดหวังชีวิตแบบไหน? 

        สำหรับ อาจารย์รตยา จันทรเทียร ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นอดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนแรก เธอตอบเราด้วยการกระทำตรงหน้า

        ในวัยที่อายุเหยียบเลขเก้า เธอยังคงเป็นคนเดิมเสมอมา สนุกกับการทำงานหนัก มุ่งมั่นในความเชื่อและสิ่งที่ตัวรักเช่นเดิม ทุกสัปดาห์เธอยังคงเข้าไปทำงานที่มูลนิธิสืบฯ สัปดาห์ละสองวัน คือวันจันทร์และพฤหัสบดี แม้ว่าเธอจะลงจากตำแหน่งประธานมูลนิธิ และมีตำแหน่งเพียงแค่ที่ปรึกษาในวันนี้ แต่ชีวิตของหญิงแกร่งยังคงแนบชิดและหวงแหนธรรมชาติอยู่เสมอ 

        “เดือนธันวาคมปีนี้จะอายุ 88 แล้ว แต่ยังไปไหนมาไหนคนเดียวได้นะ เป็นคุณนายนั่ง Grab อยู่ (หัวเราะ)… อาจารย์ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองพิเศษหรือว่าเสียสละกว่าใคร ไม่ใช่เลย แต่ถ้ามองกลับไป สิ่งที่ทำตลอดมาเป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่ได้ทำ ไม่รู้สิ ที่อาจารย์ยังแข็งแรงทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะบุญที่เราทำงานนี้มามั้ง เข้าไปนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ในป่า”

        จากชีวิตของเด็กที่เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ สู่เส้นทางการเป็นนักอนุรักษ์จนได้ฉายาว่า ‘นางสิงห์เฝ้าป่า’ เรื่องราวหลังสิ้นเสียงปืนในคืนที่คุณสืบจบชีวิตตัวเอง การเกิดขึ้นของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวมทั้งเจตนารมณ์ที่สืบต่อกันมาในฐานะนักอนุรักษ์กว่า 29 ปี คืออะไร เราจะพาคุณไปหาคำตอบเหล่านั้น ผ่านเรื่องเล่าจากปากของผู้หญิงคนนี้ 

        “งานอนุรักษ์มันเป็นงานที่ไม่มีวันจบ เพราะว่ามนุษย์ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องการอยากได้ แล้วคนที่คิดว่าอยากได้มันมากกว่าคนที่คิดจะรักษา งานอนุรักษจึงต้องดำเนินไปไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น”

 

รตยา จันทรเทียร

เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการพูดถึงเรื่องไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต แล้วถามว่าคนมองทรัพยากรธรรมชาติยังไง คนมองธรรมชาติเป็นเหมือนสัตว์ที่ยืนอยู่กลางทุ่ง มือใครยาวสาวได้สาวเอา สมัยนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น

จุดเริ่มต้นของเส้นทางอนุรักษ์

        เรานั่งอยู่กับอาจารย์รตยาใต้ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ขนาดใหญ่ ที่แผ่กิ่งปกคลุมบ้านของเธอในย่านเอกมัย ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งอยู่ในผืนป่าขนาดย่อมๆ ร่มเงาของต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิให้ระหว่างบทสนทนาในเช้าวันนั้นไม่ร้อนเกินไปนัก

        “คุณเชื่อไหม เมื่อก่อนที่ผืนนี้ตารางวาละ 100 บาท แถวนี้แต่ก่อนเป็นทุ่งนามีวัวมีควายเดิน ไม่ได้เป็นแบบทุกวันนี้” อาจารย์รตยาเล่าถึงความหลังที่เราเองก็นึกภาพไม่ออกว่าพื้นที่ที่ห้อมล้อมไปด้วยตึกสูงไม่ต่างไปจากป่าคอนกรีตอย่างเอกมัย จะมูลค่าพื้นที่ต่อตารางวาโดดสูงกว่าสมัยก่อนหลายร้อยเท่า

        “เด็กสมัยนี้ต้องอิจฉาแน่เลย” อาจารย์เอ่ยขำๆ เมื่อเราถามต่อถึงช่วงชีวิตในวัยเด็ก ว่าความทรงจำที่มีต่อธรรมชาติของเธอ 

        “สมัยอาจารย์เป็นเด็ก ยังมีธรรมชาติ มีป่ามีเขาสมบูรณ์ อาจารย์เป็นเด็กบ้านนอกค่ะ โตมาในจังหวัดจันทบุรี ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีญี่ปุ่นบุก ทำให้อาจารย์ต้องย้ายตามคุณพ่อที่เป็นนายอำเภอไปอยู่ที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา แต่ในภาวะสงครามแบบนั้น ทางที่ง่ายที่สุดในการไปคือเดินทางผ่านป่า ซึ่งเป็นครั้งแรกเลยที่อาจารย์ได้เห็นป่าจริงๆ ความรู้สึกมันประทับใจมาก ทางเดินที่ไปเป็นป่าโปร่งทอดยาวไปจนเป็นป่าดิบ พอไปถึงลำธาร เราเห็นน้ำใส มีผีเสื้อสารพัดสีบินมาเป็นฝูงนับร้อยๆ ตัว เรียกว่าประทับใจมากเลยที่ได้เห็นป่า ได้เห็นลำธาร เห็นสิ่งมีชีวิต” 

