ในแวดวงของคนทำงานนิตยสาร พ.ศ. นี้ ต้องยอมรับว่า ‘ทิวา สาระจูฑะ’ คือหนึ่งในเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์อิสระ และบรรณาธิการบริหารสุดแกร่ง ผู้ยืนหยัดนำพานิตยสาร ‘สีสัน’ มาจนก้าวสู่ปีที่ 33
ตลอดกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา สีสันวางแผงอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจาก digital disruption และแน่นอน – ท่ามกลางการล้มหายตายจากมากมายของนิตยสารอื่นๆ ที่ร่วมสมรภูมิสิ่งพิมพ์
หากไม่ใช่ด้วยใจ ‘รักในสิ่งที่ทำ’ เราก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขายังคง ‘ทำในสิ่งที่รัก’ จนถึงทุกวันนี้
ระหว่างที่เราเดินไปยังสถานที่นัดหมาย — ร้านโอลด์เล้ง ที่ยืนหยัดผ่านยุคสมัยคู่กับย่านบันเทิง RCA มายาวนาน มีคำถามมากมายอัดแน่นในหัวที่อยากพูดคุยกับ ทิวา สาระจูฑะ หรือ ‘น้าทิวา’ ที่คนเรียกขานกันติดปาก ไม่ว่าการที่เขานำพานิตยสารสีสันฝ่าคลื่นลมมาได้ยาวนาน อะไรที่ทำให้เขายังคงเชื่อมั่นและทำได้ในยุคที่สื่อหรือแทบทุกสิ่งอย่างต่างผันตัวไปสู่โลกดิจิทัล รวมถึงมุมมองของเขาต่อธุรกิจดนตรีที่ยามนี้ก็ประสบความยากลำบากไม่แพ้กัน ฯลฯ
หรือแม้แต่คำถามที่เรานึกสงสัยว่า คนทำนิตยสารด้านศิลปะต่างๆ โดยเฉพาะแวดวงดนตรีที่เขาคลุกคลีมาโดยตลอด เขาหายใจเข้าออกเป็นการฟังเพลงแค่ไหน
“กลับบ้านผมก็ไม่ฟังอะไรแล้ว ฟังแค่ที่ทำงานก็พอ ขืนไปฟังต่อที่บ้านอีกก็จะเป็นบ้าตายพอดี” น้าทิวาตอบกลั้วเสียงหัวเราะ “เพราะการทำงานของผมมันต้องจริงจัง เลิกงานก็ต้องหาวิธีผ่อนคลายตัวเองไป เวลาผมแชร์อะไรไปในเฟซบุ๊ก คนจะมองว่าน้าทิวาเป็นคนตลก แต่มึงไม่รู้หรอก จริงๆ แล้วกูเครียดจะตายห่าอยู่แล้ว (หัวเราะ) สองปีที่ผ่านมาเงินไม่เข้ามาเลยนะ อย่างสองสามวันที่ผ่านมาผมดูแต่คลิปรวมฉากบู๊จากหนังเรื่องต่างๆ ในยูทูบ ดูไปก็บันเทิงกันไป ดูจบแล้วก็นอนหลับสบาย (หัวเราะ) ชีวิตก็แค่นี้แหละ” ปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะเฮฮา
แต่จะบอกว่า ‘แค่นี้’ ก็คงไม่ใช่แน่นอน สำหรับชีวิตของ ทิวา สาระจูฑะ ที่ผ่านท่วงทำนองเพลงที่หลากหลายรายล้อมมามากมาย และฝ่าคลื่นลมมาได้จนถึงทุกวันนี้
ในยุคของ Digital Disruption รวมทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อวิธีดำเนินธุรกิจแทบทุกอย่าง รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ที่ล้มหายตายจากไปเกือบหมด อยากรู้ว่าคุณปรับตัวอย่างไรที่ทำให้นิตยสาร ‘สีสัน’ อยู่ยาวมาถึง 32 ปี และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 33
บอกตามตรงผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหยุดทำเมื่อไหร่ เพราะสถานการณ์ที่เป็นแบบนี้นี่แหละ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังทำได้ก็ทำไปก่อน เพราะเป็นสิ่งที่เรารัก และเรายังมีพรรคพวกที่ช่วยอุปถัมภ์สนับสนุนอยู่ และสิ่งที่เราทำก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคม จริงๆ ผมอยากให้คนที่มีเงินเยอะๆ ที่อยู่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังคงสนับสนุนสิ่งพิมพ์ต่อไป แต่เขาก็ไม่คิดแบบเราไง เมื่อเขาได้กำไรน้อยลงเขาก็ไม่ทำต่อแล้ว เขาก็ไปมองหาธุรกิจอื่นทำ แต่เราคิดว่าการลดยอดพิมพ์ลงจากที่เคยพิมพ์ครั้งละเป็นหมื่นเล่มให้เหลือจำนวนไม่กี่พัน เป็นสิ่งที่น่าจะช่วยได้ ซึ่งแนวคิดนี้หากคนที่มีเงินมองในทิศทางแบบเดียวกัน ช่วยๆ กัน ผมคิดว่ายังไงก็ไปต่อกันได้ แต่ในเมื่อเขาไม่เอา เราก็ทำของเราต่อไป เป็นหนี้มากๆ เข้าเมื่อไรก็ค่อยเลิกทำ (หัวเราะ)
รายได้จากสิ่งพิมพ์ไม่ได้อยู่ที่ยอดขายเพียงอย่างเดียวมาแต่ไหนแต่ไร เป็นที่รู้กันอยู่ว่าต้องอาศัยยอดจากโฆษณาในนิตยสาร ทุกวันนี้ สีสัน หารายได้เพื่อไปต่ออย่างไร
เรามีโฆษณาที่น้อยลงมาก เพราะว่าตอนนี้ทุกคนทำสื่อทางออนไลน์กันหมด บริษัทหรือแบรนด์สินค้าต่างก็มีเว็บไซต์ของตัวเอง มีช่องทางโฆษณาของตัวเอง แต่การทำออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องสบาย แม้แต่คนที่ทำเว็บไซต์ข่าวก็ลำบาก เพราะเมื่อก่อนเวลาโฆษณาลงในนิตยสาร หนึ่งหน้าก็ราคาสองสามหมื่นบาทแล้ว แต่วันนี้เงินสามหมื่นบาทสามารถซื้อโฆษณาลงออนไลน์ได้เป็นสิบชิ้น รายได้ก็ย่อมน้อยลง
การที่ สีสัน อยู่มาได้ถึงวันนี้ นอกจากที่เพื่อนๆ ยังช่วยเราอยู่บางส่วนแล้ว ก็เกิดจากการที่เรายืดหยุ่นตลอดเวลา ถ้าเล่มไหนที่มีโฆษณาเข้ามาดี เราก็ลดยอดพิมพ์ลงนิดหน่อยเพื่อให้ส่วนต่างของกำไรเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเล่มไหนไม่มีโฆษณาเราก็ต้องหาปกดีๆ แล้วเพิ่มยอดพิมพ์ และพยายามเซฟต้นทุนทุกอย่าง
ปกติสีสันจะมีหน้าสีเฉพาะในส่วนของโฆษณา แต่พอช่วงต้นปี 2000 นิดๆ นิตยสารต่างประเทศเริ่มกลับมาทำขาวดำทั้งเล่ม กลายเป็นว่าเราได้ข้อดีตรงนี้ที่เข้ากับเทรนด์นิตยสารต่างประเทศไปเสียอย่างนั้น แต่ก็บอกเลยว่าเหนื่อย ผมต้องทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น ทำหนังสือรวมเล่มงานเขียนของตัวเองและงานอื่นๆ
สีสัน เป็นนิตยสารศิลปะบันเทิงฉบับแรกๆ ของไทยที่มีการทำเว็บไซต์ของตัวเอง แต่คุณก็ยังเลือกทำนิตยสารเป็นหลัก ทำไมไม่เลือกทำสื่อออนไลน์อย่างจริงจังไปเลย
ตอนนั้นเราทำเว็บไซต์ได้สักพักก็รู้สึกว่ามันไม่เกิดประโยชน์ จนผ่านไปประมาณสิบกว่าปีเราก็กลับมาทำต่อ แต่ก็หยุดทำอีก ยิ่งต่อมาทุกคนก็ทำเว็บไซต์กันหมด ก็เลยไม่รู้ว่าจะหารายได้จากออนไลน์ทางไหน
