ปัง!
เสียงปืนสนั่นช่วงรุ่งสางกลางป่าดังมาจากบ้านพักภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในเช้าวันที่ 1 กันยายน 2533
“ไม่มีใครสนใจ เพราะในยุคนั้นเสียงปืนดังในป่าเป็นเสียงคุ้นเคยของคนทำงาน” บันทึกของอดีตพนักงานพิทักษ์ป่าผู้ทำงานใกล้ชิดกับ สืบ นาคะเสถียร ที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือรวมบทความ Talk of the Town 2014-2019 ของ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร คนปัจจุบัน ว่าไว้อย่างนั้น
แต่เสียงปืนนัดนี้ไม่ได้เงียบหายไปเหมือนเสียงปืนนัดอื่นๆ หากยังดังก้องสะท้อนต่อมาอีกหลายสิบปี กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกเล่าขานส่งต่อกันมา เรื่องราวการเสียสละอุทิศตนของชายคนหนึ่งที่ประกาศว่า “ขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้” จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายร่วมสานต่อเจตนารมณ์ของเขาต่อไป นับจากวันนั้นที่เสียงปืนดังสนั่นขึ้นกลางป่า เวลาก็ล่วงมาถึงสามสิบปี
เหตุใดการจากไปของชายที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร นี้ จึงสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างต่อเนื่อง
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรามุ่งทำกันมาตลอดมันแทรกซึมกลายเป็นเนื้อเป็นตัวคนทำงาน ไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรที่ไหน อยู่ที่ไหน สำนึกนี้มันจะอยู่กับเขาตลอด และต่อให้ไม่ใช่ผมที่อยู่ตรงนี้ ผมเชื่อว่าก็มีคนรุ่นอื่นๆ ที่พร้อมทั้งใจ ทั้งความสามารถที่จะมารับไม้ต่อไปได้ งานอนุรักษ์มันไม่ได้หยุดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง”
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เอ่ยขึ้น
วันที่ 1 กันยายน 2563 นี้ นับเป็นวันครบรอบสามสิบปีนับจากที่ สืบ นาคะเสถียร ได้จากไป แต่ชีวิตของเขาได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้เดินตามบนเส้นทางการทำงานอนุรักษ์มากมาย แม้จะมีหลายโครงการที่บรรลุผลสำเร็จไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายภารกิจให้ต้องสานต่อ อนาคตของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ต่อจากนี้จะไปเช่นไร ท่ามกลาง ‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง’ จะมีสิ่งใดที่เปลี่ยนไปหรือไม่ และจิตวิญญาณอะไรของความเป็นสืบ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่เปลี่ยนแปลง
จากที่ที่เรานั่งอยู่ สามารถมองเห็นร้านกาแฟชั้นล่างที่จำหน่ายกาแฟจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก และร้านขายของที่ระลึก ทั้งหนังสือ เป้ แก้วน้ำ หลอดไม้ไผ่ เปลผ้าใบแคมปิ้ง เสื้อยืดที่เขียนว่า ‘The Sixth Extinction’ ‘The Last Hero’ ‘ในนามของสัตว์ป่า’ ฯลฯ อันเป็นอีกช่องทางระดมทุนสำหรับการบริหารงานของมูลนิธิ
ติดตามความเป็นมาสามสิบปีของมูลนิธิเล็กๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้ สัตว์อนุรักษ์ หรือความยุติธรรมในสังคมนี้ กับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร คนปัจจุบัน และเส้นทางที่มูลนิธิมุ่งมั่นจะเดินต่อไป ไม่ว่าจะอีกกี่ปี ไม่ว่าจะในนามใครก็ตาม