        นั่นเป็นครั้งแรกที่อาจารย์รตยาได้เห็นป่าด้วยตาของตัวเอง และหลังสงครามสงบในอีกสามปีต่อมา อาจารย์รตยาถึงได้เดินทางกลับมาอาศัยอยู่ที่จันทบุรีอีกครั้ง พร้อมกับเริ่มต้นชีวิตและค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากทำว่าคืออะไร

        “ตอนเด็กๆ อาจารย์มีบ้างที่ไปอาศัยอยู่บ้านคุณป้า แล้วลูกสาวของคุณป้าเขาเรียนสถาปัตย์ ก็ทำให้เรารู้จักอาชีพสถาปนิกมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วตอนเด็กๆ อาจารย์เป็นคนชอบเขียนอะไรต่อมิอะไรมานานแล้ว เป็นคนที่ในหนังสือเรียนจะมีรูปสารพัดเลย เป็นหนังสือเรียนที่สกปรกมาก (หัวเราะ) มองดูในแง่หนึ่งก็เป็นเด็กที่ไม่มีระเบียบเลย แต่ถ้ามองอีกมุมก็เป็นเด็กที่ชอบบันทึกเรื่องราวด้วยภาพ พอเวลาบันทึกด้วยภาพแล้วมาดูอีกทีก็จะนึกออกเลยว่าตอนนั้นคุณครูพูดว่าอะไร” 

        จากการค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบตั้งแต่เด็ก ทำให้เส้นทางชีวิตของเธอออกเดินทางได้อย่างชัดเจน อาจารย์รตยาเข้าเรียนปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะได้ทุนฟุลไบรต์ไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมที่สหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบ อาจารย์รตยาก็เริ่มต้นงานเป็นสถาปนิกที่กรมประชาสงเคราะห์อยู่สองปี ก่อนจะลาออกไปเป็นอาจารย์แผนกช่างก่อสร้างที่มหาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และใช้ชีวิตในบทบาทครูอยู่เกือบสิบปี เรียกว่าเป็นช่วงชีวิตที่ทั้งการงานและความชอบเดินไปพร้อมกัน แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอก้าวเข้ามาในวงการอนุรักษ์นั้นเกิดขึ้นเพราะว่า 

        “เรียกว่าได้ครูดีละมั้ง ตอนเรียนสถาปัตย์ที่จุฬาฯ อาจารย์ได้เรียนกับ ดอกเตอร์วทัญญู ณ ถลาง ซึ่งท่านเพิ่งกลับมาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เรียกว่าเป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือเก่งมากๆ แล้วก็มีอุดมการณ์ ท่านเป็นผู้ที่เริ่มสอนให้อาจารย์ได้แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วพออาจารย์ทำงานไปได้ประมาณสิบกว่าปี ดอกเตอร์วทัญญูที่ตอนนั้นทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาการก่อสร้างแห่งชาติ ท่านก็มาชวนอาจารย์ไปทำงานด้วย เราก็ดีใจมากเลย เพราะท่านเป็นครูที่เคารพนับถือและให้เกียรติชวนเรามาทำงาน ก็รีบรับคำเลย”

        ในระหว่างเริ่มต้นทำงานกับ ดอกเตอร์วทัญญู ณ ถลาง ในขณะนั้นท่านเป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยามอยู่ด้วย ดอกเตอร์วทัญญูและเพื่อนๆ กลุ่มสถาปนิกได้เริ่มมีแนวคิดที่จะตั้งสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีองค์กรหยิบจับแนวคิดเรื่องการพัฒนาและการอนุรักษ์มารวมกัน 

        “อาจารย์รตยาทำหน้าที่เป็นเสมียน (หัวเราะ) เพราะในห้องประชุมแต่ละครั้ง มีบรรดาผู้รู้พูดแลกเปลี่ยนแนวคิดเต็มไปหมด ก็ทำให้ต้องมีผู้ไม่รู้อย่างอาจารย์เป็นคนประมวลและจดบันทึก ช่วงเวลาตอนนั้นทำให้ได้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์มาเยอะมากเลย ซึ่งจะแปลกใจไหม เพราะเรื่องที่อาจารย์ฟังในการประชุม มีเรื่องหนึ่งมีคนเอาภาพเกี่ยวกับน้ำเสียมาให้ดู เป็นภาพแม่น้ำที่มีขยะลอยอยู่เต็มไปหมด อาจารย์เห็นยังงงเลยว่าประเทศไทยไม่ได้มีอะไรแบบนั้นนี่ คือเราอยู่ในอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ปัญหามันยังไม่เกิด แล้วก็ไม่คิดว่ามันจะเกิด แต่เวลาผ่านมาอาจารย์ยังไม่ทันตายเลย ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นสารพัดเกินกว่าที่เราพูดคุยกันวันนั้นเสียอีก”

