คุยกับ สายธาร นิยมการณ์ กับภารกิจกู้ชีวิต ‘แตงโม’ 30 ชั่วโมงและมุมมองจากคนทำงานกู้ภัย

สมมติว่าดวงตาคนไทยมี 60 ล้านคู่ และใบหูอีก 120 ล้านข้าง เชื่อเหลือเกินว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งดวงตาและใบหูของคนไทย ต่างเปิดตาดู และเปิดหูรับฟังเหตุการณ์การเสียชีวิตของดาราสาว ‘แตงโม’ – นิดา พัชรวีระพงษ์ กันแทบทั้งสิ้น 

        นี่คือข่าวการเสียชีวิตที่สร้างความโศกเศร้าไปทั่วทั้งประเทศ พร้อมทั้งยังนำมาซึ่งความสงสัย และรวมไปถึงประเด็นข่าวอันร้อนแรงมากมาย ที่ถูกปล่อยออกมาตลอดระยะเวลากว่า 2 อาทิตย์เต็มๆ 

        แม้ถึงตอนนี้ คดีความต่างๆ จะยังคงอยู่ในขั้นตอนของการเก็บหลักฐาน แต่หากย้อนกลับไปยัง ‘วันแรก’ ของการเกิดเหตุ ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก คือการตามหาร่างของแตงโมที่ตกลงไปอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหนึ่งในทีมงานอาสากู้ชีพ-กู้ภัยในขณะนั้น มีนักแสดงสาว ‘ต่าย’ – สายธาร นิยมการณ์ รวมอยู่ด้วย

        กว่า 30 ชั่วโมงที่เธอปักหลักเป็นหนึ่งในทีมงานการค้นหาครั้งนี้ ผ่านเรื่องราวดราม่า และความไม่เข้าใจมากมายหลายสิ่ง แต่สุดท้ายภารกิจของเธอก็สำเร็จ เมื่อทีมงานเจอร่างอันไร้วิญญาณของแตงโมจนได้

        ผ่านมา 2 สัปดาห์นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ เรามีโอกาสนัดพูดคุยกับต่าย เพื่อย้อนไปยังห้วงเวลาที่เธอเกาะติดสถานการณ์การค้นหาร่างของแตงโมอยู่บนเรือ รวมทั้งพูดคุยถึงกรณีความไม่เข้าใจในการทำงานของหน่วยกู้ภัยของเธอ และมากไปกว่านั้น เรายังขอให้เธอได้ถ่ายทอดโลกของการทำงานกู้ชีพ-กู้ภัยตลอด 26 ปีที่ผ่านมาให้ฟังอีกด้วย

        ต่ายยินดีเล่าทุกเรื่องที่ชวนสงสัย พร้อมก่อนจะคุยกัน ยังได้เผยรอยไหม้เกรียมที่แขนสองข้าง จากการล่องอยู่บนเรือกว่า 30 ชั่วโมง แม้ผลจะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่บทเรียนในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ถ้าย้อนไปยังเหตุการณ์วันแรกที่เกิดเหตุ ปัญหาที่คุณต้องเจอเป็นด่านแรกคืออะไร

        การแจ้งพิกัดค่ะ กรณีนี้พิกัดไม่ชัดเจน คือถ้าเขาสามารถบอกได้ว่าพิกัดการตกน้ำอยู่ประมาณไหน การค้นหาจะง่ายขึ้น แต่พอเราไม่รู้รายละเอียด มันเหมือนเรางมเข็มในมหาสมุทร วันนั้นทีมนักประดาน้ำต้องดำลึกลงไปกว่า 21 เมตร เทียบเท่าตึก 8 ชั้น โดยที่ไม่รู้พิกัด ซึ่งทีแรกเราไม่ได้ถามทีมนักประดาน้ำว่ารู้พิกัดไหม จนถึงช่วงเวลาที่เขาพักกันขึ้นมา เราจึงลองไปสอบถาม ปรากฏว่าเขาไม่รู้พิกัด และไม่มีใครบอก จนผ่านไปประมาณหนึ่งวันเต็มๆ ต่ายอยู่บนเรือด้วยตลอด ก็ยังไม่มีใครรู้พิกัดการตก เราจึงเลิกถาม และลุยกันเต็มที่ที่หน้างานกันดีกว่า 

