ศศิน เฉลิมลาภ

ศศิน เฉลิมลาภ | จากเขื่อนแม่วงก์ถึงคดีเสือดำ โซเชียลมีเดียเปลี่ยนสังคมไทยไปมากแค่ไหน

‘เสือดำต้องไม่ตายฟรี’

เสียงสะท้อนก้องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่คดีล่าเสือดำดังเซ็งแซ่ในสังคมมาครบหนึ่งปี เป็นช่วงเวลาที่แสนท้าทายในการตั้งคำถามว่าระบบยุติธรรมแบบไทยๆ จะใช้ได้จริงกับบุคคลทุกระดับชั้นในสังคมได้หรือไม่ และในอีกไม่กี่วัน…

     19 มีนาคม 2562 คำพิพากษาในคดีนี้จะถูกแถลงไข จะมีผู้ได้รับผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่า ‘วัฒนธรรมลอยนวล’ ในประเทศไทยฝังรากลึกจนยากเกินแก้ไข ผลลัพธ์คงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องรอคอยและคาดเดา

     สำหรับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในมุมมองของผู้ที่พูดแทนสัตว์ป่า เขากลับไม่คาดหวังที่จะรอคำตอบจากกระบวนการยุติธรรม

     “ถามว่าลอยนวลจริงเหรอ สมมติว่าเขาไม่ติดคุก ผมว่าคุณเปรมชัยก็มีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนที่เข้าไปพร้อมคุณเปรมชัยก็มีชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผมว่าสังคมพัฒนามาถึงจุดที่ไม่ปล่อยให้มีการลอยนวลเกิดขึ้นอีกแล้วล่ะ ถึงจะลอยนวลในแง่กฎหมาย แต่มันถูกพิพากษาไปแล้วตั้งแต่วันนั้น แต่จะติดคุกหรือไม่ก็คงต้องรอกัน เราเข้าไปยุ่งไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว เหตุการณ์นี้ก็พิสูจน์ว่า ต่อไปถ้าผู้มีอิทธิพลอยากจะช่วยเหลือกัน มันก็จะยากขึ้น และถ้าอยากช่วย มันก็ต้องแลก”

     ในแง่ผลของคดีปล่อยให้มันเป็นไป ศศินชวนเราคุยถึงความน่าสนใจของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในโซเชียลมีเดีย และเสียงดังก้องของคนในสังคมว่าสิ่งนี้ต่างหากที่อาจเป็นความหวังของนักอนุรักษ์ในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ การถูกกดขี่ และวัฒนธรรมลอยนวลในประเทศไทย

 

ศศิน เฉลิมลาภ

 

พลังของ ‘เสียง’ ในโลกโซเชียล

     จากเขื่อนแม่วงก์ถึงคดีเสือดำ มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปในประเทศไทย

     “สังคมไทยแต่เดิมเป็นสังคมที่ยอมรับผู้มีอำนาจ ยอมรับคนมีตังค์ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ชาวบ้านเองก็ยอมรับคนที่มียศตำแหน่งว่าเป็นคนที่ให้คุณให้โทษกับคนได้ คนที่ไม่มีที่พึ่งก็จะไปพึ่งผู้มีอิทธิพล แต่ทีนี้พอบ้านเมืองเรามีการศึกษาขึ้นมาระดับหนึ่ง มีพลังของการใช้สื่อโซเชียลขึ้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งพาผู้มีอิทธิพลเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว กลายเป็นว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากให้ใครมีอภิสิทธิ์ในภาพใหญ่”

     ศศินฉายภาพของสังคมในมุมมองนักอนุรักษ์ให้เราฟัง เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่อาศัยพลังของโซเชียลมีเดียเพื่อต่อสู้กับวัฒนธรรมที่เชิดชูความเหลื่อมล้ำ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอิทธิพลของคนในสังคมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เทียบกับเมื่อก่อนที่เสียงของคนกลุ่มนี้ดังเพียงเฉพาะในวงแคบๆ เท่านั้น

     “เสียงของคนส่วนใหญ่ในสังคมมันทำให้คนภาคทำงานมีพลัง และไม่กล้าที่จะปล่อยปละละเลย ย้อนไปเทียบกับตอนที่ผมเดินต้านเขื่อนแม่วงก์ นั่นเป็นการใช้โซเชียลมีเดียครั้งแรกๆ เลยมั้งในการรณรงค์ เพราะก่อนหน้านั้นโซเชียลมีเดียมันยังไม่ได้มีพลังขนาดนี้ แม้ว่าจะมีเฟซบุ๊กแล้ว มีทวิตเตอร์แล้ว แต่ว่าคนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงโซเชียลมีเดียจากแล็ปท็อปอยู่เลย แล้วประชากรที่ใช้แล็ปท็อปตอนนั้นมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย แต่หลังจากปี 2556 สมาร์ตโฟนราคาเครื่องละสามสี่พัน แม่ค้าแม่ขายชาวบ้านก็เข้าถึงกันได้”

 

ศศิน เฉลิมลาภ

 

     “โซเชียลมีเดียกลายเป็นความหวังในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ อย่างวันนี้มีพี่น้องที่เขาต่อสู้เรื่องเขื่อนวังหีบ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมหรือคนทั่วประเทศก็พลอยได้ต่อสู้กับเขาไปด้วย ช่วยแชร์ ช่วยแสดงความคิดเห็นกับเขา ทั้งๆ ที่มันไกลจากพื้นที่ที่เรารู้จักมาก ถ้าไม่มีพลังจากสิ่งนี้ เขื่อนคงถูกกรมชลประทานเขาสร้างไปแล้ว”