        ชีวิตของอาจารย์ในช่วงเวลานั้นสมบูรณ์พอสำหรับคนคนหนึ่ง มีอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตซึ่งเป็นงานที่ตนสนใจ พร้อมๆ กับได้ทำในส่วนของงานด้านการอนุรักษ์ควบกันไปด้วย 

        “อาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดีมาก อยู่มาป่านนี้ แล้วก็ได้ทำสิ่งที่เราชอบมาตลอดตั้งแต่สาวจนแก่ (หัวเราะ)”

 

รตยา จันทรเทียร

บทเรียนครั้งใหญ่ของนักอนุรักษ์

        “ตอนที่เราเริ่มตั้งสมาคม ความสนใจของผู้คนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่ายังน้อยอยู่ แต่ก็เริ่มมีคนที่หันมาสนใจบ้างแต่ก็เป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่คนส่วนใหญ่”

        ก่อน พ.ศ. 2500 แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ายังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ช่วงที่สงครามโลกเพิ่งยุติ ในประเทศเริ่มมีผู้คนที่ได้โอกาสถือครองอาวุธปืนด้วยตัวเอง มีรถจี๊ปเป็นพาหนะเพื่อเดินทางเข้าป่า ในบ้านผู้ดีหรือคนรวยก็จะมีเขาสัตว์งาช้างประดับเอาไว้เพื่อโชว์ความน่าเกรงขาม เรียกว่าใครล่าได้ก็โชว์กันอย่างโจ่งแจ้ง วัฒนธรรมการล่าสัตว์เป็นเรื่องการอวดบารมีของคนในสมัยนั้น

        จนแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก เมื่อมีการออกกฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่าในปี พ.ศ. 2503 จากการผลักดันของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ที่คิดว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้สัตว์คงถูกล่าหมดป่าแน่ๆ รวมทั้งระบบนิเวศทางธรรมชาติก็จะค่อยๆ เสียสมดุลจนไม่อาจหวนกลับมาได้อีก การผ่านร่างกฎหมายครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในปี พ.ศ. 2505 ที่เขาใหญ่ และถัดมาก็มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ในปี พ.ศ. 2508 

        แม้ปัญหาเชิงประเด็นจะเริ่มถูกมองเห็น แต่ในระดับโครงสร้างของประเทศ ปัญหาเรื่องการรุกล้ำทรัพยากรป่าไม้นั้นแฝงตัวมาพร้อมกับโครงการพัฒนาขนาดยักษ์ของรัฐ ซึ่งบทเรียนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย คือเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าตกค้างที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน เมื่อปี พ.ศ. 2528 กินเวลากว่า 2 ปี 4 เดือน ซึ่ง คุณสืบ นาคะเสถียร เป็นหัวหน้าโครงการอพยพในเวลานั้น ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนได้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นหัวใจของระบบนิเวศที่มนุษย์ไม่สามารถนำกลับมาได้ 

        “เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการพูดถึงเรื่องไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต แล้วถามว่าคนมองทรัพยากรธรรมชาติยังไง คนมองธรรมชาติเป็นเหมือนสัตว์ที่ยืนอยู่กลางทุ่ง มือใครยาวสาวได้สาวเอา สมัยนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น นี่เพิ่งฟังข่าวเมื่อสองวันที่แล้ว พื้นที่ที่เคยเป็นภูเขามีแต่ต้นไม้ พอมาเจออีกทีเป็นป่าแหว่งไปแล้ว”

         บทเรียนจากเขื่อนเชี่ยวหลานในวันนั้น มีการเก็บข้อมูลความเสียหายของชีวิตสัตว์ มูลค่าความเสียหายทางระบบนิเวศ รวมถึงภาพถ่ายการอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนที่ได้เห็นจำนวนมาก แต่นั่นก็ยังเป็นบทเรียนที่ไม่เพียงพอของมนุษย์ 

        อาจารย์รตยาเล่าให้ฟังว่า จุดตัดที่ทำให้กระแสการอนุรักษ์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจริงๆ ในสังคมไทย นั่นคือการพยายามคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในปี  พ.ศ. 2531