จากปัญหานี้ มันทำให้คุณกับทีมงานต้องประสบกับอะไรต่ออีกบ้าง

        อย่างที่บอกว่า เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เราใช้เวลากว่า 30 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อตระเวนออกตามหาร่างในแม่น้ำ กินระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งมันเป็นบทเรียนสำคัญที่ว่า การมีพิกัดมันจะทุ่นแรง ทุ่นเวลา รวมทั้งมันจะทำให้การทำงานมีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเจอกับปัญหาอะไร เรามีแผนสำรองเอาไว้อยู่แล้ว ต่อให้เราจะไม่มีพิกัดการสูญหายก็ตาม แต่เราก็ยังทำงานกันได้

30 กว่าชั่วโมง ยังมีประเด็นดราม่าอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างในตอนนั้น

        มันมีประเด็นที่คนสงสัยว่า ทำไมกู้ภัยมากันเยอะจัง ซึ่งที่มากันเยอะ ก็เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นหน้างาน แล้วปกติเราจะทำงานกันเป็นทีม คือทุกคนจะรู้ว่าใครสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น คนนี้ไปโบกรถ คนนี้ไปกั้นไทยมุง คนนี้ดูแลทรัพย์สิน หรือคอยซัพพอร์ตเจ้าหน้าที่อีกที นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงมากันเยอะ แต่เห็นเยอะอย่างนี้ บางครั้งไม่พอ อย่างกรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่ๆ ทีมงานจำนวนไม่พอนะคะ เพราะฉะนั้น จำนวนทีมงานมีส่วนสำคัญเช่นกัน

        อีกกรณีหนึ่งที่เราถูกตั้งคำถาม คือทำไมถึงมาช้า ซึ่งความจริงคือไม่ได้ช้า เราไปถึงตรงนั้นไม่เกิน 10 นาที ทุกอย่างมีข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้หมด ทุกครั้งที่มีคนโทร.มาแจ้งเหตุ เราจะบันทึกการทำงานเอาไว้ตั้งแต่ต้น มีการลงเวลา ลงรายละเอียดพิกัดสถานที่ต่างๆ เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้ เราไม่บอกออกไป เพราะเราถือว่ามันเป็นจรรยาบรรณของคนทำงาน จะให้เราเล่าเป็นฉากๆ ว่าคนเจ็บคนป่วยมีสภาพเป็นอย่างไร หรือช่วยเหลือแบบไหน เราพูดไม่ได้ ต่ายเองเคยลืมตัว อยู่บนรถพยาบาลแล้วเผลอชูสองนิ้วถ่ายภาพ พอนึกขึ้นได้ ต้องรีบลบภาพทิ้งทันที เพราะนี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เรื่องเหล่านี้เป็นมารยาทและเป็นจรรยาบรรณที่คนทำงานด้านนี้จะรู้กันดี

มันมีเรื่องอะไรในเหตุการณ์วันนั้น ที่คุณรู้สึกว่าทำไม่ได้อย่างที่ผู้คนคาดหวังไหม

        คงเป็นเรื่องการค้นหา ทำไมไม่เจอศพสักที แต่ทุกอย่างมีเหตุและผลหมด ปัญหาแรกอย่างที่เล่าไป คือเราไม่มีพิกัดที่ชัดเจน ซึ่งมันยากมาก แล้วการค้นหาภาคกลางวัน สถานที่คือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา มันไม่ง่าย ดูแขนต่ายสิ ไหม้เกรียม เพราะตากแดดตลอดทั้งวัน พอตกกลางคืน น้ำในแม่น้ำก็มีขึ้นมีลง ไหนจะความสกปรก มีกิ่งไม้ มีขยะ นักประดาน้ำที่ลงไป เราเห็นแล้วสงสาร บางคนลงไปนานจนเป็นตะคริว ต้องดึงร่างขึ้นมาช่วยกันนวด เราเองไม่ได้ลงไปกับเขาหรอก เป็นทีมซัพพอร์ต ใครอยากได้อะไรบอกเราเลย เดี๋ยวจัดการให้ วันนั้นก็ช่วยทีมนักประดาน้ำนวดคลายเส้นให้เขา 