ได้ข่าวว่าเมื่อต้นปี มูลนิธิได้วางแผนกิจกรรมสำหรับปีที่สามสิบไว้เยอะมาก แต่สถานการณ์ไม่คาดฝันของปีนี้ส่งผลต่อการทำงานบ้างไหม คุณยังได้เดินทางลงพื้นที่อยู่หรือเปล่า
เดินทางนะ แต่ไม่ได้เข้าป่า ผมเองเริ่มไปพื้นที่อื่นๆ ที่อยากทำบ้าง งานมูลนิธิ เจ้าหน้าที่เขารับผิดชอบกันได้อยู่แล้ว ช่วงนี้เลยลงทะเลมากกว่า
มันมีงานหนึ่งที่ผมสนใจมาแต่ไหนแต่ไร เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับมูลนิธิเลย เป็นความสนใจส่วนตัวตั้งแต่เรียนหนังสือ แล้วเราก็พบว่าประเทศไทยแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งผิดมาตลอด แต่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พอมีคนชวนให้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กรมทรัพยากรชายฝั่ง ก็ได้โอกาสมีส่วนร่วม
ความสนใจเรื่องทะเลของคุณ จะส่งผลให้มูลนิธิขยายขอบเขตงานจากป่าไปสู่ทะเลด้วยหรือเปล่า
ไม่ๆ งานมูลนิธินี่ผมแยกชัดเจน เรามีกรอบประเด็น มีตราสารของเรา คุณสืบแกพูดเรื่องป่าตะวันตก เราก็จะเน้นที่ป่าตะวันตก นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพ สวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า การดูแลป่าไม้ สัตว์ป่า เราพยายามจะไม่ไปยุ่งประเด็นอื่น
ค้านทุกเรื่องมันไม่มีพลังนะ คือโดยหลักการเราพร้อมเป็นแนวร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ทุกกลุ่ม มูลนิธิเราสืบทอดเจตนารมณ์คุณสืบว่าทำไมพี่สืบต้องฆ่าตัวตายที่ห้วยขาแข้ง อันนี้มันชัดเจนเลยว่า priority เราต้องอยู่ในพื้นที่นี้ เพราะมันมีความหลากหลายทางชีวภาพ มันเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า แต่มันไม่ได้เป็นป่าที่สวยงาม ไม่ได้มีน้ำตกสวย คือมันก็มีหลายพื้นที่ป่าให้อนุรักษ์นะ แต่ถ้าเราต้องทุ่มเทชีวิต ทรัพยากร แรงงาน เราก็ต้องมุ่งในพื้นที่ที่คุ้มค่าการอนุรักษ์ ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นมาเราก็ค้านไปหมด เราไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่สำคัญ แต่มันก็มีองค์กรอื่นๆ รับผิดชอบแบ่งหน้าที่กันไป ถ้าเราเลือกทำที่ไหน เราก็ต้องมุ่งทำที่นั่นให้มีพลัง
ฉะนั้น ตามตราสารมูลนิธิ เราต้องให้ความสำคัญกับป่าตะวันตกก่อน สอง คือพื้นที่ที่มีความสำคัญ เป็นพื้นที่พิเศษ พื้นที่ที่สัตว์ป่ากำลังจะสูญพันธุ์ เช่น ผมไปยุ่งกับปากบาราเยอะหน่อย เพราะว่าปากบารามันเป็นระบบนิเวศทางทะเล มันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่เล็กไปกว่าป่าตะวันตกเลย ถ้าเกิดความเสียหายมันจะส่งผลกระทบถึงกันหมด โดยใจความก็คือ เรามุ่งอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหลากหลาย ระบบนิเวศขนาดใหญ่ หรือพื้นที่เฉพาะ แต่เราไม่ได้รณรงค์เรื่องปลูกต้นไม้คนละต้น งดใช้พลาสติก เราเป็นแนวร่วมได้ แต่มันไม่ใช่ภารกิจหลักของเรา เราต้องชัดเจนว่าเป้าหมายเราคือรักษาป่าใหญ่ที่เป็นตราสารของมูลนิธิ
‘ตราสาร’ ของมูลนิธิในแง่หนึ่งก็เป็นพันธกิจที่ชัดเจน แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็จำกัดขอบเขตการทำงานของมูลนิธิหรือไม่