        “อาจารย์รู้จักคุณสืบครั้งแรกก็ตอนเรื่องเขื่อนน้ำโจนนี่แหละ ซึ่งมี คุณสืบ นาคะเสถียร คุณวัชระ นาคสถิตย์ แล้วก็ อาจารย์นริศ ภูมิภาคพันธ์ ที่เป็นคนนำข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อนมาให้ ว่าถ้าทำเขื่อนน้ำโจนแล้วน้ำจะท่วมผืนป่าอย่างไร ความเสียหายจะไปถึงไหน เราจะสูญเสียทรัพยากรและระบบนิเวศอย่างไร แล้วอาจารย์รตยากับเพื่อนที่อยู่ในสมาคมอนุรักษ์ก็ร่วมกันทำเอกสารขนาด A4 นำข้อมูลที่ได้มาเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย แล้วนำออกมาเผยแพร่อาทิตย์ละครั้ง ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ได้ยินชื่อคุณสืบแล้วนะ แต่ยังไม่เคยเจอหน้ากัน”

        ในช่วงเวลานั้นผู้คนหลากหลายวงการในสังคม รวมทั้งคุณสืบ ได้เริ่มรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการ และเผยแพร่ให้ความรู้ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งในช่วงแรกๆ ของการรณรงค์ คุณสืบมักจะใช้คำพูดติดปากตอนเริ่มต้นปราศรัยทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” ซึ่งเป็นประโยคสำคัญที่ฝังใจหลายๆ คนมาถึงวันนี้

        อาจารย์รตยามีเล่าเรื่องเล็กๆ ให้เราฟัง พร้อมกับบอกว่าเป็นเรื่องจะที่ฟังให้เป็นนิทานก็ได้ ฟังให้เป็นเรื่องจริงก็ได้ แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้การต่อต้านเขื่อนน้ำโจนสำเร็จได้

        “ฝั่งคนที่อยากให้สร้างเขื่อน ก็บอกว่าพื้นที่ตรงป่านเรศวรมันเป็นทุ่ง เกิดไฟไหม้จนต้นไม้หายไปหมดแล้ว แต่คนที่ไม่อยากให้สร้างก็จะออกมายืนยันว่านี่คือมดลูกของป่าเลย มีพวกสัตว์กีบ พวกกวางจะมาออกลูกออกหลานกินหญ้ากัน ทั้งสองฝั่งก็เถียงกันอยู่อย่างนั้น จนท้ายที่สุดมีทางสถานีโทรทัศน์เอาเฮลิคอปเตอร์ไปบิน และมีกระทิงฝูงหนึ่ง 50 กว่าตัววิ่งตะกุยกันฝุ่นฟุ้งออกมาจากป่า คนก็บอกกันว่าเจ้าพ่อทุ่งใหญ่ส่งมา (หัวเราะ) แล้วภาพนั้นแหละค่ะที่กลายเป็นคำตอบชัดเจนเลยว่า ทุ่งใหญ่นเรศวรคือบ้านของสัตว์ป่า โครงเขื่อนน้ำโจนจึงถูกชะลอออกไป นี่เป็นจุดตัดแรกที่ทำให้พวกเราเห็นว่าการรักษาพื้นป่า การรักษาบ้านของสัตว์ป่า เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตมนุษย์”

 

รตยา จันทรเทียร

อาจารย์เชื่ออย่างหนึ่งว่าจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้งไม่ได้ต้องการคนจำนวนเยอะนะในการจะเริ่มทำมัน ขอแค่เอาจริงทำจริงเถอะ อีกเดี๋ยวก็มีคนมาช่วยเอง

สืบ นาคะเสถียร ในความทรงจำ

        การหยุดยั้งเขื่อนน้ำโจนเป็นข่าวดีและก้าวสำคัญในวงการอนุรักษ์ แต่ไม่นานข่าวร้ายก็มาถึงทุกคน พร้อมกับเสียงปืนที่ดังก้องไปทั่วป่าห้วยขาแข้ง

        ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2532 คุณสืบได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่จังหวัดอุทัยธานี บทบาทหน้าที่ของคุณสืบในวันนั้นทำให้เขาค้นพบความจริงที่ยากเกินรับไหว ทั้งปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้ รวมทั้งเบื้องหลังการทำลายป่าที่มีผู้มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทำร้ายจิตใจคุณสืบมากที่สุดคือการที่ไม่ว่าคุณสืบจะเข้าหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือแค่ไหน มีการนำเสนอแนวคิดเรื่องการทำป่ากันชนและป่าชุมชนที่จะช่วยแก้ปัญหาประชาชนรุกป่า และได้กำลังในการช่วยเฝ้าระวังป่าไปในตัวได้อย่างไร แต่ความพยายามของเขาไม่เคยได้รับการตอบรับจากใครเลย

        ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 คุณสืบ นาคะเสถียร ได้ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมในบ้านพักที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมทั้งทิ้งข้อความในจดหมายเอาไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ซึ่งความตายของคุณสืบในวันนั้นได้ส่งเสียงดังก้องในหัวใจของนักอนุรักษ์ทั่วทั้งประเทศไทย 