        ทั้งหมดทั้งมวลมันไม่ใช่ภารกิจที่ง่าย มันมีข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทางด้านร่างกาย คิดดูว่าทีมนักประดาน้ำดำน้ำซะจนเส้นเลือดฝอยนัยน์ตาแตก นี่ขนาดเปลี่ยนทีม ทีมละ 5 คน ดำครั้งนึง 4 แท็งก์ แล้วสลับกันลงน้ำ แต่ก็ยังไม่ไหวกัน ถ้าถามว่าเรื่องอะไรที่ไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังของผู้คน ก็คงเป็นเรื่องเหล่านี้ แต่สุดท้ายด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ของทีมงานทุกคน ทำให้พบร่างของน้องจนได้

คุณจำได้ไหมว่าวันนั้นต้องตอบคำถามอะไรมากที่สุด

        เอาจริงๆ คือ ไม่ได้ตอบอะไรเลย (ยิ้ม) เพราะมัวมุ่งอยู่แต่กับการช่วยเหลือทีมค้นหาอย่างเดียว อีกอย่างคือเราไลฟ์ไปด้วย ระหว่างที่เราอยู่บนเรือ ข่าวออกมาเยอะมาก ทีนี้มันมีข่าวลือ เช่น เจอแล้วตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งพอเรารู้เรื่อง เราเลยตัดสินใจไลฟ์ คือไลฟ์ให้เห็นสถานการณ์จริงๆ ไปเลย ต่ายบอกทุกคน ฟังนะ นี่คือไลฟ์ของต่าย ที่โคตรจะเรียลที่สุดแล้ว ปรากฏว่าไลฟ์ไปไลฟ์มา คนที่เข้ามาดูทะเลาะกันอีก โอย ปวดหัว (หัวเราะ) จนเราทนไม่ไหว สั่งให้หยุดทะเลาะกันเดี๋ยวนี้นะ ถ้าใครยังทะเลาะบนหน้าเฟซบุ๊กของต่าย ต่ายจะเลิกไลฟ์ทันที มีคนรีบเข้ามาคอมเมนต์ เฮ้ย อย่าทะเลาะกัน เดี๋ยวไม่ได้ดู (ยิ้ม)

คุณรู้สึกอย่างไร กับประเด็นเรื่องการไลฟ์ ที่มันเหมือนเป็นเส้นบางๆ ระหว่างการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง กับการทำคอนเทนต์แนวเรียลิตี้โชว์

        อันนี้อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนเลยค่ะ อย่างจุดประสงค์ของต่าย สาเหตุที่เราไลฟ์ คือต้องการให้เขาเห็นการทำงาน เราไม่ได้ต้องการยอดตัวเลขหรืยออดวิวใดๆ ปกติเวลาต่ายทำงาน ต่ายไม่ค่อยมีโอกาสได้ไลฟ์สดอะไรแบบนี้หรอก เพราะเราต้องช่วยเหลือคนเจ็บที่หน้างาน แต่ครั้งนี้เราเป็นคนคอยซัพพอร์ต เราจึงสามารถทำได้ และเรามีเจตนาว่าอยากให้เห็นว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง เราจึงไลฟ์ภาพสดออกไป ไม่อย่างนั้นมันจะมีแต่ข่าวลือออกมาอยู่ตลอดเวลา

แล้วอย่างประเด็นที่มีคนในกลุ่มการค้นหา พูดทำนองเหมือนให้ช่วยกันแชร์ภาพกันเยอะๆ คุณรับทราบไหมในตอนนั้น

        มีด้วยเหรอ เอาคนที่พูดมาก่อน คือจะแชร์เพื่ออะไร เจตนาคืออะไร เชื่อไหมว่าต่ายไม่เคยมีรูปในเหตุการณ์นี้เลย ใครส่งรูปมาให้ดู เรายังไม่ดูเลย แต่เรื่องนี้มันอาจมีสองเจตนา คือมุมหนึ่งอาจจะให้แชร์การเก็บศพว่าพบร่าง นำขึ้นมาแล้วนะ ถ้าแบบนี้พอเข้าใจได้ แต่กับประเภท คือแชร์ภาพที่ไม่น่าดู อย่างประเด็นรูปของน้องหลุด อันนี้ต้องไปว่ากันที่กฎหมาย เพราะมีกฎหมายดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่เรื่องนี้อยากให้เป็นบทเรียนกับสังคมเหมือนกันนะ เราไม่ควรเผยแพร่หรือส่งต่อภาพที่ไม่น่าดู หรือภาพที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่ต่อ 

