เราเชื่อว่าการคิดอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน เป็นวิธีหนึ่งในการปรับทัศนคติของเราให้มองโลกได้ไม่ฉาบฉวยอย่างที่เป็นได้ดีขึ้น ซึ่งนักคิดนักเขียนหลายๆ คนก็มีหลักการแบบนี้อยู่ในตัว โดยเฉพาะกับ ฌอห์ณ จินดาโชติ เขาเคยพิสูจน์แนวความคิดนี้กับเรามาแล้วในหนังสือ ‘Present Perfect เพราะวันนี้… ดีที่สุดแล้ว’ เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน
เมื่อเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต และมองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวอย่างไม่ผิวเผิน เราก็จะเข้าใจกับสัจธรรมที่ว่าทุกอย่างมีขึ้นและมีลง โลกนี้ไม่ได้มีแต่สีสันที่สดใสเท่านั้น หากแต่ยังมีสีหม่นๆ อย่างสีเทาที่ค่อยๆ ไล่ระดับความเข้มไปจนเป็นสีดำอยู่ เพื่อช่วยสร้างองค์ประกอบให้การมองเห็นของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น
ช่วงสามปีที่ผ่านมาหลังจากที่เราเคยคุยกับเขาไปครั้งหนึ่งแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นของฌอห์ณก็ยังดำเนินต่อไป มีทั้งเรื่องสนุกที่ทำให้หัวเราะออกมาได้ดังๆ เรื่องเศร้าที่เขาต้องเผชิญ รวมถึงเรื่องเทาๆ ไม่ได้แย่แต่ก็ไม่ได้มีความสุขนักที่ต้องจัดการ แต่เราก็เชื่อว่าชายหนุ่มวัยสามสิบที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ เขาจะสามารถมองเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้ง และเข้าใจมันได้ดี เพราะเราเชื่อว่าวันคืนเปลี่ยนเรื่องเศร้าให้เป็นการเติบโต เหมือนกับที่เขากำลังจะบอกคุณในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า…
ถ้าเรามองทุกอย่างด้วยความละเอียดอ่อน และเข้าใจ สีเทาก็ไม่ใช่สีของความโศกเศร้าเสมอไป
เราติดตามผลงานของคุณ ทั้งการแสดงและงานเขียน คุณเคยเล่าว่าตอนเด็กๆ คุณพ่อจะปลูกฝังคุณให้อ่านหนังสือเป็นประจำ สิ่งนี้เป็นตัวช่วยให้คุณสร้างผลงานได้น่าสนใจและมีความลึกซึ้งขึ้นไหม
ช่วงงานสัปดาห์หนังสือของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่เราใช้เวลาด้วยกันเยอะที่สุด ตอนเด็กๆ จำได้ว่าผมอยากได้หนังสือเรื่อง Artemis Fowl มากๆ มันเป็นวรรณกรรมวัยรุ่นที่กำลังดังมากช่วงนั้น แต่คุณพ่อบอกว่า ขอได้ไหม ขอให้ผมลองทำตามที่เขาบอก คือให้อ่านหนังสือที่พ่อแนะนำสามเล่ม แล้วที่เหลืออีกสองเล่มจะอ่านอะไรก็ได้ ซึ่งทุกเล่มที่อ่านจบ ต้องมารายงานพ่อนะว่าบทสรุปของหนังสือนั้นคืออะไร ผมก็หยิบหนังสือง่ายๆ หมดเลย แล้วพ่อก็หยิบหนังสือพงศาวดารเขมร เป็นหนังสือที่อยู่ในซุ้มหนังสือมือสอง กระดาษเหลืองมากๆ แล้วก็เรื่องราวเกี่ยวกับสมัยเสียกรุงธนบุรี อาณาจักรเขมร สุโขทัย
ตอนนั้นผมงงมากเลย ถามตัวเองว่าจะอ่านรู้เรื่องไหม แต่นั่นคือชีวิตจริง คุณไม่สามารถเลือกเฉพาะสิ่งที่คุณต้องการได้ทั้งหมดหรอก บางทีก็จะมีสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้ ซึ่งมันอาจจะเหมาะก็ได้ ถ้าคุณได้ลอง ผมรู้สึกว่าตอนนั้นตัวเองได้เปิดมุมมอง เปิดโลกทัศน์ ยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น แล้วลองเปิดใจให้กับสิ่งที่คิดว่าไม่ชอบ ไม่ใช่ บางทีมันอาจจะใช่ก็ได้ พออ่านจบแล้วก็มารายงานคุณพ่อที่ห้องนอน ตั้งแต่นั้นมา ความคิดที่ว่าเราทำเฉพาะสิ่งที่อยากทำเท่านั้น อย่างเรื่องหนังสือ จะไม่อ่านในสิ่งที่ไม่อยากอ่าน มันก็เปลี่ยนแปลงไป เปิดความคิดตัวเอง เปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนที่หยิบหนังสืออะไรก็ได้ขึ้นมาอ่าน