แต่การทำสื่อออนไลน์ก็น่าจะประหยัดกว่า และลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
มันประหยัดกว่าก็จริง แต่เราจะเอาเงินจริงจากการขายโฆษณามาได้อย่างไร แต่ไม่แน่หรอก ผมอาจจะกลับมาทำตรงนี้อีกครั้งก็ได้ แต่เป็นการทำเพื่อเอื้อเฟื้อพื้นที่โฆษณาให้กับลูกค้าของเรา ซึ่งถ้าทำผมจะเน้นที่จุดประสงค์นี้มากกว่าที่จะหวังว่าเป็นสื่อให้คนเข้ามาอ่านคอนเทนต์หรือทำแมกาซีน ออนไลน์เพราะผมมองว่าอย่างไรก็ไม่เวิร์ก เพราะคนที่เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กเขาจะอ่านอะไรที่สั้นลงมากๆ ดังนั้น ทุกวันนี้แมกาซีนออนไลน์ในมุมมองของผมอย่างไรก็ยังไม่เวิร์กอยู่ดี
“ถึงเราจะเคยทำงานในหนังสือที่เป็นสเกลใหญ่ มีรายรับ-รายจ่ายหลักล้านต่อเดือนมาแล้ว มีทีมงานเยอะแยะ ถึงเวลามาทำเองก็ต้องลดขนาดลง ทีมงานทุกคนช่วยกันทำงานในหน้าที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น คนที่สัมภาษณ์ได้ก็ต้องถ่ายรูปได้ด้วย บางคนก็ต้องออกงานได้ ทำอาร์ตเวิร์กได้บ้าง ทำบัญชีได้ ทุกคนช่วยกันทำงานและอยู่กันด้วยความไว้วางใจ”
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมา โลกของเราประสบปัญหาโควิด-19 กันอย่างหนักหน่วง นิตยสารหลายฉบับพากันปิดตัว ในช่วงนั้น สีสัน บาดเจ็บแค่ไหน คุณประคับประคองธุรกิจให้รอดได้อย่างไร
ผมก็หยุดพิมพ์ไปเลยสิ (หัวเราะ) เพราะเราต้องล็อกดาวน์กันทั้งประเทศ เราก็หยุดพิมพ์ไปสองเดือน เพราะหนังสือเราวางแผงไม่ได้ ทุกที่เขาปิดกันหมด ช่วงนั้นเราก็หาอย่างอื่นทำ เช่น รวมงานเขียนของตัวเองขาย หรือทำอะไรอย่างอื่นไปก่อน ต้องช่วยเหลือตัวเอง ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่รอด
จนทุกวันนี้ปัญหาโควิด-19 ก็ยังมีอยู่ คุณถือว่าเป็นช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดในชีวิตการทำงานเลยไหม
ไม่หรอก ผมเคยผ่านช่วงมรสุมมาแล้ว แต่ตอนนี้ผมก็รู้สึกเหมือนทุกๆ คนที่คงรู้สึกเหมือนกันว่า ชีวิตตอนนี้มันหนักหนาสาหัส เพียงแต่ผมเจอเรื่องแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว เช่น ตอนปี 2534 เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย กระดาษก็พากันขึ้นราคา แต่โชคดีที่เราเก็บเงินจากกำไรที่ได้จากตอนทำยอดขายที่ดีไว้ ก็เลยช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ พอมาเจอวิกฤต้มยำกุ้ง (วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540) ตอนนั้นก็หนักเหมือนกัน แต่ก็ยังพอเลี้ยงตัวเองได้
เวลาเจอปัญหาผมก็ต้องหาทางคิดต่อว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องปรับตัวเองให้เป็นเหมือนกองโจรเล็กๆ ไม่ใช่กองทัพ ถึงเราจะเคยทำงานในหนังสือที่เป็นสเกลใหญ่ มีรายรับ-รายจ่ายหลักล้านต่อเดือนมาแล้ว มีทีมงานเยอะแยะ ถึงเวลามาทำเองก็ต้องลดขนาดลง ทีมงานทุกคนช่วยกันทำงานในหน้าที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น คนที่สัมภาษณ์ได้ก็ต้องถ่ายรูปได้ด้วย บางคนก็ต้องออกงานได้ ทำอาร์ตเวิร์กได้บ้าง ทำบัญชีได้ ทุกคนช่วยกันทำงานและอยู่กันด้วยความไว้วางใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตทำให้เราเริ่มปรับตัวให้ยืดหยุ่นก็ว่าได้ เช่น ช่วงนี้ไม่ค่อยดี ลดยอดพิมพ์ลงดีกว่า และคนอ่านก็คงประสบปัญหาทางการเงินเหมือนกัน ข้อดีอยู่ตรงที่หนังสือของเรามีราคาไม่แพง จึงไม่ต้องลดยอดพิมพ์ลงมาก จากนั้นก็ทำระบบสมาชิกขึ้นมา ก็ช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นมาได้
การเผชิญวิกฤตหนักๆ มาหลายรอบ สร้างความหวาดผวาให้กับคุณบ้างหรือเปล่า
ไม่มีอะไรส่งผลกับผมได้เป็นพิเศษ เพียงแต่อาจจะมีสิ่งเดียวที่คิดในตอนนั้นคือ มันทำให้เรามีเหตุผลตอบตัวเองว่า เพราะอะไรถึงไม่ขยายไปทำอะไรให้มากมาย เพราะเราไม่ได้เป็นคนชำนาญเรื่องการทำธุรกิจ กลัวว่าพอขยายไปแล้วทำพลาดขึ้นมาจะพังได้ ผมมองตัวเองเหมือนกับผู้หญิงที่กำลังอุ้มท้อง ถ้าตัวคนเป็นแม่ไม่แข็งแรงลูกอาจจะแท้งได้ ดีไม่ดีอาจจะพาแม่เสียชีวิตไปด้วย ดังนั้น ผมจึงเน้นไปที่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่า เช่น จัดคอนเสิร์ตสีสันอะคูสติกไลฟ์ นำรายได้มอบให้กับการกุศล หรือทำสีสันอะวอร์ดส์ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ส่งผลประโยชน์อะไรกับนิตยสารเท่าไหร่หรอกนะ (หัวเราะ) แต่มันเป็นประโยชน์กับวงการดนตรีในบ้านเรา ซึ่งทำให้เราทำมาอย่างต่อเนื่อง
ทุกวันนี้นักดนตรีหรือศิลปินเพลงต่างๆ ก็เป็นอีกอาชีพที่ลำบากแสนสาหัส ในฐานะที่ สีสัน เป็นนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวในแวดวงนี้ และมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด คุณช่วยสนับสนุนพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
เราเป็นคนแรกที่ออกมาเขียนเรื่องให้นักดนตรีมารวมตัวกันเป็นสหภาพ โดยอ้างอิงจากที่ต่างประเทศเขาใช้วิธีนี้แก้ปัญหาคล้ายๆ กันนี้ได้อย่างไร เช่น แสดงสดออกอากาศทางออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งตอนหลังก็เห็นมีคนทำกันเยอะ เพราะยิ่งถ้าปัญหานี้เกิดขึ้นกับศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ด้วยแล้ว เวลาเขามีปัญหาก็จะเป็นเงินก้อนใหญ่ เพราะเขาต้องเลี้ยงดูคนเยอะ ผมก็พยายามเขียนบทความเพื่อให้พวกเขาหาวิธีการต่อยอดกัน แต่ถ้าจะให้ผมกระโดดไปเป็นตัวแทนเพื่อต่อสู้ให้ก็คงไม่สามารถ ซึ่งบทความนั้นก็ได้การตอบรับที่ดี มีคนเข้ามาอ่านเป็นพันๆ คน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนไปได้แค่ไหน แต่ก็มีคนสองกลุ่มใหญ่ๆ ที่ออกมาทำเรื่องนี้ซึ่งก็ได้ผลที่ดี เขาก็บอกว่าเอาสิ่งที่ผมเขียนนั้นไปคิดและใช้ต่อ เพราะเมื่อสถานประกอบการถูกสั่งปิด พวกเขาก็ต้องหาอย่างอื่นทำ