        คืออยากให้คิดแบบนี้ ถ้าวันหนึ่งวันใดภาพที่ไม่น่าดูแบบนี้ เป็นภาพญาติของเรา คุณจะรู้สึกอย่างไร ใจเขาใจเรานะเรื่องแบบนี้ บางคนต้องพูดแบบไม่ถนอมน้ำใจ พี่ สมมติเป็นภาพแม่พี่ พ่อพี่ เอาภาพมาประจานแบบนี้ พี่จะรู้สึกอย่างไร แต่ในส่วนของเรา เราก็เพิ่งเห็น ขนาดเราอยู่หน้างานนะ เพราะว่าในชีวิตจริง เราเห็นภาพแบบนี้มาเยอะมาก ทำไมจะต้องดูอะไรอีก แถมส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบอยู่แล้ว ใครส่งภาพแบบนี้มา เราบล็อกหมด

ย้อนกลับไป การเริ่มต้นงานกู้ชีพ-กู้ภัยของคุณ เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่

        ต่ายเริ่มงานด้านนี้มาเมื่อ 26 ปีแล้ว ต้องเรียกว่าตกกระไดพลอยโจนมาทำแล้วกัน ตอนนั้นสนิทกับคุณอ๊อฟ (อภิชาติ พัวพิมล–อดีตนักแสดง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เขาทำอาสาอยู่ที่มูลนิธิร่วมกตัญญู เขาชวนเราไปทำ ตอนนั้นไม่แฮปปี้เลย เพราะเป็นคนกลัวเลือด เห็นเลือดแล้วจะเป็นลม แต่ไปๆ มาๆ พอได้เริ่มทำ กลายเป็นเริ่มถูกจริต ช่วงหนึ่งเราหายจากงานในวงการบันเทิง เพื่อมาทำงานนี้ จนคนคิดว่าเราเลิกทำงานในวงการไปแล้ว

        พอทำมาเรื่อยๆ หรือเรียกว่าตกกระไดพลอยโจนมาเรื่อยๆ (ยิ้ม) จากงานอาสาฯ ที่ทำหน้าที่เก็บศพ เราก็ขยับมาเป็นกู้ภัย จนกลายมาเป็นกู้ชีพ ตอนนั้นต่ายน่าจะเป็นดาราหญิงคนเดียวที่เป็นกู้ชีพในเมืองไทย แต่หลังๆ เริ่มมีดารารุ่นน้องๆ ที่ไปอบรมเพิ่มขึ้น พอจบมาก็มาเป็นกู้ชีพเพิ่มอีกหลายคน

        ส่วนสาเหตุที่เราขยับจากจาการเป็นอาสาฯ จนเข้ามาทำเป็นกู้ชีพ เนื่องจากครั้งหนึ่งตอนที่ยังเป็นอาสาฯ มีเคสคนจะกระโดดตึก วันนั้นต่ายอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เราใช้เวลาเกลี้ยกล่อมเขาอยู่เกือบๆ 10 ชั่วโมง คนคนนี้เขาจำต่ายได้ เขาเลยให้ต่ายขึ้นรถกระเช้าไปเจรจา ซึ่งไม่มีใครถามเราเลยว่ากลัวความสูงไหม ซึ่งความจริงคือกลัวมาก (หัวเราะ) 

        แต่เราก็ยอมขึ้นรถกระเช้าไป โดยขอขึ้นไปกับพี่ท็อป (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) ใช้เวลาเกลี้ยกล่อมกันอยู่นาน แต่สุดท้ายจู่ๆ เขาก็กระโดดลงมาต่อหน้าต่อตา เราตกใจมาก ตอนนั้นมีทีมกู้ชีพอยู่ เราอยากเข้าไปช่วยเหลือมาก แต่เรายังทำไม่ได้ เพราะเราเป็นแค่อาสาฯ วันนั้นจึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่า ฉันจะเป็นกู้ชีพให้ได้ จะได้ทำอะไรได้มากกว่านี้