จริงไหมที่พอเราอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไปมากๆ จะพบว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เรียนกันมา เชื่อกันมา อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง
ใช่เลยครับ พอโตขึ้นมา ผมพบว่าตรรกะนี้มีผลกับชีวิตมากขึ้น คือต้องตั้งคำถามและจับผิดเยอะขึ้น เหมือนคนที่เกิดมาในยุคที่มีเกมจับผิดภาพให้เล่น หยอดเหรียญลงไปสิบบาท แล้วมองรูปสองรูปเทียบกัน ใครจับผิดได้เยอะที่สุด คนนั้นกลายเป็นผู้ชนะ ผมถูกปลูกฝังอะไรบางอย่างมาแบบนั้น ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นสิ่งดีหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ก็จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ชอบตั้งคำถามกัน พยายามจับผิด จนลืมความเป็นจริงว่าบางอย่างต้องปล่อยเอาไว้บ้าง ให้อดีตมันสวยงามอย่างที่เคยเป็น
เวลาคุณไปเที่ยวเมียนมา ไปพระราชวังบุเรงนอง เขาก็จะพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยอีกแบบหนึ่ง เวลาคุณไปอยุธยาหรือไปสุพรรณบุรี เขาก็จะพูดถึงพม่าอีกแบบหนึ่ง แล้วความจริงคืออะไรอย่างนั้นเหรอ ความจริงคือ คนอยากเสพเฉพาะเรื่องที่เขาอยากฟังเท่านั้นแหละ เฉพาะเรื่องที่เขาอยากรู้ อยากเห็น ประวัติศาสตร์มีคนเขียนไว้มากมายจนแทบไม่ต้องการเขียนจารึกหรือแก้หน้าใหม่ เพราะถ้านับไปถึงประวัติศาสตร์เล่มเก่าๆ ที่มีมากมายแตกต่างกัน คนเรายังอ่านไม่จบเลย ทุกวันนี้ยังไม่มีใครหาคนฆ่า JFK ได้เลย หรือภารกิจมิชชัน Fly to the moon ของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องจริงหรือหลอก มีทฤษฎีมากมายเขียนไว้ให้คุณอ่าน ถึงคุณรู้ไปวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป
อยากถามเรื่องการทำงานเขียน โดยเฉพาะหนังสือเล่มแรกของคุณ (Present Perfect เพราะวันนี้… ดีที่สุดแล้ว) คุณเล่าถึงผู้คนมากมาย และเรื่องราวรอบตัวที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อยากรู้ว่าวิธีคิดแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากที่ไหน
เราทุกคนก็ต้องมีไอดอล ไอดอลที่ไม่มีในชีวิตจริง ก็เช่น ซูเปอร์แมน, ดาร์ธเวเดอร์ หรือ ลุค สกายวอล์กเกอร์ แต่ถ้าไอดอลที่มีชีวิตจริงๆ ซึ่งผมยังได้รับอิทธิพลจากเขาก็คือ คุณแม่ พี่พลอย คุณปู่ คุณพ่อ และหลานๆ คุณอาจจะงงว่าพวกหลานนี่นะเป็นไอดอลได้เหรอ คือจะบอกว่าหลานผมเป็นผ้าใบสีขาวที่สุด ที่เมื่อผมเห็นแล้วก็เอามาใช้เติมเต็มชีวิตได้ เพราะเด็กเขาไม่คิดเยอะ ไม่คิดเปรียบเทียบ ไม่คิดซับซ้อน ไม่คิดว่าชีวิตไม่มีความฝัน หลานของผมทุกวันนี้ยังคิดว่าตัวเองเป็นกัปตันอเมริกาอยู่เลย และเขาอยากเป็นหมอเพราะเขาชอบหมอเจี๊ยบ (ลลนา ก้องธรนินทร์) ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าเขาจะเป็นหมอได้จริงหรือเปล่า แต่เขามีความฝันมากกว่าคนรุ่นเราเยอะ จนผมถามตัวเองว่า เฮ้ย! เราอยู่ในโลกความจริงมากเกินไปหรือเปล่า จนเราลืมที่จะประคับประคองความฝันของตัวเอง