คุณมองว่าพลังของดนตรีที่มีต่อสังคมวันนี้อ่อนแรงลงไหม หากเทียบกับยุคก่อนที่มีวงดนตรีหลายวงออกมาขับเคลื่อนความคิดบางแง่มุมของผู้คนได้ เช่น วงคาราวาน คาราบาว คนด่านเกวียน หรือวงดนตรีเพื่อชีวิตอื่นๆ ในอดีต
ทุกวันนี้คนดนตรีไม่ได้รวมตัวกันเป็นมวลหรือกลุ่มก้อนที่ชัดเจน เพราะเมื่อโลกออนไลน์เกิดขึ้น วันนี้ศิลปินไทยที่ทำอัลบั้มเป็นหลักยังแทบไม่มี และตอนนี้ใครก็สามารถเป็นศิลปินได้ ทุกอย่างเลยกระจัดกระจาย เพลงก็มีปล่อยออกมาทุกวันเยอะแยะมากมาย ต่างจากเมื่อก่อนที่ใครปล่อยเพลงออกมา เราจะรู้เลยว่าเพลงของใคร ทำให้ตอนนี้คนฟังเพลงก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องติดตามใครจริงๆ เขาก็ตามศิลปินคนนั้นแบบเป็นเพลงๆ ไป
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นไปได้คือ สมัยก่อนศิลปินเขามีเวลาคิด เพราะคนสมัยก่อนไม่ว่าทำงานศิลปะแขนงใดก็ตาม จะมีความเนี้ยบกว่าตอนนี้ เพราะเขามีเวลาให้คิด แต่ตอนนี้ผู้คนเร่งร้อน พลุ่งพล่าน สมาธิในการทำงานหรือความละเมียดละไมก็ลดน้อยลง แต่ผมก็เชื่อว่าตอนนี้เรากำลังกลับไปเป็นเหมือนอดีต นั่นคือ นักดนตรีต้องมีฝีมือถึงจะเล่นสดหรือหากินได้ เพราะตอนนี้ขายแต่เพลงอย่างเดียวก็ลำบากแล้ว
“เราอยากทำนิตยสารที่มีเนื้อหาของศิลปะและบันเทิง เน้นที่บทวิจารณ์ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำหรือกล้าวิจารณ์ผลงานใครตรงๆ และบทสัมภาษณ์ของเราจะไม่มีการถามเรื่องส่วนตัว บทสัมภาษณ์ของนิตยสาร สีสัน จะเน้นเรื่องงาน เรื่องความคิด ตอนแรกเราก็คิดเหมือนกันว่าคงจะอ่านยากหรือหนักเกินไปสำหรับคนไทยทั่วๆ ไปหรือเปล่า แต่ผมมั่นใจว่าคงไม่ได้มีคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันแค่คนเดียวหรอก”
มีช่วงหนึ่งในอดีตที่ศิลปินซึ่งเป็นนักร้องที่ไม่ค่อยมีฝีมือเท่าไรมาออกอัลบั้ม แต่เขาก็สามารถโด่งดังได้เพราะมีทีมงานที่เก่งอยู่เบื้องหลัง เขาไม่จำเป็นต้องออกคอนเสิร์ต หรือเวลาไปร้องเพลงก็ใช้วิธีลิปซิงก์เอา แต่ตอนนี้วงการดนตรีไทยกลับไปหาคนที่เป็นตัวจริงกันแล้ว ถ้าคุณไม่มีฝีมือจริงๆ คุณก็ไม่มีรายได้ เพราะเพลงไม่สามารถขายได้เหมือนเดิม ดังนั้น จะเห็นว่าวงดนตรีตามต่างจังหวัดที่เก่งๆ เขามีงานเยอะ เพราะมีการบอกต่อแบบปากต่อปาก มีคนเชื่อถือ ลองไปดูวงดนตรีจากเชียงใหม่หรือทางอีสาน เป็นต้น
ในยุคหนึ่งที่ค่ายเพลงนิยมให้ดารามาออกอัลบั้มเพลง ซึ่งก็มีทั้งคนที่ทำได้ดีและคนที่ทำออกมาแล้วไม่เวิร์ก ในฐานะคนฟังเพลงจริงจัง คุณมีความสุขกับการฟังเพลงช่วงนั้นไหม
ก็ไปฟังแต่เพลงสากล (หัวเราะ) สมัยนี้ยังดีกว่าสมัยก่อนนะ เพราะเดี๋ยวนี้เขามีโปรแกรม auto tune มาช่วยให้ร้องเพลงออกมาแล้วไม่เพี้ยน ยุคที่ดาราออกอัลบั้มหรือออกเทปน่ะ เขาขายภาพลักษณ์ ขายพลังดารา บางคนหายใจออกมายังเพี้ยนเลย เราก็ต้องเลือกฟังหน่อย ตอนนั้นผมก็ฟังแต่เพลงสากลเป็นหลักเลย (หัวเราะ)
วันที่คุณตัดสินใจทำนิตยสาร สีสัน ขึ้นมา วงการดนตรีในบ้านเราตอนนั้นเข้มข้นแค่ไหน และอะไรที่ทำให้คุณคิดว่านิตยสารแนวนี้จะมีความยั่งยืนได้
ตอนที่เริ่มทำผมไม่ได้มองที่วงการดนตรีเป็นหลัก แต่มองที่ไอเดียของตัวเองเป็นหลัก เราอยากทำนิตยสารที่มีเนื้อหาของศิลปะและบันเทิง เน้นที่บทวิจารณ์ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำหรือกล้าวิจารณ์ผลงานใครตรงๆ และบทสัมภาษณ์ของเราจะไม่มีการถามเรื่องส่วนตัว บทสัมภาษณ์ของนิตยสาร สีสัน จะเน้นเรื่องงาน เรื่องความคิด ตอนแรกเราก็คิดเหมือนกันว่าคงจะอ่านยากหรือหนักเกินไปสำหรับคนไทยทั่วๆ ไปหรือเปล่า แต่ผมมั่นใจว่าคงไม่ได้มีคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันแค่คนเดียวหรอก ซึ่งก็จริง เพราะมีคนที่ติดตามและซื้อนิตยสาร สีสัน เพราะชอบในสิ่งที่เราทำเหมือนกัน
พูดถึงนิตยสารสีสันแล้วก็จะไม่พูดถึงรางวัล ‘สีสันอะวอร์ดส์’ คงไม่ได้ การเริ่มต้นของการแจกรางวัลนี้ที่จัดว่า ‘ขลัง’ สำหรับคนดนตรี เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อก่อนบ้านเรามีรางวัลเกี่ยวกับด้านดนตรีอยู่สองรางวัล คือ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน กับรางวัลเสาอากาศทองคำ โดยสถานีวิทยุเสียงสามยอด ทั้งสองรางวัลนี้ได้หยุดไป ไม่ทำต่อ ตอนผมทำนิตยสารได้สองเล่มแรก ผมก็คุยกับพรรคพวกว่าเรามาทำงานแจกรางวัลดนตรีกันดีกว่า ทำเป็นงานเล็กๆ ก่อน ใครได้รางวัลก็ให้มารับที่ออฟฟิศ พอทำครั้งที่ 3 ปรากฏว่านักข่าวมากันเต็มไปหมด ที่ลงชื่อไว้ 80 คน ถึงเวลามากันจริงๆ 200 กว่าคน กลายเป็นว่านี่ไม่ใช่การแจกรางวัลของนิตยสารแล้ว แต่เป็นรางวัลของสาธารณะไปแล้ว นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราจัดงานสีสันอะวอร์ดส์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นที่ยอมรับของวงการดนตรีไทย แม้จะมีเสียงครหากลับมาด้วยก็ตาม
น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการแจกรางวัลอะไรก็ตาม ต้องมีคนเห็นต่างอยู่แล้ว ว่าแต่เขาครหารางวัลนี้ว่าอย่างไรหรือ