ผมว่ามันไม่มีองค์กรไหนที่มีทรัพยากรเหลือเฟือที่จะทำทุกอย่างได้ ยุทธศาสตร์ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์ หรือกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างก็ทำประเด็นของเขาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาครัฐเห็นว่ามันขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้ บางแห่งพยายามทำเรื่องป่าชุมชน เพื่อให้ภาครัฐออก พ.ร.บ. ป่าชุมชน อย่างมูลนิธิสืบฯ เองก็พยายามทำโมเดลในป่าตะวันตก จัดการป่าแบบมีวิชาการนำ มีการลาดตระเวน ทำงานไม่ขัดแย้งกับคนที่อยู่ในพื้นที่ สร้างพื้นที่รูปธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อที่รัฐจะได้เห็นว่ามันทำได้ มันก็ค่อยๆ เกิดกฎหมายให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ นี่ก็เป็นผลจากที่เราทำงานกันมา เอ็นจีโอไม่มีงบ ไม่มีเครื่องมือทางกฎหมาย เราเลยต้องขับเคลื่อนด้วยการสร้างรูปธรรม เพื่อไปสู่การเคลื่อนในเชิงนโยบาย
แต่ด้วยชื่อเสียงของมูลนิธิ หลายครั้งเวลาเกิดประเด็นใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ สัตว์ป่า นอกพื้นที่ทำงาน สังคมมักตั้งคำถามเมื่อมูลนิธิไม่ออกมาเคลื่อนไหว คัดค้านการทำงานของรัฐเลย คุณตอบคำถามสังคมในประเด็นนี้อย่างไร
ต้องทำใจบ้าง คือมันสืบเนื่องมาตั้งแต่เราเดินประท้วงแม่วงก์ ช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นก็มีคนค้านรัฐบาลเยอะ แต่ผมไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐบาลไหน นอกเสียจากว่าถ้าเขามายุ่งในเขตป่าตะวันตก นั่นถือว่าเป็นเรื่องที่มูลนิธิต้องจัดการ ฉะนั้น ในช่วงรัฐบาลทักษิณที่มีโครงการเยอะหน่อย ก็มีเรื่องที่ต้องหารือเยอะ แต่พอมาสมัยคุณสุรยุทธ์ ไม่มีโครงการอะไรมาก ก็เลยดูเหมือนไม่ได้ขัดกัน พอยุคคุณอภิสิทธิ์ก็มีโครงการเยอะอีก ก็ขยับอีกครั้ง เราชัดเจนว่าเราค้านประเด็นที่เป็นพันธกิจของเรา แต่บางครั้งสังคมต้องการให้เราค้านทุกเรื่อง ถ้าเราไม่ทำ หรืออธิบายว่ามันซับซ้อน เพราะมันซับซ้อนจริงๆ เขาก็ไม่พอใจบ้าง จนบางครั้งเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องงานอนุรักษ์แล้วที่เขาสนใจ แต่มันคือประเด็นการเมือง
บางครั้งก็ประหลาดใจคำต่อว่าของคนเหมือนกันนะ บางคนต่อว่าโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรมาบ้าง แต่คำวิจารณ์จากคนที่ไม่เข้าใจมันเล็กน้อยมากกับสิ่งที่เราทำ เราค้านมา 300 กว่าเหมือง หยุดการสร้างเขื่อนในป่ามาหลายเขื่อน หยุดโรงงานมลพิษมาไม่รู้เท่าไหร่ คัดค้านการทำถนน ทำเหมืองแร่ในป่า เปลี่ยนน้ำตกทีลอซูเป็นอุทยานแห่งชาติ จัดตั้งป่าชุมชน บางครั้งเราแทบต้องแลกชีวิตไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง อยู่ในพื้นที่กันดาร งานที่มูลนิธิทำมามันมหาศาล ถ้าให้พูดถึงงานของมูลนิธินี่ผมพูดได้ทั้งวันเลย ฉะนั้น คำพูดต่อว่ามันไม่ได้ทำให้เราบั่นทอน เพราะเขาไม่รู้จักเรา เขาไม่ได้เห็นสิ่งที่เราทำกันเลย
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความสนใจในการเมืองก็ทำให้สังคมหันมาสนใจประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสิ่งแวดล้อมเหมือนกันไม่ใช่หรือ