คนรุ่นเราก็เลยต้องการพวกไลฟ์โค้ชไง หนังสือแนวให้กำลังใจจึงขายดี
ผมคิดว่าไลฟ์โค้ชไม่มีจริง สิ่งที่จริงกว่านั้นคือการใช้ชีวิตของเราเอง สิ่งที่อยู่ในหัวของเราเอง อย่างคุณมาคุยกับผม แล้วอาจจะคิดว่า โอ้โฮ! คำนี้เท่มาก แต่ในความจริงคำนี้มันแค่ผ่านหัว ผ่านปากออกไปในช่วงเวลาที่ผมตอบ แต่ในชีวิตจริงทั้งหมดตลอดสามสิบปีของผม ผมพบว่าเราจะเอาประสบการณ์ของตัวเองมารวมเป็นคำโค้ชไม่ได้เลย เพราะว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตมาก ให้แบ่งสียังแบ่งไม่ถูกเลย เพราะชีวิตสำหรับผมคือภาพวาดผืนใหญ่ คุณจะตัดส่วนหนึ่งมาอธิบายทั้งหมดไม่ได้ คำโควตมันเป็นแค่อินสไปเรชัน คำที่โดนจุด หรือกระตุ้นต่อมในช่วงเวลานั้น หรือมันเป็นแรงบันดาลใจในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่สามารถอธิบายทั้งชีวิตของใครได้
ผมเคยคุยกับอาหนิง (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ผมบอกว่า ‘อาครับ อาเท่มาก ผมชอบอามาก’ เขาก็บอกว่า ‘อย่า! อย่าคิดว่าผมเท่ อย่าคิดว่าผมเจ๋ง คุณลองมาเป็นผม แล้วจึงจะรู้ว่าผมผ่านอะไรมาบ้าง ผมยังอธิบายไม่ได้เลยว่า ผมมาเป็นผมวันนี้ได้ยังไง มันเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ธรรมชาติสร้างสรรค์เราขึ้นมา’ ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจที่อาหนิงพูดเท่าไหร่ แต่จนวันนี้ผมเข้าใจแล้วว่าไม่ใช่แค่สิ่งที่สร้างเรามา
“
ชีวิตไม่ใช่แค่คำคมหนึ่งบรรทัดหรือสองพารากราฟ แต่คือทั้งหมด book of life ไม่มีทางเขียนได้จบจนกว่าคุณจะจบชีวิตลง
”
ชักอยากจะรู้แล้วว่าหนังสือที่คุณกำลังเขียนอยู่ และจะออกช่วงปีหน้า มันเกี่ยวกับเรื่องอะไร
การเขียนหนังสือเล่มที่สองกลายเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผม ผมใช้เวลานานมากว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำดี ตอนแรกตัดสินใจว่าจะวางมือแล้ว เพราะผมทำตามความฝันได้แล้ว ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจากเด็กรักการอ่านหนังสือ ก็อยากจะเขียนหนังสือสักเล่ม ผมไม่เคยรู้เลยว่าหนังสือหนึ่งเล่มจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอ่านได้ ผมไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่ห้างสรรพสินค้า เขามายืนจ้องหน้าผม ผมตกใจเลยว่าเขาจะทำอะไรหรือเปล่า สุดท้ายเขาเดินมากอด แล้วบอก ขอบคุณมากนะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ มันทำให้เขากลับไปคืนดีกับแม่ เราก็ เฮ้ย! ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำจะเกิดผลกระทบกับใจคนมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นหัวใจที่ดีพอ เราก็อยากทำอีก
ล่าสุดผมไปพบคุณปู่ ท่านเป็นโรคความจำเสื่อม เริ่มจำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว ท่านก็ถามอยู่นั่นแหละว่าผมเขียนหนังสือเสร็จแล้วยัง ผมบอกว่า เขียนเสร็จไปแล้วปู่ เสร็จไปสามปีแล้ว ปู่บอกว่า จำไม่ได้เลย ปู่ยังไม่เห็นเลย ผมก็บอกว่า นั่นไง วางอยู่บนหัวเตียงไง แต่ปู่บอก ไหนๆ ไม่เห็นจำได้เลย เราก็ อ้าว! แล้วจะให้ทำไงล่ะ ปู่ก็บอกผมว่า ก็เขียนใหม่สิ (หัวเราะ) ผมบอกว่า มันยากนะปู่ แต่ปู่กลับบอกผมว่า ‘ไม่มีอะไรยากหรอก ถ้าเรามีความตั้งใจ ไม่มีอะไรยากหรอก ถ้าเรามีเป้าหมาย’