        จึงเป็นที่มาให้พาตัวเองไปอบรมการเป็นกู้ชีพ ซึ่งตอนไปเรียนก็กดดันมาก เพราะเราเป็นดารา ไม่มีความรู้พื้นฐานสักเท่าไหร่ แค่คำถามแรกก็สอบตกแล้ว เบอร์โทรศัพท์กู้ชีพต้องโทร.เบอร์อะไร จบเลยฉัน ไม่เคยจำ (หัวเราะ) คือเรียนอ่อนมาก แล้วแต่ละคนที่มาอบรมเป็นทั้งพยาบาล เป็นบุรุษพยาบาล ตอนเรียนก็กดดัน อย่าได้ขาดได้ลาเชียว เพราะจะตามที่เขาเรียนไม่ทัน เคยปวดท้องมาก แต่ไม่อยากขาดเรียน ตัดสินใจลงไปข้างล่างของโรงพยาบาล (สถานที่อบรมคือโรงพยาบลราชวิถี) แล้วขอให้พยาบาลฉีดยาให้ แล้วกลับขึ้นมาเรียนต่อ 

        ที่เหนื่อยและหนักสุดคือการเก็บเคส (คนเจ็บ-คนป่วย) คือเราจะต้องเก็บเคสให้ได้ครบ 10 เคส ถึงจะผ่านการประเมิน ซึ่งเวลาไปเก็บเคสจะมีหมอ พยาบาลคอยดูว่าทำถูกต้องไหม หน้าที่ของเราต้องออกไปกับรถพยาบาล ต้องคอยเช็กอุปกรณ์ต่างๆ บนรถ ต้องรู้วิธีการปฐมพยาบาล ช่วยเหลือคนเจ็บ-คนป่วยเบื้องต้น ต้องหัดทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) หรือการปั๊มหัวใจผู้ป่วยหากหัวใจหยุดเต้น 

        หรือถ้าอยู่ในโรงพยาบาลก็ต้องจัดการหน้างานให้เรียบร้อย ดูแลคนเจ็บ-คนป่วยเบื้องต้นได้ ลงข้อมูลบันทึกต่างๆ ได้ รวมทั้งพวกเปลหรือบอร์ดที่ใช้หิ้วคนเจ็บเข้ามา ต้องล้างให้สะอาด คนอื่นเขามีพาร์ตเนอร์เป็นคู่ๆ คอยช่วยกันล้าง แต่ของเราไม่มี ทำคนเดียว หิ้วเอง แบกเอง ล้างเอง ไม่มีสแตนด์อิน ไม่มีสตันต์ (หัวเราะ) บางทีเปื้อนเลือดเต็มไปหมด จากคนกลัวเลือดก็กลายเป็นคนชินกับเลือดไปโดยปริยาย (ยิ้ม)

        ทำอยู่อย่างนี้เพื่อให้ผ่านการประเมิน ซึ่งตอนนั้นก็ไปทะเลาะกับพยาบาลซะอีก เพราะเราต้องให้เขาเซ็นรับทราบในการเก็บเคสแต่ละเคส เวลาที่จะให้เซ็นประเมิน ต้องเขียนรายงานในใบรายงานแบบละเอียดยิบ เวลาผู้ป่วยเข้าตอนไหน ใครทำอะไร ยังไง สถานการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ เป็นยังไง ซึ่งเหนื่อยมาก (เสียงสูง) แต่เขาก็ไม่ยอมเซ็นให้สักที จนเราถามตรงๆ ไม่ชอบต่ายหรือเปล่า คือเป็นอะไร ไม่ยอมเซ็นให้ต่ายสักที สุดท้ายเขาบอกไม่มีอะไร โอเค ถ้าไม่มีอะไร ก็เซ็นให้ต่ายเถอะ ต่ายเหนื่อย (หัวเราะ)

มีเรื่องอื่นอีกไหมที่คุณต้องเผชิญมาตลอด 26 ปีของการทำหน้าที่ตรงนี้

        เรื่องแรงกดดัน จริงๆ ทุกงานมีปัญหาหมด แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ เราจะมีประสบการณ์ และสามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้น แต่แรงกดดันที่เจอเวลาอยู่หน้างาน เรื่องนี้จะเจอตลอดเวลา แต่ส่วนตัวเราไม่ค่อยมีอารมณ์กับเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่ เพราะเราไม่มีเวลาที่จะไปโกรธหรือโมโหใคร เราโฟกัสที่ชีวิตคน ทุกหนึ่งวินาทีมันมีค่ามากสำหรับต่าย 

คุณอยากจะสะท้อนอะไรไหม กับความกดดัน หรือเรื่องความคาดหวังต่างๆ ที่โถมเข้ามาเวลาปฏิบัติหน้าที่