     ศศินเล่าถึงอีกเหตุการณ์ที่ยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงที่ส่งไปถึงคนทำงานภาคสนาม และผู้ที่มีอำนาจจัดการปัญหาที่จะไม่กล้าปล่อยปละละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่อไป

     “ในโซเชียลมีเดียมีคนเสาะหาความจริงมากขึ้นจะตาย ยากที่จะลอยนวล อย่างหลังจากคดีคุณเปรมชัยไม่นาน ก็มีคณะปลัดอำเภอที่เข้าไปล่าหมีขอในอุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งการกระทำแบบนี้ในอดีตอาจจะเกิดขึ้นบ่อยแต่ไม่มีใครรู้ แต่พอมีคดีคุณเปรมชัย เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าที่จะปล่อยให้ลอยนวล หรือสมมติถ้ามีนายตำรวจสักคนจะช่วยคนผิดจริงๆ ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่ไว้วางใจ แต่ในขณะเดียวกันคนที่ตัดสินใจจะทำหน้าที่ติดตามความเป็นจริงอย่างแข็งแรงแข็งขัน ก็แลกมาด้วยความที่สังคมชื่นชม และทุกวันนี้มีสื่อออกมาพูดในทุกแง่ทุกมุมแล้ว บรรทัดฐานที่มีเริ่มเปลี่ยนไป”

     ฟังดูเหมือนเป็นเครื่องมือแห่งความหวังที่เข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ภายใต้ตัวอักษรที่ถูกพรมพิมพ์จากแป้นคีย์บอร์ด เขาก็บอกกับเราว่าคนไทยยังมีอีกหลายอย่างต้องเรียนรู้ และท้าทายกับการใช้โซเชียลมีเดียให้ถูกวิธี

 

ศศิน เฉลิมลาภ

 

ไม่ใช่แค่ ‘สะใจ’ แต่ต้อง ‘ใส่ใจ’

     เพราะความสะใจในความคิดของศศิน คือกับดักอันใหญ่ของโซเชียลมีเดีย

     “ความยากของโลกโซเชียลมีเดียวันนี้ คือคำถามที่ว่าการใช้สิ่งนี้ให้ถูกต้องคืออะไร เพราะทุกคนกำลังใช้คีย์บอร์ดพิพากษา โดยอาจมีรายละเอียดที่ผิด ผมถามว่าที่ผ่านมามีกี่คนที่รู้ขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย คนสนแค่ว่าคุณเปรมชัยจะติดคุกไหม คนที่ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นเสือดำที่ผ่านมา ผมว่ามีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือคนที่สนใจด้านงานอนุรักษ์ กับอีกส่วนที่เขาก็อาจจะไม่ได้ห่วงเรื่องเสือดำมากนักหรอก แต่เขาอยากพิสูจน์ว่าสังคมนี้มีอภิสิทธิ์ คนรวยจะได้เปรียบขนาดไหน ใครจะกล้าแตะไหม”

     ถามว่าในระดับของการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหาคนผิดให้ได้ความสะใจเพียงพอไหม ศศินกลับมองว่า เราควรจะเดินออกจากจุดนั้น และใช้เครื่องมือนี้ในการโฟกัสในจุดที่ละเอียดอ่อน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในอีกระดับหนึ่ง

     “ทุกวันนี้คนให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมกันก็จริง แต่ขั้นต่อไปคือการยกระดับนโยบายทางสิ่งแวดล้อม มองหาทางออก หรือหาคนที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหา ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ที่เรามีฝุ่นควันเต็มบ้านเต็มเมืองแบบนี้ สังคมกับสื่อรู้ไหมว่าใครหรือองค์กรไหนมีหน้าที่ต้องออกมารับผิดชอบ กทม. หรือกรมควบคุมมลพิษ แต่ที่ผ่านมาดีไม่ดีไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ”

 

ศศิน เฉลิมลาภ

 

     “อย่างเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ก็เหมือนกัน มีใครรู้บ้างว่าบางทีเขาเปลี่ยนตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้กันปีละคน มีสื่อไหนเอาสปอตไลต์ไปจับตรงนั้นบ้าง ผมได้ข่าวว่าเขามีผลประโยชน์เยอะเลยในการมาเป็นอธิบดีฯ มันมีช่องทางเยอะในการลอยนวลปล่อยปละละเลยคนทำผิด ทำไมเขาลอยนวล ก็เพราะว่าเขาไม่เป็นที่รู้จักไง ซึ่งถ้าเราไปโฟกัสว่าไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่งหัวหน้าป่าไม้ โฟกัสไปที่การทำอย่างไรให้อุทยานทุกที่อุดมสมบูรณ์มันก็น่าจะดี แต่นี่พลังในการลุกขึ้นมาพูดของเรายังเป็นเรื่องการทวงคืนพื้นที่ป่า ซึ่งผมคิดว่าวันนี้เราเลยจุดของการสร้างการตระหนักรู้มาแล้ว เรากำลังอยู่ในจุดของการหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน เราต้องมอนิเตอร์ไม่ให้ทุกฝ่ายลอยนวล ทั้งคนที่ทำผิด และคนที่มีหน้าที่ควบคุม ซึ่งสุดท้ายมันก็จะนำไปสู่การลดทอนปัญหาเหล่านี้ไปเอง”

     แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวคงต้องรอการบ่มเพาะให้สุกงอม และเวลาก็คงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสังคมเราจะก้าวไปถึงจุดในการใช้โซเชียลมีเดียแก้ปัญหา หรือติดอยู่ในวังวนของการวิ่งไล่จับว่าผู้มีอิทธิพลคนไหนจะลอยนวลเท่านั้นหรือไม่