        “พอการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนจบไป หลายๆ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนั้นก็แตกฉานซ่านเซ็น ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย มารู้อีกทีก็คือตอนที่คุณสืบเสียสละชีวิต และเราก็รู้สึกว่าตัวเองผิดเนอะที่ไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องการอนุรักษ์อะไรเลย พอคุณสืบเสีย อาจารย์ก็ไปร่วมงานศพ และเห็นในงานมีการตั้งป้ายระดมทุนให้คุณสืบ แล้วก่อนที่จะเผาศพคุณสืบ 7 วัน เพื่อนๆ ของคุณสืบคุยกันว่า ถ้าตั้งเป็นกองทุนอาจจะไม่ยืดยาว น่าจะตั้งเป็นมูลนิธิดีกว่า แล้วเขาก็ประชุมกันเลย บรรดาเพื่อนๆ หรือคนที่รู้จักคุณสืบ อย่าง อาจารย์ปริญญา นุตาลัย เป็นนักธรณีวิทยาคนสำคัญที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนน้ำโจนกับคุณสืบ แล้วก็ ดอกเตอร์สุรพล สุดารา ที่เป็นหัวหอกคนสำคัญในการตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้นมา 

        “แล้วตอนที่ประชุมตั้งมูลนิธิ อาจารย์ปริญญาก็คุยกันว่าจะให้อาจารย์รตยามาเป็นประธาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรู้จักกันมาตั้งแต่ทำงานที่สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม แล้วอีกแง่หนึ่งก็อาจจะคิดว่าให้ผู้หญิงเป็นก็ดี (หัวเราะ)”

         “ตอนนั้นรู้สึกกดดันไหมครับ ต้องมาแบกรับภาระนี้?”

         “ก็ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือกดดันนะ รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำมากกว่า อาจารย์รตยาก็บอกกับอาจารย์ปริญญาตอนนั้นว่าคุณสืบเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต แล้วเราเป็นใครล่ะ งานแค่นี้ถึงทำไม่ได้ เรามีโอกาสที่จะทำงานตรงนี้แล้ว ก็คิดแบบนั้นและสืบสานมาตลอด”

        อาจารย์รตยาเล่าให้ฟังว่า มูลนิธิสืบฯ นั้นใช้เวลาจดทะเบียนเพียง 18 วันหลังจากที่คุณสืบเสียชีวิต ด้วยความช่วยเหลือจากผู้คนจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่หน่วยราชการ และในช่วงเริ่มต้นมูลนิธิฯ ที่อาจารย์บริหาร สำนักงานของมูลนิธิฯ นั้นเล็กนิดเดียว มีเพียงพนักงานประจำเพียง 3-4 คน กลับกัน ในคณะกรรรมการผู้ร่วมก่อตั้งนั้นอุดมไปด้วยบุคลากรคุณภาพของเมืองไทย ซึ่งแต่ละคนก็ช่วยรับงานส่วนที่ตัวเองถนัดไปทำ และการประกอบไปด้วยผู้คนเก่งๆ จากหลากหลายที่มานี่เองที่ทำให้มูลนิธิสืบฯ มีเครือข่ายการทำงานที่แข็งแรง และเดินหน้าปกป้องป่าตะวันตกได้มาถึงทุกวันนี้

        “ภารกิจที่ทุกคนเห็นด้วยในวันที่ก่อตั้งมูลนิธิ คือการสืบสานเจตนารมณ์ของคุณสืบ งานแรกที่เริ่มทำคือการตั้งกองทุนผู้พิทักษ์ป่า เพราะว่าคุณสืบเห็นใจผู้พิทักษ์ป่ามาก ผู้พิทักษ์ป่าเขาทำงานเต็มที่ เดินป่าดูแลป่าเพื่อเรา ซึ่งในนามมูลนิธิเองถ้าไม่มีทีมผู้พิทักษ์ป่า เราก็ไม่ต่างกับคนที่ดีแต่พูด แต่ไม่มีมือไม้ที่จะเข้าไปทำงานจริง

        “สมัยคุณสืบเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้พิทักษ์ป่าได้เงินเดือนคนละ 4,000 กว่าบาท แต่เดือนหนึ่งเขาต้องออกไปเดินป่าไม่ต่ำกว่า 15 วัน เพราะว่าการจะรักษาป่ารักษาเสือได้ต้องเดินเท้า ไม่ใช่ขับรถเข้าไปเหมือนที่เราดูในหนัง ซึ่งเราพยายามทำให้ดีขึ้น ปัจจุบันผู้พิทักษ์ป่าได้เงินเดือนคนละ 8,000 กว่าบาท แล้วเมื่อสองปีที่แล้วทางอุทยานได้ก่อตั้งมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าขึ้นมาได้แล้วด้วย ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี”

 

รตยา จันทรเทียร

หัวใจของการอนุรักษ์ 

        งานอนุรักษ์นั้นปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและไม่มีวิธีการตายตัว ความเชื่อว่านักอนุรักษ์หรือ NGO นั้นจะต้องทำเป็นแต่การค้านหัวชนฝาก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกไปเสียหมด 

        ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิสืบฯ มีการปรับเปลี่ยนการทำงานครั้งใหญ่ เปลี่ยนความคิดว่าการอนุรักษ์ต้องขัดแย้งกับประชาชน เจ้าหน้าที่ต้องวิ่งไล่จับคนทำผิดในป่า โดยมูลนิธิสืบฯ เริ่มต้นทำหน้าที่ผสานการทำงานกับชุมชนที่อยู่ทั้งในป่าและพื้นที่รอบๆ ซึ่งกลายเป็นโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Area – JoMPA) หรือที่เรียกกันว่า ‘โครงการจอมป่า’ โดยมีความเชื่อว่า ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้’ จนกลายเป็นโมเดลการทำงานอนุรักษ์ให้กับอีกหลายๆ พื้นที่มาถึงปัจจุบัน

        “ทุกๆ 4 ปี มูลนิธิสืบฯ จะวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่ คนทำงานก็จะมาร่วมกันคิด แล้วเราก็ไปฟังเสียงประชาชนภายนอก และนำแนวคิดทั้งหมดมาวางแผนว่ากำลังของเรามีเท่านี้จะสามารถทำงานอะไรได้บ้าง จริงๆ งานหลายอย่างของเรา ไม่ได้ทำหน้าที่แค่คอยค้านอย่างเดียว ส่วนสำคัญที่ทำให้มูลนิธิสืบฯ สามารถเดินหน้าทำงานด้านอนุรักษ์ได้มาถึงทุกวันนี้ คือการเป็นเหมือนแหล่งที่รวบรวมความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายเอาไว้ด้วยกัน

        “แล้วสิ่งที่เป็นหลักการของมูลนิธิฯ ตลอดมา ก็คือความพยายามจะรักษาผืนป่าใหญ่ ไม่ใช่แค่ป่าตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นผืนป่าของทั้งประเทศไทยเอาไว้ให้ได้ มาถึงตอนนี้เราก็จะพยายามใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หรือสื่อในปัจจุบันในการเผยแพร่แนวคิด รวมไปถึงทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน เป็น watchdog อย่างน้อยเราก็ทำหน้าที่เห่า (หัวเราะ)” 

        ย้อนกลับมามองถึงปัจจุบัน ทำให้เรานึกถึงคำพูดหนึ่งของ คุณสืบ นาคะเสถียร ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร สารคดี เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว (ฉบับที่ 64 เดือนกรกฎาคม 2533) “เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่าเราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม” 

        ราวกับว่าเขาทำนายได้ว่า เมื่อมนุษย์เราบริโภคทรัพยากรจนเกินจุดที่พอดี ธรรมชาติจะค่อยๆ นำพาเรามาเจอกับวิกฤตแบบวันนี้ 

        อาจารย์รตยาได้เสริมในมุมมองของตัวเองว่า ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงสมัยนี้ การทำลายสิ่งแวดล้อมยังคงเกิดขึ้น เพราะกิเลสมนุษย์ และทุกคนควรมีส่วนรับผิดชอบ เพราะถ้ามองในเชิงการใช้ประโยชน์ คนจนก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง คนรวยก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง แต่ผลสุดท้ายหากทุกอย่างถูกใช้จนหมด คนที่ได้รับผลกระทบก็คือเราทุกคน     

        “หัวใจของการนักอนุรักษ์ จริงๆ คือการรักษาสิ่งที่ดีของธรรมชาติเพื่อพวกเราทุกคน ทั้งชีวิตคนและชีวิตสัตว์ รักษาระบบนิเวศที่ดีเอาไว้ให้คงอยู่ อย่างเร็วๆ นี้มีการพูดถึงการตัดถนนคลองลาน-อุ้มผาง ในแง่หนึ่งมันก็สร้างประโยชน์ได้จริง สามารถย่นระยะเวลาการเดินทางได้ 30 กว่ากิโล แต่สิ่งที่เสียไปคืออะไรรู้ไหม ป่าใหญ่จะถูกตัดออกจากกันเป็นสองส่วน สัตว์ป่าจะเชื่อมต่อถึงกันไม่ได้ ระบบนิเวศที่เคยมีก็จะค่อยๆ เสื่อมสลายไป มันไม่เสื่อมวันนี้หรอก แต่อีก 30-50 ปีมันก็หมด” 

 

รตยา จันทรเทียร

งานอนุรักษ์มันเป็นงานที่ไม่มีวันจบ เพราะว่ามนุษย์ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องการอยากได้ แล้วคนที่คิดว่าอยากได้มันมากกว่าคนที่คิดจะรักษา งานอนุรักษ์จึงต้องดำเนินไปไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น

เริ่มวันนี้… ตอนนี้

        มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ความกลัวของคนเรามักจะเกิดเวลาที่เราไม่รู้จักสิ่งนั้นดีพอ แต่ที่ผ่านมาเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เราบริโภคและปฏิบัติต่อธรรมชาติโดยไม่เคยคิดเกรงกลัว นั่นเป็นเพราะเราคิดไปเองว่ารู้จักธรรมชาติดีแล้ว ไม่คิดว่าสิ่งที่มีตรงหน้าจะมีวันหมดหรือหายไป แต่มาถึงวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมย้อนกลับมาทำให้มนุษย์หวาดกลัวอีกครั้ง กลัวเพราะไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นในสิ่งที่ตนเองทำจะพาชีวิตตัวเองไปจบที่จุดใด