เรื่องที่ตลกคือมีคนเรียกรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ว่า ‘ซี้ฉันอะวอร์ดส์’ หมายความว่าศิลปินคนไทยที่สนิทกับผมก็จะได้รางวัลไป ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างควาย (หัวเราะ) ศิลปินส่วนใหญ่ก็เพื่อนกันทั้งนั้น ถ้าจะจัดงานซี้ฉันอะวอร์ดส์ ก็ต้องแจกกันที 300-400 รางวัล มันไม่เกี่ยวว่าใครมานั่งดื่มกับผมแล้วได้รางวัล ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมดเมื่อต้องตัดสินที่ผลงาน เพราะรางวัลสีสันอะวอร์ดส์มีคณะกรรมการในการตัดสิน ไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว อย่างวงคาราบาว โดยเฉพาะแอ๊ด (ยืนยง โอภากุล) เขากับผมเป็นเพื่อนกันมายาวนาน แต่วงคาราบาวเพิ่งจะมาได้รางวัลสีสันอะวอร์ดส์ จากชุด อเมริกันอันธพาล ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 19 ของวง หรือ จรัล มโนเพชร ก็มาได้รางวัลของเราตอนปี พ.ศ. 2537 ซึ่งผมกับจรัลรู้จักกันก่อนหน้านั้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 กลางๆ ถ้าได้เพราะความเป็นเพื่อนกัน จรัลต้องได้ไปนานแล้ว หรือ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก) ตอนนั้นเขาเอาเพลง ราตรีสวัสดิ์ มาให้ผมฟัง ซึ่งเพลงนี้ดีมากจริงๆ แต่ก็ให้รางวัลกับเขาไม่ได้ เพราะกติกาในตอนนั้นกอล์ฟไม่ได้ทำออกมาเป็นอัลบั้ม ผมเสียดายเพลงนี้มาก แต่กติกาก็คือกติกา
เพลงแบบไหนที่คุณโปรดปรานเป็นพิเศษ
ไม่มีเลย แต่เดี๋ยวนี้ผมฟังเพลงลูกทุ่งอีสานไม่ไหวจริงๆ เพลงมันหยาบคายเกินไปมาก ตอนนี้เพลงลูกทุ่งไม่ได้แค่สองแง่สองง่ามแล้ว แต่มันตรงๆ เลย ซึ่งอาชีพของผมคือการพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของเพลง ดังนั้น เพลงที่ชอบฟังเป็นการส่วนตัวจะมีน้อยมากจนแทบไม่มีเลย การฟังเพลงของผมกลายเป็นงานที่ทำมา 40 กว่าปีแล้ว
การเกิดขึ้นของเพลงใหม่ๆ ในแต่ละยุคสมัยไม่สามารถทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นหรือแปลกใหม่ได้บ้างเลยหรือ
ผมไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นอะไรกับเพลงใหม่ๆ ที่ฉีกขึ้นมา มันอาจจะเป็นแค่อารมณ์อยากรู้ว่าคืออะไร เช่น เพลง ชุดโกโกวา ของ Tongtang Family TV ตอนได้ยินก็หยุดฟัง แต่ก็รู้ว่าเดี๋ยวเพลงนี้ก็ซาลงไป ไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงอะไรหรอก หรือเพลงที่ทำขึ้นมาเพื่อรับใช้การเมืองหนักๆ ก็ไม่รอด ถ้าเป็นเพลงที่ทำเพื่อสะท้อนเรื่องการเมืองนั่นก็อีกเรื่อง แต่การแจกรางวัลของเราก็ไม่เคยเอาเรื่องตรงนี้มาคิด นักดนตรีจะเป็นพวกชูสามนิ้ว หรือเป็นเหลืองจัดก็ไม่เกี่ยว ทุกคนมีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนกัน เราตัดสินกันที่ตัวงาน
ปีก่อนๆ ที่จัดงานสีสันอะวอร์ดส์ก็มีคนทำเพลงที่เนื้อหาล่อแหลม แต่เราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ อยู่ที่คณะกรรมการเป็นคนตัดสิน แม้แต่ช่วงที่มีคนบอกว่าให้ทางสีสันยึดรางวัลจาก ‘โดม’ – ปกรณ์ ลัม เพราะเขามีคดีดื่มเหล้าและขับรถชนคนตายอยู่ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันเลย รางวัลก็แจกไปแล้ว หรือกับ เสก โลโซ ก็เหมือนกัน เขามีคดีนั้นคดีนี้อยู่ แล้วจะให้ไปบอกเขาว่าเอารางวัลมาคืนด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องเหมือนกัน ถ้างานเขาดีเขาก็ได้ไป ก็ถูกต้องแล้ว เราไม่ได้ทำรางวัลคุณธรรมดีเด่นสักหน่อย
แล้วแวดวงเพลงต่างประเทศล่ะ คุณยังติดตามวงใหม่ๆ อยู่ไหม ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
ดี ดีมากๆ แต่ก็เหมือนวงการเพลงไทยนั่นแหละ ต้องใช้การแสวงหา ถ้าเราไปเอาเพลงที่อยู่บนตารางจัดอันดับ ก็จะเจอแต่เพลงฮิปฮอปหรืออาร์แอนด์บีที่ครองอำนาจมาเป็นสิบปี นานๆ จะมีเพลงที่แตกต่างแทรกขึ้นมาได้ ขนาด เทย์เลอร์ สวิฟต์ มาจากเพลงแนวคันทรี ยังต้องสวิงไปทำเพลงป๊อปตั้งแต่อัลบั้ม Red ดังนั้น ถ้าจะหาเพลงดีๆ ฟังก็ต้องตามหากันหน่อย ซึ่งข้อดีตรงที่มีหลายเว็บไซต์ที่ช่วยเราตรงนี้ได้ แต่ถ้าฟังเพลงทั่วๆ ไป ยึดเอา Top 40 เป็นหลัก เราก็จะได้ฟังแต่เพลงแบบนั้นแหละ ซึ่งเพลงเหล่านั้นก็เป็นเพลงที่ดี แต่มันยังมีเพลงที่ดีที่เรายังไม่เจอด้วยเหมือนกัน
ตอนนี้คุณฟังเพลงสากลของศิลปินคนไหนอยู่บ้าง
ตอนนี้ผมฟัง Jamestown Revival ฟังเพลงใหม่ของ Eddie Vedder นักร้องนำวง Pearl Jam ที่ออกอัลบั้มเดี่ยว และวงอินดี้อีกหลายวงที่ทำเพลงนีโอโฟล์ก ถ้าเป็นเพลงอาร์แอนด์บีหรือฟังก์ ก็ลองฟัง Jon Batiste ดู มีเพลงให้ลองฟังเยอะแยะเลย
แล้วกระแสของเพลง K-Pop ล่ะ คุณมองอย่างไร
ต้องพูดที่เรื่องของระบบการจัดการ เพราะเขาเก่งเรื่องนี้มาก เขาใช้การประมวลข้อมูลที่เยอะมากๆ ว่า ถ้าทำเพลงแบบนี้จะไปที่คนกลุ่มไหน เพราะกลุ่มคนฟังเพลง K-Pop หลักๆ ไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้น หรือยกตัวอย่างวง AKB48 ของญี่ปุ่น กลุ่มคนฟังหลักก็ไม่ใช่เด็กเหมือนกัน ซึ่ง BNK48 ของบ้านเราก็เช่นเดียวกัน วันก่อนที่เด็กๆ เดบิวต์เพลงใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ผมมีโอกาสผ่านไปตรงนั้นพอดี สิ่งที่เห็นคือแฟนเพลงของน้องๆ มีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้นเลย (หัวเราะ) เขามานั่งถ่ายรูป ถือการ์ด ยกป้ายเชียร์อยู่หน้าเวที แล้วลุกส์ของพวกเขาควรจะเป็นชาวร็อกด้วยซ้ำ (หัวเราะ)
