ห้องที่ประดับไปด้วยธงชาติสีขาวแดงที่มีใบเมเปิลตรงกลาง และเมเปิลคุกกี้ (แน่นอน รูปใบเมเปิล) แกล้มบทสนทนากับสตรีที่อยู่ตรงหน้า ค่อยๆ เผยให้เห็นว่าประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หากประชากรน้อยเพียงครึ่งของประเทศไทยนั้นมีเรื่องอีกมากที่น่าค้นหา มีอะไรมากกว่าที่ตาเห็น นอกจาก จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีขวัญใจชาวโลก ชอว์น เมนเดส ศิลปินขวัญใจวัยรุ่น
จิบชาร้อน เคล้าเมเปิลคุกกี้หอมกรุ่น กับ ดร. ซาร่า เทย์เลอร์ (Dr. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2020 แต่ยังไม่ทันได้เริ่มภารกิจมากมายที่เธอตั้งเป้าหมายไว้ ก็เจอโควิด-19 ไปเสียก่อน
a day BULLETIN ชวนย้อนคุยเส้นทางชีวิตของอดีตนักโบราณคดี ก่อนจะมาเป็นทูตประจำประเทศไทย เนื่องในวันชาติแคนาดา 1 กรกฎาคมของทุกปี
ดร. ซาร่า นั่งอยู่ตรงโซฟาที่มีภาพวาดจากศิลปินแคนาเดียนเป็นฉากหลัง และ ‘โม’ แมวสีส้มที่นอนอยู่บนตักเมื่อเราไปถึง ยกมือไหว้ (จับมือไม่ได้) ทักทายสวัสดี ดร. ซาร่า กล่าวต้อนรับ บอกว่ายินดีเหลือเกินที่ได้กลับมาเจอผู้คน ทำงานอย่างปกติอีกครั้งในวันนี้
“มันไม่เหมือนประจำการใดๆ ที่เคยเจอมา” ดร. ซาร่า เล่าถึงการทำหน้าที่ในช่วงล็อกดาวน์ ที่เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตต้องทำงานจากบ้าน และกิจกรรมทุกอย่างต้องย้ายไปจัดออนไลน์
“แต่มันก็ดีเหมือนกัน อย่างปกติช่วง Pride Month ต้องมีขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง จัดงานใหญ่โต แต่พอต้องจัดออนไลน์ ก็ทำให้เข้าถึงผู้คนได้เยอะขึ้น ไม่จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ หรือประเทศไทย อยู่ที่ไหนก็เข้าร่วมได้”
ดร. ซาร่า ยกตัวอย่างการจัดฉายภาพยนตร์ออนไลน์ในปลายเดือนมิถุนายน ที่ทางสถานทูตได้จัดกิจกรรมไพรด์ออนไลน์โดยได้นำภาพยนตร์จากแคนาดาชื่อว่า ‘Venus’ ที่เล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศมาฉายให้ผู้คนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว
“ถึงแม้จะเป็นหนังที่เลือกฉายในเดือนไพรด์ แต่เรื่องนี้สื่อสารไปไกลกว่านั้นถึงแง่มุมพหุวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศแคนาดา ตัวละครหลักนั้นเป็นชาวแคนาดา เชื้อสายอินเดีย ที่ชวนเปิดประเด็นพูดคุยต่อได้อีกมาก”
ดร. ซาร่า อธิบายถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม (multiculturalism) ที่ไม่เพียงครอบคลุมความหลากหลายทางเพศ หากรวมถึงมิติอื่นๆ เช่นกัน
“ปรัชญาของความเป็นพหุวัฒนธรรม คือเราสามารถอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่รักษาความหลากหลายไว้ได้ ในสหรัฐอเมริกามักใช้คำว่า ‘melting pot’ คือเข้าไปในหม้อแล้วหลอมรวมเข้าด้วยกัน แต่ในแคนาดา เรามักเปรียบว่าเป็น ‘mosaic’ มากกว่า เพื่อจะสื่อว่าภาพหนึ่งภาพนั้นประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างสี ต่างรูปร่าง ไม่ต่างจากประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภาษา เชื้อชาติ เพศ หรือความเห็นทางการเมือง”
ดร. ซาร่า เล่าว่า ความหลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่เธอซึมซับมาแต่เล็ก เด็กๆ จะได้เรียนเรื่องของ ‘First Nations’ ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศมายาวนานก่อนที่ชาวยุโรเปียนจะย้ายถิ่นฐานเข้ามา ตามมาด้วยผู้อพยพจากทวีปอื่นๆ ทั้งเอเชีย ลาตินอเมริกา แอฟริกาใต้ ฯลฯ ที่ทำให้ความหลากหลายนั้นเป็นความปกติที่เธอคุ้นเคย
ในช่วงที่ผ่านมาที่การระบาดของโรคส่งผลโดยตรงให้รัฐบาลต้อง ‘ปิดประเทศ’ มากยิ่งขึ้น หลายคนมองว่านี่คือจุดสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ ประชาคมโลกดูพร้อมเพรียงกันหันขวา ดร. ซาร่า เองที่อยู่ในบทบาทของการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองท่าทีนี้ว่า