ถ้าเราเน้นประเด็นการเมืองเลย ก็คงมีคนสนใจเพิ่มขึ้นนะ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักของเราไง เราจะไปค้าน ไปพูดทุกเรื่องไม่ได้ เราชัดเจนว่าเป้าหมายเราอยู่ที่การรักษาป่า สมมติจะมีการตัดถนนเข้าป่า สิ่งที่เราจะทำไม่ใช่การออกมาด่า แต่คือการเก็บข้อมูล ทำรายงานผลกระทบ ทำข้อเสนอแนะทางเลือกให้ผู้มีอำนาจ ถ้าเขาไม่สนใจ เราก็ต้องจัดกิจกรรม จัดสัมมนาหาแนวร่วม หรือรณรงค์ ล็อบบี้ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้มันใช้พลังมากกว่าการออกมาด่านะกว่าจะหยุดโครงการได้ แต่เราทำเพื่อเปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจด้วยเครื่องมือทางกฎหมาย
แต่ผมว่าประเด็นหลักที่คนสนใจมันไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ยกเว้นเรื่องเสือดำ ซึ่งก็เป็นเพราะมันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างด้วย ลำพังถ้าเรื่องสัตว์ป่าอย่างเดียวมันไม่ได้ดึงความสนใจผู้คนขนาดนั้น
จริงๆ คนรุ่นใหม่ก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นเยอะ อาจเพราะเขาเป็นคนรุ่นที่เข้าถึงข้อมูล แต่ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าถ้าสิ่งแวดล้อมยังถูกทำลายต่อไป คนรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเห็นตึกเลย ไม่เคยเห็นธรรมชาติสวยงามเลย เขาจะยังสนใจสิ่งแวดล้อมอยู่ไหม
ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าเราก็ยังต้องสื่อสารมากขึ้นอีก เพราะขนาดตอนนี้คนเริ่มสนใจแล้ว มันก็ยังเป็นแค่ประเด็นรอง ไม่ใช่กระแสหลัก สื่อที่เคยมีโต๊ะสิ่งแวดล้อมก็ค่อยๆ หายไปแล้ว ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เพราะคนจะสนใจสิ่งแวดล้อมก็ต่อเมื่ออิ่มแล้ว
คิดว่าอะไรทำให้ตำนานคุณสืบยังเป็นที่กล่าวขานจนถึงวันนี้แม้เวลาจะผ่านไปสามสิบปี
มันอาจเป็นเรื่องเล่าที่ถูกผลิตซ้ำ มันอยู่ในบทเพลง อยู่ในการสื่อสาร ผมเคยรวบรวมเพลงที่เกี่ยวกับ สืบ นาคะเสถียร มีอยู่มากกว่า 50 เพลง และก็ยังมีงานศิลปะอื่นๆ ด้วย
แต่ที่ผมว่าสำคัญที่สุดคือ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา มูลนิธิเราทำงานตลอดนะ ไม่ว่าจะงานภาคสนาม หรืองานสื่อสาร เราเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำโซเชียลมีเดียด้านสิ่งแวดล้อม ทำอย่างสม่ำเสมอ ก็อยากจะให้คนติดตามเท่าสื่อหลักเหมือนกันนะ น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ แต่เรามีภารกิจการทำงานอื่นด้วยไง
ตำนาน นายสืบ นาคะเสถียร เมื่อสามสิบปีที่แล้ว จะยังสร้างแรงกระเพื่อมเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมได้อีกนานแค่ไหน
ก็มีคนไม่เห็นด้วยที่เราขายเสื้อหน้าคุณสืบเหมือนกันนะ มีคนทักมาว่าเมื่อไหร่จะเลิกหากินกับคนที่จากไปแล้วเสียที แต่มันก็ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองนะว่ามันจริงอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า ก็เป็นแรงผลักดันว่ามูลนิธิต้องมีบทบาท สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยคนทำงานที่ยังอยู่จริงๆ