นั่นหมายความว่าเพลงป๊อปแนวนี้เขามีระบบบางอย่างที่ผ่านการศึกษาเรื่องของความเป็นมนุษย์มาอย่างจริงจัง เขาวิเคราะห์ว่ามนุษย์โหยหาอะไรแล้วก็จิ้มออกมา และ K-Pop เขาทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากบ้านเราที่ทำอะไรนานๆ ไม่เป็น ทำอะไรยั่งยืนไม่เป็น วงการเพลงป๊อปเกาหลีใต้ทำตรงนี้มานานมาก
บ้านเราเคยมีวงนกแล หรือ XYZ ที่เป็นวงดนตรีสำหรับเด็ก แล้วก็หายไปเลย ไม่มีความต่อเนื่อง ต่อมาเราก็ไปทำตามประเทศญี่ปุ่นจนมีค่าย Dojo City เกิดขึ้นมา มีวง Triumphs Kingdom และอื่นๆ แล้วเราก็ขาดช่วงไปอีก ดังนั้นเรื่องระบบถึงสำคัญ เขาจึงสามารถสร้างฐานแฟนเพลงขึ้นมาได้ เขาถึงบอกว่าวงการเพลง K-Pop นั้นดุเดือด เพราะกว่าที่ใครจะขึ้นมาได้ต้องเจออะไรหลายอย่าง
คุณใช้ชีวิตกับวงการเพลงมาขนาดนี้ คิดอย่างไรกับเรื่องที่คนทั่วไปหรือนักดนตรีที่พออายุสามสิบขึ้นไป ก็มักจะเริ่มไม่ตามฟังเพลงใหม่ๆ กันแล้ว
ผมมองเป็นเรื่องธรรมชาติ เพื่อนผมก็เป็นกันทั้งนั้น ไม่เพียงแค่เรื่องเพลง นิตยสาร สีสัน เองก็เจออะไรแบบนั้นด้วยเช่นกัน คนที่เริ่มอ่านสีสันตอนเป็นนักศึกษา พอเขาเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน เขาก็จะค่อยๆ ซื้อนิตยสารเราน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้ ถ้าใครมัวแต่หลงช่วงที่ตัวเองกำลังรุ่งโรจน์และอยู่แต่ตรงนั้นก็จบ แต่คนที่ไม่ฟังเพลงใหม่ๆ แล้ว เขาก็ไม่ได้สูญเสียอะไร เป็นแค่เรื่องของวัย เขาก็มีเพลงเก่าของตัวเองฟัง ดังนั้น เพลงใหม่ๆ ก็จะเป็นของคนรุ่นใหม่ ส่วนที่ผมยังฟังเพลงใหม่ๆ อยู่เพราะเป็นอาชีพของผม
“วงคาราบาวเพิ่งจะมาได้รางวัลสีสันอะวอร์ดส์ จากชุด อเมริกันอันธพาล ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 19 ของวง หรือ จรัล มโนเพชร ก็มาได้รางวัลของเราตอนปี พ.ศ. 2537 ซึ่งผมกับจรัลรู้จักกันก่อนหน้านั้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 กลางๆ ถ้าได้เพราะความเป็นเพื่อนกัน จรัลต้องได้ไปนานแล้ว หรือ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก) ตอนนั้นเขาเอาเพลง ราตรีสวัสดิ์ มาให้ผมฟัง ซึ่งเพลงนี้ดีมากจริงๆ แต่ก็ให้รางวัลกับเขาไม่ได้ เพราะกติกาในตอนนั้นกอล์ฟไม่ได้ทำออกมาเป็นอัลบั้ม ผมเสียดายเพลงนี้มาก แต่กติกาก็คือกติกา”
เพลงอมตะหรือเพลงที่อยู่เหนือกาลเวลาสำหรับคุณเป็นเพลงแบบไหน
เพลงอมตะจริงๆ คือคนที่ได้ยินไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนหรือวัยไหนก็ตามต้องมีความรู้สึก มีปฏิกิริยา หรือที่เรียกว่ารีแอ็กชันกับเพลงนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพลงนั้นต้องมีคุณภาพในตัวของมัน ทั้งด้านเนื้อหาและดนตรี สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความรู้สึก ทุกวันนี้เพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ของคาราบาว ยังคงความอมตะ เพราะมันยังให้ความรู้สึกต่อคนทุกรุ่น จะชอบหรือไม่ชอบนักร้องก็อีกเรื่อง หรือเพลง ทะเลใจ ก็เหมือนกัน ลองคิดว่าคุณกำลังนั่งอยู่ในร้านอาหาร แล้วนักดนตรีเล่นเพลงนี้ขึ้นมา เล่นก็ไม่ได้ดีหรอก แต่มันรู้สึกโดนใจ และคนอื่นก็มีปฏิกิริยาสัมผัสกับเพลงนี้เหมือนกัน โดยไม่ต้องคิดเหมือนกันหรอก หรือเพลง สบาย สบาย ของ เบิร์ด ธงไชย ที่ทุกคนก็จะรู้สึกอะไรบางอย่าง อาจจะรู้สึกผ่อนคลายเพราะเสียงของพี่เบิร์ด และดนตรีของเพลงนี้ก็ดี ผมถือว่าเพลงนี้ก็เข้าขั้นเพลงที่เป็นอมตะแล้ว
คุณคิดว่ายุคไหนของวงการดนตรีไทยที่สนุกที่สุด ใช่ยุคอัลเทอร์เนทีฟหรือเปล่า เพราะเป็นยุคที่มีค่ายเพลงเล็กๆ เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด
ผมมองว่านั่นเป็นยุคของคนที่อยากทำอะไรก็ทำได้มากกว่า แต่สุดท้ายก็มีหลายคนที่คิดเกินตัว ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายเพลงเกิดขึ้นมาใหม่เป็นร้อยบริษัท ใครก็ตั้งบริษัทเพลงขึ้นมาได้ ทุกคนอินดี้กันหมด พอถึงจุดหนึ่งก็อยากเอาชนะค่ายเพลงใหญ่ๆ ทันทีที่คุณคิดอยากเอาชนะสามค่ายใหญ่อย่างอาร์เอส, นิธิทัศน์ และแกรมมี่ คุณก็แพ้แล้ว เพราะคุณมาด้วยความเมามันเพียงอย่างเดียว ไม่มีระบบการจัดการ ค่ายใหญ่ๆ เขาวางระบบมาตั้งขนาดไหน ในยุคที่อะไรมันเยอะ สิ่งที่ไม่มีคุณภาพก็จะเยอะขึ้นตามมา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ในยุคที่โมเดิร์นด็อกเกิดขึ้นมา วงดนตรีที่ทำเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟเกิดขึ้นมาเยอะมาก สุดท้ายก็เหลืออยู่ไม่กี่วงที่กลายเป็นที่จดจำในวันนี้
แต่ยุคนั้นเรียกว่ามีศิลปินเกิดใหม่ทุกวัน วงการเพลงไทยน่าจะคึกคักมาก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจของนิตยสาร สีสัน ด้วย จะเรียกว่าเป็นจุดพีกที่สุดของสีสันด้วยได้ไหม
ก็ไม่เชิงหรอกนะ (นิ่งเงียบไปสักครู่) ผมมองว่าช่วงที่ดีที่สุดของการทำนิตยสาร สีสัน คือช่วงสามปีแรกที่เริ่มทำ นั่นคือตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ถึง 2533 เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2535 ถึง 2540 ตอนนั้นถือว่าอยู่ได้สบายๆ มีการเติบโต เพิ่มทีมงาน เพิ่มพนักงาน ถ้าจะให้วัดว่าอะไรคือความสำเร็จ สำหรับคนทำนิตยสารคงเป็นเรื่องของยอดขาย ซึ่งตอนนั้นเราทำยอดขายได้ดี แต่ละฉบับที่ออกมาขายได้เป็นหมื่นๆ เล่ม มีโฆษณามาลง ยิ่งถ้ามองว่าสีสันคือนิตยสารอิสระที่ไม่ได้มีการวิ่งหาเอเจนซีหรือขายโฆษณาจริงจังด้วยแล้ว จำนวนยอดขายที่ทำได้และโฆษณาที่มาลงกับเราผมถือว่าใช้ได้มากๆ