“ฉันเห็นด้วยว่าเราต้องรัดกุมเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้ามากขึ้น แต่ในระยะยาวฉันคิดว่า ‘ความสามัคคีระดับสากล’ (International Solidarity) เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ยกตัวอย่างการคิดค้นวัคซีน หรือยับยั้งการแพร่เชื้อ ที่เราไม่มีทางทำได้รวดเร็ว ทันความต้องการเลย หากไม่มีการร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างระบบสุขภาวะสากลไปพร้อมกัน”
‘International Solidarity’ คำที่ทั้ง ดร. ซาร่า และ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา พร้อมใจพูดตรงกัน เช่น ล่าสุดที่ทรูโดได้เน้นย้ำในเวทีของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาระดับสากล จนเราแปลกใจว่านี่เป็นเพียงความบังเอิญ หรืออะไรกันที่เป็นเบื้องหลังให้ผู้นำแคนาเดียนทั้งสองเชื่อในเรื่องความร่วมมือมากขนาดนี้
“มันยากที่จะสรุปว่าอะไรคือสาเหตุ แต่มันอาจเป็นส่วนผสมของทั้งภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ในแคนาดานั้นเป็นที่รู้กันว่า ฤดูหนาวนั้นหนาวเหน็บมาก หนึ่งในเรื่องคลาสสิกที่คนเล่ากันคือ ถ้าเราขับรถแล้วเจอคนรถเสียติดหิมะ แคนาเดียนที่แท้จะลงจากรถไปช่วยทันที เพราะครั้งหน้านั่นอาจเป็นคุณก็ได้ การช่วยเหลือกันมันเป็นสปิริตของแคนาเดียนเลยก็ว่าได้
“อันที่จริงแล้วฉันว่าคนไทยก็มีสปิริตที่คล้ายกัน เห็นได้ชัดมากในการรับมือกับโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนบอกว่าปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่ออกมาช่วยกัน”
ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม ดร. ซาร่า ถึงดูมีความเข้าใจบริบทประเทศไทยเป็นอย่างดี แม้เธอจะเพิ่งเข้ามาประจำการเมื่อต้นปี แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้วที่เธอมาประเทศไทย และไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป หากในฐานะนักศึกษาโบราณคดี ที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว
“ประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก แน่ละ มันผ่านมานานมากแล้ว ฉันจำได้ว่า ครั้งแรกที่มากรุงเทพฯ ได้พักอยู่บ้านไม้ในซอยแห่งหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีแล้ว มันอาจเป็นมุมมองของคนเรียนโบราณคดีก็ได้นะ แต่ฉันหวังว่าผู้คนจะเริ่มเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์สถานที่มากขึ้นว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องในอดีต แต่มันสะท้อนถึงปัจจุบัน ถ้าเราทำลายหลักฐานของอดีต หรือเก็บมันแช่แข็งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไปหมด เราก็สูญเสียตัวตนของเราเช่นกัน”
อาจสงสัยว่านักศึกษาสาขาวิชาโบราณคดี (Archeology) และมานุษยวิทยา (Anthropology) กลายมาเป็นเอกอัครราชทูตได้อย่างไร ดร. ซาร่า เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวชีวิตของเธอ ทั้งประวัติการเติบโตมาในครอบครัวนักการทูต รวมทั้งประวัติการศึกษา ซึ่งล้วนมีส่วนผลักดันให้เธอเดินบนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ถ้ามองย้อนกลับไป ชีวิตวัยเด็กก็ส่งผลกับปัจจุบันมาก ฉันโตมากับครอบครัวที่พ่อแม่เองก็เป็นนักการทูต (diplomat) พี่น้องทุกคนชินกับการต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆ ซึ่งหลายคนเมื่อโตแล้วอาจไม่ชอบนัก แต่ฉันสังเกตว่าถ้าใครได้เดินทางตั้งแต่ยังเด็กแล้ว พวกเขาจะชอบ และอยากใช้ชีวิตที่ได้เดินทางในประเทศต่างๆ ต่อไป พี่สาวฉันเองก็เคยประจำการอยู่ในซีเรียถึงสองรอบ
“มันอาจดูไม่มีอะไรเกี่ยวข้องโดยตรง แต่โบราณคดีก็ได้ปลูกฝังความคิดที่ช่วยในการทำหน้าที่ทูตมาก อย่างแรกเลยคือมันทำให้เราตระหนักอยู่เสมอว่าคุณไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เลยถ้าคุณไม่เข้าใจอดีต และในขณะที่อดีตให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจุบัน ปัจจุบันเองก็พยายามใช้ประโยชน์จากอดีตเหมือนกัน ฉะนั้น เราต้องรู้ทันมันให้ได้”