เรามักพูดกันว่าชีวิตของสืบฯ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนรุ่นหลัง แล้วในวันที่ 1 กันยายน สามสิบปีที่แล้ว มันรุนแรง สั่นสะเทือนมากแค่ไหน บรรยากาศในสังคมช่วงนั้นเป็นอย่างไร
รุ่นผม เจนเอ็กซ์ มันเป็นรุ่นที่เติบโตกับการพัฒนา ประเทศเรายังด้อยพัฒนาสุดๆ อยู่เลย ออกค่ายไม่มีไฟฟ้า ข้าราชการเงินเดือนประมาณสองพันห้า ถนนหนทางมีแต่ลูกรัง บ้านผมอยู่แค่อยุธยาก็ยังมีแต่ทุ่งนาอยู่เลย อย่าว่าแต่สนใจสิ่งแวดล้อมเลย ตอนนั้นใครจะสร้างเขื่อนยังไง ที่ไหน ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขื่อนทำลายสิ่งแวดล้อม ผมเองเพิ่งจะรู้ว่าเขื่อนทำลายสิ่งแวดล้อมก็ตอนเมื่อคุณสืบช่วยชีวิตสัตว์ป่า แล้วมีสารคดีออกมา
แล้วข่าววันนั้นส่งผลต่อคุณอย่างไร มันทำให้คุณเปลี่ยนใจจากโลกธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขนาดใหญ่หรือไม่
ในปี 2532 ปีก่อนหน้าคุณสืบเสียชีวิต ข่าวห้วยขาแข้งได้รับสถานะเป็นมรดกโลกมันดังพอสมควร ตอนนั้นแกยังไม่ตาย แต่เขียนรายงานนำเสนอเสร็จแล้ว บังเอิญว่าผมไปลงสนามที่อุทัยธานี มีวันหยุดวันหนึ่ง อาจารย์ให้เลือกว่าจะไปเที่ยวไหน เพื่อนๆ บอกอยากไปเที่ยวแม่น้ำสะแกกรัง แต่ผมบอกว่า อยากไปห้วยขาแข้ง มันไม่ใกล้ด้วยนะ แต่อยากไปมาก อาจารย์บอกว่าไม่มีอะไรเลยนะ แต่ก็ยอมพาไปดู เขาขับรถพาเข้าไปใกล้ๆ แล้วถามว่าสบายใจหรือยัง ไปดูถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้ง แห้งๆ ไม่สวยเลย แต่เราอยากไป ตอนนั้นยังจำชื่อคุณสืบไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ชื่อนี้มันดึงดูดเราจังเลย ก็เข้าไปห้วยขาแข้งครั้งแรกด้วยความรู้สึกแบบนั้น
ช่วงก่อนหน้าคุณสืบเสียชีวิต ประมาณกลางปี 2533 นิตยสาร สารคดี พูดถึงผลกระทบของเขื่อน ด้านหลังมีบทสัมภาษณ์ที่คุณสืบให้สัมภาษณ์กับ อาจารย์สุรพล ดวงแข ผมอ่านแล้วรู้สึกอะไรบางอย่าง รู้สึกเข้าใจ ตอนนั้นอ่านแล้วอยากเป็นนักอนุรักษ์เลยนะ
ปรากฏว่าผ่านมาอีกสองสามเดือน ก็มีข่าวคุณสืบยิงตัวตาย เราก็ เฮ้ย ชื่อนี้คุ้นมากเลย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ห้วยขาแข้ง เราก็อ๋อ ที่อ่านสัมภาษณ์เรื่องเขื่อน มันเลยกลายเป็นว่า ทุกอย่างมันปะติดปะต่อกัน แต่เรียนจบก็ยังไม่มีเวทีอนุรักษ์ ไม่มีงานทำ พอดีมีคนชวนไปสอนวิศวะ วิชาสร้างเขื่อนทางธรณีวิทยา ผมก็ต้องไปสอนหนังสือ เรื่องระเบิดหิน ทำลายธรรมชาติทุกรูปแบบที่ใช้ในการก่อสร้าง
ตอนสอนหนังสือไม่ค้านความรู้สึกในใจหรือ
แต่ไหนแต่ไรเราสนใจงานสิ่งแวดล้อมมาตลอด แต่มันไม่มีเวทีให้ร่วม ตอนประเด็นเขื่อนน้ำโจนก็อยู่โรงเรียนต่างจังหวัด สอบเข้าจุฬาฯ ก็ไม่มีคณะวิชาสิ่งแวดล้อมโดยตรง มูลนิธิก็ไม่มี มันไม่ได้มีพื้นที่ให้แสดงออกเหมือนทุกวันนี้ ก็เลยเลือกเรียนธรณีวิทยา จะให้ไปเรียนชีววิทยาก็ไม่ไหว เราขี้สงสาร ไม่กล้าหักคอกบ หักคอหนู ดองปลา ฆ่าสัตว์ ก็เลยเลือกธรณีวิทยาเพราะคิดว่ามันใกล้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากที่สุด ไม่ได้คิดว่าจะไปทำเหมืองแร่ ไปหาน้ำมันอะไรเลย แค่อยากจะเดินป่า ใกล้ชิดธรรมชาติ ตอนนั้นเรามองแค่ว่าธรณีวิทยามันทำให้เราได้ศึกษาธรรมชาติ ได้เข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลต่างๆ ไปศึกษาชีวิตกับระบบนิเวศ ตอนเรียนเขาก็บอกให้เราอนุรักษ์นะ เรานึกในใจว่าอยากมากเลยอนุรักษ์ แต่โดยวิชาชีพแล้วมันทำได้เหรอ