ชีวิตคุณช่วงที่นิตยสารเฟื่องฟูเป็นอย่างไร รู้สึกเหมือนร็อกสตาร์ไหม
ผมไม่เคยคิดอะไรแบบนั้น ผมใช้ชีวิตตามปกติเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต เพราะผมเป็นคนแบบนี้ที่ใช้ชีวิตง่ายๆ ยิ่งถ้าย้อนกลับมามองก็จะพบว่า ถ้าตอนนั้นเราใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยก็คงอยู่ไม่รอด นิตยสารอาจจะปิดตัวไปนานแล้วด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะการที่ผมใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้มาโดยตลอด ทำให้เราพอมีเงินทุนที่ใช้ประคับประคองตัวเองมาได้เรื่อยๆ จนถึงวันนี้
ขอเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการเงินของคุณสักหน่อย
วิธีจัดการเงินหรือการเก็บเงินสำหรับผมนั้นเรียกว่าไม่มีเลย (หัวเราะ) ผมก็ใช้เงินตามปกติ จัดสรรสำหรับการจ่ายค่าโรงพิมพ์ ค่าทำเพลต เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ไม่มีอะไรพิเศษหรือน่าตื่นเต้นหรอก จะมีแค่เรื่องทีมงานซึ่งเราไม่เคยประกาศรับสมัครใครเพิ่มเลยนะ แต่มีคนขอมาทำงานกับเราเอง หรือเด็กนั้นคนนี้รู้จักกันก็ขอมาทำงานด้วย ผมก็รับเขาเข้ามาทำงานด้วย รับมาไว้ก่อน (หัวเราะ)
ทุกวันนี้ คุณมองความเปลี่ยนแปลงของค่ายเพลงหลักๆ ในบ้านเราอย่างไร
เขาเบื่อทำเพลงแล้ว เขาไม่เอาแล้ว เขาไปลุยด้านทีวีแทน ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นพี่ๆ น้องๆ ที่เรารักใคร่กัน ผมพูดเสมอว่าทำเพลงเถอะ ตอนที่คุณรวยคุณก็รวยมาจากการที่คุณทำเพลง ตอนนี้ที่ทำกันอยู่ก็ทำไปแบบแกนๆ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนมิวสิกวิดีโอใช้งบถ่ายทำเพลงละเป็นล้านบาทคุณยังทำ คุณเคยทุ่มเงินไปกับการโปรโมตตั้งมากมาย แต่ตอนนี้คุณไม่ต้องทุ่มขนาดนั้นแล้ว เพราะเพลงดังๆ ทำเดโมกันจากที่บ้านก็ได้ การถ่ายทำก็ใช้กล้องดิจิทัลที่ใช้งบน้อยลงกว่าตั้งเยอะ เพลงก็ไปโปรโมตกันทางออนไลน์ เรื่องทำเทปหรือซีดีก็แทบไม่มี คุณน่าจะยังทำเพลงกันต่อเพื่อให้ตลาดมีความเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ทำ
คนฟังเพลงตอนนี้เลยต้องไปฝากความหวังที่ค่ายเล็กๆ แทนอย่างนั้นหรือเปล่า
ค่ายเล็กเขาก็ออกเพลงกันน้อยลง แต่ปัญหาที่มีตอนนี้มากกว่าเรื่องค่ายจะทำเพลงหรือไม่ทำ แต่เป็นเรื่องของสถานที่วางขายเพลงมากกว่า ค่ายทำเพลงออกมาก็ไม่มีที่ให้วางขายเพลง ถ้าช่วยกันจริงๆ ให้วงการเพลงอยู่ได้ ห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์สโตร์ต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้ค่ายเพลงอิสระมีที่วางขาย ไม่ใช่ไปเก็บค่าประกัน ค่านั่นค่านี่ เพื่อให้เขาสามารถเอาเพลงมาวางขายได้ แบบเดียวกับหนังสือหรือนิตยสาร ต้องทำแบบนี้จึงจะช่วยให้ธุรกิจมันดำเนินไปต่อได้ แต่ผมมั่นใจว่าเขาคงไม่คิดแบบเดียวกันกับผม
หากพูดถึงการรุกคืบของเทคโนโลยีทางดิจิทัล ช่วงปี 2000 คุณต่อต้านไฟล์เพลง MP3 ที่เกิดขึ้นด้วยไหม
ไม่เลย เพราะจริงๆ แล้วไฟล์ MP3 ไม่ได้มาทำลายบริษัทเพลง แต่มันทำลายศิลปิน ศิลปินถูกเอาเพลงไปรวมกันเป็นร้อยๆ ในแผ่นซีดีโดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย และต่อมาค่ายเพลงก็เป็นคนทำแผ่นรวมเพลง MP3 ขึ้นเอง เพราะไม่อยากให้พ่อค้าแผ่นเถื่อนได้เงิน แต่สุดท้ายศิลปินกับนักแต่งเพลงก็ได้ผลกระทบนี้ไป ผมไม่ค่อยพูดเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องของบริษัทเพลง เขาอยากทำ เขาไม่เคยคิดถึงใครก็แล้วแต่ แต่ผมไม่อยากไปทะเลาะด้วย (ถอนหายใจ)
“ผมใช้ชีวิตตามปกติเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต เพราะผมเป็นคนแบบนี้ที่ใช้ชีวิตง่ายๆ ยิ่งถ้าย้อนกลับมามองก็จะพบว่า ถ้าตอนนั้นเราใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยก็คงอยู่ไม่รอด นิตยสารอาจจะปิดตัวไปนานแล้วด้วยซ้ำ”
มันน่าตลกตรงที่สุดท้าย MP3 ก็แพ้ให้กับระบบเพลงสตรีมมิงอีกที
มันเหมือนอะไรที่ไม่สามารถต้านทานได้อีกแล้ว เหมือนกับที่เมื่อก่อนเราพยายามจะสู้กับการเกิดขึ้นของร้านสะดวกซื้อ เพราะมันเข้ามาทำลายระบบการค้าท้องถิ่น มีการทำแคมเปญที่มีคนเห็นด้วยมากมาย เช่น ถ้าไม่จำเป็น วันที่ 7 ถึง 11 เราจะไม่เข้าร้านสะดวกซื้อ บางหมู่บ้าน บางตำบลก็ขึ้นป้ายว่าที่นี่ไม่มีร้านสะดวกซื้อ แต่พอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ ก็ต้านไม่ไหว และสังคมของเมืองในทุกวันนี้ มันหนีไปซื้อของที่อื่นไม่ได้ อะไรที่ต้านไม่ไหวก็ต้องยอมรับ เพลงสตรีมมิงก็เช่นเดียวกัน เด็กสมัยนี้เขาฟังเพลงออนไลน์กันแล้ว คนที่บริหารสื่อออนไลน์ไม่ได้ก็ต้องแพ้ไป ที่ทำได้คือยันเกมไว้ เหมือนกับนิตยสาร สีสัน ถ้ายันเกมไม่ไหวก็ต้องเลิก แต่ถ้ายังไปต่อได้ก็จะไปให้ถึงที่สุด
คุณมีความเห็นอย่างไรต่อภาพรวมของวงการเพลงไทยในวันนี้
ผมว่าเรื่องของการก๊อบปี้เพลงควรจะหมดไปได้แล้ว โลกหมุนมาขนาดนี้แล้ว เราควรเลิกลอกเลียนเพลงมานานแล้ว ถ้าเราต้องการให้วงการเพลงไทยไปได้ไกลมากกว่านี้ เพราะผมรักวงการเพลงไทย ผมอยากให้เราหลุดออกไปจากตรงนี้กันเสียที คิดและก็ทำ ถ้าเพลงจะมีสำเนียงแบบไทยก็ทำให้มันชัดๆ ไปเลย แต่กลายเป็นว่าเรากลับมาในยุคเดิมๆ ที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ยังมีการลอกเลียนเพลงของต่างประเทศกันอยู่ ซึ่งศิลปินต่างประเทศที่เขาทำเพลงออกมา คุณจะคิดว่าเพลงนี้ดีจังเลย ลอกไปเลยดีกว่า คนไม่รู้หรอก คนฟังจะไม่รู้ได้อย่างไร เฮ้ย ศิลปินเขาไม่ได้ทำเพลงมาขายแค่คุณคนเดียว คนอื่นเขาก็ฟัง ยิ่งทุกวันนี้มีช่องทางให้ติดตามมากมาย คนฟังเขารู้กันทั้งนั้น คุณต้องหยุดคิดแบบนี้ได้แล้ว