        อยากให้อยู่บนพื้นฐานของความจริง นี่อาจจะเป็นมุมของเรา แต่สำหรับมุมของคนอื่น เราก็เข้าใจนะ บางครั้งเขาอาจจะคาดหวังกับเรา คาดหวังว่าจะต้องทำให้ได้ ต้องนั่น ต้องนี่ แรกๆ กดดันอย่างที่บอกไป แต่หลังๆ จะบอกกับตัวเองว่า เราทำดีที่สุดแล้ว หน้าที่ของเราคือส่งคนเจ็บคนป่วยไปให้ถึงมือหมอ บางเรื่องมันอยู่นอกเหนือการควบคุม เราก็ปล่อยวางมันไปบ้าง 

        ต่ายทำงานนี้มา 26 ปี ไม่เคยได้เงินจากการเป็นกู้ภัยแม้แต่สลึงเดียว มีบ้างที่เขาให้เป็นค่าน้ำมัน หรือค่าวิทยากร เวลาได้รับเชิญให้ไปบรรยายหรือให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ แล้วพอได้มาส่วนใหญ่ก็จะเอาไปเลี้ยงข้าวทีมงานต่อ นิสัยเราเป็นคนแบบนี้ เราทำเพื่อความสบายใจของเราเป็นที่ตั้งมากกว่า

ตลอด 26 ปี ชีวิตคุณเปลี่ยนไปแค่ไหน

        เปลี่ยนไปเยอะเลยนะ เมื่อก่อนเป็นคนตรงๆ ห้าวๆ ไม่ค่อยยอมใคร เวลาเพื่อนตีกัน เราออกหน้าให้ตลอด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องตัวเองเลย แต่เดี๋ยวนี้ด้วยวุฒิภาวะ รวมทั้งการที่เราได้ผ่านเคสคนเจ็บ-คนป่วยมามากมาย แต่ละเคสเหมือนเป็นวิทยาทาน เหมือนเขามาสอนเรา ถ้าคุณประมาทแบบนี้ คุณก็จะเจอแบบนี้ ทุกเคสเป็นครูสอนชีวิตให้เราทั้งหมด

        นอกจากนั้นยังทำให้เรามีสติ ต่ายเคยเจอเคสหนึ่ง เป็นอุบัติเหตุคนสองคน คนหนึ่งคางเปิด เลือดไหลน่ากลัว ส่วนอีกคนไม่มีบาดแผล แต่กำลังจะหยุดหายใจ เราเลือกที่จะช่วยคนกำลังจะหยุดหายใจก่อน บางคนสงสัยว่าทำไมไม่ช่วยคนคางเปิด ที่กำลังเจ็บหนัก แต่สาเหตุที่ต่ายต้องมาดูคนนี้ก่อน เพราะเขากำลังวิกฤต ซึ่งเรื่องเหล่านี้ การมีสติจะช่วยเราได้ และสิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นกู้ชีพ-กู้ภัย คือ ความผิดพลาดต้องน้อยที่สุด หรือต้องไม่มีเลย เพราะเราทำงานกับความเป็นความตาย หนึ่งวินาที โคตรสำคัญ เพราะมันคือชีวิต

1 วินาทีที่มีค่า มันสอนอะไรคุณบ้าง 

        มันสอนให้เราใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในปัจจุบันอย่างมีสติ คอนเซปต์ในชีวิตต่ายทุกวันนี้ง่ายมาก คือกินอิ่ม นอนหลับ ทำงานได้ แค่นี้พอแล้ว คือถ้ายังกินอิ่ม แล้วทำงานได้ ก็แปลว่าสุขภาพเรายังดีอยู่ หรือกินอิ่มแล้วนอนหลับได้ นั่นก็แสดงว่าร่างกายเรายังไม่มีปัญหา เราขอแค่นี้เอง

กลับมาที่การปฏิบัติงานอีกนิด ยกกรณีเคสการค้นหา ‘แตงโม’ มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือ ที่ดูจะไม่เพียบพร้อม เช่น มีการขอโดรนที่ติดไฟส่องสว่าง คุณมีความเห็นอย่างไรกับความไม่พร้อมเหล่านี้บ้าง