ผมก็เลยคุยกับทางสำนักพิมพ์ a book ว่าผมจะเขียนหนังสืออีกครั้ง โดยใช้กิมมิกเกี่ยวกับคนวัยหนึ่งที่ทักษะในการอ่านเลือนราง คือคุณปู่ของผม กับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเพิ่งเรียนรู้ที่จะอ่านเขียน ก็คือหลานของผม ตัวผมอยู่ในช่องตรงกลางระหว่างคนหนึ่งกำลังจะจากไป ส่วนคนหนึ่งกำลังจะโตขึ้นมา คงดีไม่น้อยเลยที่ทำหนังสือให้กับสองกลุ่มนี้ที่อยู่เคียงข้างชีวิตผมได้อ่าน ซึ่งอาจจะเป็นเล่มสุดท้าย และอาจจะไม่ดีเท่าเล่มแรก หนังสือเล่มใหม่ของผมไม่ดาร์ก แต่ก็มันไม่ใช่ present perfect ที่เป็นท้องฟ้าสีฟ้าอีกต่อไปแล้ว มันจะเป็นสีเทา ซึ่งผมก็รู้สึกว่าสีเทามันก็สวยได้นะ อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน
เราอยากทำความเข้าใจชีวิตของคุณ จากสีฟ้าของท้องฟ้ากลายเป็นมาสีเทาของการเติบโต ในแต่ละขั้นตอนจนมาถึงวันนี้ คุณค้นพบตัวตนของตัวเองได้อย่างไร
ผมว่ามันเริ่มต้นจากการที่เห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เมื่อก่อนผมก็เป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ช่วงที่เพลงเคพ็อพหรือเจพ็อพมา ก็อยากจะไปทำผมตรงเหมือนเขา อยากหนีบผม อยากแต่งตัว ผมจำที่พี่พลอยบอกได้ว่า ‘เป็นคนอื่นมันเหนื่อยนะ ฌอห์ณ เป็นตัวเองนี่แหละดีที่สุด เป็นตัวเองที่เท่ยิ่งกว่า คือเป็นตัวเองให้คนจดจำ แล้วเป็นแรงบันดาลใจให้คนต่อไป’ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าก็คำคมอะไรวะเนี่ย (หัวเราะ) ก๊อบมาจากหนังสืออะไรหรือเปล่า
แต่พอผมอายุ 15 ก็รู้สึกว่าผมเหนื่อยที่จะต้องมานั่งทำผมตรง ใส่เสื้อกรุยกราย มีห่วง เต้นคัฟเวอร์ ผมจึงหันมาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีขาวกับดำ และพยายามเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน ไม่รังเกียจคุณค่าที่ตัวเองเป็น ไม่รังเกียจที่ตัวเองอ้วนหรือผอม ไม่รังเกียจที่ตัวเองขาวหรือดำ เพราะถ้าคุณรังเกียจตัวเอง นั่นคือคุณรังเกียจคนที่สร้างคุณมา นั่นคือดีเอ็นเอของคุณ ผิวสีนี้จะขาวไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าคุณภูมิใจ คุณจะเพิ่มมูลค่าของความภาคภูมิใจโดยการทำอะไรบางอย่าง ผมเกิดมาร้องเพลงไม่เป็น เล่นดนตรีไม่ได้ แต่พระเจ้าให้ผมชอบถ่ายรูป ชอบเขียน ชอบเล่าเรื่อง ชอบที่จะดูผู้คน ชอบที่จะฟังเรื่องราว เขาให้มาสามสิ่งนี้ แล้วเขาคงบอกว่าลองเอาไปทำให้มันเป็นประโยชน์ สุดท้ายก็มีคนมาบอกว่า ‘เฮ้ย! เขียนดีจัง เขียนอะไรที่มีประโยชน์’
แน่นอนอาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่คุณเป็น ยิ่งคุณแตกต่างมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสวนทางกับสังคมมากขึ้นไปเท่านั้น แต่ขอให้ระลึกไว้ว่าตราบใดที่คุณทำในสิ่งที่ดี ทำไปเถอะ กระแสสังคมไม่อาจต้านทานได้หรอก เพราะเจตนาของคุณแรงกว่า รักตัวเองครับ รักความคิดของตัวเอง และภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เขาถึงบอกว่าให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ถ้าเรารักตัวเองพอเราก็จะยิ่งหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนอื่น แล้วทุกคนก็จะเท่ากัน