สังเกตไหมเวลามีใครก๊อปเพลงขึ้นมาแล้วจะถูกจับได้เร็วมาก เพราะคนเวลาจะก๊อปเพลง เขาจะเลือกเพลงที่ฟังแล้วติดหู เพลงที่ฟังแล้วติดหูก็คือเพลงฮิต เป็นเพลงที่คนฟังรู้จักกันอยู่แล้ว มันเลยเป็นวงจรที่เรียกว่าเวรกรรมตามทัน
วันนี้เรามีศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมงานกับศิลปินระดับโลก หรือได้ให้คนอีกฝั่งของทวีปรู้จักบ้างแล้ว เช่น MILLI, BOWKYLION, Wondreframe หรือที่เข้าไปติดชาร์ตบิลบอร์ดอย่าง SPRITE x GUYGEEGEE พวกเขาถือเป็นความหวังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงวงการเพลงไทยให้ไปสู่ระดับสากลได้ไหม
ต้องดูกันอีกสักพักใหญ่เลย ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่เด็กๆ เหล่านี้เขาเก่ง ทางค่ายก็มีช่องทางช่วยประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าคุณทำเพลงให้ฝรั่งฟัง คุณก็จะไปเจอของจริง หรือถ้าจะบอกว่า ภูมิ วิภูริศ ก็ทำเพลงสากลที่ฝรั่งยอมรับ แต่เขาไม่ได้ทำเพลงไทยเพื่อขายฝรั่งไง แต่เขาก็ต้องเจออีกเวทีที่ต้องไปสู้กับเพลงในแนวของฝรั่งจริงๆ ซึ่งก็ลำบาก
ความยากของเพลงไทยคือ จะทำอย่างไรให้เพลงมีแนวทางของฝรั่งอยู่ในนั้นเพื่อให้ต่างชาติสนใจแล้วกลับมาฟังเพลงไทยเสียก่อน แล้วเพลงก็ต้องมีความแปลกด้วย ถ้าไม่มีความโดดเด่นเราก็จะสู้เขาไม่ได้เลย อย่าลืมว่าเพลงที่เราร้องเราเล่นกันอยู่เป็นของพวกเขามาตั้งแต่แรก ผมเลยบอกว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ดูจากฮิวโก้ (‘เล็ก’ – จุลจักร จักรพงษ์) ก็ได้ เขามีพร้อมในเรื่องของฝีมือ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นฝรั่งจริงๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปในตลาดเขาก็ต้องเจอกับคู่แข่งที่เป็นฝรั่งกว่าพี่เล็กขึ้นไปอีก เวทีระดับโลกมันไม่ใช่ง่ายๆ
“อะไรที่ต้านไม่ไหวก็ต้องยอมรับ เพลงสตรีมมิงก็เช่นเดียวกัน เด็กสมัยนี้เขาฟังเพลงออนไลน์กันแล้ว คนที่บริหารสื่อออนไลน์ไม่ได้ก็ต้องแพ้ไป ที่ทำได้คือยันเกมไว้ เหมือนกับนิตยสาร สีสัน ถ้ายันเกมไม่ไหวก็ต้องเลิก แต่ถ้ายังไปต่อได้ก็จะไปให้ถึงที่สุด”
เวลามีโอกาสพูดคุยกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ คุณเคยแนะนำหรือแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องวิธีคิดในการทำเพลงบ้างไหม
ไม่เลย สัมภาษณ์ก็คือสัมภาษณ์ เราก็ถามในเรื่องที่เราอยากรู้ เขาก็เล่าถึงการทำงานของเขาไป คิดอย่างไรก็พูดไป เขาต้องรับผิดชอบคำพูดของเขาเอง เพราะแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน บางคนก็เห็นต่างเรื่องการเมืองกับทีมงานที่ไปสัมภาษณ์เขามา ผมก็เอาต้นฉบับมานั่งอ่านแล้วก็ปล่อยไป เขาจะคิดอย่างไรก็ได้ แม้ว่าศิลปินหลายคนจะประชาธิปไตยจ๋ามาเลย เป็นคนสนับสนุนม็อบรุ่นใหม่ก็มี ผมก็ปล่อยไป มันเป็นเรื่องของเขา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในรุ่นของเขา
การคลุกคลีกับนักร้องนักดนตรีในแต่ละยุค ความสนุกของคุณอยู่ที่ตรงไหน มีอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง
จริงๆ เป็นเหมือนกันทุกรุ่นแหละ คนในวงการศิลปะก็จะมีทั้งนักคิด นักสร้างสรรค์ มีคนที่ทำงานเพื่อสะท้อนเนื้อหา มีคนที่ไม่สนใจเนื้อหาเลย จะเอาแต่ดนตรีอย่างเดียว มีคนที่ต้องการแค่ชื่อเสียงเงินทอง ไม่ได้คิดเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ก็มีคนแบบนี้เหมือนกันหมดในทุกวงการ ดังนั้น เอาธรรมชาติของเราไปจับดีกว่า
อย่างหนังสือที่เขียนออกมาไม่ได้เรื่องหรือเหี้- ก็มีเยอะ สื่อที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ใช่ว่าจะดีไปทั้งหมด ขนาดผมยังเป็นสื่อที่ด่าสื่อด้วยกันเองเยอะที่สุดแล้ว ผมว่าตอนนี้เรื่องจรรยาบรรณกลายเป็นสิ่งที่คนทำสื่อแทบไม่รู้จักกันแล้ว จนผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้เขามีสอนเรื่องจรรยาบรรณในการทำงานกันอยู่ไหม
อย่างที่ผมบอกก่อนหน้าว่า เราแยกกันเลย คนถูกสัมภาษณ์จะคิดไม่เหมือนผมไม่เป็นไร ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เอาลง นี่คือจรรยาบรรณส่วนหนึ่ง แต่บางคนหรือบางสื่อเขาพลิกตัวเองแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย วันนี้เขียนแบบนี้ วันต่อมาเขียนอีกแบบ ซึ่งเป็นกันมาตั้งแต่โบราณแล้ว แค่ในอดีตสื่อยังไม่เยอะ เราจะรู้กันว่าใครเป็นใคร แต่ทุกวันนี้ข้อมูลหลั่งไหลเข้ามาเยอะแยะมาก เราสามารถกรองได้ว่าเรื่องไหนจริงไม่จริง แต่ก็ไม่ทำ กลับเลือกเอาอันที่ตัวเองชอบมาใช้ ที่บอกกันว่านักการเมืองพูดจริงไม่หมด ยังไม่น่ากลัวเท่าสื่อไม่พูดความจริงเลย
ในฐานะคนทำสื่อที่มีประสบการณ์มายาวนาน อะไรบ้างที่ถือเป็นจรรยาบรรณของสื่อ
อันดับแรก คุณต้องทำงานกับทางบริษัทให้ดี เพราะนี่คืองานที่เลี้ยงชีวิต คืออาชีพของคุณ เมื่อทำเป็นอาชีพแล้วจะขึ้นเป็นมืออาชีพ คุณต้องแสวงหาความรู้เรื่อยๆ แสวงหาข้อมูลเข้ามา รู้จักวิเคราะห์ กลั่นกรอง วันหนึ่งอาจจะวิเคราะห์ผิดหรือไม่แน่ใจ ก็ถามจากคนหลายๆ ฝั่ง ก่อนที่จะลงอะไรไปต้องมั่นใจ ไม่ใช่เจอเฟกนิวส์แล้วก็รีบลงเลย เช่น เมื่อหนึ่งนาทีที่แล้วกูจะต้องเป็นสื่อคนแรกที่ลงเรื่องนี้ ผ่านไปห้านาทีปรากฏว่าที่ลงไปเป็นเรื่องไม่จริง แบบนี้ไม่ใช่มืออาชีพ อย่างผมเองจะตั้งสเตตัสบนเฟซบุ๊กแค่สามสี่บรรทัด บางทีผมแก้ข้อความนั้นห้ารอบ เพราะกลัวว่าจะมีคนไม่เข้าใจหรือไขว้เขวกับข้อความของเรา