        เรื่องนี้ตอบยาก บางเรื่องต้องไปสอบถามกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับมูลนิธิร่วมกตัญญู เรื่องอุปกรณ์ความช่วยเหลือต่างๆ เรามีครบหมด อย่างเปล บอร์ด สเตรทเชอร์ (เตียงที่ใช้ในการกู้ภัย) มาตรฐานเราเทียบเท่าของเมืองนอก แต่โอเค ในมุมอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ราคาค่อนข้างแพง เราอาจจะยังเทียบชั้นกับของกู้ภัยเมืองนอกไมได้ แต่โดยรวม ต่ายยืนยันว่ากู้ชีพ-กู้ภัยไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะในมุมของบุคลากร เราผ่านการฝึกมาเทียบเท่ากับต่างชาติ อย่างเวลาที่มีการฝึกอบรม เราไปฝึกกับต่างชาติ เราผ่านการฝึกในสถานการณ์ยากๆ มาหมด เช่น การขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงผู้ป่วย เราก็ฝึกกันมาหมดแล้ว เพียงแต่เราไม่เคยเอาภาพออกมาให้ดูเท่านั้นเอง

        แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ระบบการจัดการของทีมกู้ภัยเมืองนอกเขาค่อนข้างดีกว่า อย่างมูลนิธิร่วมกตัญญูที่ต่ายสังกัดอยู่ เรามีคอนเซปต์ว่า เงินจากประชาชนเพื่อประชาชน คือใช้เงินจากการบริจาคของประชาชนที่ได้มาจากวัดหัวลำโพง มาใช้ในการออกปฏิบัติหน้าที่ แต่ยืนยันนั่งยันนอนยันว่า เราไม่เคยออกเรี่ยไรเงิน ใครมาบอกว่าเรารับเรี่ยไรเงินคือจะโกรธมาก (หัวเราะ) อาจจะมีกรณีที่จิตอาสาสนิทกัน หรือมีคนอยากทำบุญให้จริงๆ อันนี้ก็ดูที่เจตนา แต่ไม่ใช่ไปขอเงิน เรี่ยไร ทำบุญ แบบนี้ไม่เอา คือถ้าเจอแบบนี้ บอกเลยว่า มิจฉาชีพ ไม่ใช่พวกเราแน่นอน

แม้ขณะนี้ เรื่องราวทางคดีความการเสียชีวิตของ ‘แตงโม’ จะยังไม่จบลง แต่สำหรับในมุมของทีมงานการค้นหา กว่า 30 ชั่วโมงกับภารกิจครั้งนี้ บทเรียนสำคัญที่สุด สำหรับคุณคืออะไร

        การแจ้งเหตุเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เวลาที่โทร.มาแจ้งให้บอกพิกัด บอกรายละเอียดทั้งหมด เพราะการช่วยเหลือจะช้าหรือเร็ว ความสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้ เหมือนบางครั้งเรานั่งอยู่ในรถพยาบาล กำลังจะไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่บ้าน เราจะโทร.ถามญาติให้ละเอียด ตอนนี้ผู้ป่วยเป็นอย่างไรบ้าง เพื่ออัพเดตให้เขาสามารถดูแลเบื้องต้นกันได้ ผู้ป่วยบางคนเป็นลมชัก เราบอกให้เขาจับผู้ป่วยนอนตะแคงเอาไว้ มันก็จะช่วยทำให้เขาปลอดภัยก่อนที่เราจะไปถึง

        ดังนั้น การแจ้งรายละเอียดต่างๆ สำคัญที่สุด  มันจะช่วยทำให้งานของเหล่าอาสาฯ ผ่อนหนักให้เป็นเบา คือถามว่าถ้าไม่มีรายละเอียด เราสามารถทำงานกันได้ไหม เราทำได้ แต่เราจะทำงานกันหนักกว่าเดิม และต้องไม่ลืมว่า อาสาฯ หลายๆ คน มาช่วยด้วยใจ หลายคนไม่มีเงินเดือน แล้วเขามีชีวิตครอบครัว เขามีคนที่รักรออยู่ที่บ้านเหมือนกัน อย่างนักประดาน้ำ ดำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาลึก 21 เมตรตอนกลางคืน หากเกิดพลาดพลั้งอะไรไป ใครจะรับผิดชอบชีวิตเขา เราอยากให้นึกถึงใจคนที่เป็นอาสาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