ดร. ซาร่า เปรียบเทียบบทบาทของเอกอัครราชทูตว่าเป็นดั่ง ‘keeper’ ผู้ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในแง่นี้นั้น มุมมองนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาดูจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อจุดยืนในปัจจุบัน และมองได้รอบด้านก่อนตัดสินใจใดๆ ที่จะกระทบกับความสัมพันธ์
“มันคล้ายกับการแต่งงาน ถ้าเรามองว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำ อีกฝ่ายเป็นผู้ตาม มันจะเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งมาก แต่หากคุณเข้าใจว่าทุกฝ่ายส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งนั้น คุณจะสามารถปรับให้เกิดความเท่าเทียม กลายเป็นทีม เป็นคู่หูกันได้ ซึ่งมันช่วยทำให้คุยกันง่ายขึ้นเยอะเลย”
‘รักษาความสัมพันธ์ และสื่อสาร’ สองหน้าที่หลักที่ ดร. ซาร่า มองว่าเป็นบทบาทของหน้าที่นี้ หากไม่ใช่พันธกิจทั้งหมดที่เธอตั้งใจจะทำในวาระประจำการที่ประเทศไทย
“มีหลายอย่างมากที่ฉันตั้งใจจะทำ แต่ถูกระงับไว้ช่วงที่ผ่านมา ทั้งการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างเยาวชนสองประเทศ สนับสนุนการร่วมมือทางการค้า หรือแม้แต่การวิจัยทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีน ที่โควิด-19 ทำให้เห็นโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างไทยและแคนาดา”
Collaboration (ความร่วมมือ) และ solidarity (ความสามัคคี) สองคำที่เราได้ยินซาร่าพูดอยู่เรื่อยๆ ตลอดการสนทนาครั้งนี้ เป็นสองคำที่ทั้ง อังเกลา แมร์เคิล และ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนิวซีแลนด์ ได้กล่าวถึงบ่อยๆ ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จนเราสงสัยว่าเธอคิดอย่างไรที่ผู้คนกล่าวว่านี่เป็นหนึ่งในคุณลักษณะความเป็นผู้นำสตรีที่ดูจะต่างไปจากวิถีเดิม
“ช่วงที่ผ่านมานับว่าเป็นเรื่องดีที่เราเห็นบทบาทผู้นำหญิงมากยิ่งขึ้น แต่ฉันว่านี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องเพศ แต่คือความเป็นผู้นำที่มีรูปแบบหลากหลาย อาร์เดิร์นเองเคยเล่าว่า แต่ก่อนผู้คนมองว่าเธอไม่เหมาะกับความเป็นผู้นำ เพราะว่าดู ‘ซอฟต์’ เกินไป แต่เธอทำให้เห็นว่าผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องชี้นิ้วสั่งการก็ได้ ผู้นำนั้นอ่อนโยน รับฟังผู้อื่นก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องสั่ง หรือดุดันเท่านั้นในการเป็นผู้นำที่ดี นี่ไม่เกี่ยวกับความเป็นหญิงหรือชาย สุดท้ายมันก็กลับมาที่เรื่องความหลากหลายอีกนั่นแหละ”
ดร. ซาร่า เล่าถึงช่วงแรกที่เธอมาประจำการในประเทศไทย และบอกกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตว่า เธออยากให้ทุกคนรู้สึกเป็นกันเอง มีอะไรพูดคุยกันได้
“อาจมีส่วนจากครอบครัวด้วย ฉันโตมาในครอบครัวที่แม่มักถามลูกๆ เสมอว่าอยากทำอะไร แม้แต่จัดโต๊ะทานข้าว แม่ก็ถามว่าอยากจัดแบบไหน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะฉลาดตอบแม่ไปว่า ไม่อยากจัด ในทางตรงกันข้าม ยิ่งเราได้อิสระมา เรายิ่งต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้ดี”
ยิ่งคุยยิ่งดูเหมือนว่า ประวัติครอบครัวนักการทูต ประวัติการศึกษาด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี และภูมิหลังความเป็นแคนาเดียน ล้วนมีส่วนหล่อหลอมให้เธอพร้อมเป็นเอกอัครราชทูตแคนาดาคนใหม่ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน
เจ้าโมไม่อยู่แล้ว เมื่อเราล่ำลาออกจากบ้าน ถาม ดร. ซาร่า ว่าเธอมีแผนเฉลิมฉลองวันชาติที่ไหน แคนาเดียนทำอะไรกันในวันนี้ ซาร่าตอบว่า “ส่วนมากเราจะไปปิกนิกกัน” คำตอบง่ายๆ ตามสไตล์แคนาเดียนเช่นเคย แต่บทสนทนาครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่าแคนาเดียนไม่ได้มีแค่ความเฟรนด์ลี ไม่ได้มีดีแค่เมเปิลคุกกี้ และ จัสติน ทรูโด เลย