ต่อมาคือ อย่าเห็นกับอามิสสินจ้างนอกเหนือจากสิ่งที่เราได้ตามอาชีพ สิ่งที่เราได้ตามอาชีพคือเงินเดือน และสิ่งที่นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น สิทธิพิเศษเวลาเขาชวนไปดูหนังหรือไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งไม่น่าเกลียดที่จะรับ เพราะทางคนที่ชวนเขาเอื้อเฟื้อมา แต่อย่าไป ‘ทุบ’ เขา สื่อบางคนไม่ได้ก็ไปต่อว่า หรือให้มาแค่นี้ก็ลงเท่านี้ แบบนี้ไม่ใช่ ผมคิดแบบนี้เพราะผมไม่เคยทำ ได้อย่างที่สมควรได้รับ อย่าใช้สื่อของตัวเองไปทุบตีใครเพื่อให้ได้มา
“ที่บอกกันว่านักการเมืองพูดจริงไม่หมด ยังไม่น่ากลัวเท่าสื่อไม่พูดความจริงเลย”
แล้วที่ว่า ‘สื่อต้องมีความเป็นกลาง’ ล่ะ คุณคิดอย่างไร คนทำสื่อสามารถมีอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวในงานได้ไหม
ไม่มีใครหรอกที่เป็นกลางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องความชอบส่วนตัวนั้นทุกคนมีอยู่แล้ว แต่จะมีเส้นอยู่หนึ่งเส้นให้เราไม่ออกไปจากเส้นนี้มาก พยายามยึดเส้นที่เรามีอยู่เอาไว้ ถ้าเดินสองขาไม่ได้ เดินขาเดียวก็ยังดี แต่ให้อยู่ในเส้นนั้น
‘เส้น’ ที่นิตยสาร สีสัน ยึดไว้คืออะไร
เส้นของเราคือการนำเสนอเรื่องราวในแวดวงของดนตรี หนัง หนังสือ เน้นไปที่บทวิจารณ์ เราจะรักษาเส้นแกนนี้ไว้ให้ได้ แต่ส่วนตัวของใครจะไปฟังอะไรตอนอยู่ที่บ้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (หัวเราะ)
นอกจากเป็นบรรณาธิการและนักวิจารณ์ดนตรี คุณยังเป็นนักวิจารณ์หนังด้วย เรื่องที่อยากรู้คือ คุณคิดอย่างไรกับยุคนี้ที่หนังครองรายได้คือหนังซูเปอร์ฮีโร่กับหนังภาคต่อ
ไม่ใช่นักวิจารณ์หนัง ยังเรียกขนาดนั้นไม่ได้ แค่เคยเขียนบ้างนานๆ ครั้ง หนังแฟรนไซส์มีมานานแล้ว เดิมก็มาจากซีรีส์ของเจมส์ บอนด์ 007 แต่เขาก็นานๆ สร้างที ตอนหลังพอหนังคอมิกได้รับความนิยม และเขามีตัวละครอยู่แล้ว พอทำมาสักพักก็ทำหนังรวมหมู่ตัวละครสักสองสามเรื่อง แล้วก็ทำเรื่องแยกออกไปเป็นตัวนั้นตัวนี้ เดี๋ยวต่อไปก็จะเป็นเรื่องของซูเปอร์ฮีโร่รุ่นลูกเข้ามาแทน
แล้วมันทำให้อรรถรสในการดูหนังของคุณลดน้อยลงไปด้วยไหม
ทำอะไรก็ทำมาเถอะ ขอให้มีอารมณ์ขันก็พอ (หัวเราะ) ยุคนี้หนังที่ดูแล้วทำให้คนหัวเราะได้ก็จะขายดี ส่วนหนังที่ซีเรียสโลกแตกก็ให้ไปฉายตามอาร์ตเฮาส์กันไป ตอนนี้ผมชอบดูหนังอะไรที่ง่ายๆ ที่เห็นผมทุกวันนี้ ผมก็ฟังเพลงป๊อป อ่านหนังสือง่ายๆ ดูหนังบู๊ๆ ดูมวยปล้ำ ดูอะไรที่บันเทิงได้หมด ชีวิตมันก็เท่านี้แหละ
“ลองคิดว่าปัญหาที่เราเจอเหมือนกองขยะที่สูงเป็นภูเขาลูกหนึ่งดู แล้วคุณค่อยๆ เขี่ย ค่อยๆ กวาด ค่อยๆ เกลี่ยขยะชิ้นเล็กๆ ออกไปก่อน ขยะพวกนี้ก็เหมือนสิ่งที่เข้ามาจุกจิกกวนใจเราอยู่ เจออะไรที่ไม่จำเป็นก็กวาดออกไปก่อน หยิบขยะชิ้นเล็กๆ ทิ้งไปเรื่อยๆ กองขยะก็จะค่อยๆ เล็กลง นั่นคือการตัดเรื่องที่กวนใจออกไป สุดท้ายเมื่อเราเก็บไปจนถึงขยะชิ้นสุดท้าย สิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่เคยคิดว่าเป็นปัญหาหลักๆ อาจจะไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้นก็ได้”
ถามจริงๆ ว่า คุณมีเคล็ดลับในการใช้ชีวิตอย่างไร เพราะดูเหมือนคุณจะ ‘take it easy’ กับชีวิตได้แทบทุกเรื่อง
ถ้าเป็นปัญหาจากเรื่องส่วนตัวสำหรับผมไม่ค่อยมีอะไรหรอก อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนที่ก้าวผ่านอะไรได้ง่าย เจออะไรเข้ามากระแทกเดี๋ยวก็ผ่านไปได้ ก็ช่างมันไป (หัวเราะ) ลองคิดว่าปัญหาที่เราเจอเหมือนกองขยะที่สูงเป็นภูเขาลูกหนึ่งดู แล้วคุณค่อยๆ เขี่ย ค่อยๆ กวาด ค่อยๆ เกลี่ยขยะชิ้นเล็กๆ ออกไปก่อน ขยะพวกนี้ก็เหมือนสิ่งที่เข้ามาจุกจิกกวนใจเราอยู่ เจออะไรที่ไม่จำเป็นก็กวาดออกไปก่อน หยิบขยะชิ้นเล็กๆ ทิ้งไปเรื่อยๆ กองขยะก็จะค่อยๆ เล็กลง นั่นคือการตัดเรื่องที่กวนใจออกไป สุดท้ายเมื่อเราเก็บไปจนถึงขยะชิ้นสุดท้าย สิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่เคยคิดว่าเป็นปัญหาหลักๆ อาจจะไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้นก็ได้ เราอาจจะพบว่าเมื่อกวาดเมื่อเกลี่ยไปเรื่อยๆ แล้ว เอ้า! จริงๆ ชีวิตก็ไม่มีอะไรนี่หว่า
แต่ถ้าเป็นปัญหาจากการทำงาน แน่นอนว่ามันมีความเป็นรูปธรรมให้เห็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาหนังสือไปวางแผงไม่ได้ สภาวะของการขาดทุน ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ซึ่งปัญหาจากการทำงานนั้นทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันหมด เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นสิ่งที่ทำให้คนเครียดหนักกว่าเรื่องอื่นๆ ผมก็เครียด ไม่ใช่ว่าไม่คิดอะไรเลย ตรงกันข้ามผมคิดเยอะด้วยซ้ำ แต่พอคิดมากไปก็ทำอะไรไม่ได้ ไปนอนดีกว่า (หัวเราะ)
เพราะถ้าวันนี้เราเจอปัญหาแล้วยังแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ทำอย่างอื่นไปก่อน อาจจะนั่งนิ่งๆ ใช้วิธีคล้ายๆ กันว่าปัญหาที่กำลังเจอตอนนี้มันถูกกองสุมเป็นกองขยะเหมือนกันหรือเปล่า ลองค่อยๆ เก็บขยะชิ้นเล็กๆ ออกไปก่อน สุดท้ายแก่นของปัญหาจริงๆ อาจจะไม่มีอะไรเหลือให้ต้องกังวลเลยก็ได้
เรื่อง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