        ซึ่งเวลาเห็นข่าวมลพิษจากระบบอุตสาหกรรมแบบ PM 2.5 เห็นข่าวไฟไหม้ครั้งใหญ่ในป่าแอมะซอน เห็นข่าวการตายของมาเรียมเพราะกินขยะพลาสติก ทำให้เราคิดทุกครั้งว่ามันช้าไปไหมที่พวกเราจะมาเริ่มคิดดูแลรักษาโลกกันวันนี้

        “สำหรับอาจารย์ไม่ถือว่าช้าว่าเร็ว แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ ทำเท่าที่เวลาและกำลังของเราจะทำได้ คือไม่ใช่คิดว่าช้าไปแล้ว มาเรียมตายไปแล้ว ก็เลยช่างหัวมัน ก็คงไม่ใช่ แต่หมายความว่าเราต้องพยายามทำต่อไป ต้องไม่ท้อถอย เด็กหนุ่มๆ สาวๆ ยังมีกำลังวังชา 

        “เพราะอาจารย์คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้น่าเป็นห่วงทั้งนั้นแหละ แต่มองกลับกัน เราไม่ควรไปคิดแต่เรื่องที่เกินกำลังของเรา เช่น เรื่องขยะในทะเล ที่เขาบอกกันว่าตอนนี้สะสมจนใหญ่เท่าประเทศไทยแล้ว มันเกินกำลังสำหรับคนตัวเล็กๆ อย่างเรา เอากำลังมาทำอะไรที่เราทำได้ดีกว่า ถ้าเรามัวไปจมและมองปัญหาแบบหัวชนฝา มันเกินกำลังไป เราต้องรู้กำลังตัวเองก่อน”

        เราชวนอาจารย์คุยถึงกระแสหนึ่งในโลกปัจจุบัน กับการที่เด็กรุ่นใหม่ลุกออกมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาโลกร้อน หนึ่งในคนที่เรายกมาคุยกันคือเรื่องราวของ เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาววัยเพียง 15 ปี ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Time เวลานี้ จากการที่เธอลุกออกมาประท้วงหยุดเรียนเพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาโลกร้อน และปฏิเสธมรดกที่แสนเน่าเฟะที่เด็กรุ่นเธอไม่ได้เป็นคนทำ ซึ่งล่าสุดเธอเดินทางด้วยเรือใบเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ จากอังกฤษถึงมหานครนิวยอร์ก เพื่อร่วมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ในประเด็นปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม

        “ดีมากเลยค่ะ เขาเก่งมากเลยที่จะเดินทางไปในเรือใบแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ

        “เวลาเห็นใครทำอะไรแบบนี้อาจารย์ก็สนับสนุนเป็นกำลังใจชื่นชม และเราก็ต้องการคนแบบนี้ อาจารย์เชื่ออย่างหนึ่งว่าจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้งไม่ได้ต้องการคนจำนวนเยอะนะในการจะเริ่มทำมัน ขอแค่เอาจริงทำจริงเถอะ อีกเดี๋ยวก็มีคนมาช่วยเอง อาจารย์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงมันอาจเกิดจากคนคนเดียว ขอแค่เริ่มและทำด้วยความตั้งใจจริง”

        การที่เราจะกลับไปกลมกลืนกับธรรมชาติได้อีกครั้ง บางครั้งเราอาจจะต้องเปลี่ยนบางอย่างในตัวเราอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ กลับไปโดยที่ไม่ได้ไปเอาเปรียบและทิ้งปัญหาอะไรไว้ให้คนข้างหลัง ที่ผ่านมาเราตั้งใจโฟกัสกับธรรมชาติน้อยเหลือเกิน และจุดเริ่มต้นของทางแก้ไขก็ไม่ใช้การฉายไฟออกไปมองดูสภาพแวดล้อมที่ค่อยๆ พังทลายลงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องเริ่มฉายไฟเข้ามาที่ตัวเอง และเริ่มทำสิ่งที่ทำได้ ไม่ต้องเกินกำลัง เพียงแต่ทำมันด้วยความตั้งใจและเอาจริง เหมือนที่ผู้หญิงคนนี้ทำมาโดยตลอด

 