ก็เป็นความขัดแย้งข้างในตัวผมตลอด พอมาเป็นอาจารย์เอง ก็ยังสอนไปด่าไป สอนนักศึกษา แล้วก็คุยเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อ คุยแบบรู้บ้างไม่รู้บ้าง เพราะผมเรียนจบก็ไปสอนเลย แต่อาศัยว่าเราเป็นเด็กกิจกรรม เคยลงสนามบ้าง มันก็พอเข้าใจ
สุดท้ายอะไรที่นำพามาสู่การทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบฯ ได้
สมัยเป็นอาจารย์ ผมทำกิจกรรมกับนักศึกษาเยอะ ทำชมรมพัฒนาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเอกชน ด้วยความที่เราอยากทำงานอนุรักษ์ มันก็ไม่ได้คึกคักอะไร แต่มันก็ทำให้เราได้รู้จักนักสิ่งแวดล้อม องค์กรต่างๆ เขาก็ชวนผมไปร่วมเวทีนั่นนี่ เช่น เวทีฝังกลบขยะมลพิษที่ระยอง เขาเห็นว่าเราเป็นนักธรณีวิทยา ขอให้ไปช่วยชุมชนหน่อย แล้วมันก็ค่อยๆ ไปเรื่องอื่น ไปเป็นเรื่องเหมืองคลิตี้ เพราะไม่มีเอ็นจีโอไหนที่เถียงสู้รัฐได้เลย ตอนนั้นเราเป็นนักวิชาการที่ไม่กลัวใคร อาศัยความเป็นอาจารย์ มีความรู้อยู่บ้าง แต่มีความสนใจ ก็เลยทำมาตลอด มีคนท้วงติงว่าทำแบบนี้ไม่ค้านกับวิชาชีพหรอ ทำไมถึงไปอยู่ฝ่ายค้านทรัพยากรธรณีวิทยา ทั้งๆ ที่เราเป็นอาจารย์
แล้วเลือกจุดยืนอย่างไร ระหว่างวิชาชีพนักธรณีวิทยา และความสนใจในงานอนุรักษ์
ผมอยู่กับชาวบ้านที่เราเห็นว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำ แล้วเขาไม่มีคนปกป้องสิทธิเขา เราก็ต้องอยู่ข้างเขา มันต้องมีคนอยู่ฝ่ายชาวบ้าน ตอนนั้นผมเอาสารตะกั่วที่หมู่บ้านคลิตี้ไปให้ลูกศิษย์ตรวจที่มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะมีลูกศิษย์ทำแล็บสิ่งแวดล้อม เอาผลมาต่อสู้จนในที่สุดเขาก็ปิดเหมืองไป แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น คือมันเกิดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาพอดี เขาตั้งอนุกรรมการตรวจสอบเหมืองแร่ที่ระเบิดหิน เราเป็นเด็กที่สุดในคณะนั้น แต่ความรู้เราไม่รองใคร ก็ทำอยู่ 6-7 ปี ทำคดีไป 300 กว่าเคส เลยเริ่มเป็นที่รู้จัก เขาเรียกกันว่านักวิชาการสีเขียว กลายเป็นตัวแสบในวิชาชีพ
มีอยู่ช่วงหนึ่งเข้าไปช่วยมูลนิธิที่ทำเรื่องคลิตี้ เขาเห็นผมขับรถตระเวนอยู่ เห็นผมเก็บข้อมูลร่วมกับลูกศิษย์ ไม่มีองค์กรรองรับ เขาเลยเสนอตัวจะช่วย จะขับรถ ซื้อเสบียงให้ด้วยเงินของเขาเองเลย คนคนนั้นก็คือคุณบอย (ภาณุเดช เกิดมะลิ – เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร) พอเราอยู่กับเขาสักพัก เขาก็บอกมูลนิธิว่าอาจารย์ศศินน่าสนใจ ลองไปชวนมาสิ คือช่วงนั้นมูลนิธิได้ทุนทำโครงการใหญ่แต่ขาดคนดูแล เขาเลยชวนผมเขามา ถามว่าพักจากการเป็นอาจารย์สักสี่ปีได้ไหม ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมได้ข้อเสนอให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานนักศึกษา เป็นช่วงเติบโตในโลกมหาวิทยาลัยพอดี
จากที่จะอยู่แค่สี่ปี ทำไมไปๆ มาๆ ยังอยู่จนทุกวันนี้