        แต่ในอีกมุมหนึ่ง สำหรับเคสนี้ก็ให้มิตรภาพที่ดีกลับมามากมาย ระหว่างที่ทำการค้นหา มีชาวบ้านมากมาย เอาน้ำ มาอาหาร บางคนชงน้ำขิงใส่กระบอกมาให้อย่างดี หรือมีคนเอาครีมทาผิวมาให้ เห็นว่าเราตากแดดจนผิวไหม้ ปกติที่ผ่านมา ทำงานไม่เคยมีใครส่งอะไรมาให้ แต่ครั้งนี้มีน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นว่า ในเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาวุ่นวาย แต่คนไทยก็ยังมีน้ำจิตน้ำใจเสมอ 

คุณรู้สึกอย่างไร ในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาในโลกของการทำงานกู้ชีพ-กู้ภัย ซึ่งเรามักจะเห็นภาพของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่มากกว่า

        เราภูมิใจนะ (ยิ้ม) ถามว่ามันมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบไหม มันเท่าเทียมกันหมดแหละ จะต่างกันก็ตรงที่พลังในการทำงาน แต่ทั้งหมดทั้งมวล มันอยู่ที่เรารู้หน้าที่ หรือทำประโยชน์ในการช่วยเหลือคนได้หรือเปล่า อย่างตอนน้ำท่วมใหญ่ที่อยุธยา เคยมีคนถามต่ายว่าทำไมพี่ต่ายไม่ได้ไป ต่ายบอกต่ายไป แต่เราไมได้ไปลงพื้นที่หน้างาน เพราะน้ำท่วมสูง ตัวเราเล็กนิดเดียว ลงไปก็กลัวจะมิดหัวเปล่าๆ (หัวเราะ) คือถ้าไปแล้วเป็นภาระให้เขา เราจะไม่ไป แต่เราไปทำหน้าที่คอยซัพพอร์ตทีมงาน หาข้าว หาน้ำให้เขาแทน หรือพอหลังจากที่น้ำลด มันจะมีช่วงของการเยียวยา ช่วงนั้นคือหน้าที่ของเรา เราก็จะลงไปในพื้นที่อีกครั้งเพื่อดูแล รักษา รวมทั้งเยียวยาจิตใจด้วย

        แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจอกรณีแบ่งแยกว่าเป็นชายหรือเป็นหญิงในการทำงาน ทุกคนเท่าเทียมกัน แค่การทำงานเรามีข้อจำกัดเรื่องของร่างกายที่ไม่เหมือนกัน แต่ปกติต่ายก็ยกข้าวของเป็นประจำนะ ต่ายเน้นเสมอว่า การทำงานด้านนี้ เราต้องทำงานเป็นทีม ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร แต่เราต้องให้เกียรติกัน และที่สำคัญ การช่วยเหลือคนเจ็บต้องมาก่อนเป็นลำดับแรก ทุกวินาทีมีค่ามากๆ อย่างที่ได้เล่าไป

ปกติการเป็นอาสาฯ กู้ชีพ-กู้ภัย มีกำหนดอายุไหมว่าทำได้ถึงอายุเท่าไหร่

        ไม่มี อยู่ที่ร่างกายมากกว่า ทุกวันนี้คนระดับป๋า แกยังออกมาช่วยเหลือผู้คนอยู่เลย เพียงแต่ก็ทำในสิ่งที่ร่างกายสามารถทำได้ ไม่หนักเกินไป และมีประโยชน์กับทีม เราว่าการทำดีไม่มีอายุมาเกี่ยวข้องหรอก 

แสดงว่าคุณเองก็ไม่ได้กำหนดว่าจะเลิกทำเมื่อไหร่ ถูกไหม

        ใช่ ตั้งใจว่าจะทำจนข้อเข่าเสื่อมนั่นแหละ (หัวเราะ) มันเป็นความภูมิใจนะ เราเคยนอนอยู่ในรถพยาบาล ใช้ชีวิตสแตนด์บายช่วยเหลือคนอยู่ใต้ทางด่วน บางทีก็ยังเคยนอนมองดูห้องที่เช่าเอาไว้ นี่เราเช่าไว้ทำไมนะ คือถ้าจะบอกว่าการได้ช่วยเหลือคนคือความสุขของเรา ก็คงเป็นแบบนั้นล่ะ (ยิ้ม)


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