รตยา จันทรเทียร

ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด 

        “อาจารย์คิดว่าสิ่งสำคัญที่มูลนิธิสืบฯ ให้กับคนไทยคืออะไรครับ?” เราเอ่ยถาม

        “พวกเราไม่เคยมานั่งคิดกันเลยว่าสิ่งที่มูลนิธิสืบฯ ทำมาตลอด 29 ปี มันเปลี่ยนวงการอนุรักษ์ในประเทศไทยไปอย่างไร เราแค่ตั้งหน้าตั้งตาทำ ไม่ได้มาดูว่าสิ่งที่ทำมันไปเปลี่ยนใจคนได้ขนาดไหน แต่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคงพอช่วยให้คนเห็นความสำคัญของผืนป่าที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ตั้งแต่คนไปจนถึงสัตว์ พูดง่ายๆ ว่าคุณรักษาป่า คุณก็รักษาน้ำ คุณก็รักษาชีวิต” 

        ในโมงยามสุดท้ายของชีวิต เมื่อย้อนกลับมามองเส้นทางที่ผ่านมา ไม่ว่าใครก็คงอยากตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับตัวเองว่าสิ่งที่ฉันทำไปมันเสียเวลาหรือเปล่า หรือสิ่งที่ทำได้ออกดอกผลเป็นรางวัลอะไรให้ใครบ้าง

        “อาจารย์ไม่เคยคิดว่าเสียเวลาเปล่าในการทำงานเลยนะ ที่ผ่านมามันอาจเป็นงานที่ยาก และเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมใจจริงๆ แต่วันนี้ถ้ามองย้อนกลับไปก็น่าชื่นใจ เพราะมันชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำ และเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลเป็นอะไร แต่มันเป็นหน้าที่ของเราที่เป็นมนุษย์

        “แล้วงานตรงนี้ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากกว่าใคร หรือน้อยกว่าใคร เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองพิเศษหรือว่าเสียสละ ไม่ใช่เลย แต่ถ้ามองกลับไปก็เป็นสิ่งภูมิใจที่ได้ทำ ไม่รู้สิ ที่อาจารย์ยังแข็งแรงทุกวันนี้อาจเป็นเพราะบุญที่เราทำงานนี้มามั้ง เข้าไปนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ในป่า อาจารย์มีความสุขดีกับชีวิต 29 ปีที่ผ่านมานะ ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีบุญนะ ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการทำมาตลอด หลายคนจะชอบพูดว่าเกษียณแล้วจะได้ทำสิ่งที่อยากทำ แต่อาจารย์ได้ทำสิ่งนั้นมาตลอดจนถึงป่านนี้ ก็นับว่าโชคดี”

        ตลอดระยะเวลาในการเดินทางไกล นับตั้งแต่การเสียสละของ คุณสืบ นาคะเสถียร จนถึงการทุ่มเทชีวิตให้กับการดูแลป่าของนางสิงห์ตนนี้ ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์เอาไว้มากมาย มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความสามารถ เดินเข้ามาร่วมงานกันในมูลนิธิสืบฯ ทุกคนต่างทุ่มเทชีวิตให้การการดูแลรักษาป่าและพร้อมจะส่งต่อเจตนารมณ์ของคุณสืบต่อไป 

        “งานอนุรักษ์มันเป็นงานที่ไม่มีวันจบ เพราะว่ามนุษย์ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องการอยากได้ แล้วคนที่คิดว่าอยากได้มันมากกว่าคนที่คิดจะรักษา งานอนุรักษ์จึงต้องดำเนินไปไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น

        “ชีวิตต่อจากนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร อยากจะตายง่ายๆ แต่ก็ไม่มีใครรู้อีกแหละ ก็ไม่เป็นไร อะไรเกิดมาก็รับได้ทั้งนั้น เพราะว่ามันเกินกำลังเราไป ไม่มีใครรู้ว่าเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต ก็ใช้ทุกวันนี้ให้ง่ายๆ อย่าไปรบกวนสิ่งแวดล้อม อย่าไปรบกวนคนข้างเคียง ทำสิ่งที่เราทำได้ แล้วที่สำคัญคือพอแก่แล้วอย่าขี้บ่น (หัวเราะ)”

 


รตยา จันทรเทียร

 

        “คุณสืบ นาคะเสถียร จากเราไปสี่ปีแล้ว เมื่อแรกตั้งมูลนิธินั้นมีคำถามว่า ‘หรือจะเป็นเพียงไฟไหม้ฟาง’ สี่ปีที่ผ่านไปคงให้คำตอบต่อตัวเราเองและทุกท่านว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่แฟชั่นและไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง สิ่งที่ทำเป็นจิตสำนึกของงานอนุรักษ์ที่เรายังคงมิท้อถอยที่จะทำหน้าที่สืบสานตามเจตนารมณ์ของคุณสืบ”

  • ส่วนหนึ่งในจดหมายจากประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขียนโดย อาจารย์รตยา จันทรเทียร ตีพิมพ์ในวารสารสาส์นสืบ ฉบับปฐมฤกษ์ ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2537

รตยา จันทรเทียร

ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น

ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ตาย

(นายสืบ นาคะเสถียร)

31 ส.ค. 33

  • ข้อความในจดหมายที่ สืบ นาคะเสถียร เขียนไว้ก่อนตาย