ในใจเรามีความขัดแย้งกับการสอนที่ต้องสร้างเขื่อนอยู่แล้ว ผมผลักดันมาแล้วหลายเรื่อง มันไม่ใช่ตัวเราในบทบาทนั้น พอเขาชวนก็ลาออกเลย คิดว่าสี่ปีค่อยว่ากันใหม่ แต่ก็รู้ใจตัวเองอยู่แล้วว่าจะเลือกทางไหน
มีคนบอกว่ามูลนิธิ ‘ทำงานให้พี่สืบ’ แต่เท่าที่ฟังแล้วทุกคนเข้ามาด้วยความสนใจในงานอนุรักษ์เป็นจุดตั้งต้นเสียมากกว่าเข้ามาเพราะตัวบุคคล
ก็ใช่ ยิ่งคนรุ่นหลังเขาห่างกับคุณสืบเยอะ มันก็ไม่ได้ผูกพันกับตัวบุคคลเท่าประเด็น ‘หม่อมเชน’ – ปริญญากร วรวรรณ เคยตั้งคำถามไว้ว่า ทำอย่างไรให้มูลนิธิสืบฯ เป็นที่ทำงานของนักอนุรักษ์ ก็เป็นโจทย์ที่น่าคิดต่อ เมื่อสิบกว่าปีก่อน นักอนุรักษ์เบอร์ใหญ่ๆ ต้องมารวมตัวกันที่นี่ เราเคยมีเลขาธิการชื่อ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่มันก็ไม่ได้มีแค่ชื่อคนใหญ่โตไง มันมีเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เป็นคนทำงานจริงๆ
มันก็มีคนที่เข้ามาด้วยความสนใจในงานอนุรักษ์เลย หรือบางคนก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณสืบนั่นแหละ แต่ผมว่าจุดประสงค์คนทำงานไม่ต่างกัน ยิ่งเรามีแผนงานเดียวกัน คิดด้วยกัน กำหนดวิสัยทัศน์ด้วยกันมาตลอด ไม่ว่ามูลนิธิจะอยู่ในมือใคร มันต้องไปต่อได้
‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง’ คือชื่อของกิจกรรมงานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ในปีนี้ ที่ดูจะมีคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมงานมากมาย และประเด็นยังดูไปไกลกว่างานด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย พูดถึงเรื่องระดับสากลอย่าง Climate Change นี่คือทิศทางใหม่ของมูลนิธิหลังปีที่สามสิบหรือไม่
ก็เป็นความตั้งใจที่อยากให้เป็นมูลนิธิของคนทุกยุคสมัย แต่เรียนตามตรงว่าถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้เราสะดุดครั้งใหญ่แน่นอน เพราะมูลนิธิเคลื่อนด้วยเงินบริจาค ปีนี้ว่าหนักแล้ว แต่เศรษฐกิจมันเผาจริงปีหน้า แล้วใครจะเอาเงินมาบริจาคให้เรา ต่างประเทศเองก็ไม่มีเงิน มันโดนหมดทั้งโลก
ยังดีที่วันนี้มูลนิธิมีความเป็นมืออาชีพ เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคน และคุณภานุเดช เลขาธิการ เขาลงมือลงแรงกันเต็มที่ ประธานอย่างผมไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่แล้ว เพราะทีมงานเขาดำเนินการกันเองได้หมดแล้ว เราพาตัวเองมาถึงขั้นที่เป็นองค์กรอนุรักษ์ไม่กี่แห่งที่มีฝ่ายวิชาการ มีฝ่ายระดมทุนที่เลี้ยงตัวเองได้ มีช่องทางจำหน่ายสินค้า มีเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ติดตามสถานการณ์ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง เรามีความพร้อมมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ มันท้าทายเรามาก
เรื่อง Climate Change ผมรู้สึกว่ามูลนิธิไม่ใช่องค์กรที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ด้วยองค์ความรู้ที่เราสั่งสมมามันไม่อยู่ในสเกลนั้น แต่มันต้องเป็นความร่วมมือของทุกคน ของทั้งโลก แต่ที่เรามาพูดเรื่องนี้ เพราะเราเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อม ที่พูดมาตลอดว่าเรากำลังจะเข้าสู่การสูญพันธ์ุครั้งที่หก ฉะนั้น แผนยุทธศาสตร์ที่เราใส่ลงไปในปีนี้ด้วยคือเรื่อง climate change เพื่อร่วมเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สื่อสาร เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย
เรากำลังเตรีมองค์ความรู้เพื่ออธิบายให้คนไทยได้ตื่นตัวไปพร้อมๆ กับโลก ให้เกิดพลังแบบเกรต้า เพื่อนำไปสู่รูปธรรม คือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีโลก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่เราจะเปลี่ยนได้คือเราต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน เราต้องการนักการเมือง ผู้นำที่เป็นตัวแทนความสนใจของผู้คนได้อย่างประธานาธิบดีของนิวซีแลนด์ หรือไอร์แลนด์ที่เป็นนักสิ่งแวดล้อมไปตัดสินใจแทนผู้คน ถ้าผู้นำทุกคนในโลก หรือเอาแค่ผู้นำของสหรัฐฯ กับจีนเป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมนี่การเปลี่ยนแปลงระดับโลกจะเกิดเลยนะ ถ้าคนมีอำนาจตัดสินใจเขาใส่ใจเรื่องนี้
หากเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ได้มองไหมว่ามูลนิธิสืบฯ จะเปลี่ยนไปเป็นอะไร
ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรามุ่งทำกันมาตลอดมันแทรกซึมกลายเป็นเนื้อเป็นตัวคนทำงาน ไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรที่ไหน อยู่ที่ไหน สำนึกนี้มันจะอยู่กับเขาตลอด และต่อให้ไม่ใช่ผมที่อยู่ตรงนี้ ผมเชื่อว่าก็มีคนรุ่นอื่นๆ ที่พร้อมทั้งใจ ทั้งความสามารถที่จะมารับไม้ต่อไปได้ งานอนุรักษ์มันไม่ได้หยุดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง
มีภารกิจอะไรไหมที่จะเสียดายหากไม่ได้ทำ
ยังไงก็เป็นเรื่องป่าตะวันตก เป็นเป้าหมายใหญ่ที่มูลนิธิพยายามเสนอป่าตะวันตกเป็นมรดกโลกมาโดยตลอด เหมือนกับครั้งที่คุณสืบผลักดันให้ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกก่อนยิงตัวตาย เราอยากพัฒนาให้มันยิ่งใหญ่เหมือนห้วยขาแข้ง ตอนนี้มันก็เกือบแล้วนะ เราทำงานเข้มข้นกับเจ้าหน้าที่มาหลายปี สนับสนุนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั่วประเทศ ผลักดันเชิงนโยบาย มีเด็กรุ่นใหม่เข้าไปเป็นหัวหน้า มีการทำ MOU กับกรมป่าไม้ ทำจนมีข้อเสนอเป็นรูปธรรมตามคุณสืบคือ กรมอุทยานไปเสนอมรดกโลกได้ ซึ่งถ้ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ไม่เป็นไร ผมไม่เสียดาย ถ้ามันมีความพร้อม เราฝากความคิด ฝากแนวทางไว้ มันจะมีทำต่อเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเราก็ได้
และผมเชื่อว่าทีมงานทุกคนเขามีเป้าหมายของเขาอยู่แล้ว อย่างน้องที่ทำกาแฟข้างล่างที่มาจากอุ้มผาง ถ้าไม่ใช่ที่นี่ เขาก็ยังตั้งใจปลูกกาแฟให้ชุมชนเขาต่อไป น้องที่เป็นกะเหรี่ยงที่ทำกองทุนผ้าทอ ก็เพิ่งเริ่มไปได้ในปีนี้ มันก็ยังมีทางไปต่อได้ ทีมงานทุกคนเป็นบุคลากรคุณภาพ เขามาด้วยความมุ่งมั่น ด้วยอุดมการณ์ มูลนิธิสืบฯ เป็นเหมือนโรงเรียนบ่มเพาะประสบการณ์ของนักอนุรักษ์ สิ่งที่ได้จากที่นี่ยังไงมันก็จะยังคงอยู่ติดตัวพวกเขา ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน ทำงานอะไรก็ตาม